ปุ๋ย ยิ่งเข้าใจ ยิ่งใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อไรที่พืชไม่เจริญเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น การใส่ปุ๋ยคือสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง ปุ๋ยจึงเป็นอะไรก็ตามที่เราเติมลงไปในดินแล้วช่วยเพิ่มธาตุอาหารหรือเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่าง เพื่อให้พืชที่เพาะปลูกไว้งอกงามขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนก็ต้องอ้างอิงคำจำกัดความตามพระราชบัญญัติปุ๋ยที่ว่า ปุ๋ยคือสารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ได้ สังเคราะห์ขึ้นมาก็ได้ สำหรับเพิ่มธาตุอาหารให้พืชหรือปรับเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีในดิน และส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ปุ๋ยเป็นตัวช่วยสำคัญในวงการเกษตรที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีประเภทของปุ๋ยค่อนข้างหลากหลาย การทำความเข้าใจคุณสมบัติของปุ๋ยแต่ละประเภทจะช่วยให้เราเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประเภทของ ปุ๋ย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนสับสนเกี่ยวกับประเภทของปุ๋ย ก็คือมีปัจจัยที่ใช้ในการแบ่งประเภทค่อนข้างหลากหลาย อย่างเช่น การแบ่งประเภทตามกระบวนการผลิต แบ่งประเภทตามคุณภาพของวัตถุดิบ แบ่งตามสูตรปุ๋ย เป็นต้น แต่หากยึดตามหลักวิชาการปุ๋ยของกลุ่มวิจัยปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน จะแบ่งปุ๋ยออกเป็น 3 ประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งการแบ่งประเภทในลักษณะนี้ถือว่าเป็นรูปแบบสากลที่ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันมากที่สุด

ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ

1. ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ (organic fertilizer) คือปุ๋ยที่มีส่วนผสมเป็นสารอินทรีย์ซึ่งได้จากธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นซากพืช ซากสัตว์ ตลอดจนผลิตผลอื่นๆ ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต หลังผ่านการย่อยสลายก็จะให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชค่อนข้างครบถ้วน จากงานวิจัยภายใต้หัวข้อ “ปุ๋ยอินทรีย์ฟื้นฟูสภาพดิน” ของคุณบัญชา รัตนีทู ได้กล่าวไว้ว่าปุ๋ยอินทรีย์มีความสำคัญต่อการปรับปรุงคุณสมบัติของดินสูงมาก แม้ในช่วงแรกจะยังไม่ค่อยเห็นผลชัดเจนนัก แต่ในระยะยาวจัดว่ามีศักยภาพแบบยั่งยืน เพราะปุ๋ยจะค่อยๆ ปรับทุกองค์ประกอบในดินให้เหมาะสมกับการเติบโตของพืช ทั้งองค์ประกอบที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เราสามารถแบ่งประเภทย่อยของปุ๋ยอินทรีย์ได้อีก 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด

  • ปุ๋ยคอก หมายถึง ปุ๋ยจากมูลสัตว์ที่มีคุณภาพในแง่ของการให้แร่ธาตุอันเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยวัดจากอาหารที่สัตว์เหล่านั้นกินเข้าไปเป็นประจำ เมื่อประเภทของอาหารที่ต้องการและกลไกภายในร่างกายของสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกัน แร่ธาตุที่ได้จากมูลสัตว์จึงแตกต่างกันด้วย เช่น มูลโคจะมีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าธาตุชนิดอื่น ขณะที่มูลสุกรจะมีธาตุฟอสฟอรัสสูงกว่า เป็นต้น การใช้ปุ๋ยคอกจะให้ผลดีในระยะยาว ไม่ใช่แค่ช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่ดีให้กับดินเท่านั้น แต่ยังปรับสภาพดินเดิมให้ดีขึ้นทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ จากดินเหนียวแน่นก็จะร่วนซุยและระบายอากาศได้ดีขึ้น ส่วนข้อเสียก็จะเป็นเรื่องของการสลายตัวอย่างรวดเร็วของธาตุอาหาร เราจึงต้องใส่ใจในการเก็บรักษาและควรรีบนำไปใช้งานในช่วงที่ปุ๋ยยังสดใหม่อยู่
ปุ๋ยคอก
  • ปุ๋ยหมัก หมายถึง ปุ๋ยที่ต้องผ่านกระบวนการหมักก่อนนำไปใช้งาน ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ที่เป็นสารอินทรีย์มาหมักจนกว่าจุลินทรีย์จะทำงานเสร็จสิ้น แล้วได้เป็นปุ๋ยที่มีความทนทานต่อการย่อยสลายเพิ่มขึ้น ธาตุอาหารในปุ๋ยหมักก็จะแตกต่างกันไปตามแต่วัสดุที่เราเลือกใช้ เช่น ถ้าใช้ฟางข้าวมาหมักก็จะได้ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง ถ้าใช้ซังข้าวโพดมาหมักก็จะได้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เป็นต้น กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แนะนำถึงลักษณะของปุ๋ยหมักที่ดีเอาไว้ว่า ต้องมีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย และมีสีน้ำตาลปนดำ ข้อดีที่โดดเด่นของปุ๋ยหมักก็คือการปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เนื้อดินจะมีความร่วนซุยและมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น แบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในดินก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นด้วย แต่ข้อเสียคือต้องมีความเข้าใจถึงวิธีการทำและใส่ใจดูแลตลอดระยะเวลาหมัก จึงจะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพตามต้องการ
ปุ๋ยหมัก
  • ปุ๋ยพืชสด หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการไถกลบพืชบางชนิดหลังจากเติบโตได้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้พืชเหล่านั้นย่อยสลายโดยธรรมชาติและกลายเป็นแร่ธาตุในดิน โดยลักษณะของพืชที่นิยมใช้จะต้องเป็นพืชโตไว ขยายพันธุ์ง่าย และต้องไม่เป็นต้นเหตุในการเกิดโรคพืชอื่นๆ ด้วย ข้อดีของการใช้ปุ๋ยพืชสดคือทำได้ง่ายและชดเชยอินทรียวัตถุที่สูญเสียไประหว่างฤดูกาลเพาะปลูกที่ผ่านมาได้ดีมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีส่วนช่วยปรับโครงสร้างเม็ดดินให้ระบายอากาศและอุ้มน้ำได้ดีขึ้นด้วย
ปุ๋ยพืชสด
https://www.plookphak.com/green-manure/

2. ปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยอนินทรีย์ (inorganic fertilizer) คือปุ๋ยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสารอนินทรีย์ ซึ่งเป็นสารที่ได้จากสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหมด หลายคนจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อว่าปุ๋ยเคมีมากกว่า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปุ๋ยชนิดนี้จะต้องมีส่วนผสมที่ผ่านการสังเคราะห์ขึ้นมาเท่านั้น แต่อันที่จริงสารอนินทรีย์มีทั้งแบบสังเคราะห์และแบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามที่ ดร.อาจ สุวรรณฤทธิ์ ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ในเอกสารชื่อความจริงเกี่ยวกับปุ๋ยในการเกษตรและสิ่งแวดล้อมว่า ปุ๋ยโพแทสเซียมที่ได้มาจากการบดหินฟอสเฟตผสมกับแร่ซิลไวท์ก็จัดเป็นปุ๋ยอนินทรีย์เช่นเดียวกัน ลักษณะเด่นของปุ๋ยอนินทรีย์อยู่ที่การกำหนดอัตราส่วนของแร่ธาตุได้ จึงสะดวกต่อการนำไปใช้ในกรณีที่ต้องการเพิ่มธาตุอาหารชนิดใดแบบเฉพาะเจาะจง ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ปุ๋ยอนินทรีย์จึงเห็นผลได้อย่างชัดเจนในระยะสั้น เหมาะสำหรับเร่งการเติบโตของต้นพืชในบางช่วงเวลา แต่ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีสารตกค้างในดิน และอาจทำให้เนื้อดินเปลี่ยนสภาพไปจนไม่เหมาะกับการเพาะปลูกอีก เราสามารถแบ่งประเภทของปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักเพียงชนิดเดียว เรียกอีกอย่างว่า “แม่ปุ๋ย” ใช้สำหรับการเพิ่มธาตุอาหารบางชนิดให้กับพืชในปริมาณมาก หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยผสม ปุ๋ยเชิงเดี่ยวนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มตามธาตุอาหารได้อีก 3 กลุ่ม คือ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยโพแทสเซียม และปุ๋ยฟอสฟอรัส
ปุ๋ยยูเรีย
  • ปุ๋ยเชิงประกอบ หมายถึง ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป โดยโครงสร้างในทางเคมีจะต้องมีการยึดเกี่ยวกันด้วยพันธะจนกลายเป็นสารประกอบเคมีที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ปุ๋ยเชิงประกอบจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างธาตุอาหารตัวไหนก็ได้ เช่น ปุ๋ยโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นการผสมระหว่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ปุ๋ยโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต เป็นการผสมระหว่างฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม เป็นต้น
ปุ๋ยเคมี
https://medicroslavl.ru/th/fertilizer/
  • ปุ๋ยเชิงผสม หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการผสมปุ๋ยอนินทรีย์หรือปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องเกิดพันธะเคมีและไม่จำเป็นต้องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันก็ได้ ปุ๋ยเชิงผสมอย่างง่ายก็คือการเอาแม่ปุ๋ยที่ต้องการมาคลุกเคล้ากันก่อนนำไปใช้งาน แต่หากเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นมาอีก ก็จะต้องมีการวัดอัตราส่วนผสมของแม่ปุ๋ยที่แน่นอน ถ้ามีการปั้นเป็นทรงกลมก็ต้องแน่ใจว่าในแต่ละเม็ดมีสัดส่วนของปุ๋ยที่สม่ำเสมอ
ปุ๋ยผสม
https://www.prachachat.net/economy/

3. ปุ๋ยชีวภาพ

ปุ๋ยชีวภาพ (bio-fertilizer) คือปุ๋ยที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์มีชีวิต และจุลินทรีย์เหล่านั้นสามารถสร้างธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืชได้ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในลักษณะที่มีผลต่อเซลล์พืชโดยตรงหรือมีผลต่อการปรับเปลี่ยนสภาพดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นก็ตาม ปุ๋ยชีวภาพมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าปุ๋ยจุลินทรีย์ แต่ไม่ใช่ว่าจะนำจุลินทรีย์ชนิดใดมาผลิตเป็นปุ๋ยก็ได้ ต้องคัดเลือกเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการเท่านั้น เราสามารถแบ่งปุ๋ยชีวภาพตามลักษณะการให้ธาตุอาหารได้อีก 2 ประเภท คือ ประเภทที่สร้างธาตุอาหารให้พืช และประเภทที่ทำให้ธาตุอาหารนั้นมีประโยชน์กับพืช

ปุ๋ยชีวภาพ
https://erc.kapook.com/article16.php

ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์สร้างธาตุอาหารพืช

จุลินทรีย์ที่ถูกเลือกใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพประเภทนี้ จะต้องมีคุณสมบัติในการสร้างธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้ด้วยตัวเอง ตามข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรที่ระบุไว้ในคู่มือปุ๋ยชีวภาพกล่าวว่า ปัจจุบันเราพบจุลินทรีย์ที่น่าสนใจเพียงแค่กลุ่มเดียวเท่านั้น คือกลุ่มจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน ประกอบด้วยแบคทีเรียและแอคทีโนมัยซีท จุลินทรีย์เหล่านี้จะมีชุดยีนพิเศษที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และควบคุมการสร้างเอนไซม์ไนโตรจีเนสได้ด้วย การเจาะลึกในส่วนของความสัมพันธ์กับพืชอาศัยจะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพืชแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiotic nitrogen fixation) ปุ๋ยชีวภาพในกลุ่มนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนสูงมากทีเดียว แบคทีเรียจะเกาะติดอยู่กับต้นพืชด้วยการทำโครงสร้างพิเศษขึ้นมา เพื่อให้สามารถเกาะในตำแหน่งที่เหมาะสมพร้อมกับเริ่มกระบวนการตรึงไนโตรเจนได้อย่างสมบูรณ์ เช่น แบคทีเรียสกุลไรโซเบียมจะสร้างปมบนส่วนต่างๆ ของพืชตระกูลถั่ว แบคทีเรียสกุลแฟรงเคียที่สร้างปมบริเวณรากต้นสน เป็นต้น ข้อดีคือพืชอาศัยสามารถนำไนโตรเจนไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง แต่ปริมาณการตรึงไนโตรเจนอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามปัจจัยประกอบหลายอย่าง ทั้งสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ สายพันธุ์พืช และความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม
  • กลุ่มที่ 2 ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพืชแบบอิสระ (non- symbiotic nitrogen fixation) กลุ่มนี้จะเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ยึดติดกับพืชอาศัย แต่กระจายตัวอย่างอิสระอยู่ตามบริเวณต่างๆ ซึ่งเราอาจแบ่งตามพื้นที่อาศัยได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ แบคทีเรียที่อาศัยในดินและบริเวณใกล้ๆ กับรากพืช แบคทีเรียที่อาศัยทั้งในดิน บริเวณใกล้ๆ กับรากพืช และอยู่ในรากพืชชั้นนอกด้วย สุดท้ายคือแบคทีเรียที่อยู่ในลำต้นและส่วนใบของพืช แม้ว่ากลุ่มสุดท้ายจะดูเหมือนเข้าไปอยู่ในพืชอาศัย แต่ก็ไม่ได้เกาะติดที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ยังคงความเป็นอิสระอยู่เช่นเดิม ประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจนของจุลินทรีย์กลุ่มนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก
ปุ๋ยหมักชีวภาพ
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/

ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช

สำหรับจุลินทรีย์กลุ่มนี้จะไม่มีคุณสมบัติในการสร้างธาตุอาหาร แต่สามารถเปลี่ยนสภาพสิ่งที่มีอยู่แล้วในดินให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพืชได้ โดยการปล่อยกรดอินทรีย์หรือเอนไซม์บางชนิดเพื่อละลายธาตุอาหารจนอยู่ในลักษณะที่นำไปใช้งานได้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • ปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ปุ๋ยกลุ่มนี้มีชื่อย่อว่า PGRP อาจประกอบขึ้นจากแบคทีเรียกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่มก็ได้ ทำให้มีประโยชน์ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่การละลายฟอสเฟตในติด การผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่กระตุ้นการเติบโตของพืช ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซึมอาหารให้กับพืช
  • ปุ๋ยชีวภาพที่ช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร บทบาทหลักๆ ของจุลินทรีย์กลุ่มนี้คือการละลายสารประกอบในดินเพื่อให้กลายเป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์ เช่น การสร้างกรดอินทรีย์เพื่อละลายโพแทสเซียมในดินเหนียวของพาร์ซิลลัส การสร้างเส้นใยดูดซึมและช่วยละลายฟอสเฟตในดินของไมคอร์ไรซา เป็นต้น
ปุ๋ย PGRP
https://www.svgroup.co.th/blog/

สูตรปุ๋ย

จากเอกสารคำแนะนำเรื่องการจัดการดินและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้อธิบายถึงสูตรปุ๋ยไว้ว่า สูตรปุ๋ยคือตัวเลขที่ระบุเอาไว้บนกระสอบปุ๋ย ตัวเลขแต่ละชุดจะบอกถึงสัดส่วนธาตุอาหารหลักที่อยู่ในปุ๋ยนั้น ซึ่งบอกเป็นค่าเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก และเรียงตามลำดับดังนี้ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เช่น สูตรปุ๋ย 16-32-16 หมายความว่า ในปุ๋ยทั้งหมด 100 กิโลกรัม จะมีไนโตรเจน 16 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 32 กิโลกรัม และโพแทสเซียม 16 กิโลกรัม หากน้ำหนักปุ๋ยในกระสอบไม่ถึง 100 กิโลกรัม ก็ให้เทียบสัดส่วนเต็มร้อยก่อนแล้วค่อยลดทอนในภายหลัง น้ำหนักที่เกินมาจากธาตุอาหารหลักจะเป็นสารเสริมอื่นๆ เช่น ดินขาว ยิปซั่ม เป็นต้น

เรโชของปุ๋ย

เรโชของปุ๋ยจะเป็นการบอกถึงสัดส่วนระหว่างธาตุอาหารหลักในปุ๋ยนั้นๆ โดยไม่เกี่ยวกับน้ำหนักของปุ๋ย แต่เทียบแค่ปริมาณของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมว่าสัมพันธ์กันอย่างไร อย่างเช่น สูตรปุ๋ย 16-16-16 จะมีเรโชปุ๋ยเป็น 1:1:1 ขณะที่สูตรปุ๋ย 20-10-5 จะมีเรโชปุ๋ยเป็น 4:2:1 เรโชปุ๋ยนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเลือกใช้ปุ๋ย ไม่ว่าสูตรปุ๋ยจะเป็นอย่างไร หากเรโชเหมือนกันก็เท่ากับว่าปุ๋ยเหล่านั้นสามารถใช้ทดแทนกันได้นั่นเอง แต่ต้องดูเรื่องปริมาณการใช้ให้เหมาะสม เพราะค่าความเข้มข้นแตกต่างกัน

การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าปุ๋ยที่เลือกใช้จะเป็นปุ๋ยประเภทใด ก็ล้วนแต่มีหลักเกณฑ์สำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนการใช้เหมือนกัน ดังนี้

  • เลือกใช้สูตรปุ๋ยให้เหมาะสม ซึ่งต้องผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหมดให้ครบถ้วนก่อน ตั้งแต่สายพันธุ์พืช ความต้องการของพืช ค่าความสมบูรณ์ของดิน สภาพแวดล้อม ไปจนถึงเป้าหมายของเกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยนั้นด้วย โดยจะใช้เป็นปุ๋ยเคมีที่มีในท้องตลาดอยู่แล้ว หรือใช้เป็นปุ๋ยสั่งตัดที่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ก็ได้
  • ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับช่วงเวลา เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีจังหวะในการเติบโตต่างกัน ความต้องการธาตุอาหารในระดับสูงจึงอยู่ในช่วงที่ต่างกันด้วย เช่น พืชอายุสั้นจะต้องการธาตุอาหารมากในช่วงกำลังแตกกอหรือสร้างตาดอก ไม้ผลต้องการธาตุอาหารทั้งช่วงสร้างใบ สร้างดอก และติดผล แต่ว่าต้องการชนิดของธาตุอาหารที่ต่างกัน เป็นต้น ถ้าเราใส่ปุ๋ยได้ถูกเวลา พืชก็จะดึงไปใช้ได้อย่างคุ้มค่าและไม่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
  • ใส่ปุ๋ยในจุดที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าควรเป็นจุดที่ใกล้กับบริเวณราก แต่ต้องระวังไม่ให้ใกล้จนเกินไป ไม่อย่างนั้นอาจเป็นอันตรายต่อระบบรากได้เหมือนกัน
  • ใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ปุ๋ยที่มากหรือน้อยเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีทั้งนั้น นอกจากการดูสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมแล้ว ก็ต้องคำนวณปริมาณที่ต้องใช้ด้วยเช่นกัน
ปุ๋ยอินทรีย์อะไรดี
http://www.press-release.ru/branches/markets/

สรุปข้อดีและข้อเสียของปุ๋ยแต่ละประเภท

ปุ๋ยอินทรีย์

  • ปุ๋ยคอก
    ข้อดี เพิ่มธาตุอาหารและปรับสภาพดินได้ในระยะยาว ใช้ได้ในทุกช่วงการเติบโตของต้นพืช หาวัตถุดิบได้ง่าย ราคาไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    ข้อเสีย ธาตุอาหารสลายตัวค่อนข้างเร็ว
  • ปุ๋ยหมัก
    ข้อดี เพิ่มธาตุอาหารพร้อมปรับองค์ประกอบในดิน ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยประเภทอื่น ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานได้
    ข้อเสีย ต้องมีความเข้าใจการทำปุ๋ยหมักที่ถูกต้อง ใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างนาน
  • ปุ๋ยพืชสด
    ข้อดี ให้ไนโตรเจนในปริมาณสูง เพิ่มอินทรียวัตถุในดินที่สูญเสียไป ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
    ข้อเสีย ต้องลงทุนลงแรงในการปลูกพืชสำหรับทำปุ๋ย ใช้เวลาเตรียมการพอสมควร

ปุ๋ยอนินทรีย์

  • ข้อดี รู้ปริมาณธาตุอาหารที่แน่นอน เห็นผลชัดเจนในระยะเวลาอันสั้น เหมาะกับการเร่งผลผลิตในบางจังหวะการเติบโต
  • ข้อเสีย มีผลเสียต่อสภาพดินในระยะยาว หากเลือกสูตรและปริมาณไม่เหมาะสมจะเป็นอันตรายต่อต้นพืช

ปุ๋ยชีวภาพ

  • ข้อดี ช่วยปรับคุณสมบัติของดิน ทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพ ให้ผลลัพธ์ในระยะยาว
  • ข้อเสีย ปริมาณธาตุอาหารต่ำเกินกว่าจะใช้ปุ๋ยเพียงชนิดเดียวในช่วงแรก ต้องใช้เวลานานกว่าจุลินทรีย์จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ราคาต่อหน่วยค่อนข้างแพง

แหล่งอ้างอิง

เอกสารวิชาการเรื่อง เรื่องควรรู้เกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์, นางนรีลักษณ์ ชูวรเวช. กลุ่มงานวิจัยปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน.
ความจริงเกี่ยวกับปุ๋ยในการเกษตรและสิ่งแวดล้อม, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์.
การจัดการดินและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ปุ๋ยอินทรีย์, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
คู่มือ ปุ๋ยชีวภาพ, กรมวิชาการเกษตร. 2564.

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้