วัว เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่โบราณและมักถูกนำมาใช้เป็นแรงงานในการทำนา ทำปศุสัตว์ หรือใช้แรงวัวเพื่อลากเกวียน ด้วยความที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมจึงทำให้วัวได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทย อีกทั้งยังได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแง่เศรษฐกิจ แม้ว่าในอดีตวัวเนื้อจะเป็นวัวประเภทแรก ๆ ที่ประเทศไทยเริ่มนำเข้ามาเลี้ยงผ่านการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ แต่เนื่องจากคนไทยในสมัยนั้นยังไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่มากนัก ทำให้วัวเนื้อมีไว้แค่ใช้งานหรือมีการขายเนื้อของมันเพื่อเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารของชาวต่างชาติเท่านั้น โดยเฉพาะในอาหารของชาวอินเดียหรือมุสลิมที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปอิทธิพลการกินเนื้อวัวเหล่านั้นก็เริ่มขยับขยายและถ่ายทอดมาสู่คนไทย จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบการกินเนื้อวัวเป็นชีวิตจิตใจ จนเป็นเหตุให้วัวยังคงเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของไทยจนถึงตอนนี้และมีการเพาะพันธุ์วัวขายเพื่อสร้างรายได้มหาศาล
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินหรือได้ลิ้มลอง ‘เนื้อโคขุน‘ ซึ่งเป็นเนื้อของวัวที่ได้รับการดูแลปรนนิบัติอย่างดีเพื่อให้เนื้อของมันมีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยปัจจุบันนี้วัวเนื้อหรือโคขุนของไทยกำลังมาแรงมาก ๆ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและชาวต่างชาติที่มีความนิยมบริโภคเนื้อวัวโคขุนในรูปแบบปิ้งย่างหรือชาบู จนถึงขนาดที่ในปี 2561 สำนักข่าวเดลินิวส์ได้กล่าวถึงราคาขายปลีกของเนื้อวัวไทยว่าอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,500 บาทและจะมีราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 2,000 บาทหรือราคาอาจจะสูงขึ้นกว่านั้นในอนาคตอันใกล้
เรียกได้ว่าเนื้อวัวของไทยได้กลายเป็นเนื้อระดับพรีเมี่ยมไปแล้ว หลังพัฒนาสายพันธุ์แข่งกับประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ เป็นเนื้อที่ได้รับการการันตีจากต่างชาติว่าคุณภาพดี รสชาติอร่อยทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด โดยตลาดเนื้อวัวจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 10% และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมการส่งออกนมวัว ซึ่งภาพรวมแล้วเป็นที่น่าสนใจของเหล่าเกษตรกรคนเลี้ยงวัวทั้งหลายในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการพลาดโอกาสดี ๆ ที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเลี้ยงวัว ทาง Kaset today จึงได้รวบรวมสารพัดข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัวมาฝาก เพื่อให้ทุกคนได้ลองไปศึกษาพร้อม ๆ กันเลย
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับวัว
ชื่อภาษาไทย: วัวหรือโค
ชื่อภาษาอังกฤษ: Cow
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Bos taurus
ตระกูลสัตว์: Bovidae; Gray
ลักษณะทั่วไปของวัวแต่ละประเภท
วัวที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงมีอยู่ 2 ประเภท คือ วัวเนื้อและวัวนม โดยวัวเนื้อจะเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อไปขายตามท้องตลาดหรือเพื่อการส่งออก ส่วนใหญ่จะเป็นวัวที่มีความแข็งแรงและมีกล้ามเนื้อมาก ส่วนวัวนมจะเลี้ยงเพื่อส่งออกนมไปขายหรือส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งวัวทั้งสองประเภทนี้จะมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
ลักษณะของวัวนม
วัวนมเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามแหล่งกำเนิด คือ วัวนมในเขตหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับวัวนมเขตหนาวจะอยู่ที่ระหว่าง 12-26 องศาเซลเซียส วัวกลุ่มนี้มีลักษณะแนวสันหลังเรียบตรง ไม่มีโหนกและขนค่อนข้างยาว วัวนมในเขตหนาวให้ผลผลิตน้ำนมสูงกว่าวัวนมในเขตร้อน จึงเหมาะกับการนำมาเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า แต่วัวในกลุ่มนี้มีความต้านทานต่อโรคและแมลงต่ำ อีกทั้งยังไม่ทนความร้อนและมักป่วยได้ง่ายกว่า
วัวอีกกลุ่มหนึ่ง คือ วัวนมในเขตร้อน ซึ่งเป็นวัวที่มีโหนกที่หลัง มีเหนียงหย่อนยานใต้คอและมีขนค่อนข้างสั้น วัวในกลุ่มนี้สามารถอยู่ได้สบาย ๆ ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส วัวนมเขตร้อนจะสร้างลักษณะทางกายภาพบางอย่างขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกรานของแมลง เช่น ผิวหนังหย่อนยานป้องกันแมลงกัดต่อย ผิวหนังสามารถสะบัดได้เฉพาะจุดในบริเวณที่แมลงมาเกาะ เป็นต้น
วัวนมเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุเข้าเดือนที่ 13-16 แต่ก่อนการผสมพันธุ์ควรคำนึงถึงน้ำหนักของวัวด้วย ซึ่งควรอยู่ที่ 100-150 กิโลกรัม ถือเป็นเกณฑ์น้ำหนักที่ดีมาก
ลักษณะของวัวเนื้อ
โคเนื้อในประเทศไทยปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคและการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ โคเนื้อที่ดีมักมีรูปทรงหนา ตัวกว้าง มีกล้ามเนื้อเยอะและมีไขมันในกล้ามเนื้อในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังสามารถเจริญเติบโตได้เร็ว ทนทานต่อโรค แมลงและทนต่อสภาพอากาศด้วย ช่วงหลังจึงนิยมเลี้ยงวัวเพื่อขุนให้เนื้อของมันมีความสมบูรณ์ที่สุด
สายพันธุ์วัวนมที่นิยมเลี้ยงในไทย
1) วัวพันธ์ุไทยฟรีเชี่ยน
วัวสายพันธุ์นี้เป็นวัวลูกผสมที่มีสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนผสมมากกว่า 75% ในสายเลือด มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลและมีแต้มสีน้ำตาล แต่บางตัวอาจจะมีสีขาวหรือสีดำ วัวสายพันธุ์นี้มีหน้าผากกว้าง สันจมูกตรง ตาโตใสและมีกรามที่แข็งแรง ปัจจุบันเกษตรกรมักเลี้ยงวัวสายพันธุ์นี้มากในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี และจังหวัดอื่น ๆ
ช่วงวัยในการเติบโตของวัวชนิดนี้จะหย่านมเมื่อมีอายุได้ 3 เดือน หลังจากหย่านมแล้วน้ำหนักตัวเฉลี่ยจะอยู่ที่ 95 กิโลกรัม เมื่ออายุครบ 1 ปีจะหนักมากถึง 230 กิโลกรัม นิยมเลี้ยงเพื่อให้ผลผลิตน้ำนมในเกษตรกรรายใหญ่ เพราะสามารถให้น้ำนมได้ในปริมาณมาก เฉลี่ยแล้วประมาณ 4,500 กิโลกรัมต่อระยะการให้น้ำนม
2) วัวพันธุ์ทีเอ็มแซด (TMZ)
วัวสายพันธุ์นี้มีสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนผสม 75% ส่วนอีก 25% ในสายเลือดจะเป็นพันธุ์ซีบูหรือพันธุ์พื้นเมือง ลักษณะของวัวสายพันธุ์นี้คือมีสีขาวตัดกับสีดำ โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ไทยฟรีเชี่ยนมาก แตกต่างกันที่สีซึ่งจะมีเพียงแค่สีขาวตัดดำเท่านั้น วัวสายพันธุ์นี้นิยมเลี้ยงกันในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดสุราษฎร์ธานี
วัวสายพันธุ์นี้หลังหย่านมจะมีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม แต่เมื่ออายุครบ 1 ปีจะมีน้ำหนักเท่ากับวัวสายพันธุ์ไทยฟรีเชี่ยน คืออยู่ที่ประมาณ 230 กิโลกรัม นิยมเลี้ยงในหมู่เกษตรกรรายย่อย เพราะให้น้ำนมได้ปานกลางเฉลี่ยประมาณ 3,500 กิโลกรัมต่อระยะการให้น้ำนม
3) วัวพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน
วัวสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนถือเป็นสายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์คัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์หลักในการปรับปรุงสายพันธุ์วัวในประเทศ วัวสายพันธุ์นี้มีลักษณะเป็นสีขาวดำเป็นยีนเด่นแต่มีสีแดงเป็นยีนด้อย เมื่อนำไปผสมกับสายพันธุ์อื่นจึงอาจได้วัวสีแดงหรือสีน้ำตาลปรากฏออกมาให้เห็น วัวสายพันธุ์นี้ดั้งเดิมมาจากทวีปยุโรปแต่ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากในไทย เมื่อผสมกับสายพันธุ์อื่นแล้วจะได้วัวที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนอบอ้าวอย่างในประเทศไทยได้ดี
วัวสายพันธุ์นี้มักนำมาผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง จากผลการศึกษาจากศูนย์วิจัยและบารุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ (แม่หยวก) ระหว่างปี 2533-2537 พบว่าโคนมสายพันธุ์นี้ให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ยคร้ังท่ี 1 อยู่ที่ 5,668 กิโลกรัม คร้ังที่ 2 อยู่ที่ 6,875 กิโลกรัมและครั้งท่ี่ 3 อยู่ที่ 7,514 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจึงอยู่ที่ประมาณ 6,600 กิโลกรัมต่อระยะการให้น้ำนม
4) วัวพันธุ์ลูกผสมเอเอฟเอส (AFS)
วัวสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นลูกผสมระหว่างสายพันธ์ุโฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนและพันธุ์ซาฮิวาล วัวสายพันธุ์นี้มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำน้ำตาล มีความทนทานต่อแมลงและทนต่อความร้อนได้ดี ปกติแล้วในเพศผู้จะมีสีเข้มกว่าเพศเมียและมักจะไม่มีสีขาวปนอยู่ ถึงแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศออสเตรเลียแต่ก็ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี จึงเหมาะสำหรับการเลี้ยงในประเทศไทยและมักอาศัยอยู่ตามบริเวณทุ่งหญ้า
สำหรับวัวสายพันธุ์นี้ความพิเศษคือมีอายุค่อนข้างยืนยาว แข็งแรง สามารถให้ผลผลิตเป็นน้ำนมได้เฉลี่ยประมาณ 3,000 กิโลกรัมต่อระยะการให้น้ำนม
สายพันธุ์วัวเนื้อที่นิยมในไทย
1) วัวพันธุ์พื้นเมือง
วัวสายพันธุ์นี้มีรูปร่างกะทัดรัด ลำตัวเล็กแต่ขาเรียวยาว มีเหนียงที่คอแต่ไม่ได้หย่อนยานมาก อีกทั้งยังมีหนอกที่บริเวณหลัง อาจพบได้หลากหลายสี เช่น สีแดงอ่อน เหลืองอ่อน กำ ขาวนวล ทนทานต่อโรค แมลงและสภาพอากาศบ้านเราได้ดี อีกทั้งยังเลี้ยงง่ายไม่เลือกอาหาร มีเนื้อแน่น แข็งแรง แต่มีข้อเสียคือไม่เหมาะกับการนำมาเลี้ยงขุน เพราะมีรูปร่างขนาดเล็กเกินไป
วัวสายพันธุ์นี้มีน้ำหนักตัวแรกเกิดอยู่ที่ประมาณ 15 กิโลกรัม และหย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ 200 วันโดยเฉลี่ย นิยมนำมาเลี้ยงเป็นโคเนื้อเพราะทางกรมปศุสัตว์ต้องการให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อทดแทนการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ วัวสายพันธุ์นี้เหมาะกับการนำเนื้อมาประกอบอาหารแบบไทย
2) วัวพันธุ์บราห์มัน
วัวสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในอินเดียแต่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์ในอเมริกา มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ลำตัวกว้าง ยาว ได้สัดส่วน เป็นวัวที่มีหลังตรง หนอกที่หลังใหญ่ เหนียงและผิวหนังใต้ท้องหย่อนยาน บริเวณกีบเท้าและหนังมักเป็นสีดำ วัวสายพันธุ์นี้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อนในประเทศไทยได้ดี อีกทั้งยังทนต่อแมลงและทนต่อโรคได้ดีเช่นกัน
วัวพันธุ์บราห์มันเป็นวัวที่โตเร็วแต่มีข้อเสียอยู่ที่ผสมพันธุ์ติดลูกได้ยาก เหมาะสำหรับนำมาผสมกับวัวสายพันธุ์อื่นเพื่อผลิตกับวัวเนื้อและวัวนมคุณภาพดี โดยส่วนใหญ่มักนำมาผสมกับสายพันธุ์ชาร์โรเลส์เพื่อผลิตเป็นวัวโคขุนหรือนำมาผสมกับสายพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนเพื่อผลิตโคนม เป็นต้น
3) วัวพันธุ์ชาร์โรเล่ส์
มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส มีรูปร่างลักษณะลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกล้ามเนื้อตลอดลำตัว แต่ขาสั้นและมักมีสีขาวครีมทั่วลำตัว วัวสายพันธุ์นี้สามารถทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นและฤดูร้อนที่อบอุ่นได้ ชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและกินหญ้าบนทุ่งหญ้าที่สายพันธุ์อื่น ๆ ไม่สามารถกินได้ วัวสายพันธุ์นี้มีกีบเท้าที่ขรุขระ จึงสามารถเดินข้ามภูมิประเทศที่ขรุขระได้
วัวพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เป็นวัวที่เจริญเติบโตเร็ว เนื้อนุ่ม มีไขมันแทรกจึงเป็นที่ต้องการของตลาดเนื้อวัวคุณภาพดี อีกทั้งยังเหมาะที่จะนำมาผสมพันธุ์กับแม่วัวบราห์มันเพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุน
4) วัวพันธุ์ซิมเมนทัล
วัวสายพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และนิยมเลี้ยงกันมากในยุโรป แต่หากเลี้ยงวัวสายพันธุ์แท้มักจะไม่ค่อยทนต่อสภาพอากาศบ้านเราเท่าใดนัก วัวมีลักษณะลำตัวสีน้ำตาลหรือสีแดงเข้มไปจนสีเหลืองทองหรือสีขาวแทรกอยู่ตามบริเวณลำตัว จัดว่าเป็นวัวขนาดใหญ่ที่มีลำตัวเป็นสี่เหลี่ยมและมีช่วงขาสั้นแต่แข็งแรง
วัวพันธุ์นี้มักเติบโตได้เร็ว เนื้อนุ่มและมีไขมันแทรก จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเนื้อวัวคุณภาพดี มักถูกนำไปปรับสายพันธุ์ให้กลายมาเป็นวัวกึ่งเนื้อกึ่งนม นิยมนำมาผสมกับแม่วัวพันธุ์บราห์มันเพราะลูกที่ได้จะถูกนำไปทำโคขุน ส่วนเพศเมียก็สามารถให้น้ำนมได้
การเตรียมตัวและวิธีการเลี้ยงวัว
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับวัวแต่ละสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยกันไปแล้ว สิ่งต่อมาที่คนเลี้ยงวัวมือใหม่หลาย ๆ คนอยากรู้ก็คือ วิธีการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ในการเลี้ยงวัวให้ได้มาตรฐาน มีผลผลิตที่ดีไม่ว่าจะเป็นวัวเนื้อหรือวัวนม ซึ่งวัวแต่ละชนิดก็มีวิธีเลี้ยงที่แตกต่างกันไปบ้างในบางขั้นตอน ดังนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่าการเลี้ยงวัวแต่ละชนิดต้องทำอะไรบ้าง
การเลี้ยงวัวนม
1) วิธีการเตรียมตัวก่อนเลี้ยง
จากการศึกษาข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องการตั้งมาตรฐานฟาร์มนมวัวและการผลิตน้ำนมดิบในประเทศไทย ได้มีการกล่าวถึงการเตรียมตัวก่อนเลี้ยงวัวนมไว้ดังนี้
การเตรียมพื้นที่
- โรงเรือนเลี้ยงวัวนมและโรงรีดนมควรมีพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อวัว 1 ตัว
- ควรเตรียมคู่มือจัดการฟาร์มและมีระบบบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยยึดหลัก 5 อ. คือ อาหาร อากาศ อาคาร อุจจาระ
- มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างดี ทั้งมูลสัตว์ น้ำเสียและซากสัตว์
การเตรียมทุน
- ทุนสำหรับซื้อพันธุ์วัว
- ทุนสำหรับสร้างโรงเรือน
- ทุนในการเตรียมแปลงหญ้า
- ทุนในการหาแหล่งน้ำ
- ทุนในการซื้ออุปกรณ์ปั๊มนมหรือดูแลผลผลิตของวัวนม
- ทุนสำหรับค่าอาหาร ยาและค่าแรงงานอื่น ๆ เป็นต้น
2) วิธีดูแลวัวนมแต่ละช่วงวัย
การเลี้ยงดูวัวนมสามารถเริ่มต้นได้หลากหลายวิธี ไม่มีผิดไม่มีถูกมีแต่ความพร้อมตัวเกษตรกรเอง ซึ่งการเลี้ยงวัวในช่วงวัยที่แตกต่างกันอาจมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่เหมือนกัน
- การเลี้ยงลูกวัวระยะแรก: ควรให้ลูกวัวกินนมแม่ต่อหลังจากนมน้ำเหลืองหมด เมื่อลูกวัวอายุได้ประมาณ 2-3 เดือนจึงให้กินนมเทียมได้จนถึงอายุ 4-6 เดือนแล้วจึงค่อยให้หย่านม ควรให้น้ำนมลูกวัวในปริมาณที่คงที่ คือ ประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวแรกเกิด โดยแบ่งเป็นครึ่งเช้าและครึ่งบ่ายจนถึงช่วงอายุหย่านม
- ลูกวัวอายุได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์: ควรจัดหาอาหารสำหรับลูกวัวและหญ้าแห้งเพื่อให้ลูกวัวหัดกินด้วย อีกทั้งยังเป็นการประหยัดนมแม่วัวและลดต้นทุนในการเลี้ยงวัว
- การเลี้ยงวัวรุ่น: เมื่ออายุได้ประมาณ 18-22 เดือน ช่วงอายุนี้คือช่วงอายุที่สามารถผสมพันธุ์ได้ วัวในช่วงวัยนี้จะโตเร็ว ควรเพิ่มอาหารผสมวันละ 1-2 กิโลกรัม และควรให้วัวกินหญ้าอย่างเต็มที่ หากเลี้ยงแบบปล่อยได้จะยิ่งดี เพราะวัวจะได้ออกกำลังกายและเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานในการเลี้ยง
- วัวเป็นสัด: สามารถใช้วิธีผสมเทียมหรือผสมแบบธรรมชาติได้แล้วแต่ความสะดวก การเป็นสัดของวัวแต่ละรอบจะห่างกันประมาณ 21 วัน แต่ละครั้งจะกินเวลา 18-24 ชั่วโมง ไข่จะตกหลังหมดการเป็นสัดประมาณ 14 ชั่วโมง ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะกับการผสมพันธุ์ คือ ช่วงเวลาก่อนไข่ตก เช่น หากวัวเป็นสัดในช่วงเช้า ควรผสมพันธุ์อย่างช้าสุดในตอนบ่ายของวันเดียวกัน เป็นต้น
- การดูแลวัวรีดนม: แม่วัวจะมีน้ำนมให้รีดหลังจากคลอดลูกวัวแล้ว แต่จะให้ทนทานแค่ไหนหรือมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับสุขภาพและสายพันธุ์ของวัว รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อีก โดยทั่วไปจะรีดนมได้ช่วงประมาณ 5-10 เดือน นมน้ำเหลืองควรให้ลูกวัวกินให้หมดไม่ควรส่งเข้าโรงงาน ควรให้อาหารแม่วัวอย่างเพียงพอเพื่อให้แม่วัวสร้างน้ำนมได้มาก แม่วัวจะผสมพันธุ์หลังคลอดได้อีกครั้งใช้เวลาประมาณ 45 – 72 วัน
การเลี้ยงวัวเนื้อ
1) วิธีการเตรียมตัวก่อนเลี้ยง
การเตรียมตัวในการเลี้ยงวัวเนื้อจะเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมสถานที่ การเลือกสายพันธุ์ รวมไปถึงการศึกษาตลาดเพื่อให้การเลี้ยงวัวเนื้อสามารถทำกำไรได้ในเชิงเศรษฐกิจ
- การเตรียมสถานที่ในการเลี้ยงวัวเนื้อ: ควรมีพื้นที่ที่กว้างขวางเพียงพอกับขนาดของวัวและปริมาณวัวที่จะเลี้ยง การเลี้ยงวัวเนื้อมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) การเลี้ยงแบบปล่อย วัวจะเดินไปหาอาหารหาหญ้ากินเองและมีคนคอยเฝ้าหรือ 2) การเลี้ยงแบบฟาร์มที่ต้องมีการทำโรงเรือน ทำคอก ทำรางอาหาร รางน้ำที่ถูกสุขลักษณะ
- การเลือกพันธุ์วัวเนื้อ: ควรดูจากความเหมาะสมของลักษณะการเลี้ยง ขนาดของคอกวัวและสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น เพราะวัวต่างสายพันธุ์อาจทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน หากเลือกสายพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เลี้ยงยากและได้ผลผลิตที่ไม่ดี
- ศึกษาตลาดและหาวิธีลดต้นทุน: เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมือใหม่ไม่เพียงแต่ต้องรู้วิธีการเลี้ยงวัวเท่านั้น แต่ควรเรียนรู้กลไกของตลาดและรู้จังหวะของการซื้อขายเพื่อให้ได้กำไรดี อีกทั้งยังควรจะต้องเรียนรู้วิธีการลดต้นทุนในการเลี้ยงวัวแต่ยังคงคุณภาพเอาไว้ด้วย
2) วิธีการเลี้ยงดู
- การเลี้ยงแม่วัวช่วงตั้งท้องจนถึงคลอด: แม่วัวในระยะนี้ต้องการอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอเพื่อไปผลิตน้ำนมและฟื้นฟูอวัยวะสืบพันธุ์ การให้อาหารแม่วัวในระยะนี้ คือ การให้อาหารข้นเสริม แต่การให้แม่วัวกินหญ้าอ่อนในแปลงประมาณ 3-4 สัปดาห์ก่อนการผสมพันธ์ุจะทำให้แม่วัวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและผสมพันธุ์ติดดีขึ้น เมื่อแม่วัวท้องได้ประมาณ 4-6 เดือนจึงจะให้อาหารแม่วัวเป็นหญ้าสดในช่วงฤดูฝนเป็นหลักและให้อาหารข้นเสริม ส่วนในฤดูแล้งจะให้หญ้าหมักเป็นอาหารหลักแล้วเสริมด้วยอาหารข้น
การเลี้ยงแม่วัวใกล้คลอด: ในช่วงประมาณ 90 วันก่อนคลอดแม่วัวจะเริ่มกินอาหารน้อยลง จึงควรให้อาหารคุณภาพดีเพื่อทดแทนปริมาณอาหารที่น้อยลง ก่อนคลอด 1 สัปดาห์ควรแยกแม่วัวออกไปอยู่ในคอกวัวที่สะอาด มีฟางหรือหญ้าแห้งรองรับและไม่จำเป็นต้องช่วยในการคลอด
- การเลี้ยงลูกวัวหลังคลอดจนถึงหย่านม: หลังคลอดควรให้ลูกวัวกินนมแม่ให้เร็วที่สุด เพราะนมน้ำเหลืองจากแม่วัวมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดผ่านนมแม่ อีกทั้งยังไม่ควรปล่อยให้แม่วัวและลูกวัวออกไปกับฝูง แต่ควรจัดหาอาหารและน้ำดื่มแยกไว้ให้ต่างหากจนกว่าลูกวัวจะแข็งแรง เมื่อลูกวัวอายุได้ 3 สัปดาห์ควรเริ่มถ่ายพยาธิและฉีดวัคซีนป้องกันแท้งให้ลูกวัวตัวเมียเมื่ออายุได้ประมาณ 3-8 เดือน เมื่อลูกวัวอายุได้ 4 เดือนควรให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย
- การเลี้ยงลูกวัวอายุได้ประมาณ 6-7 เดือน: ควรเริ่มให้ลูกวัวหย่านมแต่ควรคำนึงถึงน้ำหนักลูกวัว โดยควรมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 180 กิโลกรัม แต่หากลูกวัวยังไม่แข็งแรงก็อาจจะหย่านมช้าหน่อย ในทางกลับกันหากแม่วัวไม่แข็งแรง อาจต้องบังคับให้ลูกวัวหย่านมเร็วขึ้น
- การเลี้ยงลูกวัวหลังหย่านม: หลังจากลูกวัวหย่านมแล้วให้เลือกตัวที่สามารถเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ไว้ขายหรือไว้ทำพันธุ์ โดยควรมีน้ำหนักตามมาตรฐานของวัวสายพันธุ์นั้น ๆ หลังหย่านม ส่วนลูกวัวที่เหลือจากการคัดไว้ทำพันธุ์ให้แยกเอาไปขุนทำวัวเนื้อขาย แต่เราควรคัดเลือกตัวที่มีลำตัวแคระแกร็นหรือมีน้ำหนักไม่ดีออกไปด้วย
การเลี้ยงวัวขุน
วัวขุนหรือโคขุน คือ วัวที่ได้รับสารอาหารพลังงานสูงเกินความต้องการ เพื่อให้มีไขมันในกล้ามเนื้อและนำมาขายในเชิงพาณิชย์เป็นการเลี้ยงวัวให้วัวโตอย่างรวดเร็ว วัวขุนจะถูกส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้ได้เนื้อวัวคุณภาพดีและขายได้ราคาดี
1) การเลือกพันธุ์วัวที่จะขุน
ในประเทศไทยที่มีสภาพอากศร้อนชื้น การเลือกใช้พันธุ์วัวต่างประเทศเลือด 100% อาจไม่เหมาะกับบ้านเรานัก เพราะไม่ทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย แต่เกษตรกรที่เลี้ยงวัวขุนนิยมใช้วัวเนื้อลุกผสม ดังนี้
- พันธุ์ลูกผสมชาร์โลเลส์ 50 เปอร์เซ็นต์: ลูกวัวตัวผู้ที่เกิดมาสามารถนำมาขุนได้
- พันธุ์ลูกผสมลิมูซ่า 50 เปอร์เซ็นต์: มีลักษณะคล้ายกับพันธุ์ชาร์โลเลส์ สามารถนำลูกมาขุนได้
- พันธุ์ลูกผสมซิมเมทอล 50 เปอร์เซ็นต์: ลูกวัวที่นำมาขุนจะได้เนื้อคุณภาพดี
- พันธุ์ลูกผสมอเมริกันบราห์มัน: สามารถนำมาขุนได้ แต่คุณภาพเนื้ออาจไม่ดีเท่าวัวทั้ง 3 สายพันธุ์ข้างต้น เหมาะกับการส่งขายตามเขียงทั่วไปหรือตลาดนัดโคกระบือมากกว่า
2) การเตรียมตัวก่อนเริ่มขุนวัว
เมื่อเลือกสายพันธุ์วัวที่จะนำมาขุนได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเริ่มขุนวัว แต่ก่อนที่จะเริ่มขุนวัวควรมีการเตรีมตัวให้พร้อมก่อน ทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ สถานที่ อาหารและยาต่าง ๆ เพื่อให้วัวที่ขุนมีสุขภาพดี พร้อมส่งขายเพื่อสร้างรายได้ทำกำไรได้สูงสุด โดยวิธีการเตรียมตัวขุนวัวสามารถทำได้ ดังนี้
- ควรเตรียมน้ำสะอาดไว้ให้วัวกินตลอดเวลาไม่ให้ขาด
- เตรียมอาหารชนิดเดียวกันกับที่วัวเคยกินก่อนเป็นเวลา 1-2 วัน ไม่ควรเปลี่ยนอาหารทันที
- เมื่อวัวเริ่มคุ้นเคยกับคอกใหม่ ค่อยเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารข้นประมาณวันที่ 2-3 โดยให้ปริมาณน้อย ๆ ก่อน หมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการปกติดีค่อยเพิ่มปริมาณอาหารข้นในวันที่ 5-6 และเพิ่มอาหารขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปริมาณที่ต้องการในวันที่ 14-15
- ให้ยาถ่ายพยาธิตัวกลมและพยาธิใบไม้กับวัว พร้อมทั้งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาด อีกทั้งยังควรกำจัดเห็บโดยการใช้ยาฆ่าเห็บด้วย
- หากจำเป็นต้องตอนวัว ควรเริ่มตอนในระยะเริ่มขุนนี้
- เริ่มให้อาหารในคอกขุน โดยให้อาหารแห้งประมาณ 2.5% ของน้ำหนักตัว
- ให้หญ้าสดเป็นอาหารวัวขุนอย่างเต็มที่แล้วเสริมด้วยอาหารข้น โดยเน้นปริมาณอาหารตามน้ำหนักตัวของวัว
- ควรแขวนแร่ธาตุแบบก้อนให้วัวเลียกินตลอดเวลา
3) วิธีการเลี้ยงดูวัวขุน
การเลี้ยงวัวขุน คือ การเลี้ยงวัวที่ยังมีอายุน้อยให้โตไวด้วยการให้อาหารที่มีคุณภาพสูงและส่งออกสู่ตลาด การเลี้ยงวัวขุนสามารถทำได้ ดังนี้
- ควรให้วัวอยู่ในคอกตลอดเวลาและไม่นิยมให้วัวออกไปแทะเล็มหญ้าเอง เพราะจะยิ่งทำให้วัวเสียพลังงาน
- ให้อาหารข้นแก่วัว 1-3 ครั้งต่อวันอย่างสม่ำเสมอ
- ให้อาหารหยาบแก่วัวอย่างเต็มที่ เช่น หญ้า ฟางหรือต้นข้าวโพด เป็นต้น
- เตรียมน้ำสะอาดให้วัวอยู่ตลอดเวลา
- เปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอกวัวเมื่อแฉะ
- หากอากาศร้อนเกินไป ควรฉีดน้ำหรืออาบน้ำให้วัวบ้าง
- หมั่นสังเกตพฤติกรรมของวัว หากวัวมีอาการผิดปกติหรืออาจจะมีอาการป่วยให้รีบรักษาให้หายโดยเร็ว
4) อาหารสำหรับขุนวัว
อาหารสำหรับให้วัวขุนนั้นมีอยู่หลากหลายประเภท โดยทางศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์พะเยาได้จำแนกอาหารสำหรับขุนวัวไว้ ดังนี้
- อาหารหยาบ: อาหารที่มีกากใยสูง เช่น หญ้าสดหรือฟาง ซึ่งสามารถหาองได้ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องซื้อ หรือจะเป็นหญ้าที่ปลูกเองก็สามารถใช้ได้
- อาหารข้น: อาหารที่ไม่มีกากใย เช่น รำข้าว ปลายข้าว ใบกระถินป่น มันเส้น โดยมักจะมีขายเป็นอาหารสำเร็จรูป แนะนำให้ใช้อาหารแบบอัดเม็ดเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายแบบอาหารป่นที่อาจจะฟุ้งเข้าจมูกเข้าตาวัวได้
- กากน้ำตาล: เป็นอาหารที่ให้วัวเพื่อให้เกิดไขมันแทรกในเนื้อวัวและช่วยให้วัวย่อยอาหารหยาบได้ดีขึ้น
- แร่ธาตุแบบก้อน: มีไว้เพื่อให้วัวเลียกินเป็นแร่ธาตุเสริม เพราะวัวไม่ได้ออกเดินไปหาหญ้ากินเอง อาจทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุได้ แร่ธาตุแบบก้อนช่วยให้ขาและกระดูกแข็งแรง ช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพดี ไม่ป่วยง่าย
การเลี้ยงวัวเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
จุดประสงค์หลัก ๆ ในการเลี้ยงวัวของเกษตรกร ก็เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพราะความต้องการในการบริโภคเนื้อวัวหรือนมวัวนั้นมีมากขึ้น เมื่อมีตลาดมารองรับจึงทำให้การเลี้ยงวัวเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรในปัจจุบัน
1) เลี้ยงวัวเพื่อเพาะพันธุ์
ในประเทศไทยวัวพันธุ์แท้จากต่างประเทศนั้นหายาก หากจะซื้อจากต่างประเทศโดยตรงก็มีราคาแพง การเลี้ยงวัวเพื่อเพาะพันธุ์ขายจึงทำกันโดยสร้างวัวพันธุ์แท้ขึ้นมาโดยใช้แม่วัวพื้นเมืองหรือลูกผสมบราห์มันที่มีอยู่มากในประเทศมาเป็นแม่พันธุ์พื้นฐาน แล้วผสมแบบยกระดับสายเลือดไปเรื่อย ๆ จนถึงลูกรุ่นที่ 4 จะได้วัวพันธุ์แท้ การเลี้ยงวัวเพื่อเพาะพันธุ์ต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ การจะหาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จึงควรเลือกซื้อแบบที่มีใบรับรองมาแล้วเพื่อความน่าเชื่อถือ
2) เลี้ยงวัวเพื่อส่งออกนม
การเลี้ยงวัวนมเพื่อการส่งออกสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ จากการที่เราสามารถรีดนมเพื่อส่งออกสู่ท้องตลาดได้ตลอดทั้งปี กิจการเลี้ยงวัวนมสามารถแบ่งออกเป็นได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- เกษตรกรรายย่อย ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลักโดยมีแม่วัวไม่เกิน 10 ตัว
- ผู้เลี้ยงวัวนมขนาดกลาง โดยมีฝูงวัวนม 10 ตัวขึ้นไป โดยผู้ประกอบการมักมีความชำนาญในการเลี้ยงวัวนมเป็นอย่างดี
- ผู้เลี้ยงวัวนมรายใหญ่ โดยส่วนมากจะเป็นการเลี้ยงในรูปแบบบริษัทหรือหุ้นส่วน
3) ส่งออกเนื้อวัวและเนื้อโคขุน
ประเทศไทยถือได้ว่ามีภูมิประเทศที่เหมาะกับการเลี้ยงวัวเนื้อหรือวัวขุนมาก อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายในการผลักดันวัวเนื้อไทยเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวว่าในปี 2558 – 2562 ผู้คนมีความต้องการบริโภคเนื้อวัวไทยเพิ่มขึ้น 0.08% ต่อปี เพราะผู้บริโภคนิยมกินเนื้อวัวแบบชาบูหรือปิ้งย่าง ทำให้ความต้องการของเนื้อวัวในตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงวัวเนื้อหรือวัวขุนก็ถือเป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน เพราะต้องมีการลงทุนและการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งประโยชน์ของการเลี้ยงวัวเนื้อหรือวัวขุน คือ การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แก้ปัญหาการขาดแคลนเนื้อสำหรับบริโภคในประเทศและลดการเสียดุลทางการค้า แถมยังเป็นการทดแทนการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศด้วย
ประเภทของธุรกิจวัวเนื้อหรือวัวขุนแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
- อาชีพเสริม สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงวัวประมาณ 2-10 ตัว โดยใช้แรงงานกันภายในครอบครัวและใช้พื้นที่ในการเลี้ยงเพียงเล็กน้อย
- อาชีพหลักขนาดกลาง ปริมาณวัวจะมีอยู่ประมาณ 20-60 ตัวและต้องจ้างแรงงานในการเลี้ยง
- อาชีพหลักขนาดใหญ่ มีวัวประมาณ 200-300 ตัว ต้องใช้พื้นที่มากและมีการลงทุนกับเครื่องจักรเพื่อช่วยทุ่นแรง
4) ส่งออกมูลวัวทำปุ๋ยและแก๊สชีวภาพ
นอกจากการเลี้ยงวัวเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างนม บริโภคเนื้อหรือเพาะพันธุ์ไว้ขายแล้ว มูลวัวยังสามารถนำไปขายเพื่อสร้างกำไรได้เช่นกัน โดยเราสามารถส่งออกมูลวัวสู่อุตสาหกรรมปุ๋ยได้หรือจะขายให้แก่ผู้ที่สนใจนำมูลวัวไปทำเป็นแก๊สชีวภาพ โดยมักจะขายกันเป็นกระสอบและปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัมหรือขึ้นอยู่กับการต่อรองกันด้วย
ด้วยความที่เนื้อวัวของไทยถูกปรับปรุงสายพันธุ์จนกลายเป็นเนื้อวัวระดับพรีเมี่ยมและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก สามารถส่งออกเพื่อสร้างรายได้มูลค่ามหาศาล จึงทำให้เหล่าเกษตรกรไทยมากมายสนใจหันมาเลี้ยงวัวกันมากขึ้น โดยวัวสามารถให้ผลผลิตได้ทั้งในรูปแบบเนื้อ นม มูล กระดูก รวมไปถึงการสร้างกำไรจากการขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์วัว แต่ทั้งนี้ก่อนการตัดสินใจเลี้ยงวัวเพื่อสร้างรายได้ผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงวัวแต่ละสายพันธุ์อย่างดีด้วย เพื่อให้ธุรกิจฟาร์มวัวสามารถทำรายได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
แหล่งอ้างอิง
คู่มือการเลี้ยงโคนม, กรปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพสริม, ปรารถนา พฤกษะศรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การผลิตและการจัดการโคเนื้อ-โคขุน, มหาวิทยาลัยนเรศวร