ต้นยมหอม คือ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความสูงประมาณ 20 เมตรขึ้นไป จุดเด่นคือเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว นิยมนำเนื้อไม้ไปแปรรูป ทำเป็นไม้อัด ต้นยมหอมมีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วไปโดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย และมักพบได้ตามแถบแม่น้ำ ลำธาร หรือหุบเขา ที่มีความชื้นสูง วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับต้นยมหอมกันให้มากขึ้น จะน่าสนใจแค่ไหนตามไปชมกันเลย
ข้อมูลทั่วไปของต้นยมหอม
- ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ Toona ciliata M. Roem.
- ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Cigar-box, Indian mahogany, Moulmein cedar
- ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นยมหอม
ต้น
ยมหอมเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความสูงตั้งแต่ 20 เมตร ขึ้นไป ลำต้นตรง ไม่มีกิ่งก้าน จุดเด่นคือ โตเร็ว สูงชะลูดเปลือกลำต้นมีสีเทาปนดำ และเปลือกหนา โดยเปลือกของลำต้นจะแตกออกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น และมีรูระบายอากาศอยู่ทั่วไป
ใบ
ต้นยมหอมมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบช่อยาว โดยช่อของใบมีความยาวประมาณ 25 70 เซนติเมตร และกว้าง 3-5 เซนติเมตร ใบมีความยาว 9-13 เซนติเมตร ใบย่อยมีความมน แกมรูปไข่หรือทรงรี บางครั้งคล้ายรูปดาบ โดยจะออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ยอดใบเรียวแหลม ส่วนคนใบเบี้ยว
ดอก
ต้นยมหอม มีลักษณะการออกดอกเป็นช่อ ซึ่งแต่ละช่อจะห้อยยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ดอกประกอบไปด้วยกลีบดอก 5 กลีบ โดยดอกมีขนาดเล็กออกรวมกันเป็นช่อยาวๆ ตามง่ามใบที่บริเวณปลายกิ่ง สีของดอกคือสีขาวอมเหลืองหรือสีแดง
ผล
ผลมีรูปทรงรี โดยมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาว 1.5-2 ซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว อุ้มน้ำ เมื่อผลแก่จะมีสีเหลือง และหากแก่จัด ผลจะแตกออก ด้านในผลมีเมล็ดลูกยาวทรงรี โดยมีปีก 2 ข้างสามารถหลุดลอยไปตามสายลมไกลๆ
ประโยชน์ของต้นยมหอม
- ไม้ยมหอมมีลักษณะเป็นไม้เนื้อลาย โดยเนื้อไม้มีสีแดงอ่อนหรือสีน้ำตาล กลิ่นหอม มีความแข็งแรง ทนทาน นิยมนำมาแปรรูปใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำฝ้า เพดาน ไม้วงกบ ไม้ผนัง ขอบหน้าต่าง ตลอดจนเครื่องดนตรี หรืออุปกรณ์กีฬา ใช้ต่อเรือ และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากการใช้เนื้อไม้ในการสร้างบ้านแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน หลายท่านอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า ไม้ยมหอมนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงนำมาเป็นไม้ต่อเรือใบของพระองค์เอง
- ดอกของยมหอม สามารถใช้เป็นสีย้อมผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมได้ ซึ่งดอกที่มีสีเหลืองหรือสีแดงจะทำให้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีสีสันที่สวยงามตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
สรรพคุณของต้นยมหอม
- ต้นยมหอม มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรสามารถรักษาโรคได้หลากหลายอาการ โดยเฉพาะยางที่ได้จากไม้ยมหอมสามารถใช้สมานแผล รักษาแผล หรือห้ามเลือดได้ ส่วนดอกและผลใช้เป็นยาแก้ไอหรือเป็นยาขับระดูนอกจากนั้นเปลือกของต้นยมหอมที่มีรสฝาด ยังสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยต่อต้านเชื้อโรคและเชื้อราบางชนิดได้ด้วย
การปลูกการ ขยายพันธุ์ และวิธีการดูแลรักษาต้นยมหอม
การปลูกไม้ยมหอม มีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ไม้หลายท่าน ให้คำแนะนำว่าไม้ยมหอมไม่ควรปลูกในแปลงที่มีขนาดใหญ่บนพื้นที่หลายไร่ แต่ควรปลูกเป็นหย่อมแซมกับต้นไม้ชนิดอื่น หรือปลูกตามหัวไร่ ปลายนาจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเนื่องจากไม้ยมหอมเป็นไม้ที่โตเร็วและแทงยอดอ่อนในช่วง 1-2 ปีแรกมีโอกาสสูงที่ อาจได้รับความเสียหายจากหนอนผีเสื้อที่มากัดกินยอดอ่อนจนหมด อีกทั้งยังอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคไปได้ในวงกว้าง ทำให้เกิดการเสียหายต่อพืชพรรณชนิดอื่นๆ ตามมาด้วย สำหรับการปลูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้
- ปลูกบนหัวไร่ปลายนา : วิธีนี้สามารถปลูกเป็นแถวต่อกันหรือปลูกเว้นสลับกับพืชชนิดอื่นได้ แต่ควรเว้นระยะห่างด้วยความเหมาะสม และไม่ควรปลูกแบบกระจาย
- ปลูกในแปลง : การปลูกในแปลง ควรมีการพรวนดินและกำจัดวัชพืชออกเสียก่อน และโรยด้วยปุ๋ยคอกรองก้นหลุมประมาณ 3-5 กำมือ ควรปลูกต่อกัน 2-4 ต้น ในระยะห่าง 4 x 4 หรือมากกว่านั้น และให้ปลูกแซมเว้นกับไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีความแข็งแรงทนทานทนต่อสภาพอากาศได้ดี อย่างเช่น ต้นกระถินเทพา ไม้มะฮอกกานี สะเดา คูณเป็นต้น สำหรับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นยมหอม ควรเป็นดินร่วน หรือดินทรายที่มีค่า pH ประมาณ 5.5 ถึง 7.0 ขึ้นไป อัตราการเจริญเติบโตของต้นยมหอม หากไม่ถูกหนอนผีเสื้อเจาะทำลายจะมีภาวะการเจริญเติบโตพอๆ กับไม้สักคือ 10 ปี ซึ่งอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางในระดับ 15-20 เซนติเมตร
สำหรับการขยายพันธุ์หรือการผลิตกล้าไม้ยมหอม นิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดมากที่สุด แต่ควรใช้เมล็ดที่เก็บมาใหม่ๆ การเพาะ ควรเพาะในกระบะทราย ในระหว่างนั้นควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เมื่อกล้าไม้มีอายุ 1 ปีขึ้นไปสามารถผลิตเหง้าได้เองแล้ว จึงย้ายไปปลูกในแปลงลำดับต่อไป
การดูแลรักษาต้นยมหอมนั้น ต้นยมหอมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อหลีกเลี่ยงการให้น้ำและทำให้ต้นยมหอมมีอัตราการเจริญเติบโตดีหรือมีอัตราการรอดตายสูงในปีถัดไป การดูแลรักษาต้นหอมที่ดีที่สุด ก็คือ การป้องกันการกัดกินยอดอ่อนของหนอนผีเสื้อ โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมักจะออกแพร่ระบาดในช่วงตอนกลางคืน และพบมากในช่วงต้นฤดูฝน นอกจากโรคหนอนผีเสื้อที่คอยเจาะกินยอดแล้ว ยังอาจพบโรคเน่าคอดิน หรือโรคราสนิม ที่คอยเจาะกินหรือทำลายยอดอ่อนให้ยอดแห้งตายได้ วิธีการกำจัดสามารถใช้ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดหนอนผีเสื้อโดยเฉพาะ แนะนำให้ฉีดพ่นยากำจัดแมลงชนิดดูดซึม เช่น ฟูราดาน ทามารอนพอสซ์ เป็นต้น ซึ่งควรฉีดในทุกๆ 15 วัน ที่บริเวณยอดอ่อน
อีกอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำ ก็คือ การปลูกต้นยมหอมควรปลูกให้แนวตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ เพื่อทำให้เกิดร่มเงาแก่ต้นไม้ชนิดอื่นๆ หรือทำให้เกิดแสงรำไร สำหรับการตัดแต่งกิ่ง ควรตัดแต่งยอดอ่อนที่แทงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ต้นยมหอมเจริญเติบโตมีลำต้นสูงไม่แตกกิ่งเป็นพุ่ม
เมื่อพูดถึงการตัดต้นไม้ยมหอมไปใช้ประโยชน์นั้น อย่างที่บอกว่าเนื้อไม้ยมหอม มีความแข็งแรง ทนทาน นิยมนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้าง ทำเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้มากมาย ไม้ยมหอมที่มีขนาดหน้า 4-6 สามารถตัดฟันนำมาแปรรูปได้ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปีขึ้นไป ส่วนไม้ยมหอมที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร โดยจะมีลวดลายและสีที่เข้มกว่าเหมาะกับการนำมาแปรรูปในงานก่อสร้างหรืองานที่ต้องรองรับน้ำหนักเยอะๆ ในปัจจุบันราคาของไม้ยมหอมจะขายคิวละประมาณ 8,000 – 10,000 บาท มีการคาดการณ์ว่าในอนาคตเนื้อไม้ยมหอมจะมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ เนื่องจากมีวิธีการดูแลรักษาที่ยาก บวกกบเกษตรกรผู้ปลูกในประเทศของเราตอนนี้ มีไม่มากนัก ในขณะที่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับท่านใดที่ต้องการจะปลูกต้นยมหอม แต่ไม่สะดวกที่จะเพาะเมล็ดหรือขยายพันธุ์ด้วยตนเอง ก็สามารถที่จะซื้อต้นกล้าพันธุ์ยมหอมมาปลูกเองได้ จากร้านจำหน่ายขายพันธุ์ไม้ทั่วไป ในปัจจุบันต้นกล้าพันธุ์ของยมหอมมีราคาไม่แพง โดยมีราคาประมาณ 20-80 บาทต่อต้น ความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร หรือจะสามารถสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ควรพิจารณาจากแหล่งจำหน่ายขายพันธุ์ไม้ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งระบบการจัดส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย
ที่มา
https://www.dnp.go.th