สอยดาว สมุนไพรไทยรสขม บำรุงตับ บำบัดอาการติดยาเสพติด

ชื่อภาษาอังกฤษ

Mallotus paniculatus (Lam.) Muell. Arg.

ชื่อวิทยาศาสตร์

Brucea javanica (L.) Merr.

ความหมาย

เป็นพันธุ์ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชสมุนไพร สามารถพบได้ทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะในป่าแห้ง มีดอก ผล ราก ใบ ที่มีรสขมสามารถเอาไปทำยารักษาโรคได้หลากหลาย

ความเชื่อ

สอยดาว หรือ ราชดัด หรือ ดีคน เป็นต้นไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชสมุนไพรหายากที่กำลังได้ความสนใจในหมู่นักสมุนไพรศาสตร์ เภสัช และวงการแพทย์ ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้สามารถขึ้นได้ทั่วประเทศ แต่มักจะอยู่ในป้าแห้ง นั้นจึงทำให้ส่วนใหญ่พบเห็นในป่า และเป็นคนไม้หายากชนิดหนึ่ง แต่อีกปัจจัยที่ทำให้คนไม่ค่อยรู้จักหรือจดจำสมุนไพรชนิดนี้ อาจจะเพราะเป็นไม้ที่มีรูปลักษณ์ไม่โดดเด่น และมักจะอยู่รวมกับต้นไม้ยืนต้นชนิดอื่น วันนี้ kaset.today จึงอยากจะทำอธิบายถึงลักษณะต่างๆ และสรรพคุณที่โดดเด่นของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ให้ทุกคนได้รู้กัน

สอยดาว
credit : nanthapo

ข้อมูลทั่วไปของต้นสอยดาว

ชื่อภาษาไทย : สอยดาว

ชื่อภาษาอังกฤษ : Mallotus paniculatus (Lam.) Muell. Arg.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brucea javanica (L.) Merr.

ชื่อวงศ์ : Simaroubaceae

ชื่อท้องถิ่น : ต้นสอยดาวนั้นเป็นพืชพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไป จึงทำให้มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นหลายชื่อด้วยกัน อาทิเช่น

  • ภาคอีสาน ดีคน ในจังหวัดอุบลราชธานี เพี้ยฟาน(นครราชสีมา ขอนแก่น)
  • ภาคเหนือ กาจับหลัก ยาแก้ฮากขม (เชียงใหม่)
  • ภาคตะวันออก พญาดาบหัก (ตราด) สอยดาว(จันทบุรี) เท้ายายม่อมน้อย มะขี้เหา มะดีควาย
  • ภาคใต้  กะดัด ฉะดัด เพียะฟาน(นครศรีธรรมราช) มะลาคา(ปัตตานี)

ลักษณะต้นสอยดาวหรือต้นราชดัด

  • ต้น

จากการศึกษาข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต้นสอยดาวนั้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม้ต้นไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบช่วงสั้น สูงได้ถึง 10 เมตร เรือนยอดมักโปร่ง แบน แผ่กว้าง บริเวณยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน เปลือกลำต้นมีผิวค่อนข้างเรียบ สีขาวปนเทา

สอยดาว
credit : phargarden
  • ใบ

เป็นไม้ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่แกมรูปข้าวหลามตัด หรือรูปสามเหลี่ยม ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนใบกลม มน หรือสอบกว้าง ขอบใบเรียบ หรือหยักเป็นคลื่นห่างๆ มีต่อมใหญ่ 1 คู่ อยู่ที่โคนใบด้านบน ด้านล่างมีขนรูปดาวสั้นๆ หนาแน่น ก้านใบยาวใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง มีใบย่อย 5-13 ใบ ขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ขอบใบหยักมนเป็นฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบใบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน เนื้อใบบาง นิ่ม ก้านใบย่อยยาว 3-10 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร

สอยดาว
credit : medthai
  • ดอก

ต้นสอยดาวจะออกดอกแบบช่อใหญ่กว้างหรือห้อยลง มีความยาวตั้งแต่ 5-40 เซนติเมตร มีทั้งต้นที่พบเฉพาะช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในช่อเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ออกเป็นก้านเดี่ยวที่ปลายกิ่ง สำหรับสีของดอกจะเป็นสีขาวอมเขียวถึงสีแดงอมเขียวหรือสีแดงน้ำตาล กลีบดอกรูปช้อนใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 4 กลีบมีขน

ดอกเพศผู้สีขาวหรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ออกเป็นช่อแตกแขนง กลีบเลี้ยง 3-4กลีบ รูปไข่ถึงรูปรี เกสรเพศผู้มี่ 50-60 อัน เป็นฐานอับเรณูทรงกลมใหญ่

ดอกเพศเมีย เป็นช่อสั้นและแตกแขนงน้อยกว่า กลีบเลี้ยงรูปกระดิ่ง เกสรเพศเมียเป็นก้านชูเกสรแบบ 4-5 พู ตัวรังไข่เป็นชนิดอยู่สูง เป็นรังไข่ 3 ช่อง

สอยดาว
credit : phargarden- ดอกอ่อนสีขาวอมเขียว
สอยดาว
credit : phargarden – ดอกแก่สีออกแดง
สอยดาว
credit : ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์กรสวนพฤกษศาสตร์
  • ผล

ผลสดจะมีลักษณะกลมเป็นพวง มีเนื้อ รูปกลม ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดเล็ก ยาวราว 4 มิลลิเมตร ออกรวมกลุ่มกัน 1-4 ผล เปลือกผลแข็ง เมื่อผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีดำ เมื่อสุกมีสีดำคล้ายเมล็ดมะละกอแห้ง มีเมล็ดเดียว ผิวเรียบ สีน้ำตาล รสขมจัด พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สอยดาว
credit : ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์กรสวนพฤกษศาสตร์ – ผลอ่อน
สอยดาว
credit : disthai – ผลสุก
สอยดาว
credit : ฐานข้อมูลเรื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี – ผลแก่

สภาพแวดล้อมที่สามารถพบต้นสอยดาว

เขตพื้นที่:ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่-ป่าเขาไฟไหม้), ป่าเขาคลองปุก จังหวัดตราด

เขตพื้นที่:ป่าสงวนแห่งชาติป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา, ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จังหวัดอุตรดิตถ์

เขตพื้นที่:ป่าสงวนแห่งชาติป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย, ป่าวังใหญ่และป่าแม่น้ำน้อย จังหวัดกาญจนบุรี

โดยทั่วไปสามารถพบได้ทั่วประเทศไทย พบทุกภาค มักพบในพื้นที่ค่อนข้างโล่งในป่าเต็งรังเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ในป่าดงดิบ หรือ ป่าผลัดใบ ที่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเล 450 ม.

สอยดาว
credit : phargarden
สอยดาว
credit : ออนซอน ไร่ไผ่แก้ว Channel

การปลูกและวิธีขยายพันธุ์ต้นสอยดาว

ต้นสอยดาวหรือราชดัด สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ที่มีลักษณะเหมือนเมล็ดมะละกอสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ โดยการนำเมล็ดแห้งไปเพาะในกระบะเพาะชำ 2-3 สัปดาห์ ก็จะเห็นยอดแทงออกมาจากเมล็ด งอกออกมาเป็นต้นอ่อนสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายลงในถุงเพาะชำ หรือกระถางเล็กๆ รดน้ำให้ชุ่ม เพื่อรอการปลูก 

สอยดาว
credit : ฐานข้อมูลเรื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี – ผลแก่ เอาไปปลูกได้

เนื่องจากโดยธรรมชาติต้นสอยดาวหรือราชดัดเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นในป่าดิบแห้ง นั้นทำให้มันมีความทนทานต่อสภาพอากาศ และทุกส่วนของสมุนไพรชนิดนี้มีรสขมมาก ทำให้มีแมลงหรือหนอนมากัดกินน้อยมาก ดังนั้นเราจึงหมดห่วงเรื่องนี้ได้เลย

หากปลูกในกระถาง สามารถปลูกในดินร่วนปนทราย สามารถระบายน้ำได้ดี รดน้ำวันละครั้ง หรือ สองวันครั้ง ทั้งนี้ต้องลองสักเกตุสภาพของใบว่ามีอาการลู่ลงไหม แต่ถ้าลงปลูกในพื้นดินเราจะเริ่มจาก การเตรียมดินให้เหมือนกับการปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ โดยการขุดให้มีความลึกและกว้างประมาณ 50 เซนติเมตรแล้ว รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ฟางหญ้า คลุกกับดินให้ทั่ว จากนั้นนำกล้าสอยดาวหรือ ราชดัดที่เพาะได้ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินปักไม้เพื่อพยุงต้นผูกเชือกให้เรียบร้อย รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

คุณสามารถใส่ปุ๋ยได้ เพราะจะทำให้มันสามารถออกดอกและผลได้มาก เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับได้เหมือนกัน ดอกสีขาวอมเขียว ลูกสีเขียวอ่อนจนไปถึงสีม่วงดำ ดูแปลดตาดี และหากต้องการปลูกต้นสอยดาวเป็นไม้ล้อมควรปลูกห่างกันประมาณ 3-4 เมตร และมันจะเจริญได้ดีในหน้าฝน

เกร็ดความรู้ !

ก่อนนะเมล็ดไปปลูกควรแช่น้ำอุ่นๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน แล้วค่อยนำไปเพาะในกระบะหรือถ้วยเล็ก รดแล้วให้ชุ่มแต่ไม่ขัง ปิดท้ายด้วยการปิดด้วยแร็ปพลาสติกใส่ เมื่อดินเริ่มแห้งก็ให้รดน้ำใหม่ ทำแบบนี้จนกว่าจะมีการงอกเกิดขึ้น

สรรพคุณทางยา

ต้นสอยดาวหรือราชดัด นั้นเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มของสมุนไพรพื้นบ้านที่สามารถพบได้ทั่วไปตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นพืชที่มีสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้น ใบ ดอก เมล็ด ไปจนถึงราก อย่างในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาในแถบจังหวัดอุบลราชธานีนั้นนำต้นสอยดาวมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่ร้ายแรง ด้วยการนำรากของต้นสอยดาวนั้นผสมกับนางแซงแดง (พืชสมุนไพรพื้นบ้านอีกประเภทหนึ่ง) แล้วนำไปฝนกับน้ำดื่ม โดยจะมีสพรรคุณในการแก้พิษไข้ ผิดสำแดง สำหรับส่วนของต้น ก็นำไปต้มกับน้ำเปล่า เพื่อใช้ในการบรรเทาอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และยังไม่เท่านั้นสำหรับในตำรายาแผนไทยได้แนะนำว่าต้นสอยดาวนั้น มีประโยชน์ที่เป็นสรรพคุณทางยาอีกหลายหลาย ได้แก่

  • ผลสดที่แก่จัด ที่มีรสชาติฝาดขม

มีสรรพคุณช่วยแก้กระษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้ท้องอืดเฟ้อ  แก้ลมวิงเวียน แก้หาวเรอวิงเวียน แก้อาเจียน แก้เจ็บอก แก้อาเจียนเป็นเลือด และยังเป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ แก้โรคบิดไม่มีตัว ท้องร่วง และแก้ไข้มาลาเรีย โดยนำผลมาทุบให้เปลือกแตกต้มรับประทานครั้งละ 5 ผล

  • เมล็ดแห้ง ที่มีรสขมฝาด

มีสรรพคุณใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเกลื้อน โดยนำเมล็ดแห้งตำพอแหลกแล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ ใช้เตรียมเป็นยาคุมธาตุ บำรุงธาตุ รักษาโรคบิดไม่มีตัว โรคพยาธิ แก้ท้องร่วง ช่วยต่อต้านมะเร็ง

  • ราก  ที่มีรสขม

นำรากทำล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปต้มกับน้ำเปล่าดื่ม ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้บิด แก้เสียดท้อง แก้ปวดกล้ามเนื้อ หรือใช้เคี้ยวกับหมากเพื่อบรรเทาอาการไอก็ได้  กินเป็นยาบำรุง หลังการคลอดบุตร ตำเป็นยาพอกรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ พอกศีรษะแก้ปวด

  • ใบ มีรสขม และฝาด

มีสรรพคุณการถอนพิษ โดยการนำใบสดมาตำกับปูนแดงพอกแก้ฝี ทาแก้กลากเกลื้อน พอกเพื่อถอนพิษของตะขาบ แมงป่อง หรือนำไปต้มกับน้ำไว้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันตับม้ามโต

  • ต้น รสขม

แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ทั้งต้นและเมล็ด รักษาไข้มาลาเรีย

นอกจากนี้ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเรานั้นยังใช้ประโยชน์จากต้นสอยดาวหรือราชดัดในการเป็นยาสมุนไพรทางเลือกเช่นกันอย่าง ในตำรายาแผนทางเลือกประเทศจีนใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง และยาแก้บิด ประเทศมาเลเซียชาวชวานั้นใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคลำไส้ ประเทศฟิลิปปินส์ใช้ผลสดแก้อาการปวดท้อง และในบางแห่งนำต้นสอยดาวทั้งต้นมาต้มเพื่อรักษาไข้จับสั่นโดเน้นในรักษาความผิดปกติของม้าม

สำหรับต้นสอยดาวนั้นเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่เป็นพรรณไม้ปกปักที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

เกร็ดความรู้ !

ข้อมูลจาก ฐานข้อมูลเรื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กล่าวว่า มีการใช้ผลสอยดาวหรือราชดัดใน “พิกัดตรีทุราวสา” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้มันเหลว 3 อย่างมี ผลโหระพาเทศ ผลกระวาน และผลราชดัด สรรพคุณแก้เสมหะ แก้ลม บำรุงน้ำดี แก้พิษตานซาง

และควรใช้ในปริมาณที่พอดี เช่น เมล็ดให้ใช้เพียงครั้งละ 10-15 เมล็ด ถ้าจะใช้ภายนอกให้ใช้ผลสดตำพอกแผลที่ต้องการ ส่วนรากและใบให้ใช้ครั้งละ 12-15 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนผลแก่จัดนำมาทุบให้เปลือกแตก ใช้ต้มกับน้ำกินครั้งละ 5 ผล

บำบัดการติดยาเสพติดด้วยต้นสอยดาวหรือราชดัด

การเหตุการณ์ในปัจจุบันที่มีกลุ่มคนนำเอายารักษาโรคอย่างยาแก้ไอมาผสมกับสารที่อยู่ในใบกระท่อม ทำเป็นสารเสพติดอย่าง 4×100 เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น ซึ่งตามกลุ่มอายุ พบว่า สารดังกล่าวเป็นที่นิยมในกลุ่มอายุ20-24 ปี และเมื่อเยาวชนใช้สารชนิดนี้ร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย ก็ยิ่งมีผลกระทบต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกายซูบผอม ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ถูกจับ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องเสียเงินไปประกันตัว และเยาวชนเองต้องเสียเวลาเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายและควบคุมความประพฤติที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

จากข้อมูลของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ได้รายงานเกี่ยวกับการบำบัดอาการเสพติดสารเสพติดชนิดนี้โดยให้หมอพื้นบ้าน และชาวบ้านได้ช่วยกันหาแนวทางช่วยเหลือลูกหลานคนในชุมชน โดยการหาทางเลือกอื่นนอกจากส่งลูกหลานไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยใช้การรักษาจากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน และใช้พืชสมุนไพรในท้องถิ่น

การรักษาตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านโดยใช้ สมุนไพรต้นสอยดาวหรือราชดัด โดยมีกระบวนการรักษาที่ให้ครอบครัวมีบทบาทสำคัญให้การพูดคุยกับเด็ก และเด็กมักจะรับการบำบัดโดยการไม่ใช้การบังคับแต่เป็นการที่พ่อและแม่พูดด้วยเหตุผล และเด็กถูกสังคมรังเกียจหากเป็นพวกติดยา นั้นทำให้เด็กๆสมัคใจในการบำบัดเอง

โดยพบว่าในจังหวัดพัทลุงมีหมอพื้นบ้านประมาณกว่า 100 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ครอบคลุมทั้ง 11 อำเภอจากการเก็บข้อมูลงานวิจัยโครงการการศึกษาแบบแผนพบว่ามีพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ ต้นสอยดาวหรือราชดัด (Brucea javanica (L.) Merr.) เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ประโยชน์ของเปลือกและใบจากต้นสอยดาว ได้แก่ ใช้ต้มดื่มถอนพิษสุรา และสารเสพติดชนิดอื่นๆ ผลแห้งแก้ไข้ แก้บิด เป็นต้น (จากการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้าน อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2559) อย่างไรก็ตามสอยดาวหรือราชดัดเป็นพืขที่มีทั้งคุณและโทษ

จากการทดสอบทางพิษวิทยา โดยมีการนำสารในต้นสอยดาว ปริมาณ 0.5-1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าไปในหมาและแมว เมื่อได้รับพิษแล้วทำให้ประสาทส่วนกลางของสัตว์จะถูกยับยั้งการทำงาน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และการหายใจช้าลง แล้วจะเกิดอาการท้องเสีย อาเจียน ปัสสาวะน้อยลง ร่างกายไม่มีแรงและเคลื่อนไหวไม่ได้


เกร็ดความรู้ !

ในปี 1967 นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกสาร ควอส-สิ-นอยด์ (Quassinoids) จาก Brucea javanica ซึ่งมีฤทธิ์ในการ ต้านมาลาเรีย ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ
สอยดาว
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สาร Quassinoids จาก Brucea javanica

จบกันได้แล้วกับการพาทุกคนไปทำความรู้จักพันธุ์ไม้สอยดาวหรือราชดัด ซึ่งจัดเป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นพืชสมุนไพร และมีผลการวิจัยหลายอันที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นสอยดาวมีประโยชน์ในด้านการรักษาหลากหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมาลาเรีย และยังสามารถบำบัดอาการติดสารเสพติดได้อีกด้วย kaset.today พยายามอย่างมากในการสรรหาข้อมูลดีๆมาแบ่งปันกับทุกคน และยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่เราอยากให้คุณได้รู้จักกัน ทั้งพืชเศรษฐกิจ พันธุ์พืช ผลไม้ ดอกไม้ และหากคุณอยากรู้เรื่อง ปศุสัตว์เราก็มีบทความดีๆที่อยากให้คุณได้อ่านเหมือนกัน


แหล่งอ้างอิง

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์กรสวนพฤกษศาสตร์

ฐานข้อมูลเรื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ