ทำความรู้จักกับ ‘ข้าวโพด’ พืชเศรษฐกิจที่คนไทยนิยมปลูกกันมาอย่างยาวนาน

ข้าวโพด เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีลักษณะลำต้นสูง ใบเรียวยาว ส่วนบริเวณฝักข้าวโพดนั้นเราจะนิยมเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปขายหรือบริโภค ถือเป็นพืชไร่ที่ชาวไทยนิยมปลูกกันในหลายพื้นที่ และถูกยกระดับความสำคัญให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่สามารถทำรายได้ด้านเกษตรกรรมให้กับประเทศสูงเป็นอันดับ 7 แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่รู้สึกว่าการทำไร่ข้าวโพดนั้นไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องผลผลิตไม่คงที่หรือราคาที่ตกลงมาในบางปี ทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวล เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงอยากจะมาแบ่งปันความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับอัตราการเติบโตของการทำไร่ข้าวโพดเพื่อการส่งออกผลผลิตสู่อุตสาหกรรมโลกในอนาคต 
ข้าวโพด

ก่อนอื่นเลยต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า การปลูกข้าวโพดในปัจจุบันนั้นจะมีความแตกต่างไปจากในอดีตค่อนข้างมาก ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถปลูกข้าวโพดได้มากขึ้น ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และยังมีความก้าวหน้าในด้านการแปรรูปเพื่อส่งออกด้วย น้อยคนจะรู้ว่าประเทศไทยของเราได้ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดกระป๋องมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและฮังการี ด้วยความที่ประเทศไทยสามารถปลูกข้าวโพดได้แทบทุกภาคส่วนเลย ดังนั้น ในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่สามารถปลูกข้าวโพดได้ ไม่ว่าด้วยปัจจัยด้านพื้นที่หรือสภาพอากาศจึงต้องการนำเข้าสินค้าอย่างข้าวโพดกระป๋องเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากการที่เว็บไซต์ MGRonlineได้ออกมาเผยแพร่บทความด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการส่งออกข้าวโพดกระป๋องของไทยในปี 2564 ซึ่งได้ระบุว่าขณะนี้ประธานกรรมการ บมจ.อกริเพียว โฮลดิ้งส์ (APURE) กำลังวางแผนที่จะผลักดันให้ยอดขายข้าวโพดกระป๋องให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20 – 30% จากการที่มียอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มียอดสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีการส่งออกในช่วงปีที่ผ่านมามากถึง 300,000 ตัน

ข้าวโพด
https://hoonsmart.com

ซึ่งจากธุรกิจส่งออกข้าวโพดกระป๋องที่ประสบความสำเร็จนี้ก็ทำให้มีอีกหลายบริษัทในประเทศไทย มีความพยายามจะแปรรูปข้าวโพดเพื่อส่งออกยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่นับรวมกับการแปรรูปในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้เราจะเอามาแนะนำกันในบทความนี้ด้วย ดังนั้น หากใครที่กำลังกังวลกับทิศทางของการทำไร่ข้าวโพดที่ดูเหมือนจะไม่เติบโตแล้ว การปลูกข้าวโพดเพื่อส่งออกยังอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ ก็ถือได้ว่าตอบโจทย์การสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเราได้อย่างดีเลย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ตอนนี้เริ่มอยากจะลองหันมาปลูกข้าวโพด หรือกำลังมองหาลู่ทางในการทำเกษตรเพื่อสร้างรายได้กันแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะมาเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้าวโพดไปพร้อม ๆ กัน

ทำความรู้จักกับลักษณะของต้นข้าวโพด

แม้ว่าข้าวโพดจะเป็นพืชที่ปลูกได้ไม่ยากนัก สามารถเพาะปลูกได้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเกือบทุกภาคของไทย แต่การเรียนรู้ลักษณะหรือส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวโพดอย่างละเอียดก็จะช่วยให้เราสามารถปลูกข้าวโพดและดูแลต้นข้าวโพดของเราได้ดียิ่งขึ้นแน่นอน

ชื่อภาษาไทย: ข้าวโพด 

ชื่อทางการ: Corn 

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Zea mays Linn. 

ตระกูลพืช: จัดอยู่ในตระกูลหญ้า Gramineae 

ลักษณะโดยทั่วไปของต้นข้าวโพด

สำหรับส่วนประกอบของข้าวโพดหลัก ๆ แล้วจะมีราก ลำต้น ใบ ดอกและผล ข้าวโพดเป็นอีกหนึ่งพันธุ์พืชที่มีการใช้ระบบรากฝอยหยั่งลึกลงไปในดินได้ประมาณ 2.1-2.4 เซนติเมตร ซึ่งรากเหล่านี้จะมีการเจริญเติบโตตามส่วนต่าง ๆ ของข้าวโพด ส่วนของลำต้นที่จะมีลักษณะตั้งตรง แบ่งเป็นปล้อง ๆ และมีวงเจริญซึ่งเป็นส่วนสร้างเนื้อเยื่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นรากต่อไป สำหรับความสูงของลำต้นนั้นจะมีตั้งแต่ 30 เซนติเมตรไปจนถึง 7 เมตรเลย ต่อมาในส่วนของใบข้าวโพดจะมีลักษณะเรียวยาวราว ๆ 80 – 100 เซนติเมตร ผิวสัมผัสของใบนั้นจะมีขนขนาดแตกต่างกัน ที่บริเวณปากใบด้านบนจะมีขนขนาดเล็ก ที่ปากใบจะมีขนขนาดใหญ่ และมีกาบใบเอาไว้ใช้ห่อหุ้มลำต้น ซึ่งบริเวณมุมของใบข้าวโพดนั้นมีตาที่จะพัฒนาไปเป็นช่อดอกหรือฝัก 

ข้าวโพด
https://pixabay.com/th/photos/

ความน่าสนใจของต้นข้าวโพดคือเป็นพืชที่มีช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน โดยช่อดอกเพศผู้จะเกิดบริเวณปล้องสุดท้ายหรือปลายของลำต้น ซึ่งจะมีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อที่ละอองของมันจะได้ไปผสมกับช่อดอกเพศเมียที่เกิดอยู่บริเวณส่วนบนของลำต้น ระยะเวลาในการเจริญเติบโตก็ขึ้นอยู่กับว่าช่อดอกตัวไหนที่มี “ซังข้าวโพด” หรือเส้นใยข้าวโพดยื่นออกมาจากฝักก่อนกัน เมื่อได้รับการผสมแล้วช่อดอกก็จะพัฒนาไปเป็นส่วนฝักข้าวโพดในอีก 40 – 75 วันหลังการผสม และจะมีลักษณะการเกิดเป็นช่อเรียงกันทำให้เมล็ดข้าวโพดเรียงตัวกันเป็นคู่สวยงามตอนฤดูเก็บเกี่ยว ต่อมาส่วนสุดท้ายคือเมล็ดและผลข้าวโพดที่จะมีเยื่อหุ้มผลติดกับเยื่อหุ้มเมล็ด ซึ่งระหว่างการเจริญเติบโตนี้เมล็ดข้าวโพดจะมีกระบวนการสะสมแป้งไว้ในเอนโดสเปิร์มจนกว่าจะโตเต็มวัย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากรอยไหม้สีน้ำตาลบริเวณโคนของเมล็ด

การแบ่งชนิดและสายพันธุ์ของข้าวโพด

หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับต้นข้าวโพดมาพอสมควรแล้ว ต่อมาเราจะมาดูวิธีการแบ่งชนิดและสายพันธุ์ของข้าวโพด ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ลักษณะของข้าวโพดชนิดนั้นรวมไปถึงลักษณะพื้นที่ที่จะใช้ทำการเพาะปลูกข้าวโพดในสายพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

ข้าวโพด

การแบ่งชนิดของข้าวโพด

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำการวิจัยเมล็ดพันธ์ข้าวโพดและจำแนกชนิดของข้าวโพดตามลักษณะของเมล็ดนั้น โดยทั่วไปจะสามารถแบ่งออกมาได้ประมาณ 7 ชนิดหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1) ข้าวโพดหัวแข็ง (Flint corn)

ลักษณะของเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้จะมีเนื้อที่แข็ง ผิวของข้าวโพดจะเรียบเนียนไม่มีรอยยุบหรือบุบ ตรงกลางเมล็ดมักมีสีน้ำตาลเข้ม ๆ 

2) ข้าวโพดหัวบุ๋ม (Dent corn)

เมล็ดของข้าวโพดชนิดนี้จะสามารถสังเกตได้ง่าย เพราะบริเวณตรงกลางของเมล็ดจะมีรอบบุบยุบลงไปเล็กน้อยแต่ส่วนอื่น ๆ จะแข็งมาก เกิดจากแป้งที่สะสมอยู่ในเมล็ดเมื่อนำไปตากแดดก็จะเกิดอ่อนตัวและยุบลงไปนั่นเอง

3) ข้าวโพดแป้ง (Flour corn)

เมล็ดข้าวโพดชนิดนี้จะมีลักษณะแห้ง ๆ เนื้อสัมผัสคล้ายข้าวโพดหัวแข็งแต่จะมีสีขาวขุ่นที่มาจากการสะสมแป้งอ่อนไว้ในเมล็ดมาก ส่วนเมล็ดข้าวโพดแป้งที่มีสีเข้ม ๆ คล้ำ ๆ อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ซึ่งจะเรียกว่าข้าวโพดพื้นเมืองความพิเศษคือเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้จะให้วิตามินบี 3 มากกว่าเมล็ดที่มีสีขาว

4) ข้าวโพดหวาน (Sweet corn)

ลักษณะเมล็ดของข้าวโพดชนิดนี้จะมีเนื้อเนียบสวยเต็มเมล็ด มีสีเหลืองอร่าม ยิ่งเมล็ดใกล้จะเหี่ยวก็จะยิ่งสร้างยีนแฝงที่ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นแป้ง ทำให้ข้าวโพดชนิดนี้มีรสหวาน หอม และเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

5) ข้าวโพดข้าวเหนียว (Waxy corn)

เมล็ดข้าวโพดชนิดนี้มีอีกชื่อคือข้าวโพดเทียน เมล็ดของมันมีส่วนประกอบของเอนโดรสเปิร์มที่ค่อนข้างอ่อน ทำให้เนื้อเมล็ดมีความนุ่ม เหนียวคล้ายกับเนื้อของเทียนหรือขี้ผึ้ง มีสีขาวขุ่นทั้งเมล็ดและในบางสายพันธุ์ก็มีสีเหลือง ม่วงปนมาด้วยในฝักเดียวกัน

6) ข้าวโพดคั่ว (Pop corn)

เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้ ลักษณะของเมล็ดนั้นจะมีรูปร่างกลม ๆ ขนาดเล็ก มีเยื่อหุ้มเมล็ดหนาและเหนียวมาก ๆ ดังนั้นจึงต้องนำไปคั่วผ่านความร้อนที่พอเหมาะ เมล็ดจึงจะแตกและพองออกเป็นป๊อบคอร์นแสนอร่อยให้เราได้กินกัน

7) ข้าวโพดป่า (Pod corn)

สำหรับข้าวโพดชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากข้าวโพดทั่วไปตรงที่เมล็ดของมันมีขนาดเล็กมาก แต่จะมีเยื่อหุ้มที่หนาและมีขั้วเปลือกหุ้มไว้ทุกเมล็ด บริเวณลำต้นและฝักข้าวโพดจะเล็กกว่าข้าวโพดทั่วไป ทำให้ข้าวโพดชนิดนี้ไม่นิมยมปลูกเพื่อขายหรือบริโภค แต่เน้นปลูกเพื่อใช้ศึกษาสายพันธุ์ของมันเท่านั้น

การแบ่งสายพันธุ์ของข้าวโพด

ข้าวโพด

การแบ่งสายพันธุ์ของข้าวโพดก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะต้องเรียนรู้ การเลือกสายพันธุ์ข้าวโพดเพื่อทำการเพาะปลูกนั้นจะต้องเลือกตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เพราะข้าวโพดแต่ละสายพันธุ์จะให้ผลผลิตในด้านที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์อาจให้เมล็ดสวย ผลข้าวโพดดี หรือต้นแข็งแรงเพื่อนำไปแปรรูปเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งจากการศึกษาในฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ได้มีการจำแนกสายพันธุ์ข้าวโพดตามลักษณะของแป้งไว้ 2 สายพันธ์ุใหญ่ ๆ  ดังนั้น เราจะมาดูกันว่าข้าวโพดสายพันธุ์ไหน ที่จะให้ผลผลิตได้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด

1) สายพันธุ์ผสม (hybrids) 

ข้าวโพด

สำหรับสายพันธุ์นี้จะเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรที่ต้องการปลูกข้าวโพดเพื่อส่งออกเพื่อการบริโภค การแปรรูป หรือเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ในการจำหน่ายเพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีลำต้นแข็งแรง สูงใหญ่ ฝักยาว และมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ไม่นานเกินไป แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเลือกปลูกสายพันธุ์นี้คือการเลือกพื้นที่และการดูแลที่ต่อเนื่องข้าวโพดชนิดนี้จะมีความแปรปรวนตามสภาพแวดล้อมง่าย ถ้าหากเราปลูกในดินที่แร่ธาตุต่ำ ใส่ปุ๋ยน้อย สภาพอากาศร้อนเกินไป หรือมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ข้าวโพดสายพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตน้อยหรืออาจได้ผลผลิตที่ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกต้องซื้อใหม่ทุกปี เพราะถ้าหากเก็บเมล็ดพันธุ์เก่าจากไร่อาจจะได้เมล็ดที่กลายพันธุ์ทำให้ข้าวโพดไม่สวย ปัจจุบันข้าวโพด สายพันธุ์ลูกผสมเริ่มมีบทบาทมากขึ้นทำให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้มีการพัฒนาพันธุ์ลูกผสมขึ้น มีทั้งการผสมเดี่ยว ผสมคู่ หรือผสมสามทาง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูกเลย 

2) สายพันธุ์ผสมแบบเปิด (Open – Pollinated Variety) 

ข้าวโพดผสมเปิด
https://www.kasetkaoklai.com

          เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าแบบผสมธรรมดา เพราะให้ผลผลิตต่ำและไม่ได้คุณภาพเทียบเท่าพันธุ์ลูกผสม เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการปล่อยให้ข้าวโพดผสมกันเองตามธรรมชาติ แล้วจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในครั้งต่อไป ซึ่งข้อดีของสายพันธุ์นี้คือเมล็ดพันธุ์ราคาถูก และสามารถเก็บเมล็ดเก่าจากไร่ ไปปลูกได้อีก 2 – 3 ปี ทำให้ประหยัดต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังเป็นสายพันธ์ุที่ทนทานต่อความแปรปรวนของอากาศและสภาพแวดล้อมมาก ๆ ไม่ว่าจะปุ๋ยน้อย ดินไม่สมบูรณ์หรืออากาศแปรปรวนแค่ไหน ข้าวโพดสายพันธุ์นี้ก็สามารถเกิดได้ ดังนั้นจึงเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับการปลูกเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์หรือถ้าหากต้องการจะปลูกเพื่อขาย อาจต้องเลือกสายพันธุ์ผสมเปิดที่ผ่านการทดลองจากรัฐหรือเอกชนแล้วว่าให้คุณภาพที่ดี อาทิ พันธุ์สุวรรณ 2 พันธุ์นครสวรรค์หรือพันธุ์เชียงใหม่ 90  

วิธีการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตที่ดี

มาถึงในส่วนของขั้นตอนและวิธีการปลูกข้าวโพดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ช่วยให้เกษตรกรชาวไร่สามารถปลูกข้าวโพดเพื่อบริโภค ส่งออก หรือแปรรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาดูกันว่ามีวิธีอะไรที่เราต้องเรียนรู้กันบ้าง

การเตรียมตัวก่อนเพาะปลูกข้าวโพด

ไร่ข้าวโพด
https://medthai.com

1) ดูลักษณะพื้นที่ที่จะปลูก

พื้นที่ที่เหมาะจะใช้ในการปลูกข้าวโพดต้องเป็นพื้นที่ราบสูง เป็นดอน หรือพื้นที่ลาดเอียงได้จะดีมาก เพราะจะช่วยให้ระบายน้ำได้ดีและรับแสงแดดได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญไม่ควรเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดพันธุ์อื่นมาก่อน

2) ตรวจสอบสภาพอากาศ

ข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ๆ ดังนั้นฤดูที่เหมาะกับการปลูกข้าวโพดที่สุดคือ ฤดูฝน อาจจะเลือกเป็นช่วงต้นฝนอย่างปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนอีกช่วงคือปลายฝนอย่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ หรือทนทานต่อโรคราในข้าวโพดได้ 

3) ดูลักษณะดินที่จะปลูก

ข้าวโพดจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างปานกลางราว ๆ 5.5 – 8.0 หรือด่างเล็กน้อยก็ถือว่าดี ยิ่งเป็นดินร่วนปนทรายแล้วก็จะช่วยเรื่องการระบายน้ำได้ดี แต่อย่าลืมที่จะเติมแร่ธาตุและสารอาหารให้กับดินด้วยการใส่ปุ๋ย และปิดท้ายด้วยการพรวนไถดินเตรียมไว้ก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนลงแปลง

ขั้นตอนการปลูกข้าวโพด

https://thainews.prd.go.th

1) หลังการไถพรวนดินไว้ 1 สัปดาห์แล้ว ให้เราปรับหน้าดินที่จะทำการเพาะปลูกให้เรียบก่อนจะทำยกร่องแปลง

2) การยกร่องแปลง ขนาดของแปลงควรกว้างประมาณ 1.2 เมตร ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราจะปลูก ควรขุดให้ร่องลึกประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร

3) ระยะของหลุมที่จะใช้ในการลงเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดควรห่างประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร ระหว่างต้นควรห่างกันประมาณ 60 – 65 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้นำปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นหย่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 5 – 6 เมล็ด ลงในหลุม 

4) ขั้นต่อมาให้นำปุ๋ยหมักจากมูลวัวหรือมูลไก่มาวางทับเมล็ดพันธุ์ไว้ จากนั้นก็รดน้้าให้ชุ่มแล้วเกลี่ยดินกลบเมล็ดข้าวโพดก่อนให้มิด สุดท้ายก็ปิดท้ายด้วยการใส่ปุ๋ยหมักลงไปอีกประมาณ 1 กำมือ 

5) ระหว่างการรอเก็บเกี่ยวให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15 – 15 – 15  หรือสูตรที่มีตัวข้างหน้าสูงอย่าง 16 – 6 – 8 เพื่อเติมแร่ธาตุให้กับดิน ส่วนการรดน้ำนั้นให้ดูจากความชุ่มชื้นของดินส่วนใหญ่แล้วจะรดน้ำประมาณ 8 – 9 ครั้ง

6) ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวนั้นจะขึ้นอยู่กับสายพันธ์ุของข้าวโพด อย่างต่ำประมาณ   40 – 45 วันก็สามารถการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ปลูกไว้ได้เลย หรือบางสายพันธุ์อาจใช้เวลานานกว่า 60 วันเพื่อให้ผลผลิตเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

การกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช

ศัตรูพืช
http://www.sotus.co.th

จากผลการศึกษาเรื่องการปลูกข้าวโพดของดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณและคณะที่ศูนยวิจัยข้าวฟางแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ปัญหาหลัก ๆ ในการปลูกข้าวโพดจะพบได้หลัก ๆ คือ 1) ปัญหาเรื่องวัชพืช และ 2) ปัญหาเรื่องศัตรูพืช ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนทำไร่ข้าวโพด สำหรับการกำจัดวัชพืชควรที่จะทำอย่างน้อย 1 – 2 ครั้ง ระหว่างการรอเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้วัชพืชเหล่านั้นไม่ไปแย่งสารอาหารในดินและทำให้ข้าวโพดเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ อาจใช้วิธีนำจอบมาถางวัชพืชออกได้ แต่ถ้าปลูกข้าวโพดในพื้นที่กว้างหลายร้อยไร่แล้ว การมองหายากำจัดวัชพืชดี ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่สะดวก ยิ่งในปัจจุบันที่มีน้ำยากำจัดวัชพืชแบบปลอดภัย ทั้งกับคนและผลผลิตออกมาจำหน่ายมากมายแล้ว เช่น สารจำพวกอะลาคลอร์หรืออาหารซีนชนิดผง 80% ก็สามารถซื้อมาพ่นเพื่อกำจัดวัชพืชได้เลย แต่ต้องไม่ลืมที่จะศึกษารายละเอียดก่อนการใช้ให้ดี เพราะสารแต่ละตัวมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

ในส่วนของศัตรูพืชที่พบได้บ่อยในการปลูกข้าวโพด ได้แก่ มอดดิน มด หนอนกระทู้ และหนอนเจาะข้าวโพด ซึ่งเราสามารถซื้อยาจำพวกคารบาริล (เซพวิน) และเมโทมิล (แลนเนท) มาฉีดพ่นอย่างน้อยทุก ๆ  7 วันในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งสารเหล่านี้จะไม่เหมือนกับยาฆ่าแมลงทั่วไป เพราะมีฤทธิ์ที่เบากว่า กลิ่นไม่ฉุน แถมยังให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยและได้ประสิทธิภาพมากกว่าด้วย

ประโยชน์จากการแปรรูปข้าวโพด

ถ้าจะให้พูดถึงประโยชน์ของการปลูกข้าวโพดแล้ว การนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  น่าจะเป็นประโยชน์รอง ๆ มาจากการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือ หรือค้าขายแบบปลีกส่งตามท้องตลาด ซึ่งในช่วงแรกเราก็ได้ยกเรื่องของการแปรรูปข้าวโพดเพื่อส่งออกในรูปแบบผลิตภัณฑ์กระป๋องไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงเท่านั้นเพราะจากการศึกษาฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ข้าวโพด ยังมีประโยชน์ในการแปรรูปด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทีเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำประโยชน์ของการเพาะปลูกข้าวโพดแล้ว เราจะพาทุกคนมาดูการแปรรูปข้าวโพดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กันว่ามีอะไรที่เรายังไม่รู้บ้าง

แป้งข้าวโพด

1) การแปรรูปข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ 

ในปัจจุบันการปลูกข้าวโพดนั้นสามารถช่วยลดทอนต้นทุนในการซื้ออาหารสัตว์ไปได้มาก เนื่องจากการปลูกข้าวโพดหลังจากนำผลผลิตไปขายแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของต้นข้าวโพดที่เหลือนั้นสามารถนำไปบดให้แหลกเพื่อนำมาเป็นอาหารให้กับสัตว์จำพวกวัว ควาย ไก่หรือหมูได้ อีกทั้งปัจจุบันยังมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเพื่อนำผลผลิตของมันมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์แบบสำเร็จรูปและส่งออก ซึ่งข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์นี้จะไม่เน้นความสวยงามของข้าวโพด แต่เน้นปลูกข้าวโพดที่ให้ผลผลิตมากและเพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ได้

2) การแปรรูปข้าวโพดเป็นปุ๋ย

การนำส่วนที่ไม่ใช้แล้วของข้าวโพดอย่างใบ ลำต้น ซังข้าวโพด ฝักรวมไปถึงเปลือกข้าวโพดมาผ่านกรรมวิธีหมัก และทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถแปรรูปออกมาให้กลายเป็นปุ๋ยหมักที่มีประสิทธิภาพได้ แถมยังเป็นการลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย และช่วยลดสารเคมีในดินด้วยการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติด้วย

3) การแปรรูปเป็นสิ่งทอ

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าซังข้าวโพดนั้นมีประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอมาก ด้วยความ  แข็งแรงทนทานของเส้นใยข้าวโพด จึงได้มีการนำไปแปรรูปให้มันกลายเส้นใยที่ใช้ถักทอเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายได้ เช่น เสื้อสูท ผ้าพันคอ ถุงเท้า หมวก หรือผ้าซิ่นลายสวย ๆ ด้วย

4) การแปรรูปข้าวโพดเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค 

แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภค 

การแปรรูปข้าวโพดให้เป็นข้าวของเครื่องใช้เราอาจพบมากในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ อย่างสบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม ครีมทาผิวต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของข้าวโพด เพราะข้าวโพดนั้นมีคุณประโยชน์มากมายที่ช่วยบำรุงผิวพรรณและเส้นผมได้ 

แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บริโภค

การแปรรูปของข้าวโพดในลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันดี เพราะเรามักจะเห็นอาหาร ขนมหรือเครื่องดื่มมากมายที่มีส่วนประกอบของข้าวโพด ไม่ว่าจะเป็นน้ำข้าวโพด นมข้าวโพด ซุปข้าวโพดกระป๋อง ของหวานข้าวโพดสำเร็จรูป ข้าวโพดอบเนย ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดบรรจุกระป๋องทั้งหลาย รวมไปถึงการส่งออกไปยังอุตสาหกรรมแป้งเพื่อทำแป้งข้าวโพด สำหรับใช้ในการประกอบอาหารต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่ต้องการตามท้องตลาดมาก ๆ 

เราจะเห็นได้ว่าข้าวโพดถือเป็นพืชไร่ที่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้หลายทางมาก และยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การหันมาเพาะปลูกข้าวโพดนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรยุคใหม่อย่างเรา ๆ เพราะแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย ขอแค่มีพื้นที่เพียงพอและมีเวลาในการดูแลก็สามารถ ปลูกข้าวโพดได้อย่างแน่นอน

แหล่งที่มา

การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพด, Positioning magazine
ลักษณะทั่วไปของต้นข้าวโพด, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร
การปลูกข้าวโพด, ศูนย์วิจัยข้าวฟางแห่งชาติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้าวโพด: การปลูกข้าวโพด, สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้