หมูป่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีมานานมาก มีหลักฐานว่ามนุษย์ได้มีการเลี้ยงหมูป่ามาตั้งแต่ 10,000 ปีมาแล้ว โดยจะพบได้ทั่วไปในแถบทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย แอฟริกาและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ศรีลังกา เป็นต้น ต่อมาได้มีการนำเข้าหมูป่าไปเลี้ยงในต่างประเทศอย่างอเมริกาและออสเตรเลียในรูปแบบปศุสัตว์มากขึ้น ถ้าให้พูดถึงหมูป่าต้องถือว่ามันเป็นบรรพบุรุษของหมูบ้านเลยทีเดียว เพราะมนุษย์ได้นำหมูป่าไปพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์อยู่บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกที่ลักษณะของหมูป่าคล้ายกับหมูบ้านต่างกันที่หมูบ้านจะมีขนาดตัวที่ใหญ่ ไขมันเยอะ ผิวและขนออกสีขาวอมชมพู แต่หมูป่าจะมีลำตัวที่เล็กกว่า มีเขี้ยว ผอม สูง ขนแข็งออกสีน้ำตาลดำ ไขมันน้อย ให้ลูกดก
ส่วนใหญ่เนื้อหมูที่นำมาวางจำหน่ายตามท้องตลาดจะเป็นหมูบ้านที่เนื้อในส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ทั้งหมดแล้วแต่ความนิยมของผู้บริโภค เช่น เนื้อสันนอก สันใน เนื้อส่วนสะโพก เนื้อติดมัน รวมถึงเครื่องในก็นำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ในส่วนของเนื้อหมูป่านั้นจะมีรสสัมผัสที่อร่อยไม่แพ้เนื้อหมูบ้านแต่เนื้อที่ไม่ค่อยติดมัน เนื้อมีสีแดงเข้มและจะมีราคาค่อนข้างสูง เพราะหมูป่ายังไม่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายแต่การบริโภคเนื้อหมูป่ากลับเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เพราะมีรสชาติที่ถูกปากสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้หลายเมนู ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่เกษตรกรจะลองกันมาเลี้ยงหมูป่าเพื่อส่งขายตามท้องตลาด ซึ่งต้องบอกก่อนว่าไม่ได้มีขั้นตอนที่ยากหรือวุ่นวายอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ดังนั้น เพื่อให้คนที่กำลังสนใจจะเลี้ยงหมูป่าได้มีความรู้ดี ๆ ก่อนลงสนามทาง Kaset today จึงอยากจะอาสารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหมูป่ามาให้ทุกคนได้ลองไปศึกษากันดู
ข้อมูลทั่วไปของหมูป่า
ชื่อภาษาไทย: หมูป่า
ชื่อภาษาอังกฤษ: Sus scrofa (Wild boar)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Sus scrofa Linnaeus
ตระกูลสัตว์: วงศ์ Suidae เป็นสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง
ลักษณะโดยทั่วไปของหมูป่า
หมูป่าเป็นสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างผอม สูง ขนหยาบแข็งสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงดำ ส่วนหัวจะยาวและแหลมกว่าหมูบ้าน ขาเล็ก เรียวยาวและมีกีบเท้าเล็กที่มีความแข็งแรง ทำให้พวกมันวิ่งได้เร็วสามารถจู่โจมคู่ต่อสู้หรือศัตรูที่เข้ามาทำร้ายได้อย่างแม่นยำ ในส่วนของใบหน้าจะมีตาโตสีดำ ใบหูเล็ก มีจมูกที่แข็งแรงมากสำหรับขุดดินหรือเพื่อหาอาหารและใบหน้าจะมีทั้งหน้ายาวและหน้าสั้นซึ่งเป็นชนิดของแต่ละสายพันธุ์ ตั้งแต่ท้ายทอยยาวไปจนถึงสะโพกจะมีขนแปรงสีดำเข้มและสีดอกเลายาวประมาณ 6 นิ้ว ขึ้นตลอดตามแนวสันหลัง หนังหนา ส่วนหางไม่มีขนไปจนถึงข้อขาหลัง ส่วนสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ หมูป่าจะมีเขี้ยว 4 เขี้ยวที่โค้งงอขึ้นด้านบน มีความยาว 4-5 นิ้ว และแหลมมาก โดยตัวผู้จะใช้เขี้ยวนี้เป็นอาวุธสำหรับการป้องกันตัว และตัวเมียจะมีเต้านมแถวละ 5 เต้า เพื่อให้นมลูก สำหรับลูกหมูป่าที่ยังเล็กจะมีสีขนคล้ายกับลายแตงไทย สีน้ำตาลอ่อนเข็มสลับกันไป เมื่ออายุได้ 5-6 เดือน ลายดังกล่าวจึงจะค่อย ๆ ผลัดขนหายไปนั่นเอง
สภาพแวดล้อมที่หมู่ป่าอาศัยอยู่
หมูป่าจะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ฝูงขนาดเล็ก 5-6 ตัว จนถึงฝูงขนาดใหญ่ที่มีกว่า 50 ตัวขึ้นไป ซึ่งในแต่ละฝูงจะประกอบไปด้วยเพศและวัยที่แตกต่างกัน สำหรับหมูป่าตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า “หมูโทน” โดยปกติจะแยกฝูงอยู่ตัวเดียวเพราะเป็นหมูป่าที่มีรูปร่างสูงใหญ่ กำยำ มีเขี้ยวยาว ดุร้าย และน่าเกรงขามกว่าหมูป่าตัวเล็ก ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของฝูงจึงต้องแยกออกจากฝูงไปอยู่ตัวเดียว แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ก็จะกลับเข้ามารวมฝูงอีกครั้ง ในส่วนของการออกหากินหมูป่าจะส่งเสียงเอะอะและดังมากเพราะเป็นเสียงของการแย่งกันกินอาหารที่สามารถได้ยินในระยะไกลได้ แต่เมื่อครั้งมีอันตรายกำลังเข้ามาหมูป่าจะพากันเงียบเพื่อฟังเสียงและเตรียมตัววิ่งหนีจนพ้นภัยที่มาถึงและจะหยุดวิ่งอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความแน่ใจว่าพวกมันได้หนีพ้นจากภัยอันตรายนั้นแล้ว นอกจากนี้หมูป่ายังชอบเล่นโคลนตม ว่ายน้ำเก่ง และสามารถวิ่งได้เร็วเทียบเท่ากับเก้งหรือม้า
ความแตกต่างระหว่างหมูป่ากับหมูบ้าน
ขน: หมูป่าจะมีขนแผงสีดำยาวประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป ซึ่งขนนี้จะมีความยาวตั้งแต่ท้ายทอยตามแนวสันหลังไปจนถึงสะโพก ซึ่งขนแผงนี้จะตั้งขึ้นเมื่อเกิดความผิดปกติหรือได้กลิ่นที่ศัตรูกำลังเข้ามา นอกจากนี้ขนโดยทั่วตัวของหมูป่าจะมีเส้นขนที่ยาวและหยาบ โดยรูขุมขนที่หนังจะมีขนรวมเป็นกระจุก ๆ 3 รู รูละ 1 เส้น ในส่วนของหมูบ้านจะไม่มีขนแผงเหมือนกับหมูป่า
ใบหน้า: หมูป่าจะมีใบหน้าเสี้ยม ปากแหลมยาว หูเล็กตั้งแนบกับศีรษะ ตาดุและที่แก้มจะมีขนสีขาวพาดผ่านแนวคร่อมสันของจมูก ในส่วนหมูบ้านจะมีใบหน้าและปากสั้น หูใหญ่ ตาไม่ดุพองและไม่มีขนสีขาวผ่านแนวคร่อมสนจมูก
ส่วนไหล่หน้า: ผานของหมูป่า หรือส่วนไหล่หน้าจะมีลักษณะสูงกว่าขาหลัง กล่าวคือจะมีส่วนไหล่สูงและส่วนท้ายต่ำ ที่ไหล่ทั้งสองข้างเหนือขาซ้ายและขวาจะมีแผ่นไขมันนูนออกมาเป็นไตแข็ง ซึ่งแผ่นไขมันนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุของหมูป่า เช่น หมูป่าอายุ 3 ปี จะมีแผ่นไขมันหนาประมาณ 3 เซนติเมตร หรืออายุ 5 ปี แผ่นไขมันจะหนาขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตร ในส่วนของหมูบ้านจะไม่มีแผ่นไขมันและส่วนไหล่หน้าจะไม่แตกต่างจากขาหลังมาก
ขา: ส่วนขาของหมูป่าจะมีขาที่เล็กเรียว กีบเท้าเล็กดำ ปลายกีบหน้าและแหลม ลอยสูงจากพื้น ที่มีลักษณะคล้ายกับเท้าเก้ง แต่ของหมูบ้านจะมีขาที่อ้วนกลม สั้น กีบเท้าใหญ่ ปลากีบหนาและลอยสูงจากพื้นไม่มากนัก
เขี้ยว: หมูป่าตัวผู้จะมีเขี้ยวที่งอกยาวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงอายุได้ประมาณ 4-5 ปี ซึ่งเขี้ยวนี้มีไว้เพื่อต่อสู้หรือเป็นอาวุธโจมตีศัตรูที่เข้ามาทำร้าย แต่ในหมูบ้านจะไม่มีเขี้ยว
เกร็ดความรู้
นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพของหมูป่ากับหมูบ้านแล้วส่วนของเนื้อก็มีความแตกต่างกัน เนื้อหมูป่าจะเป็นเนื้อที่ไม่มีมันคั้นกลางระหว่างเนื้อกับหนังเพราะเนื้อแดงกับหนังจะติดกันและเนื้อมีความแข็ง แต่เนื้อหมูบ้านจะมีมันคั้นกลางระหว่างเนื้อแดงกับหนัง ที่ทำให้เนื้อมีความแฉะและนิ่มมากกว่าหมูป่าเพราะหมูบ้านจะกินน้ำมากกว่าหมูป่านั่นเอง
สายพันธุ์หมูป่าที่นิยมเลี้ยงในไทย
1) พันธุ์หน้ายาว
หมูป่าสายพันธุ์หน้ายาวจะมีลักษณะลำตัวยาว หุ่นเพรียว มีกะโหลกและขาเล็ก มีกลีบเท้าเล็กที่แข็งแรงมาก ส่วนใบหูเล็ก เมื่ออายุได้ 2 ปีจะมีความสูงประมาณ 80 – 90 เซนติเมตร สำหรับบริเวณใต้แก้มจะมีขนสีขาวขึ้นปกคลุมทั้งสองข้างและมีแผงขนยาวจากท้ายทอยไปจนถึงสะโพก ในตัวผู้จะมีเขี้ยวยาวแต่ตัวเมียจะไม่มีเขี้ยวและมีเต้านม 5 คู่ หรือ 10 เต้า นอกจากนี้หมูป่าสายพันธุ์นี้จะชอบหากินแถบบริเวณต้นป่าจะไม่เข้าไปลึกเพื่อหลีกเลี่ยงการเจอสัตว์ป่าอื่น ๆ
2) พันธุ์หน้าสั้น
สำหรับสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะคล้ายกับพันธุ์หน้ายาวต่างกันตรงที่จะมีกะโหลกที่ใหญ่กว่า ลำตัวกลม เตี้ย หูเล็ก ขาสั้น และมีหนังที่หนากว่า จะอยู่รวมกันเป็นฝูงมีได้ถึงประมาณ 30 ตัวต่อฝูง สำหรับตัวเมียจะมีเต้านมไม่เกิน 10 เต้าและเมื่อใกล้คลอดจะแยกจากฝูงไปเลี้ยงลูกเองประมาณ 4 เดือน ค่อยกลับเข้ามาในฝูงใหม่ นอกจากนี้จะชอบหากินบริเวณป่าลึก
ขั้นตอนการจัดการและเลี้ยงดูหมูป่าให้ได้คุณภาพ
หมูป่าเป็นสัตว์ที่หลายคนอาจจะคิดว่าการเลี้ยงต้องยุ่งยากและลงทุนเยอะแน่นอน แต่ความจริงแล้วหมูป่าเลี้ยงง่ายมาก ๆ สามารถเลือกรูปแบบวิธีการเลี้ยงได้ตามแต่พื้นที่ที่เรามีและใช้การลงทุนกับการจัดสรรพื้นที่ไม่มาก เพราะหมูป่าเป็นสัตว์ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติอยู่แล้วการนำมาเลี้ยงจึงอาศัยแค่การจำลองพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยเดิมของมันก็พอ ซึ่งสำหรับใครที่เป็นมือใหม่และอยากลองเลี้ยงหมูป่า เราก็ได้ยกขั้นตอนในการเลี้ยงหมูป่าจากคู่มือการเลี้ยงหมู่ป่าฉบับชาวบ้านมาให้ทุกคนได้ลองศึกษากันดังต่อไปนี้
1) การจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูป่า
สร้างโรงเรือนคล้ายกับโรงเรือนเป็ดหรือไก่ แต่ต้องมีความทึบไม่โปร่งมาก เพราะจะทำให้หมูป่าตื่นตระหนกและวิ่งไม่หยุด ทำให้มีผลต่อระบบขับถ่ายอย่างเกิดอาการท้องร่วง โรงเรือนจะต้องมีความสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตรและสร้างแผงปิดกั้นรอบ ๆ โรงเรือนเพื่อป้องกันหมูป่าไม่ให้มองเห็นสิ่งรบกวนจากภายนอกมากเกินไป แผงกั้นอาจทำจากไม้ไผ่หรือกระสอบป่านผ่าซีกและขึงด้วยกรอบไม้ได้เช่นกัน พื้นโรงเรือนที่ดีที่สุดคือการทำพื้นด้วยคอนกรีตแบบขัดมัน เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล ง่ายต่อการทำความสะอาดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคถ้าทำพื้นโรงเรือนด้วยดิน
สำหรับการสร้างคอกในโรงเรือนจะแบ่งออกเป็น 2 ด้านและมีทางเดินตรงกลางสำหรับการเดินตรวจเช็คประชากรหมูป่าในแต่ละคอก ให้ใช้ลวดหนาทำตาข่ายเหล็กที่มีขนาดตา 6 นิ้ว ส่วนขนาดของคอกกว้างประมาณ 2-2.5 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร และสูงประมาณ 1.5 เมตรหรือสูงมากว่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้หมูป่ากระโดดออกจากคอกได้ โดยคอกหนึ่งสามารถเลี้ยงหมูป่าได้ตั่งแต่ 1 ตัวขึ้นไปหรือตามแต่ขนาด จากนั้นทำประตูใช้เปิด-ปิดตรงกับช่องทางเดิน สำหรับแม่หมูป่าที่มีลูกจะทำคอกพิเศษโดยเปิดช่องไว้สำหรับให้ลูกหมูได้ออกมาจากคอกใหญ่เพื่อกินอาหารและจะมีการทำกรงกั้นในคอกอีกชั้นเพื่อไม่ให้ลูกหมูหลุดออกมาด้านนอกคอกหรือโรงเรือนได้
2) การคัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์หมูป่า
หมูป่าเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเมื่อแม่พันธุ์ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งออกลูกดกขึ้นเช่นกัน จึงจะต้องมีการเลือกลักษณะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี ไม่มีลักษณะของการเกิดโรคเพื่อให้ได้ผลผลิตดีและลดความเสี่ยงที่จะนำโรคติดต่อมายังลูกในภายหลัง ซึ่งผู้เลี้ยงสามารเลือกถสายพันธุ์หมูป่าได้ตามความต้องการว่าจะใช้สายพันธุ์หน้ายาวหรือหน้าสั้น สำหรับลักษณะพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์หมูป่าที่ดีก็มีวิธีสังเกตง่าย ๆ แค่ไม่กี่ข้อ ได้แก่
- รูปร่างสูงโปร่งหรือมีร่างใหญ่
- สันหลังตรงและยาวขนานพื้น
- ส่วนไหล่หน้าจะต้องหนาและกว้าง
- มีสะโพกกว้าง
3) การผสมพันธุ์หมูป่า
พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่พร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ครั้งแรกจะเริ่มเมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปี อัตราส่วนของพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ประมาณ 1:7 คือพ่อพันธุ์หมูป่า 1 ตัวสามารถผสมกับแม่หมูป่าได้มากถึง 7 ตัว โดยการผสมพันธุ์จะมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่
การผสมโดยใช้พันธุ์แท้ทั้งคู่: เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์หน้ายาวด้วยกัน หรือการผสมพันธุ์หน้าสั้นด้วยกัน สำหรับการผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกัน ทำให้ได้ลูกไม่ดก ไม่ค่อยแข็งแรงและโตช้า อัตราการให้ลูกไดประมาณ 5-7 ตัวต่อคอก
การผสมพันธุ์โดยใช้พันธุ์หน้าสั้นผสมกับพันธุ์หน้ายาว: วิธีนี้เป็นการผสมเพื่อให้ได้ลูกหมูป่าพันธุ์ลูกผสม ข้อดีคือจะทำให้ได้ลักษณะเด่นของหมูป่า 2 สายพันธุ์มารวมกัน อาทิ ทำให้ลูกหมูป่าที่ออกมามีการเจริญเติบโตเร็วและแข็งแรง ซึ่งอาจให้ลูกได้ถึง 12 ตัวต่อคอกและมีอัตราการรอดจะเหลือลูกหมูประมาณ 10 ตัว
สำหรับการผสมพันธุ์จะเริ่มในวันที่ 3 ของการเป็นสัดของตัวเมีย โดยการต้อนให้ตัวเมียเข้าไปผสมพันธุ์กับตัวผู้ตัวแรกในช่วงเช้า หลังจากนั้นก็ต้อนให้ตัวเมียตัวเดิมผสมพันธุ์กับตัวผู้ตัวที่ 2 ในช่วงเย็นและไม่ควรให้ผสมพันธุ์ทุกวันจะต้องทำแบบวันเว้นวัน เพื่อไม่ให้พ่อพันธุ์หมูป่าเหนื่อยเกินไปหรืออาจส่งผลต่อสุขภาพของหมูป่าได้ เมื่อแม่พันธุ์ที่ผสมพันธุ์ติดแล้วจะตั้งท้องนานประมาณ 114 – 117 วัน ก่อนคลอดจะต้องเตรียมคอกคลอดโดยการโรยดินบาง ๆ บนพื้นคอกเพื่อสร้างพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติการเกิดของหมูในป่า หลังจากคลอดได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์จึงจะทำการล้างดินออกจากคอก
4) การทำคลอด
หมูป่าเป็นสัตว์ที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นจุดที่ต่างจากหมูบ้านมาก ปกติแล้วหมูป่าที่ปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติจะใช้การขุดหลุมลึกและกว้างเกือบเท่าตัวเพื่อใช้ในการคลอดลูก ซึ่งลูกหมูป่าแรกคลอดจะมีลวดลายบนลำตัวคล้ายกับลายแตงไทย แต่เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือนขึ้นไปลายเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ ผลัดขนหายไปเองตามธีีมชาติ แม่หมูป่าจะมีเต้านม 10 เต้าเพื่อให้นมลูกกินได้ครบทุกตัวและมีนิสัยการเลี้ยงลูกที่ดี ไม่นอนทับลูก เมื่อแม่หมูมีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งออกลูกดกมากราว ๆ 10-11 ตัว ส่วนแม่หมูที่ยังสาวจะออกลูกได้ประมาณ 4-6 ตัวต่อคอกเท่านั้น
โดยปกติแล้วหมูป่าสามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติไม่ต้องให้มนุษย์คอยช่วยในการทำคลอด ในระหว่างการคลอดแม่หมูก็เกิดความวิตกกังวลและมีอาการที่แสดงถึงความเครียด เช่น การกัดคอก กัดกรง ซึ่งผู้เลี้ยงไม่ควรเข้าไปใกล้อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ แต่ถ้าในกรณีที่แม่หมูป่าเกิดปัญหาที่ไม่สามารถคลอดได้หรือคลอดยากผู้เลี้ยงต้องให้สัตว์แพทย์หรือผู้ที่มีประสบการณ์เข้าให้การช่วยเหลือโดยด่วน
สำหรับคอกที่เตรียมไว้สำหรับการคลอดต้องโรยดินก่อนทุกครั้ง เพื่อทำให้ลูกหมูที่เกิดมาลุกยืนได้ไม่ลื่น เมื่อลูกหมูป่าคลอดออกมาแล้วในช่วงแรกจะต้องกินนมจากเต้านมแม่หมูเท่านั้นเนื่องจากนมที่มาจากเต้านมของแม่หมูอุดมไปด้วยสารอาหารและภูมิต้านทานโรคที่จำเป็นต่อร่างกาย ถ้าหากไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นลูกหมูป่าก็อาจตายได้แม้ว่าจะให้กินด้วยนมผงก็ตาม สิ่งสำคัญเลยคือห้ามนำลูกหมูป่าไปให้แม่หมูตัวอื่นเลี้ยงเพราะแม่หมูป่าจะมีสัญชาตญาณรู้ว่าตัวไหนที่ไม่ใช่ลูกของตนเองและเมื่อผ่านการลอดได้ 3 วันจึงเข้าไปฉีดธาตุเหล็กให้ลูกหมูเพื่อสร้างความแข็งแรงและจะต้องระวังการเข้าไปในคอกทุกครั้งจากหารห่วงลูกของแม่หมูป่านั่นเอง
5) การดูแลลูกหมูป่าหลังคลอด
ลูกหมูแรกเกิดจะกินนมแม่ไปจนอายุได้ 45-50 วันก็จะหย่านม เมื่อลูกหมูอายุได้ 15 วันก็จะเริ่มให้อาหารหมูอ่อนควบคู่กับการกินนมไปด้วยเพื่อให้ลูกหมูได้คุ้นชินกับอาหารก่อนที่จะแยกลูกหมูกับแม่หมูไปเลี้ยงกันคนละคอก สำหรับปริมาณของอาหารให้ตามความสามารถที่ลูกหมูสามารถกินได้ เมื่อหย่านมแล้วก็จะให้อาหารหมูอ่อนไปอีก 10 วันหรือมีอายุได้ประมาณ 60 วันจึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารหมูขุนแทน
สำหรับแม่หมูที่แยกคอกกับลูกหมูแล้วจะมีการให้อาหารที่มีโปรตีน 13% เท่านั้น ปริมาณการให้อาหารสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะให้ไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อวันและให้กินสองครั้งต่อวันในช่วงเช้าประมาณ 7.00 น. ให้ปริมาณ 0.4-0.5 กิโลกรัมและให้อีกครั้งในช่วงเวลา 15.00 น.ในปริมาณเท่า ๆ กัน
6) การให้น้ำและอาหารกับหมูป่า
อาหารที่ใช้เลี้ยงหมูป่าจะเป็นพวกผักและเศษอาหารที่มีการผสมแร่ธาตุหรือวัตถุดิบสำคัญ ๆ อย่าง รำ หรือหัวอาหารเพื่อให้หมูป่าได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ต้องให้ในปริมาณที่เหมาะสมและจะต้องไม่ให้กินตลอดเวลาเพราะจะทำให้มีไขมันมากเกินไป หนังหมูจะไม่กรอบและไม่หนาเมื่อนำมาแปรรูป สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูป่าจะให้วันละสองมื้อในช่วงเช้าและเย็นแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนี้
1) อาหารสำเร็จสำหรับแม่พันธุ์ในช่วงให้นมลูกจนกระทั่งหย่านม
2) อาหารหมูรุ่น สำหรับลูกหมูป่าหลังหย่านมเป็นเวลา 2.5 เดือน โดยจะให้กินวันละ 0.5 กิโลกรัมต่อวัน
3) อาหารหมูขุน ซึ่งจะให้หมูกินจนอายุได้ 1 ปี โดยปริมาณการกินจะให้ 0.5 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นสามารถส่งชำแหละเมื่อน้ำหนักได้ประมาณ 60 กิโลกรัม
4) อาหารสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และระยะหลังตั้งท้อง เมื่อแม่หมูที่ผสมติดแล้วจะให้อาหาร 1 กิโลกรัมต่อวันเป็นเวลา 2.5 เดือนจากนั้นจึงเพิ่มปริมาณเป็นวันละ 15 กิโลกรัมเป็นเวลา 2 อาทิตย์ และก่อนถึงกำหนดคลอดจะให้กินเพียง 1 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น
5) อาหารสำหรับแม่หมูเลี้ยงลูก เมื่อคลอดแล้วจะให้แม่หมูกินอาหาร 3 กิโลกรัมต่อวัน
สำหรับการให้น้ำจะให้เพียงวันละ 1 แกลลอนเท่านั้นจะเห็นได้ว่าอาหารในการเลี้ยงหมูป่าจะประหยัดกว่าการเลี้ยงหมูบ้านถึง 5 เท่า เนื่องจากหมูป่าจะกินน้อยกว่าและมีการกำหนดปริมาณการกินต่อวันอย่างชัดเจนเพื่อรักษาสภาพเนื้อที่จะต้องไม่ติดมันมาก ซึ่งหมูบ้านจะเปลืองอาหารและมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเพราะหมูบ้านจะกินอาหารเยอะและกินตลอดเวลา อาจจะมีการปลูกหญ้าขนไว้บริเวณรอบ ๆ พื้นที่เลี้ยงเพื่อให้หมูป่าได้กินเป็นอาหารเสริมได้ นอกจากนี้ข้อควรระวังในเรื่องอาหารคือจะต้องไม่นำใบกระถินหรือใบมันสำปะหลังดิบมาให้หมูป่ากิน เพราะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของหมูป่ามาก ๆ เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในการเลี้ยงหมูป่าเลย
7) การดูแลและป้องกันโรคหมูป่า
1) สำหรับโรงเรือนจะต้องมีเปิดช่องให้แสงแดดลอดผ่าน เพราะหมูป่าต้องการแสงแดดมากกว่าหมูบ้าน
2) จะต้องไม่มีเสียงรบกวนที่ดังเกินไปหรือสิ่งรบกวนที่จะเป็นการสร้างความตกใจกลัวให้กับหมูป่า เพราะเวลาหมูป่าตกใจกลัว เครียดและวิ่งไปมาทั่วคอก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวหมูป่าเองหรือหลุดออกจากคอกได้
3) หมูป่าเป็นสัตว์ที่ชอบความสะอาด โดยจะต้องมีการทำความสะอาดคอกทุกวันและราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกอาทิตย์เพื่อป้องกันการเกิดโรค แต่จริง ๆ แล้วหมูป่าถือเป็นสัตว์ที่มีภูมิต้านโรคสูงมากอยู่แล้ว
4) สำหรับหมูป่าเป็นสัตว์ที่แข็งแรงและมีภูมิต้านโรคสูง จึงไม่ค่อยเป็นโรคเท่าใดนัก แต่อาจจะพบในช่วงลูกหมูวัยแรกคลอดหรือช่วงก่อนหย่านมที่จะพบได้คือ อาการท้องร่วง ปอดบวม ที่จะต้องมีการให้ยาและการรักษาที่ถูกวิธี นอกจากนี้ยังมีโรคขี้เรื้อนที่จะพบในช่วงฤดูหนาวรักษาด้วยการฉีดยา
5) โรคขี้เรื้อนที่จะพบในช่วงฤดูหนาวรักษาด้วยการฉีดยา โดยผู้ฉีดจะต้องอยู่นอกคอกเพื่อป้องกันตัวเองที่อาจเกิดอันตรายได้และฉีดเข้าไปบนสันหลังของหมูป่า
6) การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ เพื่อให้เข้ามาแนะนำและดูแลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคอหิวาต์ในหมู ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรงสำหรับหมูที่เกิดจากเชื้อไวรัสและหมูทุกตัวจะต้องได้รับวัคซีนป้องกัน ผู้เลี้ยงจะต้องมีการทำ ความสะอาดคอก ยานพาหนะขนส่งหรือทำให้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ สะอาดปลอดเชื้ออยู่เสมอ
ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงหมูป่า
หมูป่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนทานต่อโรค ไม่ต้องลงทุนกับค่าอาหารมากก็ให้ผลผลิตดี ใช้ต้นทุนต่ำในการสร้างที่อยู่อาศัยเมื่อเทียบกับการเลี้ยงหมูบ้าน แม้ว่าหมูบ้านจะได้รับความนิยมมากกว่าหมูป่าแต่คุณภาพของเนื้อหมูป่ากลับเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นอย่างมากสวนทางกับการเลี้ยงหมูป่าที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทำให้ราคาของหมูป่าค่อนข้างสูงกว่าหมูบ้าน สำหรับต้นทุนการเลี้ยงจะมีค่าค่าพ่อแม่พันธุ์ ค่าโรงเรือนและอุปกรณ์ โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-25,000 บาท ส่วนต้นทุนอื่น ๆ จะได้แก่ค่าอาหารเสริม ค่าเวชภัณฑ์และค่าวัคซีนประมาณ 7,000-8,000 บาทส่วนผลตอบแทนที่จะได้จากการจำหน่ายลูกหมูป่าช่วง 3 เดือนแรกเฉลี่ยแล้วประมาณตัวละ 1,500 บาท ปีละ 30 ตัว สามารถสร้างรายได้ประมาณ 45,000-50,000 บาทก็ถือว่าคุ้มทุนมากทีเดียว
แนวทางการจำหน่ายหมูป่าสู่ท้องตลาด
ประโยชน์จากการเลี้ยงหมูป่าที่น้อยคนจะรู้ว่ามันสามารถส่งออกขายได้ราคาดีกว่าหมูบ้านมาก อีกทั้งยังมีประโยชน์ทางแพทย์แผนไทยหรือการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายพันธุ์หมูป่าได้ ก็อย่างที่ได้บอกไปว่าการเลี้ยงหมูป่าในประเทศยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักซึ่งสวนทางกับความต้องการบริโภค ดังนั้น เพื่อเป็นการมุ่งเน้นให้เห็นประโยชน์จากการเลี้ยงหมูป่าเพื่อสร้างรายได้ เราจึงอยากมาแนะนำแนวทางการสร้างรายได้จากหมูป่าให้ทุกคนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนเลี้ยงได้
- ส่งออกชำแหละเนื้อขาย เนื้อหมูป่าจะมีลักษณะที่แดงเข้มกว่าหมูบ้านและไม่ค่อยมีไขมัน ทำให้มีรสชาติดีเมื่อนำมาประกอบอาหารอย่าง หมูป่าย่างหรือการนำไปเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารต่าง ๆ แบบที่เราจะเห็นกันในเมนูยอดฮิตอย่างผัดเผ็ดหมูป่า ดังนั้น การส่งออกหมูป่าเพื่อชำแหละเนื้อก็ค่อนข้างจะได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ตามท้องตลาด ส่งร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเนื้อหมูป่าแช่แข็ง เนื้อหมูป่ารมควัน เนื้อหมูป่าแดดเดียว ไส้กรอกหมูป่า เป็นต้น โดยเนื้อหมูป่าปัจจุบันราคาประมาณ 250 – 300 บาทต่อกิโลกรัมและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคตถ้าหากเป็นที่ต้องการของตลาด
- ขายพันธุ์หมูป่า สำหรับผู้เลี้ยงที่สนใจเลี้ยงเพื่อขายพันธุ์สามารถหาซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูป่ามา 1 คู่ก็สามารถขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายได้ โดยราคาประมาณคู่ละ 15,000 บาท เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยง จะต้องดูแลและให้อาหารเป็นอย่างดี ลูกหมูป่าต่อคอกจะได้ประมาณ 8-10 ตัว ที่ให้ผลผลิตสูง และสามารถนำลูกหมูป่านำไปขุนเพื่อเตรียมเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูป่าในรุ่นถัดไปได้
- ขายหมูป่าขุน การเลี้ยงหมูป่าขุนจะเริ่มขุนตั้งแต่อายุ 10 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะมีการให้กินอาหารที่ให้พลังงาน โปรตีน กรดอะมิโน วิตามินและจะต้องมีอาหารให้กินตลอดเวลาเพื่อให้หมูป่าได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและให้ผลผลิตดี เป็นการเพิ่มต้นทุนค่าอาหารเสริมอีกเล็กน้อย แต่เมื่อลูกหมูป่าขุนอายุครบ 3 เดือนก็สามารถจำหน่ายได้ในราคาประมาณ 2,500 – 3,000 บาท ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักและขนาดตัวของหมู
จริงอยู่ที่ปัจจุบันคนอาจจะยังไม่นิยมเลี้ยงหมูป่าด้วยความเชื่อว่าหมูป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ดูแลยากและใช้ทุนสูง แต่ทาง Kaset today ก็มองว่าเป็นอีกช่องทางที่อยากแนะนำมาก เพราะจริง ๆ แล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายมาก มีความเป็นมิตรเหมือนกับหมูบ้านจึงสามารถเลี้ยงร่วมกันได้ ความฉุนเฉียวของหมูป่านั้นเกิดแค่ในบางกรณี เช่น การที่พวกมันตกใจ ไม่สบาย เข้าสู่ช่วงติดสัดหรือใกล้คลอดเท่านั้นและเกิดไม่บ่อย ซึี่งเราเพียงก็ต้องอาศัยการเรียนรู้และทำความเข้าใจไม่ต่างไปจากการทำปศุสัตว์อื่น ๆ แต่ข้อดีคือมันใช้ต้นทุนในการเลี้ยงทั้งค่าอาหารและที่อยู่อาศัยน้อยกว่าหมูบ้านทั่วไปมาก ดังนั้น เราจึงอยากสนับสนุนให้เกษตรกรลองเปิดใจหันมาเลี้ยงหมูป่าเพื่อสร้างรายได้กันดู ยิ่งกับคนที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงแต่อยากสร้างรายได้ระยะยาวแล้วการเลี้ยงหมูป่าก็นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว
แหล่งที่มา
การเลี้ยงหมูป่า, คู่มือฉบับชาวบ้าน
ลักษณะหมูป่า, โลกสีเขียว