ชะอม ผักเศรษฐกิจสร้างรายได้อย่างยั่งยืน กับเคล็ดลับการปลูกที่ต้องรู้

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อท้องถิ่น : ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), ผักขา (ภาคอีสาน อุดรธานี), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง)

ชื่ออังกฤษ : Climbing wattle, Acacia, Cha-om

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Willd.

วงศ์ : วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE)

วงศ์ย่อย : สีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

ประโยชน์ชะอม

ชะอม ถือเป็นพืชผักที่คนไทยรู้จัก คุ้นเคยเป็นอย่างดี และยังเป็นไม้ยืนต้นพืชสมุนไพรของไทยที่ปลูกกันทั่วทุกภูมิภาค เดิมทีเป็นต้นไม้ป่า ลักษณะเป็นต้นไม้ใหญ่ แต่ปัจจุบันชะอมที่ปลูกเพื่อการเกษตรหรือปลูกตามบ้านจะได้รับการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ออกยอดไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้สะดวก

ชะอมถือเป็นพืชที่ปลูกง่าย เพราะสามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ และยังเป็นผักที่ปลูกกันตามบ้านเรือนเพื่อใช้ในการปรุงอาหารที่หลากหลาย ใบอ่อนหรือส่วนยอดของใบสามารถนำมารับประทานได้ แตกยอดทั้งปี นิยมปลูกเป็นรั้วบ้านเพราะมีหนามแหลมช่วยป้องกันการบุกรุกและอันตรายได้

ส่วนประกอบของต้นชะอม

ต้นชะอม

มีลักษณะเป็นทรงพุ่มขนาดย่อม ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมใบชะอมเป็นประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลาง

ใบ

มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อยหรือใบกระถิน ใบอ่อนจะมีกลิ่นฉุน ใบย่อยมีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน  คล้ายรูปรีประมาณ 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อยจะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออกเพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน

ดอกชะอม

ดอกชะอมออกตามซอกใบ มีสีขาวถึงขาวนวล ดอกขนาดเล็กและเห็นชัด เฉพาะเกสรตัวผู้ที่เป็นฝอยๆ

ผลชะอม

ผลชะอมเป็นฝัก มีขนาดเล็กกว่าฝักกระถิน

วิธีการปลูกต้นชะอม

การปลูกต้นชะอมสามารถทำได้โดย  การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง หรือการโน้มกิ่ง

การเตรียมกิ่งพันธุ์ต้นชะอม

  1. กิ่งต้นชะอมต้องเป็นกิ่งแก่ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน
  2. กิ่งมีสีเทาอมน้ำตาล
  3. ขนาดกิ่ง 1.5-2.5 ซม.
  4. ตัดยาวประมาณ 25-35 ซม. โดยตัดปลายทั้ง 2 ข้าง ให้เฉียงเป็นปากฉลาม
  5. นำลงปักชำในกรถางพลาสติกหรือถุงเพาะชำ
  6. เตรียมดินวัสดุเพาะชำ เป็นดินผสมกับแกลบดำหรือวัสดุอื่นๆ เช่น ขุยมะพร้าว อัตราส่วนที่ 1:2
  7. เสียบกิ่งพันธุ์ลึกประมาณ 10 ซม. และปักให้เอียงประมาณ 45 องศา
  8. รดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า และเย็น
  9. เมื่อชะอมเริ่มแตกยอดใหม่ 2-3 ยอด และยอดใหม่มีก้านใบแล้ว 3-5 ก้าน ก็เหมาะสำหรับลงปลูกในแปลง

การเตรียมแปลงปลูกต้นชะอม

  1. ไถพรวนดิน 1-2 รอบ
  2. แต่ละรอบตากดินนาน 7-14 วัน
  3. กำจัดวัชพืชออกให้หมด
  4. หว่านด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 2-4 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่
  5. ไถยกร่องแปลงที่ระยะห่างของแถวที่ 2 เมตร (หรืออาจไม่ไถยกร่องก็ได้)

ขั้นตอนการปลูกต้นชะอม

  1. นำกล้าพันธุ์ชะอมที่แตกยอด และมีใบแล้ว 3-5 ใบ ลงปลูกบนร่องแปลง
  2. ทิ้งระยะห่างของหลุมปลูกประมาณ 1-1.5 เมตร
  3. เมื่อชะอมอายุครบ 1 เดือน และแตกกิ่งแล้ว สามารถทำการเก็บได้ทันที และจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกเดือน จนเริ่มเก็บแบบเต็มที่ประมาณเดือนที่ 4-6 ของการปลูก
ชะอม ลักษณะ

วิธีการดูแลต้นชะอม

การดูแลดิน

ชะอมสามารถเติบโตได้ทุกสภาพดินจึงสามารถปลูกได้ทุกที่

การให้น้ำ

ชะอำต้องได้รับน้ำสม่ำเสมอ โดยในช่วง 1-2 เดือนแรก ควรให้น้ำทุกๆ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยให้น้ำประมาณ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

การตัดแต่งกิ่ง

หากชะอมมีอายุครบ 1-2 เดือนจำเป็นต้องตัดกิ่งชะอมทิ้ง เพื่อให้มีการแตกกิ่งมากขึ้น

การใส่ปุ๋ย

เมื่อชะอมมีอายุครบ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 24-8-8 อัตรา 150-200 กรัม/ต้น

การเก็บเกี่ยว

ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัดยอด เพราะหากเก็บด้วยการเด็ดมือมักจะทำให้ก้านยอดชะอมซ้ำง่าย และควรเก็บช่วงเช้าเพื่อความสด และใบหุบสนิทเรียงเป็นแถว

ประโยชน์ต้นชะอม

  • ใบของชะอมสามารถนำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ เป็นต้น
  • สามารถนำไปทำยาสระผม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสียได้
  • ปลูกเป็นรั้วบ้าน

สรรพคุณต้นชะอม

  • ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และบำรุงสายตา เนื่องจากมีวิตามินเอสูง
  • ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้
  • ผักรสมันอย่างชะอมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ
  • มีกากใยสูง ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
  • มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  • ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
  • รากชะอม สามารถนำมาฝนกินช่วยแก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม

โทษของต้นชะอม

  • สำหรับสตรีที่พึ่งมีบุตร ไม่ควรทานเพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง และส่งกลิ่นเหม็นอาจเกิดอาหารแพ้ได้
  • ในฤดูฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้
  • ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะมีกรดยูริกที่เป็นตัวการให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยเกาต์
  • ชะอมอาจมีสารซาลโมเนลลาปนเปื้อนที่พบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อม ดังนั้น ควรล้างให้สะอาดก่อนการรับประทาน
ปลูกชะอม

ราคาต้นชะอม

ต้นชะอมมักจะขายเป็นกิ่ง ราคาอยู่ที่กิ่งละ 5-10 บาทต่อกิ่ง ราคาขายผลผลิตชะอม (ใบ) สามารถขายได้ถึง 3,000.-6,000 บาทต่อวัน

แหล่งอ้างอิง

: https://www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_28996

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้