ปศุสัตว์เป็ดเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้ามากมาย ในหนึ่งปีประเทศไทยสามารถผลิตเป็ดได้ปีละไม่ต่ำกว่าเจ็ดล้านตัว และมีแนวโน้มว่าจะมีการผลิตมากขึ้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีการ บันทึกจำนวนการผลิตในแต่ละปี เช่นปีนี้มีผลผลิตเป็ด 24.07 ล้านตัวและคาดการว่าปีหน้าจะมีแนวโน้มที่มากขึ้น ทำให้เกิดเกษตรกรที่มีความสนใจในการเลี้ยงเป็ดมากขึ้น และสนใจศึกษาเกี่ยวกับเป็ดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยมของตลาดในปัจจุบัน เพื่อเอาข้อมูลนี้ไปต่อยอดในธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และยังมีบางกลุ่มที่เริ่มเลี้ยงเป็ดเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยงสัตว์สวยงาม นั้นจึงทำให้ตลาดเป็ดขยายตัวไปอีกไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เลี้ยง และอาหารเป็ด และยังมีสายพันธุ์เป็ดเกิดใหม่อีกด้วย นั้นทำให้ kaset.today เห็นความสำคัญจึงทำบทความเกี่ยวกับสายพันธุ์เป็ดซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐาน ที่หากคุณกำลังคิดจะเลี้ยงเป็ด คุณควรลองอ่านข้อมูลเหล่านี้ และสามารถนำเอาข้อมูลไปเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจสายพันธุ์เป็ดที่ต้องการนำมาเลี้ยงได้
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Anas platyrhynchos domesticus (เป็ดในประเทศ)
อาณาจักร : Animalia
ไฟลัม : Chordata
ชั้น : Aves
อันดับ : Anseriformes
วงศ์ : Anatidae
เป็ดเป็นสัตว์ในวงศ์ของนกเป็นน้ำ ลักษณะเด่น ๆ ที่เห็นชัดเจนก็คือ ปากแบน ตีนแบน ระหว่างนิ้วมีพังผืดยึดติดกันเหมือนใบพายที่ถูกสร้างมาเพื่อการว่ายน้ำ ตัวมีหลายสี เช่น น้ำตาล ขาว เขียว ชมพู ม่วง ขนาดเล็กกว่าห่าน ว่ายน้ำเก่ง กินปลา พืชน้ำและสัตว์เล็ก ๆ สามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็มเป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงดูง่าย สามารถกินอาหารตามธรรมชาติได้ และให้ผลผลิตอย่างไข่ให้กับคนเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เป็ดเป็นสัตว์ปีกที่นิยมเลี้ยงรองมาจากไก่ ผลผลิตไข่เป็ดส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยและแปรรูปเป็นไข่เค็ม
สายพันธุ์เป็ดที่นิยมทั่วไป
สื่อการสอนโดย ผศ.กระจ่าง วิสุทธารมณ์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เป็ดที่นิยมถูกนำมาเลี้ยงนั้นก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่เราสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือ เป็ดไข่ และเป็ดเนื้อ ซึ่งในกลุ่มนี้ยังแยกออกเป็นสายพันธุ์ได้อีกคือ
เป็ดไข่ (Egg-type duck)
1.1 พันธุ์กากีแคมเบลล์ (Khaki Campbell)
สายพันธุ์เป็ดไข่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ลักษณะเด่นของสายพันธุ์คือ มีขนลำตัวสีน้ำตาล ในเพศผู้มีขนที่บริเวณส่วนอกเข้มกว่าลำตัว และมีขนที่ปลายหางม้วนงอ สำหรับการแยกเพศก็ไม่ยาก ถ้าเป็นตัวผู้จะมีขนเป็นวงแหวนสีน้ำตาลอ่อนรอบคอ ที่หัวมีขนสีเขียว ส่วนตัวเมียจะไม่มีลักษณะเด่นแบบนี้ เพศเมียให้ผลผลิตไข่ฟองแรกที่อายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ และให้ผลผลิตไข่อย่างน้อย 280 ฟองต่อตัวต่อปี
1.2 เป็ดอินเดียนรันเนอร์ (Indian runner duck)
เป็ดที่มีขนาดเล็ก ลักษณะเด่น คือ ปากสีเหลือง แข้งกับเท้าสีส้ม ขนมีทั้งสีขาว สีเทา และมีลาย เวลาที่ยืนคอยืดตั้งตรง ลำตัวเกือบตั้งฉากกับพื้นคล้ายกับนกเพนกวิ้น เป็ดพันธุ์นี้จะไม่ค่อยบินแต่มักจะใช้การเดินและวิ่งมากกว่า ตัวเมียเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ให้ไข่ฟองโตและไข่ทน ให้ไข่ประมาณ 150-200 ฟอง/ปี
1.3 พันธุ์พื้นเมือง (Native ducks)
เป็ดที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- 1.เป็ดนครปฐม เป็นเป็ดที่พบในเขตภาคกลาง เช่น นครปฐม เพชรบุรี สุพรรณบุรี และในเขตภาคกลาง ความแตกต่างระหว่างตัวเมียกับตัวผู้ ก็คือ ตัวผู้จะมีสีเขียวแก่ตั้งแต่คอไปถึงหัว รอบคอมีวงรอบสีขาว อกสีแดง ลำตัวสีเทา ปากสีเทา และเท้าสีส้ม แต่ตัวเมียจะมีส่วนที่แตกต่างก็คือสีขนจะเป็นลาย ตัวเมียจะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
- พันธุ์กบินทร์บุรี เป็ดไข่ที่กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาสายพันธุมาจากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ ลักษณะของตัวผู้ ปากสีน้ำเงินปนดำ หัวและคอมีสีเขียวแก่ชัดเจนและค่อย ๆไล่สีจางลงจนเป็นสีน้ำเงินปนดำ ขนลำตัวสีเทา และพออายุมากขึ้นขนหางจะงอโค้งขึ้นด้านบนประมาณ 2-3 เส้น ขนแข้งสีส้ม เพศเมีย ปากสีน้ำเงินจะมีขนสีกากีสีเดียวตลอดลำตัว สามารถให้ผลผลิตไข่เมื่อมีอายุ 150-160 วัน โดยให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี
- พันธุ์ปากน้ำ เป็ดไข่พื้นเมืองขนาดเล็ก มีขนลำตัวสีดำ เพศผู้มีขนที่หัวสีเขียวเข้ม ปาก แข้ง และเท้าสีดำ เริ่มให้ผลผลิตไข่เมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์ สามารถให้ผลผลิตไข่ประมาณ 280-300 ฟองต่อตัวต่อปี
- พันธุ์บางปะกง เป็ดไข่ที่มีขนลำตัวสีกากี เพศผู้มีขนสีเขียวเข้มที่บริเวณหัว ปลายหาง และปลายปีก โดยมีขนปลายหางงอนขึ้นด้านบน ปากสีดำ ขาและเท้ามีส้ม ตัวเมียทั้งตัวจะมีสีน้ำตาลอ่อนตลอดตัว และเริ่มให้ไข่ที่อายุประมาณ 20 สัปดาห์ โดยให้ผลผลิตไข่เฉลี่ย 280 ฟองต่อตัวต่อปี
เป็ดเนื้อ (Meat-type duck)
2.1 พันธุ์ปักกิ่ง (Pekin duck)
เป็นที่มีบ้านเกิดมาจากจีน เป็นเป็ดที่ตัวใหญ่ ขนมีสีขาว ลำตัวกว้างและหนา ปากสีเหลืองส้ม ตัวผู้จะมีน้ำหนักราว 4 กิโลกรัม ตัวเมียจะหนักประมาณ 3 กิโลกรัม เป็ดปักกิ่งนั้นนอกจากเนื้อที่ขายได้ ขนเป็ดปักกิ่งยังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมผลิตลูกขนไก่ และใช้ท้าฟูกที่นอนได้ด้วย
2.2เป็ดเทศ (Muscovy)
เป็ดเทศที่พบในประเทศไทยมี 2 สี ได้แก่ ชนิดที่มีสีขาว และชนิดที่มีสีดำ ทั้ง 2 ชนิด ที่บริเวณใบหน้าและเหนือจมูกมีหนังย่นสีแดง เป็ดเทศชนิดที่มีสีขาวจะมีขนสีขาว ผิวหนังสีขาวแข้งสีเหลืองส้มอ่อน ปากมีสีเนื้อ ส่วนชนิดที่มีสีดำจะมีขนที่หน้าอก ลำตัวและหลังสีดำประขาว ปากสีชมพู แข้งสีเหลืองหรือตะกั่วเข้ม
2.3 พันธุ์ปั๊วฉ่าย (Mule duck)
เป็นเป็ดพันธุ์ผสมระหว่างเป็ดเทศกับเป็ดธรรมดา มีโครงร่างใหญ่ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่ ไม่ร้องเสียงดัง ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อม เนื้อรสชาติดีกว่าเป็ดธรรมดา เนื้อแน่น มีไขมันต่ำ ตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม
2.4 เป็ดพันธุ์บาร์บารี (Barbary)
เป็ดที่มีลักษณะคล้ายเป็ดปักกิ่งคือมีขนสีขาวทั่งตัว และมีขนสีดำอยู่กลางหัว ปากสีชมพู เท้าสีเหลืองอ่อน มีผิวขรุขระนูนเด่น ไม่มีขน ตัวผู้หนักประมาณ 6 กิโลกรัมและจะมีสีดำบนหัว ส่วนตัวเมียหนัก 3.5 กิโลกรัม
2.5 เป็ดพันธุ์อี้เหลียง (Yi-Liang)
เป็ดที่มีลักษณะคล้ายเป็ดปักกิ่ง เป็ดพันธุ์เนื้อที่ให้ไข่ดกของเมืองคุนหมิง ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน มณฑลยูนาน ซึ่งเป็น คือทั้งเพศผู้และเพศเมียจะมีขนสีขาวตลอดลำตัวปากและเท้ามีสีส้ม แต่เป็ดอี้เหลียง จะมีอกกว้างและใหญ่กว่าเป็ดปักกิ่ง
อยากเลี้ยงเป็ด ก็ต้องรู้จักวิธีเลี้ยง
สำหรับใครที่สนใจและคิดอยากจะทำการเลี้ยงเป็ดแต่ยังไม่รู้จะต้องเริ่มอย่างไร วันนี้เรามีขั้นตอนสำหรับคนที่เป็นมือใหม่อยากมีฟาร์มเป็ดเป็นของตัวเองสิ่งที่ต้องเริ่มก็คือ
ประเภทของโรงเรือน
ในเอกสารประกอบการสอนวิชาการผลิตสัตว์ปีกของผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย, 2560 ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำโรงเรือนไว้โดยได้บอกเล่าถึงความแตกต่างขของประเภทโรงเรือนไว้ดังนี้ แบ่งประเภทของโรงเรือนไว้ 2 ประเภท คือ
1.โรงเรือนระบบเปิด (open house) ก็คือโรงเรือนที่อากาศเข้าออกในโรงเรือนได้ สภาพแวดล้อมในโรงเรือนจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศภายนอกแต่มีข้อด้อยที่ เป็ดอาจอยู่ไม่ค่อยสบายนัก และส่งผลให้ได้ผลผลิตน้อย แต่โรงเรือนแบบเปิดมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
2. โรงเรือนระบบปิดหรือโรงเรือนระบบระเหยไอเย็นจากน้ำ (evaporative cooling system Evap) จะเป็นโรงเรือนที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน ผนังโรงเรือนจะปิดทึบ มีการจัดการระบบที่ดี เป็ดทีเลี้ยงในโรงเรือนแบบนี้จะมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูง แต่มีค่าใช้จ่ายสูง
แต่อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงก็สามารถที่จะเลือกฟาร์มหรือโรงเรือนได้ทั้งสองแบบ ขึ้นกับความเหมาะสมกับพื้นที่และงบประมาณของผู้เลี้ยง
การวางผังฟาร์มหรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด
ควรมีลักษณะทั่วไปของฟาร์มหรือโรงเรือนเป็ดที่ดี ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ควรที่จะป้องกันลม แดด ฝน ได้
- อากาศภายในโรงเรือนสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
- สามารถรักษาความสะอาดได้ง่ายไม่มีน้ำขัง
- พื้นควรเป็นพื้นทราย หรือพื้นซีเมนต์ จะทำให้ท้าความสะอาดได้ง่ายและไม่เปียกชื้นมาก และควรปูเปลือกข้าวหรือแกลบเป็นวัสดุรองพื้น
- บริเวณที่วางอุปกรณ์ให้น้ำควรมีจะการระบายน้ำที่ดี
- สร้างง่าย ราคาถูก และใช้วัสดุก่อสร้างที่มีในท้องถิ่น
- ไม่ควรเลี้ยงแน่นจนเกินไปอัตราส่วนในการเลี้ยงต่อพื้นที่มีดังนี้
- เป็ดเล็ก 6-8 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร อายุจะอยู่ที่ 0-7 สัปดาห์
- เป็ดไข่ 4-5 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร อายุจะอยู่ที่ 8-20 สัปดาห์
- เป็ดรุ่น 5-6 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตรอายุจะอยู่ที่มากกว่า 20 สัปดาห์
- เป็ดเนื้อ 7 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร ทุกไซต์
อุปกรณ์ในการเลี้ยงเป็ด
1. เครื่องกกลูกเป็ด เพราะลูกเป็ดวัยเด็กนั้นยังต้องการความอบอุ่นให้แก่ร่างกายมาก ในตอนกลางคืนถ้าไม่มีแม่กกก็จะหนาวตายได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องมีเครื่องกกเพื่อให้ลูกเป็ดได้รับความอบอุ่นเพียงพอต่อการกกลูกเป็ด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ กกโดยใช้แม่เป็ดกก และกกโดยใช้เครื่องกก
2. อุปกรณ์ให้อาหาร สำหรับอุปกรณ์การให้อาหารควรจัดให้เป็นแบบราง เพราะด้วยลักษณะของปากนั้นเหมาะสมกับการกินอาหารในลักษณะกรองของแข็งจากนั้น ไม่ใช้วิธีจิกแล้วกลืนกินแบบไก่ แต่จะกินอาหารเข้าปากก่อนแล้วจึงค่อยยกหัวขึ้นเพื่อกลืนอาหารโดยใช้ลิ้นดันเข้าไป จึงทำให้อาหารบางส่วนร่วงหล่นออกจากปาก อุปกรณ์ให้แบบรางจะช่วยให้อาหารกลับเข้ามารวมที่เดิม ง่ายต่อการกินของเป็ด
3. อุปกรณ์ให้น้ำ นอกจากเป็ดจะดื่มน้ำแล้วก็ยังมีนิสัยชอบเล่นน้ำอีกด้วย ทำให้ต้องใช้น้ำในการเลี้ยงมาก ถ้าใช้น้ำแบบเป็นถังหรือบ่อขนาดเล็ก จะสิ้นเปลืองแรงงานมากในการเติมน้ำ ดังนั้น จึงนิยมใช้อุปกรณ์ให้น้ำแบบรางอัตโนมัติ ที่ใช้ท่อน้ำพลาสติกขนาดใหญ่ผ่าซีกแล้วใช้ปูนซีเมนต์ปิดหัวท้าย ด้านหนึ่งติดลูกลอยไว้ควบคุมระดับน้ำในราง
สำหรับการจัดวางรางน้ำก็ควรจะวางให้รางน้ำควรจะวางให้ห่างจากรางอาหารพอควร เพื่อบังคับให้เป็ดได้เดินไปกินน้ำและอาหารจะช่วยให้เป็ดได้ออกำลังกาย
การคัดเลือกสายพันธุ์สำหรับเป็ดที่จะเลี้ยง
เมื่อต้องการที่จะเลี้ยงเป็ดไม่ว่าจะเป็นเป็ดเนื้อ หรือเป็ดไข่สิ่งสำคัญที่ลืมได้ก็คือการคัดเลือกสายพันธุ์โดยมีหลักง่าย ๆ คือ
- ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงจากฟาร์มเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้มีมาตรฐาน
- ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี ให้ผลผลิตสูง
- มีลักษณะที่ดี และแข็งแรง
- อึด แข็งแรง มีอัตราการตายต่ำ
โรคในเป็ด
โรคในเป็ด คือ อาการของสัตว์ผิดไปจากที่เคยเป็น มีพฤติกรมที่ต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีอาการซึม ไม่กินอาหาร หาร หงอย ซึม ร่างกายซูบ ผอม ทำให้เป็ดถึงแก่ความตายได้ หากปล่อยไว้จนมีการตายของเป็ดป่วยยิ่งมากขึ้น เท่าใดย่อมหมายถึงการสูญเสียมากขึ้นเท่านั้น โรคระบาดร้ายแรง อาจทำให้การเลี้ยงเป็ดต้องเสียหายได้
สาเหตุของโรคเป็ดแบ่งได้เป็น
1. โรคติดต่อ เป็นที่เมื่อเกิดขึ้นตัวหนึ่งแล้วสามารถส่งต่อไปยังเป็ดอีกหลายตัวได้ ด้วยระยะเวลาไม่นาน ส่วนมากจะเป็นโรคที่ติดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว เชื้อราและพยาธิต่าง ๆ
2. โรคที่ไม่ติดต่อ เป็นโรคที่เป็นแต่เฉพาะตัวของเป็ดแต่ละตัว ไม่ว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือเกลือแร่ ไม่มีการแพร่กระจายไปยังเป็ดตัวอื่น ๆ
โรคเป็ดที่สำคัญคือ
1. โรคตับอักเสบติดต่อของลูกเป็ด (Duck virus hepatitis) โรคมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส มีอัตราการตายสูงอาการนี้จะเป็นแบบเฉียบพลัน หากได้รับเชื้อจะแสดงอาการของโรครวดเร็วมากภายใน 26 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ การป้องกันโรค ให้ทำวัคซีนโดยใช้แทงที่พังผืดเท้าเป็ดจะได้คุ้มโรคได้ภายใน 2 วัน หรืออาจ ใช้ซีรัมฉีดป้องกันโรคระบาด โดยเก็บโลหิตจากเป็ดที่เคยป่วยและหายจากโรคนี้แล้วนำมาแยกเอาซีรัม ใช้สำหรับฉีดป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ หรือใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค
2. โรคเพล็ก (Duck plague) โรคนี้ระบาดรวดเร็วมากและมีอัตราการตายสูง สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส อาการนี้เป็ดจะแสดงอาการขาอ่อน นอนหมอบ ตัวสั่น ต่อมาไม่ช้าจะเกิดอาการอัมพาต เป็ดกระหายน้ำจัด บางทีมีน้ำลาย (dischrge) เหนียว ๆ ไหลออกจากปาก ตาแฉะ จมูกสกปรก หายใจมีเสียงครืดคราด ท้องเดิน อุจจาระสีขาว และจะตายภายใน 24 ชั่วโมง ระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ต้นจนแสดงอาการเหล่านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพล็ก มีการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มที่ดี
3. โรคอหิวาต์เป็ด (Duck cholera) เป็นโรคระบาดที่สำคัญโรคหนึ่งของเป็ด สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีอาการ เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด มีไข้สูง อุจจาระมีลักษณะเป็นมูกขาวต่อมามีสีเขียวอ่อนปน อัตราการตายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เป็ดอาจตายโดยกระทันหัน มีผิวหน้าคล้ำ มักพบข้อหัวเข่าและข้อเท้าบวมในเป็ดบางตัว โรคนี้พบมากในเป็ดที่มีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปป้องกันทำได้โดยการวัคซีนป้องกันอหิวาต์ ฉีดตัวละ 1-2 ซี.ซี. ตามขนาดของเป็ด
4. โรคบิด (Coccidiosis) โรคนี้เป็นอันตรายมากกับลูกเป็ด ถ้าพื้นโรงเรือนชื้นแฉะ มีโอกาสเป็นโรคได้ง่าย เพราะเป็ด ชอบน้ำสาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว อาการ ท้องร่วงและอาจมีโลหิตปนมากับอุจจาระ เนื่องจากลำไส้อักเสบอย่างแรงการป้องกันรักษาจะทำได้ด้วยการจัดการสุขาภิบาลในฟาร์มให้ดีเป็นวิธีที่ดีที่สุด และหมั่นดูแลรักษาพื้นคอกให้แห้งอยู่เสมอ ที่ให้น้ำควรมีตะแกรงรอง และมีช่องระบายน้ำออก ไม่เลี้ยงเป็ดต่างอายุปนกัน
เป็ดเขากินอะไร แล้วมีการเตรียมอาหารอย่างไร
อาหารเป็ดในบ้านเราสามารถแบ่งออกได้
1. อาหารสำเร็จรูป เป็น อาหารเม็ด ซึ่งมีใช้เลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะไข่ ซึ่งมีผลดีก็คือการจัดการให้อาหารสะดวกรวดเร็ว รางน้ำสะอาดไม่ค่อยสกปรกประหยัดอาหาร เพราะหกหล่นน้อยถึงแม้มีการหกหล่นก็สามารถเก็บกินได้ ไม่ติดตามรางอาหาร ทำให้รางอาหารสะอาดอยู่เสมอไม่หมักหมมเชื้อโรค แต่อาหารมีราคาแพงถ้าเลือกใช้เป็นอาหารเม็ดก็จะต้องคำนวณถึงต้นทุนด้วย
2. หัวอาหารผสม คือหัวอาหารเป็ดเข้มข้นที่ผสมจากวัตถุดิบอาหารสัตว์พวกโปรตีนจาก พืช สัตว์ ไวตามิน แร่ธาตุและยาบางชนิด ยกเว้น พวกธัญพืช หรือวัตถุดิบบางอย่าง อาหารเป็ดแบบนี้จะต้นทุนต่ำ สามารถใช้ของที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นปลายช้าว รำ ทั้งหยาบและละเอียด มาผสมกันตามสัดส่วนครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายสัตว์ ก่อนนำอาหารผสมนี้ไปเลี้ยงเป็ดต้องคลุกน้ำให้พอหมาดๆ ร่วนไม่เกาะเป็นก้อน จะช่วยให้เป็ดกินอาหารได้ดี ลดการฟุ้งกระจายและการหกหล่นได้มาก สำหรับอาหารประเภทนี้อาจมีหลายขั้นตอนแต่ก็เป็นที่นิยมเพราะด้วยเรื่องราคาที่ถูกและสามารถใช้ของในท้องถิ่นได้
สำหรับเป็ดไข่ นั้นอาหารนั้นมีผลต่อสีของไข่แดงด้วย ผู้เลี้ยงมักเพิ่มเติมสารเพิ่มสีให้กับไข่ ได้แก่ สารเพิ่มสีในไข่ด้วยเป็นวัตถุ สังเคราะห์ทางเคมีพวกคาโรทีนอยส์ชื่อทางการค้าต่างๆ เช่น Carophyll Red ใส่ลงไปในอาหารทำให้ไข่แดงมีสีเหลืองเข้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภค กรณีไข่เป็ด ถ้าไข่แดงสีเข้มจัด นิยมใช้ทำไข่เค็ม และราคาไข่เป็ดจะมีราคาแพงกว่าธรรมดาประมาณ 10 สตางค์/ฟอง ทั้งนี้เนื่องจากสารเพิ่มสีมีราคาแพงประมาณ 4,000 บาท/ก.ก.
การให้อาหาร ให้อาหารวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น เป็นหัวอาหารผสมกับปลายข้าวและรำข้าวคลุกเคล้าโดยเครื่องผสมอาหาร ถ้าเป็ดได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์จะเริ่มออกไข่เมื่ออายุประมาณ 5 เดือน เป็ดจะออกไข่ตอนเช้ามืดตามแอ่งมุมต่าง ๆ ของคอก
ราคาขายเป็ด และ ไข่เป็ด
เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาไข่เป็ดนั้นมีราคาที่สูงกว่าไข่ไก่ ทั้งสดและแปรรูป เพราะเนื่องจากไข่เป็ดนั้นสามารถนำไปใช้ได้หลายอย่างไม่ว่าแบบสดในการทำอาหารทั่วไป หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของขนม หรือนำไปแปรรูปเป็นไข่เค็ม หรือไข่เยี่ยวม้าซึ่งราคาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของไข่ด้วย
ราคาไข่เป็นปัจจุบัน
- ราคาไข่เป็นหน้าฟาร์มเลี้ยงนั้นเป็นราคาขายส่งคละขนาดกัน ไข่เป็ด -คละ ณ แหล่งผลิต ก็จะอยู่ที่ประมาณ 3.90 – 4.0บาท/ฟอง
- ราคาไข่เป็ดที่รับมาขายตามหน้าร้านที่แยกขนาดได้จะมีราคากลางดังนี้
- ไข่เป็ด เล็ก 4.20 – 4.30 บาท/ฟอง
- ไข่เป็ด กลาง 4.40 – 4.50 บาท/ฟอง
- ไข่เป็ด ใหญ่ 4.70 – 4.80 บาท/ฟอง
- ไข่เป็ดเค็ม กลาง 4.30 – 4.40 บาท/ฟอง
- ไข่เป็ดเค็ม ใหญ่ 4.60 – 4.80 บาท/ฟอง
- ราคาเป็ดเนื้อ
1. เป็ดสดทั้งตัว ราคาที่ 250.00 บาม/ก.ก
2. เศษเนื้อแดง ราคาที่ 70.00 บาท/ก.ก
3. เศษมันเป็ด ราคาที่ 70.00 บาท/กก.
ประโยชน์จากขนเป็ด
เป็ดเนื้อเมื่อครบกำหนดที่จะขายแล้ว นอกจากผู้เลี้ยงจะสามารถขายเนื้อเป็ดได้แล้ว ขนของเป็ดเหล่านี้ยังสามารถสามารถขายได้อีกด้วย เพราะขนเป็ดนั้นสามารถนำมาทำเป็นเครื่องใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อขนเป็ด ผ้าห่มขนเป็ด หมอนขนเป็ด และยังนำไปเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์กีฬาได้อีกด้วย เพราะขนเป็ดนั้นมีคุณสมบัติที่นุ่มและยังให้ความอบอุ่นได้อีกด้วยนั่นเองและยังใช้งานได้นาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากขนเป็ดนั้นราคาก็ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
อยากเลี้ยงเป็ดในบ้านต้องรู้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วบางคนก็อยากเลี้ยงเป็ดไว้ในบ้านบ้างเลี้ยงเป็ดในบ้านบ้างสำหรับบางคนอาจอยากเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร หรือบางคนอาจเลี้ยงไว้เพื่อเก็บไข่ และเดี๋ยวนี้เป็ดยังเป็นสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกับสุนัขและแมว
สำหรับคนที่เลี้ยงเป็ดไว้เพื่ออาหาร อาจเลี้ยงในจำนวนไม่ต้องมากสักประมาณ 2 ตัวก็น่าจะเพียงพอโดยพิจารณาจากพื้นที่ของบ้านและสภาพแวดล้อมถ้าเป็นบ้านที่อยู่นอกเมืองก็น่าเหมาะกว่า อาจเลี้ยงแบบปล่อย หรือทำเล้าให้เล็ก มีรังให้นอน และให้อาหารตามเหมาะสมเช่นอาหาจเป็นอาหารเม็ดก็สะดวก บริเวณเล้าควรมีอากาศถ่ายเทจะได้ไม่มีกลิ่น
และนี่คือเรื่องราวของเป็ดที่ kaset.today อยากนำมาเสนอในวันนี้ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่กำหนดมีไอเดียที่จะเลี้ยงเป็ดหรืออยากทำฟาร์มเป็ด ข้อมูลที่นำมาเสนอในวันนี้อาจจุดไอเดียที่สามารถนำไปปรับยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม
แหล่งอ้างอิง คู่มือการเลี้ยงเป็ด ศูนย์บริการข้อมูลสารสนเทศ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์