ปาล์มพัดจีบ (Palas Payung, Vanuatu fan palm, Ruffled fan palm) เป็นไม้พุ่มเดี่ยวที่เจริญเติบโตได้ช้า มีความสูงได้ประมาณ 3 – 6 เมตร ใบคล้ายรูปพัดหรือมีจีบแบบผ้าสไบ ทรงพุ่มกว้าง และเป็นไม้ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากเป็นไม้ที่เติบโตได้ช้าจึงปลูกในกระถางตกแต่งพื้นที่อาคารได้ทั้งความสวยงามและฟอกอากาศได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้เกษตรทูเดย์จะพาไปทำความรู้จักกับต้นปาล์มชนิดนี้กันว่าจะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง
ข้อมูลทั่วไปของต้นไม้
ชื่อไทย: ปาล์มพัด, ปาล์มพัดจีบ, ปาล์มจีบ
ชื่อภาษาอังกฤษ: Palas Payung, Vanuatu fan palm, Ruffled fan palm
ชื่อวิทยาศาสตร์: Licuala grandis H. Wendl
ชื่อวงศ์: Arecaceae (Palmae)
ความเป็นมาของต้นไม้
ปาล์มพัดจีบเป็นไม้เขตป่าฝนร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโซโลมอน ประเทศวานูอาตู และประเทศทางแถบทะเลแปซิฟิค จากนั้นจึงได้แพร่กระจายไปตามประเทศต่าง ๆ นิยมนำไปเป็นไม้ประดับให้ความสดชื่นสบายตา เพราะเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ช้ากว่าต้นจะใหญ่เต็มที่ใช้เวลาประมาณ 10 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่ไม่เร่งรีบได้เห็นต้นปาล์มค่อย ๆ เติบโตไปตามกาลเวลาอย่างช้า ๆ และใช้เป็นไม้ประดับเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับอาคารบ้านเรือนได้
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้
ความเชื่อของต้นปาล์มเชื่อว่าจะช่วยเสริมดวงชะตา โชคลาภในด้านการเงิน ทำให้ผู้ปลูกหรือผู้อยู่อาศัยพบเจอแต่สิ่งดี ๆ มีลาภลอย การเงินไหลมาเทมาและนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาให้ ทั้งนี้จะต้องไม่ปลูกบังทิศทางของแดดและลม เพื่อให้พลังของธรรมชาติผ่านเข้ามาในบ้านได้ จึงนิยมปลูกไว้ข้างบ้านและหลังบ้านมากกว่าการปลูกไว้หน้าบ้านนั่นเอง
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
ถ้านำปาล์มพัดจีบปลูกลงในกระถางสามารถวางในพื้นที่ต่าง ๆ ตามบ้านหรืออาคารได้ และถ้าปลูกลงดินควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านพอประมาณเพราะเมื่อโตเต็มที่ใบของปาล์มจะมีขนาดใหญ่บดบังบ้านได้ ตามหลักฮวงจุ้ยจะนิยมปลูกปาล์มพัดจีบไว้ข้างบ้านและหลังบ้านและจะต้องไม่ตรงกับประตูหน้าบ้านและหลังบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
ลักษณะของปาล์มพัดจีบ
ลำต้น
ลำต้นเดี่ยว ทรงพุ่มแผ่กว้าง เป็นไม้พุ่มเตี้ยสูงได้ประมาณ 3 – 6 เมตร เมื่อโตเต็มที่จะเป็นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ผิวลำต้นขรุขระสีน้ำตาลดำ
ใบ
ใบคล้ายรูปพัดแบบ 360 องศา แผ่นใบพับเป็นจีบ เส้นใบชัดเจน ขอบใบเว้าตื้น ส่วนปลายใบเป็นจักรมีหนามแหลมตรงขอบใบและก้านใบยาว เมื่อแห้งเหี่ยวหรือใบเหลืองไหม้จะทิ้งใบลง
ดอก
ปาล์มพัดจีบจะมีดอกสมบูรณ์เพศในต้นเดียวกัน อยู่ตามซอกกลีบและกาบใบ ส่วนดอกย่อยจะมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนและออกดอกเป็นช่อ
ผล
เป็นเมล็ดรูปทรงรีเมื่อเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียว สุกเต็มที่จะเป็นสีแดงเข้ม เมื่อร่วงหล่นสามารถนำเมล็ดมาเพาะปลูกได้
สายพันธุ์ของปาล์มพัดจีบ
สำหรับสายพันธุ์ของต้นพัดจีบจริง ๆ แล้วสามารถแยกออกตามสกุลของปาล์มได้ ดังต่อไปนี้
กะพ้อ (Licuala paludosa Griff.) เป็นปาล์มต้นเตี้ย สูงประมาณ 1 – 3 เมตร ใบมีลักษณะคล้ายฝ่ามือ เรียงเวียนสลับรูปกลม ก้นใบรูปสามเหลี่ยม มีหนามแหลมสีดำ ปลายใบเบี้ยวเว้าเป็นหางปลา ส่วนผลจะกลมตอนแก่จะมีสีส้มเป็นเนื้อบาง สามารถนำยอดอ่อนมารับประทานจิ้มน้ำพริก ใบนำมาห่อขนมและนำมาเป็นไม้ประดับ
ปาล์มเจ้าเมืองตรัง (Licuala peltata) มีลักษณะคล้ายกับปาล์มพัดจีบ ที่มีความสูงได้ประมาณ 4 เมตร แตกต่างจากปาล์มพัดจีบตรงที่หนามตรงก้านหลังเส้นใบจะมีขนาดใหญ่และห่าง ช่อดอกมีสีขาวและแทงขึ้นมาจากก้าน ใบกลมใหญ่คล้ายพัดขอบใบหยักแต่ไม่แหลม นิยมนำมาเป็นไม้ประดับ ส่วนชื่อปาล์มเจ้าเมืองตรัง ถูกค้นพบโดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังนั่นเอง
กะพ้อเขาจันทร์ (Licuala poonsakii) เป็นปาล์มในสกุลกะพ้อ ใบเป็นรูปคล้ายฝ่ามือ แฉกตรงกลางมีขนาดใหญ่เว้าบึกถึงกลางใบ ขอบใบมีหนามแหลม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและมีดอกย่อยจำนวนมาก ผลกลมรีสีแดง เป็นพืชท้องถิ่นของไทยพบได้มากตามภาคตะวันออกของประเทศ
วิธีการปลูกและการดูแล
แสง
ไม่ควรปลูกในที่โล่งที่ได้รับแสงแดดจัด ๆ ทั้งวัน เพราะจะทำให้ใบไหม้และแห้งเหี่ยว ควรปลูกในที่ที่ได้รับแดดรำไรหรือปลูกควบคู่ไปกับต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงากับปาล์มพัดจีบ ได้รับแสงที่ลอดผ่านเข้ามารำไร
น้ำ
สามารถรดน้ำได้ทุกวันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน หรือ2-3 วันค่อยรดน้ำ 1 ครั้งก็ได้ เพราะเป็นไม้ที่อึ้มน้ำได้ค่อนข้างดี ไม่สูญเสียความชุ่มชื้นมากนัก
ดิน
ควรปลูกในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและเป็นดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี
ปุ๋ย
บำรุงใบกับต้นด้วยปุ๋ยสูตร 18-8-8 โดยใส่ปุ๋ยให้ห่างจากตัวโคนต้นกันลำต้นเป็นแผล หรือบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักให้เป็นอาหารไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้น
การบำรุงดูแล
- ตัดแต่งกิ่งในส่วนที่ใบไหม้ ใบเหลืองออก ใน 1 ปีจะมีใบไหม้ประมาณ 3 – 4 ใบ
- โรคและแมลงเข้ามารบกวนน้อยมาก ดูแลง่าย
- อาจเกิดโรคใบจุด สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชร่วมด้วย
- การขนย้ายไปยังสถานที่อื่นต้องคอยระวังเรื่องการสะบัดให้ดี เพราะอาจจะทำให้ยอดหักได้และเหี่ยวแห้งลงในเวลาไม่กี่สัปดาห์
การขยายพันธุ์
ต้นปาล์มพัดจีบที่นิยมกันจะขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ด หรือปล่อยให้เมล็ดของต้นปาล์มร่วงหล่นใต้ลำต้นและรอให้งอกต้นอ่อนขึ้นมาจึงนำมาขยายพันธ์ุต่อได้ ส่วนการเพาะเมล็ดทำได้โดย
– นำภาชนะหรือกระถางใส่ดินที่มีความร่วนระบายน้ำได้ดีลงไป
– นำเมล็ดที่เตรียมไว้ใส่ลงดินแล้วกลบและรดน้ำ
– รองอกเป็นต้นอ่อนใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน
– เมื่องอกแล้วนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ซึ่งจะขุดหลุมให้มีขนาด 2 เท่าของต้น
– เมื่อขุดหลุมแล้วรองพื้นด้วยปุ๋ยละลายช้า ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักหรือกากมะพร้าวให้เป็นอาหารของต้นต่อไป
– ใส่ดินปลูกเดิมและต้นปาล์มลงไป กลบดินและรดน้ำรอการเจริญเติบโตเป็นต้นปาล์มที่สวยงาม
ประโยชน์ของปาล์มพัดจีบ
โดยส่วนใหญ่แล้วปาล์มพัดจีบจะนิยมนำมาเป็นไม้ประดับตกแต่งตามสวนหรือตามบ้าน อาคารต่าง ๆ และนิยมทำไปประดับเป็นไม้ฟอกอากาศเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่นั้น ๆ ได้ ปาล์มพัดจีบเป็นไม้พุ่มเตี้ยที่เจริญเติบโตได้ช้า แต่เขาสามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศในประเทศไทยที่ได้รับแสงแดดร่มรำไรและการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปลูกที่อาจจะไม่ต้องดูแลมาก เนื่องจากเป็นไม้ที่ไม่ค่อยมีแมลงและโรคมารบกวนมากนัก และยังสามารถเพาะพันธุ์ขายสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูก ยิ่งต้นที่จะมีขนาดใหญ่หรือสูงมากยิ่งมีมูลค่ามาก จึงเหมาะสำหรับผู้ปลูกที่ไม่เร่งรีบเหมือนกับการเฝ้าดูลูกหลานค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
Care of the palm tree Licuala grandis or Ruffled fan palm
How To Grow and Care for Licuala Grandis