แนะนำวิธีเลี้ยงหมูแคระให้โตเต็มวัย พร้อมสร้างรายได้จากการเพาะพันธุ์

หมูแคระ (Miniature Pig) เป็นหมูที่มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 30 – 60 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยก็จะมีความสูง 15 นิ้ว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นแคระแกร็นหรือมีหลุดไซส์ไปตัวโตบ้าง แต่ก็ยังมีถือว่าเป็นหมูที่มีรูปร่างลักษณะเล็กกว่าหมูทั่วไปอยู่ดี ลักษณะพิเศษของหมูแคระนั้นจะมีผิวอมชมพู มีลายด่างบ้างในบางสายพันธุ์ ตัวเล็กพกพาง่ายและที่สำคัญไม่มีกลิ่นสาบหมูหรือกลิ่นเหม็นมารบกวนใจด้วย เพราะฉะนั้นเราก็สามารถจะเลี้ยงในอพาร์ตเม้นหรือบ้านได้เลย ดังนั้นมันจึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากเลี้ยงหมูแต่มีพื้นที่ไม่มากพอและไม่ได้ต้องการเลี้ยงในเชิงปศุสัตว์ด้วย

หมูแคระ

ทุกคนเคยสงสัยบ้างไหมว่าเจ้าหมูแคระนี้มีที่มาจากไหน ทำไมคนถึงนิยมนำหมูมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ต้องบอกก่อนว่าจริง ๆ แล้วความนิยมในการเลี้ยงหมูแคระแบบนี้ไม่ได้เพิ่งจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่มันค่อนข้างเป็นที่นิยมในต่างประเทศมานานพอสมควรแล้ว จากการศึกษาความเป็นมาในการเลี้ยงหมูประเภทนี้ก็จะพบว่าเดิมทีหมูแคระเป็นหมูประจำถิ่นในประเทศเวียดนามที่มักจะถูกเลี้ยงไว้ใช้สำหรับทำการทดลองต่าง ๆ เพราะด้วยขนาดตัวที่เล็ก แต่ด้วยหมูประเภทนี้ยังมีการหลุดไซส์จนกลายเป็นหมูตัวใหญ่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เรามักจะเห็นหมูแคระเมื่อโตเต็มวัยก็ตัวใหญ่เท่ากับหมูทั่วไปเลย

ต่อมาไม่นาน “คริส มอเรย์” เกษตรกรรายหนึ่งในประเทศอังกฤษก็ได้เปิดฟาร์มหมูแคระและมีความพยายามที่จะนำหมูเวิร์ทและหมูนิวซีแลนด์มาผสมพันธุ์กันเพื่อพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ จนกระทั่งในช่วงปี 2007 เขาก็ได้หมูแคระไซส์ทีคัพ พิก (Teacup pig) ที่มีขนาดตัวแรกคลอดเท่ากับถ้วยน้ำชาและพัฒนาต่อมาเป็น มินิ พิก (Miniature pig) ซึ่งจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการหลุดไซส์ เรียกได้ว่าการปรับปรุงสายพันธุ์หมูแคระครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะหมูแคระนั้นได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของเหล่าศิลปินคนดังในต่างประเทศและมันยังได้กลายมาเป็นเทรนด์การเลี้ยงหมูแคระของคนทั่วไปในปัจจุบันด้วย

ข้อมูลทั่วไปของหมูแคระ

ชื่อภาษาไทย: หมูแคระ

ชื่อภาษาอังกฤษ: Miniature Pig

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Porcula salvania

ตระกูลสัตว์: salvanius Sus (สัตว์เท้า 2 กีบ)

ลักษณะหมูแคระและความแตกต่างทางสายพันธุ์

หมูแคระ

ลักษณะของหมูแคระ

หมูแคระ (Mini Pig) เป็นหมูที่มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 30 – 60 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยก็จะมีความสูงประมาณ 15 นิ้ว แม้ว่าหมูแคระบางตัวขนาดจะดูไม่ได้แคระแกร็นมากนัก แต่ถ้าในต่างประเทศที่เลี้ยงหมูฟาร์มขนาดตัวประมาณ 270 – 680 กิโลกรัมแล้วเจ้าหมูแคระที่ว่ามานี้ก็มีไซส์เล็กมากทีเดียว อย่างที่เราได้บอกไปว่าลักษณะเด่นของหมูแคระจะมีผิวและจมูกสีชมพู ตัวเล็กสมส่วน แววตาสดใสและจะไม่มีกลิ่นสาบแบบหมูฟาร์มทั่ว ๆ ไป นอกจากในด้านของลักษณะภายนอกแล้วนิสัยของเจ้าหมูแคระนี้ก็ชวนให้คนอยากเลี้ยงมาก ๆ ด้วยความที่หมูแคระมีนิสัยฉลาดสามารถฝึกให้เชื่องได้ มีความเป็นมิตรกับคน อีกทั้งยังรักสะอาด ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี กินง่ายและไม่ค่อยเจ็บป่วย แต่ก็อาจจะมีนิสัยบางอย่างที่คนเลี้ยงอย่างเรา ๆ  อาจต้องเตรียมตัวรับมือ เพราะเจ้าหมูแคระเหล่านี้ชอบขุดคุ้ยซึ่งเป็นนิสัยตามธรรมชาติ แต่เราก็สามารถฝึกฝนหรือปรับพฤติกรรมเหล่านี้ได้เมื่อนำพวกมันมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก

ความแตกต่างของการเรียกหมูแคระ

ก่อนที่จะเลือกซื้อหมูแคระมาเลี้ยงเราอาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างบางประการระหว่างหมูจิ๋ว (Micro Pig) กับหมูแคระ (Miniature Pig) โดยจะมีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ดังนี้

หมูแคระ

หมูจิ๋ว (Micro Pig): สำหรับเจ้าหมูไซส์จิ๋วแบบนี้จะมีอีกชื่อคือ ทีคัพ พิก (Teacup Pig) เนื่องจากขนาดตัวตอนแรกเกิดนั้นจะเล็กมากเทียบเท่ากับถ้วยน้ำชา เมื่อโตเต็มวัยน้ำหนักจะอยู่ที่ 30 – 60 กิโลกรัม สูง 15 นิ้ว สีสันลายจุดหลากหลายกว่าหมูแคระแบบอื่น เห็นตัวจิ๋วแบบนี้แต่มันมีโอกาสที่จะโตได้เกิน 100 กิโลกรัมเลยถ้าหากว่าหลุดไซส์หรือได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ อย่างที่เราจะเห็นการหลุดไซส์ได้บ่อย ๆ ในหมูจิ๋วพอตเบลลี่นั่นเอง

หมูแคระ
https://www.cpffeed.com

หมูแคระ (Miniature Pig): หมูแคระแบบนี้จะเรียกอีกชื่อว่า มินิ พิก (Mini pig) ก็ได้ เป็นหมูแคระแท้ที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์มาอย่างสมบูรณ์กว่าทีคัพ พิก เพราะเมื่อโตเต็มวัยแล้วน้ำหนักตัวจะอยู่ที่ประมาณ40 – 60 กิโลกรัมเท่านั้น ตัวเล็ก ไม่สูงมากและมีลวดลายสีขาวด่างดำเทาบนลำตัวที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน หมูแคระสายพันธุ์นี้จะเป็นที่นิยมเลี้ยงมากในปัจจุบัน ด้วยความน่ารัก แสนรู้ แถมยังกินง่ายอยู่ง่ายไม่ป่วยบ่อยและปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่คนอยู่ได้อย่างดี มันจึงเหมาะกับการนำมาเลี้ยงในบ้านมาก ๆ โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงคือหมูแคระฮอลแลนด์นั่นเอง

ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงหมูแคระ

หลังจากที่เราได้ไปทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างหมูจิ๋วกับหมูแคระไปแล้ว ขั้นต่อมาเราจะต้องศึกษาเรื่องของการเลี้ยงดูหมูแคระเหล่านี้ให้เติบโตมาอย่างแข็งแรง ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้มีวิธีการที่ยุ่งยากอะไร เดี๋ยวเรามาดูกันว่าการเลี้ยงหมูแคระต้องทำอะไรบ้าง

พื้นที่ในการเลี้ยง 

สำหรับคนที่กำลังคิดจะเลี้ยงหมูแคระในบ้าน การจัดเตรียมสถานที่โล่ง ๆ ประมาณ 36 ตารางเมตรเพื่อให้เจ้าหมูแคระสามารถเดินไปมาได้อย่างสะดวกจะช่วยให้มันปรับตัวกับที่อยู่อาศัยได้เร็วขึ้น อาจมีการเตรียมพื้นที่เพื่อฝึกให้หมูขับถ่ายหรือจุดที่ให้หมูแคระได้กินน้ำและอาหารอย่างเป็นสัดเป็นส่วน แต่รับรองว่าแทบไม่ต้องวุ่นวายกับการใช้พื้นที่มาก ๆ เหมือนการเลี้ยงหมูทั่วไปแน่นอน

การให้อาหาร

อย่างที่ได้บอกไปว่านิสัยของหมูแคระนั้นทั้งอยู่ง่ายและกินง่าย ดังนั้น อาหารหลัก ๆ ที่เราต้องเตรียมให้ก็มีแค่ผักหรือผลไม้บางชนิด เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด แตงกวา ข้าวโพดอ่อนหรือผลไม้อย่างแอปเปิ้ล ชมพู่ โดยจะต้องกะเกณฑ์ปริมาณของผักผลไม้ที่ให้ตามขนาดตัวของหมูแคระ ควรให้เป็นมื้อ ๆ อย่าวางอาหารทิ้งไว้เพราะหมูแคระจะกินได้ตลอดเวลา ซึ่งมันอาจกินในปริมาณที่มากเกินไป ที่สำคัญห้ามเลี้ยงหมูแคระด้วยอาหารสัตว์อื่น ๆ หรืออาหารที่คนกินเด็ดขาด เพราะปริมาณโซเดียมจะสูงเกินไปสำหรับหมูแคระ ควรให้กินแค่ผักผลไม้เท่านั้น

การทำความสะอาด

แม้ว่าหมูแคระจะต่างจากหมูทั่วไปตรงที่พวกมันรักความสะอาด แต่นิสัยตามธรรมชาติอย่างการขุดดินก็อาจทำให้ตัวมันสกปรกได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเราเลี้ยงสัตว์การหมั่นดูแลรักษาทำความสะอาดให้พวกมันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เราสามารถใช้สบู่อาบน้ำของเด็กอาบทำความสะอาดให้หมูแคระของเราได้ แต่ต้องเป็นสบู่ที่มีความเป็นด่างน้อยเพราะผิวหนังของหมูแคระนั้นบอบบางและแพ้ง่ายเหมือนผิวของเด็ก ส่วนระยะเวลาในการอาบนั้นแนะนำว่า 1 – 2 ครั้งต่อเดือน ก็เพียงพอแล้ว

หมูแคระ

ข้อแนะนำสำหรับการเลี้ยงหมูแคระ
การเลือกลูกหมูแคระมาเลี้ยงเราต้องดูลักษณะของมันให้ดี เช่น จมูกต้องชื้น ก้นและผิวต้องมีอมสีชมพู หมูแคระช่วงอายุที่ควรนำมาเลี้ยงคือ 1 เดือนขึ้นไปเพราะมันจะเริ่มจดจำสภาพแวดล้อมและเจ้าของของมันได้ สำหรับการเลี้ยงดูแล้วอย่างน้อย ๆ เราต้องหาเวลา 1 -2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อพาเจ้าหมูแคระออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้านบ้าง ให้หาพื้นดินโล่ง ๆ ที่พวกมันจะสามารถวิ่งเล่นอย่างเต็มที่ การทำแบบนี้จะช่วยลดอาการชอบขุดคุ้ยของหมูแคระและทำให้หมูของเราร่าเริงอยู่ตลอดด้วย

สร้างรายได้จากการเพาะพันธุ์หมูแคระ

แน่นอนว่าการเลี้ยงหมูแคระที่กำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบันนี้สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าไม่ได้มีแค่เราที่มองเห็นความน่ารักแสนรู้ของเจ้าหมูแคระเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีผู้คนมากมายที่อยากเลี้ยงพวกมันจนกลายเป็นความต้องการของตลาด ซึ่งถ้าใครที่กำลังมองหาลู่ทางที่จะขยายพันธุ์เจ้าหมูแคระเหล่านี้แล้วก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะสร้างรายได้จากการเปิดฟาร์มเพาะพันธุ์หมูแคระออกสู่ตลาดด้วย ยิ่งสำหรับใครที่ใฝ่ฝันอยากเปิดฟาร์มหมูแต่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงเกินไป ลองขยับเข้ามามองธุรกิจรายย่อยเล็ก ๆ อย่างการส่งออกหมูแคระแบบนี้ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่ใช้การลงทุนแบบไม่เกินตัวด้วย

https://mepanya.com

สำหรับการทำฟาร์มหมูแคระนั้นถือว่ายังพบได้ไม่มากในประเทศไทย เพราะคนส่วนใหญ่หันไปลงทุนกับการทำฟาร์มหมูทั่วไปที่เน้นการส่งออกเนื้อเป็นหลัก ซึ่งข้อดีของการทำฟาร์มหมูแคระแบบนี้จะมีคู่แข่งน้อย ในช่วงแรกลงทุนแค่ค่าจัดการพื้นที่ทำฟาร์ม อุปกรณ์เลี้ยงหมูแคระและนำเข้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์หมูแค่ครั้งเดียว แม่พันธุ์หมูตัวเดียวสามารถมีลูกได้สูงสุดถึงคอกละ 6 – 10 ตัว ยิ่งถ้าแม่พันธุ์สมบูรณ์มาก็จะติดลูกได้ง่าย การให้อาหารลูกหมูแคระในช่วง 20 วันถึงหนึ่งเดือนแรกแทบไม่ต้องลงทุนเพราะเป็นช่วงที่หมูแคระจะกินแค่นมน้ำเหลืองแม่หรืออาจกินได้แค่ผักผลไม้บางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่ถ้าอายุครบ  20 วันขึ้นไปก็อาจจะมีการนำมาขายส่งออกสู่ตลาดสัตว์เลี้ยง โดยราคาหน้าฟาร์มในปัจจุบันขึ้นมาสูงถึงตัวละ 15,000 บาท ราคาจะมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะและความสมบูรณ์ของหมูแคระด้วย แต่การขายส่งออกส่วนใหญ่จะขายยกคอกทำให้รายได้เฉลี่ยต่อรอบจะอยู่ที่ประมาณ 180,000 – 200,000 บาทในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น เรียกได้ว่าการเลี้ยงหมูแคระก็สามารถสร้างผลกำไรได้ไม่น้อยไปกว่าการทำปศุสัตว์ทั่วไปเลยทีเดียว 

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงหมูแคระในปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยมมาก ๆ แม้ว่าจะยังไม่มากเท่ากับการเลี้ยงสุนัขหรือแมว แต่เจ้าหมูแคระเหล่านี้ก็ให้เราได้เพลิดเพลินไปกับความน่ารักแสนรู้ของพวกมันไม่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยงแบบอื่น ๆ เลย อาจเพราะมันได้กลายมาเป็นหมูตัวจิ๋วที่เป็นมิตรกับผู้คนมาก ๆ จึงทำให้ใครที่ได้เลี้ยงต่างก็อดที่จะหลงรักพวกมันไม่ได้ สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าเราจะเลี้ยงเจ้าหมูแคระนี้เพื่อเป็นเพื่อนคู่ใจหรือเพื่อขยายพันธุ์ พวกมันก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่ดีไม่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เลย ดังนั้น อย่าลืมดูแลพวกมันอย่างดีเพื่อให้หมูน้อยของเราสดใสแข็งแรงไปนาน ๆ

แหล่งที่มา
การเลี้ยงหมูแคระ, Nanthpun katthai
เทรนด์ความนิยมเลี้ยงหมูแคระ, Voice Online

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้