ปลานิล (Nile Tilapia) เป็นปลาน้ำจืดจากทวีปแอฟริกาอาศัยได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ลักษณะของปลานิลที่สามารถสังเกตได้ คือ จะมีที่มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาลและมีลายพาดขวาง 9 – 10 แถบ ครีบหลัง ครีบก้นและครีบหางมีจุดขาวและเส้นสีดำตัดขวาง ครีบหลังมีอันเดียวประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 15 – 18 อัน และก้านครีบอ่อน 12 – 14 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และก้านครีบ อ่อน 12 – 14 อัน บนแถบเส้นข้างลำตัวมีเกล็ด 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้มที่กระดูกแก้ม มีจุดสีเข้มอยู่ 1 จุด นอกจากนี้ปลานิลหากินเองได้ตามธรรมชาติจากไรน้ำ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ ถือเป็นปลาน้ำจืดที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย
การเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยเป็นอาชีพที่ทำกันมายาวนานกว่า 50 ปีมาแล้ว ซึ่งถิ่นเดิมเป็นปลาจากทวีปแอฟริกาถูกนำเข้ามาโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตราชกุมารของประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2508 เพื่อนำมาถวายแด่รัชกาลที่ 9 จำนวน 50 ตัว โดยรับสั่งให้เลี้ยงไว้ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต ก่อนจะพระราชทานชื่อให้ว่า “ปลานิล” จากนั้นในปีถัดมาก็ได้พระราชทานปลานิลให้แก่กรมประมงเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ปลานิลที่สามารถเลี้ยงได้ในประเทศไทยได้ดีและแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้ประกอบอาชีพประมงน้ำจืดมาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
ด้วยความที่ประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถทำประมงได้หลากหลายรูปแบบและมีการส่งออกปลาน้ำจืดสู่ท้องตลาดได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ทำให้ในปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลไม่ได้เป็นแค่การเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้ภายในครอบครัวหรือในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเลี้ยงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ จนเรียกได้ว่าปลานิลได้กลายเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปลานิลยังกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในหลายประเทศ โดยจะเห็นว่าในปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการส่งออกปลานิลไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และออสเตรเลีย โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกส่งออกไปมากที่สุดก็คือ ปลานิลแช่แข็ง ปลานิลแบบฟิลเลรมควันและปลานิลอบแห้ง จนทำให้ประเทศไทยได้ขึ้นแท่นการส่งออกปลานิลเป็นอันดับที่ 16 ของโลกและคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 277.9 ล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้น ใครที่กำลังมองภาพการทำประมงน้ำจืดเพื่อส่งออก การเลี้ยงปลานิลยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่และวันนี้ Kaset today ก็จะมาทำหน้าที่มอบข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับปลานิลให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปลานิล
ชื่อภาษาไทย: ปลานิล
ชื่อภาษาอังกฤษ: Nile Tilapia
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Oreochromis niloticus
ตระกูลสัตว์: ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
สายพันธุ์ปลานิลที่นิยมเลี้ยงในไทย
สายพันธุ์ปลานิลที่มีในประเทศตอนนี้เดิมทีเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ จากนั้นกรมประมงจึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อให้ได้ปลานิลที่สามารถทนทานกับสภาพแวดล้อมในประเทศได้เป็นอย่างดี จากคู่มือการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุนการเลี้ยงปลานิลของกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้อธิบายลักษณะสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. สายพันธุ์จิตรลดา เป็นปลานิลสายพันธุ์ดั้งเดิมในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับปลานิลที่ลุ่มแม่น้ำไลน์ (Oreochromis niloticus)
2. ปลานิลสายพันธุ์ จิตรลดา 1 เป็นปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากการคัดเลือกสายพันธุ์แบบภายใน ครอบครัว (within family selection) เริ่มดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งทดสอบพันธุ์ แล้วพบว่าอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยง 22 % ลักษณะสำคัญคือมีการเจริญเติบโตดีได้ดี เลี้ยงง่าย ทนทานและวางไข่ง่าย
3. ปลานิลสายพันธุ์ จิตรลดา 2 ได้จากการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมปลานิลสายพันธุ์อียิปต์ให้พ่อพันธุ์มีโครโมโซมเพศเป็น “YY” เรียกว่า “YY-male” หรือ Supermale เมื่อนำไปผสมกับแม่พันธุ์ปกติจะได้ลูกพันธุ์ปลานิลเป็นเพศผู้ทั้งหมด มีลักษณะส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สีขาวนวลเนื้อหนาและแน่น รสชาติดี อายุ 6-8 เดือน สามารถเจริญเติบโตได้ขนาด 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม ให้ผลผลิตสูงกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยงกันทั่วไปถึง 45%
4. ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยปรับปรุงจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT (Genetic Improvement of Farmed Tilapia) รุ่นที่ 5 ของหน่วยงาน International Center for Living Aquatic Resource Management (ICLARM) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่ด้วย “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3” ได้ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ (Mass Selection) เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดีและมีอัตราการรอดสูง อีกทั้งยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ หัวเล็ก ตัวหนาและเนื้อแน่นมาก
5.ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4 เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2552 โดยปรับปรุงจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT รุ่นที่ 9 จาก WorldFish Center ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่เช่นเดียวกัน “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4” ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ (Estimated Breeding Value, EBV) ของมวลน้ำหนักเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเหมาะแก่การนำไปเพาะพันธุ์ต่อ โดยลักษณะเด่นของสายพันธุ์นี้ คือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา
เกร็ดความรู้
นอกจากสายพันธุ์กรมประมงได้ทำการวิจัยขึ้นแล้ว ทางภาคเอกชนอย่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่ที่มีความแข็งแรง ทนทาน เจริญเติบโตเร็วและยังให้ผลผลิตที่สูงตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการของตลาดได้อีกด้วย โดยสายพันธุ์ปลานิลของภาคเอกชนจะมีหลัก ๆ อยู่ 2 สายพันธุ์ ดังนี้
1) สายพันธุ์ซีพี เป็นปลานิลที่ได้มีการคัดพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องจนได้เป็นปลาลูกผสมที่มีลักษณะลำตัวกว้าง เนื้อหนา ทนทานความเค็มของน้ำได้ดี ซึ่งทำให้ปลานิลสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเล อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค ไม่ค่อยมีกลิ่นสาบในเนื้อปลาและยังให้รสชาติที่ดีกว่าปลานิลน้ำจืดทั่วไป ปลานิลสายพันธุ์นี้จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากและมีราคาที่สูงกว่าปลานิลทั่วไป
2) สายพันธุ์ทับทิม เป็นปลานิลที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสามารถในการกินอาหารได้หลากหลาย ทำให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตได้ตามเวลาที่ต้องการ ซึ่งปลานิลสายพันธุ์นี้สามารถเลี้ยงในน้ำทะเลและทนต่อความเค็มของน้ำได้ถึง 30 ppt ลักษณะของปลาสายพันธุ์นี้จะมีกระดูกเล็ก กล้ามเนื้อขาว ผิวหนังและเกล็ดจะออกสีขาวอมชมพูหรืออมแดงทำให้ปลานิลชนิดนี้คนส่วนใหญ่เรียกว่า ปลาทับทิม อีกทั้งปลาทับทิมเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็วทำให้ได้ผลผลิตสูงถึง 25 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายในระยะเวลาการเลี้ยงดพียง 3 เดือน
รูปแบบการเลี้ยงปลานิล
การเลี้ยงปลานิลสามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพื้นที่ สภาพแวดล้อมหรือความต้องการของเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ติดแหล่งน้ำสามารถเลี้ยงได้ทั้งในรูปแบบของกระชังตามแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อยหรือน้ำทะเลที่เป็นแหล่งน้ำเปิด อีกทั้งยังมีรูปแบบการเลี้ยงในบ่อต่าง ๆ ที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้อยู่ในลักษณะใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่อาศัยของปลานิลตามธรรมชาติ เดี๋ยวเรามาดูกันว่ารูปแบบไหนปลานิลแบบไหนที่เหมาะกับพื้นที่หรือความต้องการของเรา
การเลี้ยงปลานิลในบ่อปูน
สำหรับการเลี้ยงปลานิลในบ่อปูนนั้นจะต้องสร้างบ่อปูนที่ความสูง 1 เมตร ซึ่งลักษณะของบ่อสามารถสร้างได้ในรูปแบบของบ่อวงกลมหรือบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความต้องการของเกษตรกร แล้วต่อท่อ PVC ที่ความสูง 50 – 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นทางที่จะใช้ระบายน้ำเข้าบ่อและควรเจาะรูก้นบ่อใช้สำหรับการระบายน้ำออกและควบคุมระดับน้ำในบ่อ จากนั้นจึงนำปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ เพื่อให้ปรับสภาพความเป็นกรดของน้ำ จากนั้นใส่ดินและปุ๋ยคอกตามลำดับ และปล่อยน้ำเข้าบ่อแล้วจึงทิ้งบ่อไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้บ่อได้ปรับสภาพน้ำและนำพืชน้ำชนิดต่าง ๆ มาใส่ในบ่อเพื่อเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย เมื่อบ่อที่เตรียมไว้สามารถใช้ได้แล้วสามารถนำปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาคัดลงบ่อเพื่อเพาะพันธุ์ต่อไป
การเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน
เตรียมบ่อที่มีเนื้อที่ประมาณ 50-1,600 ตารางเมตรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ความสูง 1 เมตรหรือมากกว่านั้นเพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำและมีชานบ่อเพื่อเป็นที่พักบ่อสำหรับเป็นที่ให้แสงส่องถึงเกิดสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของปลาและเป็นแหล่งสร้างอาหารใต้น้ำ อีกทั้งควรมีเชิงลาดเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน สำหรับบ่อเก่าจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้หมดและปรับปรุงหน้าดินใหม่ โดยการใส่โล่ติ๊นหรือหางไหลแดงเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการกำจัดศัตรูของปลาในอัตราส่วนโล่ติ๊นแห้ง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร (อาจใช้โล่ติ๊นสดโดยการนำมาบด สับและคั้นเอาน้ำมาใช้ได้) จากนั้นโรยปูนขาว 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของน้ำในบ่อ ตามด้วยปุ๋ยคอก 300 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเตรียมบ่อเรียบร้อยจึงสูบน้ำเข้าและทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ปรับสภาพน้ำในบ่อนำปลามาลง สำหรับการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินจะสามารถให้ผลผลิตที่ดีกว่าบ่อรูปแบบอื่นเพราะเป็นบ่อที่มีความใกล้เคียงกับที่อยู่ของปลาตามธรรมชาติมากที่สุด
การเลี้ยงปลานิลในกระชัง
การเลี้ยงปลานิลรูปแบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมและเห็นกันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการทำประมงน้ำจืดที่คนอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำอยู่แล้ว การเลี้ยงปลานิลในรูปแบบนี้จะสะดวกกว่า เริ่มจากการเตรียมกระชังขนาด 3×6.5×3 เมตร สามารถใช้รูปแบบทุ่นลอยน้ำหรือยึดกระชังให้อยู่กับที่ได้ ซึ่งก่อนนำมาใช้งานจะต้องตรวจสอบสภาพกระชังก่อนลงน้ำทุกครั้งเพื่อให้กระชังมีความสมดุลกับน้ำและปลอดภัยกับผู้เลี้ยงระหว่างการให้อาหารหรือสำรวจกระชัง เพราะเมื่อนำลูกปลาลงเลี้ยงแล้วจะแก้ไขไม่ได้ การวางกระชังจะต้องไม่ให้กีดขวางทางไหลของน้ำ หลีกเหลี่ยงจุดอับที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและติดตั้งเครื่องตีน้ำเพื่อให้มีการไหลเวียนของน้ำเพิ่มออกซิเจนให้ปลา ที่สำคัญจะต้องทำความสะอาดกระชังเป็นประจำ เพราะอาจเกิดการอุดตันของตะไคร่น้ำ เศษอาหารได้ โดยนำกระชังไปแช่โซดาไฟเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และผึ่งแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค
จากนั้นให้ปล่อยลูกปลาขนาด 50 กรัม ประมาณ 2,000 ตัว ลงในกระชังที่เตรียมไว้ ซึ่งลูกปลาที่มีขนาดใหญ่จะมีความทนต่อโรคสูงกว่าลูกปลาขนาดเล็ก ข้อแนะนำคือควรปล่อยลูกปลาในกระชังที่อยู่บริเวณรอบนอก เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความลึกมากกว่าและมีการไหลผ่านของน้ำดีกว่า คุณภาพน้ำที่ดีช่วยให้ลูกปลามีความแข็งแรงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้อยกว่า นอกจากนี้การปล่อยลูกปลาจะต้องมีการคัดขนาดตัวให้มีขนาดใกล้เคียงกันทุกครั้ง เพื่อให้สะดวกต่อการให้อาหารและได้ผลผลิตสูงด้วย
ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลที่ควรรู้
1) การเตรียมน้ำ
จะต้องตรวจสอบสภาพน้ำทุกครั้งก่อนที่จะนำปลาไปเลี้ยงลงบ่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นป้องกันมิให้การเลี้ยงปลาเกิดความเสียหายน้อยที่สุด จึงต้องมีการทดสอบสภาพน้ำว่ามีความเหมาะสมเพียงใดซึ่งสามารถดูได้ดังนี้
- ความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง 6.5-8.0
- ปริมาณออกซิเจนในน้ำต้องไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ปริมาณแอมโมเนียจะต้องไม่มากกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ความเป็นด่างไม่ต่ำ กว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร
2) การคัดลูกปลา
- การที่จะได้พันธุ์ลูกปลาที่ดีนั้นจะต้องตรวจสอบตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือและจะต้องไม่อยู่ห่างไกลจากบ่อเลี้ยงมากนัก เพราะการขนส่งทางไกลอาจทำให้ลูกปลาได้รับความเสียหายหรือตายระหว่างขนส่ง
- ลักษณะของลูกปลาจะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ว่ายน้ำได้ปราดเปรียว ผิวหนังเกล็ดและครีบจะต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ขาดแหว่ง หรือมีลักษณะที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคต่าง ๆ
- ลูกปลานิลแปลงเพศอายุ 1 เดือน ควรมีน้ำหนักระหว่าง 0.2-0.3 กรัม และมีความยาวประมาณ 2-3 ซม.
3) การปล่อยลูกปลา
- การปล่อยลูกปลาควรปล่อยในตอนเช้าที่เริ่มมีแสงแดดอ่อน ๆ เพราะอุณหภูมิน้ำในช่วงเวลานั้นจะไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป แต่ถ้าปล่อยในช่วงแดดร้อนจัดหรือน้ำเย็นจัดจะทำให้ปลาช็อคน้ำและตายได้
- ควรมีการแช่ปลาในฟอร์มาลิน 100 ซีซี/ลูกบาศก์เมตร นาน 3-5 นาที
- ก่อนปล่อยควรให้ลูกปลาคุ้นกับสภาพที่เตรียมไว้โดยการนำน้ำในบ่อมาผสมกับน้ำถุงลูกปลา หรือนำถุงลูกปลาไปแช่ในบ่อเลี้ยง เพื่อให้ลูกปลาได้คุ้นชินและปรับอุณหภูมิของน้ำ
4) การให้อาหาร
การให้อาหารปลานิลจะต้องให้ตามปริมาณที่กำหนด ซึ่งถ้าให้มากหรือน้อยไปก็อาจจะทำให้ปลาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาหารปลาในแต่ละยี่ห้อจะมีการเขียนกำกับอยู่แล้วว่าจะต้องให้ปลากินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม จากคู่มือการเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุนการเลี้ยงปลานิลได้อธิบายถึงการให้อาหารปลาตามรูปแบบของการเลี้ยงไว้ดังนี้
การให้อาหารปลานิลในกระชัง
1) ให้อาหารปลานิลโปรตีน 30-32 % สลับมื้อกับการให้โปรตีน 25-28 % ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการเลี้ยง สำหรับการปล่อยลูกปลาขนาด 25 กรัม และให้ในระยะ 2 เดือนสุดท้ายของการเลี้ยงสำหรับ การปล่อยลูกปลาขนาด 40 – 60 กรัม
2) ความถี่ในการให้อาหาร 2-3 มื้อต่อวัน การให้อาหารปลานิลอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดการสูญเสียอาหารปลาและจะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน
การให้อาหารปลานิลในบ่อดิน
1) การให้อาหารโปรตีน 30 % สลับมื้อกับการให้อาหารโปรตีน 25 % วันละ 4 มื้อ
2) การให้อาหารโปรตีน 25 % ตลอดช่วงการเลี้ยง ให้วันละ 3-4 มื้อ
3) การให้รำอัดเม็ดเป็นอาหาร โดยตลอดการเลี้ยงจนถึงช่วงจับขายเน้นให้อาหารธรรมชาติในบ่อและรำละเอียดอัดเม็ด
4) การให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป แบบแขวนในสวิง
การให้อาหารลูกปลานิล
1) สร้างอาหารธรรมชาติเป็นหลัก โดยอาจจะใช้ฟางแห้ง มูลสัตว์แห้ง มูลสัตว์หมักและปุ๋ยพืชสดหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 150 –300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน สำหรับช่วงอนุบาลลูกปลานิลและในช่วง 3 เดือนแรก ควรรักษาสีของน้ำให้คงที่เพื่อให้มั่นใจว่ามี อาหารธรรมชาติอยู่เสมอ
2) ช่วง 1-1.5 เดือนแรกของการอนุบาลควรให้อาหารเสริมเพิ่มเติมอย่างพวกรำละเอียด จากนั้นช่วง 1.5 – 3 เดือนของการทำอนุบาลปลาค่อยให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโปรตีน 30 %
5) การเพาะพันธุ์ปลานิล
การเตรียมบ่อและกระชังเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์: เมื่อสูบน้ำออกจากบ่อเลี้ยงปลาจนแห้งแล้วใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อในปริมาณ 160 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้นตากบ่อให้แห้งทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนนำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงจะต้องตรวจดูสภาพของไม้ไผ่และกระชังว่าชำรุดเสียหายเพียงใด ต้องรีบทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมจึงนำกระชังที่เตรียมไว้มาผูกกับหลักไม้ไผ่ โดยใช้กระชังขนาด 5×8 เมตรผูกไว้ตรงกลางสำหรับใช้ในการเพาะพันธุ์ปลานิล และกระชัง 2×4 เมตร จำนวน 2-4 กระชัง ผูกไว้คนละด้านของกระชังเพาะพันธุ์เพื่อแยกปลานิลเพศผู้และเพศเมียออกจากกัน
การเลี้ยงปลานิลเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์และการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์: ปลานิลสามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้อายุประมาณ 6 เดือน ในช่วงนี้จะต้องแยกปลานิลเพศผู้และเพศเมียออกจากกัน โดยการคัดปลาขนาด 200-250 กรัม หากใช้แม่ปลาที่ขนาดเล็กเกินไปจะทำให้ไข่มีปริมาณน้อยและเล็กเกินไป เมื่อคัดพันธุ์สำเร็จแล้วจึงให้อาหารด้วยโปรตีน 32% เป็นระยะเวลา 20 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายพ่อแม่พันธุ์ที่เตรียมไว้แล้วปล่อยลงในกระชังเพาะพันธุ์แทนปลานิลพ่อแม่พันธุ์เดิมที่วางไข่ลดลงไม่เกิน 2 ปี สำหรับการเพาะพันธุ์ปลานิลปลานิลสามารถดำเนินการสัปดาห์ละครั้ง โดยการเปิดปากแม่ปลาทีละตัว และเคาะไข่ ออกจากปากหากพบว่ามีไข่อยู่ และเปลี่ยนแม่ปลาที่วางไข่ออกทุกครั้งจะช่วยให้พ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์และ ให้ผลผลิตสูง
การนำไข่มาเพาะฟักในโรงเพาะฟัก: เมื่อได้ไข่มาแล้วจึงทำการคัดแยกสิ่งปนเปื้อนผ่านตาข่ายกรอง และล้างทำความสะอาด จากนั้นเทไข่ปลานิลใส่สวิงตาถี่นำไปแช่น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 5% แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนจะนำไข่ปลามาชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งและจดบันทึกน้ำหนักไข่ปลาทุกครั้งเพื่อประเมินจำนวนไข่ทั้งหมด
ระบบฟักไข่ปลานิล: จะต้องมีการออกแบบระบบฟักไข่ให้มีการหมุนเวียนของกระแสน้ำ เพื่อให้ไข่มีการเคลื่อนที่ไม่ทับกันจนขาดออกซิเจนทำให้ไข่เสีย โดยเปิดน้ำให้ไหลเวียนในถาดในระดับพอดี ไม่แรงหรือเบาเกินไป นอกจากนี้จะต้องหมั่นทำความสะอาดตาข่ายที่กรุข้างถาดทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันของของเสียบริเวณพื้นถาด
การอนุบาลปลานิล: สามารถทำได้ทั้งบ่อดินและกระชังได้ดังนี้ การอนุบาลลูกปลานิลในกระชังจะเป็นกระชังในบ่อดินขนาด 5x8x0.9 เมตร ที่ความลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ปล่อยลูกปลานิลแปลงเพศขนาด 2-3 เซนติเมตร จำนวน 2,000 – 2,500 ตัวต่อกระชัง ถ้าใส่ลูกปลาจำนวนมากว่านั้นอาจทำให้เกิดความหนาแน่นสูง ลูกปลาอาจขาดออกซิเจนและตายในที่สุด ใช้ระยะเวลาในการอนุบาล 2-3 เดือน จะได้ลูกปลาขนาด 7-10 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะแก่การนำไปเลี้ยงในบ่อหรือในกระชังต่อไป
ในส่วนของการอนุบาลลูกปลานิลในบ่อดินควรมีพื้นที่ 400 – 800 ตารางเมตร ระดับน้ำในบ่อลึกประมาณ 0.8 – 1.0 เมตร ปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตรประมาณ 10,000 ตัวต่อพื้นที่ 400 ตารางเมตร สำหรับอาหารที่นำมาใช้ในการอนุบาลควรเป็นอาหารขนาดเม็ดเล็กและมีระดับโปรตีนสูง เช่น อาหารกบเล็ก ระดับโปรตีน 38% จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของลูกปลาได้ดี ระยะเวลาในการอนุบาลลูกปลาประมาณ 1-2 เดือนจะได้ลูกปลาขนาด 7-10 เซนติเมตร
การดูแลระหว่างการเลี้ยงปลานิล
1) การที่จะให้ปลามีขนาดใกล้เคียงกันจะต้องมีการคัดขนาดปลาที่อายุได้ประมาณ 40 – 45 วัน เพื่อคัดแยกขนาด 20 กรัมต่อตัว ขนาด 30 กรัมต่อตัว หรือขนาดที่มากกว่า 35 กรัมต่อตัว ออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการเลี้ยงและทำให้ปลาเจริญเติบโตได้เร็วเท่ากัน ก่อนการคัดแยกจะต้องให้ยาปฏิชีวนะและวิตามินซีล่วงหน้าก่อน 7 วัน และงดอาหารอย่างน้อย 2 วัน จึงจะสามารถคัดขนาดได้ตามต้องการ โดยการคัดแยกขนาดนั้นจะต้องทำอย่างรวดเร็วเพราะปลาอาจเกิดความเครียดหรือขาดออกซิเจนระหว่างคัดแยก
2) จะต้องทำความสะอาดบริเวณกระชังหรือบ่อเลี้ยงเป็นประจำ โดยการตัดเศษอาหารมูลปลาหรือซากปลาที่ตายแล้วออก ซึ่งถ้าหากไม่มีการทำความสะอาดเป็นประจำแล้วนั้นอาจส่งผลให้น้ำเน่าเร็วหรือส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่
3) ต้องสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของปลาว่ากินน้อยหรือมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรคหรือปลาป่วยได้
4) ควรมีอุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนในน้ำเพื่อช่วยเหลือปลาจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำ
5) บำรุงสุขภาพด้วยวิตามินซีหรืออีโดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงในกระชังที่มีความหนาแน่นสูง
โรคและการดูแลป้องกันปลานิล
1) โรคที่มีสาเหตุจากปรสิตภายนอก
ครัสเตเซียน ที่พบได้แก่ เห็บปลา(Argulus sp.) หมัดปลา (Ergasilussp.) หนอนสมอ (Lernace sp.) เป็นจำพวกปรสิตที่พบได้ในการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยพวกมันจะใช้อวัยวะปลาแหลมยึดเกาะและกินเซลล์หรือเลือดปลาเป็นอาหาร ทำให้ปลาเกิดแผลและสูญเสียเลือด ส่งผลให้ปลาผอมและอาจตายในที่สุด วิธีการรักษาให้ใช้ดิพเทอร์เรกซ์ (Dipterex) อัตราเข้มข้น 0.25-0.5 กรัม/น้ำ 1 ตัน แช่ปลาไว้ตลอด
ปลิงใส ส่วนใหญ่จะพบได้แก่ Gyrodactylus sp. และ Dactylogyrus sp. ซึ่งปลิงใสพวกนี้จะเกาะตามซี่เหงือก ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนไม่สะดวกจึงต้องมีการตรวจสุขภาพของปลาเป็นประจำ วิธีการรักษาให้ใช้ฟอร์มาลิน (formalin) อัตราเข้มข้น 25-50 ppm. (25–50 มิลลิลิตรต่อน้ำ1 ตัน)
2) โรคที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย
เชื้อคอลัมนาริส (Columnaris Disease) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ มักจะเกิดกับปลาที่มีสภาพอ่อนแอและเครียดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับผลกระทบจากการขนส่ง หรืออุณหภูมิที่ส่งผลต่อการเกิด โรคคอลัมนาริสอยู่ในช่วงประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส ลักษณะอาการจะเกิดในบริเวณที่เป็นแผลมีเมือกหนา สีเทา เหงือกซีดและเนื้อเยื่อตาย และในบางครั้งอาจพบจุดเลือดตรงบริเวณที่เกิดโรคด้วย ส่วนวิธีการป้องกันรักษาโรคให้ใช้วิธีแช่ยาหรือสารเคมี ได้ แก่ ยาเหลือง (acriflavin) อัตราเข้มข้น 1-3 ppm แช่ตลอดไป ด่างทับทิม ความเข้มข้น 2-4 ppm แช่ตลอด หรือคอปเปอร์ซัลเฟต ความเข้มข้น 40 ppm แช่ปลานาน 20 นาที
เชื้อ Streptococcus spp. เป็นแบคทีเรียแกรมบวก ที่มักพบว่าก่อโรคในสัตว์น้ำ ได้แก่ S. iniae, S. agalactiae โดยมีสาเหตุจากน้ำในกระชังไม่ได้รับการถ่ายเท ปริมาณออกซิเจนต่ำ ปริมาณของเสียสะสมสูง หรือการเลี้ยงปลาที่หนาแน่นเกินไป ซึ่งส่งผลให้ปลาเครียด และมีโอกาสที่เกิดบาดแผลในขณะว่ายน้ำ เมื่อปลาติดเชื้อแล้วอยู่ในสภาพอากาศที่สูงหรือร้อนขึ้นจะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะพบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน
3) โรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา
ชนิดของราที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่ Achlya sp. และ Aphanomyces sp. พบว่าเป็นราที่สามารถเจริญได้ในอุณหภูมิช่วง 15 – 35 องศาเซลเซียสและเจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 35 องศา เซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นหรือในช่วงอากาศร้อนมากต้องคอยสังเกตอาการปลาอยู่ตลอด ส่วนใหญ่จะพบจากการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ปลามีการบอบช้ำ หรือมีบาดแผลจากการขนส่งหรือการลากอวน ซึ่งจะทำให้บาดแผลของปลามีลักษณะเป็นเส้นสีขาวคล้ายขนฟูเป็นกระจุกและปลากินอาหารได้น้อยลง สำหรับวิธีการรักษาให้ใช้ยา trifluralin แช่ใน อัตราเข้มข้น 0.05 – 0.1 ppm. ถ้าเป็นลูกปลาใช้ด่างทับทิมในอัตรา เข้มข้น 2-4 ppm. หรือแช่ฟอร์มาลีนอัตราความเข้มข้น 25-50 ppm. แช่ตลอด
4) โรคที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
สาเหตุของโรคชนิดนี้เกิดจากคุณภาพน้ำไม่ดี เช่น ออกซิเจนในน้ำต่ำ แอมโมเนียไนไตร์ท หรือไฮโดรเจนซัลไฟล์สูง เป็นต้น หรือมีสารพิษปนเปื้อนในน้ำ เช่น ยาฆ่าแมลง, ยาฆ่าหอย, จุลินทรีย์, สาหร่ายในน้ำเป็นจำนวนมาก หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันส่งผลให้ปลาเครียดและเกิดการช็อคน้ำ วิธีการรักษาจะแก้ไขตามสาเหตุของปัญหาให้ถูกต้องตามหลักการเลี้ยงปลาในกระชัง ที่จะต้องมีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยงเป็นประจำทั้งการคอยเก็บของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากบ่อ เพื่อให้น้ำอยู่ในสภาพปกติ หรือมีการต่อสายออกซิเจนในช่วงอุณหภูมิต่ำ – สูงที่คอยช่วยเติมออกซิเจนในน้ำให้ปลาในบ่อเลี้ยง
ภูมิปัญญาที่ใช้ในการเลี้ยงปลานิล
ด้วยความที่อาชีพเลี้ยงปลานิลนี้เป็นการทำประมงน้ำจืดที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนมากมายพยายามสั่งสมความรู้และแนวทางต่าง ๆ เพื่อมาช่วยให้เราสามารถเลี้ยงปลานิลได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่จะใช้เลี้ยงปลานิลให้ได้คุณภาพตามที่ท้องตลาดต้องการ เพราะฉะนั้นเราจึงอยากนำองค์ความรู้จากปราชญ์ปลานิลที่ทางสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดมาแบ่งปันให้คนที่อยากเลี้ยงปลานิลได้นำไปใช้กัน
การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย (สูตรหัวเชื้อ): เป็นการใช้จุลินทรีย์สูตรนี้ทำได้โดยการฉีดพ่นให้ทั่วบ่อหลังจากการสูบน้ำจนแห้ง เพื่อช่วยในการบำรุงดิน ปรับสภาพน้ำและช่วยในการกำจัดศัตรูพืชในบ่อเลี้ยง นอกจากนี้สูตรนี้ยังสามารถใช้กับการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นได้เพื่อช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นสาบ ซึ่งสามารถนำหน่อกล้วยใบธงสูงประมาณ 1 เมตร ทั้งเหง้า ต้น (ใช้ทั้งใบและดินที่ติดมาด้วย) จำนวน 10 กิโลกรัมมาสับหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วใส่ไว้ในถังหมัก จากนั้นนำกากน้ำตาลจำนวน 10 กิโลกรัม มาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องใส่น้ำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยหมักไว้ในถังเป็นเวลา 1 เดือนและจะต้องหมั่นคนทุกอาทิตย์จนสูตรหมักได้ที่ก็ทำการคั้นน้ำหมักมาใส่ในภาชนะเพื่อใช้ในการพ่นต่อไป
การผลิตขี้โป๊ะ: เป็นกากที่ได้จากกระบวนการแปรรูปปลากระตักตากแห้ง โดยการนำปลากระตักไปต้มจากนั้นนำกากปลาที่ได้ไปตากแดดให้แห้งแล้วเก็บขี้โป๊ะบรรจุในกระสอบสำหรับใช้ให้อาหารต่อไป ซึ่งขี้โป๊ะจะมีลักษณะคล้ายปลาป่น ปราชญ์จึงนำมาทดลองเลี้ยงกับปลากะพงและปลานิล พบว่าปลานิลที่กินขี้โป๊ะ มีการเจริญเติบโตเร็ว รูปร่างอ้วนสมบูรณ์ และเนื้อมีรสหวาน เมื่อนำไปวิเคราะห์ คุณค่าทางอาหารโดยกรมประมงพบว่า ขี้โป๊ะมี โปรตีนเท่ากับ 26.65% ไขมันเท่ากับ 2.70% เยื่อใยเท่ากับ 0.55 % เถ้าเท่ากับ 42.01% แคลเซียมเท่ากับ 1.85% ฟอสฟอรัสเท่ากับ 1.84% และความชื้นเท่ากับ 29.09% นอกจากนี้เกษตรกรชาวสวนนิยมนำไปใส่ในสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา สวนมะพร้าว และสวนผลไม้อื่น ๆ อีกด้วย
การใช้น้ำมันกานพลู: การขนส่งปลาทางไกลและใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน อาจทำให้ปลาเกิดความเสียหายหรือบอบช้ำจากการขนส่งได้ ซึ่งการใช้น้ำมันกานพลูช่วยในการขนย้ายปลาจะทำให้ลดการบอบช้ำหรือตายลงได้ สำหรับน้ำมันกานพลูจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1) น้ำมันกานพลู (Clove Oil) ผสมกับน้ำแข็ง เหมาะสำหรับการขนส่งปลาขนาดเล็ก ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ปลาขับเมือกมาก 2) Resico 2-Phenoxy Ethanol สารควบคุมการเคลื่อนไหวเหมาะสำหรับปลาที่มีขนาดใหญ่ ปริมาณที่ใช้จะขึ้นอยู่กับความต้องการ ถ้าให้ปลาสลบเร็วใช้ปริมาณมากหรือถ้าน้อยเกินไปอาจจะจะสลบช้า สำหรับเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนสามารถนำสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้มาผสมกันได้ โดยปริมาณที่ใช้จะใช้น้ำมันกานพลูมากกว่า Resico คือประมาณ 3:1 ผสมกับน้ำแข็ง ซึ่งการใช้วิธีนี้จะช่วยให้ลดการบอบช้ำการขนส่งปลาได้ดีในระดับหนึ่ง
การใช้ EM Ball: เป็นการนำส่วนผสมของรำละเอียด จุลินทรีย์ EM และดินเหนียว นำมาปั้นเป็นก้อนกลมเพื่อใช้ในการปรับสภาพแวดล้อมและคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อดินและกระชัง โดยการโยนลงในบ่อ 5-6 ลูก จนย่อยสลายไปกับน้ำในบ่อจะมีอายุการใช้งานประมาณ 4-5 เดือน สำหรับวิธีการทำให้นำรำละเอียดชุบกับจุลินทรีย์ EM (ใช้ EM ที่ขยายหัวเชื้อแล้ว) จากนั้นนำรำละเอียดที่ชุบ EM มาผสมกับดินเหนียวพอประมาณแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ ขนาดเท่าลูกเทนนิสเป็นอันเรียบร้อย สามารถนำไปใช้ในการปรับสภาพน้ำได้
การใช้สมุนไพรในการรักษาโรค: การใช้ฟ้าทะลายโจรชนิดผง 10 กรัม ขมิ้นชัน 10 กรัมและอาหารที่ผสมฮอร์โมนแล้วจำนวน 2 กิโลกรัมมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปให้ลูกปลานิลกินทุกวัน (ช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน) เพื่อป้องกันโรคและลดการตายของลูกปลานิล นอกจากการกำจัดเห็บในปลานิลก็สามารถนำใบกะเพราจำนวน 0.5 กิโลกรัม ใบเสสดพังพอน 0.5 กิโลกรัม ใบฟ้าทะลายโจร 0.5 กิโลกรัม ใบเหงือกปลาหมอ 0.5 กิโลกรัม ลูกยอ 0.5 กิโลกรัม จุลินทรีย์ (EM) 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตรและน้ำ 30 ลิตร มาผสมกันในอัตราส่วน 1:1:30 ลิตร หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ และนำมาผสมอาหาร 20 กิโลกรัมต่อน้ำหมักจำนวน 1ลิตร จากนั้นนำไปให้ปลากินช่วยในการรักษาแผลตามลำตัว การอักเสบและแก้โรคเห็บต่าง ๆ
ช่องทางการเลี้ยงปลานิลเพื่อสร้างรายได้
ปลานิลเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่ายให้ผลผลิตดีและยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้และส่งออกไปยังต่างประเทศหรืออุตสาหกรรมอาหารแปรรูปได้ ซึ่งการสร้างรายได้จากปลานิลสามารถทำได้หลากหลายช่องทาง ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำ 3 ช่องทางสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลานิลว่ามีอะไรบ้าง
1) เลี้ยงปลานิลส่งออกตลาด
ปลานิลถือได้ว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมาก ๆ ยิ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ก็ยิ่งทำให้ปลานิลมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม อีกทั้งยังได้ผลผลิตดีและมีรสชาติอร่อยทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถขายได้ตลอดทั้งปี สำหรับราคาการซื้อขายตามท้องตลาดทั่วไปราคาปลานิลจะขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักตัว ซึ่งราคาส่งโดยเฉลี่ยในปี 2563 พบว่า ปลานิลขนาดเล็ก (5 ตัวขึ้นไปต่อกิโลกรัม) มีราคาอยู่ที่ 26.03 บาท ปลานิลขนาดกลาง (3-4 ตัวต่อกิโลกรัม) มีราคาอยู่ที่ 35.74 บาทและปลานิลขนาดใหญ่ (1-2 ตัวต่อกิโลกรัม) มีราคาอยู่ที่ 44.69 บาท และราคาขายปลีกพบว่า ปลานิลขนาดกลาง (3-4 ตัวต่อกิโลกรัม) มีราคาอยู่ที่ 66.29 บาทและปลานิลขนาดใหญ่ (1-2 ตัวต่อกิโลกรัม) มีราคาอยู่ที่ 73.11 บาท นอกจากนี้ถ้าปลานิลเกิดอาการช็อคน้ำในช่วงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ส่งผลให้ราคาในช่วงนี้ต้องปรับลง เนื่องจากปลาตายก่อนกำหนดการขายราคาจะอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม
2) การเลี้ยงปลานิลเพื่อแปรรูปส่งออก
เมื่อปลานิลเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทำให้หลายประเทศมีการส่งออกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยส่งออกปลานิลติดอันดับที่ 16 ของโลกคิดเป็นมูลค่า 277.9 ล้านบาท โดยทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักการค้าสินค้าได้ให้ข้อมูลว่าประเทศที่ไทยส่งออกปลานิลไปมากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา กัมพูชา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก ได้แก่ ปลานิลทั้งตัวแช่แข็งคิดเป็นมูลค่า 132.2 ล้านบาท ปลานิลแบบฟิลเลรมควัน คิดเป็นมูลค่า 87.9 ล้านบาทและปลานิลทั้งตัวแช่เย็น คิดเป็นมูลค่า 37.8 ล้านบาท ยังไม่รวมปลานิลที่ส่งออกในรูปแบบสินค้าที่แปรรูปแล้ว อาทิ ปลานิลแดดเดียว ข้าวเกรียบปลานิล ปลานิลผง คุกกี้ปลานิล ไส้อั่วปลานิล ปลานิลหวาน กรอบเค็มปลานิล ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการส่งออกปลานิลในปีที่ผ่านมาได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการทำอาชีพเลี้ยงปลานิลเพื่อขยายฐานทางธุรกิจ
3) เพาะพันธุ์ปลานิลขาย
สำหรับเกษตรกรที่กำลังมองหาวิธีสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลานิลอีกทาง คงหนีไม่พ้นการเพาะพันธุ์ลูกปลานิลโดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ซึ่งการเลี้ยงลูกพันธุ์ปลาจะใช้เวลาไม่นานและสามารถทำได้ตลอดทั้งปี ในส่วนของการส่งออกลูกปลานิลสามารถจับขายได้ตั้งแต่ปลานิลอายุได้ 6 เดือน ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดตัว คือ ปลานิลขนาด 2-3 เซนติเมตรจะมีราคาตัวละ 15 สตางค์ ปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร ราคาตัวละ 20 สตางค์และปลานิลแปลงเพศขนาด 2-3 เซนติเมตรราคาตัวละ 30 สตางค์ สำหรับเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขายในส่วนของต้นทุนอาจจะไม่มากเท่ากับการเลี้ยงปลานิลตัวใหญ่ส่งขาย แต่แน่นอนว่าการเลี้ยงเพาะพันธุ์ขายในลักษณะนี้สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตไปได้มาก เนื่องจากเป็นการเลี้ยงในช่วงเวลา 1 – 6 เดือนเท่านั้น อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นอาหารชนิดเดียวกัน การดูแลก็ง่ายดายไม่ยุ่งยากและได้ผลผลิตในเวลาอันรวดเร็วด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างหลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีเลี้ยงปลานิลไปแล้ว นอกจากจะมีขั้นตอนการเลี้ยงที่ไม่ยุ่งยากก็ยังสามารถเลี้ยงได้หลายรูปแบบ ลงทุนมากแค่ในระยะแรกแต่สามารถสร้างกำไรได้หลายช่องทาง โดยเฉพาะคนที่ทำการประมงน้ำจืดหรือเลี้ยงปลานิลมานาน ส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงเป็นกระชังใหญ่ ๆ หลายพันตัวแล้วแบ่งออกขายหลายส่วนทั้งส่งขายตามท้องตลาดและส่งออกเพ่ื่อแปรรูป ถือเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจให้กับใครที่อยากสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลานิลด้วย
แหล่งที่มา
การเพาะเลี้ยงปลานิล, กรมประมง
องค์ความรู้ปราชญ์ปลานิล, สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง
คู่มือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการเลี้ยงปลานิล, กรมประมง
ปลานิลและผลิตภัณฑ์ส่งออก, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักการค้าสินค้า