ผลมะกอกเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมเอามาทั้งกินสดและหมักดอง หรือจะใช้ประกอบอาหารก็เรียกน้ำย่อยได้อย่างดี นับเป็นผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาด ยอดอ่อนใบยังเอามาเป็นผักเคียงลาบทำให้รสชาติกลมกล่อม ส่วนอื่น ๆ ของมะกอกยังมีสรรพคุณเป็นทั้งยาและใช้สร้างสิ่งของได้ เรียกได้ว่าทุกส่วนของต้นมะกอกล้วนแต่เป็นคุณต่อมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นมะกอกจึงนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้
ตามความเชื่อพื้นบ้าน มะกอกป่าเป็นไม้อัปมงคลไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน ด้วยเป็นต้นไม้ใหญ่กิ่งเปราะ เป็นอันตรายแก่เด็ก ๆ ที่ชอบปีนป่าย นอกจากนี้ชื่อ “มะกอก” ยังพ้องกับคำว่า “กลิ้งกลอก” ทั้งสำนวนไทยยังมีคำว่า “มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก” อันหมายถึงคนกะล่อนกลับกลอกเชื่อถือไม่ได้อีกด้วย
ส่วนประกอบของต้นไม้
ลักษณะของลำต้น
มะกอกจัดเป็นต้นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15 – 25 เมตร ลำต้นตั้งตรง รอบลำต้นมีลักษณะกลม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม พุ่มจะหนาหลังการแตกใบใหม่ในฤดูฝน ในหน้าแล้งจะทิ้งใบจนเหลือแต่กิ่งก้าน มะกอกแตกกิ่งก้านค่อนข้างน้อย โปร่งและมักห้อยลง เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาลหรือเทาอมดำ หนาและเรียบ มีปุ่มปมบ้างเล็กน้อย ต้นที่อายุมากจะแตกสะเก็ดที่ผิวลำต้น เปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอมชมพู แก่นเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งอ่อนมีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบ
ใบ
เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบเป็นจำนวนคี่ ออกเรียงสลับ มีก้านใบหลักออกเรียงเวียนสลับกัน ก้านใบหลักยาวประมาณ 5 – 25 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4 – 6 คู่ โดยจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันหรือเยื้องกันเล็กน้อย และมีใบย่อยเดี่ยวบริเวณปลายใบ 1 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบมนเบี้ยว ขอบไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7 – 12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างนุ่ม มีกลิ่นหอม ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่เข้มขึ้นตามอายุ เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบเรียบ มีก้านใบร่วมยาวประมาณ 12 – 16 เซนติเมตร เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน
ดอก
ดอกมะกอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ดอกย่อยเป็นสีครีม มีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก
สายพันธุ์ของมะกอก
สายพันธ์ุของมะกอกในประเทศไทยมีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่
1. มะกอกน้ำ
มะกอกน้ำ (Elaeocarpus hygrophilus) รูปทรงผลยาวรี ผลสดมีรสเปรี้ยวปนฝาด หากรับประทานจะต้องเอาไปดอง แช่อิ่ม หรือเชื่อม ถ้าปลูกอยู่ริมน้ำผลจะดกมาก
2. มะกอกฝรั่ง
มะกอกฝรั่ง (Spondias cytherea) ผลมีรูปทรงเหมือนไข่หรือค่อนข้างกลม บางพันธุ์ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ รสชาติออกมัน ๆ มีรสเปรี้ยวเล็กน้อยหรืออาจไม่เปรี้ยวเลย การรับประทานสามารถปอกเปลือกแล้วใช้มีดเฉาะได้เหมือนฝรั่ง ลักษณะต้นและใบจะคล้ายกับมะกอกป่า ต่างกันที่ยอดของมะกอกฝรั่งจะเขียว มะกอกป่าจะยอดแดง และใบมะกอกฝรั่งจะหยักเป็นฟันเลื่อยชัดเจน
3. มะกอกป่า
มะกอกป่า (Spondias pinnata) หรือที่เรียกกันว่ามะกอก ใส่ในส้มตำและอาหารอีสานอีกหลายอย่าง มะกอกชนิดนี้ไม่ค่อยมีเนื้อ สามารถกินผลสุก ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวใช้กินกับน้ำพริก ลาบ แหนมเนือง
วิธีการปลูกและพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก
มะกอกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ แต่ส่วนมากนิยมใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะทำให้ได้ต้นใหญ่ ปริมาณผลมาก และอายุยืนยาว เหมาะสำหรับการปลูกกลางแจ้งที่มีพื้นที่มาก การตอนและการปักชำไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากติดรากยาก และอายุต้นจากการตอนและปักชำมีเพียงไม่กี่ปี แต่การปลูกประเภทนี้มีข้อดีคือ ติดผลเร็ว ลำต้นไม่สูงมาก เหมาะสำหรับปลูกบริเวณพื้นที่จำกัด
การเพาะเมล็ดควรเลือกเฉพาะเมล็ดจากผลที่ร่วงจากต้น นำผลมาตากแดดจนแห้งก่อนนำผลมาห่อด้วยผ้าหรือหนังสือพิมพ์แล้วเก็บไว้ในที่ร่มนาน 2 – 3 เดือนเพื่อให้เมล็ดพักตัว เมื่อถึงต้นฤดูฝนหรืออาจก่อนฤดูฝนให้นำผลมาปอกเปลือกผลออกให้หมด จากนั้นนำไปแช่น้ำอุ่นนาน 5 – 10 นาที และแช่น้ำอุณหภูมิปกตินาน 6 – 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ควรใช้ถุงขนาดใหญ่ 8 – 10 นิ้วในการเพาะ เนื่องจากรากมะกอกในระยะหลังงอกจะเติบโตเร็วและมีความยาวมาก เมื่อเพาะกล้าจนต้นกล้าสูง 15 – 20 เซนติเมตรจึงย้ายลงปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ
วิธีการดูแล
แสง
มะกอกชอบแดดจัด ควรปลูกให้โดนแดดเต็มที่หรือโดนครึ่งวันก็พอได้ ถ้าโดนแดดน้อยการแตกใบและเจริญเติบโตก็จะน้อยตาม
น้ำ
ไม่กอกไม่ชอบน้ำแฉะ สามารถไม่รดน้ำเป็นสัปดาห์ก็ได้ ควรให้น้ำอย่างมากสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ทั้งนี้ถ้าปลูกในที่ที่ไม่โดนแดดจัดต้องลดปริมาณการให้น้ำลงด้วย
ดิน
มะกอกขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและชุ่มชื้น
ปุ๋ย
มะกอกเป็นพืชที่เติบโตง่าย แม้ในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการให้ปุ๋ยกับมะกอกจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้หากอยากบำรุงต้นมะกอกสามารถใส่ปุ๋ยคอกผสมในดินก็ได้
ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่น ๆ
ผล
ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม อาหารของสัตว์ป่า
ใบ
มีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่นอาหาร
ยาง
ยางมะกอกมีน้ำตาลปนแดง ไม่ละลายน้ำ เป็นเมือกใช้นำมาติดของและทำให้เยื่อเมือกอ่อนนุ่ม
ยอดอ่อน
ใช้รับประทานเป็นผัก ได้ทั้งสุกและดิบ
เนื้อไม้
เป็นไม้เนื้ออ่อน ใช้ทำไม้จิ้มฟัน กล่องไม้ขีด กล่องใส่ของ หีบศพ งานก่อสร้างบ้าน
เปลือกลำต้น เมล็ด ใบ ราก แก่น และผล
มีสรรพคุณเป็นยา โดยเป็นส่วนประกอบของตำรับยาสมุนำพรไทย สามารถใช้ปรุงเป็นทั้งยาบำรุงธาตุและยาแก้อาการเจ็บป่วย
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
ราคาของต้นมะกอกป่าจะขึ้นอยู่กับวิธีเพาะปลูก โดยหากเพาะโดยเมล็ดจะมีราคาต้นที่ยังไม่โตมากอยู่ที่ 150 – 300 บาท แต่ถ้าเพาะโดยการตอนกิ่งหรือปักชำจะมีราคาตั้งแต่ 30 – 120 บาท