ชะมวง พันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย ให้คุณประโยชน์ได้ทั้งต้น

ชื่อภาษาอังกฤษ

Cowa

ชื่อวิทยาศาสตร์

Garcinia  cowa  Roxb.ex Choisy

ความหมาย

จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยง กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด

ความเชื่อ

ชะมวง ภาษาอังกฤษ Cowa

ชะมวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia  cowa  Roxb.ex Choisy

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Garcinia  cowa  Roxb.exDc., Garcinia cornea Roxb. ex Sm., G. roxburghii Wight, G. wallichii Choisy, Cambogia crassifolia Blanco, Oxycarpus gangetica Buch.-Ham

ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE – CLUSIACEAE

ชื่ออื่น ๆ มะป้อง , ส้มป้อง (ภาคเหนือ) , หมากโมง , หมากส้มโมง (ภาคอีสาน) , ส้มมวง , กะมวง , มวง (ภาคใต้) , กานิ (มลายู) , ตระมูง (เขมร)

ชะมวงนับเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทยมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในภาคใต้ ดังนั้นจึงมีการนำส่วนต่าง ๆ ของชะมวงมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ยอดอ่อนหรือใบอ่อนที่มีรสเปรี้ยวสามารถนำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำไปใช้ปรุงอาหารหลายประเภท เช่น แกงส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง แกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ทำหมูชะมวง หรือนำมาใส่ในยำต่าง ๆ ผลชะมวงสุกสีเหลืองส้มมีรสเปรี้ยวอมหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือนำมารับประทานเป็นยาระบายได้ ผลและใบแก่นำมาหมักให้เกิดกรด ใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายได้  ส่วนเปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลือง สามารถนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้  นอกจากนี้เนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้

ชะมวง ภาษาอังกฤษ
www.disthai.com

ถิ่นกำเนิดชะมวง

ชะมวง จัดเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมักจะพบตามป่าดิบชื้นทั่วไป รวมถึงที่ราบลุ่มที่มีความชื้นพบสมควร ซึ่งมักจะพบตามป่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในแถบพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนภาคอื่นๆจะพบได้ประปรายบริเวณใกล้แม่น้ำลำคลองหรือลำห้วย

ลักษณะทั่วไปของต้นชะมวง

  • ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง พบทั่วไปตามป่าชื้นที่ระดับต่ำ เป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทั่วไป และจะพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป (บ้างว่า 600 เมตรขึ้นไป)
  • ใบชะมวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม (สีน้ำเงินเข้ม) บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนก้านใบเป็นสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
  • ดอกชะมวง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกตัวผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสีเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ มีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
  • ลูกชะมวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้มหม่น และตามผลมีร่องตื้น ๆ ประมาณ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากและทำให้ติดฟันได้ โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ลักษณะต้นชะมวง
www.phargarden.com

การขยายพันธุ์ต้นชะมวง

ชะมวงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด การปักชำกิ่ง  และการตอนกิ่ง  แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าที่ได้ไปปลูก โดยการเพาะเมล็ดจะใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ร่วงจากต้นแล้วนำมาแกะเปลือก และนำมาตากแห้ง 5-7 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพราะชำที่มีวัสดุเพาะเช่นแกลบ ขี้เถ้า และขุยมะพร้าว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปเก็บไว้ในเรือนเพาะชำรอให้ต้นกล้าออกและมีอายุประมาณ 2 เดือน จึงนำไปปลูกต่อไป ทั้งนี้ชะมวงสามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ในระยะแรกมักชอบดินชุ่มชื้นพอสมควร และเมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ก็มีความทนต่อสภาพอาการแล้วได้ดีเช่นกัน

วิธีดูแลต้นชะมวง
watprodesktop.blogspot.com

ประโยชน์และสรรพคุณต้นชะมวง

ชะมวงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ผลชะมวงสุกสีเหลืองใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือจะนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแดด ใส่ปลาร้านเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้ ยอดอ่อนหรือใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่น แจ่ว หรือนำไปใช้ปรุงอาหารได้ เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น ผลและใบแก่นำมาหมักให้เกิดกรดใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายได้  ส่วนเปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลือง สามารถนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ส่วนสรรพคุณทางยาของชะมวงนั้นตามตำรายาไทยได้ระบุถึงสรรพคุณไว้ว่า ใบหรือผล รสเปรี้ยว แก้ไข้ กระหายน้ำ เป็นยาระบาย กัดฟอกเสมหะ แก้ธาตุพิการ รากมีรสเปรี้ยว แก้บิด แก้ไข้ตัวร้อน แก้เสมหะ ใบมีรสเปรี้ยว ปรุงเป็นยาฟอดโลหิต กัดฟอกเสมหะ  ใช้ขับเลือดเสีย ใบและดอก แก้ไข้ เป็นยาระบายท้อง กัดฟอกเสมหะ รักษาธาตุพิการ บำรุงผิวพรรณ ผล แก้บิด ใช้เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร เปลือก และแก่นลำต้น แก้ผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง รักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง  เป็นยาระบาย รักษาโรคท้องร่วง แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ ลดอาการไอ ส่วนตำรายาพื้นบ้านอีสานระบุว่า ใช้รากผสมรากตูมกาขาว รากปอต่อน และรากกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย แก่น แก้อาการเหน็บชาได้

ลูกชะมวง
commons.wikimedia.org

แหล่งที่มา

http://identity.bsru.ac.th

https://arit.kpru.ac.th

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ