ปูเล่ ภาษาอังกฤษ Decorative Kale
ปูเล่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica oleracea L. cv. Acephala Group
ปูเล่เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลกะหล่ำที่เติบโตได้ค่อนข้างเร็ว สามารถเพาะเลี้ยงในกระถางได้และมีทรงใบสวยงาม นอกจากปลูกไว้ทานเป็นพืชผักภายในครัวเรือนแล้ว ก็ยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับด้วย เพราะต้นปูเล่นั้นมีอายุยาวนานกว่าผักทั่วไป หากดูแลดีๆ ก็จะอยู่ได้นานมากกว่า 2 ปีเลยทีเดียว
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นปูเล่
ถึงจะเป็นพืชผักที่ดูเหมือนพึ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ แต่ความจริงต้นปูเล่เป็นไม้โบราณที่มีมานานแล้ว และบางพื้นที่ก็เพาะปลูกกันอย่างจริงจัง เดิมทีต้นปูเล่เป็นเพียงพืชผักสวนครัวเท่านั้น หลังจากมีบทบาทในวงการของไม้ประดับมากขึ้น จึงได้มีความเชื่อว่าปูเล่เป็นไม้มงคลที่ว่าด้วยเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ถึงขนาดมีฉายาว่า “กะหล่ำ 300 ปี” ทั้งนี้ก็เป็นเพราะมันแตกแขนงและขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆ นั่นเอง
ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
ต้นปูเล่สามารถปลูกในลักษณะของไม้ประดับที่นำมาทานได้ด้วย นิยมปลูกในกระถางมากกว่าจะนำลงดิน เนื่องจากดูแลรักษาได้ง่าย ตำแหน่งที่ปลูกถ้าอยู่ทางทิศตะวันออกก็จะดีมาก เพราะช่วยให้ต้นปูเล่ได้รับแดดในช่วงเช้าที่ไม่แรงจนเกินไป ข้อดีของต้นปูเล่คือไม่ค่อยมีแมลงรบกวน การตั้งกระถางไว้ตามระเบียงหรือชานบ้านจึงไม่มีปัญหา หรือถ้าพื้นที่จำกัดจะเลือกวางตามบริเวณที่มีแดดรำไรก็เติบโตได้เหมือนกัน
ลักษณะของต้นปูเล่
- ลักษณะของลำต้น ปูเล่เป็นไม้พุ่มที่มีรูปร่างคล้ายกับต้นกะหล่ำปลี มีบางสายพันธุ์ที่คล้ายกับต้นคะน้า เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวนอกเป็นสีเขียวสด เนื้อกรอบและหักง่ายเหมือนกับพืชผักทั่วไป
- ใบ ทั้งขนาดและสีสันของใบจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ถ้าเป็นกลุ่มใบใหญ่ มักจะมีรูปทรงค่อนข้างกลม โคนใบหนาแต่ปลายใบบาง ชั้นใบเรียงกันหนาแน่นและห่อตัวกันเหมือนกะหล่ำ แต่ถ้าเป็นกลุ่มใบเล็ก ใบจะเรียงไม่เป็นระเบียบและมีก้านใบยืดยาว
สายพันธุ์ยอดนิยม
ด้วยธรรมชาติของต้นปูเล่ที่เพาะปลูกและดูแลง่าย แถมยังมีประโยชน์หลายอย่าง จึงทำให้ได้รับความนิยมและมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมีดังนี้
- ปูเล่โอซาก้า เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น มีให้เลือกหลายเฉดสี ทั้งแบบที่เป็นสีล้วนและแบบคละรวมกันหลายสีในต้นเดียว ลักษณะใบก็มีทั้งแบบขอบเรียบและขอบหยัก
- ปูเล่คาโมเม่ เป็นสายพันธุ์จากจีนและญี่ปุ่น มักปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ตกแต่งจานมากกว่ารับประทาน ใบจะมีความหยักมากเป็นพิเศษ ชั้นใบเรียงชิดกันหนาแน่น และใบชั้นนอกกับใบชั้นในมักจะเป็นคนละสีกัน
- ปูเล่ฝรั่ง แม้จะมีแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายสายพันธุ์ แต่ลักษณะโดยรวมของปูเล่กลุ่มนี้จะคล้ายคลึงกันหมด คือมีใบใหญ่สีเขียว ชั้นใบห่าง ยิ่งปลูกไว้นานต้นยิ่งยืดสูงขึ้น รสชาติคล้ายกับคะน้า
วิธีการปลูก
การขยายพันธุ์ต้นปูเล่จะใช้วิธีปักชำเป็นหลัก โดยรอให้ต้นแม่แตกแขนงเล็กๆ ออกมาก่อน เมื่อแขนงนั้นมีใบติดประมาณ 4-5 ใบก็ตัดแยกออกจากต้นแม่ไปชำในถุงเพาะ วางไว้ในที่ร่มและหมั่นรดน้ำจนกว่ารากจะงอก สังเกตได้จากการแตกใบใหม่และลำต้นเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ถึงตอนนี้ก็สามารถย้ายลงกระถางต่อได้ แต่หากยังไม่มีต้นแม่พันธุ์ก็ให้ใช้วิธีเพาะเมล็ดแทน ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ จะเพาะในดินพีทมอส ในกระดาษทิชชู่หรือในฟองน้ำที่พรมน้ำจนชุ่มก็ได้ ไม่เกิน 2-3 วันจะมีรากงอกออกมา ให้ย้ายไปปลูกในกระถางที่มีขนาดประมาณ 10-14 นิ้ว ด้านในใส่เป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอก ถ้าเป็นแขนงที่แยกมาให้กลบดินและกดโคนต้นให้แน่น แต่ถ้าเป็นเมล็ดที่มีรากงอกแล้ว ให้กลบดินทับหน้าเพียงบางๆ เพื่อให้ต้นอ่อนแทงยอดได้ง่าย
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงปานกลาง ควรปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแดดอย่างน้อยครึ่งวัน
- น้ำ ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่ระบายน้ำดี
- ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงดินในช่วงแรกของการเพาะปลูก จากนั้นเสริมปุ๋ยสูตร 14-14-14 ตามเหมาะสม
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นปูเล่
หากพิจารณาในแง่ของพืชผัก ต้นปูเล่ก็นับว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามินซี โพแทสเซียม และเบต้าแคโรทีน ปูเร่ สรรพคุณจึงมีคุณสมบัติในการเสริมความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ และช่วยเสริมภูมิต้านทานได้ดี จุดเด่นของปูเล่คือเป็นผักที่มีเส้นใยน้อย จึงให้รสสัมผัสที่ดี ไม่เหนียวหรือแข็งแม้จะเป็นใบแก่จัด สามารถทานแบบสดๆ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงเมนูอาหารก็ได้ ที่สำคัญคือเป็นผักที่ปลูกครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ส่วนในแง่ของการเป็นไม้ประดับ ต้นปูเล่มีหลายสายพันธุ์ที่ให้ความสวยงามต่างกันไป เลี้ยงดูง่าย เติบโตเร็ว ทั้งยังทนทานต่อโรคและแมลงด้วย
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจเลือกสายพันธุ์ปูเล่
เพียงแค่ในตลาดบ้านเราก็มีสายพันธุ์ปูเล่ให้เลือกแทบนับไม่ถ้วน ในสายพันธุ์หลักก็ยังมีการแบ่งสายพันธุ์แยกย่อยในเรื่องของขนาดและสีอีกต่อหนึ่ง ซึ่งแต่ละแบบก็มีการดูแล คุณสมบัติ และราคาที่แตกต่างกันไป ก่อนตัดสินใจซื้อมาเพาะเลี้ยงเราจึงต้องตรวจสอบสิ่งสำคัญเหล่านี้ให้แน่ใจเสียก่อน อันดับแรกคือเป็นสายพันธุ์ที่ทานได้หรือไม่ เพราะบางชนิดเลี้ยงเป็นไม้ประดับได้อย่างเดียวเท่านั้น อันดับต่อมาคือมีวิธีการดูแลที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ เพราะแต่ละสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดที่ต่างกัน สภาพอากาศ ความชื้น แสงแดด ล้วนมีผลต่อการเติบโตทั้งสิ้น สุดท้ายคือขนาดที่โตเต็มที่เหมาะกับพื้นที่ที่เรามีอยู่หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในภายหลัง