หิรัญญิการ์ (Nepal Trumpet, Easter Lily Vine, Herald Trumpet) พันธุ์ไม้เลื้อยดอกหอมเย็น ๆ เป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย ด้วยรูปทรงของใบและดอกขนาดใหญ่สีขาวบริสุทธิ์ และยังถือว่าเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้หน้าบ้านอีกด้วย
เชื่อไหมว่าความสวยของดอกหิรัญญิการ์นั้นโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ เพราะในแถบประเทศที่มีสภาพอากาศแบบประเทศไทย เขาให้ฉายยาว่า "Easter Lily Vine" เพราะมีดอกใหญ่สีขาวบริสุทธิ์คล้ายดอก Easter Lily ของฝรั่ง และชื่อว่า "หิรัญ" แปลว่าเงิน เหมือนแสงจันทร์วันเพ็ญ ที่ส่องแสงสว่าง ดูสวยงามสบายตา นั้นทำให้สมัยก่อนพ่อแม่ชอบเอาไปตั้งชื่อลูกสาว แต่ว่า คำว่าหิรัญ ก็สามารถเอามาตั้งชื่อผู้ชายได้เหมือนกัน เพราะเป็นคำมงคล ที่แปลว่าเงิน ชีวิตจะได้มีแต่ความร่ำรวย เป็นไงกันบ้างแค่ชื่อต้นไม้ ทุกคนก็อยากปลูกแล้วใช่ไหมละ แต่เดี่ยวก่อน ถ้าเราอยากจะได้ต้นสวยๆ ดอกดกๆ เราต้องรู้วิธีปลูกกันก่อน ซึ่งในบทความนี้ Kasettoday จะพาคุณไปรู้จักกับ ความเป็นมาวิธีการปลูก การดูแล ที่จะสามารถทำให้คุณเป็นมือโปรในด้านการปลูกต้นไม้ชนิดนี้เลย
ข้อมูลทั่วไปของต้นหิรัญญิการ์
ชื่อภาษาไทย : หิรัญญิการ์
ชื่ออื่น ๆ : เถาตุ้มยำช้า (ภาคเหนือ) หิรัญญิการ์ (ภาคกลาง)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Nepal Trumpet, Easter Lily Vine, Herald Trumpet
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Beaumontia grandiflora Wall.
ชื่อสกุล : APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิด
จากที่เราค้นคว้าจาก ๑๐๘ พรรณไม้ไทย ได้บอกไว้ว่าเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเนปาล จีน อินเดีย และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป
- ลำต้น
จัดเป็นประเภทไม้เถาเนื้อแข็งที่แตกเป็นพุ่มกอ ส่วนของลำเถาจะเลื้อยยาวและพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น อีกทั้งมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นทั่วลำเถา กิ่งก้านจะแตกสาขาได้มากและกิ่งอ่อนจะมียางสีขาวข้น
หมายเหตุ : ในประเทศไทยจะมี หิรัญญิการ์ อยู่ 3-4 ชนิด ได้แก่ หิรัญญิการ์ดอกใหญ่, หิรัญญิการ์ดอกเล็ก และ หิรัญญิการ์แดง
- ใบ
เป็นประเภทใบเดี่ยวที่ออกตรงข้ามกัน โดยใบแต่ละคู่จะทำมุมฉากต่อกัน ซึ่งใบมีลักษณะบ้างเป็นรูปรีบ้างเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ส่วนปลายของใบมีความมนหรือแหลมเช่นเดียวกับโคนใบ ขอบใบจะเรียบ ขนาดใบมีความกว้างราวๆ 1.5-2.5 นิ้ว และความยาว 5-7 นิ้ว ด้านหลังใบเรียบและเป็นมัน ใต้ท้องใบจะเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ซี่งมีประมาณ 10-14 คู่ และไม่มีขน ก้านใบมีความยาวราว 1-1.5 เซนติเมตร
- ดอก
ระยะเวลาการออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน โดยดอกจะออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบ ซึ่งช่อดอก 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก และดอกจะบานแบบไม่พร้อมกัน แต่จะผลัดกันบานครั้งละ 1-4 ดอก เท่านั้น ลักษณะของดอกคล้ายรูปถ้วยหรือรูปปากแตร ยามเป็นดอกตูมจะมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองปนเขียว เมื่อบานเต็มที่ดอกจะมีขนาดใหญ่สีขาวสะอาด กลีบดอกจะเป็นรูปขอบขนาน รูปมน รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ มีความกว้าง 0.5-1 นิ้ว ความยาว 1-1.5 นิ้ว และมีแต้มด้วยจุดสีเขียวระเรื่อ ส่วนปลายกลีบจะมนหยักเป็นคลื่น ขอบกลีบเรียบ แล้วที่แผ่นกลีบจะเป็นลายเส้นคล้ายร่างแหและมีขนบางๆ ตรงส่วนกลางกลีบ ทั้งนี้ตัวดอกจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ
- ผล
จะออกเป็นฝักมีความยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร โดยผนังของฝักมีความหนาและแข็งมาก เมื่อแก่ฝักจะแตกออกเป็น 2 ซีก และภายในจะมีเมล็ดสีน้ำตาลลักษณะแบนๆ เป็นจำนวนมาก ความยาวของเมล็ดราว 1.7 เซนติเมตร แล้วที่ส่วนปลายของเมล็ดจะมีขนยาวนุ่มๆ เป็นกระจุก ซึ่งมีความยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ แต่ การตอนกิ่ง กับ การปักชำ จะเป็นวิธีที่ทำให้ได้ต้นกล้าเจริญเร็วและมีโอกาสได้ต้นที่ติดดอกได้เร็วกว่าต้นที่เพาะเมล็ด
การปลูกและการดูแล
การปลูก
- แสงแดง
พื้นที่ปลูกควรมีแสงแดดตลอดทั้งวัน หรือหากพื้นที่ไม่สามารถรับแสงได้ทั้งวันก็ควรจะมีแสงอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ต่อ วัน
- น้ำ
ควรรดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรจะให้ขาดน้ำหรือมีน้ำขังมากเกินไป
- ดิน
ดินที่มีการระบายน้ำดีรวมถึงมีอินทรีย์วัตถุสมบูรณ์
- ปุ๋ย
ควรรดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรจะให้ขาดน้ำหรือมีน้ำขังมากเกินไป
การดูแล
สำหรับการปลูก เนื่องจาก หิรัญญิการ์ เป็นพืชไม้เถาที่ทนทานจึงเหมาะต่อการปลูกกลางแจ้ง ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มจากการเตรียมหลุมปลูกที่มีความกว้างและลึกประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นก็เตรียมดินที่มีการระบายน้ำดีรวมถึงมีอินทรีย์วัตถุสมบูรณ์นำไปรองก้นหลุมก่อนจะนำต้นกล้าลงหลุมและกลบดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ประโยชน์
สำหรับคุณประโยชน์ เนื่องด้วยเมล็ดของ หิรัญญิการ์ มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรจึงได้นำไปใช้เกี่ยวกับการบำรุงกำลัง และในเมล็ดมีสารจำพวกคาร์ดีโนไลด์ที่ช่วยเรื่องของหัวใจจึงถูกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แต่ในการใช้เมล็ดจะมีข้อควรระวังว่าไม่ควรรับประทานเมล็ดเป็นจำนวนมาก เพราะจะมีอันตรายถึงชีวิตได้
ไอเดียการจัดสวน
ประโยชน์อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมมาก ก็คือ การปลูกต้นไม้ชนิดนี้เพื่อใช้เป็นไม้ประดับ แล้วด้วยเหตุที่เป็นพืชมีกลิ่นหอมแถมปลูกง่ายเติบโตง่ายไม่มีโรคไม่มีแมลงรุมล้อมนัก หิรัญญิการ์ จึงถูกนำไปจัดประดับไว้ในสวนสไตล์ต่างๆ ตามบ้านเรือน อาคารสถานที่ หรือสวนสาธารณะ
อาทิ สวนสไตล์ไทย สวนสไตล์ทรอปิคอล สวนสไตล์ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สวนแบบประหยัดก็สามารถเข้าได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นพรรณไม้นี้ยังเหมาะมากที่จะจัดทำเป็นซุ้มประตูเก๋ๆ ซุ้มบังแดดเท่ๆ หรือปลูกให้เลื้อยขึ้นบนศาลาพักผ่อนก็ร่มรื่นและชื่นใจจริงๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการปลูกและการดูแลต้นหิรัญญิการ์ที่ทางเราตั้งใจทำบทความนี้มาเพื่อแฟน ๆ Kasettoday ได้นำไปประยุกต์ใช้กับสวนที่บ้านของคุณ หสกใครที่กำลังบอกหาไม้มงคล ไม้ดอกหอม และเป็นไม้เลื้อย เพื่อทำซุ้มดอกไม้หน้าบ้าน เราแนะนำต้นหิรัญญิการ์เลย ทั้งดอกใหญ่ สีขาวสวย กลิ่งดอกอ่อน ๆ ใครที่ยังไม่มีต้องลองปลูกแล้วจะรักไม้ดอกพันธุ์นี้แน่นอน
และทาง Kasettoday ยังมีบทความดี ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับ พันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้ดอก สมุนไพร ปศุสัตว์ หรือ จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ โรคพืช แมลงศัตรูพืช เพื่อให้นักอ่านทุกคนมีความรู้เอาไปดูแลต้นไม้สวยๆในสวนของคุณได้แน่นอน
และทางเรายังมีจำหน่ายต้นไม้อีกหลากหลายสายพันธุ์ สามารถสอบถามเข้ามาได้เลย เราพร้อมแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคุณ
แหล่งอ้างอิง ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ข้อมูล สมุนไพร