หม่อน ไม้ผลกินได้ที่แฝงความหมายของพลังความเชื่อ

นอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย วิตามินซีสูง และมีผลให้เก็บกินได้ตลอดทั้งปีแล้ว เรายังสามารถใช้ส่วนอื่นของต้นหม่อนไปทำประโยชน์ได้อีกหลากหลาย เช่น นำใบไปทำชา ใช้ใบปรุงเป็นเมนูอาหาร ทำเครื่องดื่ม เป็นต้น การเพาะปลูกและดูแลต้นหม่อนก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แม้จะขาดการดูแลที่ดีไปบ้าง มันก็ยังแตกยอดและออกผลได้อย่างสม่ำเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ต้นหม่อนจะได้รับความนิยม เพื่อปลูกเป็นไม้ผลในเขตรั้วบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ

ต้นหม่อน ราคา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Mulberry tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba Linn

ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคล

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานต้นหม่อนในยุคโบราณว่า หากผู้ใดมีความเชื่อแม้เพียงเล็กน้อย เมื่อพูดกับต้นหม่อนว่าให้ถอนรากตัวเองแล้วลงไปอยู่ในทะเลเสีย ต้นหม่อนก็จะทำตามนั้นทันที แม้ว่าการเติบโตของต้นหม่อนจะเป็นไปไม่ได้ในท้องทะเลก็ตาม เป็นเสมือนการเปรียบเปรยให้เห็นว่า พลังแห่งความเชื่อนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าเราเชื่อมั่นสุดใจแค่นิดเดียว ก็สามารถเปลี่ยนเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ในพริบตาเดียว ต้นหม่อนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานความเชื่อไปโดยปริยาย คนที่ศรัทธาในเรื่องนี้ก็จะปลูกต้นหม่อนเอาไว้ทางทิศตะวันออก แล้วบำรุงให้ออกผลอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งผลดกเท่าไรยิ่งดี ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมให้ความเชื่อมั่นอันแข็งแกร่งของพวกเขา

ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน

เนื่องจากต้นหม่อนเป็นไม้พุ่มที่เราสามารถตัดแต่งให้มีขนาดตามความต้องการได้ และทรงพุ่มตามธรรมชาติก็ไม่ได้แผ่ออกด้านข้างมากนัก จึงสามารถปลูกได้แม้ว่าจะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย ขอแค่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน และสภาพดินได้รับการดูแลให้มีความชุ่มชื้นมากพอ

ส่วนประกอบของต้นหม่อน

ลักษณะของลำต้น

ต้นหม่อนจัดอยู่ในกลุ่มไม้พุ่ม ซึ่งมีต้นไม่สูงนัก กิ่งก้านมีปริมาณมาก หากไม่ตัดแต่งตามเวลาอันสมควรก็จะยื่นยาวและดูรกเกินไป ผิวเปลือกไม้ค่อนข้างเรียบ มีทั้งส่วนที่เป็นสีน้ำตาลและส่วนที่เป็นสีเขียวแก่

ใบ

ผิวสัมผัสหน้าใบมีความสากและหยาบ รูปทรงใบคล้ายกับหัวใจที่มีขอยเป็นรอยหยัก หากสังเกตดูก็จะพบขนเส้นสั้นๆ ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งผิวใบ

ดอก

ลักษณะของดอกจะดูคล้ายกับแปรงล้างขวดน้ำขนาดเล็ก สีออกเขียวอ่อนอมเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อตามซอกใบ

ผล

รูปร่างของผลจะคล้ายกับทรงกระบอกสั้นๆ ผิวมีความขรุขระและมีขนสั้นๆ เมื่อเป็นผลอ่อนมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วงและดำตามลำดับ

ลูก หม่อนสด

สายพันธุ์ยอดนิยม

ในบ้านเราจะมีสายพันธุ์ของต้นหม่อนที่นิยมกันหลายแบบ โดยจะแยกตามลักษณะการปลูกเพื่อใช้งาน และแยกตามสีของผลหม่อน ที่พบได้บ่อยก็คือหม่อนไหม เราเลี้ยงไว้เพื่อใช้ใบโดยเฉพาะ บางทีก็จะเรียกว่าหม่อนใบ ลักษณะคือใบใหญ่และมีปริมาณมาก ใช้เป็นอาหารของตัวหนอนไหม เพื่อต่อยอดไปสู่เส้นไหมที่เป็นผลผลิตสุดท้ายอีกที ต่อมาคือสายพันธุ์ที่เรียกว่าหม่อนเบอร์รี่ อยู่ในกลุ่มของหม่อนกินผล อันนี้ก็จะเหมือนกับผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ทั่วไป ผลนำมาทานสดหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไวน์ แยม เป็นต้น

วิธีการปลูกต้นหม่อนให้เจริญงอกงาม

อันที่จริงต้นหม่อนนั้นปลูกได้ง่ายมาก เพียงแค่หักกิ่งมาชำไว้ก็เติบโตต่อไปได้แล้ว แต่หากเราอยากให้ต้นหม่อนที่ได้มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคแมลงต่างๆ ก็ควรจะต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกนี่เลย โดยเลือกพื้นที่ซึ่งมีสภาพดินร่วนซุยดี แดดต้องส่องถึง แล้วเว้นระยะแต่ละต้นให้ห่างกันประมาณ 4 เมตร เพื่อที่พุ่มใบจะได้ไม่บังแสงกันเอง ขุดหลุมให้ลึกพอประมาณแล้วนำต้นกล้าลงได้เลย ตอนที่กลบดินกลับ ควรใช้หญ้าฟางหรือวัสดุคลุมดินอื่นๆ ปิดทับไว้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน

วิธีการดูแลรักษา

แสง

ต้นหม่อนต้องการปริมาณแสงค่อนข้างมาก ควรปลูกในพื้นที่โล่งแจ้งเสมอ

น้ำ

การให้น้ำกับต้นหม่อนจะแบ่งได้เป็นหลายช่วง ปกติจะให้น้ำประมาณอาทิตย์ละครั้ง แต่ในช่วงที่กำลังออกผล จะต้องให้น้ำในช่วงเช้าทุกวัน เพื่อช่วยให้ผลที่ได้มีขนาดใหญ่ เนื้อแน่นเต็มผล

ปุ๋ย

ให้ใส่ปุ๋ยประมาณปีละ 2 ครั้ง โดยปรับเปลี่ยนสูตรตามความสมบูรณ์ของดิน

ดิน

ควรใช้ดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้น ต้นหม่อนถึงจะเติบโตได้ดี

หม่อน สรรพคุณ

คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นหม่อน

ใบ

ใบจะมีรสชาติเย็นจืด สามารถใช้ทานสดหรือต้มเป็นชาก็ได้ ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการปวดศีรษะ ลดระดับไขมันในเลือด และยังใช้บรรเทาอาการติดเชื้อได้อีกด้วย

ราก

เราสามารถใช้ส่วนเปลือกมาช่วยขับน้ำในปอด และใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้

ผล

ในผลมีวิตามินค่อนข้างมาก ช่วยบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ บรรเทาอาการท้องผูก และลดความร้อนรุ่มในร่างกายได้ดี นอกจากนี้รสชาติเปรี้ยวหวานยังช่วยให้ชุ่มคอและรู้สึกสดชื่นด้วย

ลำต้น

ใช้ส่วนเปลือกเป็นยาถ่ายพยาธิ

ราคาต่อต้นโดยประมาณ

ราคาของต้นหม่อนจะต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 70 บาท

แหล่งอ้างอิง

: http://www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb_20-3.htm

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้