กล้วยตานีด่าง ไม้ประดับแปลกตา เสริมความเป็นสิริมงคล

ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa ballbisiana Colla ‘Variegated’

ชื่อวงศ์ MUSACEAE

กล้วยตานีด่าง ภาษาอังกฤษ

กล้วยตานีด่าง เป็นพืชสกุล MUSACEAE ซึ่งกล้วยสายพันธุ์ด่าง จะมีลักษณะคล้ายกับกล้วยทั่ว ๆ ไป โดยจะต่างกันตรงสีด่างเท่านั้น ลายด่างของกล้วยตานีด่างนี้มักจะเกิดเองตามธรรมชาติ ค่อนข้างหายาก และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แสงแดด ปุ๋ย ดิน อากาศ พันธุกรรมของต้นกล้วยตานีด่าง แม้ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะเป็นไม้ด่าง แต่หน่อที่แตกใหม่ออกมาก็อาจจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน หรืออาจจะไม่ด่างก็ได้ โดยต้นกล้วยตานีด่างมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงประมาณ 4 เมตร ซึ่งใบ ลำต้น หรือผลของกล้วยจะมีลายแปลก และมีเอกลักษณ์ โดยการเกิดสีด่างของกล้วยตานีนั้น เกิดมาจากการกลายพันธุ์ทางธรรมชาติ เนื่องจากต้นกล้วยไม่สามารถสร้างคลอโรฟิลได้เต็มที่ จึงทำให้มีสีด่างแทนที่จะมีสีเขียวตามปกติ ด้วยความแตกต่างนี้ทำให้กล้วยตานีด่างกลายเป็นไม้ประดับราคาแพงที่คนให้ความสนใจ โดยมักจะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับให้ความสวยงาม ร่มรื่นแก่สถานที่ต่างๆ รวมถึงนิยมนำมาปลูกเป็นต้นไม้มงคลปลูกหน้าบ้านด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกล้วตานีด่าง

คนไทยมีความเชื่อเกี่ยวกับกล้วยตานีด่างว่า หากปลูกต้นกล้วยตานีด่างไว้ที่บ้านจะช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกและผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้าน จะพบแต่ความเจริญ ทำกิจการงานใดก็มีแต่ความสำเร็จราบรื่นเหมือนการปอกกล้วยเข้าปากนั่นเอง

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

สามารถปลูกได้ทั้งบริเวณกลางแจ้งและแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวปนทราย ชอบความชื้นปานกลาง  นิยมปลูกหน้าบ้านเพื่อเพิ่มความสวยงาม

กล้วยตานีด่าง ความเชื่อ

ลักษณะทั่วไป

  • ลำต้น มีความสูงประมาณ 4 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวเข้ม มีริ้วด่างขาว มีปื้นดำที่คอใบเล็กน้อย กาบด้านในสีเขียว หน่ออ่อนสีเขียวเข้ม ไม่มีประ
  • ใบ ก้านใบสีเขียวเข้ม ครีบก้านในสีเขียวขอบดำ โคนใบมนและเท่ากันทั้งซ้าย-ขวา มีสีเขียวอ่อนไปถึงเขียวเข้ม มีลวดลายสีขาวปนอยู่บริเวณใบ
  • ดอก หรือปลี ก้านช่อดอกไม่มีขน ปลายมนโค้งลง ไม่ม้วนงอ ใบประดับสีน้ำตาลอมแดง เรียงเหลื่อมซ้อนกันชัดเจน โคนใบด้านในสีเหลืองซีด ปลายใบด้านในสีชมพู
  • ผลขนาดเล็กป้อมสั้น ปลายผลมีจุกยาว ออก 7-8 หวีต่อเครือ 1 หวี มีประมาณ 8-10 ผล ผลดิบจะมีสีเขียวเข้มลายริ้วด่างขาว เมื่อผลสุกเนื้อจะมีสีขาว มีเมล็ดมาก

วิธีการปลูก

การปลูกกล้วยตานีด่างสามารถทำได้หลายวิธีตามความถนัด หลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน คือ การเพาะเมล็ด การแยกหน่อ การเพาะเนื้อเยื่อ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการแยกหน่อ ซึ่งมีวิธีการคือ เลือกต้นแม่ที่มีหน่อใหม่อวบอ้วน แข็งแรงและให้ใบแล้ว 3-4 ใบ มีใบด่างสม่ำเสมอ ขุดดินรอบๆ หน่อที่ต้องการแยก ระวังอย่าให้โดนหน่อเล็กๆ ข้างๆ ต้นแม่ ให้ลึกลงไปประมาณ 20-30 เซนติเมตร จนเห็นราก ใช้ชะแลงเหล็กปักระหว่างต้นแม่และหน่อลูก แล้วใช้ค้อนปอนด์ตอกชแลงเพื่อตัดหน่อให้ขาด ใช้ชะแลงค่อยๆ งัดหน่อขึ้นจนรากลอย ล้างแผลที่หน่อลูกให้สะอาด ผึ่งให้พอแห้งแล้วใช้ปูนแดงทาบริเวณบาดแผลเพื่อป้องกันหน่อเน่า และทาปูนแดงตรงแผลรอยตัดที่ต้นแม่ด้วย หลังจากนั้นเตรียมกระถางพร้อมกาบมะพร้าวสับที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว ผสมกับเพอร์ไลท์ประมาณหนึ่งกำมือ แล้วนำหน่อกล้วยลงปลูก รดด้วยสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อรากับสตาร์บี 1 ให้ชุ่มชื้น ให้น้ำไหลออกจากกระถาง รอจนสะเด็ดน้ำ ยกกระถางในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นด้วยเทปกาว วางกระถางในที่มีแสงรำไร โดยไม่ต้องรดน้ำเพิ่ม ประมาณ 10 วันเปิดถุงดูว่ามีรากหรือไม่ ถ้ารากจะเริ่มดิน อาจรดยากันยาอีกครั้งแล้วใส่ถุงรักษาความชื้นต่ออีก 10 วัน ลองแกะดูอีกครั้งคราวนี้ถ้ารากเจริญถึงก้นกระถาง รอจนครบ 30 วัน ก็สามารถเอาไปปลูกลงแปลงดินต่อได้

การปลูกกล้วยตานีด่าง

วิธีการขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ แต่นิยมวิธีการแยกหน่อเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว โดยหน่อกล้วยตานีด่างที่นำมาใช้ขยายพันธุ์ควรมีลำต้นที่แข็งแรง มีใบด่างสม่ำเสมอ สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกกล้วยตานีด่างนั้น นอกจากการเลือกประเภทดินให้เหมาะกับสายพันธุ์ มีความอุดมสมบูรณ์และระบายได้ดีแล้ว ควรเลือกช่วงเวลาการปลูกให้เหมาะสม ได้แก่ ช่วงฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม เพราะมีความชุ่มชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโตได้ดี

วิธีการเลือกหน่อกล้วยตานีด่าง

การคัดเลือกหน่อต้นที่แข็งแรง โดยให้เราพิจารณาจากรากแน่นและเยอะ ลำต้นสมบูรณ์ ไม่มีรอยช้ำหรือหัก ลำต้นต้องแข็ง ไม่นิ่ม สังเกตรูปแบบของลวดลายที่ปรากฎที่ใบ ลำต้นและถึงผล ลวดลายด่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีสีสันที่ชัด ลักษณะของใบต้องสมบูรณ์ ไม่มีรอยไหม้หรือรอยโรค

วิธีการดูแล

วิธีดูแลกล้วยตานีด่างให้เจริญเติบโตงอกงามนั้น สามารถทำได้ดังนี้

  • ดิน ควรปลูกในดินร่วนซุยที่สามารถระบายน้ำได้ดี โดยอาจนำดินไปผสมกับอินทรีย์วัตถุอื่นด้วย เช่น กากมะพร้าวแห้ง ถ่าน เศษใบไม้แห้ง ฯลฯ
  • น้ำ ในช่วงแรกควรรดน้ำเช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นกล่วยตานีด่างแข็งแรงดีแล้ว อาจเปลี่ยนมารดน้ำวันละครั้งหรือรดวันเว้นวันก็ได้ ระวังอย่ารดน้ำมากเกินไปและอย่าปล่อยให้มีน้ำท่วงขัง
  • แสงแดด สามารถปลูกต้นกล้วยได้ในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงครึ่งวันเช้า หากปลูกในที่ที่มีแสงแดดจัดมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะใบเหลืองและเฉาตายได้
  • ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยบำรุงในปริมาณที่พอเหมาะโดยการหว่านให้กระจายไปบริเวณรอบ ๆ โคนต้น เดือนละครั้ง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี
กล้วยตานีด่าง ดูแล

ประโยชน์และสรรพคุณ

ต้นกล้วยตานีด่างสามารถนำมาประดับบ้านได้ ด้วยลักษณะที่โดดเด่น แปลกตา ไม่เหมือนใคร ทำให้หลายคนนิยมนำกล้วยด่างไปปลูกประดับตกแต่งภายในอาคาร เช่น บ้าน คอนโด และจัดสวน หรือจะนำไปรับประทานก็ได้เช่นเดียวกัน หลายส่วนของกล้วยตานีด่างก็เก็บไปรับประทานได้ ไม่ว่าจะเป็นผล ปลี และหยวกกล้วย โดยสามารถนำไปทำได้ทั้งอาหารคาวและของหวานเลย เช่น แกง หมวกไก่ ผัดไทย รวมถึงตำและยำต่าง ๆ หรือจะนำไปทำเป็นงานแฮนด์เมดเช่น นำกาบกล้วยมาทำเชือกทอผ้า เป็นต้น  นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกประดับบ้านและจัดสวนเพื่อเพิ่มความสวยงามแล้ว ยังตามมาด้วยประโยชน์อีกมากมาย สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งลำต้น ใบ ปลี และผล นอกจากนี้ยังสามารถเพาะขาย สร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

ราคากล้วยตานีด่าง

ในปัจจุบันไม่ใช่แค่กล้วยตานีด่างเท่านั้นที่มีราคาแพง แต่ต้นไม้ใบด่างชนิดอื่น ๆ ที่นิยมปลูกและเป็นที่ต้องการของนักสะสมในตอนนี้อย่าง ยางอินเดีย มอนสเตอร่า ฟิโลเดนดรอน คล้า ก็มีราคาสูงไม่แพ้กัน นั่นเป็นเพราะว่าลายด่างของต้นไม้เหล่านี้มักจะเกิดเองตามธรรมชาติ ค่อนข้างหายาก และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แสงแดด ปุ๋ย ดิน อากาศ พันธุกรรมของต้นไม้ แม้ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะเป็นไม้ด่าง แต่หน่อที่แตกใหม่ออกมาก็อาจจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน นอกจากนี้หากเป็นต้นที่ให้ทรงสวย ลายแปลก และมีเอกลักษณ์ ก็จะทำให้ราคาของต้นไม้สูงขึ้นอีก ยกเว้นต้นไม้ใบด่างที่ขยายพันธุ์ง่าย โตเร็ว และมีใบด่างตามลักษณะสายพันธุ์เดิมอยู่แล้ว เช่น พลูด่าง สาวน้อยประแป้ง ก็จะมีราคาต่ำลงมา เรียกได้ว่าต้นไม้ด่างยังเป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ราคาในตลาดตอนนี้บางต้นทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใบด่าง ราคาก็แตะที่หลักหมื่นถึงหลักล้านกันเลยทีเดียว

ราคา หน่อกล้วยตานีด่าง

แหล่งอ้างอิง

http://www.snc.lib.su.ac.th/

http://www.qsbg.org/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้