สนแผง ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ไม้สนที่คนนิยมปลูกประดับสวน

ต้นสนแผง หรือ สนหางสิงห์ (Chinese Arborvitae) จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงได้ถึง 20 เมตร สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้อย่างรวดเร็ว เป็นพันธุ์ไม้ในตระกูลเดียวกับไม้สนตระกูลไซเปรสที่มีการกระจายพันธุ์ทั่วโลก อาทิ สนฉัตร สนมังกร สนสามยอด สนเลื้อยหรือสนบลู ต้นสนแผงนี้โดยส่วนใหญ่เราจะพบได้บ่อยตามอาคารสถานที่สำคัญ ๆ หรือผู้คนนิยมปลูกไว้ตกแต่งบ้านและสวนด้วยความเป็นสนที่มีลักษณะเป็นพุ่มทรงสวย ไม่ค่อยผลัดใบและสามารถตัดแต่งฟอร์มให้สวยงามตามต้องการได้อย่างง่ายดาย เราจึงจะพบสนชนิดนี้ได้ไม่ยากนัก

สนแผง

ความเป็นมาของสนแผง

ในส่วนความเป็นมาของสนแผงหลายคนอาจจะพอทราบว่าต้นไม้ในตระกูลสนนี้สามารถขยายพันธุ์ได้ในวงกว้างทำให้ในหลายประเทศจะพบสนชนิดนี้รวมถึงที่ประเทศไทยด้วย แต่จริง ๆ แล้วเดิมทีสนแผงเป็นไม้พุ่มใหญ่ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตหนาวแถบประเทศจีนรวมถึงเกาหลีเหนือ มองโกเลียและบางส่วนของอิหร่าน ซึ่งก็ได้มีการนำเมล็ดเข้ามาเพาะพันธุ์และนิยมปลูกเป็นไม้ประดับมาจนถึงปัจจุบันนี้

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสนแผง

ชื่ออังกฤษ: Chinese Arborvitae, Oriental Arborvitae

ชื่อวิทยาศาสตร์: Platycladus orientalis (L.) Franco (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Biota orientalis (L.) Endl., Thuja orientalis L.)

ชื่ออื่นๆหรือสายพันธุ์: สนหางสิงห์, จันทยี จันทน์ยี่ (เชียงใหม่), สนเทศ สนแผง (กรุงเทพฯ), เฉ็กแปะ (จีนแต้จิ๋ว), เช่อป๋อ เช่อไป่เย่ ไป่จื่อเหยิน (จีนกลาง)

ชื่อวงศ์: CUPRESSACEAE

สนแผง

ความเชื่อเกี่ยวกับสนแผง

สำหรับใครที่อยากปลูกสนร่วมไปกับการหาไม้มงคลแล้ว สนแผงถือได้ว่าตอบโจทย์ได้อย่างดีเลย โดยทางเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรมได้อธิบายความเชื่อเรื่องการปลูกสนแผงไว้ว่า การปลูกต้นสนประจำบ้าน จะทำให้ผู้ปลูกได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป ได้รับการเกื้อหนุนเห็นอกเห็นใจหรือได้รับสิ่งที่ดีงาม นอกจากนี้ยังทำให้มีเกียรติและความสง่า เพราะสนแผงนั้นมีทรงพุ่มลักษณะคล้ายเครื่องสูงที่ใช้ในพิธีแห่เกียรติยศและลักษณะการเจริญของลำต้นกิ่งก้านเด่นชัด ตระหง่านงาม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย

ควรปลูกสนแผงบริเวณใดของบ้าน

สำหรับสนแผงถือเป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในต้นไม้ปลูกเพื่อความสวยงาม ในการปลูกในพื้นที่บ้านสามารถปลูกได้ในบริเวณในรั้วบ้านฝั่งซ้ายหรือขวา โดยเลือกฝั่งที่ต้นสนแผงสามารถรับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบแสงแดดมาก และจะต้องเป็นบริเวณที่ไม่มีน้ำขังเป็นเวลานาน เนื่องจากรากของต้นสนแผงอาจจะทำให้ต้นไม้ตายได้หรือจะปลูกในบริเวณสวนหลังบ้านเพื่อให้ต้นสนแผงเป็นต้นที่ให้ร่มเงา โดยสามารถตกแต่งกิ่งตามความสวยงามได้อีกด้วยในทางความเชื่อเรื่องตำแหน่งในการปลูกควรปลูกต้นสนแผงไว้ทางทิศเหนือ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

สนแผง

ลักษณะโดยทั่วไปของสนแผง

ใครที่ชื่นชอบหรือเคยปลูกสนมาแล้วหลากหลายสายพันธุ์ก็อาจจะเคยเห็นสนชนิดนี้ผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วว่ามีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร แต่สำหรับใครที่เป็นมือใหม่และสนใจอยากจะปลูกสนชนิดนี้และอยากรู้ลักษณะทั่วไปของสนแผงในเว็บไซต์ FloraFaunaWeb ก็ได้อธิบายลักษณะทางพฤษศาสตร์ของต้นสนแผงไว้ ดังต่อไปนี้

ลำต้นสนแผง: ต้นสนแผงเป็นต้นไม้ชนิดพุ่มที่มีความสูงประมาณ 6-8 เมตร มีความกว้างทรงพุ่มประมาณ 2-3 เมตร ส่วนของผิวลำต้นจะมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลแกมแดง จัดเป็นพืชเมล็ดเปลือย ลำต้นตรง เมื่อแก้จะหลุดเป็นสะเก็ดตรงลงมา

ใบของสนแผง: ใบมีลักษณะพิเศษ เป็นเกล็ดเรียงซ้อนกัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนแตกใบอ่อนได้มากกว่าใบแก่ จัดเป็นใบไม้ร่วม การเรียงตัวของใบบนกิ่งจะเรียงกันแบบสลับตรงกันข้ามในแนวตั้งฉากกัน ใบมีลักษณะคล้ายกับเข็ม มีรยางค์ที่แข็ง ขอบใบจะแฉก

ดอกสนแผง: ดอกสนแผงออกดอกเป็นดอกประเภทเดี่ยวตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลอ่อน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะคนละดอก แต่จะอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีก้านสั้นมาก ส่วนดอกเพศเมียจะไม่มีก้าน

ผลสนแผง: ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมตั้งตรง ผลอ่อนฉ่ำน้ำ มีสีเขียวอมน้ำเงินมีผงสีขาวปกคลุมอยู่ เมื่อแก่จะเป็นผลแห้งมีสีน้ำตาลอมแดง และจะแตกออกเป็น 8 แฉกภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่สีน้ำตาลเข้ม

วิธีการขยายพันธุ์สนแผง

ในการขยายพันธุ์ของต้นสนแผงนั้นสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเพาะเมล็ด ปักชำ เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมและง่ายอย่างมากคือ วิธีการปักชำ

การปักชำ: เริ่มต้นจากตัดกิ่งที่ต้องการจะนำมาปักชำก่อนประมาณ 5-10 กิ่ง ให้เลือกกิ่งมาประมาณ 2-3 กิ่ง โดยเลือกจากกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปเพราะจะทำให้ต้นใหม่ที่งอกออกมามีความสมบูรณ์มากที่สุด จากนั้นนำกิ่งที่เลือกไว้มาคลุมถุงกันคายน้ำ อาจจะใช้เป็นถุงพลาสติกทั่วไปและยางเพื่อมัดปากถุง จากนั้นใช้กรด 1-แนฟทาลีนแอซีติก (1-Naphthaleneacetic acid : NAA) เป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นรากให้เจริญเติบโตได้ดี ผสมกับวิตามินอย่างเช่น วิตามิน B1 ทาบริเวณรอบแผลที่นำกิ่งมาปักชำ เพื่อป้องกันผลร่วงและการแตกหน่อ โดยใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์จะสามารถสังเกตต้นที่รอดได้จากความสดใหม่และไม่ร่วงลงสู่พื้น จากนั้นดูแลไปจนกระทั่งประมาณ 1.5-2 เดือนขึ้นไป รากของต้นสนแผงจะงอกออกมา จากนั้นสามารถนำไปปลูกต่อไปเลยหรือสามารถนำกิ่งนั้นไปเพาะขายเพื่อสร้างรายได้

สนแผง

การปลูกและการดูแลสนแผง

แสง

ต้นสนแผงเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด จึงควรปลูกไว้ที่บริเวณที่สามารถโดนแสงแดดได้ตลอดทั้งวันหรือบริเวณที่รับแสงได้ทั่วถึงในช่วงเช้า

น้ำ

เป็นต้นไม้ที่ต้องการน้ำปริมาณมาก ควรจะต้องรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและช่วงเย็นหรือเป็นพื้นที่ที่มีดินที่ช่วยอุ้มน้ำเล็กน้อย เพื่อให้ต้นไม้ชุ่มชื้นตลอดเวลา

ดิน

ควรปลูกที่ดินร่วนหรือดินที่สามารถระบายน้ำได้ดีแต่อุ้มน้ำเล็กน้อย ไม่ควรปลูกในที่ที่มีน้ำท่วมขังเพราะจะทำให้รากของสนแผงเน่าตายหรือเกิดอาการใบเหลืองได้

ปุ๋ย

สามารถใช้เป็นปุ๋ยทั่วไปในสูตร 15-15-15 หรืออาจจะใช้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพได้

ประโยชน์หรือสรรพคุณของสนแผง

1. ปลูกประดับอาคารสถานที่ เพื่อสร้างความสวยงามในรอบบริเวณ

2. ใช้เพื่อเป็นสมุนไพรในการบรรเทาหรือรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ชาวจีนนำใบต้มดื่มแก้อาการ ฟกช้ำ แก้ไอ เปลือกเป็นยากเปลือกต้น นำมาฝนเป็นยากวาดทวารเบา ทำให้ระดูขาวแห้ง ใบแก้ปวดตามข้อ ลดไข้ ช่วยห้ามเลือด ริดสีดวงทวาร ตกเลือด แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ บิดไม่มีตัว แผลผุพองจากน้ำร้อน ไฟไหม้ คางทูมผลใช้เป็นยาบรรเทาอาการลำไส้ตีบ ช่วยแก้บิดมูกเลือด แก้เลือดออกในกระเพาะและลำไส้ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือดเมล็ดสามารถใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการท้องผูกเป็นยากล่อมประสาทในพวกที่มีอาการรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ ใช้บรรเทาอาการลำไส้ตีบ 

3. มีงานวิจัยพบว่า สารที่สกัดได้จากใบและเมล็ดสนแผงมีฤทธิ์ในการกล่อมประสาททำให้สัตว์ทดลองหลับได้สนิทและหลับได้นานขึ้นและงานวิจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

4. ส่วนของใบสามารถนำมาย้อมสีผ้าได้ โดยใบสนแผงจะให้สีเหลืองเขียว

5. เพาะต้นสนแผงที่สวยสมบูรณ์หรือต้นที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ไปจำหน่าย เพื่อทำรายได้เสริมหรือสร้างรายได้

แหล่งอ้างอิง
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นสนแผง, ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
Platycladus orientalis

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้