ต้นศุภโชค (Malabar Chestnut, Saba nut, Pachira aquatic) ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบมีความสูงได้ประมาณ 8 – 10 เมตร เมื่อปลูกลงดิน แต่ถ้าปลูกลงกระถางต้นจะมีขนาดไม่สูงมาก ดอกจะส่งกลิ่นหอมตลอดวันและจะยิ่งส่งกลิ่นแรงในช่วงเวลากลางคืน ต้นศุภโชคจะนิยมนำมาทำเป็นไม้แคระ โดยการนำต้นอ่อนที่ยังเล็กมาดัดหรือถักเปียให้เกิดความสวยงามเป็นไม้ประดับปลูกลงในกระถาง เดี๋ยววันนี้เกษตรทูเดย์จะพาทุกคนมาดูกันว่าต้นศุภโชคจะมีลักษณะพิเศษยังไงที่ทำให้เป็นที่นิมยมในปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไปของต้นไม้
ชื่อไทย : ศุภโชค นุ่นน้ำ
ชื่อจีน: เหยาเฉียนซู่ (搖錢樹)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Malabar Chestnut, Saba nut, Pachira aquatic
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachira aquotico
ชื่อวงศ์ : Malvaceae
ความเป็นมาของต้นไม้
ศุภโชคเป็นไม้ยืนต้นที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อน ที่มีต้นกำเนิดมาจากทางทวีปอเมริกาใต้อย่างประเทศเม็กซิโก บราซิล ฮาวาย จากนั้นได้มีการแพร่กระจายและนำเข้ามายังทางทวีปเอเชียอย่างประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศไทย โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเป็นไม้แคระเสริมสิริมงคล และปลูกเพื่อสร้างความสวยงามให้อาคารบ้านเรือน หรือปลูกเป็นไม้ประธานบ้านให้ร่มเงาและความร่มรื่น
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้
ต้นศุภโชคมีชื่อในภาษาจีนว่า ‘เหยาเฉียนซู่’ มีความหมาย เขย่าเงิน เรียกเงิน ที่ทำให้เชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่จะดูดเงินดูดทองเข้าบ้าน และยังเสริมดวงชะตา ให้โชคให้ลาภเสริมบารมีให้แก่ผู้ปลูกและผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านนั้น ๆ อีกด้วย
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
การปลูกต้นศุภโชคลงกระถางที่ทำเป็นไม้แคระสามารถวางไว้ตรงส่วนใดของบริเวณบ้านในที่ที่ได้รับแสงแดดไม่จัดจนเกินไป แต่ถ้าอยากเสริมความสิริมงคลตามหลักฮวงจุ้ยจะนิยมวางไว้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน ส่วนต้นศุภโชคที่ปลูกลงดินจะสามารถโตได้เรื่อย ๆ และมีขนาดใหญ่ควรจะปลูกให้ห่างจากอาคารบ้านเรือนพอสมควร เพราะเขามีระบบรากที่ใหญ่ แทงลงไปในดินได้ลึก และรัศมีทรงพุ่มกว้างได้ประมาณ 2 -3 เมตร อาจจะส่งผลต่ออาคารที่มีกระจก หน้าต่าง ที่กิ่งก้านทิ่มแทงเข้ามาได้ จึงนิยมนำมาปลูกบริเวณรั้วบ้านให้ร่มเงาและร่มรื่น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สำหรับข้อมูลเรื่องลักษณะโดยทั่วไปของต้นศุภโชค ทางเว็บไซต์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ก็ได้มีการอธิบายส่วนต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้
ลำต้น
ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบทรงพุ่มขนาดเล็กถึงกลาง ปลูกลงดินมีความสูงได้ประมาณ 8 – 10 เมตร แต่ถ้าปลูกลงกระถางจะไม่สูงมากขึ้นอยู่กับขนาดกระถางที่นำมาปลูก ลำต้นยังเล็กจะมีสีเขียวและบิดเกลียวได้ เมื่อต้นโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านออกเป็นชั้น ๆ มีรัศมีพุ่มประมาณ 2 – 3 เมตร คล้ายกับต้นตีนเป็ด
ใบ
ใบรวมแบบนิ้วมือ แตกเป็นแฉก ลักษณะทรงหอกหรือรูปไข่ยาว ปลายใบและโคนใบแหลม แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนใบย่อยมี 5 ใบ
ดอก
ดอกมีลักษณะคล้ายพู่สีขาวอมเหลือง ส่วนปลายมีสีชมพูเข้มยาวประมาณ 5 – 8 เซนติเมตร เกสรอยู่ปลายหลอด กลีบรองยาวสีเขียวอ่อนและบิดม้วนลงมา ส่งกลิ่นหอมตลอดทังวันและจะส่งกลิ่นแรงขึ้นในล่วงเวลากลางคืน และจะออกดอก 3 ครั้งต่อปี ซึ่งจะออกดอกมากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผล
จะมีลักษณะคล้ายกับผลนุ่นเป็นรูปไข่ เปลือกเรียบ หนา ผลอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนผลแก่จะมีน้ำตาลเข้ม เมื่อสุกเต็มที่กลีบผลจะแตกเมล็ดได้ 5 กลีบ ร่วงลงสู่พื้น และมีเมล็ดประมาณ 10 – 15 เมล็ดต่อผล
เมล็ด
เป็นเมล็ดกลมสีน้ำตาลอ่อนมีใยบางปกคลุมเมล็ด สามารถนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก มีรสชาติคล้ายกับถั่วและแปรรูปได้ทั้งทอด อบ ต้ม สร้างรายได้
วิธีการปลูกและการดูแล
แสง
เป็นไม้ที่ทนต่อความแล้งได้ดี ชอบแดดและเป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทยได้ สามารถปลูกได้ทุกที่และทุกสภาพอากาศ แต่ถ้าปลูกในกระถางเป็นไม้แคระจะชอบที่ร่ม แดดรำไร
น้ำ
เมื่อปลูกในกระถางรดน้ำวันละครั้งหรือสังเกตจากดิน ถ้าดินแห้งก็รดได้เลย หรือ 2 – 3 วัน รดครั้งหนึ่ง
ดิน
ดินที่นำมาปลูกควรเป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี หรืออาจเป็นดินร่วนปนทรายหรือขุยมะพร้าว
ปุ๋ย
จะใส่ปุ๋ย 3 – 4 ครั้งต่อปี โดยจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกก็ได้ ซึ่งจะให้ผลดีในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนทำให้เจริญเติบโตได้ดี
การดูแล
-
- เมื่อสังเกตเห็นใบที่เหี่ยวเฉาออกสีน้ำตาล หมายความว่าใบตายแล้วให้ทำการเล็มออกหรือตัดส่วนที่ตายออก
-
- เนื่องจากเป็นไม้ที่ไม่ค่อยเป็นโรคและแมลงมารบกวน จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากและดูแลไม่ยาก
-
- ถ้าอยากได้ทรงพุ่มที่สวยงาม สามารถตัดแต่งส่วนใบได้
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์สามารถทำได้ 3 แบบคือ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการทาบกิ่ง
ต้นศุภโชค เป็นไม้ที่เลี้ยงไม่ยาก ไม่ค่อนมีโรคและแมลงมารบกวน ชอบแดด แต่ถ้าเลี้ยงในกระถางจะชอบแดดรำไร ไม่ควรวางในที่ที่โดนแดดจัด แต่จะไม่ออกดอกออกผลถ้าเลี้ยงในกระถาง ซึ่งถ้าปลูกลงดินจะออกดอกในอายุต้น 2 ปีขึ้นไป
การเพาะเมล็ด
-
- นำเมล็ดศุภโชคมาแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 1 ชั่วโมง
-
- เมื่อครบเวลานำเมล็ดที่แช่น้ำมาตรวจ จับบีบ โดยเลือกเมล็ดที่ไม่หลีบ ฝ่อ และแตก
-
- จากนั้นนำภาชนะอย่างแก้ว ที่เจาะรูข้างล่างใส่ขุยมะพร้าวรองพื้นส่วนหนึ่ง เอาเมล็ดวางทับลงไปและใส่ขุยมะพร้าวคลุมให้มิด รดน้ำและนำพลาสติกใสมาคลุมปิดปากแก้วไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 วัน เมื่อสังเกตเห็นการแตกรากจึงเปิดภาชนะออก
-
- นำเมล็ดที่ผ่านการอบออกมาจากแก้ว แล้วตรวจดูอีกทีว่ามีเมล็ดที่งอกได้ดีหรือไม่ ถ้าเมล็ดที่ไม่งอกก็ทิ้งได้ ส่วนเมล็ดที่ผ่านนำมาปลูกในกระถาง โดยใช้ดินร่วนมีการระบายน้ำได้ดี
-
- ใส่ดินในกระถางให้เต็ม จะใช้ดินเปียกที่ผ่านการรดน้ำมาแล้วหรือดินแห้งค่อยรดน้ำทีหลังก็ได้ จากนั้นนำเมล็ดที่มีรากแตกออกมากดลงไปในดิน โดยห้ามฝังกลบเมล็ด เพื่อที่จะให้ได้ลำต้นได้เติบโตเป็นต้นอ่อนต่อไป
-
- เมื่อต้นโตได้ประมาณ 1 ปี สามารถนำต้นอ่อนมาถักเปีย ดัดเป็นไม้ประดับแคระได้
ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่น ๆ
ประโยชน์
-
- ยอดอ่อนและดอก นำมากินสด ๆ ได้หรือจะตากแห้งใส่ในขนมจีนน้ำเงี้ยว
-
- เนื้อไม้ที่มีความแข็งแรงปานกลาง นำมาทำเป็นส้นรองเท้าหรือเครื่องมือเครื่องใช้
-
- เปลือก สามารถนำมาทำเยื่อกระดาษ
-
- นอกจากเป็นไม้ประดับเสริมความสิริมงคลยังสามารถเป็นไม้ฟอกอากาศ กรองสารพิษได้อีกด้วย
สรรพคุณ
-
- ราก สามารถทำเป็นยาสมุนไพรแก้โรคกระเพาะได้
ต้นศุภโชคไม้มงคลมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด ไม่เพียงแต่เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามและความเป็นมงคลแล้ว ส่วน ๆ ต่าง ๆ ของต้นยังนำมาทำประโยชน์ได้หลากหลายและมีสรรพคุณทางยา และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่สนใจจะสร้างธุรกิจในการปลูกต้นไม้ที่ทำเป็นไม้ประดับไม้แคระ หรือส่วนผลที่นำเมล็ดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ นอกจากความสวยงามเรายังได้ความสดชื่น เย็นสบายจากร่มเงาของต้นศุภโชคอีกด้วย
ช่องทางสร้างอาชีพ
เมล็ดของต้นศุภโชคสามารถนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก แต่จะนิยมนำมารับประทานในตอนที่ผลสุกแล้ว รสชาติของเมล็ดจะคล้ายกับถั่วลิสงที่มีความหอม มัน โดยจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของการคั่ว อบ และทอดได้ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้ส่งออกอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 – 600 บาทเลยทีเดียว
ศุภโชคจะนิยมนำมาทำเป็นไม้ประดับอย่างไม้แคระ ที่จะทำการถักเปีย หรือดัดลำต้นที่เรารู้จักกันในการทำบอนไซนั่นเอง โดยจะนำต้นที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปมาดัด ซึ่งในระยะนี้ลำต้นจะอ่อน ดัดง่าย โดยใช้ลวดดัดตามรูปทรงที่ตรงการ หรือนำลำต้นมาถักสานเปียได้ ตัดแต่งกิ่งให้สวยงามนำมาสร้างรายได้ได้อีกหนึ่งช่องทาง
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
ต้นศุภโชค, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์