ต้นนางไหม บอนสีสายพันธุ์โบราณที่ได้ชื่อมาจากนางในวรรณคดี

ชื่อภาษาอังกฤษ Caladium

ชื่อวิทยาศาสตร์ Caladium bicolor

ชื่ออื่นๆ บอนป้ายนางไหม, บอนสีนางไหม, สาวสองหน้า

วงศ์ ARACEAE

ประวัติบอนสีนางไหม

ต้นนางไหมคือบอนสีสายพันธุ์โบราณที่เป็นหนึ่งในตับขุนช้างขุนแผน เป็นไม้โตช้าแต่ค่อนข้างแข็งแรงทนทาน เวลาที่ต้องย้ายที่ปลูกหรือต้องขนส่งทางไกลก็จะเหี่ยวเฉาไปบ้าง แต่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างรวดเร็ว จุดเด่นของสายพันธุ์นี้อยู่ตรงลายด่างบนหลังใบที่เหมือนการป้ายสีด้วยแปรงเป็นแถบยาว อีกทั้งก้านใบและเส้นใบก็มีสีสันแปลกตาน่ามอง ที่สำคัญคือต้นนางไหมนั้นมีคุณสมบัติเป็นไม้ฟอกอากาศ และยังมีบทบาทเป็นไม้มงคลที่ช่วยคุ้มครองป้องกันภัย ช่วยให้บ้านมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข และช่วยเสริมเสน่ห์ให้คนชื่นชอบได้ด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นนางไหม

ต้นนางไหมเป็นไม้มงคลที่ค่อนข้างหายาก โดดเด่นเรื่องการเสริมสิริมงคลในองค์รวมให้กับคนในบ้าน เมื่อปลูกไว้ในเขตรั้ว จะช่วยให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น มีความรักใคร่สามัคคีกันระหว่างญาติพี่น้อง ทั้งยังช่วยป้องกันอันตรายต่างๆ ไม่ให้เข้ามากล้ำกลายได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีคุณในด้านเมตตามหานิยม สามารถปลูกเพื่อช่วยเสริมเสน่ห์เฉพาะบุคคลได้ หรือจะปลูกประดับกิจการร้านค้าเพื่อให้ลูกค้านิยมชมชอบ และแวะเวียนมาอุดหนุนอยู่เสมอก็ได้เช่นเดียวกัน

บอนสีนางไหม

ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน

มีการถือเคล็ดเกี่ยวกับการปลูกต้นนางไหมอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลโดยรวมของคนในบ้าน ให้นำต้นกล้าลงดินทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน และควรเลือกวันปลูกเป็นวันอังคาร ยิ่งถ้าเป็นเดือนเกิดของเจ้าบ้านด้วยก็ยิ่งดี แบบที่ 2 คือการปลูกเพื่อเสริมเสน่ห์และเมตตามหานิยม ให้แบ่งต้นเล็กเพาะใส่กระถางแล้ววางไว้บริเวณชานเรือนหน้าบ้านหรือห้องรับแขก พอต้นเดิมโตขึ้นก็นำลงดินแล้วแบ่งต้นเล็กไปวางไว้เหมือนเดิม

ลักษณะของต้นนางไหม

  • ลักษณะของลำต้น เป็นไม้ใบที่มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน รูปทรงมีตั้งแต่ทรงค่อนข้างกลมไปจนถึงยาวรี แล้วแต่อายุของต้นพืช ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลผสมดำ มีรากและหน่ออ่อนงอกออกมา เมื่อผ่าหัวดูจะเห็นเนื้อในเป็นสีขาวอมเหลือง
  • ใบ รูปทรงใบดูคล้ายรูปหัวใจที่มีขอบโค้งมน เนื้อใบเป็นสีเขียว มีลายด่างสีแดงคล้ายรอยป้ายสีเป็นแถบๆ และมีจุดสีขาวกระจายตัวทั่วหลังใบ แกนกลางและเส้นแขนงเป็นสีแดงเฉดเดียวกับลายด่าง ก้านใบเรียวเล็กเป็นโทนสีสมอแก่ค่อนไปทางดำ
  • ดอก แม้ว่าต้นนางไหมจะไม่ค่อยมีดอกให้เห็นบ่อยนัก แต่เมื่อต้นสมบูรณ์พร้อมก็สามารถมีดอกได้เหมือนกัน โดยลักษณะดอกจะคล้ายกับต้นบอนสีทั่วไป คือมีแกนกลางดอกเป็นแท่งเรียวยาวที่โอบล้อมด้วยกาบเดี่ยวอีกที และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในช่วงที่ดอกบาน
นางไหมต้นเล็ก

วิธีการปลูก

อันที่จริงเราสามารถขยายพันธุ์ต้นนางไหมได้แทบทุกวิธี แต่รูปแบบที่ได้รับความนิยมมากจะเป็นการแยกหน่อและการผ่าหัว โดยการแยกหน่อจะใช้กับต้นนางไหมที่มีอายุมากกว่า 4 เดือน ต้องรอให้ต้นแม่เติบโตเต็มที่พร้อมกับแตกหน่ออ่อนเสียก่อน พอเริ่มเห็นว่ายอดหน่ออ่อนโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน ก็สามารถใช้ปลายมีดตัดลงในแนวดิ่งเพื่อแยกออกจากต้นแม่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้แตกใบแต่อย่างใด ส่วนการผ่าหัวเราจะใช้กับหัวนางไหมที่อายุไม่เกินปี นำมาผ่าออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการติดตาได้ ชำไว้ในทรายหยาบที่ผสมขุยมพร้าวเพิ่มความชุ่มชื้น วางกระบะเพาะไว้ในที่ร่มจนกว่าหัวนั้นจะแตกหน่อ ค่อยย้ายไปปลูกลงกระถางต่อไป ดินที่ใช้ในการเพาะจะเป็นดินร่วนผสมขุยมะพร้าวหรือกาบมะพร้าวสับก็ได้ ถ้ามีแกลบก็ใส่ผสมลงไปเล็กน้อยเพื่อเพิ่มคุณสมบัติการระบายน้ำ

วิธีการดูแลรักษา

  • แสง ต้องการแสงปานกลาง ควรปลูกในพื้นที่แดดรำไรแต่ได้รับแสงยาวนานตลอดทั้งวัน
  • น้ำ ต้องการน้ำมากและมักเติบโตได้ที่ในพื้นที่ความชื้นสูง จึงควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละครั้ง และถ้าปลูกในกระถางควรเทน้ำใส่จานรองด้านล่างเอาไว้ด้วย
  • ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่อุ้มน้ำได้ดี
  • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลไส้เดือนบำรุงดินเดือนละครั้ง พร้อมกับใช้ปุ๋ยสูตรบำรุงลำต้นและใบบ้างตามสมควร
วิธีดูแลบอนนางไหม

คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นนางไหม

ต้นนางไหมเป็นไม้ใบที่มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าประสิทธิภาพอาจจะสู้พันธุ์ไม้ที่มีพุ่มใบหนาไม่ได้ แต่ก็สามารถตั้งได้ทุกพื้นที่ภายในบ้าน รวมถึงห้องนอนและห้องน้ำที่มีแสงค่อนข้างน้อยด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เพาะเลี้ยงต้นนางไหมส่วนมากจะเน้นใช้ประโยชน์ในแง่ของการประดับตกแต่ง และให้ค่าในแง่ของพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้ในเขตรั้วบ้านเพื่อช่วยเสริมสิริมงคลมากกว่า

นางไหมกับพระนคร สายพันธุ์บอนที่เหมือนกันราวกับแกะ

ทั้งคู่เป็นต้นบอนสีที่มีลักษณะโดยรวมเหมือนกันแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขนาดลำต้น สีก้านใบ หรือแม้แต่ลวดลายและเฉดสีบนเนื้อใบ ดังนั้นคนที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียดก็จะแยกไม่ออก บางข้อมูลกล่าวว่าพันธุ์พระนครนั้นกลายพันธุ์มาจากนางไหม แต่บางข้อมูลก็ระบุว่ากลายมาจากพันธุ์อื่นแค่บังเอิญคล้ายกับนางไหมเท่านั้น วิธีการสังเกตให้ดูที่ปลายใบเป็นอันดับแรก นางไหมจะมีปลายใบเรียวแหลมขณะที่พระนครจะมีปลายใบโค้งมน ส่วนทรงใบก็ต่างกันเล็กน้อย โดยพระนครจะมีหน้ากว้างและดูอ้วนป้อมกว่านางไหม

นางไหมพระนคร
นางไหมกับพระนคร

แหล่งอ้างอิง

http://eto.ku.ac.th/

http://www.sdoae.doae.go.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้