ปลาบึก ปลาใหญ่จากสายน้ำโขงที่สามารถสร้างรายได้มหาศาล

ปลาบึก (Mekong giant catfish)ได้ชื่อว่าเป็นปลาไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวมากถึง 3 เมตรและมีน้ำหนักมากถึง 250 กิโลกรัม ลักษณะโดยทั่วไปของของปลาบึกจะมีลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบนเล็กน้อยและมีหัวขนาดใหญ่ ไม่มีฟันและเกือบไม่มีหนวด ตาเล็กและอยู่ต่ำกว่ามุมปาก เมื่อมองจากด้านหน้าตรง ๆ จะไม่เห็น มีหนวด 2 คู่ที่ขากรรไกร ลำตัวด้านหลังมีสีเทาปนน้ำตาลแดง ด้านข้างมีสีเทาปนน้ำเงินและบริเวณท้องมีสีขาว ครีบปลาบึกมีลักษณะคล้ายครีบปลาสวาย แต่ครีบปลาบึกไม่มีความแหลมเป็นหยักเลื่อยเหมือนกับของปลาสวาย ปลาบึกเมื่ออายุยังน้อยจะมีฟัน ขากรรไกร เพดานปากและจะกินปลาอื่นเป็นอาหารแต่เมื่อโตขึ้นแล้วฟันก็จะหายไป ความยาวของหนวดเมื่ออายุน้อยจะสั้นเท่ากับประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงตา แต่เมื่อโตขึ้นหนวดจะหดสั้นลงจนไม่ถึงขนาดครึ่งหนึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงตา 

ปลาบึก

สำหรับแหล่งที่จะพบปลาบึกได้นั้นจะอยู่ที่แม่น้ำโขงเท่านั้นและอาจพบได้ตามแม่น้ำใหญ่ ๆ ที่แตกสาขามาจากแม่น้ำโขงด้วย เช่น บริเวณปากแม่น้ำมูล เป็นต้น โดยระยะทางของแม่น้ำโขงที่จะสามารถพบปลาบึกได้นั้นมีความยาวเป็นหลายพันกิโลเมตรตั้งแต่ประเทศจีนไปจนถึงประเทศเวียดนาม ในช่วงน้ำหลากปลาบึกจะเดินทางลงแม่น้ำโขงตอนล่าง เราจึงสามารถพบปลาบึกได้มากที่บริเวณประเทศเขมรหรือในแถบจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนในช่วงปลายฤดูแล้งต้นฤดูฝนปลาบึกจะเดินทางขึ้นตอนเหนือไปยังบริเวณหลวงพระบางหรือท้องที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ในช่วงนี้ปลาบึกจะมีรสชาติอร่อยมากเพราะเป็นช่วงที่ปลาสูญเสียน้ำมัน แต่ด้วยปลาบึกถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ อีกทั้งยังพบได้เฉพาะในแถบแม่น้ำโขงซึ่งติดกับฝั่งอีสานของประเทศไทย ทางกรมประมงจึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาบึกและต้องการจะเพาะพันธุ์ปลาบึกเพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ยาวนาน นอกจากนี้ปลาบึกยังมีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจของไทยตรงที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้มหาศาลเลย เพราะราคาของปลาบึกสูงถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาทหรือในช่วงที่ปลาบึกหายากก็จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 400 – 500 บาทเลยทีเดียว 

ในปัจจุบันปลาบึกกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคแต่ด้วยจำนวนปลาบึกตามธรรมชาติที่กำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ การที่กรมประมงส่งเสริมเรื่องการเพาะพันธุ์ปลาบึกจึงเป็นไปในแง่ของการค้าขายส่งออก โดยไม่ให้กระทบกระเทือนกับจำนวนปลาบึกตามธรรมชาติ จึงได้มีการเพาะเลี้ยงปลาบึกขึ้นมาด้วยรูปแบบวิธีการผสมพันธุ์ต่าง ๆ จนกลายเป็นปลาบึกลูกผสม ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสามารถเพาะเลี้ยงในบ่อได้ ซึ่งการพัฒนาสายพันธุ์ปลาบึกนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจนทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาบึกหรือการทำประมงน้ำจืดในประเทศไทยมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้านเลย อีกทั้งยังเชื่อมโยงถึงการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพในชุมชนได้เป็นอย่างดีด้วย เพราะทางกรมประมงจะจัดจำหน่ายปลาที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้คนทั่ววไปสามารถนำไปเลี้ยงและขายตามท้องตลาดได้ รวมไปถึงเป้าหมายในอนาคตคือการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว ดังนั้น Kaset today จึงอยากจะมาแบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กับคนที่สนใจเลี้ยงปลาบึกและมองเห็นโอกาสเติบโตในอนาคต โดยวันนี้เราจะรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับปลาบึกมาให้ทุกคนได้ศึกษาไปพร้อม ๆ กัน

ปลาบึก
https://phuketaquarium.org

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปลาบึก

ชื่อภาษาไทย: ปลาบึก

ชื่อภาษาอังกฤษ: Mekong giant catfish

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pangasianodon gigas

ตระกูลสัตว์: Pangasidae

รูปแบบการเพาะพันธุ์ปลาบึก

อย่างที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่าในช่วงปลายฤดูแล้งต้นฤดูฝนปลาบึกจะว่ายน้ำขึ้นไปทางเหนือของแม่น้ำโขงเพื่อไปผสมพันธุ์และวางไข่ทางตอนเหนือของประเทศไทยและบริเวณหลวงพระบางของประเทศลาว โดยได้มีการคาดการณ์ว่าฤดูวางไข่ของปลาบึกนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากประชากรปลาบึกไม่สามารถสืบพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทันตามความต้องการ อีกทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางกายภาพของแม่น้ำโขงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำนวนประชากรของปลาบึกตามธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง กรมประมงจึงได้คิดค้นหาวิธีเพาะพันธุ์ปลาบึกขึ้นมาเพื่อทดแทนจำนวนปลาบึกตามธรรมชาติที่ลดจำนวนลง โดยลักษณะการเพาะพันธุ์ปลาบึกในไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้

การเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธ์จากแม่นํ้าโขง 

การเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขงหรือที่เราเรียกกันว่า “การผสมเทียม” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2524 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดพะเยาได้พยายามนำพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ปลาบึกที่ได้จากแม่น้ำโขงมารีดไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมนอกตัวปลาจากนั้นก็เฝ้าศึกษาและติดตามผล โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ในแม่น้ำโขง คือ ลูกปลาบึกจำนวน 200,000 ตัว แต่เนื่องจากปลาบึกมีพฤติกรรมที่ชอบกินกันเองชอบกินกันเองจึงทำให้ภายหลังเหลือลูกปลาบึกเพียง 16 ตัวเท่านั้น อีกทั้งในช่วงที่น้ำไหลเชี่ยวมากการแยกลูกปลาบึกไปเลี้ยงในกระชังทำให้พวกมันถูกพัดไปติดอยู่ก้นกระชังด้านใดด้านหนึ่งจนทำให้ลูกปลาตายเป็นจำนวนมาก

เพาะพันธุ์ปลาบึก
https://www4.fisheries.go.th

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางกรมประมงก็สามารถอนุบาลลูกปลาบึกถึงขนาด 5 นิ้ว ได้ประมาณ 130,000 ตัวและได้นําไปปล่อยแหล่งน้ำที่สําคัญ ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศพร้อมทั้งกำหนดนโยบายที่จะแจกจ่ายพันธุ์ปลาบึกที่เพาะพันธุ์ได้ให้แก่ประชาชนนําไปทดลองเลี้ยงมากถึง 160,000 ตัว อีกทั้งทางกรมประมงนําไปใช้ในการทดลองศึกษาและเลี้ยงให้มีขนาดประมาณ 1 ฟุตเพื่อนําไปปล่อยลงแหล่งน้ำอีก โดยทางกรมประมงได้อธิบายถึงลักษณะของไข่ปลาบึกและการเพาะฟักไข่ปลาบึกไว้ดังต่อไปนี้

ลักษณะไข่ปลาบึกเป็นไข่ติด ซึ่งผสมพันธุ์ครั้งนี้ได้ทำ  2  วิธี

หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้ว:  ใช้เชือกฟางผูกเป็นพวกฉีกเป็นฝอยแล้วจุ่มในไข่เพื่อให้ไข่ติดแล้วนำไปพัก
หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมพันธุ์จากน้ำเชื้อแล้ว:  ใช้น้ำขุ่นตะกอนริมแม่น้ำโขงล้างไข่ที่ได้รับการผสมแล้วเพื่อไม่ให้ไข่ติดกัน

การเพาะฟักไข่ปลาบึกจะแบ่งออกเป็น  3  วิธี  คือ

การฟักไข่ในกระชังผ้า:  ไข่ปลาบึกที่ผสมแล้วจะถูกโรยบนเชือกฟางที่คัดเป็นฟอง  ซึ่งลอยในกระชังผ้าขนาด  1x2x0.75  เมตร  ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ  ไข่ฟักเป็นตัวในระหว่าง  28 – 36  ชั่วโมง
การเพาะฟักไข่ในกระเช้าผ้าตาถี่:  ไข่ปลาบึกจะถูกน้ำมาใส่ในกระเช้าผ้าตาถี่ซึ่งแขวนให้จมน้ำลึกประมาณ  40  ซม.  ในบ่อซีเมนต์  ขนาด  2×3  เมตร  ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ  70  ซม.  ตอนปลายของกระเช้ามีสายยาวต่อกับก๊อกน้ำเมื่อปล่อยน้ำออกจากก๊อกจะทำให้มีการไหลของน้ำภายในกระเช้าผ้า  ทำให้ไข่ลอยหมุนอยู่ภายใน ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน  23-33  ชั่วโมง หลังจากไข่ผสมน้ำเชื้อ
การเพาะฟักไข่ในบ่อซีเมนต์:  นำไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วเทใส่บ่อซีเมนต์ขนาด  5 x 10  เมตร  มีระดับน้ำลึกประมาณ  40  ซม.  เหนือบ่อมีหลังคาคลุมอยู่ประมาณครึ่งบ่อ  ภายในบ่อต่อท่อแป๊บน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  1.5  นิ้ว  ปลายอุดและเจาะรูแป๊บน้ำถึงก้นเป็นระยะห่างกันประมาณ  20  ซม.  ความยาวของท่อประมาณ  6  เมตร  วางท่อตรงกลางบ่อ  ปลายท่อต่อสายยางกับปั้มลม  แล้วปล่อยลมไหลผ่านท่อยางเข้าสู่แป๊บน้ำตลอดเวลา  ไข่ฟักเป็นตัวในระยะเวลา  26 – 33  ชั่วโมง

การเพาะพันธ์ปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในบ่อดิน

หลังจากที่การผสมพันธุ์พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาบึกจนประสบความสำเร็จในปี 2526 แต่ยังประสบปัญหาจำนวนปลารอดชีวิตน้อย ทำให้ต่อมานักวิชาการได้ทำการศึกษาวิจัยโดยการนำปลาบึกรุ่นลูก (F1) ที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อดินเพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศต่อไป ซึ่งปลาบึกรุ่นลูกนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์โดยสมบูรณ์ในปี 2543 

หลังจากได้ลองเพาะพันธุ์ปลาบึกรุ่นลูกก็สามารถรีดไข่จากท้องแม่ปลาบึกได้ประมาณ 100 กรัม สําหรับพ่อปลาบึกสามารถรีดน้ำเชื้อได้ในปริมาณมาก แต่ไข่ปลาที่ได้รับการผสมจากน้ำเชื้อพัฒนาไปได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้นและไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้ จากการศึกษาค้นคว้าต่าง ๆ ก็ทำให้ในปี 2544 ทางกรมประมงได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาบึกได้เป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 นี้ได้ลูกปลาขนาด 5 – 7 นิ้วจำนวนประมาณ 10,000 ตัว หลังจากนั้นทางกรมประมงก็ได้มีการกระจายลูกปลาไปทั่วทั้ง 4 ภูมิภาคของไทยเพื่อนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำและขายให้ประชาชนนำไปเลี้ยงเพื่อศึกษาหรือประกอบอาชีพต่อไป โดยทางกรมประมงได้เผยแพร่แนวทางในการเลี้ยงพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ปลาบึกในรุ่นลูก (F1) ไว้ดังต่อไปนี้

ปลาบึกบ่อดิน
https://thainews.prd.go.th

ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลาบึก

1) การดูแลพ่อแม่ปลาบึก

จากการศึกษาและทดลองมาตลอด 17 ปีทำให้กรมประมงได้ความรู้เรื่องการเลี้ยงพ่อแม่ปลาบึกที่ให้ผลผลิตที่ดีที่สุดใช้เชือกไนลอนร้อยเข้าทางปากออกทางเหงือกแล้วผูกกับลำไม้ไผ่ โดยแผนการเลี้ยงปลาบึกเป็นพ่อแม่พันธุ์เริ่มจากการเตรียมบ่อขนาค 2 ไร่ จำนวน 2 บ่อ โดยการล้างบ่อให้สะอาดและตากบ่อให้แห้ง จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อให้มีความลึกของน้ำไม่น้อยกว่า 120 เซนดิเมตร นำพ่อแม่พันธุ์ปลาที่คัดเลือกแล้วว่ามีความสมบูรณ์และแข็งแรง จำนวน 25 ตัวมาชั่งน้ำพนักและวัดขนาคความยาว จากนั้นปล่อยลงเลี้ยงบ่อละ 12 – 13 ตัว การเตรียมบ่อควรทำตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นเวลาก่อนถึงฤดูปลาวางไข่ 6 เดือน ให้ผู้เลี้ยงทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำร้อยละ 30 ในระยะเวลาสองสัปดาห์ต่อครั้ง และในช่วงระหว่างเดือนเมบายนถึงเดือนพฤษภาคมให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำร้อยละ 50 เพียงแค่สัปดาห์ละครั้ง

2) การให้อาหารพ่อแม่ปลาบึก

สำหรับการให้อาหารปลาบึกตามที่ได้มีการศึกษาทางกรมประมงได้ใช้อาหารผสมเองสูตร สปช. 12 เพื่อเสริมวิตามินให้กับปลาบึกในปริมาณร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว โดยอาหารปลากบึกตามตารางอาหารสูตร สปช. 12 โปรตีนจะไม่ต่ำกว่า 32% และจะประกอบไปด้วย ปลาป่น 56 กิโลกรัม กากถัวเหลือง 12 กิโลกรัม รําละเอียด 12 กิโลกรัม ปลายข้าว 15 กิโลกรัม น้ำมันตับปลา 4 กิโลกรัม วิตามินและแร่ธาตุ 1 กิโลกรัม

3) การผสมเทียมพ่อแม่ปลาบึกรุ่นลูก (F1)

สำหรับการผสมเทียมนั้นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ลูกปลาบึกออกมาสมบูรณ์การคัดเลือกแม่พันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมากโดยเราสามารถดูจากลักษณะภายนอกของปลาบึกได้ อาทิ มีลักษณะท้องอูม ช่องเพศเต่ง มีสีชมพูและใช้สายยางดูดไข่ออกมาตรวจสอบตําแหน่ง germinal vesicle โดยมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ( stereomicroscope ) ขนาดกำลังขยาย 64 เท่า
ซึ่งแม่ปลาที่จะนํามาผสมเทียมจะมีไข่ germinal vescicle เคลื่อนที่ไปติดผนังไข่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ส่วนการคัดพ่อพันธุ์ ปลาบึกที่มีความสมบูรณ์ ให้ลองใช้มือกดและรีดที่ท้องบริเวณเหนือช่องเพศจะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลผ่านช่องเพศออกมา
ซึ่งเมื่อเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้แล้วให้นำมาใส่ไว้ในผ้าใบที่กางขึงไว้ในบ่อซิเมนต์ขนาด 30 ตัน โดยให้เปิดน้ำไหลผ่านตลอดเวลาเพื่อรอการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น

ฮอร์โมนโดยทั่วไปจะมีทั้งหมด 2-3 เข็มและต้องฉีดเพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยแต่ละเข็มจะทิ้งระยะห่างราว ๆ 8 ชั่วโมง หลังฉีดคอบให้ทิ้งไว้อีก 6 ชั่วโมง จากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลาสามารถรีดไข่ได้ ให้ดูลักษณะไข่มีสีเหลืองไม่ข้นและไม่เหลวจนเกินไป น้ำหนักประมาณ 700 กรัม จากนั้นเมื่อรีดน้ำเชื้อของปลาเพศผู้ได้ให้นําไข่มาผสมกับน้ำเชื้อแล้วคนเบา ๆ ให้เข้ากัน เติมน้ำสะอาดลงไปแล้วคนให้ทั่ว หลังจากนั้นใส่น้ำโคลนแล้วตีแรง ๆ เพื่อป้องกนไม่ให้ไข่เกาะกันเป็นก้อน ล้างน้ำสะอาดแล้วนําไปฟักในกรวยฟักเพื่อให้ไข่ปลาบึกนั้นได้รับการผสมประมาณ 40%

4) การจัดการดูแลไข่และลูกปลาบึก

หลังการผสมเทียมแล้วการเพาะฟักไข่สามารถเพาะได้ทั้งในกระชังผ้าหรือฟักไข่ในบ่อซีเมนต์ หลังจากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่การอนุบาลแบ่งออก 2 ระยะคือ 

ระยะแรกอนุบาลตั้งแต่ลูกปลาฟักออกเป็นตัวถึงอายุประมาณ 5-6  วัน การปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด  6  ตารางเมตรจะใช้อัตราปล่อย  4,167  ตัวต่อลูกบาศเมตร  ให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารในอัตราไรแดง  60  กรัมต่อลูกปลา  5,000  ตัวต่อครั้งและแบ่งเวลาในการให้อาหารเป็น  2  ช่วงคือในระยะ  3  วัน แรกให้อาหาร  8  ครั้งและหลังจากนั้นให้อาหาร  6  ครั้ง

ระยะที่สองตั้งแต่ลูกปลาอายุ 5-6 วัน จนถึงอายุ 17–18 วัน การเลี้ยงในบ่อดินที่เหมาะสมต้องเป็นบ่อขนาด 800  ตารางเมตร โดยให้ปล่อยลูกปลา 18 ตัวต่อตารางเมตร ระดับน้ำลึก  60 – 70  เซนติเมตร การให้อาหารวันแรกจะเป็นไรแดงมีชีวิต ในปริมาณ 2  กิโลกรัมต่อบ่อ  วันต่อมาให้ปลาเป็ดบดละเอียดสาดทั้งบ่อละครึ่งกิโลกรัมทุก ๆ  6  ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ไรแดงเสริมอีกบ่อละ  1  กิโลกรัม หลังจาก 3 วันแล้วให้เปลี่ยนจากปลาเป็ดเป็นอาหารผสมมีระดับโปรตีน 27% วันละครั้ง ครั้งละครึ่งกิโลกรัมและเสริมด้วยไรแดงครั้งละ 1 กิโลกรัมทุก ๆ  3  วัน

รูปแบบและขั้นตอนการเลี้ยงปลาบึกเพื่อสร้างรายได้

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผสมเทียมพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ปลาบึกแล้ว สำหรับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลาบึกปัจจุบันก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายและมีรูปแบบการเลี้ยงให้เราได้เลือกตามต้องการด้วย โดยจากการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงปลาบึกทางกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก้ได้แนะนำไว้ทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกัน ดังนั้น เดี๋ยวเรามาดูกันว่าจะมีวิธีไหนที่ตรงกับความสนใจของเราบ้าง

เพาะพันธุ์ปลาบึก
https://thainews.prd.go.th

รูปแบบการเลี้ยงปลาบึกในบ่อดิน

  • การเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในบ่อ 2.5 ไร่ ควรเลี้ยงด้วยโปรตีนชนิดจมน้ำ 35% ผสมสาหร่ายสไปรูลิน่า 2% โดยก่อนเพาะพันธุ์ควรให้อาหารอยู่ที่ 0.5% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น และให้อาหารสัปดาห์ละ 3 วันเป็นเวลา 3 เดือนก่อนถึงฤดูวางไข่ ในระหว่างนั้นควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเป็น 2 ใน 3 ของบ่อทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการสร้างไข่และน้ำเชื้อ นอกจากนี้ พ่อแม่ปลาควรอดอาหาร 2 สัปดาห์ก่อนผสมพันธุ์ เพื่อลดปริมาณไขมันและช่วยให้ปลาแข็งแรงและรอดชีวิตได้มากขึ้น

  • การผสมพันธุ์ปลาบึก

ใช้ยาสลบฉีดพ่นข้างเหงือกให้ปลาสงบลงแล้วใช้ท่อสายยางขนาด 3.5 มิลลิเมตรสอดเข้าช่องเพศเพื่อดูดไข่และน้ำเชื้อออกมาดูว่าพร้อมผสมพันธุ์แล้วหรือไม่ เมื่อปลาพร้อมจึงย้ายปลาไปอยู่ในบ่อดินขนาดพื้นที่ 200 ตารางเมตรที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลาเพื่อรอการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม

  • การฉีดฮอร์โมน การผสมเทียม และการผสมพันธุ์

ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการวางไข่และน้ำเชื้อ โดยฉีด 2 ตำแหน่ง คือ กล้ามเนื้อโคนคีบหลังและช่องท้องโดยใช้ฮอร์โมนความเข้มข้น 3 สูตร คือ

  1. ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับต่อมใต้สมอง และ HCG
  2. ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับ HCG
  3. ฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดเดียว

หลังจากที่ปลาได้รับการฉีดกระตุ้นฮอร์โมนแล้วจะถูกปล่อยลงคอกเดิมคอกละตัว รอ 12 ชั่วโมงแล้วนำตัวเมียมารีดไข่ การผสมพันธุ์ปลาบึกจะใช้วิธีการผสมพันธุ์แห้ง โดยวิธีการทำ คือ หลังแม่ปลาฉีดฮอร์โมนหลังกระตุ้นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ให้นำแม่ปลามาวางบนหมอนเพื่อหนุนให้ไข่ไหล จากนั้นรีดไข่ทีละข้างลงกะละมังที่แห้งและสะอาด จากนั้นนำไข่ไปผสมกับน้ำเชื้อ แล้วใช้ขนไก่ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วมาคนไข่กับน้ำเชื้อให้ผสมกันประมาณครึ่งนาที เติมน้ำเหลือลงไปในกะละมัง 1 ใน 4 ส่วนของปริมาตรไข่ คนต่ออีก 3 นาที รินน้ำทิ้ง แล้วเติมน้ำสะอาดให้ท่วมไข่ หลังจากนั้นล้างไข่ให้สะอาด 3 ครั้ง แล้วนำไข่ไปฟักในรางฟักไข่

  • การฟักไข่ปลาบึก

ไข่ปลาที่ได้รับการผสมแล้วจะนำไปโรยบนรางไข่ที่เตรียมไว้และมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลาประมาณ 9 ลิตรต่อนาที เมื่อปลาฟักเป็นตัวจะร่วงลงบนพื้นราง ไข่ปลาบึกใช้เวลาฟักประมาณ 29-32 ชั่วโมงที่อุณหภูมิน้ำ 25-27 องศาเซลเซียส โดยอัตราการฟักจะอยู่ที่ประมาณ 11.7-19.4%

  • การอนุบาลลูกปลา

เนื่องจากลูกปลาบึกมีนิสัยชอบกัดกินกันเอง จึงควรย้ายลูกปลาลงในบ่อซีเมนต์ขนาด 70 ตารางเมตรที่ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร หลังฟักออกเป็นตัว 16-20 ชั่วโมง จากนั้นใช้วัสดุพรางแสงสีดำคลุมบ่อซีเมนต์เพื่อลดอัตราการกัดกินกันเองในลูกปลาให้น้อยลง

  • การให้อาหาร

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าลูกปลาบึกมักมีนิสัยชอบกัดกินกันเองทำให้มีอัตราการรอดตายต่ำ เพราะปลาในตระกูล Catfish ในวัยเด็กมักมีนิสัยดุร้าย ดังนั้น จึงควรให้อาหารที่มีชีวิต เช่น ไรแดงและอาทีเมีย ในช่วงสัปดาห์แรกควรให้อาหารอย่างเพียงพอ หลัง 7 วันจึงสามารถเสริมด้วยอาหารผสมสำหรับลูกปลาทุก 4 ชั่วโมงเพื่อให้ลูกปลาได้รับอาหารอย่างทั่วถึงและเพียงพอเพื่อให้ลูกปลามีขนาดเท่ากัน เพราะการที่ลูกปลามีขนาดต่างกันจะยิ่งทำให้ลูกปลากัดกินกันเองมากขึ้น

  • คุณภาพน้ำที่เหมาะสม

บ่อปลาบึกควรสร้างบริเวณที่มีแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ คลองชลประทาน หรือบ่อบาดาลที่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะเลี้ยง น้ำที่นำมาใช้ควรมีคุณภาพดี ควรมีค่า pH อยู่ที่ 6.5-8.5 ซึ่งมีค่าเป็นด่าง มีปริมาณออกซิเจนไม่ต่ำกว่า 3 ppm. อุณหภูมิน้ำควรอยู่ที่ 25-28 องศาเซลเซียส

รูปแบบการเลี้ยงปลาบึกในบ่อปูนซีเมนต์

การเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์นั้นง่ายกว่าเลี้ยงในบ่อดิน เพราะสามารถมองเห็นปลาและหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติได้ง่ายกว่า อีกทั้งการเลี้ยงปลาบึกในบ่อซีเมนต์จะช่วยให้ปลาได้รับสารอาหารและวิตามินอย่างเต็มที่เพราะไม่มีสัตว์อื่นมาแย่งอาหารกิน โดยขั้นตอนในการเลี้ยงมีดังนี้

ปลาบึกบ่อปูน
https://www.technologychaoban.com
  • การเตรียมบ่อปูน

สำหรับบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตรจะมีพ่อแม่พันธุ์ 6 ตัว ขนาดพ่อและแม่พันธุ์เท่ากันไม่แยกเพศ นอกจากนี้น้ำในบ่อซีเมนต์ควรเป็นระบบหมุนเวียนด้วยเพื่อให้มีอ๊อกซิเจนที่พอดีกับการดำรงชีพของปลาบึก

  • การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

อาหารที่ให้พ่อแม่พันธุ์ปลาบึกควรเป็นอาหารผสมเองและต้องประกอบไปด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปโปรตีนบดละเอียด 30%  ปริมาณ 875 กรัม วิตามินซี 5 กรัม วิตามินรวม 5 กรัม น้ำมันปลา 5 กรัม สไปรูลิน่า 10 กรัม แป้งสาลี 100 กรัม สารเหนียว 50 กรัม นำมาผสมน้ำแล้วปั้นเป็นก้อนเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ให้ปลากินประมาณวันละ 1 ครั้ง ด้วยปริมาณ 0.5-1 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัว

  • การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ควรคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ท้องดูอูม นิ่ม ช่องเพศนูน จากนั้นให้ทำการดูดไข่ออกมา หากไข่มีขนาดสม่ำเสมอกัน มีสีเหลืองนวล แสดงว่าพร้อมแล้ว ส่วนพ่อพันธุ์ควรคัดเลือกโดยการตรวจน้ำเชื้อ น้ำเชื้อที่ดีควรมีสีขาวขุ่น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควรมีน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัม

  • การฉีดฮอร์โมน

สำหรับการฉีดฮอร์โมนควรใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับดอมเพอริโดน ซึ่งเป็นยาเสริมฤทธิ์ โดยฉีดเข็มที่ 1 โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับดอมเพอริโดน ฉีดเข็มที่ 2 หลังเข็มที่ 1 ประมาณ 8 ชั่วโมง

  • การอนุบาล

หลังจากที่ปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว กรมประมงแนะนำว่าควรใช้เวลาอนุบาลลูกปลาบึกเป็นเวลา 5 วัน โดยวันแรกจะให้อาหารเป็นโรติเฟอร์ หลังจากนั้นให้ไรแดงเป็นอาหาร หลังจาก 5 วัน ให้ย้ายลูกปลาลงอนุบาลในบ่อดิน ช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารเป็นรำและปลาป่นด้วยอัตราส่วน 2:1 ละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ และให้อาหารเป็นสูตรเดิมในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 แต่ไม่ต้องละลายน้ำ หลังจากผ่านพ้นช่วงนั้นก็สามารถให้อาหารเป็นโปรตีน 30% เมื่ออนุบาลจนปลาได้ขนาด 2-3 นิ้ว ก็สามารถขายหรือนำไปปล่อยได้

ทำความรู้จักกับปลาบึกสยาม ความหวังของชาวประมงไทย

อย่างที่ได้บอกไปว่าจำนวนของปลาบึกธรรมชาติเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงด้วยปัญหาการลักลอบจับของชาวประมงเพราะเนื้อปลาบึกนั้นเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผลจากนโยบายการเพาะพันธุ์ปลาบึกลูกรุ่นที่ 1 และแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ต่อมาในภายหลังทางคณะผู้วิจัยของมหาวิทยาแม้โจ้ได้รวบรวมและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกมาโดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ทำให้ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ปลาลูกผสมสายพันธุ์ใหม่นั้นก็คือ “ปลาบึกสยาม” เพื่อมุ่งเน้นการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาบึกตามธรรมชาติและได้เนื้อปลาบึกที่สามารถส่งขายได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เราจึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับปลาบึกสายพันธุ์ใหม่นี้ให้มากขึ้น

ปลาบึกสยาม
http://www.fishtech.mju.ac.th

ปลาบึกสยาม เป็นปลาที่เกิดจากพ่อพันธุ์ปลาบึกแม่โจ้ (ปลาบึกรุ่นที่ 2) ที่มาผสมกับแม่พันธ์ปลาสวายจนได้สายพันธุ์ปลาที่สามารถเลี้ยงได้ในกระชังหรือบ่อดิน ซึ่งลักษณะของตัวและรูปร่างของบึกสยามจะยังคงมีความคล้ายคลึงกับปลาบึกตามธรรมชาติแต่จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า เมื่อโตเต็มวัยจะมีรูปร่างเพรียวยาว ด้านข้างมีลักษณะแบนเล็กน้อย บริเวณข้างลำตัวจะมีสีขาวแกมสีส้มตลอดครีบหางบนและล่าง ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติยังได้กล่าวอีกว่าปลาบึกสยามอีกว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว มีอัตรารอดชีวิต 100% เมื่อครบ 6 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณ 800 กรัมและเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี จะมีน้ำหนักมากถึง 2-3 กิโลกรัมเลยทีเดียว 

ข้อดีของปลาบึกสยามคือเป็นปลาที่ให้เนื้อแน่นแต่ไขมันน้อย อีกทั้งยังไม่มีกลิ่นสาบโคลน สีของเนื้อปลาบึกสยามจะมีสีขาวอมชมพู ซึ่งมีความแตกต่างจากเนื้อปลาบึกธรรมชาติเล็กน้อยตรงที่เนื้อปลาบึกตามธรรมชาติจะมีลักษณะคล้ายกับเนื้อหมูสามชั้น โดยมีชั้นของหนัง ไขมันและเนื้อแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้เนื้อของปลาบึกสยามยังมีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารสูงมาก เพราะเกิดจากการผสมของปลาสองสายพันธุ์จึงทำให้มีโปรตีนมากกว่าปลาสวาย อีกทั้งยังมีโอเมก้าในปริมาณสูง ทำให้ความต้องการในการบริโภคเนื้อปลาบึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำเนื้อปลาบึกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ไส้กรอกปลา ไส้อั่วปลา ส่วนไขมันบริเวณช่องท้องและส่วนหัวที่เหลือจากการนำมาแปรรูปยังถูกนำไปสกัดเป็นน้ำมันปลาคุณภาพดีเพราะมีคุณภาพสูงเทียบได้กับน้ำมันปลาจากปลาทะเลเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ปลาบึกสยามยังนิยมนำไปสกัดน้ำมันเพราะมีโอเมก้า 9 ในปริมาณมาก โดยสามารถเทียบได้กับน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันงา ซึ่งโอเมก้า 9 นี้เป็นสารที่มีคุณประโยชน์มาก โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนาได้กล่าวว่ามีสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดปริมาณคลอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและช่วยในเรื่องของการทำงานของสมองอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ปลาบึกสยามจะได้ขึ้นแท่นเป็นปลากู้เศรษฐกิจไทยเพราะมันสามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่างและมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่ได้ยุ่งยาก ซึ่งเราสามารถเข้าไปศึกษาการเพาะเลี้ยงปลาบึกและปลาหนังลูกผสมบึกสยามแม่โจ้อย่างละเอียดได้ในรายงายของทางทางศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ปลาบึกสยามเตรียมขึ้นแท่นเป็นปลาเศรษฐกิจทดแทนการนำเข้า

เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มปลาหนังลูกผสมเนื้อขาวได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก เด้วยความที่เป็นอาหารสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นแหล่งรวมโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุและกรดไขมันที่สำคัญอย่างโอเมก้า ดังนั้น ปลาบึกสยามจึงเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงปลาบึกสยามส่งออกนั้นถือว่าพัฒนาขึ้นมากและยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนตลาดการค้าปลาบึก จากการสำรวจในประเทศไทยมีการนำเข้าปลาหนังเนื้อขาวมากถึงประมาณ 10,000 ตันต่อปี ส่วนต่างประเทศในแถบยุโรป อเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ นำเข้าปลาเนื้อขาวและปลาสวายในรูปแบบปลาแล่เนื้อมากถึง 500,000 – 1,000,000 ตันต่อปีและคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทำให้ไทยต้องใช้โอกาสนี้เพื่อลดการนำเข้าและสนับสนุนการส่งออกปลาบึกสยามมากขึ้น

ปลาบึกสยามแปรรูป
http://www.fishtech.mju.ac.th

นอกจากนี้การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีและราคาที่เหมาะสมยังเป็นส่่งสำคัญ ทำให้ตอนนี้ไทยได้นำเนื้อปลาบึกสยามมาแปรรูปเป็น ไส้กรอกปลา ไส้อั่วปลา ปลาแล่เนื้อและน้ำมันปลาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้เลี้ยงได้อย่างดี รวมไปถึงการสนับสนุนให้เพิ่มช่องทางการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นด้วย ดังนั้น ใครที่เคยทำประมงน้ำจืดมาก่อนแล้วต้องบอกเลยว่าการเลี้ยงปลาบึกสยามตอบโจทย์มาก ๆ หรือใครที่เป็นมือใหม่อยากจะเลี้ยงก็ต้องบอกว่าปลาบึกสยามได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์จนสามารถเลี้ยงเหมือนปลาน้ำจืดทั่วไปได้ ทนทานต่อสภาพน้ำได้ดีกว่าปลาบึกทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้นทาง Kaset today ก็หวังว่าความรู้เรื่องปลาบึกที่เราได้รวบรวมมาแบ่งปันในวันนี้จะช่วยเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพให้ใครหลายคนได้

แหล่งที่มา
การเพาะเลี้ยงปลาบึกและปลาหนังลูกผสมบึกสยามแม่โจ้, ศูนย์วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้
การเลี้ยงปลาบึก, กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

                 
                    

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้