มะขวิด ผลไม้ชื่อแปลกที่หลายคนคงจะนึกภาพได้ลำบาก แต่แม้จะไม่คุ้นหน้าคร่าตา แต่มะขวิดกลับได้รับความชื่นชอบในฐานะผลไม้รสชาติเปรี้ยวอมหวานรสชาติกลมกล่อมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ผลไม้ชนิดนี้เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมะนาวและมะตูม ต้นมะขวิดเป็นพืชยืนต้นผลัดใบ มีแหล่งกำเนิดในประเทศแถบอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดจีน นิยมปลูกทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและสวน โดยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร ทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ชอบขึ้นในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วง
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อสามัญ : Wood apple , Kanath
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Feronia limonia (L.) Swingle
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : มะยม (ภาคอีสาน), มะฝิด (ภาคเหนือ) เป็นต้น
มะขวิด กับความเชื่อในสังคมไทย
มะขวิด เป็นหนึ่งในไม้ผลที่คนโบราณ เชื่อกันว่า ไม่ควรปลูกในบริเวณที่พักอาศัย เพราะจะทำให้พบแต่อุปสรรคประสบปัญหา มีเรื่องให้ติดๆ ขัดๆ อยู่เสมอ เช่นวัสดุอุปกรณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ครบ ขาดโน่น ขาดนี่เสมอ ทำอะไรแล้ว มักจะไม่ยั่งยืน หยิบโหยง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนไม่นิยมที่จะปลูกมะขวิดไว้เป็นไม้ผลในบ้านจนกลายเป็นอุปสรรคในการขยายตลาด รวมถึงทำให้ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ในอนาคต
คนโบราณยังพูดต่อๆ กันมาว่า อย่าไปเด็ดมะขวิดกินเองตามอำเภอใจ หากไม่ได้หล่นใต้ต้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ หากมะขวิดยังไม่สุกงอมเต็มที่ รสชาติจะมีความเปรี้ยวมากกว่าหวาน คนโบราณจึงออกกุศโลบายให้คนที่อยากลิ้มลองรสชาติมะขวิดที่อร่อย เปรี้ยวอมหวานกลมกล่อมให้รอคอยเวลา ไม่ควรชิงสุกก่อนห่ามนั่นเอง
ส่วนประกอบและลักษณะเด่นของต้นมะขวิด
ลักษณะของลำต้น
มะขวิดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบแต่ผลิใบไว สูง 15 – 25 ม.เปลือกนอกสีเทา เปลือกในสีขาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม รูปทรงต้นสวยงาม
ใบ
ใบเป็นช่อแบบข้อต่อเรียงสลับหรือติดเป็นกระจุกบริเวณปุ่มตามกิ่ง ช่อใบ ยาว 8 – 15 ซม. แต่ละช่อ มี 1 – 4 ปล้อง เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงหลังใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจางกว่า ถ้าเอาใบส่องผ่านแสงจะเห็นต่อมน้ำมันทั่วไป รูปรี ๆ ใส ๆ มากมาย ขอบใบเรียบก้านใบย่อยสั้นมาก ส่วนก้านช่อใบ ยาว 3 – 4 ซม.
ดอก
ดอกมีขนาดเล็กมีสีขาวอมแดงคล้ำ ๆ ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆในแต่ละช่อมีทั้งดอกเพศผู้และดอกรวมเพศดอก เล็กสีขาวอมแดงคล้ำ ๆ ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆในแต่ละช่อมีทั้งดอกเพศผู้และดอกรวมเพศ
ผล
แบบผลแห้ง เมล็ดจำนวนมาก รูปผลกลมโต เปลือกนอก แข็งเป็นกะลา สีเทาอมขาว ขนาดผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 – 10 ซม.
สายพันธุ์มะขวิดที่เป็นที่นิยมปลูกในปัจจุบัน
มะขวิดที่นิยมนำมาบริโภคมีสองสายพันธุ์หลักๆ ที่พบในเมืองไทย คือ สายพันธุ์พื้นเมืองตัวผู้ และตัวเมีย ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวโดยการให้ผลสายพันธุ์ตัวผู้จะมีผลช้ากว่า สายพันธุ์ตัวเมียโดย เฉลี่ยแล้วจะเริ่มเก็บผลผลิตได้หลังจากที่ปลูกไปประมาณ 7-8 ปี และอีกสายพันธุ์คือสายพันธุ์มัน ที่จะรสชาติหวานมีเนื้อหอมและมัน
วิธีการปลูก และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกมะขวิด
มะขวิดนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง โดยเทคนิคเพาะเมล็ดมะขวิดจะแตกต่างจากผลไม้อื่น กล่าวคือ เลือกผลมะขวิดแก่จัดสมบูรณ์ไม่มีโรค สุกคาต้นแล้วหล่นเอง ผ่าเป็น 2 ซีก ไม่ต้องแกะเนื้อหรือเมล็ดออกจากกะลา นำไปคว่ำลงบน วัสดุเพาะในกระบะเพาะอยู่ในร่ม ให้น้ำพอชื้น หลังจากนั้นทุก 5-7 วันหมั่นยกกะลาขึ้นตรวจ ถ้ายังไม่มีต้นกล้างอกขึ้นมาให้คว่ำกะลาต่อไป แต่ถ้ามีต้นกล้างอกขึ้นมาให้ยกกะลาออกแล้วบำรุงต้นกล้าต่อไปจนกว่าจะแข็งแรงจึงย้ายลงหลุมปลูกได้ทันที โดยระยะปลูกแบบปกติควรอยู่ที่ประมาณ 6 X 6 ม. หรือ 6 X 8 ม. เพราะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง
วิธีการดูแลมะขวิดให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ
แสง
มะขวิดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน ทนสภาพอากาศร้อนได้ที
น้ำ
ต้องการน้ำ และความชื้นในปริมาณปานกลาง จนถึงทนความแล้งได้ดี
ดิน
มะขวิดเป็นไม้ตามป่าเบญจพรรณ โดยสภาพดินที่เหมาะสมควรเป็นดินร่วมที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบายน้ำได้ดี
ปุ๋ย
ควรใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง และเติมยิปซัมธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง รวมถึงโรยกระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงระยะออกผล ให้เพิ่มการให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง หรือปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7
ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆ ของมะขวิด
มะขวิดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติเป็นที่ชื่นชอบ โดยนิยมนำผลสุกมารับประทาน เพราะเนื้อมีสีน้ำตาลแดง รสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะ ทำเป็นผลไม้กวนได้ หรือทำเป็นน้ำมะขวิดก็หอมชื่นใจดี แถมยังมีสรรพคุณทางยามากมาย โดยผลมะขวิดมีกรดอินทรีย์ สารเพกทิน และวิตามินซี ผลดิบมีสาฝาดสมานด้วย ใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิด และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น ราก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต เปลือก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อย แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต ใบ แก้ฟกบวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง แก้ท้องร่วง แก้ตกโลหิต (ห้ามโลหิตระดูสตรี) ขับลม ฝาดสมาน ดอก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิตผล แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต เป็นยาบำรุงทำให้สดชื่น เจริญอาหาร บำบัดโรคท้องเสีย รักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร รักษาโรคลักปิด-ลักเปิด ส่วนของยาง เจริญไฟธาตุ แก้ท้องเสีย สมานบาดแผล
มะขวิดยังมีประโยชน์ในแง่ของเกษตรกรรม คือการนำต้นกล้ามะขวิดมาใช้เป็นต้นตอมะนาวหรือมะกรูดโดยการติดตาต่อกิ่ง เพราะต้นมะขวิดมีความทนต่อโรคแมลงและสภาพอากาศทั้งน้ำแล้งน้ำขัง ฝน หนาว ก็สามารถเจริญได้ดี ดังนั้นเมื่อนำมาเป็นต้นตอมะนาวก็จะทำให้มีผลผลิตดกมากในทุกฤดู และมีลำต้นที่แข็งแรงกว่าต้นมะนาวที่มักจะหักโค่นได้ง่ายกว่าต้นตอมะขวิด และด้วยลำต้นมะขวิดนั้นเติบโตกว่าจึงสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดี ทำให้มีผลผลิตสูง เปลือกมะนาวจะบางขึ้น สร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกรอีกด้วย
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
สำหรับราคาจำหน่ายต้นกล้ามะขวิดตอนกิ่ง จะมีราคาอยู่ที่ ประมาณต้นละ 150-200 บาท
แหล่งอ้างอิง
https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1691&code_db=610010&code_type=01