ปลามังกร เป็นชื่อของปลาชนิดหนึ่งที่ผู้คนอาจจะคุ้นหูจนบางคนน่าจะคุ้นเคยเลยก็ได้ เนื่องจากรูปลักษณ์ค่อนข้างจะพิเศษตรงที่มีหนวดอยู่ใกล้ๆ ริมฝีปาก ซึ่งคล้ายกับมังกรจึงทำให้ดูน่าเกรงขาม และมีลักษณะสวยสะดุดตากว่าปลาทั่วไป รวมถึงได้พกความพิเศษอีกหลายอย่างใส่ตัวที่หากได้รู้จะต้องทึ่งกับปลามังกรแน่ๆ…พูดแล้วจะหาว่าคุย อย่างนี้ มันต้องท้าพิสูจน์เสียแล้ว…
ปลามังกร ได้กลายเป็นปลายอดนิยมอย่างสูงมานานพอสมควรแล้ว โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มปลาสวยงามที่มีความเป็นมงคล ดังนั้น ธุรกิจปลามังกรจึงเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาแถมยังทำกำรี้กำไรให้ไม่น้อย เป็นเพราะความต้องการไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศก็มีความเชื่อเฉกเดียวกับเมืองไทยว่า ปลามังกรจะนำพาโชคลาภบวกความร่ำรวยรุ่งเรืองมาให้ จึงเกิดการทำปศุสัตว์ปลาสวยงามอย่างปลามังกรมากขึ้นเรื่อยๆ พูดถึงตรงนี้แล้วคงมีใครหลายคนเกิดความอยากรู้เกี่ยวกับตัวปลา การเลี้ยง โรคภัยไข้เจ็บ แหล่งซื้อขาย หรืออื่นๆ มากมาย ใช่ไหม? ถ้างั้น kaset.today จะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับปลามังกรกัน...
ข้อมูลทั่วไปของปลามังกร
ชื่อภาษาไทย : ปลามังกร
ชื่อภาษาอังกฤษ : Arowana
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Scleropages formosus
ตระกูลสัตว์ : Osteoglossidae (ปลาตะพัด)
ปลามังกร มีที่มาลักษณะ และถิ่นที่อยู่อย่างไร
ในเมืองไทยได้มีชื่อเรียกปลามังกรต่างกันออกไป เช่น ภาคตะวันออก เรียกว่า “ตะพัด” ทางใต้ เรียกว่า “หางเข้” ส่วนที่ต่างประเทศ ทางอินโดนีเซีย เรียกว่า “อาร์วานาอาเซีย หรือ ซีลุกเมระฮ์” แต่โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อ ปลามังกร หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า อโรวานา (Arowana) ซึ่งชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Scleropages formosus และ จัดอยู่ในตระกูล ปลาตะพัด (Osteoglossidae) ปลาชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในไทย เมื่อปี พ.ศ.2474 ที่ ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด
ปลามังกร หรือ ปลาอโรวานา เป็นปลาน้ำจืดที่สืบเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีวิวัฒนาการแค่เพียงเล็กน้อยนับจาก 140 ล้านปีก่อน ลักษณะโดดเด่นของปลามังกรอยู่ที่ รูปร่างยาวเรียว ลำตัวแบนคล้ายมีด ดวงตาโต เกล็ดทั้งใหญ่ หนา และเรียงกันเรียบเป็นระเบียบ จำนวนเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี 21-24 เกล็ด ลวดลายบนเกล็ดเหมือนตาข่าย ปากกว้างเฉียงขึ้นด้านบน มีฟันแหลม ครีบหลังยาว ครีบก้นยาวและตั้งค่อนไปทางปลายหาง ครีบหางค่อนข้างกลม มีหนวดอยู่ใต้คางใกล้ปาก ท้องเป็นสันและแคบ ปลาที่โตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 1 เมตร และน้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม
ถิ่นที่อยู่เดิมตามธรรมชาติของปลามังกรจะอาศัยในแม่น้ำที่ใสสะอาด ลักษณะอุปนิสัยตามธรรมชาติค่อนข้างจะดุร้าย ก้าวร้าว ขี้ตกใจ หวงถิ่น ชอบหากินแบบเดี่ยวๆ ล่าเหยื่อบนผิวน้ำ และอาศัยเพียงลำพัง จะอยู่เป็นคู่ต่อเมื่อถึงฤดูวางไข่หรือเลี้ยงดูลูก แล้วถ้าจะอยู่เป็นฝูงก็ไม่เกิน 3-5 ตัว อาหารที่ชอบ ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก
ปลาชนิดนี้มีกระจายอยู่ใน 4 ทวีป ซึ่งแบ่งได้ 4 สกุล (Genus) และ 7 ชนิด (Species) ได้แก่ ทวีปเอเซีย 1 ชนิด (4 สายพันธุ์) ทวีปอเมริกาใต้ 3 ชนิด ทวีปแอฟริกา 1 ชนิด และทวีปออสเตรเลีย 2 ชนิด ปลาในแต่ละทวีปจะมีรูปร่างที่พิเศษแตกต่างกันไป ปลามังกรจากทวีปเอเซียจะมีราคาค่อนข้างสูงที่สุด สำหรับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียใต้ จะพบได้ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา ซึ่งในเมืองไทยได้เชื่อกันว่ามีเหลืออยู่ที่ต้นแม่น้ำตาปี บริเวณ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง” กับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน” จังหวัดสุราษฏร์ธานี และบริเวณแม่น้ำ ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล เท่านั้น
สายพันธุ์ปลามังกรที่นิยมในปัจจุบันมีอะไรบ้าง
สายพันธุ์ของปลามังกรแบ่งออกได้ตาม 4 ทวีป ดังนี้
ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปเอเซีย
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages Formosus รูปร่างจะค่อนข้างป้อมสั้น ในกลุ่มผู้ชอบเลี้ยงปลาจะเป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากและมีราคาแพงที่สุด น่าจะเป็นเพราะสีสันโดดเด่น สวย โดนใจ โดยสายพันธุ์จากทวีปเอเซีย ได้แก่
ปลามังกรทองมาเลย์ หรือ อโรวาน่าทองมาเลย์ (Cross Back Arowana) สายพันธุ์นี้สามารถพบได้ทั่วไปในประเทศมาเลเซียจึงมีชื่อเรียกตามแหล่งที่พบ เช่น ปาหังโกลด์ มาลายัน โบนีทัง บูกิทมีราสบลู และไทปิงโกลด์เดน สายพันธุ์นี้เกล็ดจะมีความแวววาว เงา และสว่างสุกใส ขณะกระทบกับแสงไฟ แถมลีลาท่วงท่าการว่ายน้ำก็งดงามดั่งมังกร เพราะแบบนี้จึงสายพันธุ์ที่มีราคาแพงที่สุด แล้วยังเป็นพันธุ์ที่ให้ลูกน้อย และตามธรรมชาติก็หาได้ค่อนข้างจะยาก ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ สายพันธุ์ปลามังกรทองมาเลย์ แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
- สายพันธุ์ Blue or Purple Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีน้ำเงินหรือม่วง สีวงในเกล็ดเข้มละอองดำกระจายไปทั่ว ขอบเกล็ดมีสีทองบางๆ เมื่อส่องกระบแสงเกล็ดจะมีสีเหลือบฟ้า น้ำเงินหรือม่วงเข้ม ซึ่งจะสามารถเห็นได้ในปลารูปร่างขนาดกลาง ส่วนบางตัวที่โตมากขึ้นละอองดำในเนื้อเกล็ดจะค่อยหายไปเป็นสีออกสีทอง หรือ Gold Based
- สายพันธุ์ Gold Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีทอง เกล็ดจะมีสีทอง เงาและสว่าง ซึ่งโดยรวมจะมีสีทองหรือทองเข้มทั่วเกล็ด ตรงฐานเกล็ดอาจจะมีสีอื่นแซมได้ เกล็ดแถว 6 บนสุดจะมีเกล็ดที่ยังเปิดไม่หมด แต่จะเปิดครบเมื่อปลามีอายุมากขึ้น
- สายพันธุ์ Green Based ที่ฐานเกล็ดจะมีสีออกสีเขียว เกล็ดจะมีลักษณะเช่นเดียวกับ สายพันธุ์ Blue Based คือ สีวงในเกล็ดจะเข้มละอองดำ กระจายทั่วเกล็ด ขณะกระทบแสงไฟเกล็ดจะมีสีเหลือบเขียว หรือเขียวเข้ม และขอบเกล็ดมีสีทองบางๆ
- สายพันธุ์ Full Gold ลักษณะเกล็ดจะมีสีทอง ที่ฐานเกล็ดจะไม่มีละอองสีอื่นแซมเลย จะดูเป็นสีเหลืองทองทั้งตัวไม่ว่าจะที่แผ่นหลังหรือเกล็ดละเอียดแถมยังจะมีความเงาด้วย มองแล้วเหมือนปลาทองคำ จัดเป็นปลามังกรทองมาเลย์ที่งดงามมาก
- สายพันธุ์ Golden Head เป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาให้มีสีทองทั่วทั้งตัว บริเวณหัวปลาจะมีความพิเศษคือ มีสีทองหรือแผ่นละอองทองทั่วทั้งหัว
ปลามังกรทองอินโด หรือ อโรวาน่าทองอินโด (Red-tailed Golden Arowana) เป็นสายพันธุ์ยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง เมื่อก่อนปลาชนิดนี้จะมีเกล็ดสีทองตั้งแต่บริเวณท้องจนถึงเกล็ดแถวที่ 4 แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมกับสายพันธุ์ทองมาเลย์ เช่นนั้นจึงทำให้เกล็ดของปลามังกรทองอินโดเปิดสูงมากขึ้น บางตัวอาจจะมีเกล็ดเปิดไปจนถึงแถวที่ 6 ลักษณะของเกล็ดมีสีทองเข้ม แวววาวคล้ายทองเหลืองขัดเงา ปลาบางตัวเกล็ดจะมีขอบบางหรือขอบหนา หรืออาจจะมีสีทองทั้งเกล็ด และครีบมีขนาดใหญ่
ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง (Red Arowana) เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นตรงที่เกล็ดมีสีแดงและมีขนาดใหญ่ ครีบค่อนข้างจะใหญ่ และขนาดตัวก็จะใหญ่ด้วย ส่วนมากปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ที่ขายในเมืองไทยจะมาจากหลายแหล่งน้ำทางตะวันตกของกัลลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งลักษณะแนวสันหลังมีสีน้ำตาล เกล็ดลำตัวอยู่ค่อนไปทางด้านหลังและมีสีเขียวอมน้ำตาล เกล็ดด้านข้างลำตัวมีสีเขียวเหลือบแดง หรือสีแดงอมส้ม ส่วนท้องและแผ่นปิดเหงือกมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ครีบอกและครีบท้องจะมีสีเขียว ปลายครีบมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ริมฝีปากก็จะมีสีเหมือนปลายครีบ ปลาสายพันธุ์นี้แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
- สีแดงเลือดนก (Blood Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะมีสีแดงเข้มทั่วทั้งเกล็ด ฐานเกล็ดอาจจะมีสีอื่นแซมได้แต่ไม่มากนัก
- สีแดงพริก (Chili Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้ขอบเกล็กจะมีสีแดงเข้ม ฐานเกล็ดมีสีอื่นแซม อย่างเช่น สีน้ำเงินหรือสีเขียว
- สีแดงส้ม (Orange Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะมีสีแดงจางๆ หรือสีส้มเข้ม
- สีแดงอมทอง (Golden Red) ปลามังกรแดง หรือ อโรวาน่าแดง ประเภทนี้เกล็ดจะเป็นสีทองอมแดง ส่วนหางกับครีบทั้งหมดจะเป็นสีแดงสด
ปลามังกรเขียว หรือ อโรวาน่าเขียว (Green Arowana) ปลาสายพันธุ์นี้จะพบกระจายอยู่ในประเทศ มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งจะพบในแถบจังหวัดจันทบุรี ตราด ปลามังกรเขียวจะมีลักษณะขนาดลำตัวใหญ่ ด้านหลังมีสีเขียวอมน้ำตาล หรือสีเทาอมเขียว เกล็ดด้านข้างของลำตัวจะมีสีเงินหรือเงินเหลือบเขียว ครีบจะมีสีน้ำตาลอมเขียว
ปลามังกรบาติก หรือ อโรวาน่าบาติก หรือ ปลาตะพัดลายงู (Batik Myanmar Arowana) เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ.2536 พบที่พื้นที่ป่าดิบแถวแม่น้ำตะนาวศรีบริเวณรอยต่อระหว่างไทยและพม่า ปลาชนิดนี้มีลักษณะเหมือนปลาตะพัดทั่วไป แต่มีลักษณะแตกต่างที่ชัดเจนตรงที่จะมีลวดลายขดบนตัวตั้งแต่แผ่นปิดเหงือกไปจนถึงหาง ซึ่งเรียกกันว่า “ลายงู” ลวดลายจะสมบูรณ์ที่สุด เมื่อปลามีขนาดลำตัวประมาณ 20 นิ้วขึ้นไป สีบนตัวจะมีสีเขียวหรือทองอ่อน
ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปอเมริกาใต้
ชาวพื้นเมืองจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า ลิงน้ำ (Water Monkey) เป็นเพราะลักษณะอาการกระโดดกินแมลงที่เกาะบนกิ่งไม้ หรือเหนือผิวน้ำ นั่นเอง ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีอเมริกาใต้ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
ปลามังกรเงิน หรือ อโรวาน่าเงิน (Silver arowana) แหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน ที่ จิอานา (Guiana) อเมริกาใต้ ลักษณะลำตัวยาวและแบน ปากกว้างมาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ บนเกล็ดจะมีจุดสีแดงและมีความแวววาว ลำตัวมีสีเงินอมเทาหรือน้ำเงินอมเขียวยามกระทบแสงแดด บางตัวอาจจะมีสีขาวคล้ายหิมะ หนวดมีสีน้ำเงินหรือฟ้าน้ำทะเลและมีขนาดใหญ่ยื่นออกจากริมฝีปากด้านล่าง 1 คู่ ช่วงลำคอมีสีส้มหรือส้มอมแดง ครีบบนกับครีบล่างมีลักษณะยาวตลอดแนวลำตัวส่วนท้าย ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นี้ได้แล้ว
ปลามังกรดำ หรือ อโรวาน่าดำ (Black Arowana) สายพันธุ์นี้พบกระจายอยู่ที่บริเวณแม่น้ำริโอนิโกร (RioNegro) ในประเทศบราซิล ปลามังกรดำมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลามังกรเงิน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบน เกล็ดจะมีสีออกตะกั่ว ยามแสงแดดกระทบจะเห็นเป็นสีน้ำเงินอมแดง ครีบหลังและครีบก้นเป็นสีดำ สายพันธุ์นี้ในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างจะสูง เป็นเพราะได้รับความคุ้มครองและถูกจัดไว้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ปลาอราไพม่า หรือ ปลาช่อนยักษ์ (Arapaima) ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มปลามังกรที่มีขนาดใหญ่กว่าปลามังกรมาก ลำตัวมีขนาดใหญ่ บางตัวมีความยาวถึง 10 ฟุต เกล็ดก็มีขนาดใหญ่ ขอบเกล็ดมีสีแดงสด เมื่อโตเต็มที่ ปลาอราไพม่าจะไม่มีหนวด มีลิ้นที่เป็นกระดูกแข็งและมีฟัน การกินอาหารจะใช้วิธีดูดเข้าปาก
ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปแอฟริกา
ปลาชนิดนี้จะพบในแอฟริกาเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยอาศัยกระจายอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำไนล์ แถบส่วนที่กว้างของทวีปไปจนถึงฝั่งตะวันตกของทวีป ปลามังกรแอฟริกาจะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งขนาดใหญ่ที่สุดที่พบคือ มีความยาวถึง 4 ฟุต ลักษณะลำตัวค่อนข้างจะแบนและกว้าง ส่วนหัวจะหนาและสั้น แล้วมีโค้งเล็กน้อย ลำตัวช่วงหลังกับด้านข้างจะมีสีน้ำเงินอมดำ น้ำตาลอมเทา น้ำตาลอมแดง หรือน้ำตาลอมเขียว สีที่พบจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัย จงอยปากจะสั้นกลม ปากมีขนาดเล็ก มีฟันเต็มปาก ไม่มีหนวด ครีบหางมีขนาดเล็กลักษณะกลม ครีบอกจะอยู่ค่อนไปทางด้านล่างลำตัว ที่บริเวณหัวไม่มีเกล็ด
ปลามังกร หรือ อโรวาน่า จากทวีปออสเตรเลีย
ปลามังกรชนิดนี้ได้เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 มีอยู่ 2 ชนิด คือ
- Northern Saratoga หรือ Australian Pearl Arowana พบที่ ออสเตรเลียเหนือ และ ที่ หมู่เกาะนิวกินี ในอินโดนีเซีย ปลามังกรชนิดนี้จะมีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลามังกร จากทวีปเอเซียมาก ขนาดตัวที่โตเต็มที่จะมีความยาว 90 เซนติเมตร เกล็ดมีขนาดเล็กกว่าปลามังกร จากทวีปเอเซีย ขอบเกล็ดจะมีสีออกส้มเหลือบเขียวและมีลักษณะรูปพระจันทร์เสี้ยว
- Spotted Saratoga หรือ Australian Spot Arowana ถิ่นกำเนินอยู่ที่ รัฐควีนสแลนด์ ในลุ่มแม่น้ำ Dawson ปลามังกรชนิดนี้ จะมีลักษณะยาวเรียว สันหลังตรง ลำตัวด้านหลังและด้านข้างมีสีน้ำตาล น้ำตาลอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว เกล็ดมีขนาดใหญ่ บนเกล็ดจะมีจุดสีส้มอมแดง ครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลืองอ่อน ขอบครีบจะมีสีเข้มเกือบดำ
เลี้ยงปลามังกรยังไงให้สวยสุขภาพดี
ลำดับต่อไป การเลี้ยงปลามังกรให้สวยคุณภาพคับแก้วแถมด้วยสุขภาพดี โดยเราได้ศึกษาจาก คัมภีร์ Arowana From arohouse มีเคล็ดที่ไม่ลับง่ายๆ เลย ก่อนอื่นจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลามังกรให้ดีและมีคุณภาพ อาทิเช่น
เตรียมอุปกรณ์
- ตู้ปลา การเตรียมตู้ปลาปลามังกรควรจะมีขนาดขั้นต่ำ ยาว 60 นิ้ว กว้าง 24 นิ้ว ลึก 24 นิ้ว ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ที่ต้องใช้ตู้ขนาดใหญ่ตั้งแต่เริ่ม เพราะปลามังกรเติบโตไว อัตราเฉลี่ยการเติบโตเดือนละประมาณ 1 นิ้ว ไปจนปลามีอายุประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปี 6 เดือน การเติบโตจึงจะชะลอลง เมื่อซื้อตู้ปลามาใหม่ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 รอบ เป็นการทำความสะอาดและตรวจเช็กกาวหรือซิลิโคนในตู้จะไม่ละลายเจือปนกับน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลา นอกจากนี้ ตู้ปลาควรจะมีระบบกรองที่ดีด้วย
- น้ำ ในการเลี้ยงปลามังกร เรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น หากจะใช้น้ำประปาจะต้องผ่านการกรองด้วยเครื่องกรองคลอรีน หรือ กรองด้วยคาร์บอน (ถ่านกะลา เท่านั้น) ไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง หรือทิ้งน้ำไว้อย่างน้อย 3 วัน เพื่อเป็นการกำจัดคลอรีนในน้ำ แล้วถ้าจะใช้น้ำบาดาลควรกรองน้ำด้วยทั้งคาร์บอนและเรซิน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค น้ำที่ห้ามใช้เลี้ยงปลามังกรเป็นจำพวกน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำ ได้แก่ น้ำที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง น้ำฝน น้ำบาดาล(ที่ไม่ได้กรอง) น้ำสกปรก นอกจากนี้ ควรจะมีปั๊มน้ำกับปั๊มออกซิเจน สำหรับการไหลเวียนของน้ำและช่วยบำบัดน้ำ แล้วควรทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-30% ทุกเดือน เพื่อช่วยให้ปลาสดชื่นอยู่เสมอ
- อุณหภูมิของน้ำ เนื่องจากปลามังกรเป็นปลาน้ำจืดเขตร้อน อุณหภูมิของน้ำที่จะใช้เลี้ยงควรจะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะเหมือนน้ำตามธรรมชาติ คือ ประมาณ 28-31 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรจะให้อุณหภูมิของน้ำต่ำกว่านี้มากเกินไปจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อยและไม่สบายได้ หากเลี้ยงปลาในห้องแอร์ควรจะมี Heater สำหรับปรับอุณหภูมิน้ำไม่ให้ลดต่ำมาก
- ระบบสำรองไฟ เป็นสิ่งจำเป็นอีกตัวหนึ่งในการเลี้ยงปลามังกรที่ควรจะมีไว้ติดบ้าน หากเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะไม่ทำให้ปลามีอันตรายถึงแก่ชีวิต
- สภาพแวดล้อม การจัดสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาควรจะทำให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด เพื่อปลาจะไม่ตื่นกลัวและกินอาหารได้เป็นปกติ แต่ไม่ควรจะมีก้อนหินก้อนใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ปลามังกรบาดเจ็บได้
อาหารที่ควรให้
การเลี้ยงปลามังกรนั้น เรื่องอาหารก็สำคัญนัก อาหารสำหรับปลามังกร ได้แก่
- ไรน้ำนางฟ้า เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงถึง 65% เมื่อปลาได้กินก็จะโตเร็ว และก็มีคาร์โบไฮเดรตสูงด้วยจึงให้ได้รับพลังงานที่สูง ซึ่งจะทำให้ปลามีความกระฉับกระเฉง นอกจากนี้ ไรน้ำนางฟ้ายังมีไขมันต่ำ ทำให้ปลามีสุขภาพดีไม่อ้วนไม่ขี้โรค แล้วก็ยังมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าอาหารชนิดอื่นที่จะทำให้ปลามังกรมีสีสันสวยคงเดิมแถมทำให้ปลามีอายุยืนด้วย
- หนอนนกและแมลงต่างๆ เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ปลากินง่าย และชอบกิน
- กุ้งฝอย เป็นอาหารที่นิยมให้ปลามังกรกินมาก เนื่องจากหาง่าย ปลาชอบกิน กุ้งฝอยจะทำให้สีสันของปลามังกรสวยงาม
- ลูกปลาหรือปลาตัวเล็ก จำพวกปลาสอด ปลาหางนก ปลากัด ปลาทอง การให้ลูกปลาจะทำให้ปลามังกรโตเร็ว สีสันสวยงาม มีความกระตือรือร้น
- สัตว์เลื้อยคลาน ประเภท จิ้งจก ตุ๊กแก สัตว์พวกนี้ปลามังกรชอบกินมาก แต่อาจจะหาได้ไม่มากนัก และไม่มีขายตามท้องตลาด
- เนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อกุ้ง เนื้อปลา หากจะให้เนื้อเหล่านี้ควรจะล้างทำความสะอาด เพื่อกำจัดไข่พยาธิและสิ่งสกปรกต่างๆ แล้วต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จะทำให้กลืนง่าย
- ใส้เดือนดิน อาหารตัวนี้จะเป็นตัวช่วยเร่งฮอร์โมน สำหรับใช้ในฤดูผสมพันธุ์
อยากทำฟาร์มปลามังกรต้องเริ่มยังไง
ได้ข้อมูลหลายๆ อย่างกันไปแล้ว ทีนี้มาดู การทำฟาร์มปลามังกรพอสังเขปจะเป็นอย่างไรบ้าง การจะเลี้ยงหรือเพาะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ เหนือสิ่งอื่นใดเลยคือ ต้องมีความชอบความรักเป็นพื้นฐาน เนื่องจากหากไม่มีสองสิ่งนี้อาจจะขาดความมุ่งมั่นและอดทนก็เป็นได้ ถัดจากนั้นคงจะเป็นเรื่องของทุนที่ควรมีมากพอสมควร เพื่อจะได้มีปัญหาน้อยที่สุด แล้วจึงจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ เสาะหาข้อมูลความรู้ รวมไปถึงการลงมือทำแบบที่เรียกว่า เรียนรู้ไป ลองผิดลองถูกไป
ในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลามังกร ตามมาตรฐานสากลจะต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมในฟาร์ม บ่อเพาะพันธุ์ โรงเรือนอนุบาลลูกปลา และโรงเรือนอาหารปลา นอกจากนี้ ฟาร์มควรจะศึกษาเรื่องข้อกำหนดในอนุสัญญา CITES และเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ในเมืองไทย เพื่อทำให้เป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย จะได้สบายใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
สำหรับเทคนิคการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่าย มีสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด ได้แก่ การจัดการพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยเน้นที่ความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อลูกปลาจะได้มีคุณภาพ ดังนั้น การเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์จึงควรเลี้ยงในบ่อดิน เพราะจะผลิตลูกปลาได้เกือบทุกเดือนในปริมาณมาก ซึ่งดีกว่าการเลี้ยงใบ่อซีเมนต์ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนได้ดีด้วย
ด้านการอนุบาลลูกปลามังกร เรื่องความหนาแน่นถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยได้นำข้อมูลจาก คุณสุวีณา บานเย็น, คุณนพดล จินดาพันธ์ และ คุณสุธาทิพย์ ทิพย์วงศ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎรธานี ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับความหนาแน่นของน้ำในการเลี้ยงปลามังกรมาอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจกัน เนื่องจากการปล่อยลูกปลาในบ่ออนุบาลจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ถ้าปล่อยลูกปลาจำนวนที่เหมาะสมก็จะทำให้ลูกปลามีการเจริญเติบโตรวดเร็วและรอดตายดีกว่าการปล่อยลูกปลาจำนวนมากๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อลูกปลามีจำนวนมากความหนาแน่นในบ่ออนุบาลก็จะมาก มันจึงทำให้สภาพที่อยู่คับแคบลง แย่งอาหาร กินกันเอง หรือน้ำอาจจะเน่าเสียจากการขับถ่าย
โรคหรือตำหนิที่เกิดในปลามังกรพร้อมวิธีรักษา
ถัดไปเป็นเรื่อง โรคหรือตำหนิที่มักจะเกิดกับปลามังกรรวมถึงวิธีการรักษาและข้อควรรู้ควรระวัง มีดังนี้
โรคเหงือก ถือเป็นโรคยอดฮิตที่จะเกิดกับปลามังกร มีอยู่ 4 แบบ คือ โรคเหงือกอ้า หรือเหงือกบาน โรคเหงือกหุบ โรคเหงือกพับ และโรคเหงือกบุ๋ม สาเหตุของโรคนี้มีที่มาไม่แน่นอน แต่มักเกิดจากน้ำที่มีค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป รวมไปถึงไม่ดูแลตู้ปลา ทำให้มีของเสียเยอะ ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ ออกซิเจนในตู้มีไม่เพียงพอ และอุณหภูมิของน้ำสูงหรือต่ำเกินไป
- วิธีการรักษา ปลามังกรถ้าเป็นโรคเหงือกแล้วจะการรักษาทำได้ยาก เพราะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้เฉพาะในระยะเริ่มแรกเท่านั้น หากเป็นหนักอาจต้องทำศัลยกรรม หรือหากรักษาไม่ได้ก็จะเป็นรอยตำหนิถาวรไปเลย
โรคตาตก คือการที่มีไขมันในเบ้าตามากทำให้ดันลูกตาตกลง สาเหตุของโรคสันนิษฐานได้ว่าเกิดจาก…
- ให้อาหารที่มีไขมันมากเกินไป
- ให้เหยื่อเป็นจำพวก “กุ้งฝอย” ไม่ใช่เกิดจากการกินกุ้งฝอย แต่เกิดจากการที่ปลามองหากุ้งฝอยที่บริเวณพื้นตู้เป็นเวลานานจึงทำให้มีอาการตาตก
- เลี้ยงปลาในตู้เปลือย คือ ไม่มีอะไรในตู้ปลาเลย อาจจะทำให้พื้นตู้มีการสะท้อนเงาของตัวปลา เมื่อปลามองบ่อยๆ ก็จะทำให้ตาตกได้
- เกิดจากกรรมพันธุ์ ปลามังกรที่เป็นโรคตาตกจากกรรมพันธุ์ ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่ตัวเล็กๆ ขนาดลำตัวประมาณ 6 นิ้ว ก็เป็นแล้ว
- วิธีรักษา มีคุณหมอท่านหนึ่งได้ทำการรักษาโรคตาตกให้แก่ปลามังกร ด้วยวิธีดึงหนังตาขึ้นแบบที่รักษา โรคหนังตาม้วนเข้าในสุนัข ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลและทำให้ปลาได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด คุณหมอยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ปลาเกิดอาการตาตก คือ การเลี้ยงแบบปิดตู้ด้านข้างเป็นช่วงเวลา เพื่อให้กล้ามเนื้อลูกตาของปลาได้มีการพักบ้าง
โรคหนวดปลาหมึก จัดเป็นโรคยอดฮิตอีกโรคหนึ่ง ปลามังกรที่เป็นโรคนี้จะมีหนวดหงิกงอและมีตุ่มขึ้น ดูเหมือน “หนวดปลาหมึก” สาเหตุของโรคเกิดจาก อุณหภูมิน้ำที่ร้อนเกินไป (ส่วนมากจะเป็นในฤดูร้อน) ตู้ปลาสกปรกมีคราบมาก และจะเป็นกับปลาที่มีนิสัยชอบเล่นหน้าตู้โดยใช้ปากถูไถกับตู้บ่อยๆ
- วิธีการรักษา การรักษาโรคนี้ไม่ยากนัก เพียงดูแลรักษาความสะอาด คอยเปลี่ยนน้ำตามที่ควร ปลาจะมีอาการดีขึ้น แต่หากปลามีอาการหนักก็ให้ล้างหนวดด้วย “ด่างทับทิม” แต่วิธีนี้ค่อนข้างอันตราย จะต้องวางยาสลบปลาและต้องผสมน้ำกับด่างทับทิมไม่ให้เข้มข้นจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นด่างทับทิมจะกัดหนวดขาดได้ ดังนั้น ควรจะทำการรักษาในระยะเริ่มแรกจะง่ายและดีที่สุด
โรคริดสีดวง ลักษณะของโรค คือ จะมี “ติ่งสีชมพูอมแดง” ยื่นออกจากช่องทวาร เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้ปลาขับถ่ายลำบาก สาเหตุของโรคนี้มักเกิดจากระบบขับถ่ายของปลามังกรไม่ดี เวลากินอาหารชิ้นใหญ่หรือย่อยยากเป็นจำนวนมากก็จะทำให้การขับถ่ายมีปัญหา
- วิธีการรักษา เป็นโรคที่ไม่เป็นอันตรายมากนัก สามารถรักษาให้หายได้ โดยการเปลี่ยนอาหารที่สามารถย่อยง่าย ชิ้นเล็ก อย่างเช่น หนอนนก กุ้งฝอย หรือจิ้งหรีด หากเปลี่ยนอาหารเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้ใช้ตัวอ่อนของหนอนนก หรือที่เรียกว่า “หนอนขาว” กินไม่นานริดสีดวงก็จะหาย แต่ก็สามารถกลับเป็นได้อีก ถ้าหากปลาเป็นมากจะต้องวางยาสลบ แล้วตัดริดสีดวงทิ้ง และใช้วิธีให้อาหารย่อยง่ายต่อเนื่องก็จะทำให้อาการดีขึ้น
โรคจุดขาว เป็นโรคที่เกิดจากปลาเหยื่อ หรือติดจากปลาที่อยู่ในตู้เดียวกัน อาการจะมีจุดสีขาวขึ้นตามเกล็ดและครีบ ถ้าปลามังกรมีอาการนี้ให้แยกปลาตัวอื่นโดยเร็ว
- วิธีรักษา ใช้ “เกลือ” ในปริมาณเข้มข้นและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ถ้าเป็นมากให้ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะโรคที่มีขายตามท้องตลาด
โรคเกล็ดพอง ส่วนมากเกิดกับปลามังกรขนาดเล็กไม่เกิน 8 นิ้ว สาเหตุมาจากน้ำสกปรกและมีของเสียในน้ำมากรวมถึงน้ำมีอุณหภูมิเปลี่ยนฉับพลัน อาการ “เกล็ดจะเปิดอ้าออก” โรคนี้ค่อนข้างจะอันตรายสามารถทำให้ปลาตายได้ ดังนั้นควรจะรีบทำการรักษา
- วิธีรักษา ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ยาแก้อักเสบ ชื่อ “อะม๊อกซิล” ตัวเดียวกับที่คนใช้ โดยก่อนจะใช้ยาควรเปลี่ยนน้ำ 30% แล้วใช้ยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม ต่อ น้ำ 1 ลิตร ให้ทำแบบนี้ทุกวัน ปลาจะมีอาการดีขึ้นใน 1 อาทิตย์
โรคเกล็ดกร่อน สาเหตุเกิดจาก เกล็ดติดเชื้อกลุ่มปรสิตหรือแบคทีเรียในน้ำ ปลาขาดวิตามิน คุณภาพของน้ำกับระบบกรองไม่ดี ปลาอยู่ในน้ำมีค่า pH 8-9 ขึ้นไปเป็นเวลานาน อาการมีดังนี้ ขอบปลายเกล็ดจะขรุขระ แหว่งไม่โค้งเรียบ ควรจะรักษาตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อป้องกันเกล็ดกร่อนทั้งหมด
- วิธีรักษา ทำความสะอาดตู้ปลาให้อากาศถ่ายเทสะดวก, ควบคุมอุณหภูมิน้ำไว้ที่ 30-31 องศาเซลเซียส ตลอดการรักษา, ใช้ UV เปิด 24 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ, ถ้าปลามีอาการหนักหรือลุกลามมาก ให้ใช้ฟอร์มาลินหรือฟอร์มัลดีไฮด์ ปริมาณ 20 cc ต่อ น้ำ 1000 ลิตร ก่อนใส่ควรจะเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณ 15% ทุกครั้ง, หากทำวิธีข้างต้นแล้ว แต่เกล็ดไม่สามารถจะซ่อมแซมตัวเองได้ ก็นำไปหาสัตวแพทย์ทำการถอดเกล็ด
โรคแผลอักเสบ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในซอกเกล็ดของปลามังกร หรือเกิดจาการทะเลาะกันของปลาและอาหารไม่ย่อย อาการ คือ ปลาจะมีรอยจ้ำเลือดแดงๆ หรือสีน้ำตาล
- วิธีรักษา การรักษาจำเป็นจะต้องวางยาสลบปลา แล้วทำการถอดเกล็ดออก จากนั้นใช้ยาเหลืองทาที่รอยแผล
โรคเชื้อรา เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยกับปลามังกร จะมีลักษณะเป็น “รอยด่าง” หรือ “รอยเปื่อย” ตามจุดต่างๆ เช่นครีบเครื่อง หัว หาง คาง แก้ม ลำตัว โรคเชื้อรานี้แม้จะไม่อันตราย แต่ก็ทำความรำคาญให้กับปลา แล้วถ้าเป็นหนักอาจมีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ สมควรรีบทำการรักษา
- วิธีรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะที่ชื่อ “ฟังกัส” สามารถหาได้ตามร้านทั่วไป โดยใช้ยา 1 เม็ด ต่อ น้ำ 100 ลิตร
โรคตาขุ่น โรคนี้เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ติดเชื้อจากกรณีที่ตาบาดเจ็บ และ น้ำสกปรกมากๆ มีคราบของเสียในตู้ปลาจำนวนมาก จนทำให้ปริมาณออกซิเจนน้อยลง ลักษณะอาการของโรค ปลาจะมีแก้วตาเป็นสีขาวขุ่น ไม่เห็นลูกตาดำ ความรุนแรงของโรค มี 3 ระดับ คือ ตาขุ่นใสเหมือนเนื้อลำใย ตาขุ่นแบบตาปลานึ่ง และขุ่นทั้งลูกตา หรือ ตาเป็นเงาะ
- วิธีการรักษา ให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้นแบบวันเว้นวัน จะทำให้ปลามังกรมีอาการดีขึ้น หากมีอาการหนักให้ใช้ยาแก้อักเสบชนิดเดียวกับที่ใช้ในโรคเกล็ดพอง และก็ทำวิธีการเดียวกันได้เลย
เรียนรู้เรื่องกฎหมายก่อนซื้อปลามังกรมาเลี้ยง
สำหรับการครอบครองและเลี้ยงดูปลามังกร เนื่องจาก ปลามังกร ถือเป็น สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือสัตว์ป่าสงวน ตาม “อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)” หรือ CITES แล้วในเมืองไทย ปลามังกรก็ถูกจัดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้” ดังนั้น การจะครอบครองหรือเลี้ยงดู ในทางกฎหมายแล้วจำเป็นต้องมีใบอนุญาต ที่ เรียกว่า “ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์” หรือ “สป.15” มีอายุ 5 ปี ซึ่งออกให้โดย “กรมประมง” การประสงค์เลี้ยง เมื่อซื้อปลามังกรจากฟาร์มเพาะพันธุ์ ที่ มีใบอนุญาตินำเข้า ใบอนุญาตส่งออก และใบอนุญาตจำหน่ายปลามังกรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ซื้อจะได้รับ “ใบกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครอง” ให้นำใบกำกับฯ นี้พร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชนและเงินจำนวน 50 บาท ไปทำใบอนุญาตครอบครองปลามังกรได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดที่จะเลี้ยงปลาได้เลย
ส่วนการนำเข้าปลามังกรก็เช่นกัน ไม่ว่าจะนำเข้าจากที่ใด ตามกฎระเบียบของ CITES จะต้องมีเอกสาร CITES จากประเทศที่จำหน่ายต้นทางและบนตัวปลามังกรจะต้องฝังไมโครชิฟทุกตัว ผู้นำเข้าหรือฟาร์มก็ต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เมื่อปลาถึงเมืองไทยจะมีการตรวจสอบเอกสารทุกอย่างและตัวปลา โดยเลขไมโครชิฟที่ตัวปลาจะต้องตรงกับเลขในใบเอกสาร โดย สำนักงานประมงจังหวัดนครนายก มีข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อปลามังกรดังนี้
ข้อปฏิบัติในการซื้อปลามังกรที่ควรรู้ คือ
- ควรตรวจสอบร้านค้าหรือฟาร์มว่าได้รับ “ใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือ สป.11” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- ผู้ขายจะต้องออกเอกสารกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าให้กับผู้ซื้อทุกครั้ง
- ผู้ซื้อจะต้องนำเอกสารกำกับการจำหน่ายสัตว์ป่าไปดำเนินการขอใบอนุญาตครอบครอง ที่ กรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัด
(หมายเหตุ: ใบ Certificate หรือ ใบรับรองสายพันธุ์ ไม่สามารถใช้แทนใบอนุญาตครอบครองได้ เพราะไม่ถือเป็นเอกสารที่รับรองโดยทางราชการ)
ความเชื่อเกี่ยวกับปลามังกร
จบเรื่องหนักๆ ก็มาต่อเรื่องที่ใครหลายคนสนใจ เพราะเชื่อแน่ว่า ผู้ที่สนใจหรือต้องการจะเลี้ยงปลามังกร แทบทุกคนจะต้องมีความเชื่อเกี่ยวกับปลามังกรว่าจะช่วยเสริมบารมี โชคลาภ ความมั่งคั่ง ความแข็งแรง รวมไปถึงช่วยกำจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ และช่วยให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เหล่านี้จึงทำให้ผู้ที่มีธุรกิจใหญ่ กิจการค้าต่างๆ ข้าราชการ และบุคคลทั่วไปต่างอยากจะให้ปลาที่มีชื่ออันเป็นมงคลตามความเชื่อของคนจีนที่ว่า มังกรเป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจและความโชคดี เข้ามาอยู่ในบ้านและมอบพลังแห่งความโชคดีมั่งคั่งแก่ตน
โดยทั้งนี้ก็ได้มีหมอดูชื่อดังท่านหนึ่งได้บอกเคล็ดลับการเสริมเพิ่มโชคลาภ…ด้วยการ…ใส่เหรียญอี้จิง (เหรียญจีนที่มีลักษณะกลมๆ ตรงกลางเป็นรูสี่เหลี่ยม) ลงไปในตู้ปลามังกรแทนก้อนหินก้อนกรวดต่างๆ หากไม่มีเหรียญอี้จิงก็ให้ใช้เหรียญ 50 สตางค์ ได้ ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่สีทองให้แก่ตู้ปลา ปลามังกรจะได้ช่วยเพิ่มความมีโชคความรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปอีกหลายเท่า…ใครเห็นด้วยสามารถลองได้ มันไม่ได้เสียหายอะไร อาจจะดูสวยงามไปอีกแบบก็เป็นได้
แหล่งซื้อขายและราคาที่ควรรู้
ลำดับสุดท้ายจะมาว่ากันเรื่องแหล่งซื้อ-ขายและราคาปลามังกรพอสังเขปกันค่ะ
แหล่งซื้อ-ขายที่ค่อนข้างใหญ่ในกรุงเทพมหานคร คือ “ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร” มีหลายร้าน หลายฟาร์ม และมีหลายราคา อย่างเช่น ปลาในถุง อาทิ
- ปลามังกรเงิน ขนาดเล็ก ตัวละ 200 บาท
- ปลามังกรทองอินโด ขนาดเล็ก ตัวละ 3,000 บาท
- ปลามังกรแดง เกรดบี ขนาดเล็ก ตัวละ 2,000 บาท
- ส่วน ปลาขึ้นตู้ จะมีราคาค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 9,000 ไปจนถึงหลายหมื่น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และความสวยงามสมบูรณ์ของปลา
อีกแหล่งหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่อยู่ในจังหวัดราชบุรี คือ “Fish Village ตลาดกลางปลาสวยงามและสัตว์เลี้ยง จังหวัดราชบุรี ในความส่งเสริมของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ที่นี่มีหลายร้านค้า หลายฟาร์มเช่นกันแถมราคาก็มีให้เลือกสรรหลากหลายด้วย อย่างเช่น ปลามังกรทองมาเลย์ ราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 3,990 บาท (ราคาแต่ละร้านอาจไม่เท่ากัน) เป็นต้น
นอกจากนี้ ก็ยังมีปลามังกรที่มีค่าตัวสูงลิบอย่างที่เรียกว่า พอๆ กับราคารถยนตร์คันหรูได้เลย นั่นก็คือ “ปลามังกรแดง” ที่ เมืองเฉินตู ประเทศจีน มีสนนราคาถึง 360,000 หยวน หรือ ราวๆ 1.66 ล้านบาท นี่ถึงกับต้องร้องว้าวเลย ตัวเธอเลอค่าแท้จริง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ ปลามังกร หรือ อโรวาน่า เต็มอิ่มเต็มกระเป๋ากันเลยเชียว รับรองว่า คุณจะมั่งมี มั่งคั่ง มั่นคง ด้านข้อมูลรวมถึงโชคดีแน่นอน และหากใครที่กำลังคิดว่าปลาชนิดนนี้น่าสนใจและอยากนำมาเลี้ยง เราก็ขอให้คุณคิดอย่างถี่ถ้วน เพราะอย่างที่ทราบไปจากข้อมูลที่ได้พูดคุยกันมา ปลามังกรเป็นปลาสวยงามแต่ในขณะเดี่ยวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าชอบจริง จัดสักตัวไปเลย ทั้งนี้ kaset.today ยังมีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับปลาสวยงามอีกมาก เช่น ปลาเทวดา ปลาเสือตอ ปลาคาร์ฟ เราก็อยากจะให้คุณมาลองอ่านกัน เผื่อว่าคุณจะมีไอเดียดีๆในการเลือกซื้อปลาสวยงามไปประดับในห้องนั้งเล่นในบ้านคุณได้นะ
แหล่งอ้างอิง