อีกหนึ่งแนวคิดในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ที่เปลี่ยนศัตรูตัวฉกาจของต้นข้าวในนาให้กลายเป็นช่องทางทำเงิน เดิมทีหอยเชอรี่เคยสร้างความเสียหายให้กับต้นข้าวจนต้องหาวิธีกำจัดสารพัด แต่มาวันนี้กลับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับอาชีพเสริมของเกษตรกรไปแล้ว หอยเชอรี่เป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และยังมีตลาดรองรับขนาดใหญ่ รูปแบบการซื้อขายมีทั้งแบบที่ขายเฉพาะไข่หอยเชอรี่ ขายพ่อแม่พันธุ์ และขายเป็นอาหาร ซึ่งในส่วนของอาหารนั้นนับว่าเป็นตลาดที่สร้างรายได้สูงที่สุด คุณบุญเพ็ง คำเลิศ เกษตรกรตัวอย่างที่เพาะเลี้ยงหอยเชอรี่เป็นแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่าหอยเชอรี่มีโปรตีนสูงแต่ไขมันค่อนข้างน้อย จึงนำไปปรุงอาหารได้หลายประเภท แปรรูปเป็นน้ำปลาหรือของหมักดองก็ได้ ใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ได้เช่นกัน แม้แต่เปลือกของมันก็ยังใช้ประโยชน์เพื่อปรับคุณสมบัติของดินได้อีก ดังนั้นหากบริหารการเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่ดีๆ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้อมูลทั่วไปของหอยเชอรี่
หอยเชอรี่ เป็นหอยน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ หน้าตาคล้ายกับหอยโข่งตามท้องนาที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ในบรรดาหอยเชอรี่หลากหลายสายพันธุ์ เราสามารถแยกพวกมันได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะภายนอก กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีเปลือกเหลืองปนน้ำตาล อีกกลุ่มเป็นพวกมีเปลือกเขียวเข้มปนดำ จุดแข็งของหอยเชอรี่อยู่ที่การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว หลังจากลูกหอยอายุได้ประมาณ 2-3 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนหอยรุ่นใหม่ได้แล้ว และในการวางไข่แต่ละครั้งก็จะได้จำนวนไข่มากถึง 3000 ฟอง ยิ่งไปกว่านั้น ไข่หอยเชอรี่ที่เป็นสีชมพูสดใสนี้ยังมีระบบป้องกันตัวเองด้วยพิษ 2 ชั้น ป้องกันไม่ให้ไข่หอยโดนแดดเผาจนแห้งตาย ป้องกันเชื้อโรคบางชนิดได้ และยังป้องกันศัตรูที่ชอบกินไข่หอยเป็นอาหารได้อีก เคยมีทีมวิจัยของ Horacio Heras ศึกษาเกี่ยวกับสารสีชมพูในไข่หอยเชอรี่ พบว่ามันมีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ย่อยโปรตีน ทำให้สัตว์ที่กินไข่หอยเข้าไปจะมีอาการอาหารไม่ย่อย และถ้ากินติดต่อกันก็มีผลต่อการเจริญเติบโตด้วย
สายพันธุ์หอยเชอรี่ในไทย
แม้ว่าหอยเชอรี่ที่พบในบ้านเราจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันหมด แต่หากสังเกตให้ดีก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์อยู่บ้าง โดยหอยเชอรี่กลุ่มแรกๆ ที่ถูกนำมาเผยแพร่ในบ้านเรามีอยู่ 3 สายพันธุ์ ดังนี้
- หอยเชอรี่พันธุ์สีทอง
เปลือกหอยจะเป็นสีโทนเหลือง มีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไล่ไปจนถึงน้ำตาลอมส้ม ตัวที่โตเต็มวัยจะยิ่งมีสีเข้ม เนื้อหอยเป็นสีเหลืองนวล ขนาดลำตัวไม่ใหญ่มากนัก
- หอยเชอรี่พันธุ์สีน้ำตาล
ถ้าเทียบหอยที่โตเต็มวัยแล้ว สายพันธุ์นี้จะมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์สีทองเล็กน้อย เปลือกเป็นโทนสีเข้มตั้งแต่ยังเป็นลูกหอย มองเห็นลายเส้นพาดตามแนวขวางของเปลือกเป็นชั้นๆ ชัดเจน เนื้อหอยเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง
- หอยเชอรี่พันธุ์ลูกผสม
สีของเปลือกหอยจะมีความผสมผสานกันระหว่างสีเหลืองอ่อน เขียวเข้ม และสีโทนน้ำตาล ไม่มีลวดลายใดๆ และมักมีขนาดตัวใหญ่กว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ลูกผสมก็ยังมีความแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ด้วย
ลักษณะทั่วไปของหอยเชอรี่
หอยเชอรี่จัดเป็นหอยน้ำจืดประเภทหอยฝาเดียว มีลักษณะลำตัวเป็นทรงโค้งมนและค่อนข้างกลม คล้ายหอยโข่งนาแต่เปลือกจะบางกว่า คุณปัทมา แซ่กิม ให้ข้อมูลไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลของการสกัดจากสาบเสือต่อการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ทําลายพิษในหอยเชอรี่ว่า เปลือกหอยเชอรี่จะเรียงเป็นเกลียววนขวา โดยเริ่มจากส่วนเล็กที่สุดบริเวณก้นหอยที่เราเรียกว่ายอดเปลือก แล้วค่อยๆ วนเกลียวขยายวงให้ใหญ่ขึ้นจนไปถึงวงปากที่เป็นจุดสิ้นสุดของเปลือกหอย บริเวณนี้ก็คือช่องเปิดที่หอยจะยื่นหัวและเท้าของมันออกมา และมีฝาปิดซึ่งมีขนาดพอดีกับวงปากติดอยู่ด้วย เรียกว่าแผ่น operculum ฝาปิดนี้ทั้งหนาและแข็ง เป็นส่วนหนึ่งที่หอยเอาไว้ป้องกันอันตรายจากภายนอก
การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต
ถึงหอยเชอรี่จะเป็นสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง แต่การเจริญเติบโตของมันก็ไม่ได้อาศัยการลอกคราบหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายแบบ metamorphosis ลูกหอยที่ฟักออกจากไข่จะมีลักษณะเหมือนกับพ่อแม่พันธุ์ทุกประการ แค่ขนาดเล็กกว่าหลายเท่า โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.7 มิลลิกรัมเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปจึงใช้วิธีสร้างเปลือกให้วนเกลียวต่อจากของเดิม ทำให้ขนาดลำตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงโตเต็มวัยในที่สุด
เราสามารถแยกเพศของหอยเชอรี่ได้จากขนาดลำตัวและฝาปิด operculum ตัวผู้จะมีฝาปิดที่นูนหนามากกว่าและมีขนาดลำตัวเล็กกว่าตัวเมีย ลักษณะทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อหอยมีอายุครบ 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสำหรับการผสมพันธุ์ หลังจากหอยจับคู่ผสมพันธุ์กันประมาณ 1-2 วัน หอยตัวเมียจะเริ่มหาจุดวางไข่ที่อยู่เหนือน้ำ อาจเป็นตามกิ่งก้านต้นพืชหรือตามคันดินก็ได้ ไข่หอยเชอรี่สีชมพูจะเกาะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนขนาดประมาณ 2-3 นิ้ว จำนวนไข่ที่ได้มีตั้งแต่ 388-3000 ฟอง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่หากินของหอยนั่นเอง
ช่วงแรกไข่หอยเชอรี่ทั้งหมดจะเป็นสีชมพูสดแล้วค่อยๆ ซีดจางลงก่อนจะฟักออกมาเป็นลูกหอย ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน และอัตราการฟักสูงสุดก็อยู่ที่ประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนไข่ทั้งหมดเท่านั้น ลูกหอยที่พึ่งออกจากไข่จะมีลำตัวอ่อนนิ่ม ต้องรอ 2 วันถึงจะเริ่มมีเปลือกแข็งและเริ่มกินอาหารได้ หอยเชอรี่ที่โตเต็มวัยจะผสมพันธุ์และวางไข่ต่อเนื่องได้นาน 2-3 ปี โดยเว้นช่วงการวางไข่แต่ละครั้งประมาณ 4-10 วัน
การกินอาหาร
หอยเชอรี่เป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและซากสัตว์เน่าเปื่อย แต่พืชที่ยังเป็นต้นอ่อนและพืชที่มีใบอ่อนนิ่มคือสิ่งที่หอยเชอรี่ชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เช่น ต้นกล้าข้าว ไข่น้ำ ผักบุ้ง แหน ต้นอ่อนผักตบชวา เป็นต้น หอยเชอรี่จะเริ่มกัดกินจากส่วนโคนต้นพืชที่อยู่เหนือพื้นดินประมาณ 1-2 นิ้วก่อน เมื่อต้นพืชล้มลงลอยน้ำจึงไล่กัดกินส่วนที่เหลือ สำหรับต้นกล้าข้าว 1 ต้น หอยเชอรี่สามารถกินหมดทั้งต้นได้ภายใน 1-2 นาที คุณสมณรัตน์ จันทร์ขาว ได้กล่าวไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของหอยเชอรี่ว่า โดยเฉลี่ยแล้วในวันหนึ่งหอยเชอรี่จะกินอาหารเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว พวกมันกินตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน หากมีแดดร้อนจัดก็ใช้วิธีหลบใต้ร่มพืชน้ำและหากินอาหารบริเวณนั้น ส่วนกลางคืนหอยจะออกหากินได้อย่างอิสระและกินได้ปริมาณมากกว่า
การจำศีล
เนื่องจากระดับความชื้นในสภาพแวดล้อมมีผลต่อการใช้ชีวิตของหอยเชอรี่อย่างมาก เมื่อพื้นที่อาศัยมีระดับน้ำแห้งเหือดลง หอยจึงต้องเข้าสู่สภาวะจำศีลเพื่อเอาชีวิตรอด ด้วยการปิดฝาที่วงปากแล้วซุกตัวอยู่กับดินโคลนหรือพงหญ้าที่ชุ่มชื้น และคงอยู่ในสภาวะนั้นไปจนกว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นมากพอให้สามารถออกหากินได้ตามปกติ ตามเนื้อหาของ คุณกมลศิริ พันธนียะ ที่พูดถึงสถิติการจำศีลของหอยเชอรี่ไว้ในเอกสารเชิงวิชาการของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง ระบุว่า นอกจากเนื้อดินที่อ่อนหรือแข็งและระยะเวลาที่เกิดความแห้งแล้งจะมีผลต่อโอกาสรอดชีวิตของหอยเชอรี่แล้ว การเลือกสถานที่จำศีลก็สำคัญไม่แพ้กัน หอยที่จำศีลในดินโคลนจะรอดชีวิตมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การจำศีลตามพงหญ้าจะมีโอกาสรอดแค่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะธรรมชาติของดินโคลนจะกักเก็บความชื้นได้ยาวนานกว่านั่นเอง
เหตุผลที่ควรเลี้ยงหอยเชอรี่
- หอยเชอรี่ใช้ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงน้อยมาก ทั้งเรื่องการหาพ่อแม่พันธุ์และการจัดเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยง
- หอยเชอรี่มีความทนทาน เลี้ยงง่ายและเติบโตได้รวดเร็ว แถมยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี หากดูแลดีๆ พ่อแม่พันธุ์รุ่นหนึ่งจะให้ไข่ได้มากถึง 10 ครั้งต่อเดือน
- ความต้องการหอยเชอรี่ในท้องตลาดยังอยู่ในระดับสูงมาก และมีรูปแบบการซื้อขายที่หลากหลาย ตั้งแต่ไข่หอย พ่อแม่พันธุ์ อาหารสด ไปจนถึงอาหารแปรรูป
- เป็นหอยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ ทั้งยังมีไขมันค่อนข้างน้อย
- สามารถเริ่มต้นเพาะเลี้ยงในลักษณะของอาชีพเสริมที่ลงทุนลงแรงไม่มากนัก และต่อยอดผลผลิตจนกลายเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงได้
การสร้างเงินจากหอยเชอรี่
สำหรับคนที่ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะสร้างรายได้จากการเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่ในรูปแบบใดได้บ้าง และรายได้เหล่านั้นจะคุ้มค่ากับการลงมือทำหรือไม่ นี่คือตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญจากฟาร์มหอยตาหวานได้แนะนำเอาไว้ สามารถใช้เป็นไอเดียเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นแนวทางของตัวเองได้
- ขายไข่หอยเชอรี่เพื่อทำพันธุ์และขยายพันธุ์
แน่นอนว่าเราไม่สามารถออกไปเก็บไข่หอยเชอรี่ตามท้องไร่ท้องนามาขายได้ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะปนเปื้อนสารเคมีในการเกษตร ให้ทำการเพาะเลี้ยงและทยอยเก็บไข่ไปขายแทน ปกติไข่หอยเชอรี่พวงหนึ่งจะมีราคาประมาณ 20 บาท ในช่วงจำศีลที่มีไข่ออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากหอยเชอรี่ออกไข่ได้เดือนละหลายครั้ง เพียงแค่เก็บไข่ขายอย่างเดียวก็สามารถทำเงินหลักหมื่นต่อเดือนได้ไม่ยาก
- เลี้ยงหอยเชอรี่ขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่ก็คือขายพ่อแม่พันธุ์หอยเชอรี่ เป้าหมายและวิธีการดูแลก็จะแตกต่างไปจากแบบแรก คือต้องบำรุงให้หอยมีความสมบูรณ์แข็งแรงและมีลักษณะสายพันธุ์ที่ดี พ่อแม่พันธุ์คู่หนึ่งมีราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อย อาจเจรจาซื้อขายกันเป็นตัวหรือเป็นกิโลกรัมก็ได้
- เลี้ยงหอยเชอรี่แปรรูปขายเป็นอาหาร
ปัจจุบันหอยเชอรี่กลายเป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารหลายชนิด ที่พบเห็นได้บ่อยคืออาหารประเภทยำ ส้มตำ ลาบ ปิ้ง ลวก ซึ่งหอยแปรรูปที่ขายในบ้านเราส่วนมากเป็นหอยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน นั่นหมายความว่ากำลังผลิตภายในประเทศยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการบริโภคหอยเชอรี่ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็นับว่าเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่มองข้ามไม่ได้เลย
การเลี้ยงหอยเชอรี่
เลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์
วงบ่อซีเมนต์มักจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนที่คิดจะเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่อย่างจริงจัง เนื่องจากมีมาตรฐาน แข็งแรงทนทาน และหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ขนาดบ่อซีเมนต์ที่เหมาะสมคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร เมื่อได้บ่อมาแล้วให้ปรับสภาพบ่อให้พร้อมใช้งานก่อน ด้วยการแช่น้ำด่างทับทิมทิ้งไว้ 3-4 วัน จากนั้นแช่หยวกกล้วยสับต่ออีกประมาณ 3-7 วัน เพื่อดูดกลิ่นซีเมนต์ออกให้หมดก่อน เสร็จแล้วให้ต่อท่อ 2 จุด จุดแรกต่อด้านล่างให้เป็นท่อระบายน้ำทิ้ง อีกจุดหนึ่งต่อด้านบนให้เป็นท่อระบายน้ำล้น ตามด้วยใส่น้ำให้เต็มและปรับสภาพน้ำด้วย EM เพิ่มพืชน้ำตามต้องการแล้วค่อยปล่อยหอยเชอรี่ลงบ่อ โดยปริมาณที่เหมาะสมคือประมาณ 60-100 ตัวต่อบ่อ ในส่วนของการเลี้ยงดู เราจะปล่อยให้หอยเชอรี่ดูดกินตะไคร้น้ำและพืชน้ำเป็นอาหาร หน้าที่ของเราแค่คอยตรวจสอบให้มีพืชน้ำในบ่ออย่างเพียงพอ ไม่น้อยและไม่หนาแน่นจนเกินไป พร้อมกับเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำเดือนละ 1-2 ครั้งด้วย
เลี้ยงในบ่อพลาสติก
บ่อพลาสติกจะใช้ต้นทุนในการจัดเตรียมน้อยกว่าบ่อซีเมนต์ แต่ความแข็งแรงทนทานก็น้อยกว่าด้วย บ่อสำเร็จรูปที่ขายตามท้องตลาดจะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ถ้าทำเองและเลือกใช้วัสดุคุณภาพดีก็อาจยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่านั้น โดยสถานที่ติดตั้งบ่อสามารถทำได้ทั้งบนบกและในน้ำ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของพื้นที่ที่เกษตรกรมีอยู่ ส่วนวิธีการเลี้ยงหอยเชอรี่ก็จะเหมือนกับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ทุกประการ ทั้งวิธีให้อาหารและการเปลี่ยนถ่ายน้ำ
เลี้ยงในบ่อปูน
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่ในบ่อปูนก็คือ จัดการเรื่องความสะอาดได้ง่าย ส่งผลให้หอยเชอรี่ออกไข่ดกตลอดทั้งปี แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้ต้นทุนสูงพอสมควร โดยทำการก่อสร้างเป็นบ่อซีเมนต์ทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ พร้อมวางระบบระบายน้ำให้เรียบร้อย อาจจะทำเป็นหลายๆ บ่อเชื่อมต่อกันก็ได้ เหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์เลี้ยงหอยเชอรี่มาบ้างแล้ว หรือมีบ่อเก่าที่นำมาประยุกต์ใช้ได้
เลี้ยงในบ่อดิน
แน่นอนว่าการเลี้ยงในบ่อดินจะเหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่เพียงพอเท่านั้น จะเป็นบ่อเก่าหรือขุดบ่อขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่ก่อนปล่อยหอยเชอรี่ลงบ่อจะต้องมีการปรับสภาพด้วย EM ผสมกากน้ำตาลหรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง โดยตักสารละลายที่เลือกใช้สาดไปตามพื้นบ่อแล้วทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นค่อยเติมน้ำ ใส่พืชน้ำ และปล่อยหอยเชอรี่ลงไป ข้อดีของบ่อดินคือเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่ได้ในปริมาณมาก หอยเติบโตเร็วและแข็งแรงดีเนื่องจากมีสภาพใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด แต่ก็ทำให้จับหอยได้ยากขึ้นและมีโอกาสที่หอยจะติดพยาธิได้มากขึ้นด้วย
เลี้ยงในกระชังน้ำ
ความจริงแล้วการเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่ในกระชังน้ำ เป็นแนวทางที่ช่วยให้การเลี้ยงหอยในบ่อดินสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากจะช่วยให้จับหอยได้ง่ายกว่าก็ยังดูแลเรื่องความสะอาดได้ดีกว่าด้วย แต่ถ้าไม่มีบ่อดินเราก็สามารถติดตั้งกระชังน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้เหมือนกัน
เลี้ยงในกะละมังหรือถังพลาสติก
แม้แต่การเพาะเลี้ยงในกะละมังธรรมดาๆ ก็สามารถทำรายได้หลักหมื่นให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้เหมือนกัน แค่เลือกใช้กะละมังหรือถังพลาสติกใบใหญ่ แล้วแบ่งให้ชัดเจนว่าใบไหนใช้เป็นบ่ออนุบาล และใบไหนใช้เป็นที่พักของพ่อแม่พันธุ์ ส่วนมากการเลี้ยงในพื้นที่จำกัดแบบนี้จะเน้นไปที่การเก็บไข่หอยเชอรี่ขายเป็นหลัก เพราะไม่ต้องเพิ่มจำนวนหอยให้มากขึ้นจนต้องขยายพื้นที่
วิธีฟักไข่หอยเชอรี่ให้รอดและแข็งแรง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าอัตราการฟักไข่ของหอยเชอรี่เพาะเลี้ยงจะน้อยกว่าหอยที่อยู่ตามธรรมชาติ ในไข่พวงหนึ่งจะฟักเป็นลูกหอยได้ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยวิธีการที่นิยมใช้กันจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้
- ฟักไข่ด้วยตะแกรง
หลังจากที่พวงไข่หอยเชอรี่มีอายุได้ประมาณ 14 วัน และมีสีซีดจางลงมากแล้ว ให้นำพวงไข่มาวางไว้ในตะแกรงที่มีรูขนาดพอเหมาะ แล้วพาดตะแกรงนั้นไว้เหนือบ่ออนุบาล ลูกหอยจะเริ่มฟักแล้วร่วงผ่านช่องตะแกรงลงไปในบ่อ ภายในบ่อให้เติมน้ำไว้ประมาณ 10-20 เซนติเมตรพร้อมกับใส่ผักตับชวาเอาไว้ด้วย เพื่อให้ลูกหอยเกาะรากและกินตะไคร้น้ำได้ในช่วงแรก
- ฟักไข่ด้วยกระดาษฟาง
ถ้าสามารถหากระดาษฟางสำหรับฟักไข่ได้ วิธีนี้ก็นับว่าสะดวกกว่ากรณีที่มีไข่หอยปริมาณมาก เพียงแค่นำไข่หอยที่พร้อมฟักมาไว้ในกระดาษ ทิ้งไว้ระยะหนึ่งลูกหอยจะเริ่มออกจากไข่และรวมตัวกันอยู่บนกระดาษนั้น ช่วงนี้ให้ปล่อยลูกหอยกินกระดาษฟางจนหมด ก่อนย้ายไปลงบ่ออนุบาลเพื่อให้อาหารตามปกติต่อไป
เมนูจากหอยเชอรี่
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่าหอยเชอรี่เป็นเนื้อสัตว์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น จึงมีเมนูใหม่ที่ใช้หอยเชอรี่เป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
- ยำหอยเชอรี่
- ก้อยหอยเชอรี่
- หอยเชอรี่นึ่งสมุนไพร เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด
- หอยเชอรี่เสียบไม้ย่างน้ำจิ้ม
- หอยเชอรี่คั่วเครื่อง
- หอยเชอรี่ลวกจิ้มและน้ำจิ้มซีฟู้ด
แหล่งอ้างอิง
- การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของหอยเชอรี่ที่แพร่ระบาดในเขตภาคกลางของประเทศไทยในระดับโมเลกุลโดยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส, สมณรัตน์ จันทร์ขาว.
- คู่มืออาชีพ เลี้ยงหอยเชอรี่ ลงทุนต่ำ กำไรสูง, ฟาร์มหอยตาหวาน.
- เอกสารเชิงวิชาการของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง
- หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, ศูนย์สารนิเทศอีสารสิรินธร สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.