สนเลื้อย ไม้ประดับทำบอนไซยอดนิยมที่ปลูกง่ายดูแลไม่ยุ่งยาก

สนเลื้อย (Creeping Juniper) เป็นไม้ในตระกูลสนแต่มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ยที่เลื้อยเอนไปทางใดทางหนึ่ง โดยทั่วไปจะสูงได้แค่ 50 – 90 เซนติเมตร จะไม่ตั้งตรงสูงเหมือนสนประเภทอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่นและเกาหลี สนเลื้อยถือเป็นไม้ประดับอีกชนิดที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องการทำต้นบอนไซก็มักจะเลือกปลูกสนเลื้อยแล้วนำมาดัดหรือตัดแต่งพุ่มให้สวนงามตามต้องการ ข้อดีของต้นสนเลื้อยคือชอบอากาศเย็น ทนแล้งได้ดี หากปลูกในไทยใบจะไม่เปลี่ยนสี สนชนิดนี้คนมักจะนิยมนำไปดัดหรือตัดแต่งพุ่มเป็นบอนไซ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุหลายปี 

สนเลื้อย
www.gardeningknowhow.com

ชื่อวิทยาศาสตร์: Juniperus procumbens (Siebold ex Endl.) Mig

ชื่อสามัญ: Creeping Juniper

วงศ์: CUPRESSACEAE

ลักษณะของต้นสนเลื้อย

สำหรับลักษณะเฉพาะของต้นสนเลื้อยทางเว็บไซต์ Thespruce ได้กล่าวถึงไว้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

ลำต้น: ลำต้นทอดเลื้อยแผ่กิ่งก้านไปตามพื้นได้ไกลกว่า 1 เมตร

ใบ: รูปเข็ม ปลายใบเรียวแหลม สีเขียวอ่อน แผ่นใบโค้งนูน ใต้ใบเว้า มีแถบปากใบสีเขียวเทา2 แถบ อาจมีแบบใบเกล็ดด้วย มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แคระ (J. procumbens‘Nana’) มีกิ่งย่อยสั้น ใบออกเป็นกระจุกสั้นและแน่น สีเขียวเทา

ดอก: เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่มีดอก

การขยายพันธุ์สนเลื้อย

สำหรับการขยายพันธุ์ต้นสนเลื้อยจะนิยมใช้อยู่ 2 วิธี คือ การปักชำและการตอนกิ่ง แต่โดยส่วนใหญ่วิธีที่คนนิยมใช้ คือ การปักชำ เนื่องจากได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว รากงอกได้เร็ว ซึ่งจะมีขั้นตอนการปักชำดังต่อไปนี้

1. ใช้มีดเฉือนเอาบริเวณปลายกิ่่งให้ติดใบมาด้วยเล็กน้อย ๆ ให้ติดกิ่งมาเยอะ ๆ  

2. เอาไปแช่ในน้ำที่ผสมกับ M150 (ใช้ทำน้ำยาเร่งราก) ประมาณ 1 ฝา แช่ไว้ 1-2 ชม. 

3. เอาขุยมะพร้าวแช่น้ำ 1 – 2 ชม. แล้วนำมาอัดใส่กล่องโฟมที่เจาะตรงก้นไว้แบบในรูป

4  นำกิ่งที่แช่น้ำไว้มาปักลงในขุยมะพร้าว 

5. ทิ้งไว้ในที่แสงครึ่งวันหรือแสงรำไร ไม่ต้องรดน้ำ ประมาณ 2 เดือนก็จะมีรากงอกออกมาค่อยนำไปปลูกในกระถางต่อ 

สนเลื้อย

การปลูกและการดูแลสนเลื้อย

ในส่วนของวิธีการปลูกและการดูแลสนเลื้อยต้องบอกเลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะโดยพื้นฐานแล้วต้นสนทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ปลูกได้ดี เพียงแค่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า แต่การจะปลูกสนเลื้อยสิ่งที่ต้องศึกษาจะมี ดังต่อไปนี้

ดิน

ต้นสนเลื้อยเป็นไม้ที่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายเพื่อให้ระบายน้ำดี เพราะสนจะไม่ชอบดินที่มีความแฉะหรืออุ้มน้ำจนเกินไป

แสงแดด

การปลูกสนเลื้อยในช่วงแรกที่ต้นยังเล็ก ๆ สามารถวางไว้ในที่แสงน้อยหรือแดดรำไรได้ แต่เมื่อต้นเริ่มโตจะต้องการแสงแดดเต็มวัน ให้วางไว้ในจุดที่สามารถรับแสงได้ดี

น้ำ

เป็นไม้ที่ไม่ได้ต้องการน้ำมาก ให้สังเกตหน้าดินถ้ายังมีความชื้นอยู่ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ ใช้การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและปักชำกิ่ง

การดูแลต้นสนเลื้อย

ในส่วนของการดูแลต้นสนเลื้อยให้สวยงามทางเว็บไซต์ gardeningknowhow ก็ได้แนะนำวิธีที่น่าสนใจไว้ ดังต่อไปนี้

  • ห้ามลิดใบออกเพราะกิ่งไหนไม่มีใบ กิ่งนั้นจะตาย
  • การเล็มใบไม่ควรเกิน 20% ของพุ่มใบ โดยเฉพาะในที่ ๆ มีอากาศร้อน
  • ตัดยอดและปลายให้มากกว่ากิ่งล่าง เพราะกิ่งล่างโดนแสงน้อยกว่าจึงอ่อนแอกว่า
  • ตัดแต่งรากเฉพาะในหน้าหนาว ครั้งละประมาณ 15% ของต้น
  • ดินปลูกต้องระบายน้ำดีและมีอินทรีวัตถุให้น้อยที่สุด
  • ดินที่ใช้ควรร่อนฝุ่นออกให้หมด
  • เปลี่ยนดิน 2-5 ปีต่อครั้ง
  • ให้ปุ๋ยอ่อน ๆ สลับกันหลาย ๆ สูตร
  • งดให้ปุ๋ยเมื่อมีการตัดรากหรือเปลี่ยนเครื่องปลูก
  • การใช้ปุ๋ยเคมีที่เข้มข้นมากเกินไปทำให้เกิดอาการรากไหม้ได้

ปัญหาในการปลูกเลี้ยงต้นสนเลื้อย

1. ใบแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล

1) ขาดน้ำ เกิดจากการขาดการดูแลเอาใจใส่หรือการรดน้ำไม่ถึงก้นกระถาง มักเกิดกับไม้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ การแก้ไขในกรณีหลังให้ใช้ดินปลูกที่มีโครงสร้างเล็กลงและอาจเติมขุยมะพร้าวหรือพีชมอสลงไปได้นิดหน่อย 

2) เกิดจากใบอ่อนแอ ส่วนใหญ่จะเป็นใบด้านในที่อ่อนแอจาก การได้รับแสงไม่เพียงพอ สังเกตได้จากสีที่เมื่อเปรียบเทียบกับปลายยอดแล้วจะหมองกว่า ใบที่อ่อนแอนั้นหาอาหารไม่เก่งและเมื่อไม่มีปลายแข็งแรงช่วยพยุงการลำเลียงน้ำเลี้ยง มักจะไหม้เมื่อโดนแดดและทำให้ทิ้งกิ่งในที่สุด

3) เกิดจากการที่รากเน่าเพราะดินปลูกไม่ระบายน้ำหรือเก็บกักความชื้นมากเกินไป ควรร่อนฝุ่นดินทิ้งทุกครั้งที่เปลี่ยนดิน และหลีกเลี่ยงดินปลูกที่อุดมด้วยอินทรียวัตถุ เพราะเมื่อย่อยสลายลงไปแล้วจะเกิดปัญหาดินแน่นตามมา 

2. โรคและแมลง

ไม้ประเภทสนมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากเพลี้ยต่าง ๆ ให้ใช้วิธีรดน้ำทั้งที่โคนและที่ใบจะช่วยได้เยอะ ช่วยล้างฝุ่นออกทำให้ใบได้รับแสงดีขึ้น 

สนเลื้อย

ลักษณะต้นที่ปลูกเลี้ยงหรือปลูกขายกัน

โดยส่วนใหญ่แล้วด้วยความที่ต้นสนเลื้อยเป็นไม้พุ่มเตี้ยคนจึงไม่นิยมปลูกเลี้ยงหรือปลูกขายในลักษณะที่เป็นต้นใหญ่ แต่จะขายต้นขนาดเล็กในถุงชำหรือกระถาง 6 – 10 นิ้วแทน เราสามารถนำไปปลูกในกระถางสวย ๆ ให้สูงขึ้นกว่านี้หรือปลูกเพื่อตัดแต่งพุ่มเป็นบอนไซให้สวยงามได้ตามใจชอบ ซึ่งต้นสนเลื้อยนิยมนำมาทำบอนไซมาก ๆ ด้วยความพริ้วไหวและสวยงามของใบและลำต้นของมัน อีกทั้งยังสามารถขายได้ในราคาที่สูงมาก ๆ ด้วย

แหล่งอ้างอิง

Creeping Juniper Plant Profile
About Creeping Junipers – Tips For Growing Creeping Juniper Ground Cover

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้