มะปริง (Plum Mango) เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับต้นมะปราง แต่ผลของต้นมะปริงนั้นมีลักษณะเล็กและป้อมกว่าผลมะปราง ต้นมะปริงถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ทั้งใบ ผลและราก โดยต้นมะปริงนั้นพบได้ตามป่าในเขตร้อนชื้นของภาคตะวันออกหรือภาคใต้
ความเป็นมาเกี่ยวกับต้นมะปริง
มะปริง ถือเป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออกของไทยและตามภูมิภาคเอเชียเขตร้อนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นมัปริงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ค้ง มะมาง มะปริงป่า มะผางก่ำปอ สะตา เป็นต้น ต้นมะปริงมักออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ผลสามารถนำมารับประทานได้ ผลมะปริงดิบจะมีรสเปรี้ยว ส่วนผสมมะปริงสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะปริงยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพรได้อีกด้วย
ต้นมะปริง ปลูกบริเวณใดถึงจะดี
ด้วยความที่ต้นมะปริงนั้นสามารถพบได้ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้น สภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การปลูกต้นมะปริงนั้นจึงควรเป็นสถานที่ที่แสงแดดส่องถึง แต่แดดต้องไม่จัดมากและควรปลูกในดินที่มีความชุ่มน้ำแต่ระบายน้ำได้ดีเพื่อป้องกันรากเน่า
ส่วนประกอบของต้นมะปริง
ต้นมะปริงจัดอยู่ในไม้ไม่ผลัดใบจำพวกไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หลาย ๆ คนมักจะสับสนกับต้นมะปราง โดยต้นมะปริงมีลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะลำต้น: ต้นมะปริงมีความสูงประมาณ 8-20 เมตร เปลือกไม้เป็นแบบเรียบมีสีน้ำตาลปนกับสีเทา
- ลักษณะใบ: ต้นมะปริงเป็นพืชใบเดี่ยวที่เรียงตัวกันแบบตรงข้าม แผ่นใบมีความหนา เกลี้ยงเกลา มีความเป็นมันทั้ง 2 ด้าน ลักษณะใบมีความกว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร
- ลักษณะดอก: ดอกของต้นมะปริงมักออกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย โดยกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 5 กลีบ
- ลักษณะผล: ผลสดของมะปริงมีลักษณะเป็นรูปวงรีคล้ายไข่ ผิวเปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดภายในมีสีม่วง เยื่อหุ้มเมล็ดมีความแข็งและมีเสี้ยนมาก
วิธีการปลูกต้นมะปริง ปลูกอย่างไรให้โตดี
การปลูกมะปริงนั้นสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด โดยเมล็ดมะปริง 1 เมล็ดสามารถเพาะต้นกล้าได้ 1 ต้นเท่านั้น การปลูกต้นมะปริงนั้นมีความคล้ายคลึงกับการปลูกต้นมะปราง สำหรับขั้นตอนการเตรียมดินนั้น ให้ขุดหลุมลึกประมาณ 50-100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 75 เซนติเมตร ตากพักดินไว้ประมาณ 9 วัน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงหลุมที่เตรียมไว้ ผสมให้เข้ากัน จากนั้นใส่เมล็ด กลบหน้าดินและรดน้ำให้เรียบร้อย
เคล็ดลับดูแลต้นมะปริงให้โตไว แข็งแรง
ต้นมะปริงนั้นจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด นั่นก็คือสภาพแวดล้อมแบบอบอุ่นกึ่งเขตร้อน หรือตามเขตร้อนทั่ว ๆ ไปเหมือนแถบประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางเว็บไซต์ต่างประเทศ iplantz ได้กล่าวถึงการดูแลต้นมะปริงไว้ ดังนี้
แสงที่เหมาะสม
ต้นมะปริงเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจึงควรปลูกไว้ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงได้ตลอดทั้งวัน แต่แดดไม่ควรแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นมะปริงตายได้ หากบริเวณที่ทำการปลูกต้นมะปริงเป็นพื้นที่โล่งที่แสงแดดจัดมากจนเกินไป แนะนำให้ทำเพิงกันแดดที่แสงงแดดส่องถึงได้ในระดับที่พอดี
การรดน้ำ
ต้นมะปริงชอบน้ำปานกลาง จึงสามารถรดน้ำได้ประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และอาจลดปริมาณการรดน้ำเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยลดเหลือประมาณสัปดาห์ละครั้ง สำหรับในช่วงฝนตกหรือช่วงฟ้าคลึ้มอาจจะไม่ต้องรดน้ำเลยก็ได้ เพราะหากต้นมะปริงได้รับน้ำมากจนเกินไปอาจจะทำให้รากและโคนต้นเน่าได้
ดินที่เหมาะแก่การปลูก
ดินที่เหมาะสมกับการปลูกต้นมะปริง คือ ทั้งดินเหนียว ดินร่วนและดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังควรมีคุณสมบัติในการระบายน้ำได้ดี ดินที่เหมาะสมควรมีสภาพเป็นกรดปานกลาง โดยทั่วไปควรมีค่า pH อยู่ที่ 5.5 ถึง 7.5 และดินบริเวณนั้นควรมีแสงแดดส่องถึงบางส่วนด้วย เพื่อไม่ให้รากชื้นเกินไปจนเกิดอาการเน่า
วิธีการให้ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยให้ต้นมะปริงจะช่วยให้ต้นไม้มีสุขภาพดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผมผลิตให้ทั้งแก่ผลและใบ สำหรับสูตรปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลมะปริง แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ปริมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้นมะปริง 1 ต้น ส่วนสูตรปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางใบ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-0-46 หรือ 10-20-30 ปริมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ 2 ครั้ง โดยฉีดให้ห่างกัน 1 สัปดาห์
สรรพคุณน่ารู้ของต้นมะปริง
ผลมะปริงดิบอาจไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะมีรสเปรี้ยวจี๊ด แต่สำหรับผลมะปริงสุกนั้นมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน อุดมไปด้วยฟอสฟอรัส วิตามินเอและแคลเซียม เป็นต้น ผลดิบมีปริมาณของวิตามินซีมากกว่า โดยส่วนต่าง ๆ ของต้นมะปริงนั้นมีสรรพคุณต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
- สรรพคุณของผลมะปริง: ฟอกโลหิต แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ผลดิบเปรี้ยวสามารถนำไปใช้ปรุงอาหารแทนการใช้มะนาวได้ ผลสุกใช้ทำของหวานต่าง ๆ เช่น น้ำผลไม้ ลอยแก้ว เป็นต้น
- สรรพคุณของใบมะปริง: ยอดใบอ่อนนำมาทำผักจิ้มน้ำพริกได้
- สรรพคุณของรากมะปริง: ช่วยถอนพิษผิดสำแดงต่าง ๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้กลับ
มะปริง ผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์
ต้นมะปริงมากถูกสับสนในการจำแนกสายพันธุ์กับมะปรางและมะยงชิด โดยจากฐานข้อมูลของกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวว่าเคยมีการยุบรวมสปีชีส์ของมะปริงไปไว้ในกลุ่มเดียวกับมะยงชิด แต่จากงานการศึกษาของ G. Mohd. Norfaizal และคณะ ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับด้านพฤกษศาสตร์และพันธุ์ศาสตร์เมื่อปี 2016 ชี้ให้เห็นว่าผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันมากเกินว่าจะถูกจัดให้เป็นผลไม้ชนิดเดียวกันได้
แม่ว่าการปลูกมะปริงจะยังขาดการสนับสนุนในด้านการพัฒนาสายพันธุ์ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรที่เปลี่ยนมาเป็นการทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราจึงพบมะปริงได้เพียงในสวนหลังบ้านหรือการปลูกผสมผสานกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ เท่านั้น ยิ่งเมื่อเทียบแล้วมะปริงยังไม่เป็นที่นิยมมากเหมือนกับการปลูกมะปรางหรือมะยงชิด เนื่องจากหลาย ๆ คนเชื่อว่ามะปริงมีรสเปรี้ยวเกินกว่าจะส่งขายสร้างกำไรได้ แต่น้อยคนจะรู้ว่ามะปริงสุกก็มีรสเปรี้ยวอมหวานด้วยเหมือนกัน อีกทั้งสรรพคุณของมะปริงก็ไม่น้อยไปกว่าสมุนไพรหรือผลไม้รสเปรี้ยวอื่น ๆ เลย แถมยังเป็นต้นไม้ที่ดูแลไม่ยาก ส่วนต่าง ๆ ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดี ในอนาคตหากภาครัฐให้การสนับสนุนก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจจากต้นมะปริงได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทยเหมาะสมแก่การปลูกต้นมะปริงอยู่แล้ว ถ้าหากหันมาปลูกกันจริงจังขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะส่งขายยังต่างประเทศได้เลยทีเดียว
แหล่งที่มา
มะปริง, กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้