ปลาตะเพียน วิธีการเพาะเลี้ยงและแนวโน้มในอนาคต

ปลาตะเพียนเป็นปลาที่อยู่ในท้องถิ่นของเมืองไทยมาอย่างยาวนาน สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย สามารถพบได้ตามห้วย หนอง คลอง บึง บ่อต่าง ๆ รวมถึงในไร่นาปลาตะเพียนก็สามารถอาศัยอยู่ได้ ปลาตะเพียนสามารถเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำทั่วไป เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินพืชเป็นอาหาร ปลาตะเพียนเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการบริโภคเป็นอย่างมาก และนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นที่ต้องการในท้องตลาด เจริญเติบโตได้ไว เพาะขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างง่ายและยังได้รับการคัดเลือก ให้ส่งเสริมในการเพาะเลี้ยงอีกด้วย ปัจจุบันปลาตะเพียนได้มีการเพาะเลี้ยงอย่างกว้างขวางเนื่องจากมีการเลี้ยงในระยะสั้น ต้นทุนในการผลิตไม่สูง และวิธีการเพาะเลี้ยงก็มีทั้งแบบธรรมชาติและผสมเทียม ทำให้ได้ผลผลิตเร็วสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างมาก และในปัจจุบันปลาตะเพียนยังได้รับความสนใจจากหลาย ๆ ภาคส่วนเป็นอย่างมาก จึงเชื่อได้ว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ปลาตะเพียนขาว ลักษณะ
siamensis.org

ลักษณะทั่วไปของปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนเป็นปลาพื้นเมืองของไทย เป็นปลาที่อยู่คู่กับแม่น้ำ บึง ลำคลอง หนอง ของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรืออาจจะนานกว่านั้น เพราะมีลายถ้วยชามเครื่องเคลือบปรากฏเป็นรูปปลาตะเพียนให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย

ปลาตะเพียน เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบแหลมอินโดจีน ชวา ไทย สุมตรา อินเดีย ปากีสถาน และยังมีชุกชุมในถิ่นดังกล่าว สำหรับประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ พบเห็นได้ทั้งใน แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

รูปร่างลักษณะ

ปลาตะเพียนนั้นจะมีลักษณะลำตัวแบนข้าง โดยขอบหลังจะโค้งสูงขึ้น หัวและปากจะค่อนข้างเล็ก มีหนวดเล็กๆ 2 คู่ เกล็ดตามเส้นข้างตัวนั้นจะมีสีเงิน และมีประมาณ 29-31 เกล็ด ซึ่งปลาตะเพียนนั้นโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดตัวประมาณ 50 เซนติเมตร โดยปกติแล้วปลาตะเพียนนับว่าเป็นปลาน้ำจืด มักจะอาศัยอยู่ได้ทั่วไป ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แต่จะเติบโตได้ดีในน้ำที่มีน้ำกร่อยเล็กน้อย สามารถเลี้ยงปลาตะเพียนได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืด รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำ และนาข้าว  ถ้าเลี้ยงดีๆ ปลาตะเพียนนั้นจะมีน้ำหนักได้ถึงครึ่งกิโลกรัมเลยทีเดียว

อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ

ความเป็นอยู่ ปลาตะเพียนเป็นปลาที่หลบซ่อนอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่ทนต่อสิ่งเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งยังเจริญเติบโตในน้ำกร่อยที่มีความเค็มไม่เกิน 7 ส่วนพัน อุณหภูมิเหมาะสมสำหรับปลาชนิดนี้อยู่ระหว่าง 25-33 องศาเซลเซียส

การกินอาหาร

  • ระบบการกินอาหาร
    การตรวจสอบระบบการกินอาหารของปลาตะเพียนขนาด 12.5-25.5 เซนติเมตร พบว่า มีฟันในลำคอ (Pharyngeal teeth) เป็นชนิดกัดบดแบบสามแถว มีซี่เหงือกสั้น ๆ อยู่ห่างกันพอประมาณ ท่อทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารไม่มีลักษณะแตกต่างจากลำไส้ ลำไส้มีผนังบาง ๆ ยาวขดเป็นม้วน ยาว 2.02-2.73 เท่าความยาวสุดของลำตัว
  • นิสัยการกินอาหาร
    กล่าวกันว่าลูกปลาตะเพียน วัยอ่อน กินสาหร่ายเซลล์เดียวและแพลงก์ตอนขนาดเล็ก ส่วนพวกปลาขนาด 3-5 นิ้ว กินพวกพืชน้ำ เช่น แหนเป็ด สาหร่ายพุงชะโด ผักบุ้ง สำหรับปลาขนาดใหญ่สามารถกินใบพืชบก เช่น ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง หญ้าขน ฯลฯ พบว่าปลาตะเพียนหาอาหารกินในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน

การแยกเพศ

การแบ่งเพศผู้ เพศเมีย ในปลาตะเพียนนั้นจะแยกค่อนข้างยาก เพราะว่าจะมีลักษณะที่คล้ายกันเป็นอย่างมาก ถ้าเป็นในช่วงที่ใกล้ฤดูผสมพันธุ์จะทำให้แยกออกได้ง่ายและชัดเจนขึ้น โดยจะมีท้องที่อูมเป่ง พื้นท้องจะเริ่มนิ่ม และช่องเพศจะกว้างกว่าปกติ ในส่วนของเพศผู้นั้นท้องจะมีความแบนกว่าเพศเมีย พื้นท้องจะมีความแข็ง ถ้าลองรีดบริเวณท้องของตัวผู้จะมีน้ำสีขาวขุ่นๆ ไหลออกมาในช่วงฤดูวางไข่ของปลาตะเพียน หลังจากนั้นปลาตะเพียนจะเริ่มวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนเริ่มตก หลังจากที่ฝนตกหนักๆ เพียง 2-3 ครั้ง ก็จะเริ่มวางไข่จนหมด ซึ่งไข่ของปลาตะเพียนนั้นจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 8-12 ชั่วโมง ในอุณหภูมิของน้ำประมาณ 29-30 องศาเซลเซียส

แบ่งเพศปลาตะเพียน
sbic-kku.com

การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียน

ในการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เอง บ่อขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นบ่อดินขนาดประมาณ 400 ตารางเมตรถึง 1 ไร่ โดยปล่อยปลาเพศผู้เพศเมีย แยกบ่อยกันในอัตราประมาณ 800 ตัว/ไร่ ให้ผักต่าง ๆ หรือ อาหารผสมในอัตราประมาณร้อยละ 3 ของน้ำหนักตัว การเลี้ยงพ่อแม่ปลาอาจจะเริ่มในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน โดยคัดปลาอายุประมาณ 8 เดือนแยกเพศและปล่อยลงบ่อ เมื่ออากาศเริ่มอุ่นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ควรตรวจสอบพ่อแม่ปลา ถ้าอ้วนเกินไปก็ต้องลดอาหาร หากผอมเกินไปก็ต้องเร่งอาหาร ทั้งนี้ควรจะถ่ายน้ำบ่อย ๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของไข่และน้ำเชื้อ การเพาะพันธุ์จะเริ่มได้ประมาณเดือนมีนาคมถึงกันยายน โดยพ่อแม่พันธุ์จะพร้อมที่สุดในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การคัดพ่อแม่พันธุ์

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์นั้นควรจะต้องคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความแข็งแรงและสมบูรณ์ โดยปลาเพศเมียนั้นจะมีไข่แก่จัด ท้องจะอูมโป่งและนิ่ม ผนังท้องจะบาง ช่องเพศและช่องทวารค่อนข้างพองและยื่น ส่วนในปลาเพศผู้นั้นแทบจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เรื่องความพร้อมเนื่องจากว่าสามารถสร้างน้ำเชื้อได้ตลอดทั้งปี

การฉีดฮอร์โมน

การฉีดฮอร์โมน โดยปกติแล้วจะใช้ต่อมใต้สมองของปลาชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นปลาจีน ปลายี่สกเทศ โดยการฉีดประมาณ 1.5-2 โดยขึ้นกับความต้องการของแม่ปลาเป็นหลัก และจะฉีดเพียงเข็มเดียว โดยปลาเพศผู้จะไม่จำเป็นต้องฉีด ตำแหน่งที่นิยมฉีดนั้นมักจะอยู่บริเวณใต้ครีบหลังเหนือเส้นข้างตัว หรือบริเวณโคนครีบหู แต่บางทีก็จะนิยมใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ฉีดในปริมาณ 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ควบคู่กับยาเสริมฤทธิ์ Domperidone ในปริมาณ 5-10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งจะช่วยให้ปลานั้นวางไข่ได้เช่นเดียวกัน

การผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ทำได้ 2 วิธีคือ

  1. ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง
    หากเลือกวิธีการนี้เมื่อฉีดฮอร์โมนเสร็จ ก็จะปล่อยพ่อแม่ปลาลงในบ่อเพาะรวมกัน โดยใช้อัตราส่วนแม่ปลา 1 ตัว/ปลาเพศผู้ 2 ตัว บ่อเพาะควรมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 3 ตารางเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร บ่อขนาดดังกล่าวจะปล่อยแม่ปลาได้ประมาณ 3 ตัว เพื่อความสะดวกในการแยกพ่อแม่ปลาควรใช้อวนช่องตาห่างปูในบ่อไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงปล่อยพ่อแม่ปลาลงไป แม่ปลาจะวางไข่หลังการฉีดประมาณ 4-7 ชั่วโมง โดยจะไล่รัดกันจนน้ำแตกกระจาย เมื่อสังเกตว่าแม่ปลาวางไข่หมดแล้วก็ยกอวนที่ปูไว้ออก พ่อแม่ปลาจะติดมาโดยไข่ปลาลอดตาอวนลงไปรวมกันในบ่อ จากนั้นก็รวบรวมไข่ปลาไปฟักในกรวยฟัก การผสมพันธุ์วิธีนี้มีข้อดีในเรื่องคุณภาพของไข่ที่ได้มักจะเป็นไข่ที่สุกพอดี นอกจากนั้นผู้เพาะยังไม่ต้องเสียเวลารอด้วย แต่ในบางครั้งปลาตัวผู้อาจไม่แดน้ำเชื้อผสมทำให้ไข่ที่ได้ไม่ฟักเป็นตัว และไข่ที่รวบรวมได้มักจะไม่สะอาด
  2. วิธีการผสมเทียม
    หลังจากฉีดประมาณ 4-5 ชั่วโมง จะสามารถรีดไข่ปลาได้ โดยปลาจะมีอาการกระวนกระวาย ว่ายน้ำไปมารุนแรงผิดปกติ บางตัวอาจจะขึ้นมาฮุบอากาศบริเวณผิวน้ำ เมื่อพบว่าปลามีอาการดังกล่าวก็ควรตรวจดูความพร้อมของแม่ปลา โดยจับปลาหงายท้องขึ้นโดยตัวปลายังอยู่ในน้ำ และบีบบริเวณใกล้ช่องเพศเบา ๆ หากพบว่าไข่พุ่งออกมาอย่างง่ายดายก็นำแม่ปลามารีดไข่ได้ การผสมเทียมใช้วิธีแห้งแบบดัดแปลงโดยใช้ผ้าขับตัวปลาให้แห้งแล้วรีดไข่ลงในภาชนะที่แห้งสนิท จากนั้นนำปลาตัวผู้มารีดน้ำเชื้อลงผสม ในอัตราส่วนของปลาตัวผู้ 1-2 ตัวต่อไข่ปลาจากแม่ไข่ 1 ตัว ใช้ขนไก่คนไข่กับน้ำเชื้อจนเข้ากันดีแล้วจึงงเติมน้ำสะอาดเล็กน้อยพอท่วมไข่ การคนเล็กน้อยในขั้นตอนนี้เชื้อตัวผู้ก็จะเข้าผสมกับไข่ จากนั้นจึงเติมน้ำจนเต็มภาชนะถ่ายน้ำเป็นระยะๆ เพื่อล้างไข่ให้สะอาด ไข่จะค่อย ๆ พองน้ำและขยายขนาดขึ้นจนพองเต็มที่ภายในเวลาประมาณ 20 นาที ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าต้องคอยถ่ายน้ำอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่บางส่วนเสีย เมื่อไข่พองเต็มที่แล้วก็สามารถนำไปฟักในกรวยฟักได้
การผสมเทียมปลาตะเพียน
www.agr.rmutt.ac.th

การอนุบาลลูกปลา

นายปกรณ์ อุ่นประเสริฐ ได้เรียบเรียงและให้ข้อมูลไว้ว่า บ่อที่ใช้เป็นบ่อดินขนาดประมาณครึ่งไร่ถึงหนึ่งไร่ ความลึกประมาณ 1 เมตร ก่อนปล่อยลูกปลาต้องเตรียมบ่อให้ดีเพื่อกำจัดศัตรูและเพิ่มอาหารของลูกปลาในบ่อ การอนุบาลลูกปลาตะเพียนระดับน้ำในบ่ออนุบาลขณะเริ่มปล่อยลูกปลาควรอยู่ในระดับ 30-40 เซนติมตร แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำสัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร เพื่อรักษาคุณสมบัติน้ำ ส่วนการใส่ปุ๋ยนั้นหากวางแผนจะอนุบาลด้วยอาหารสมทบเพียงอย่างเดียวก็ไม่ต้องเติมปุ๋ยในบ่อ การขนย้ายลูกปลาลงบ่อดินเมื่อย้ายลูกปลาลงบ่อดินแล้วให้อาหาร ซึ่งอาจใช้ไข่ต้มเอาแต่ไข่แดงนำไปละลายน้ำ และกรองผ่านผ้าโอลอนแล้วนำไปบรรจุในกระบอกฉีดน้ำและพ่นให้ทั่วผิวน้ำ หรือตักราดให้ทั่วบ่อ ปริมาไข่ที่ให้ขึ้นอยู่กับพื้นที่บ่อ บ่อ 1 ไร่ ปล่อยลูกปลาประมาณ 1,000-1,500 ตัว/ตารางเมตร เมื่อลูกปลาโตขึ้นในวันที่ 5 จะเริ่มลดอาหารไข่และให้รำละเอียด โดยค่อย ๆ โรยทีละน้อยรอบ ๆ บ่อกะให้รำแผ่กระจายเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 1 วา จากขอบบ่อ เพราะลูกปลาส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ การสังเกตการณ์กินอาหารทำยาก เพราะลูกปลายังไม่ขึ้นมากินที่ผิวน้ำ แต่จะคอยกินอาหารที่ค่อย ๆ จมลง หลังให้อาหารแล้วใช้แก้วตักลูกปลามาดู ถ้าลูกปลากินอาหารดีท้องจะขาวเห็นชัดเจน เมื่ออนุบาลได้ประมาณ 2 สัปดาห์ลูกปลาจะเริ่มขึ้นมากินอาหารที่ผิวน้ำ จะสังเกตการณ์กินอาหารได้ง่ายขึ้น โดยจะโรยรำด้านเหนือลม รำจะค่อย ๆ ลอยโปร่งตรงข้าม ต้องคอยสังเกตว่าเศษรำที่ลอยมาติดขอบบ่อมีมากน้อยเพียงใด ถ้ามีมากก็แสดงว่าให้อาหารมากเกินไปต้องลดอาหารลง อาหารที่ให้นี้ถ้าให้ได้คุณค่าทางโภชนการดียิ่งขึ้นควรผสมปลาป่น ร่อนแล้วในอัตราส่วน รำ:ปลาป่นเท่ากับ 3:1 การให้รำอาจจะให้วันละ 3-4 ครั้ง ในระยะแรกๆ และลดลงเหลือ 2 ครั้งเวลาต่อมา โดยทั่วไปเมื่ออนุบาลได้ 4-6 สัปดาห์จะได้ลูกปลาขนาดประมาณ 1 นิ้ว อัตรารอดประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งหมายความว่าจะได้ลูกปลาจำนวน 480,000-640,000 ตัว/ไร่

การเลี้ยงปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนสามารถเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำทั่วไป เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายกินพืชเป็นอาหาร อาศัยอย่ได้ดีทั้งในแหล่งน้ำไหลและแหล่งน้ำนิ่งแม้กระทั้งในนาข้าว เมื่ออายุเพียง 6 เดือน ก็สามารถจะมีน้ำหนักได้ถึงครึ่งกิโลกรัม บ่อเลี้ยงควรเป็นบ่อขนาด 400 ตารางเมตรจนถึงขนาด 1 ไร่ หรือมากกว่านั้น ความลึกของน้ำในบ่อควรให้ลึกกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดยาว 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป ในอัตราส่วน 3-4 ตัว ต่อตารางเมตร หรือ 5,000 ตัว/ไร่

บ่อใหม่

หมายถึงบ่อที่เพิ่งขุดใหม่และจะเริ่มการเลี้ยงเป็นครั้งแรก บ่อในลักษณะนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคพยาธิที่ตกค้างอยู่ในบ่อ เพียงแต่บ่อใหม่จะมีอาหารธรรมชาติอยู่น้อย หากภายในบ่อมีคุณสมบัติของดินและน้ำไม่เหมาะสมก็ต้องทำการปรับปรุง เช่น น้ำและดินมีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 6.5 ก็ต้องใช้ปูนขาวช่วยในการปรับสภาพ ระบายน้ำเข้าให้มีระดับประมาณ 10 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงใช้ปุ๋ยคอมหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จากนั้นก็ระบายน้ำเข้าให้มีระดับประมาณ 50 เซนติเมตร ทิ้งไว้อีก 5-7 วันจึงค่อยปล่อยน้ำให้ได้ระดับตามความต้องการประมาณ 1-1.5 เมตร และปล่อยปลาลงเลี้ยง

บ่อเก่า

หรือบ่อที่ผ่านการเลี้ยงมาแล้วหลังจากจับปลาแล้วทำการสูบน้ำออกให้แห้ง ทิ้งไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน จากนั้นใส่ปูนขาวฆ่าเชื้อโรคและพยาธิ พร้อมทั้งปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของก้นบ่อ แต่ถ้าเป็นบ่อที่มีเลนอยู่มากควรทำการลอกเลนขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยใส่ปูนขาวจากนั้นตากบ่อทิ้งไว้อีก 7 วัน แล้วจึงปฏิบัติเหมือนบ่อใหม่ แต่ถ้าไม่สามารถสูบน้ำให้แห้งได้จำเป็นต้องกำจัดศัตรูปลาให้หมดเสียก่อน ศัตรูปลาตะเพียนได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก กบ เขียด และงู ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 กิโลกรัมต่อปริมาณน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร วิธีใช้คือการทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียดลงแช่น้ำลึก 1 ถึง 2 ปีบ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลาย ๆ ครั้ง จนหมดแล้วนำลงไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมา และต้องเก็บออกทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อ ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวก่อน ส่วนน้ำที่จะระบายเข้ามาใหม่ควรใช้ตะแกรงกรองเอาเศษต่าง ๆ และปลาอื่น ๆ ไม่ให้เข้ามาในบ่อได้

เลี้ยงปลาตะเพียน
www.technologychaoban.com

การใส่ปุ๋ยในบ่อเลี้ยงปลา

อัตราการใส่ปุ๋ยคอกที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่ อยู่ในระดับ 150-200 กิโลกรัม/ไร่ ใส่ทุกๆ ช่วง 2-3 เดือน ปริมาณแตกต่งกันไปตามสภาพของบ่อ และความหนาแน่นของปลาที่เลี้ยง สำหรับอัตราการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็จะแตกต่างกันไปตามชนิดของปุ๋ยคือ ปุ๋ยฟอสเฟต เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด พอสรุปได้ว่าควรใช้ประมาณ 25-30 กิโลกรัมต่อ 6 ไร่ต่อ 6 เดือน ปุ๋ยไนโตรเจน อัตราการใช้ไม่ค่อยแน่นอนแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียเหลว มีไนโตรเจนอยู่ 20% ใช้ 150 ลิตรต่อ 6 ไร่ ส่วนผสมปุ๋ย NPK 300-500 กิโลกรัมต่อ 6 ไร่ต่อปี

  • การเลี้ยงปลาตะเพียนในบ่อดิน บ่อดินที่เหมาะสมควรมีขนาดเนื้อที่ที่ผิวน้ำมากกว่า 400 ตารางเมตรขึ้นไป ลึกประมาณ 1-1.5 เมตร หลังจากเตรียมบ่อแล้ว ปล่อยลูกปลาขนาด 1.5-2 เซนติเมตรในอัตรา 3-4 ตัว/ตารางเมตร ให้อาหารวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น ในอัตรา 3-4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา รูปแบบบ่อที่ใช้ควรมีระบบการระบายน้ำที่ดี
  • การเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าว ควรมีเนื้อที่ประมาณ 10-15 ไร่ การดัดแปลงพื้นที่นาให้เป็นนาปลาก็สามารถทำได้ง่าย โดยขุดดินในพื้นที่นารอบ ๆ ถมเสริมคันดินให้สูงขึ้นทำให้มีความแข็งแรงจะทำให้เกิดคูรอบคันดิน สามารถเก็บกักน้ำให้ขังอยู่ในพื้นที่นา ใช้สำหรับเลี้ยงปลาคูที่ขุดนี้ควรมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร คันดินควรสูงประมาณ 75-100 เซนติเมตร เหลือให้คันดินสูงกว่าระดับน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร มุมที่จะเป็นทางระบายน้ำออกจากนาควรเป็นด้านที่ต่ำที่สุด ถ้าเป็นไปได้ขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 60-70 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการจับปลาโดยปลาจะมารวมกันในหลุมนี้เมื่อน้ำลดในฤดูเก็บเกี่ยว
  • ขนาดของปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยง ใช้ขนาด 3-5 เซนติเมตรขึ้นไป ปล่อยอัตรา 400-600 ตัว/ไร่ การใส่ปุ๋ยและการให้อาหารจะใช้น้อยกว่าการเลี้ยงแบบอื่น ๆ เราจะให้อาหารเพียงวันละครั้ง การปล่อยปลาประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งจะพอดีกับข้าวสุก ปลาก็จะโตมีขนาดพอนำไปจำหน่ายตามท้องตลาดได้ การเลี้ยงปลาตะเพียนสามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ เพื่อเป็นประโยชน์ภายในบ่อให้ได้เต็มที่ ปลาแต่ละชนิดที่ปล่อยลงเลี้ยงร่วมกันจะต้องโตได้ขนาดตลาดในเวลาพร้อมกัน เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปลาที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาตะเพียน จะต้องไม่มีนิสัยที่ชอบทำร้ายปลาชนิดอื่น และไม่ควรเป็นพวกปลากินเนื้อ  ปลาที่จะเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่ต้องการ นอกจากใช้อาหารธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในบ่อเลี้ยง จำเป็นต้องให้อาหารสมทบเพิ่มเติมเพื่อเป็นการเร่งให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารสมบทบดังกล่าวได้แก่ แหน่เป็ดและไข่น้ำ (ไข่น้ำเป็นพืชที่เกิดขึ้นลอยอยู่บนผิวน้ำปะปนกับพวกจอกแหน มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ ขนาดเท่าๆ กับสาคูเม็ดเล็กที่ยังไม่แช่น้ำ มีสีค่อนไปทางเขียวอ่อน ใช้โปรยให้กินสดๆ ) เศษผักต่าง ๆ โดยวิธีต้มให้เปื่อยผสมกับรำหรือปลายข้าวที่ต้มสุก,กากถั่วเหลือง,กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กระบะไม้ไว้ในบ่อ ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรือสัตว์ที่มีชีวิตเช่น ตัวไหม ปลวก ไส้เดือน หนอน มด ฯลฯ ใช้โปรยให้กินพวกเครื่องเครื่องในและเลือดของพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย ใช้บดผสมคลุกเคล้ากับรำและปลายข้าวซึ่งต้มสุกแล้ว นำไปใส่ไว้ในกระบะไม้ในบ่อ

ต้นทุนและผลผลิตของการเลี้ยงปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนที่เลี้ยงกันตามอัตราการปล่อยปลา จะมีผลผลิตได้ไร่ละประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน มีน้ำหนักประมาณ 3-4 ตัว/กิโลกรัม โดยมีต้นทุนประมาณ 8,000-10,000 บาท/ไร่ และต้นทุนที่สำคัญคือค่าอาหาร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 45 ของต้นทุนทั้งหมด ราคาจำหน่ายประมาณ 20-25 บาท/กิโลกรัม รายรับประมาณ 16,000-25,000 บาท/ไร่

ปลาตะเพียน อาหาร
nbdcthailand.com

โรคพยาธิและการป้องกันรักษา

ปลาตะเพียนมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างไว เช่นการเปลี่ยนอุณหภูมิในรอบวัน ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ตลอดจนสารพิษต่าง ๆ ที่มากระทบ หากไม่มีการถ่ายเทน้ำเป็นประจำ ปลาก็อาจเกิดเห็บในปลา หรือหนอนสมอได้ ซึ่งถือเป็นพยาธิของปลาที่พบบ่อย ดังนั้นการจัดการด้านคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา มีความจำเป็นเพราะเป็นการป้องกันการเกิดโรคไว้ก่อนล่วงหน้า โดยการกำจัดศัตรูของปลา รวมถึงบริหารจัดการน้ำในบ่อเลี้ยงให้มีคุณภาพอยู่เสมอ

สาเหตุที่ทำให้ปลาเป็นโรค

  • นำลูกปลาติดโรค-พยาธิมาเลี้ยงโดยไม่ได้กำจัดโรคพยาธิเสียก่อน
  • เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป
  • ให้อาหารมากเกินไป
  • น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรมลง
  • คุณภาพอาหารต่ำหรือไม่สด

ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยง

ปัญหาทั่วไปที่มักจะพบได้แก่ ปลาไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะไม่ได้ถ่ายเทน้ำเป็นประจำ จึงทำให้ปลาเกิดเห็บปลาและหนอนสมออันเป็นพยาธิของปลา หรือโรคจากบักเตรี ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงปลาแน่นเกินไป ศัตรูของปลาตะเพียนได้แก่ ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก กบ เขียด งูกินปลา และนก ฯลฯ ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือ การลักขโมยซึ่งมีวิธีการหลายอย่าง เช่น ใช้ตาข่าย แห กระชัง ลอบ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบการขาดทุนมาก ปัญหาเหล่านี้ผู้เลี้ยงควรศึกษาและแก้ไขโดยใกล้ชิด พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำในด้านวิชาการจากเจ้าหน้าที่ของกรมประมงอย่างเคร่งครัด

แนวโน้มของการเลี้ยงปลาตะเพียนในอนาคต

ปลาตะเพียนขาวนั้นนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปลาสายพันธุ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมา ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีการนำมาบริโภค เพาะเลี้ยง นำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม รวมไปถึงนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผู้เลี้ยงจะชักชวนให้หลายคนมาเริ่มเพาะเลี้ยงปลาตะเพียนขาวกันมากขึ้น นั่นก็เพราะเป็นปลาที่โตง่าย และเลี้ยงง่าย ไม่วุ่นวาย จึงทำให้เป็นปลาที่ต้องการในท้องตลาดเป็นอย่างมาก สำหรับการลงทุนในการผลิตหรือการเพาะเลี้ยงนั้นนับว่าไม่สูงมากเกินไป เพียงแต่อาจจะมีการลงทุนในการขุดบ่อและเตรียมบ่อเท่านั้น จึงบอกได้เลยว่า การเลี้ยงปลาตะเพียนขาว นับเป็นสายพันธุ์ปลาอีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

แนวโน้มการเลี้ยงปลาตะเพียน
akebacc.blogspot.com

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้