ก้ามปูหลุด ไม้ประดับพันธุ์สวยรวยสรรพคุณ

ก้ามปูหลุด ภาษาอังกฤษ : Inch plant, Wandering jew

ก้ามปูหลุด ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tradescantia zebrina hort. ex Bosse หรือชื่อเดิมคือ Zebrina pendula

วงศ์ : Commelinaceae Mirb. (คำระบุชนิด zebrina เป็นภาษาละติน ซึ่งหมายถึง “with stripes like a zebra” (มีลายเหมือนม้าลาย))

ชื่อเรียกอื่น ๆ : พระยาลิดตีนปู, ก้ามปู, ปีกแมลงสาบ ฯลฯ

ก้ามปูหลุด เป็นพืชล้มลุก แตกแขนงมาก โดยเป็นพืชพื้นเมืองในบริเวณชายฝั่งของเม็กซิโกตะวันออก ถือเป็นพืชที่มีใบเป็นลักษณะเด่น ซึ่งใบของก้ามปูหลุดนั้นมีลักษณะเป็นลายแบบทางม้าลายและมีสีสันสวยงาม ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไป รวมทั้งประเทศไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ก้ามปูหลุดไม่ได้มีดีเพียงแค่ในด้านความสวยงามเท่านั้น แต่ถือเป็นอีกหนึ่งไม้ประดับที่เต็มไปด้วยประโยชน์และสรรพคุณมากมาย ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมปลูกต้นก้ามปูหลุดในกระถางแขวนเป็นไม้ประดับในร่ม

ก้ามปูหลุด ภาษาอังกฤษ
www.thailandplus.tv

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นก้ามปูหลุด

ที่มาของชื่อ “ก้ามปูหลุด” นั้นมาจาก เมื่อหักก้านหรือใบของพืชชนิดนี้แล้ว ไม่ช้าก็จะมียอดงอกออกมาแทน เหมือนปูที่ขาหลุดแล้วงอกได้ใหม่ บางคนจึงมีความเชื่อว่าต้นก้ามปูหลุดเป็นไม้มงคล ซึ่งมีความหมายที่สื่อถึงความไม่ยอมแพ้ และสามารถเจริญรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็ว

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

ก้ามปูหลุดเป็นพืชล้มลุก แตกแขนงออกมาก ลวดลายของใบมีสีสันสวยงาม หากจะนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านควรปลูกไว้ในพื้นที่ที่แสงแดดสามารถส่องถึง ซึ่งควรเป็นแสงแดดรำไร หรือแสงแดดครึ่งวันเช้า ทั้งนี้สามารถปลูกในบริเวณกลางแจ้งได้ แต่บริเวณนั้นควรมีความชื้นด้วย หากปลูกไว้ในกลางแจ้งควรหมั่นรดน้ำเป็นประจำเพื่อไม่ให้ใบซีดโทรม

ลักษณะของต้นก้ามปูหลุด

  • ลักษณะของลำต้น ลำต้นของก้ามปูหลุดมีลักษณะอวบน้ำและทอดเลื้อยไปตามผิวดิน ยอดชูตั้ง มีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวหรือเขียวประม่วงจนถึงม่วงลายเขียว โดยมีข้อและปล้องที่ชัด
  • ใบ ใบของก้ามปูหลุดเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับระนาบเดียว ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขอบขนาน มีความกว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 3-8 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้มหรือสีเขียวปนม่วงแดง มีแถบสีเทาเงิน 2-3 แถบพาดตามความยาวของใบ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ หลังใบเป็นสีเขียวอ่อนสลับสีเทาควันบุหรี่ลายทาง ท้องใบเป็นสีม่วงอมแดง ไม่มีก้านใบ กาบใบสั้นเป็นปลอกหุ้มรอบข้อสูงประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณกาบใบมีลายเส้นสีม่วงเป็นแนวตามความยาวและมีขนขึ้นเล็กน้อย
  • ดอก ก้ามปูหลุดออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอดสั้น ๆ มีใบประดับใหญ่ 2 ใบ ซึ่งจะมีขนาดไม่เท่ากันประกบหุ้มช่อดอกอ่อนเอาไว้ ดอกมีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย กลีบรองดอกเป็นสีขาว บาง โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ มีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ 3 กลีบ โดยมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร กลีบด้านบนเป็นสีม่วง ส่วนด้านล่างเป็นสีขาว กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว มีขนยาวสีม่วง อับเรณูสีนวล รังไข่มีขนาดเล็ก ในส่วนของก้านเกสรเพศเมียนั้นมีลักษณะเรียว ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก ซึ่งดอกจะทยอยบานโผล่เหนือใบประดับ และเมื่อดอกบานเต็มที่ก็จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร โดยก้านดอกนั้นจะสั้นมาก
  • ผล ผลของก้ามปูหลุดมีลักษณะยาวรี ขนาดเล็ก เมื่อผลแก่จะแตกอ้าออกไปตามความยาวของผลระหว่างช่อง ซึ่งภายในผลนั้นมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด
ลักษณะของก้ามปูหลุด
www.ต้นกล้าความรู้.com

สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม

ก้ามปูหลุดด่าง (Tradescantia zebrina Bosse)

เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก โดยก้ามปูหลุดด่างนั้นเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก และได้มีการขยายพันธุ์ไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องอวบสีเขียวแซมม่วง ซึ่งจะเลื้อยทอดตัวไปตามพื้นดิน เมื่อโตเต็มที่จะชูยอดตั้งขึ้น มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ช่วงปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ออกเรียงสลับกัน ใบด้านบนมีสีเขียวสลับกับสีเทา ท้องใบมีสีม่วงอมแดง ไม่มีก้านใบ ส่วนดอกมักจะออกเป็นช่อกระจุกอยู่บริเวณปลายยอด มีใบประดับสองใบคอยประกบหุ้มอยู่ข้างช่อดอก ดอกมีสีขาวอมชมพูอ่อน ๆ มีก้านดอกสั้น ผลมีลักษณะเรียวยาว ด้านในประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็ก 2-3 เมล็ด

ก้ามปูหลุดด่าง

ก้ามปูหลุดด่างชมพู (Tradescantia Nanouk)

เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่หายาก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ลำต้นหนา มีข้อและปล้องชัด ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอวบน้ำ มีลวดลายด่างเป็นแถบสีเขียวและสีชมพูอ่อน บางครั้งมีสีขาวปนอยู่ด้วย ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขอบขนาน กาบใบสั้น มีลายเส้นและสีอย่างละเอียด หลังใบมักจะเป็นสีเขียวอ่อนอมเทา ท้องใบมีสีม่วงอมแดง ดอกอาจเป็นสีชมพูและสีขาว ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่สวยงามและเลี้ยงได้ง่าย ชอบแสงแดดรำไรไปจนถึงแสงแดดจัด และต้องการน้ำในระดับปานกลาง

ก้ามปูหลุดด่างชมพู

ก้ามปูหลุดด่างใบขาวเขียว (Tradescantia fluminensis variegata green and white)

เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ข้อและปล้องอวบน้ำ ใบมีลวดลายด่างสีขาวแซมเขียวชัดเจน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขอบขนาน กาบใบสั้น มีลายเส้นและสีที่มองเห็นได้ชัด หลังใบมักเป็นสีเขียวหรือขาว ซึ่งพันธุ์นี้จะมีลำต้นและใบที่เล็กกว่าก้ามปูหลุดพันธุ์อื่นเล็กน้อย สำหรับพันธุ์นี้จะชอบแสงสว่างมาก แต่ไม่ใช่แสงแดดกลางแจ้งโดยตรง เพราะถ้าหากโดนแดดจัดจะทำให้ใบไหม้ได้

ก้ามปูหลุดด่างขาวเขียว
walnutsth.com

วิธีการปลูกก้ามปูหลุด

การปลูกต้นก้ามปูหลุดสามารถปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกลำต้นจากไหลมาปลูก ซึ่งวิธีขยายพันธุ์นั้นสามารถทำได้ง่ายด้วยวิธีการปักชำกิ่ง โดยให้ตัดกิ่งปักชำในกระถางได้เลย ขั้นตอนการปลูกให้ใช้วัสดุเป็นดินร่วนปนทรายในการเพาะปลูก สามารถเพาะปลูกด้วยเมล็ด หรือแยกลำต้นจากไหลมาปลูกลงดินหรือปลูกในกระถาง หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำ และนำไปตั้งไว้ในที่ร่มที่มีแสงรำไร

วิธีการดูแล

  • แสงแดด แสงแดดที่เหมาะสมในการดูแลต้นก้ามปูหลุดให้เจริญเติบโตได้ดีนั้นเป็นแสงแดดรำไร หรือแสงแดดครึ่งวันเช้า สามารถปลูกบริเวณกลางแจ้งได้ แต่ลวดลายสีสันของใบจะซีดโทรมกว่าต้นที่ปลูกในที่รำไร
  • น้ำ ก้ามปูหลุดเป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก ต้องการน้ำในระดับปานกลาง หลังปลูกควรรดน้ำให้ชุ่ม แต่ไม่ควรปล่อยให้แฉะ
  • ดิน ดินที่เหมาะกับต้นก้ามปูหลุดจะเป็นดินร่วนปนทราย และเป็นดินที่สามารถระบายน้ำได้ดี ดังนั้นควรใช้ดินร่วนปนทรายในการปลูก และหมั่นดูแลไม่ให้ดินมีน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในสภาพที่แฉะ
  • ปุ๋ย หลังจากปลูกต้นก้ามปูหลุด ให้ดูแลโดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักปีละ 2 ครั้ง หรือจะให้หลังจากการตัดแต่งทุกครั้งก็ได้เช่นกัน
การปลูกก้ามปูหลุด
www.alungkarngarden.com

ประโยชน์และสรรพคุณต่าง ๆ

  1. ก้ามปูหลุดเป็นพืชที่สามารถปลูกประดับไว้ในที่ร่มหรือเรือนกระจก เหมาะกับการปลูกคลุมดิน เป็นไม้กระถางแขวน หรือแซมกับพรรณไม้ขนาดใหญ่ใบเขียวในสวนแนวตั้ง
  2. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโกในบริเวณตาบัสโกใช้เป็นยาในรูปของชาสมุนไพร ซึ่งเรียกว่า “มาตาลี”
  3. ตำรับยาแก้โรคหนองใน จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาใส่น้ำแล้วต้มให้เหลือ 1 ถ้วย ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  4. ใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้พิษงูกัด ใช้พอกฝี ดูดพิษฝี และแก้ฝีอักเสบ
  5. ทั้งต้นมีรสขมหวานเล็กน้อย ซึ่งเป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้เจ็บคอ คอบวม คออักเสบ ใช้เป็นยาขับฝีในท้อง แก้ไตอักเสบ และบวมน้ำ
  6. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ตำรับยาแก้นิ่วหรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ จะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วย จนเหลือ 1 ถ้วย ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง
  7. ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี ตำรับยาแก้สตรีตกขาวมาก จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม น้ำตาลกรวด 30 กรัม และต่าฉ่าย (Mytilum crassitesta Lischke) อีก 30 กรัม นำมาผสมน้ำต้มให้เหลือครึ่งชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  8. ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ตำรับยาแก้ไอเป็นเลือดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับปอดหมู รับประทานวันละ 2 ครั้ง ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ต้นสด 60-90 กรัม นำมาต้มกับปอดหมูหนัก 120 กรัม โดยผสมน้ำต้มให้เหลือ 1 ชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  9. ใช้เป็นยาแก้บิด แก้บิดเรื้อรัง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ ตำรับยาแก้บิดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำข้าว ใช้รับประทาน 3 ครั้ง ส่วนตำรับยาแก้บิดเรื้อรังจะใช้กาบหุ้มดอกสดหนัก 150 กรัม และข้าวสารคั่วจนเกรียม (เริ่มไหม้) 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้แบ่งดื่มเป็น 3 ครั้ง
  10. ลำต้นก้ามปูหลุดเป็นยารักษาแผลไฟไหม้ โดยใช้ทั้งต้นสดนำมาล้างให้สะอาด แล้วตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้ทั้งเนื้อและน้ำพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น จะช่วยไม่ให้ปวดแสบปวดร้อนและค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายไป
  11. ลำต้นและใบก้ามปูหลุดใช้ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้กระหายน้ำ
  12. ตำรายาแผนจีน ไต้หวัน จะใช้ใบก้ามปูหลุดนำมาตำให้พอละเอียด จากนั้นนำไปพอกแก้อาการบวมตามข้อได้ดีมาก
  13. ใบก้ามปูหลุดสามารถนำไปใช้ต้มน้ำดื่มจะช่วยลดอาการบวมได้

ข้อควรระวัง

ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอและสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ และสำหรับคนทั่วไปที่จะใช้สมุนไพรชนิดนี้ก็ควรศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบ

ราคาต่อต้นโดยประมาณ

ต้นก้ามปูหลุดที่ปลูกในถุงเพาะชำขนาดเล็ก ราคา 15 บาท ส่วนต้นก้ามปูหลุดที่ปลูกในกระถางขนาด 6 นิ้ว ราคา 50 บาท, กระถางแขวนขนาด 8 นิ้ว ราคา 80 บาท และกระถางขนาด 11 นิ้ว ราคา 150 บาท ซึ่งราคาของแต่ละพันธุ์อาจไม่เท่ากัน

ประโยชน์ก้ามปูหลุด
medthai.com

แหล่งที่มา

http://www.rspg.or.th

http://www.qsbg.org

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้