มะละกอ ผลไม้ใหญ่ ประโยชน์ไม่น้อย

หากจะพูดถึงพืชผักผลไม้ที่คนไทยนิยมปลูกเพื่อรับประทาน หนึ่งในนั้นคงจะต้องมี ‘มะละกอ’ อย่างแน่นอน ด้วยเพราะเป็นผลไม้ที่นำไปประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย ทั้งผลสุกและผลดิบ อีกทั้งยังปลูกง่าย โตไว ถ้ามีคนเผลอทำเมล็ดมะลอกอหล่นไว้ข้างรั้ว ไม่นานเมื่อกลับมาดูอีกก็อาจจะเจอต้นอ่อนของมะละกอแล้วก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพบเจอและเข้าใจได้ง่ายสำหรับมะละกอในฐานะพืชสวนครัว แต่เมื่อลองค้นคว้าให้ลึกเข้าไปอีก เรายังจะพบว่ามะละกอมีประโยชน์มากมายกว่านั้นเสียอีก

มะละกอ ลักษณะ
https://www.technologychaoban.com

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะละกอ ลักษณะคือผลไม้ที่มีรูปร่างค่อนข้างเป็นทรงกลมหรือทรงรีปลายแหลมความยาวประมาณ 15 – 45 เซนติเมตร มะละกอดิบจะมีเปลือกสีเขียวเข้ม เนื้อแน่น เมล็ดขาว มะละกอสุกเปลือกจะเป็นสีเหลืองหรือส้ม เนื้อนิ่มสีส้มเหลืองและตรงกลางเป็นโพรงมีเมล็ดสีดำ ต้นมะละกอมีขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-10 เมตร ส่วนใหญ่จะมีลำต้นเดี่ยวและมีใบน้อย ใบมะละกอเป็นใบเดี่ยวและอยู่บริเวณปลายยอด ลักษณะใหญ่ยาว เป็นแฉก ภายในใบมียางเหนียวสีขาว ก้านใบมีลักษณะเป็นหลอด กลม กลวง เรียวยาว

การเรียกชื่อ

มะละกอ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Carica papaya L. เป็นพืชในวงศ์ Caricaceae สกุล Carica รู้จักกันในชื่อ Papaya, Papaw หรือ Pawpaw ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ) หมักหุ่ง (ลาว,นครราชสีมา,เลย) ลอกอ (ภาคใต้) กล้วยลา (ยะลา) แตงต้น (สตูล)

มะละกอ ชื่อวิทยาศาสตร์
https://preserveagro.com

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย

มะละกอเป็นพืชเขตร้อน ประวัติมะละกอมาจากประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกากลาง และตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ แล้วกลายมาเป็นพืชท้องถิ่นของเมืองเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนไปทั่วโลก มะละกอเข้ามาสู่ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศฟิลิปปินส์ก่อนเป็นประเทศแรกในราว พ.ศ. 2069 จากนั้นชาวโปรตุเกสจึงนำพันธุ์เข้ามาปลูกในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ส่วนประเทศไทยรู้จักพืชชนิดนี้ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยได้พันธุ์มาจากเมืองมะละกา และเรียกพืชชนิดนี้ว่า มะละกา ตามสถานที่ที่ได้พันธุ์มา จนกระทั่งเพี้ยนเป็น มะละกอ จนถึงปัจจุบัน

สายพันธุ์

มะละกอมีสายพันธุ์จำนวนมาก แต่ทั้งนี้มะละกอเป็นพืชที่มีความไวต่อสภาพภูมิอากาศ จึงมีไม่กี่สายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย ได้แก่

พันธุ์แขกดำ: เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากในบ้านเรา มะละกอพันธุ์แขกดำมีพันธุ์ย่อยอีกหลายพันธุ์ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่กลายพันธุ์ง่าย เมื่อเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็ให้ผลผลิตที่แตกต่างกันตามไปด้วย เช่น แขกดำท่าพระ แขกดำศรีสะเกษ แขกดำหนองแหวน เป็นต้น โดยมะละกอพันธุ์แขกดำจะมีลักษณะทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 2-4 เมตร ก้านใบตั้งตรง สีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 0.60-1.70 กิโลกรัม ใบมี 9-11 แฉก ใบหนากว่าพันธุ์อื่นๆ ออกดอกและให้ผลเร็ว ผลมีขนาดกลางยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ส่วนหัวและปลายผลมีขนาดเท่ากัน เนื้อหนาประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เมื่อมะละกอสุกจะมีความหวานประมาณ 9-13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์ รับประทานได้ทั้งสุกและดิบ

พันธุ์แขกนวล: กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูป และขายผลดิบเนื่องจากกรอบ เนื้อแน่น จึงนิยมนำมาทำส้มตำ ลักษณะของมะละกอพันธุ์แขกนวลคือต้นเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม ผลมีขนาดปานกลาง นำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ลักษณะกลมยาว เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองเข้ม รสหวาน มีความหวานประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์

พันธุ์ฮอลแลนด์: มีชื่อเรียกอื่นได้แก่ เรดมาลาดอ, ปลักไม้ลาย และเซกากิ ลักษณะโดยทั่วไปคือมีลำต้นใหญ่ สีเขียว ใบมีประมาณ 11 แฉกใหญ่ ก้านใบมีลักษณะตั้งขึ้น สีเขียว ผลของพันธุ์นี้สังเกตง่ายคือปลายผลจะป้านคล้ายผลฟักอ่อน น้ำหนักผลประมาณ 0.8-2 กิโลกรัม เนื้อสีแดงอมส้ม เนื้อหนาประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร ความหวานประมาณ 11-13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์

พันธุ์เรดเลดี้: ลักษณะโดยทั่วไปคือมีลำต้นสูงประมาณ 80 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม ผลสุกมีรสหวาน เนื้อแข็งจึงทำให้ทนต่อการขนส่ง เนื้อมะละกอมีสีสวย แดงออกชมพู ความหวานประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์ 

การเพาะปลูก

การเพาะปลูกต้นมะละกอทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การปักชำ การติดตา การตอนกิ่ง แต่ส่วนมากจะนิยมการเพาะเมล็ด เพราะทำได้ง่ายและต้นมะละกอแข็งแรง ในระยะแรกของการปลูกต้นมะละกอจะเจริญเติบโตได้ดี ให้รดน้ำทุกวัน พื้นที่ปลูกต้องระบายน้ำได้ดีเพราะมะละกอไม่มีความทนทานต่อการถูกน้ำท่วม หากน้ำขังเพียงประมาณ 2 วันก็สามารถทำให้ต้นมะละกอตายได้

มะละกอไม่ค่อยมีศัตรูรบกวนมากนัก โดยทั่วไปเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่อย่างไรก็ตามมันก็ย่อมมีข้อจำกัด และหากอยากได้ผลผลิตที่ดี ก็ควรกำหนดสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตของต้นมะละกอเช่นกัน ดังนี้

สภาพอากาศ: อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นมะละกอได้แก่ 25-35 ˚C หากอากาศเย็นจัดจะทำให้ผลมะละกอสุกช้าและคุณภาพไม่ดี มันจะเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนรายปีประมาณ 1500-2000 มิลลิเมตร ความชื้นที่มากเกินไปจะส่งผลต่อความหวานของผลมะละกอด้วย นอกจากนี้ต้นมะละกอยังไม่สามารถทนต่อลมแรงได้เพราะลำต้นอ่อนแอและมีรากตื้น

ดิน: ต้นมะละกอสามารถเกิดได้ในดินหลายสภาพ ยกเว้นดินทรายและดินเหนียว ดินทรายจะทำให้รากไม่สามารถยึดเหนี่ยวดินได้และโค่นล้ม ส่วนดินเหนียวจะทำให้เกิดน้ำขังและเป็นต้นเหตุของโรครากเน่า ดินที่ต้นมะละกอจะเจริญเติบโตได้ดีคือดินร่วนซุยมีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย

ระยะห่างที่เหมาะสม: สำหรับระยะห่างระหว่างต้นมะละกอที่จะให้ผลดีคือประมาณ 1.8 x 1.8 เมตร

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก: สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ กุมภาพันธ์-มีนาคม, มิถุนายน-กรกฏาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน

ประโยชน์ของมะละกอ

ทั้งมะละกอสุกและมะละกอดิบเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว ส่วนมากมะละกอจะถูกนำมาประกอบอาหาร เมนูที่ชาวไทยน่าจะรู้จักกันดีคือ ส้มตำและแกงส้ม แต่ในประเทศอื่นๆ ก็นำมะละกอมาเป็นส่วนผสมเช่นกัน อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซียก็นำผลกับใบอ่อนมาต้มเป็นส่วนหนึ่งของอาหารชื่อ lalab นอกจากนี้ในมะละกอมีเอนไซม์ที่เรียกว่า papain ซึ่งชาวอเมริกันพื้นเมือง ชาวแคริบเบียนและชาวฟิลิปปินส์นำมาทำให้เนื้อนุ่ม แต่เอนไซม์ตัวนี้จะหยุดยั้งการขึ้นรูปของเจลาติน 

นอกจากจะนำมาประกอบอาหารแล้ว ในมะละกอยังมีสารอาหารอีกมาก ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยป้องกันโรคต่างๆ ดังนี้

โรคจอประสาทตาเสื่อม: ในมะละกอมีสาร Zeaxanthin และ antioxidant ที่สามารถป้องกันดวงตาจากรังสีแสงสีฟ้า ดังนั้นการรับประทานผลมะละกอจึงช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมได้

โรคหอบหืด: หนึ่งในสารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืดคือ beta-carotene ซึ่งพบได้ในอาหารเช่น แคนตาลูป ฟักทอง แครอต บล็อกโคลี และมะละกอ

มะเร็ง: beta-carotene ยังอาจจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย

กระดูก: มะละกอมีวิตามิน K ซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียมและลดการขับแคลเซียมออกเมื่อปัสสาวะ ดังนั้นจึงทำให้มีแคลเซียมในร่างกายมากขึ้น ทำให้กระดูกแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก

โรคเบาหวาน: มะละกอลูกเล็กหนึ่งลูกให้ไฟเบอร์ประมาณ 3 กรัม ซึ่งปริมาณไฟเบอร์ที่กินจะเป็นผลให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 

การย่อยอาหาร: ในมะละกอมีเอนไซม์ปาเปนที่ช่วยในการย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังมีไฟเบอร์และปริมาณน้ำสูง ซึ่งช่วยป้องกันอาหารท้องผูกและทำให้ระบบทางเดินอาหารดีขึ้น

โรคหัวใจ: ไฟเบอร์ โปแตสเซียม และวิตามินที่พบในมะละกอ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

การอักเสบ: สารอาหารโคลีนที่พบในมะละกอ ช่วยในด้านการนอนหลับ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ การเรียนรู้และความจำ นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยในการส่งกระแสประสาท ช่วยดูดซึมไขมัน และลดการอักเสบเรื้อรัง

การรักษาผิวหนัง: เนื้อมะละกอบดช่วยรักษาบาดแผลและลดการติดเชื้อของแผลไฟไหม้ เพราะมีเอนไซม์  chymopapain และ papain นอกจากนี้ขี้ผึ้งที่มีเอนไซม์ปาเปนยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาแผลเปื่อยอีกด้วย

ผม: มะละกอมีวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในการสร้าง sebum ซึ่งช่วยในการเก็บความชื้นในเส้นผม วิตามินเอยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมทั้งผิวหนังและเส้นผม

มะละกอสุก
https://rositacorrer.com/

อาการแพ้และผลข้างเคียง

ถึงแม้มะละกอจะมีประโยชน์มาก แต่อย่างไรก็ตามมันก็อาจส่งผลเสียแก่บางคนได้ โดยในมะละกอมียางซึ่งอาจทำให้บางคนเกิดการระคายเคืองและอาการแพ้เนื่องจากเอนไซม์ปาเปนทำหน้าที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงเนื้อที่หมักโดยเอนไซม์ปาเปนก็อาจทำให้แพ้ได้ด้วยเช่นกัน

มะละกอเป็นพืชที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งรสชาติที่อร่อยและสารอาหารที่แฝงมาด้วย หลังจากอ่านบทความนี้เชื่อว่าหลายคนคงมองมะละกอในมุมมองที่ลึกซึ้งกว่าเดิม และเชื่อว่าอีกหลายคนคงตั้งใจว่าจะเพิ่มมะละกอเป็นส่วนหนึ่งของเมนูมื้อถัดไปอย่างแน่นอน.

ที่มา

https://ed.in.th

https://www.rspg.or.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้