ต้นโกงกาง ไม้แห่งป่าชายเลน ประโยชน์และสรรพคุณเพียบ

ชื่อภาษาอังกฤษ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Rhizophora, Red Mangrove

ความหมาย

ต้นโกงกาง เป็นต้นไม้ที่เติมโตในบริเวณป่าชายเลนที่ใกล้กับทะเล เป็นต้นที่ช่วยให้ระบบนิเวศป่าโกงกางมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก

ความเชื่อ

ต้นโกงกาง เป็นต้นไม้ที่เติมโตในบริเวณป่าชายเลนที่ใกล้กับทะเล มีรากที่ใหญ่และแข็งแรงอยู่มากมาย เมื่อถึงช่วงเวลาในการผลัดผลฝักเพื่อขยายบริเวณ ผลฝักของต้นโกงกางจะร่วงหล่นจากตัวต้นลงบนพื้นดินทำให้เกิดการเจริญเติมโตตามวัฏจักร ส่งผลให้ระบบนิเวศป่าโกงกางมีความอุดมสมบูรณ์ และพบเจอหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในวงศ์โกงกาง มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ และชื่อท้องถิ่นแต่ล่ะสายพันธุ์ดังนี้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhizophora, Red Mangrove

วงศ์โกงกาง :Rhizophoraceae 

ชื่อท้องถิ่นอื่นๆที่เรียกกัน เช่น กงเกง (นครปฐม), กงกางนอกโกงกางนอก (เพชรบุรี), กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร), ลาน (กระบี่), โกงกางใบใหญ่ (ภาคกลาง), กางเกงพังกาพังกาใบใหญ่ (ภาคใต้) โกงกาง (ระนอง), พังกาทราย (กระบี่) เป็นต้น

ต้นโกงกาง
www.trueplookpanya.com

ลักษณะของต้นโกงกาง

  • ลำต้น
    มีลักษณะเปลาตรง ด้านรับแสงจะมีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆในแนวตั้งหรือแนวนอนรอบลำต้น ส่วนเปลือกในเป็นสีส้ม สีเทาดำ ในกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน และเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอมแดง เป็นมันวาว บริเวณของโคนจะมีรากค้ำจุน
  • ใบ
    พบว่าเป็นใบชนิดเดี่ยว ซึ่งใบแต่ล่ะคู่จะออกสลับทิศทางหรือตรงกันข้าม รูบใบมีความรี คล้ายรูปหอก ปลายแหลม และฐานของใบจะเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม หูใบเป็นสีชมพูถึงสีแดงเข้ม ทำหน้าที่หุ้มใบอ่อนไว้  บริเวณหน้าใบสีเขียวอ่อนมีความมันแวว ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยงสีเขียวอมเหลืองหรืออมดำ และมีจุดสีน้ำตาลเห็นชัดเจน
  • ดอก
    จะเป็นช่อคู่ และมีกลีบเลี้ยงกลีบดอกแตกต่างกันตามสายพันธุ์
  • ผล
    เจริญเติมโตมาจากฐานรองดอก มีลักษณะคล้ายระฆัง ผิวเปลือกของผลมีสีน้ำตาล ค่อนข้างหยาบ และฝักจะแทงออกมาจากส่วนปลายของผล  แต่ถ้าฝักเริ่มแก่ฝักจะเจริญเติมโตออกมานอกผลโดยจะถูกเชื่อมกับขั้วฝักและใบเลี้ยง ฝักจะมีสีเป็นน้ำตาลอมแดงแล้วหลุดร่วงไปเองโดยธรรมชาติก็จะงอกและเติมโตขึ้นมาใหม่เรื่อยๆตามสภาพความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม

สายพันธุ์ต้นโกงกาง

พบว่าจัดอยู่ในวงศ์ไม้โกงกางมีอยู่ทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ พังกาหัวสุมดอกขาว พังกาหัวสุมดอกแดง ถั่วขาว ถั่วดำ โปรงขาว โปรงแดง และรังกะแท้ ซึ่งเป็นไม้ที่ขยายตามป่าชายเลนส่วนมากจะพบเจอโกงกางใบเล็กอยู่ในพื้นที่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของป่าชายเลนทั้งหมด โดยแต่สายพันธุ์จะมีลักษณะดังนี้

โกงกางใบเล็ก

เป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-40 เมตรลำต้นมีกิ่งแตกออกในแนวตั้งตรงและมีช่อดอกออกทางด้านข้าง บริเวณโคนมีรากค้ำยันรอบลำต้น เปลือกสีเทาดำ ผิวเปลือกเรียบมีรอยแตกเป็นร่องเล็กตามยาวของลำต้น เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง เป็นมันวาว ใบจะเป็นรูปวงรี หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมมีติ่งเล็ก สีของใบด้านบนเป็นสีเขียว ท้องใบสีเขียวอมดำ ส่วนดอกมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ ส่วนผลมีลักษณะเรียวคล้ายระฆัง ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักจะออกมาจากส่วนปลายของผลมีสีเขียว ฝักจะหลุดออกมาจากผลเมื่อแก่เต็มที่

กงกางใบเล็ก
www.wegrow.in.th

โกงกางใบใหญ่

เป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-40 เมตร ลำต้นมีกิ่งแตกออกแนวตั้งและมีช่อดอกออกทางด้านข้าง บริเวณโคนมีรากค้ำยันรอบต้น เปลือกสีเทาถึงค่อนข้างดำทึบ ผิวเปลือกหยาบมีรอยแตกแนวตั้วและแนวนอนรอบลำต้น เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง เป็นมันวาว ใบเป็นรูปวงรี อวบใหญ่ ปลายใบมีติ่งแหลมเล็ก สีของใบด้านบนเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบสีเหลือง ออกดอกเป็นช่อมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ ส่วนผลฐานรองดอกรูปร่างกลมยาว ผิวเปลือกของผลมีสีน้ำตาลอมเขียว ฝักจะโผล่ออกมาจากส่วนปลายของผล มีสีเขียว ผิวขรุขระมีตุ่มขึ้นทั่วทั้งฝัก

โกงกางใบใหญ่
phuketaquarium.org

พังกาหัวสุมดอกขาว 

เป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่  สูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นจะมีกิ่งแตกออกแนวนอนซ้อนกัน ใบเรียงกระจายเป็นวงกลม เปลือกมีสีเทาถึงดำจะแตกเป็นร่องตื้นๆตามยาวและตามขวางของลำต้น เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เป็นมันวาว ใบรูปวงรีหรือรูปขอบขนานสีเขียวอมเหลืองเล็กน้อย ปลายใบมีความแหลม ดอกเป็นดอกเดี่ยวๆออกบริเวณง่ามใบ มีสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงมี 10-12 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีขนปกคลุมมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผลจะสังเกตเห็นเมื่อดอกโรย นอกจากนี้ฝักจะมีรูปร่างคล้ายซิการ์ เป็นเหลี่ยม มีสีเขียวทั้งฝัก เมื่อแก่เต็มที่ก็จะหลุดออกจากฐานรองดอกทันที

พังกาหัวสุมดอกขาว

พังกาหัวสุมดอกแดง

เป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 25-35 เมตร มีการแตกกิ่งเป็นเเนวนอนซ้อนกันทำให้ใบเรียงตัวกระจายเป็นวงกลม เปลือกสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เป็นเกล็ดหนาและแตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น เนื้อไม้สีน้ำตาลออกเหลืองเล็กน้อย เป็นมันวาว ใบเป็นพุ่ม ใบมีสีเขียวเข้ม ท้องใบสีเหลือง ใบจะมีลักษณะคล้ายโกงกางใบเล็ก แต่จะไม่มีจุดดำใต้ท้องใบและปลายใบไม่แหลม ดอกเป็นดอกเดี่ยวๆ จะโผล่ออกบริเวณง่ามใบ มีกลีบเลี้ยง 10-14 กลีบ กลีบดอก 10-16 กลีบ ส่วนผลจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อโรยลงพื้น และฝักจะมีรูปร่างคล้ายซิการ์ มีสีเขียวเข้มแกมม่วง

พังกาหัวสุมดอกแดง
watbangyaigreen.wordpress.com

ต้นรุ่ยหรือถั่วขาว

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 8- 23 เมตร มีกิ่งแตกในแนวตั้งและมีช่อดอกออกทางด้านข้างของกิ่ง บริเวณโคนมีลักษณะเป็นปุ่มคล้ายหัวเข่า ลำต้นกลมเปลือกสีดำ ผิวเปลือกเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เนื้อไม้สีน้ำตาลออกเหลืองเล็กน้อย เป็นมันวาว ใบเป็นพุ่มสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ใบรูปวงรี ท้องใบสีเขียวอมเหลือง ดอกสีขาวจะมีช่อละ 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังมีลักษณะอวบ กลีบดอกบางสีขาวอมเหลือง ส่วนของผลสามารถสังเกตเห็นได้ก็ต่อเมื่อโรยลงสู่พื้น ฝักจะมีสีเขียวอมม่วงหรือเขียวอมเทา และหลุดออกจากฐานรองดอกตอนที่ฝักแก่เต็มที่

ต้นรุ่ยหรือถั่วขาว

ถั่วดำ

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 8-24 เมตร มีกิ่งแตกในแนวตั้งและมีช่อดอกออกทางด้านข้าง มีรากค้ำจุน ลำต้นเป็นเหลี่ยม เปลือกเป็นสีเทาเข้มถึงดำ ผิวเปลือกจะหยาบมองเห็นเป็นเกล็ด ไม่มีตุ่มสีขาวตามลำต้น เนื้อไม้สีน้ำตาลออกเหลืองเล็กน้อย เป็นมันวาว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามเป็นคู่ แต่ละคู่ตั้งฉากกัน มีสีเหลืองแกมเขียว และใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานผิวเรียบ ไม่มีขน ขอบเรียบ ปลายใบแหลม ออกดอกเป็นช่อบริเวณง่ามใบจะมีช่อละ 2-5 ดอก มีสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปหลอดยาว กลีบดอกบางสีขาวอมเหลือง ส่วนของผลสามารถสังเกตเห็นได้ก็ต่อเมื่อโรยลงสู่พื้น ฝักมีรูปร่างทรงกระบอกเล็กคล้ายถั่วฝักยาว ระยะแรกจะมีสีเขียวอมเหลือง เมื่อฝักแก่เต็มที่จะมีสีม่วงอมดำ

dmcrth.dmcr.go.th

โปรงแดง

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 15 -25 เมตร มีกิ่งแตกในแนวตั้งและมีช่อดอกออกทางด้านข้างของกิ่ง มีรากค้ำจุน ลำต้นกลมมีเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกสีเหลืองอ่อนถึงสีปูนแห้ง ผิวเปลือกขรุขระมีตุ่มจำนวนมาก เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง เป็นมันวาว ใบเป็นรูปไข่มีสีเขียวอมเหลือง มีกลีบดอกสีขาว 5 กลีบ ส่วนของผลมีลักษณะคล้ายระฆัง และฝักจะมีสีเขียว เมื่อฝักแก่จะเป็นม่วงแดงแล้วร่วงลงสู่พื้น

โปรงแดง

โปรงขาว

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 7-10 เมตร มีกิ่งแตกในแนวตั้งและช่อดอกออกทางด้านข้างของกิ่ง มีรากค้ำจุน ลำต้นตรง ต้นกลม ผิวเปลือกเรียบ จะมีตุ่มเมื่ออายุมากขึ้น เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง เป็นมันวาว ใบเป็นรูปไข่กลับ หนา ปลายใบมน มีสีเขียวเข้ม ส่วนของผลมีลักษณะคล้ายระฆัง และฝักมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ไม่มีร่อง ผิวเรียบ เมื่อฝักแก่ตัวจะเป็นสีม่วงแดงแล้วฝักหลุดร่วงลงสู่พื้น

โปรงขาว

รังกะแท้

เป็นไม้ที่มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-8 เมตร มีกิ่งแตกในแนวตั้งและมีช่อดอกออกทางด้านข้างของกิ่ง มีรากค้ำจุน เปลือกสีน้ำตาลอมส้ม ผิวเปลือกเรียบ ใบคล้ายใบพายปลายมน ใบออกเป็นกระจุก ดอกมีสีขาว 5 แฉกรูปร่างคล้ายปลาดาว ส่วนของผลมีลักษณะคล้ายระฆัง และเมื่อฝักแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลแล้วฝักจะหลุดร่วงลงสู่พื้น

รังกะแท้

วิธีการปลูกต้นโกงกาง

การปลูกต้นโกงกางเราจะต้องคัดเลือกฝักที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่มีร่องรอยการเจาะทำลายของมอด ฝักมีลักษณะแข็งแรงไม่อ่อนงอไปมา ผิวมันไม่แห้งเหี่ยว มีตุ่มขึ้นทั่วทั้งฝัก บริเวณปลายฝักมีสีเขียวอมเหลืองเป็นมันอวบอิ่ม พร้อมที่จะแตกเป็นใบ จากนั้นเรานำฝักที่คัดเลือกแล้วไปปังลงในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ ซึ่งมีความลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในการเพาะชำต้นโกงกางจะต้องใช้หน้าดินป่าชายเลนหรือหน้าดินป่าบนบกผสมกับแกลบเผาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่ในถุงดำขนาด 2 x 7 นิ้ว การที่เราใช้แกลบจะช่วยในการอุ้มน้ำและถุงมีน้ำหนักเบา สะดวกในการขนย้ายได้ง่าย หลังจากเตรียมเสร็จเก็บดูแลบำรุงรักษาในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 4-5 เดือน เมื่อลูกไม้แข็งแรงดีแล้ว ก็นำไปปลูกในพื้นที่เตรียมไว้ได้ การปลูกมีการกำหนดระยะโดยทั่วไปเพื่อผลการเจริญเติบโตที่ดีและคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกต้นโกงกางจะปลูกระยะห่างระหว่างต้น 1 x 1 เมตร หรือ 1.5 x 1.5 เมตร แต่อย่างไรก็ตามระยะห่างระหว่างต้น ก็ขึ้นรอยู่กับว่าจะใช้ไม้ทำประโยชน์ในด้านใด ถ้าต้องการนำไม้ไปใช้ทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น เครื่องมือดักปู หรือเสาสำหรับเลี้ยงหอยนางรม หรือหอยแมลงภู่ ซึ่งอาจจะใช้ไม้ขนาดเล็ก ก็ใช้ระยะปลูกแคบ คือ 0.5 x 0.5 เมตร สำหรับการปลูกจะต้องให้เป็นแถวเป็นแนว โดยปลูกต้นโกงกางยึดติดกับหลักด้วย เพื่อป้องกันการพัดพาของลมและกระแสน้ำ  และปัจจุบันนิยมปลูกโดยใช้ต้นกล้าจากเรือนเพาะชำ เพราะจะได้ผลดีกว่า การนำไปเพาะชำในพื้นที่โดยตรง

การดูแลต้นโกงกาง

การดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากหลังการปลูกเนื่องจากอาจจะมีแมลงกินใบ ซึ่งจะต้องกำจัดและเก็บทิ้งให้หมด การกำจัดวัชพืชชนิดต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในสวนป่าชายเลน ที่ปลูกเพื่อลดการแก่งแย่ง วัชพืชที่สำคัญและพบปริมาณมาก ได้แก่ ปรงทะเล เหงือกปลาหมอ และเถาชนิดต่างๆ เช่น เถาถอบแถบ และเถากระเพาะปลา เป็นต้น ส่วนดินพบว่าดินที่นำมาเพาะชำต้นโกงกางไม่มีผลต่อการเจริญเติมโตของต้นกล้าไม้ในช่วงอายุ 2 – 6 เดือน ซึ่งในช่วงระยะการเพาะชำจะต้องคอยดูแลเรื่องน้ำ โดยการรดน้ำทั้งเช้าและเย็น สามารถใช้น้ำเค็มตามธรรมชาติหรือน้ำจืดทั่วไปรดต้นกล้า จากการศึกษาของสมศักดิ์และดาวรุ่ง พบว่าน้ำเค็มจะช่วยในการเจริญเติมโตทางความสูงได้ดีกว่าการรดด้วยน้ำจืด และถ้าหากนำไปปลูกจะต้องหาพื้นที่ราบต่ำน้ำทะเลท่วมถึงจะช่วยประหยัดเวลาในการดูแล ส่วนแสงที่ได้รับในช่วงเพาะพันธุ์จะต้องผ่านตาข่ายที่ทำจากพลาสติกเพื่อให้ได้รับแสงที่สมดุลและสม่ำเสมอ ก่อนนำไปปลูกตามพื้นที่ต้องการตามป่าชายเลน

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆ

  • ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
  • ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด บิดเรื้อรัง ยาสมาน ใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง
  • ใช้เปลือกต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอกช่วยในการห้ามเลือด
  • ไม้โกงกางมีความแข็งแรง ทนทาน เหนียว สามารถแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆในงานก่อสร้าง เช่น กลอน เสาเข็ม ไม้ค้ำยันต่างๆและหลักในที่มีน้ำทะเลขึ้นถึง
  • การนำไม้โกงการมาทำเป็นฟืนและถ่านเกรดคุณภาพดีซึ่งเป้นที่นิยมในปัจจุบัน
  • เปลือกของต้นไม้โกงกางมีสารแทนนินและฟีนอลจากธรรมชาติสูงมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ทำยา ทำหมึก ทำสี ใช้ในการฟอกหนัง และใช้ทำกาว เป็นต้น
ประโยชน์โกงกาง
knone2.blogspot.com

แหล่งอ้างอิง

สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, คู่มือการเพาะชำกล้าไม้ป่าชายเลน

https://dmcrth.dmcr.go.th

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ