ต้นแจง ชื่อวิทยาศาสตร์ Maerua siamensis (Kurz) Pax ชื่อวงศ์ (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE) ชื่ออื่น ๆ แกง (นครราชสีมา),แก้ง แจ้ง เป็นต้น
ต้นแจง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ พบได้บ้างที่เป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ เป็นพรรณไม้โตช้า มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด พบขึ้นได้ในป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 0-400 เมตร โดยจะพบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
ต้นแจงสามารถปลูกได้ในบริเวณที่มีแสงแดดจัด ขึ้นได้ดีในดินร่วน ชอบขึ้นตามเขาหินปูน ระดับความสูงไม่เกิน 400 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงามใช้ในงานตกแต่งด้านภูมิทัศน์ ให้ความร่มรื่น ร่มเงาได้เป็นอย่างดี สามารถปลูกไว้ในบริเวณบ้านที่มีสวน หรือบริเวรกว้าง บางคนนำมาปลูกไว้หน้างานเพื่อเป็นร่มเงา และตกแต่งภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นมากขึ้น
ลักษณะทั่วไป
ลำต้น
ของต้นแกง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ
ใบแจง
มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ (บางครั้งอาจพบว่ามี 4-5 ใบ แต่พบได้น้อย) ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียวหรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบ เป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน (บ้างว่าบางคล้ายแผ่นกระดาษ) แผ่นใบแตกแขนงมาก ก้านช่อใบยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยสั้นจนเกือบไม่มี
ดอกแจง
ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะ รวมเป็นช่อแยกแขนง โดยออกเป็นช่อตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ดอกไม่มีกลีบดอก มีแต่มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายแหลม ส่วนขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9-12 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ติดทน มีอับเรณูลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายอับเรณูเป็นติ่ง ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง มีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกเกลี้ยง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผลแจง
ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 4.5-7.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
การปลูกต้นแจง
ต้นแจงมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ต้นแจงเพื่อจำหน่าย เนื่องจากต้นแจงในทุกวันนี้เป็นต้นไม้หายาก หรือเป็นต้นไม้ที่กำลังถูกลืม จึงมีคนสนใจหันมาปลูกต้นแจงเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ต้นแจงไว้ การเพาะพันธุ์ที่นิยม นิยมเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เนื่องจากวิธีการเพาะเมล็ด ต้นแจงมีการเจริญเติบโตช้า
ประโยชน์และสรรพคุณของต้นแจง
ต้นแจง ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบๆ นิยมนำเอามาเผ่าถ่าน ใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพดี และนำถ่านมาทำดินปืน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำถ่านอัดในบั้งไฟ ใบของต้นแจงนั้นสมัยก่อนนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาขนสัตว์ ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนจึงจะรับประทานได้ หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่าคั้นส้ม เช่นเดียวกับการกินยอดผักกุ่ม ที่ต้องนำไปดองหรือคั้นส้มก่อนรับประทาน เนื่องจากขณะที่ยังสดๆ “มีสารกลุ่มไซยาไนด์” แต่เมื่อนำไปดองหรือคั้นส้ม สารเหล่านี้จะถูกทำให้สลายตัวไป คนอีสานเชื่อว่าถ้าได้กินคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้งจะช่วยให้ไม่เข้าสู่ สภาวะสายตายาว หรือแก่เฒ่าแล้วยังมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตายาว ภูมิปัญญาในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากของบางหมู่บ้าน มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตลูกแป้งด้วย นอกจากนี้ต้นแจงยังมีสรรคุณทางสมุนไพรอีกมากมาย
- รากปรุงรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ นำมาต้มเอาไอน้ำอบแก้บวม เปลือก ราก และใบ ต้มน้ำดื่มแก้ดีซ่าน หน้ามืด ตาฟาง ไข้จับสั่น
- ต้น มีคุณสมบัติเหมือนราก แต่มีคุณสมบัติมากกว่ารากตรงที่แก้แมงกินฟัน ทำให้ฟันทน
- ใบ และยอด ตำใช้สีฟัน แก้แมงกินฟันทำให้ฟันทน และแก้ไข้
- เปลือกบำรุงกำลัง แก้หน้ามืดตาฟาง แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัยปวดเมื่อยตามร่างกาย และเปลือกไม้ ราก ต้มอาบอบ กิน แก้อัมพฤกอัมพาต ยอดอ่อนผสมเกลือ รักษาโรครำมะนาด แก้ปวดฟัน
- แก่น แก้ไข้ตัวร้อน
- ใช้ทั้ง 5 ส่วนของต้นแจง แก้ไข้จับสั่น แก้ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ยอดอ่อนนำมาต้ม ล้างหน้าแก้ตาฝ้าฟาง
- สามารถนำมาทำลูกประคบสำหรับหญิงที่คลอดลูกเพื่อลดความปวดเมื่อยล้า ประกอบด้วย 1.ใบแจง 2.ใบมะขาม 3.ไพร 4.หัวหอม และ 5 เกลือแก้อัมพฤกอัมพาตเข้าลูกประคบ แก้ฟกช้ำ แก้ขัดเบา
- เอาต้นแจงทั้ง ๕ หนัก ๓ ตำลึง ชะพลู หนัก ๓ ตำลึง แก่น ไม้สัก ๓ ตำลึง ตัวยาทั้ง๓ นี้ ใส่หม้อดิน กับน้ำ ๓ ส่วน ต้มเคี่ยว ให้เหลือ ๑ ส่วน ใช้น้ำยารับประทาน เช้า-เย็น แก้ขัดเบาได้ผลชะงัก