ชมพู่ เพี้ยนมาจากคำว่า “จัมบู” หรือ “จามู” ในภาษามลายู ผลไม้รสเลิศ ที่มีเนื้อฉ่ำ ทานแล้วสดชื่น แก้กระหายได้ดี และยังมีคุณค่าโภชนาการมากมาย ทั้งวิตามิน เอ บี ซี และดี และสารอาหารนานาชนิด และยังปลูกง่ายสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในเขตร้อนและกึ่งร้อน นับได้ว่าเป็นผลไม้ที่หาทานได้ง่าย และยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย
ข้อมูลที่น่าสนใจ
ชื่ออังกฤษ : Rose Apple Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium jambos (L.) Alston
วงศ์ : MYRTACEAE
ส่วนประกอบของต้นชมพู่
ลำต้น
ลำต้นของชมพู่จะมีความสูง 5-20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบหรือขรุขระ มีสีน้ำตาลหรือเทา มักแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณใกล้กับโคนต้น
ใบ
เป็นใบเดี่ยว เรียงตัวกันแบบตรงข้าม ใบหนาผิวด้านหลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ปนสีแดงหรือม่วง
ดอก
จะออกตามใบ สีดอกแตกต่างกันไปตามพันธุ์อาจจะเป็นสีขาว เหลือง ชมพู หรือแดง ชั้นกลีบเลี้ยงจำนวน 4-5 กลีบ และอยู่ติดกันเป็นรูปถ้วย เมื่อดอกบานชั้นกลีบจะหลุดร่วงเป็นแผงคล้ายหมวก เกสรตัวผู้มีจำนวนมากมาย และอัปเกสรสีทองอยู่ที่ปลายดอก
ผล
ชมพู่มีลักษณะคล้ายระฆัง ปลายผลมีชั้นกลีบเลี้ยงรูปถ้วยติดอยู่ตลอด เนื้อ สี รูปร่าง ขนาด และรสชาติแตกต่างกันตามพันธุ์ ส่วนเมล็ดมีตั้งแต่ 1-5 เมล็ด หรือบางสายพันธุ์อาจไม่มี
สายพันธุ์ของชมพู่
ชมพู่มีหลากหลายสายพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองได้แก่
- ชมพู่มะเหมี่ยว ผลสีแดงเข้ม เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำ มีเมล็ดขนาดใหญ่ รสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอมคล้ายดอกกุหลาบ
- ชมพู่สาแหรก ลักษณะภายนอกคล้ายชมพู่มะเหมี่ยวแต่ขนาดผลเล็กกว่า บริเวณปลายกลีบยื่นออกมาคล้ายกับปากนำ เนื้อออกสีขาวขุ่น รสหวานฉ่ำน้ำ
- ชมพู่แก้วแหม่ม ผลสีสีขาวออกชพุ เนื้อนุ่ม มีไส้เป็นปุย รสจือ มีกลิ่นหอม
- ชมพู่พลาสติก หรือชมพู่แก้ว ขนาดเล็ก รูรงแป้น ผิวสีแดงสด เนิ้อน้ยอ รสเปรี้ยว มักปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้าน
- ชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นชมพู่ผลกลม ภายในผลกลวง ที่ก้นผลมีกลีบ มองดูคล้ายดอกไม้ ผลดิบสีเขียวเข้ม ผลสุกสีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม อันเป็นที่มาของชื่อ น้ำดอกไม้
ชมพู่ที่ปลูกเพื่อการค้า ได้แก่
- ชมพู่เพชรสุวรรณ ผิวสีเขียวอมแดง เนื้อหนากรอบ ฉ่ำน้ำ รสหวาน
- ชมพู่เพชรสายรุ้ง ปลูกในจังหวัดเพชรบุรี เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างชมพุ่กะหลาป่าของอินโดนีเซียกับชมพู่แดงของไทย เป็นชมพู่ที่มีรสหวานกรอบ และราคาแพงที่สุดในบรรดาชมพู่ด้วยกันรูปทรงคล้ายระฆังคว่ำ ตรงกลางผลป่องเล็กน้อย ผิวเปลือกสีเขียว เวลาแก่จัดจะเห็นเส้นริ้วสีแดงที่ผิวชัดเจน เนื้อแข็งกรอบ รสหวานมากกว่าชมพู่ทุกชนิด
- ชมพู่ทับทิมจันทน์ ผลยาวรี ตรงกลางคอด บริเวณปลายผลป่อง ผิวสีแดง เนื้อกรอบ ฉ่ำน้ำ รสหวาน กลิ่นหอม ไม่มีเมล็ด
- ชมพู่ทูลเกล้า เป็นชมพู่สีเขียวอ่อน รูปกรวยแคบ ผลยาวรีทรงสูงกว่าพันธุ์อื่น ๆ ขั้วผลแคบกลมมน ก้นผลกว้าง พองออกเล็กน้อย ผิวเรียบ สีเขียวอ่อน เนื้อในสีขาวออกเขียว เนื้อหนา กรอบ ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอม ไม่มีเมล็ด
- ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง ผลยาวรี รูปกรวยแคบ ขั้วผลแคบกลมมน ก้นผลกว้าง พองออกเล็กน้อย เปลือกหนา สีแดงเข้ม เนื้อสีขาว กรอบ รสหวานอมฝาดเล็กน้อย
วิธีการปลูกชมพู่
การเพาะขยายพันธุ์
การเพาะขยายพันธุ์สามารถได้หลายวิธี แต่ที่นิยม คือ การปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และการเสียบยอด และสามารถให้ผลผลิตเร็ว และลำต้นไม่สูงมากนัก
การตอนกิ่ง
จะต้องคัดเลือกกิ่งชมพู่ที่มีความแข็ง ขนาดกิ่งยาวประมาณนิ้วชี้ – นิ้วหัวแม่มือ เปลือกกิ่งจะต้องมีสีน้ำตาล จากนั้น ใช้มีดตัดควั่นรอบกิ่งเป็น 2 รอย ที่ระยะห่าง 2-3 ซม. หรือเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่ง จากนั้น ลอกเปลือกออก และขูดเยื่อที่ผิวแก่นของกิ่งออกให้หมดจนเหลือแต่เนื้อไม้ แล้วนำถุงพลาสติก พร้อมขุยมะพร้าวชุ่มน้ำ ผ่าถุงตามแนวขวางให้ลึกเกือบถึงขอบอีกด้าน และแบะถุงก่อนนำถุงมาหุ้มทับบริเวณรอยกรีดให้มิด และใช้เชือกฟางรัดหัวท้ายให้แน่น หลังจากนั้น 30-45 วัน จะเริ่มมีรากงอก เมื่อรากแก่ (ประมาณ 2 เดือน) รากสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลงหรือปลูกดูแลในถุงเพาะ
การเสียบยอด
ใช้วิธีเพาะเมล็ดอ่อนให้ต้นโตก่อน โดยดูแลให้ต้นโต ประมาณ 3 นิ้ว เพื่อใช้เป็นต้นตอ หลังจากนั้น ตัดต้นตอ แล้วค่อยตัดกิ่งชมพู่ที่มีขนาดเท่ากันมาเสียบยอดเป็นต้นใหม่
ขั้นตอนการปลูก
- ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออก และขุดหลุมปลูก 50*50*50 ซม. แล้วตากหลุมทิ้งไว้ 7 วัน
- นำปุ๋ยคอกมารองก้นหลุมพร้อมคลุกผสมกับหน้าดินให้เข้ากัน
- นำกิ่งชมพู่ลงมาปลูกในหลุม พร้อมกลบหน้าดินให้พูนขึ้นเล็กน้อย
- นำไม้ไผ่มาปักเป็นคานอิง และรัดด้วยเชือกฟาง
- นำฟางข้าว หรือเศษใบไม้มาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในหน้าดิน
วิธีการดูแลชมพู่
สภาพแวดล้อม
ชมพู่สามารถเติบโตได้ดีในเขตร้อน และกึ่งร้อน และปลูกได้ดีทุกภาคทั่วไทย และทุกฤดูกาล
ดิน
– ชมพู่ชอบดินร่วนหรือดินปนทรายร่วนปนอินทรีย์วัตถุมากๆ ระบายน้ำได้ดี เนื้อดินไม่
– ระบบรากหากินบริเวณผิวดิน จึงไม่ค่อยทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง
– ต้องการความชื้นสูงทั้งในดิน และอากาศ
– ช่วงพักต้นต้องการน้ำน้อยและออกดอกติดผลสม่ำเสมอ
การให้น้ำ
– ช่วงแรกๆ ควรให้น้ำวันละครั้ง หรือ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้
– ในฤดูฝนไม่ควรให้น้ำ
– หลังจากที่ต้นติด หรือตั้งต้นได้แล้ว ให้น้ำ 3-5 วัน/ครั้ง
– การให้น้ำจะให้ตามปกติขณะที่ต้นชมพู่ยังไม่ติดดอกออกผล
– ถ้าหากเป็นช่วงฤดูแล้งจะต้องให้น้ำอย่างน้อย 5-7 วัน/ครั้ง
– สังเกตความชื้นที่ดินเป็นหลัก น้ำต้องเต็มแอ่งรอบโคนต้นชมพู่ จนกว่าต้นจะออกดอก
– หากต้นออกดอกให้ทิ้งระยะให้น้ำแห้งไปประมาณ 10-14 วัน เพราะหากดินชื้นจะทำให้ออกดอกน้อย
– หลังจากที่ดอกติดแล้ว และออกครบทั้งต้นจึงค่อยให้น้ำปกติ
– ระหว่างที่รอผลออก ห้ามให้ต้นชมพู่ขาดน้ำเด็ดขาดจนกว่าผลจะแก่
– งดให้น้ำ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยวจะเพิ่มความหวานได้
การควบคุมวัชพืช
– ระยะแรกให้ใช้จอบถากเดือนละครั้ง
– ควรไถพรวนดินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
– หลังจากครบ 2 ปี ให้กำจัดวัชพืช 2-3 เดือน/ครั้ง
– หากทรงพุ่มใหญ่แล้วให้กำจัดวัชพืช ปีละครั้ง
การใส่ปุ๋ย
– ระยะต้นยังไม่ให้ผลผลิต (1 ปี) ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ใส่ 2-3 ครั้ง ต้นละ 500 กรัม/ปี
– ปีที่ 2-3 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 1 ครั้ง อัตรา 15-20 กก./ต้น และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 300-500 กรัม/ต้น/ครั้ง
– ปีที่ 3 ที่ชมพู่เริ่มออกผลผลิต ใส่ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงต้นและผล โดยจะใส่หลังจากตัดแต่งกิ่งต้นชมพู่ ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยทุกครั้งที่ออกผลปีละ 3-5 ครั้ง
การตัดแต่งกิ่ง
– ครั้งแรกตัดตอนต้นชมพู่ขนาดเล็ก เพื่อให้ได้รูปทรงของลำต้น และกิ่งแตกออกได้สัดส่วน
– การตัดแต่งกิ่งจะทำให้หลังจากการปลูกต้นชมพู่ไปได้สักพัก จนชมพู่ตั้งต้นได้ และเริ่มมีการแตกกิ่งใหม่
– การตัดแต่งจะตัดเฉพาะกิ่งที่มีลักษณะกระโดงออก เหลือไว้แค่ติ่งด้านข้างให้กระจายออกไปในแนวกว้าง เพื่อให้ได้ลักษณะทรงพุ่มเตี้ย
– หลังจากออกผลผลิตจะทำการตัดเพื่อลดภาระการเลี้ยงดูของต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกผล ควรทำระยะหลังจากเก็บเกี่ยวปีละครั้ง (ช่วงมิถุนายน) พร้อมการใส่ปุ๋ยบำรุง
– ส่วนที่ไม่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวควรตัดทิ้งเพื่อไม่ให้ต้นมีภาระที่ไม่จำเป็นมากเกินไป
คุณค่าทางโภชนาการของชมพู่
- เป็นผลไม้เนื้อฉ่ำน้ำที่มีแคลอรี่ต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด และให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะมี “แจมโบไซน์” (Jambosine) ช่วยกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลของร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- ชมพู่มีค่าดัชนี้น้ำตาลต่ำ ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดทำให้ผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสามารถทานได้
- ช่วยในการขับถ่าย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก เพราะมีไฟเบอร์สูง
- ดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะมีสารอาหารนานาชนิด ไฟเบอร์ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และโพแทสเซียมสูง ช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- มีวิตามินซี ช่วยกระตึ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานแข็งแรง และกระตุ้นการทำงานของคอลลาเจน
- มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกัน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิดได้
ราคาต้นชมพู่
ราคาของต้นชมพู่ต่างกันตามขนาดและอายุ ราคาอยู่ที่ 100 – 1,500 บาท