ปลาหมึก…มีกี่สายพันธุ์ และคุณรู้ไหมว่าธนาคารไข่หมึกคืออะไร

ปลาหมึก (Cephalopods) ทรัพยากรใต้ทะเลที่สร้างรายได้ให้กับชาวประมงและพ่อค้าแม่ค้าหลาได้หลายล้านบาทต่อปี มีอัตราการบริโภคที่มากขึ้น เนื่องจากปลาหมึกหาทานง่ายและประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่ทรัพยากรเหล่านี้ก็อาจจะหมดหรือสูญพันธุ์ไป และนั้นหมายถึงปัญหาหลาย ๆอย่างจะตามมา ชาวประมงอาจจะไม่มีอาชีพตกหมึกอีก นั้นทำให้ kaset.today คิดว่าหากเราไม่ได้แค่ศึกษาแต่วิธีการจับแต่เรามาศึกษาวิธีอนุรักษ์หรือขยายพันธุ์สายพันธุ์ปลาหมึกเหล่านี้ให้มีพอตามความต้องการมันจะไม่ดีกว่าหรอ…แล้วคุณคิดว่าไงละ

ปลาหมึก
credit : NATIONAL GEOGRAPHIC by Simon Chandra
ปลาหมึก เป็นสัตว์น้ำที่สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านของการเป็นทรัพยากรทางอาหาร แต่ในปัจจุบันปลาหมึกในท้องทะเลมีปริมาณลดลงอย่างน่ากังวล จากรายงาน สถานการณ์สินค้าหมึกและผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 ที่จัดทำขึ้นโดย ฐิติมา เอียดแก้ว กลุ่มเศรษฐกิจการประมง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของปลาหมึกในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าปลาหมึกจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นแต่สามารถทำประมงหาหมึกได้ในปริมาณน้อยลง ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะละอันดามัน แน่นอนว่าหมึกเป็นผลผลิตที่มาจากท้องทะเล ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้การผลิตตามธรรมชาติอย่างเดียวจะไม่เพียงพอ ดังนั้นการเพาะพันธุ์หมึกเพื่อทดแทนที่ธรรมชาติต้องสูญเสียไปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่นอกจะเพิ่มรายได้แล้วยังสามารถช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติไว้และยังเป็นการทำปศุสัตว์ทางทะเลที่ยั้งยืนอีกด้วย

ข้อมูลทั่วไปของปลาหมึก

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึก

ชื่อภาษาอังกฤษ: Octopus, Squid

ชื่อทางวิทยาศาสตร์:  Cephalopoda

ตระกูลสัตว์: Mollusca


ปลาหมึกเป็นอย่างไร

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้กล่าวถึงปลาหมึกไว้ว่า เป็นสัตว์ทะเลที่ถูกจัดอยู่ใน ชั้นเซฟาโลโพดา (Class Cephalopoda) ซึ่งเป็นชั้นที่มีวิวัฒนาการสูงสุด ในไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) มีลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มเดียวกันอย่างหอยฝาเดียว (Class Gastropoda) และหอยสองฝา (Class Bivalvia) ความแตกต่างดังกล่าวคือ ทั้งหอยฝาเดียวและหอยสองฝานั้นส่วนใหญจะไมวองไวและบางชนิดยังเป็นพวกที่เกาะติดอยูกับที่กินอาหารโดยการกรองจากน้ำทะเล กรมประมงได้กล่าวถึงปลาหมึกไว้ว่า ปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่มีพฤติกรรมว่องไวเหมือนปลา แต่ไม่ถูกจัดว่าเป็นปลา เนื่องจากไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีเปลือกหุ้มตัว ส่วนที่เป็นเท้าถูกเปลี่ยนแปลงเป็นหนวดติดอยู่ที่หัว  มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำ และมีระบบประสาทสัมผัสเทียบเท่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ตาที่มีโครงสร้างและประสิทธิภาพใกล้เคียงกับมนุษย์ มีเส้นประสาทใหญ่กว่ามนุษย์ 50 เท่า (เทียบตามอัตราส่วน) ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว จัดว่าเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีวิวัฒนาการมาสูงที่สุด หมึกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผสมพันธุ์แบบมีเพศ วางไข่เพียงครั้งเดียวแล้วตาย ปลาหมึกเป็นสัตว์ตวกินเนื้อ เป็นผู้ล่า (predator) ที่สำคัญของห่วงโซ่อาหาร

โครงสร้างภายนอกของปลาหมึกและสายพันธุ์ปลาหมึก

หมึกเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ใน Phylum Mollusca, Class Cephalopoda พบในน่านน้ำไทย 2 subclass 4 order 3 สกุล 53 ชนิด (Nateewathana, 1997) สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ squid, cuttlefish, octopus และ nautilus (หอยงวงช้าง)

1. Squid

เรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับ Squid กัน ด้วยปลาหมึกประเภทนี้จะมีรูปร่างยาว มีครีบด้านข้างค่อนไปทางท้ายลำตัว ระยางค์รอบปาก ประกอบด้วยระยางค์สั้น คือ หนวด 4คู่ มีปุ่มดูดบนหนวด 2 แถว หรืออาจเป็น 4 บางชนิดอาจจะมีตะขอร่วมด้วย หรือ มีแต่ขอเพียงอย่างเดียว มีระยางค์ยาวเป็นหนวดจับอาหารหนึ่งคู่ มีปุ่มดูดสองแถวหรือมากกว่านั้นใน แต่บางชนิดอาจจะมีตะขอด้วย ได้แก่ ปลาหมึกกล้วยหรือปลาหมึกหอมและปลาหมึกกระดองบางชนิด

  • หมึกกล้วย

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึกกล้วย (Loligo spp.)

ชื่อภาษาอังกฤษ: SPLENDID SQUID

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Loligo duvauceli

ปลาหมึก

ลักษณะของหมึกกล้วย รูปร่างยาวเรียว ลำตัวกลม ครีบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้านท้าย ครีบด้านซ้ายและขวาเชื่อมต่อกันทางด้านหลัง มีหนวดสั้น 4 คู่ และหนวดยาว 1 คู่ หนวดสั้นอันที่สี่ข้างซ้ายของเพศผู้ ปุ่มดูดที่อยู่บนหนวดเปลี่ยนรูปเป็นขนสั้น ๆ เพื่อใช้ในการผสมพันธุ์ นัยน์ตามีขนาดใหญ่ ในปากมีฟันเขี้ยวคล้ายปากนกแก้ว ในลำตัวมีกระดองใสเหมือนแผ่นพลาสติก รูปร่างคล้ายขนนก สามารถพบหมึกกล้วยได้ทั่วไปในอ่าวไทย โดยปกติกลางวันจะหลบอยู่ตามหน้าดิน ออกหาอาหารในเวลากลางคืนตามผิวน้ำ

  • หมึกหอม

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึกหอม

ชื่อภาษาอังกฤษ: SOFT CUTTLE FISH

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sepistenthis lessoniana

ปลาหมึก

ลักษณะของหมึกหอม ลำตัวรูปทรงกระบอก ตัวผู้มีขนาดเรียวยาวกว่าตัวเมีย ครีบข้างตัวทั้ง 2 ด้าน มีความกว้างและแบน ยาวเกือบตลอดลำตัวคล้ายหมึกกระดอง ต่างกันที่กระดองของหมึกหอมเป็นแผ่นใสบาง สามารถเห็นเส้นกลางกระดองได้ชัดเจน หนวดรอบปากมี 10 เส้น เป็นแขน 8 เส้น มีหนวดคู่ยาว 2 เส้น ลักษณะของลำตัวดูใส มีสีน้ำตาลอมแดง ประเป็นจุดอยู่ทั่วไป นัยน์ตาเขียว มักพบหมึกหอมรวมกลุ่มอยู่เป็นหมู่ ทั้งในบริเวณผิวน้ำจนถึงผิวพื้นทะเล ไข่หมึกมีลักษณะคล้ายนิ้วมือ เรียงอยู่เป็นกลุ่มเกาะติดกับสาหร่าย ปะการัง หิน หรือวัสดุอื่น ๆ พบได้ทั่วไปทั้งทะแลฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

2. Cuttlefish

เป็นปลาหมึกที่มีลักษณะแบนกว้าง คล้ายถุง มีกระดองสีขาวขุ่น มีครีบด้านข้าง หากมีครีบตลอดลำตัว หากมีครีบสั้นกลม จัดเป็น sepiolidae ปลาหมึกกระดองมีระยางค์เหมือนปลาหมึกกล้วย มีแขน 4 คู่ หนวด 1 คู่ แต่ไม่มีตะขอ

  • ปลาหมึกกระดอง

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึกกระดอง (Sepia spp.)

ชื่อภาษาอังกฤษ: RAINBOW CUTTLEFISH

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sepia pharaonic

ปลาหมึก

ลักษณะของหมึกกระดอง หมึกทะเลเป็นสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง วิวัฒนาการมากที่สุดในกลุ่มสัตว์ประเภทหอย เคลื่อนที่ด้วยหนวด ว่ายน้ำได้รวดเร็ว ลำตัวเป็นถุงรูปไข่ มีครีบใช้ในการพยุงตัว ทำให้สามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้รวดเร็ว และมีกระดองรูปคล้ายใบหอกที่เรียกว่า ลิ้นทะเล เป็นสารประกอบของหินปูน ทำหน้าที่เป็นโครงกระดูกค้ำร่างกายให้ทรงรูปร่างได้ หัวมีนัยน์ตาขนาดใหญ่ มีหนวดสั้น 4 คู่ และหนวดยาว 1 คู่ ปลายของหนวดมีอวัยวะดูดใช้ในการจับอาหาร ปากเป็นช่องมีเขี้ยว 2 อัน ประกบกันคล้ายปากนกแก้วสำหรับขบอาหาร ปากอยู่บนส่วนหัวและล้อมรอบด้วยหนวด 10 เส้น ระหว่างหัวและลำตัวมีช่องเป็นทางให้น้ำไหลเข้าสู่ตัว และน้ำจะไหลออกทางท่อพ่นน้ำมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อที่ยึดติดกับส่วนคอ ภายในท่อมีลิ้นปิดเปิดเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมา ปลายท่อหันเหไปตามทิศทางที่ต้องการได้ นอกจากนี้ท่อพ่นน้ำยังทำหน้าที่เป็นช่องขับถ่ายของเสีย และหมึกซึ่งพ่นออกมารวมกับน้ำใช้ในการกำบังตัวให้พ้นจากอันตรายของศัตรู มักจะพบหมึกกระดองหากินอยู่ในบริเวณผิวน้ำในเวลากลางคืน สามารถพบได้ทั่วไปในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

3.Octopus

ลำตัวกลม คล้ายถุง ไม่มีครีบ มีระยางค์รอบปาก 4 คู่  ปุ่มดูดไม่มี chitinouse ring เหมือนปลาหมึกกล้วย

  • ปลาหมึกสาย

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึกยักษ์หรือปลาหมึกสาย (Octopus spp.)

ชื่อภาษาอังกฤษ: Octopus

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Octopus dolifusi

ปลาหมึก
credit : Redbubble

ลักษณะของหมึกสายหรือหมึกยักษ์ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่จัดอยู่ในจำพวกหมึกทะเล แต่มีรูปร่างแตกต่างจากหมึกโดยทั่วไปคือ ลำตัวกลมคล้ายลูกโป่ง ไม่มีครีบ ไม่มีกระดอง มีหนวด 8 เส้น แตะละเส้นมีความยาวใกล้เคียงกัน โคนหนวดแต่ละเส้นมีแผ่นหนังเชื่อมติดกัน ด้านในของหนวดทุกเส้นมีปุ่มดูดเรียงกันเป็นสองแถวสำหรับจับสัตว์กินเป็นอาหาร ลำตัวสีเทาอมดำหรือสีน้ำตาลอ่อน ด้านท้องสีขาว หมึกสายเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวค่อนข้างช้า ถิ่นอาศัย มักพบหมึกสายเล็กซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่เป็นโคลนหรือโคลนปนทราย พบมากตามบริเวณชายทะเลทั่วไป

4.Natilus

มีเปลือกภายนอกขดเป็นวงในแนวแนบรอบวง มีผนังกั้นภายในตามขวางแบ่งช่อง ภายในเปลือกเป็นช่องๆ กึ่งกลางผนังมีรูอยู่ทุกแผ่นมีแมนเติลยื่นมาตลอดแนวรูทำให้เกิดเป็นท่อเนื้อเยื่อเรียกว่า ไซฟันเคิล (siphuncle) เปลือกช่องนอกสุดมีขนาดใหญ่ที่สุด และตัวหอยงวงช้างจะอยู่ในช่องนี้ อากาศในช่องของเปลือกจะทำให้ลอยตัวได้และสามารถปรับปริมาณอากาศให้เข้าออกได้ทางไซฟันเคิล

  • หอยงวงช้าง

ชื่อภาษาไทย: หอยงวงช้าง (Nautilus spp.)

ชื่อภาษาอังกฤษ: PEARLY NAUTILUS

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Nautilus pompilius

ปลาหมึก
credit : Heather Weather

ลักษณะของหอยงวงช้าง เป็นหมึกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกระดองหรือเปลือกที่มีรูปร่างคล้ายไปทางหอยทรงกลม เนื้อตัวของหอยงวงช้างคล้ายหมึกยักษ์ อยู่ตรงบริเวณปากของเปลือกหอย ลักษณะของเปลือกค่อนข้างโตและมีพื้นสีขาว มีลายสีส้มอมแดง จากบริเวณปากไปจนถึงก้นหอย เป็นสัตว์หลงยุคดึกดำบรรพ์ที่เผ่าพันธุ์ส่วนใหญ่ของมันได้สูญพันธุ์แล้ว มักพบหอยงวงช้างชอบอาศัยอยู่บริเวณพื้นก้นทะเลและจะว่ายอยู่ในระดับกลางน้ำ เพื่อหาอาหาร พบน้อยในบริเวณทะเลอันดามันที่เกาะอาดัง เกาะสิมิลัน เกาะลีเป๊ะ


เรียนรู้วิธีเลี้ยงและปัจจัยสำคัญของปลาหมึก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัดกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง ได้แบ่งตามลักษณะทางชีววิทยาการเพาะเลี้ยงออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

1. กลุ่มปลาหมึกกลาวน้ำ (Pelagic squids) หรือ กลุ่มปลาหมึกหอม สีหนวด 10 เส้น ปลาหมึกในกลุ่มนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงจะว่ายน้ำหาอาหารอยู่ตลอดเวลา ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งอาหารก็คือกลุ่มปลากลางน้ำ ปลาหมึกกลุ่มนี้ชอบอยู่ในน้ำใส สะอาด

2. กลุ่มปลาหมึกหน้าดิน (Benthic cuttlefish) เช่น ปลาหมึกกระดองลายเสือ ปลาหมึกกระดองหางไหม้ ปลาหมึกหูช้าง มีหนวด 10 เส้น กลุ่มนี้เป็นปลาหมึกที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน ปกติจะนอนหรือฝังตัวอยู่ตามหน้าดินเช่นเดียวกับสัตว์ในกลุ่มกุ้ง ปู และปลาหน้าดินชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของปลากลุ่ม

3. กลุ่มปลาหมึกสาย (Octopus) เป็นกลุ่มที่มีหนวด 8 เส้น ต่างจากสองกลุ่มแรกที่มี 10 เส้น เป็นปลาหมึกหน้าดินเช่นเดียวกับกลุ่มปลาหมึกกระดอง แต่ไม่ชอบฝังตัวในหน้าดิน อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามโพรงหิน อาหารเป็นสัตว์ในกลุ่มกุ้งและปู

ปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงปลาหมึก

คุณภาพน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญ

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาหมึก เพราะต้องมีอุณหภูมิระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส และต้องมีความเค็ม 28-32 ppt (ส่วนต่อพันล้าน) มีความเป็นกรด-ด่างที่ 7.0-8.5 และต้องมีออกซิเจนสูงกว่า 5 มก./ลิตร โดยทั่วไปปลาหมึกตามธรรมชาติมักชอบว่ายทวนกระแสน้ำที่ไม่แรงมาก แต่ก็ทำให้ปลาหมึกต้องใช้พลังงานสูง นั้นทำให้คนเลี้ยงต้องสังเกตุการเคลื่อไหวของปลาหมึก เพราะถ้าปลาหมึกเอาพลังงานไปใช้กับการเคลื่อนไหวมากเกินไป ก็จะไม่มีพลังงานเพียงพอต่อการเผาผลาญอาหาร ทำให้เจริญเติบโตช้าลง

แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการจัดการน้ำคือ ความขุ่นของน้ำ เพราะปลาหมึกอยู่ในทะเลที่มีน้ำไหลตลอดเวลา นั้นทำให้ปลาหมึกชอบอยู่ในน้ำที่สะอาด และอีกเหตุผลที่เราต้องทำให้น้ำสะอาดอยู่ตลอดเวลาคือ เหงือกของปลาหมึกไม่มีระบบกำจัดตะกอน ยกตัวอย่างลักษณะแหล่งน้ำที่ปลาหมึกอาศัย เช่น

  • ปลาหมึกกระดองก้นไหม้ มีความสมารถในการทนทานต่อน้ำที่มีความขุ่นสูง
  • ปลาหมึกกลาวน้ำ เช่น ปลาหมึกหอม ที่ต้องการคุณภาพน้ำที่ดีแล้วยังต้องมีกระแสน้ำแรงหรือน้ำไหลพอสมควรเพื่อช่วยในการลอยตัว โดยที่กระแสน้ำต้องไม่ไหลแรงเกินไปปลาหมึกจะได้ไม่สูญเสียพลังงาน ไปกับการว่ายน้ำต้านกระแสน้ำมากเกินไป หมายความว่าความว่าความแรงของกระแสนี้ที่แรงเกินไปจะส่งผลทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง
  • และในปลาหมึกหน้าดิน เช่น ปลาหมึกกระดองลายเสือ เรายิ่งต้องคำนึงเกี่ยวกับกระแสน้ำมากขึ้น เพราะนิสัยของปลาหมึกกระดองชอบหมอบติดกับพื้น กระแสน้ำที่แรงเกินไปจะพัดให้ปลาหมึกต้องลอยตัวอยู่ตลอดเวลาทำให้สูญเสียพลังงานและทำให้เจริญเติบโตช้าลง

อุปกรณ์สำคัญในการเลี้ยงปลาหมึก

  • เตรียมโรงเพาะเลี้ยงหมึก โดยโรงเรือนต้องตั้งใกล้กับทะเลหรือแหล่งน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้สูบน้ำทะเลขึ้นมาเลี้ยงหมึกได้ โรงเรือนต้องโปร่งอากาศถ่ายเทสะดวก มีหลังคา
  • เตรียมบ่อเลี้ยง ซึ่งเราต้องแบ่งเป็นบ่อเพาะฟัก บ่ออนุบาล และบ่อพ่อ-แม่พันธุ์ รวมถึงติดตั้งระบบออกซิเจนและวางระบบท่อน้ำเชื่อมต่อกับบ่อเลี้ยง โดยเราจะเลี้ยงหมึกด้วยน้ำทะเลที่สูบมาจากทะเลโดยตรง ไม่จำเป็นต้องนำมากลั่นหรือฆ่าเชื้อใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้ปลาหมึกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด และต้องมีการโฟลว์น้ำในบ่อเลี้ยงตลอดเวลา
  • สำหรับปลาหมึกหอมนิยมใช้อุปกรณ์เป็น กระชังแบบแขวนบนทุ่นลอย ทุ่นลอยอาจะเป็นแพไม้ไผ่ ถังน้ำมันเปล่า หรือทุ่นโฟม ก้นกระชังลอยอยู่เหนือหน้าดิน ทำเลที่เหมาะสมจึงควรมีความลึกพอสมควร อย่างน้อย 2 เมตร
  • สำหรับปลาหมึกกระดองลายเสือนิยมเลี้ยงในคอกและควรเป็นคอกที่มีเนื้ออวนแบบเส้นเอ็น และปลาหมึกกระดองก้นไหม้นิยมเลี้ยงกันในบ่อดินในปัจจุบัน

อาหารสำหรับปลาหมึก

ในการเลี้ยงปลาหมึก สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลาได้ให้ข้อมูลว่า ปลาหมึกเป็นสัตว์กินเนื้อ ซึ่งปริมาณอาหารที่ปลาหมึกกินในแต่ละวันเมื่อนำมาวัดกับน้ำหนังชองปลาหมึกแล้ว ปรากฎว่าอาหารที่กินเข้าไปมีน้ำหนังมากกว่าตัวปลาหมึกซะอีก ฉะนั้นเพื่อให้ปลาหมึกเจริญเติบโตได้อย่างมีรวดเร็ว ประสิทธิภาพของอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาหมึกอย่างยิ่ง และในการเลี้ยงลูกปลาหมึกอาหารที่พวกมันชอบกินคือ อาร์ทีเมีย สดๆ ซึ่งน่าแปลกคือตัวอาร์ทีเมียมีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็อุดมไปดูสารอาหารเหมือนกัน

โดยถ้าอ้างอิงแหล่งอาหารในทะเลแล้ว พวกปลาหมึกมักจะกินกุ้ง ปู หรือสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กกว่าหรือบางทีก็เป็นปลาหมึกที่ยังตัวเล็ก เริ่มจากการล่าเหยื่อ โดยพวกมันจะจ้องเหยื่อก่อน และกะระยะให้พอดีที่จะจู่โจมเข้าใส่ ซึ่งปลาหมึกจะใช้หนวดที่แข็งแรงมัดรัดเหยื่อไว้ก่อนที่จะใช้ขากรรไกรที่แข็งแรงและคมเหมือนปากนกแก้ว ฉีกกัดเหยื่อ และพวกปลาหมึกยังใช้สาร Chephalotoxin ซึ่งอยู่ในน้ำลาย ซึ่งเป็นสารพิษสำหรับสัตว์พวก กุ้ง ปู และนั้นทำให้พวกมันกลายเป็นเหยื่อของปลาหมึกอย่างง่ายดาย

ปลาหมึก
credit : coralreefphotos.com via Barry Brown (ขากรรไกรปลาหมึกที่เหมือนนกแก้ว)

การเลี้ยงปลาหมึก

เนื่องจากจำนวนปลาหมึกในท้องทะเลลดน้อยลง ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจึงมีความสำคัญขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนทางที่จะสร้างผลผลิตขึ้นมาทดแทนได้

ปลาหมึก 3 ชนิดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาหมึกหอม ปลาหมึกกระดองหางไหม้ และปลาหมึกกระดองลายเสือ มีแนวโน้มที่จะทำการเพาะเลี้ยงในเชิงพานิชย์ได้ ในแง่ของการสร้างผลผลิตจากอาหาร โดยมีจุดเด่นที่อัตราการเจริญเติบโตสูง ให้ผลผลิตสูงกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่นในระยะเวลาที่เท่ากัน ไม่มีระยะวัยอ่อนที่อ่อนแอ

นอกจากนั้นปลาหมึกอีกหลายชนิดในกลุ่มปลาหมึกหูช้าง (Sepiolid suids) ปลาหมึกแคระ (Idiosepiid squids) และกลุ่มปลาหมึกสาย (Octopus) ยังมีศักยภาพที่จะเพาะเลี้ยงในเชิงพานิชย์ได้ ในแง่ของการสร้างผลผลิตสัตว์น้ำสวยงามซึ่งมีราคาต่อหน่วยผลผลิตสูงกว่าผลผลิตอาหารในขนาดที่เท่ากัน และความต้องการของตลาดกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งตรังได้มีแนวทางการเลี้ยงปลาหมึกซึ่งสามารถแบ่งได้ 4 ส่วนคือ

  • การเก็บไข่จากทะเล

โดยปกติแล้วไข่ปลาหมึกที่ได้มือมักจะติดมากับเครื่องมือชาวประมง เช่น ลอบหมึก หรือ จะเป็นวัสดุแข็งแรงที่ลอบน้ำอยู่ หรือชาวประมงอาจจะนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากธรรมชาติมาผสมพันธุ์วางไข่ใยบ่อเลี้ยง และอนุบาลลูกหมึกจนกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไป

  • การดูแลการฝักของไข่ปลาหมึก

การเพาะปลาหมึกมีสิ่งที่ควรเฝ้าติดตามคือ การแยกไข่ตามระยะการเจริญเติบโตของตัวอ่อนหรือตามขนาดของไข่ โดยตัดไข่แยกออกไม่ให้เป็นแพติดกันจนเป็นก้อน เพื่อที่ไข่ทุกฟองจะได้มีโอกาศได้รับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ แล้วใส่ไข่พวกนั้นในตะกร้าพลาสติกลอยน้ำไว้ในบ่อที่มีน้ำสะอาดไหลผ่านตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไข่ก็เริ่มจะฟักออกมาเป็นตัว

  • การอนุบาลลูกปลาหมึก

และหลังจากที่ลูกหมึกฟักออกมา เราควรเริ่มให้อาหารที่มีชีวิต เช่น เคย (Mysid) กุ้งกะต่อม (Palaemonid shimp) ลูกกุ้ง (Penaeid shimps) หรือลูกปลาชนิดต่างๆ จัดการอาหารให้มีปริมาณเพียงพอตลอดเวลา เพราะปลาหมึกเป็นสัตว์กินอาหารในปริมารที่มาก และควบคุมคุณภาพน้ำและความสะอาดในบ่อ

โดยความหนาแน่นในการอนุบาล คือ ลูกปลาหมึกหอมไม่เกิน 10 ตัว/ลิตร และลูกปลาหมึกกระดองไม่เกิน 500 ตัว/ตร.ม. หลังจากนั้นคัดขนาดและลดความหนาแน่นลงอย่างน้อย 25% ทุกระยะ 10 วัน เพื่อลดการกินกันเอง โดยเฉพาะปลาหมึกหอมจะกินปลาหมึกที่มีขนาดเล็กกว่า

  • ฝึกให้กินอาหารแบบไม่มีชีวิต

เมื่อลูกปลาหมึกมีอายุได้ 20 วันขึ้นไป เราควรเริ่มฝึกให้พวกมันกินอาหารที่ไม่มีชีวิต เช่น เนื้อปลาหั่นเป็นชิ้นยาว จนปลาหมึกคุ้นเคยกับอาหารเหล่านี้แล้วจึงจะเข้าสู่ระยะการเลี้ยง โดยสามารถเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ หรือกระชัง ที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และน้ำควรสะอาด ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็จะได้ปลาหมึกตัวเต็มวัย

ลักษณะการสืบพันธ์

ลักษณะการสืบพันธ์ของปลาหมึก ที่พ่อแม่พันธุ์สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ในบ่อเลี้ยง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการผสมเทียมหรือการกระตุ้นด้วยปัจจัยทางกายภาพ ไม่ว่าพ่อแม่พันธุ์นั้นจะมาจากธรรมชาติหรือจากการเพาะเลี้ยง ปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ปริมาณไข่จะแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาหมึกและขนาดของพ่อแม่พันธุ์

ลักษณะของไข่ปลาหมึก

ลักษณะของไข่ปลาหมึกเป็นแบบไข่ติดเป็นพวง ทำให้ตัวอ่อนได้รับความป้องกันอย่างดีจากเปลือกที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้น ช่วยป้องกันตัวอ่อนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของสิ่งแวดล้อม จึงทำให้โอกาสรอดสูง การพัฒนาของตัวอ่อนเกิดขึ้นภายในไข่ ลูกปลาหมึกแรกฟักจะมีลักษณะใกล้เคียงกับพ่อแม่ และยังมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่นอีกด้วย

ปลาหมึก
ไข่ปลาหมึกกระดองลายเสือ
ปลาหมึก
ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้
ปลาหมึก
ไข่ปลาหมึกหอม

ธนาคารไข่ปลาหมึก

มาทำความรู้จักธนาคารไข่ปลาหมึกกัน

ธนาคารไข่หมึก คือ การนำกระชังไปไว้ในทะเลเพื่อเก็บไข่หมึกที่ติดกับเครื่องมือประมง มาเพาะไว้รอลูกหมึกฟัก จากนั้นจึงจะนำไปปล่อยลงสู่ทะเล  มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยไข่ปลาหมึกที่นำมาเพาะพันธุ์จะเป็นไข่ปลาหมึกที่ติดมาจากอวนของชาวประมง ธนาคารไข่ปลาหมึกเพาะเลี้ยงอนุบาลใข่หมึก มีหมึกที่อยู่ในธนาคารปลาหมึกทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่  หมึกหอม หมึกกระดองก้นไหม้ และหมึกกระดองลายเสือ 

โดยการเพาะเลี้ยงไข่หมึกสามารถที่จะปรัปเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพแวดล้อมและความพร้อมของอุปกรณ์ได้ ในการทำธนาคารไข่หมึกสามารถทำเป็นโรงเรือนแบบเปิดหรือว่าโรงเรือนแบบปิดได้ตามความพร้อมของพื้นที่ โดยที่สภาพแวดล้อมก็จะเป็นตัวแปรที่จะส่งผลต่อระยะเวลาในการฟักตัวของหมึกด้วย ตัวอย่างเช่น ไข่ปลาหมึกที่เพาะพันธุ์ในโรงเรือนปิดจะใช้เวลาในการฟักตัวของหมึก 15วัน และในโรงเรือนแบบเปิดจะใช้เวลาในการฟักตัวของหมึกประมาณ 20 วัน ถึงแม้ว่าระยะเวลาในการฟักตัวแตกต่างกันแต่ว่าก็ยังสามารถทำได้  

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่ปลาหมึก
(เลี้ยงแบบระบบเปิด)
ปลาหมึก
credit : ธนาคารไข่หมึก จากกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านคลองวาฬ
(เลี้ยงแบบระบบปิด)

ข้อมูลสายพันธุ์ปลาหมึกในธนาคารปลาหมึก

เราสามารถระบุประเภทของปลาหมึกที่มักจะมาติดมากับเครื่องประมงโดยส่วนใหญ่ จะเป็นปลาหมึกหอม ปลาหมึกกระดองลายเสือ และปลาหมึกกระดองก้นไหม้ เป็นต้น

1. ปลาหมึกหอม ซึ่งเป็นหมึกที่อาศัยในกลางน้ำที่ใสสะอาด มักจะอยู่แบบรวมกันเป็นฝูง มีความว่องไว และสามารถหาอาหารได้ตลอดเวลา

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกหอมเพศผู้)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกหอมเพศเมีย)

ลักษณะโดยทั่วไปของหมึกหอมนั้นมีลำตัวที่ยาวคล้ายนิ้วมือรวมกันอยู่เป็นพวง มีปล้องฟักไข่ 2-7 ปล้อง แต่ละปล้องมี 1 ฟอง มีจำนวนไข่โดยเฉลี่ย 695 ฟอง และใช้เวลาฟักประมาณ 2-3 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ ระยะละ 3-5 วัน

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกหอม)

ความเค็มของน้ำนั้นมีผลต่อการฟักตัวของไข่หมึกหอม ความเค็มที่มีเหมาะสำหรับการฟักไข่ต้องสูงกว่า 50% อยู่ในช่วง 21.8-36.6 ส่วนในพันส่วน ถ้าหากมีความเค็มในระดับที่สูงหรือต่ำกว่านี้จะกระทบต่อการพัฒนาตัวอ่อนในไข่ทำให้มีความผิดปกติและอาจตายได้

ส่วนเรื่องความเค็มที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงลูกของหมึกหอม มีอัตราการรอดตายสูงสุดอยู่ในระดับความเค็มที่ 32 ส่วนในพันส่วน รองลงมาคือ 28 ส่วนในพันส่วน แต่ถ้าจะให้รอดตาย 50 % ใน 24 ชั่วโมงต้องมีความเค็มในช่วง 23.2-35.5 ส่วนในพันธุ์ส่วน

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ลูกปลาหมึกหอมระยะแรกฟัก)

2. ปลาหมึกกระดองลายเสือ ซึ่งเป็นหมึกที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน โดยทั่วไปมักจะนอนหรือฝังตัวบริเวณหน้าดินคล้ายกับกุ้ง ปูและปลา

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกกระดองลายเสือเพศผู้)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกกระดองลายเสือเพศเมีย)

ลักษณะโดยทั่วไปของหมึกกระดองลายเสือนั้นมีไข่เป็นเม็ดกลมเดี่ยว ส่วนยอดมีจุกแหลมรวมกันเป็นพวง ไข่แต่ละฟองมีเปลือกหุ้มแยกตัวออกจากกัน เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อายุตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป วางไข่ตอนอายุ 110 วัน ตามหลักแล้วเพศเมียจะมีจำนวนไข่โดยเฉลี่ย 50-3,000 ฟอง ระยะเวลาในการฟักแบ่งได้ทั้งหมด 4 ได้แก่ ระยะที่ 1 ไข่ใหม่ ระยะที่ 2 ไข่อ่อน ระยะที่ 3 ไข่แก่ ระยะที่ 4 ไข่แก่จัด ซึ่งมีระยะที่ใกล้เคียงกับหมึกหอม

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองลายเสือ)

ความเค็มของน้ำนั้นมีผลต่อการฟักตัวของไข่หมึกกระดองลายเสือ ความเค็มที่มีเหมาะสำหรับการฟักไข่ต้องสูงกว่า 50% อยู่ในช่วง 22.4-37.5 ส่วนในพันส่วน

ส่วนเรื่องความเค็มที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงลูกของหมึกกระดองลายเสือมีอัตราการรอดตายสูงสุดอยู่ในระดับความเค็มที่ 28 และ 32 ส่วนในพันส่วน ในการอัตราส่วนการรอดตายเกิน 50 % ใน 24 ชั่วโมง มีความเค็มในช่วง 21.4-39.4 ส่วนในพันส่วน 

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ลูกปลาหมึกกระดองลายเสือระยะแรกฟัก)

3. ปลาหมึกกระดองก้นไหม้ ซึ่งเป็นหมึกที่อาศัยอยู่ตามหน้าดิน โดยทั่วไปมักจะนอนหรือฝังตัวบริเวณหน้าดินคล้ายกับกุ้ง ปูและปลา

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกกระดองก้นไหม้เพศผู้)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ปลาหมึกกระดองก้นไหม้เพศเมีย)

ลักษณะโดยทั่วไปของหมึกกระดองก้นไหม้นั้นส่วนใหญ่จะมีสีดำ มีไข่เป็นเม็ดกลมเดี่ยว ส่วนยอดมีจุกแหลมรวมกันเป็นพวง ไข่แต่ละฟองมีเปลือกหุ้มแยกตัวออกจากกัน มีจำนวนไข่โดยเฉลี่ย 200-1,000 ฟอง และสามารถวางไข่ได้มากกว่า 1 ครั้ง หมึกกระดองทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อเมื่ออายุ 70 และ 80 วัน การจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตอนอายุประมาณ 99 วัน ระยะเวลาในการฟักแบ่งได้ทั้งหมด 4 ได้แก่ ระยะที่ 1 ไข่ใหม่ ระยะที่ 2 ไข่อ่อน ระยะที่ 3 ไข่แก่ ระยะที่ 4 ไข่แก่จัด ซึ่งมีระยะที่ใกล้เคียงกับหมึกหอมและหมึกกระดองลายเสือ

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้-ไข่ใหม่)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้-ไข่อ่อน)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้-ไข่แก่)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้-ไข่แก่จัด)

ความเค็มของน้ำและอุณหภูมินั้นมีผลต่อการฟักตัวของไข่หมึกกระดองก้นไหม้ โดยทั่วไปแล้วไข่หมึกกระดองก้นไหม้มีอัตราการฟักอยู่ที่ร้อยละ 48-100 และระยะของไข่ก่อนฝักออกเป็นตัว คือ 11-20 วัน

แต่ถ้าเป็นไข่ที่ติดมากับเครื่องมืออวนจมปูจะมีหลายระยะ อาจจะประมาณ 1-2 วันถึงจะฟักเป็นตัว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะไข่ที่ติดกับเครื่องมืออวนจมปู ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำ ถ้ามีอุณหภูมิที่สูงมากกว่า 28 องศาเซลเซียส จะใช้ระยะเวลาในฟักเป็นตัวสั้นกว่าเดิม

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ลูกปลาหมึกกระดองก้นไหม้ระยะแรกฟัก)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ลูกปลาหมึกกระดองก้นไหม้ระยะแรกฟัก)
ทั้งนี้ การฟักของไข่หมึก 
ตามหลักแล้วไข่หมึกจะทยอยฟักในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ เมื่อลูกหมึกฟักเป็นตัวเต็มที่แล้วจึงจะนำไปปล่อยให้เจริญโตได้เองตามธรรมชาติ

การจัดทำธนาคารไข่หมึก

การจัดตั้งธนาคารไข่หมึกมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ปลาหมึกและป้องกันการสูญพันธุ์โดยมีชาวประมงเป็นผู้ช่วยกันดูแล สำหรับรูปแบบจัดทำธนาคารนั้นจะมีหลายวิธีที่แตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ดูแล

การรวบรวมไข่ปลาหมึก ไข่ปลาหมึกแต่ละชนิดจะติดมากับแหล่งที่แตกต่างกัน อย่างไข่ปลาหมึกหอมหรือไข่ปลาหมึกกระดองลายเสือส่วนมากจะติดมากับเครื่องมือลอบหมึก ส่วนไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้มักจะติดมากับเครื่องมืออวนจมปู อวนลากหรืออวนรุน เมื่อชาวประมงพบว่ามีปลาหมึกเหล่านี้มาติดจะช่วยกันรวบรวมไข่หมึกใส่ในถังน้ำที่มาจากทะเลเพื่อคงสภาพอากาศให้กับไข่ปลาหมึกหลังจากนำขึ้นมาจากน้ำ

ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกหอมที่ติดลอบหมึก)
ปลาหมึก
credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก
(ไข่ปลาหมึกกระดองก้นไหม้ที่ติดอวนจมปู)

รูปแบบการจัดทำธนาคารปลาหมึก วิธีการทำธนาคารไข่ปลาหมึกสามารถทำได้โดยการใช้กระชังไปผูกไว้ในทะเล เมื่อลูกหมึกที่ติดมากับเครื่องมือต่าง ๆ จะถูกนำมาไว้ที่ธนาคารจากนั้นจะรอวันที่ลูกหมึกฟักเป็นตัวแล้วออกจากกระชังเองได้ แต่ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกเช่นกัน อย่างเช่น นำไข่ปลาหมึกมาเพาะไว้ในถึงหรือตู้กระจกของชาวประมง ซึ่งต้องคอยให้ลูกปลาหมึกฟักเป็นตัวแล้วนำไปปล่อยลงสู่ทะเลในภายหลัง และยังมีอีก 3 รูปแบบคือ

  • รูปแบบกระชังที่ยึดไว้ในทะเล กระชังลอยที่ใช้จะมีขนาด 3x2x2 เมตร ทำจากอวนโพลีเอทธิลีนกั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมแล้วผูกยึดไว้ในทะเล พร้อมทั้งแขวนถุงไข่หมึกที่ทำจากอวนโพลีเอทธิลีนเช่นเดียวกันไว้ในกระชังที่เตรียมไว้

credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก (แบบกระชัง)

  • รูปแบบโรงเรือน ใส่น้ำทะเลและใส่เครื่องออกซิเจนลงในถังน้ำหรือตู้กระจกและใส่เครื่องออกซิเจน จากนั้นให้นำตระกร้าขนาดเล็กมาติดไว้สำหรับใส่ไข่หมึกลอยในถังน้ำหรือตู้กระจก

credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก (แบบโรงเรือน)

  • รูปแบบกร่ำ หรือซั้ง ใช้วัสดุที่มีโครงสร้างแข็งแรงที่เป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น ซั้งใบมะพร้าว มัดติดกับไม้ไผ่เพื่อให้ลอยอยู่บนผิวหน้าได้ ส้วนที่จมในน้ำก็จะเป็นที่ให้ปลาหมึกมาวางไข่ได้

credit : คู่มือธนาคารไข่หมึก (แบบกร่ำหรือซั้ง)

ปัจจุบันมีธนาคารไข่ปลาหมึกหลายที่ในประเทศไทย ยกตัวอย่างสถานที่จัดทำธนาคารไข่หมึก เช่น ธนาคารไข่หมึกหอมที่บ้านทะเลงาน จังหวัดชุมพรม, ธนาคารไข่หมึกที่บ้านบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี, ธนาคารไข่หมึกที่โรงเรียนบ้านบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

เห็นได้ว่าการจัดทำธนาคารไข่ปลาหมึกเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก และสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตปลาหมึกหลายชนิดคืนสู่ธรรมชาติได้ การทำธนาคารปลาหมึกนี้จะช่วยให้ปลาหมึกที่อยู่ในวัยที่เหมาะสม ได้กลับคืนสู่ทะเลเพื่อลดอัตราความเสี่ยงแล้วก็เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของปลาหมึก นอกจากนี้ยังส่งผลระยะยาวทำให้ชาวประมงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตปลาหมึกได้อย่างยั่งยืนและรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับปลาหมึกยักษ์

ปลาหมึก
credit : Sans titre

ปลาหมึกยักษ์ หรือคนในบางพื้นที่รู้จักกันในชื่อของหมึกสาย ปลาหมึกยักษ์หรือหมึกสายมีลักษณะทั่วไปที่โดดเด่นคือ มีหนวด 8 เส้น มีหน้าที่สำหรับการจับเหยื่อ หากเผลอไปถูกหนวดของพวกมันเข้า ค่อนข้างยากที่จะสามารถดึงหนวดออกได้ ลำตัวของหมึกยักษ์จะอ่อนนุ่มไม่มีกระดอง มีพิษอยู่ที่น้ำลาย (Cephalotoxin) ของมันซึ่งผลิตมาจากต่อมน้ำลายที่อยู่ถัดจากส่วนปากเข้าไป

เราสามารถที่จะพบหมึกสายได้ทั่วไป ทั้งในซอกหิน โขดหิน แนวปะการัง ยังสามารถพบได้แม้กระทั่งในน้ำลึก หรือตามบริเวณชายฝั่ง หมึกสายมีขนาดตั้งแต่ตัวเล็กจนถึงขนาดโต  เคยมีบันทึกว่าพบปลาหมึกยักษ์ขนาดโตที่สุดยาวเกือบถึง 10 เมตร ในกรณีที่มันตกใจมันสามารถที่จะสปริงตัวไปทางด้านหลังได้รวดเร็วหรือแม้กระทั่งจะว่ายน้ำไปทางด้านหน้าเพื่อจับเหยื่อได้เร็วเช่นกัน ถ้ามันถูกรบกวนมันก็จะพ่นน้ำหมึกสีดำออกมาหมึกนี้ถือว่าเป็นหมึกที่ฉลาดมากพรางตัวเก่งและสามารถเดินออกจากถังที่จับได้

อาการที่เกิดขึ้นหลักจากได้รับพิษของปลาหมึกยักษ์

ลักษณะที่ปลาหมึกชนิดนี้จะเข้าทำร้ายเหยื่อได้ พวกมันมักจะใช้หนวดในการยึดจับก่อน หลังจากนั้นจึงส่งเหยื่อเข้าสู่บริเวณปาก หากมนุษย์เราเผลอไปถูกมันกัดเข้า บริเวณที่ถูกกัดจะปรากฏรอยเขี้ยว 2 รอย และเริ่มมีอาการปวดภายหลังจากการถูกกัดเพียง 2 – 3 นาที ผลมาจากพิษที่อยู่ในน้ำลายของปลาหมึกยักษ์นั้นเอง และหากเราถูกหนวดของปลาหมึกโดนบริเวณผิวหนังก็อาจทำให้เกิดรอยจ้ำของเลือดเป็นดวง ๆ และนั้นก็ทำให้เรารู้เลยว่าปลาหมึกยักษ์นั้นมีแรงเยอะแค่ไหน

มีรายงานว่า เคยมีผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกปลาหมึกยักษ์กัดและโดนพิษของมัน ผู้เคราะห์ร้ายมีอาการ ลิ้นและปากสั่น ชา ไม่มีความรู้สึก นัยน์ตาพร่ามัว พูดไม่ได้ และกลืนอะไรก็ไม่ลง ถึงขั้นไม่สามารถที่จะบังคับให้มือจับหรือหยิบอะไรตามตำแหน่งที่ต้องการได้เลย จากการสูญเสียความสามารถในการทรงตัว กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทำให้สูญเสียความรู้สึกไป ที่ออสเตรเลียมีรายงานว่าเคยมีคนถูกปลาหมึกยักษ์  กัดจนถึงตายมาแล้ว โดยที่ผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นพยายามที่จะจับให้มันไต่บนหลัง ทำให้มันฝังเขี้ยวเข้าไปที่คอได้ หลังจากที่ถูกกัดเพียง 2 ชั่วโมงผู้เคราะห์ร้ายก็สิ้นใจ แพทย์วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากกล้ามเนื้ออัมพาต

การรักษา

หลักจากที่ถูกปลาหมึกยักษ์กัด บริเวณนั้นจะค่อย ๆเกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคุณสามารถรักษาอาการเบื้องต้นจากการโดนพิษในน้ำลายปลาหมึกยักษ์ โดยการใช้แอลกอฮอล์หรือแอมโมเนียหรือน้ำจืดมาล้างบาดแผลให้สะอาดแล้วรีบนำผู้เคราะห์ร้ายส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป เพราะถ้าหากว่ากล้ามเนื้อเกิดเป็นอัมพาตขึ้นมา ผู้เคราะห์ร้ายอาจจะเสียชีวิต จึงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

แต่ถ้าหากว่าอยู่ไกลจากหมอให้ปฏิบัติโดยนำบาดแผลที่ถูกกัดแช่ลงในน้ำอุ่นสักระยะหนึ่งหลังจากชะล้างบาดแผลด้วยอัลกอฮอล์แล้ว อาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้าง

เราสามารถหลีเลี่ยงการได้รับพิษของมันจากการกัด ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงที่จะจับตัวมันบริเวณส่วนปาก และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะจับมันวางลงบนผิวหนังที่เปลือยเปล่าของเราแม้จะเป็นปลาหมึกตัวเล็กก็ตาม แต่ถ้าต้องการใช้มือจับก็ควรจับที่บริเวณลำคอและจับให้มั่น มิฉะนั้นหนวดของมันอาจจะยึดจับและดึงมือของเราส่งเข้าสู่ส่วนปากและกัดเอาได้

จากที่ศึกษาเรื่องราวของปลาหมึกยักษ์ ต้องบอกเลยว่าถึงแม้พวกมันจะมีขนาดตัวที่ไม่ใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับวาฬ หรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ แต่พิษของพวกมันนั้นถือว่าร้ายแรงเลยทีเดียว

ปลาหมึกบลูริง มีพิษจริงหรือ

ปลาหมึก
 credit : Lionellssara

ชื่อภาษาไทย: ปลาหมึกสายวงน้ำเงิน

ชื่อภาษาอังกฤษ:  Blue-ringed octopus

ชื่อทางวิทยาศาสตร์:  Hapalochlaena

ตระกูลสัตว์:  Mollusca

จัดเป็นหมึกขนาดเล็กจำพวกหนึ่ง มีจุดเด่น คือสีสันตามลำตัวที่เป็นจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงกระจายอยู่ตามลำตัว และหนวดซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคามมีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็กๆ ตัวโตเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร สวยงามมาก แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายหากถูกกัดอาจจะมีอันตรายถึงชีวิตได้

ข้อมูลของหมึกบลูริงจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ของสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมึกบลูริงว่า พิษของมันมีความร้ายแรงและจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ปอดไม่สามารถนำอากาศเข้าไปได้ ถ้าหากโดนพิษของหมึกสายวงน้ำเงินให้รีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อที่จะให้แพทย์ใช้เครื่องช่วยหายใจป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาดอาการหายใจได้ ในผู้ที่ได้รับพิษในปริมาณน้อยอาการไม่รุนแรงมากก็จะสามารถหายได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหากได้รับพิษในปริมาณมากก็สามารถที่จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ความรุนแรงจากการได้รับพิษจะสัมพันธ์กับขนาดตัวของผู้ที่โดนกัดด้วย จากงานวิจัยคนพบว่าหากเป็นเด็กเล็กหรือว่าคนที่มีขนาดตัวที่เล็กก็จะมีอัตราเสี่ยงมากกว่า ดร.จารุวัฒน์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมโดยทั่วไปของปลาหมึกสายวงน้ำเงินอีกด้วยว่า จริงๆแล้วปลาหมึกบลูริงเป็นสัตว์ที่รักสงบ ไม่ใช่สัตว์ดุร้าย พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสัญชาตญาณการป้องกันตัวเท่านั้น

เราจะเห็นว่ามีหลายคนที่อบในสีสันของพวกมันและนำพวกมันไปเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม ทั้งๆที่กรมประมงได้มีการประกาศข้อห้ามมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 แล้วว่าห้ามนำเข้าและจัดจำหน่ายสัตว์ชนิดนี้ ด้วยจุดประสงค์หลักคือเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายทั้งในแง่ของกับตัวปลาหมึกที่เป็นอันตรายต่อคนและคนเองที่เป็นอันตรายต้องปลาหมึกด้วยเช่นกัน หากเลี้ยงไว้ในตู้ปลาเช่นเดียวกับสัตว์น้ำสวยงามชนิดอื่นๆ อาจจะมีใครเผลอไปสัมผัสมันเข้า เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีใครไปโดนพิษของมันที่ถูกเลี้งงอยู่ในตู้โดยบังเอิญ ประกอบกับนิสัยของปลาหมึกที่หากว่าสภาพน้ำไม่ดีหรือว่าอาหารไม่ดี ปลากหมึกก็พยายามจะปีนออกมาจากนอกตู้ ซึ่งมีความอันตรายเป็นอย่างมาก

พิษของปลาหมึกบลูริง

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ปลาหมึกสายวงน้ำเงินใช้หนวดเดินจะไม่ใช้การพ่นน้ำเพื่อพุ่งตัวในการเคลื่อนที่เหมือนหมึกกล้วย พิษของหมึกบลูริง หรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า Maculotoxin (มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า Tetrodotoxin (เทโทรโดทอกซิน)

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังบอกอีกว่า สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก ซึ่งพิษชนิดนี้สามารถทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มีความร้ายแรงถึงขนาดสามารถทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาตได้เลย ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า

อาการที่เกิดขึ้น

อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริงเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาต และหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด พิษของปลาหมึกบลูริงร้ายแรงมากกว่าพิษของงูเห่า 20 เท่า โดยพิษที่ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน อยู่ที่น้ำลายหมึกนั้น เป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท โดยปริมาณพิษที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิตคือประมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า อ่านมาถึงตรงนี้ก็ทำให้รู้ว่าปลาหมึกสีสันสวยงามสายพันธุ์นี้ จัดว่าเป็นสัตว์ที่อันตรายมากชนิดหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกกัดหรือโดนพิษ

หากคุณไปเจอผู้ที่เคราะห์ร้ายเผลอโดนพิษปลาหมึกชนิดนี้เข้าไป ทั้งจากการโดนกัดหรือสัมผัสก็ตาม คุณควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคเดียวกับการโดนงูกัด คือต้องกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนที่ได้รับพิษไม่ให้เคลื่อนไหว เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายแล้วไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น หาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าการช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้ “สมองตาย”

ปลาหมึกบลูริงกินได้จริงหรือ

ปลาหมึก
credit : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ใครที่อ่านถึงหัวข้อนี้เราหวังว่าคุณยังคงปลอยภัยจากการซื้อปลาหมึกย่างกินในท้องตลาดกัน เพราะความนิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในต่างประเทศ  และเนื่องจากปลาหมึกบลูริง หาพบได้ในทะเลไทย ทำให้ชาวประมงหรือคนตกปลาเผลอรวมกับปลาหมึกทั่วไป นำมาย่าง หรือ ขายในร้านปิ้งย่าง ซึ่งมีอันตรายมาก เพราะพิษที่รุนแรง ทนความร้อนสูง นั้นจึงไม่สามารถทําลายพิษได้ด้วยการใช้ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร และในปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มีการค้นพบวิธีแก้หรือยารักษาหากโดนพิษของปลาหมึกบลูริงเข้าไป นั้นจึงทำให้คนบริโภคอย่างเรา ๆควรสังเกตุร้านขายปลาหมึกย่างให้ดีก่อนตัดสินใจกินหรือซื้อ


ปลาหมึกทาโกะ ปลาหมึกกรอบ และปลาหมึกกะตอย เมนูสร้างรายได้

ปลาหมึกทาโกะ

ปลาหมึก
credit : Better Than Bacon

ปลาหมึกทาโกะเป็นปลาหมึกยักษ์ที่มีชื่อเสียงด้านความอร่อย เป็นวัตถุดิบที่สามารถกินเป็นซูชิ หรือ อาหารจานหลักของญี่ปุ่น ปัจจุบันปลาหมึกทาโกะเป็นที่นิยม เพราะมีเนื้อสัมผัสที่แน่น กรอบ ไม่เหนียวมากนัก และยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายมากมาย

เมนูที่ทำให้ปลาหมึกทาโกะเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยคือ การนำปลาหมึกทาโกะมาปิ้งย่างและจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูดรสเด็ด ซูชิหน้าปลาหมึกทาโกะ หรือจะเป็นเมนูยอดฮิดอย่าง “ทาโกะยากิ” หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างนึงว่า “ขนมครกญี่ปุ่น” ความหมายของคำว่าทาโกะยากิในภาษาญี่ปุ่นนั้นแปลว่า การทอดหรือย่างปลาหมึกยักษ์

โดยต้นกำเนิดของเมนูทานเล่นชนิดนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในปี ค.ศ. 1935 มีพ่อค้านามว่า เอ็นโดะ โทเมะกิชิ ได้คิดค้นเมนูทาโกะยากิขึ้นมา โดยใช้แป้งสำเร็จรูปจากประเทศฝรั่งเศสมาปรุงรวมกับปลาหมึกยักษ์ก่อนจะเอามาขายจนกลายเป็นเมนูที่เลื่องชื่อมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับวิธีการทำจะนำแป้งผสมกับไส้ปลาหมึกหยอดลงไปบนกระทะจนกลายเป็นลูกกลม ๆ เมื่อย่างเสร็จแล้วสามารถเสริ์ฟพร้อมราดซอสมายองเนสและปลาป่น

แต่ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศอาจจะเลือกใช้สาหร่ายหั่นฝอยแทน เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบไปตามความสะดวกหรือความต้องการของคนทำนั่นเอง ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเมนูปลาหมึกทาโกะในหลาย ๆเมนูจึงครองใจคนไทยและคนทั่วโลกให้อยากมาลิ้มลองความสด กรอบ หวานของปลาหมึกชนิดนี้กัน

ปลาหมึกกรอบ

ปลาหมึก
credit : กะเพราหมูสับปลาหมึกกรอบ

ปลาหมึกกรอบ ทำมาจากปลาหมึกกล้วยแห้ง ผ่านการแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร ปลาหมึกที่จะนำมาแปรรูปจะถูกเลือกจากปลาหมึกที่มีเนื้อหนาแบบพอดีและราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับหมึกชนิดอื่น ๆ อย่างปลาหมึกหอมหรือปลาหมึกกระดอง หมึกกรอบสามารถนำไปทำอาหารทานได้ง่ายผ่านวิธีการทำโดยการใช้เบคกิ้งโซดามาละลายน้ำขี้เถ้า หมึกกรอบสามารถนำมาทำอาหารได้ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งเมนูยอดนิยมที่คนชอบนำปลาหมึกกรอบมาทำนั้นมีทั้งเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ สุกี้ ยำปลาหมึกกรอบ และกะเพราหมูสับปลาหมึกกรอบ เป็นต้น

ปลาหมึกกระตอย

ปลาหมึก
credit : Siren Seafood

หมึกกระตอย เป็นปลาหมึกตัวเล็ก ลำตัวสั้น ที่มักจะพบในอ่าวไทยและฝั่งอันดามันในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เมนูที่คนนิยมใช้หมึกกะตอยมาทำคือ หมึกกะตอยตากแห้ง เนื่องจากวิธีการทำนั้นค่อนข้างง่าย มีรสชาติที่ไม่เค็มมาก สามารถล้างด้วยน้ำจืดโดยไม่ต้องเอาไข่หรือขี้ออกแล้วนำมาเรียงตากแดดไว้ไม่ให้ซ้อนกัน หมึกกระตอยจึงถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่กินง่าย เก็บง่าย เหมาะเป็นของฝากเวลาคุณกลับมาจากทะเลเลยละ


ปลาหมึก…จากของกินสู่สัตว์เลี้ยงในตู้ปลา

ปลาหมึก
credit : ศิริพร เมืองชล

ศิริพร เมืองชล เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยอง ได้ให้ข้อมูล ในการเลี้ยงปลาหมึกสวยงาม ว่านิยมพาะพันธุ์ปลาหมึกหอม ในการเลี้ยงเป็นปลาหมึกสวยงาม โดยใช้เป็นไข่ของหมึกหอมที่ได้มาจากปลาหมึกไข่ที่ติดมากับอวนหรือลอบจับสัตว์น้ำของชาวประมง ขั้นตอนแรกหลังจากได้ไข่ปลาหมึกมาก็คือ ต้องเอาไข่ปลาหมึกเอามาทำความสะอาด โดยที่ไข่ปลาหมึกหอมจะมีลักษณะเป็นพวงในหนึ่งพวงจะแบ่งเป็นช่อง ซึ่งในแต่ละช่องจะมีหมึกอยู่หนึ่งตัว จะต้องล้างและตัดขั้วเพื่อแยกหมึกออกมาเป็นตัวๆ หลังจากนั้นจังนำเอามาเพาะฟักในบ่อที่เตรียมไว้ โดยที่จะต้องเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเติบโตของปลาหมึกหอม ใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ไข่ของหมึกหอมก็จะโตขึ้น หลังจากฟักไข่โตเต็มที่แล้วปลาหมึกก็จะออกมาเป็นตัวหมึก พอออกเป็นตัวอายุได้หนึ่งวันแล้วก็จะทำการเก็บแล้วก็จะนำไปปล่อยทะเลเพื่อที่จะให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป หรือหากจะเลี้ยงเป็นหมึกสวยงามก็จะสามารถเอาไปเลี้ยงในตู้ปลาได้ในขั้นตอนนี้

ปลาหมึก
ปลาหมึก
credit : ศิริพร เมืองชล

ถ้าหากต้องการที่จะเลี้ยงปลาหมึกเป็นปลาสวยงาม สิ่งที่ต้องทราบไว้ก่อนเลยคือจะต้องมีเวลาในการดูแลเพราะการเลี้ยงปลาหมึกในตู้นั้นจะต้องอาศัยความใส่ใจ การดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากปลาหมึกเป็นปลาที่จะต้องการความสะอาด และต้องให้อาหารที่เหมาะสมกับพวกมันด้วย อาหารของปลาหมึกก็จะเป็นพวกลูกกุ้งและปลาตัวเล็กด้วยความที่ปลาหมึกเป็นปลาที่กินจุมาก สามารถกินอาหารที่ใหญ่กว่าตัวมันเองถึงหนึ่งเท่าได้สบายๆ เศษอาหารจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย ดังที่กล่าวข้างต้นว่าจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ในการเลี้ยง เพราะปลาหมึกชอบน้ำใส ดังนั้นต้องหมั่นทำความสะอาดเพื่อให้น้ำในตู้เน่าเสียจากการสะสมของเศษอาหาร ทั้งนี้จุดประสงค์หลักของการเลี้ยงปลาหมึกสวยงามนี้เพื่อทดแทนของปลาหมึกที่มนุษย์เราจับไปบริโภค การเพาะเลี้ยงปลาหมึกจะสามารถเพิ่มประมาณการเกิดของปลาหมึกที่เราจับมาได้ และยังเป็นการรักษาระบบนิเวศของธรรมชาติด้วย


แหล่งซื้อขายอาหารทะเล

อาหารทะเลนับได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอาหารทะเลในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากตลาดอาหารทะเลในไทยเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก ซึ่งสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบัน  ส่งผลให้ตลาดอาหารทะเลโดยรวมเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุก ๆ ปี เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคอาหารทะเลของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ความนิยมในอาหารทะเลนั้น ส่งผลให้เกิดการเติบโตของแหล่งซื้อขายอาหารทะเลด้วยเช่นกัน ซึ่งแหล่งซื้อขายอาหารทะเลที่สำคัญในประเทศไทยมีด้วยกันหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดไท, ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ หรือตลาดมหาชัย เป็นต้น

  • ตลาดไท

ตลาดอาหารทะเลของตลาดไทถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่รวบรวมอาหารทะเลไว้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น กุ้งก้ามกราม กุ้งแชบ๊วย กั้ง หอยหลากหลายประเภท ปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง ปูม้า ปูทะเล ปลากะพงแดงและขาว ปลาซาบะ ปลาทูทะเล และอาหารทะเลอีกมากมายที่จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง

จากพื้นที่ว่างเปล่า 450 ไร่ ได้รับการพัฒนาเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ชื่อ “ตลาดไท” เริ่มทำการค้าขายอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2540 บริหารจัดการโดย บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรที่ให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้เข้ามาทำการค้าขายสินค้าเกษตรกันโดยตรงอย่างเสรี และด้วยราคาที่เป็นธรรม

ปัจจุบันตลาดไทมีพื้นที่ถึง 542 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 42 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยแบ่งตลาดตามประเภทของสินค้าอย่างชัดเจนถึง 21 ตลาด ส่งผลให้ตลาดไทเป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรครบวงจรใหญ่ที่สุดในอาเซียน

แต่หากพิจารณาร้านค้าและผู้ค้าตลาดอาหารทะเลของตลาดไทนั้น จะพบว่า มีร้านค้าและผู้ค้าอยู่ 6 ราย ได้แก่

  1. ร้านปู เป็นร้านจำหน่ายปูม้า ปูทะเล
  2. ร้านเจ้อุไร เป็นร้านจำหน่ายปลาทูสด และอาหารทะเลต่าง ๆ
  3. ร้านแมว-โย จำหน่ายอาหารทะเล เช่นเดียวกับ
  4. ร้านเจริญลาภ 1
  5. ร้านเจริญลาภ 2 และ
  6. ร้านแหลมนกฟาร์ม
  • ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์

ในส่วนของศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นอีกหนึ่งแหล่งในการสืบค้นข้อมูลและอัพเดตราคาสัตว์น้ำ-ค้าปลีก ซึ่งจะมีการอัพเดตข้อมูลในแต่ละวัน รวมถึงสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  1. ข้อมูลกุ้งก้ามกรามบ่อเลี้ยงไทย (ขนาดกลาง) 15-16 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต่ำสุด – สูงสุดอยู่ที่ 450.00 – 700.00 ต่อกิโลกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 575.00 บาทต่อกิโลกรัม
  2. กุ้งขาว 40 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต่ำสุด – สูงสุดอยู่ที่ 230.00 – 240.00 ต่อกิโลกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 235.00 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ กุ้งขาว 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต่ำสุด – สูงสุดอยู่ที่ 200.00 – 220.00 ต่อกิโลกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 210.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น
  • ตลาดมหาชัย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแหล่งซื้อขายอาหารทะเลยอดนิยมที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย นั่นคือ แหล่งจำหน่ายอาหารทะเลสด มหาชัย จังหวัดสมุทรสาครนั่นเอง ซึ่งตลาดมหาชัยนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขายส่งอาหารทะเลสด อาหารทะเลแช่แข็ง และเป็นศูนย์รวมแหล่งวัตถุดิบอาหารทะเลชั้นยอด คุณภาพเกรดเอ ระดับคุณภาพ ที่ส่งตรงมาจากท้องทะเลมายังผู้บริโภค

จังหวัดสมุทรสาครหรือ “มหาชัย” เป็นจังหวัดชายทะเลอยู่ห่างจากกรุงเทพฯเพียง 26 กิโลเมตร มีแนวชายฝั่งทะเลยาวถึง 40 กิโลเมตร ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดเป็นแหล่งอาหารทะเลที่อยู่ใกล้ฝั่งกรุงเทพฯมากที่สุด เป็นแหล่งค้าขายสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลาดมหาชัยเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารทะเลที่สด ถูก และหลากหลาย

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ะบาดของโควิด19 ทำให้ตลาดสดเงียบเหงาไปบ้าง แต่ถึงจะออกมาซื้อไม่ได้แต่ความต้องการบริโภคอาหารทะเลก็ยังมากอยู่ดี ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลทั้งแบบสดและแบบแห้งจึงปรับต้ว หันไปขายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจอาหารทะเลยังไปต่อได้ และสถานที่ขายส่งอาหารทะเลยังคงเป็นสองตลาดที่สำคัญนี้ ทำให้สามารถที่จะพูดได้ว่าทั้งตลาดไทและตลาดมหาชัยเป็นตลาดค้าอาหารทะเลที่สำคัญต่อธุรกิจอาหารทะเลในประเทศ

แหล่งอ้างอิง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัดกรรมสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง

ฐิติมา เอียดแก้ว กลุ่มเศรษฐกิจการประมง

สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา

ธนาคารไข่หมึก

ข้อมูลของหมึกบลูริงจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ

ศิริพร เมืองชล เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยอง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้