ต้นเทพนิมิตร ไม้มงคลเสริมโชคลาภและเมตตามหานิยม

ต้นเทพนิมิตร ภาษาอังกฤษ Dieffenbachia, Dumb cane

ต้นเทพนิมิตร ชื่อวิทยาศาสตร์ Dieffenbachia seguine (Jacq.) Schott

วงศ์ Araceae

ต้นเทพนิมิตร เป็นไม้ใบด่างที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับสาวน้อยประแป้ง ลักษณะโดยรวมถือว่าคล้ายคลึงกันมาก แต่เทพนิมิตรมักจะมีด่างขาวขนาดใหญ่กว่า ยิ่งถ้าปลูกในพื้นที่แสงน้อยก็ยิ่งทำให้รอยด่างขาวนั้นกินพื้นที่บนใบมากขึ้น ต้นไหนที่มีอายุมาก ส่วนของลำต้นจะยืดยาวแล้วทอดตัวเลื้อยไปกับผิวดิน ทำให้ยอดใบไม่ชูช่อสวยงามนัก หลายคนจึงเลือกเพาะลงกระถางแล้วหมั่นดูแลให้ลำต้นตั้งตรงอยู่เสมอมากกว่า นอกจากนี้ต้นเทพนิมิตรยังเป็นไม้มงคลที่โดดเด่นเรื่องให้โชคลาภและเสริมเสน่ห์ แม้จะมีพิษอยู่บ้างแต่ก็ยังเป็นหนึ่งตัวเลือกที่นิยมปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลกันอย่างแพร่หลาย

ต้นเทพนิมิต ชื่อวิทยาศาสตร์

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นเทพนิมิตร

นอกจากลวดลายบนใบที่สวยงามสะดุดตาแล้ว ต้นเทพนิมิตรยังเป็นไม้มงคลที่ให้คุณหลายอย่างแก่ผู้เพาะปลูกด้วย โดยเชื่อว่าถ้าปลูกเป็นกอใหญ่ไว้หน้าบ้าน จะช่วยส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายได้ดี หากมีอุปสรรคใดก็จะผ่านพ้นไปได้ในระยะเวลาอันสั้น เงินทองไหลมาเทมา ถ้าปลูกใส่กระถางประดับไว้ตามจุดต่างๆ ในบริเวณบ้าน จะช่วยเสริมเมตตามหานิยมให้คนในครอบครัว คนรอบตัวอยากช่วยเหลืออุปถัมภ์ หากต้องเข้าหาผู้ใหญ่ เขาก็จะเอ็นดูและเมตตา นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเทพนิมิตรเป็นไม้เสี่ยงทายที่ให้ลาภลอยได้ด้วย แต่ต้องเป็นต้นที่ได้รับการดูแลจนมีใบที่สมบูรณ์สวยงามเท่านั้น

ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน

ข้อดีของต้นเทพนิมิตรคือพุ่มใบไม่รก สามารถปลูกลงดินเพื่อให้แตกแขนงเป็นพุ่มใหญ่ หรือจะปลูกในกระถางแล้วหมั่นตัดแต่งให้มีขนาดกะทัดรัดก็ได้ เรื่องของตำแหน่งที่เหมาะสมในการปลูก ให้พิจารณาเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานเป็นสำคัญ หลีกเลี่ยงการปลูกภายในบ้านหรือตามทางเดินหากมีเด็กเล็ก แต่ควรนำไปปลูกในสวนร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นแทนที่มีการล้อมรั้วเป็นสัดส่วนแทน หรือไม่ก็ต้องหาตำแหน่งวางกระถางที่เด็กไม่อาจสัมผัสได้โดยง่าย สำหรับการปลูกเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ให้ปลูกทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน ซึ่งควรจะอยู่บริเวณหน้าบ้านด้วย แต่ถ้าหน้าบ้านหันไปทางทิศอื่นก็ให้ยึดหน้าบ้านเป็นสำคัญ

ลักษณะต้นเทพนิมิตร

  • ลักษณะลำต้น เป็นไม้อวบน้ำที่มีลำต้นตั้งตรง ผิวนอกเป็นสีเขียวสด โคนต้นจะมีสีเขียวเข้มกว่าด้านบน เมื่อต้นยืดสูงขึ้นก็จะเห็นเป็นรอยข้อปล้องที่เกิดจากการหลุดร่วงของใบชัดเจน ต้นเทพนิมิตรสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้เอง โดยจะเห็นเป็นหน่อเล็กๆ งอกออกมาบริเวณโคนต้น
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายวงรี โคนใบกว้าง ปลายใบเล็กแหลม ขอบใบขนาน แต่ละใบจะงอกไม่พร้อมกัน และเรียงเวียนเป็นชั้นตามการเติบโตของลำต้น ผิวใบเรียบเกลี้ยง โทนสีเป็นใบด่างเขียวผสมขาว ส่วนจะมีเขียวหรือขาวมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับการเพาะเลี้ยง
  • ดอก ดอกจะออกเป็นช่อเดี่ยวที่ปลายยอด มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรง ส่วนปลายโค้งมนและมีสีขาวนวล ด้านนอกหุ้มด้วยกาบสีเขียวอ่อนอีกชั้นหนึ่ง
  • ผล มีลักษณะเป็นเครือที่มีผลเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตอนที่ยังเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียวแบบเดียวกับก้านดอก แต่เมื่อแก่แล้วจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงแทน
ต้นเทพนิมิตใบด่าง
biggo.co.th

วิธีปลูกต้นเทพนิมิต

การขยายพันธุ์ต้นเทพนิมิตรที่ได้ผลดีที่สุดจะเป็นการแยกหน่อ โดยรอให้ต้นแม่พันธุ์แตกหน่อออกมาก่อน แล้วทำการขุดแยกอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบรากทั้งหมด ระหว่างนี้อาจนำหน่ออ่อนมาแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา หรือแช่ปุ๋ยบำรุงรากด้วยก็ได้ ส่วนวัสดุปลูกให้เตรียมแกลบดำหรือเปลือกถั่วบดหยาบ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อย่างละ 1 ส่วน คลุกเคล้าเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียวก่อนนำไปผสมกับดินร่วนอีกที รองก้นกระถางด้วยกาบมะพร้าวสับหยาบ แล้วเทดินลงไป 2 ใน 3 ส่วนของความสูงกระถางที่ใช้ จากนั้นนำหน่ออ่อนลงปลูกพร้อมกลบดินให้พอแน่น รดน้ำทันทีแล้ววางไว้ในพื้นที่แดดรำไรก่อน เมื่อรากติดดีแล้วค่อยนำไปวางในตำแหน่งที่ต้องการ

วิธีการดูแลรักษา

  • แสง ต้องการแสงค่อนข้างน้อย สามารถปลูกภายในอาคาร บริเวณที่เป็นจุดอับแสง หรือจะวางกลางแจ้งที่ได้รับแดดครึ่งวันก็ได้เหมือนกัน
  • น้ำ ต้องการน้ำน้อย ควรรดน้ำประมาณอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ระวังอย่าให้น้ำท่วมขังเด็ดขาด
  • ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่เก็บกักความชื้นได้ดี
  • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงแร่ธาตุในดินประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง
วิธีปลูกต้นเทพนิมิต

คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นเทพนิมิตร

ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ต้นเทพนิมิตรในทางยารักษาโรค เนื่องจากพืชชนิดนี้มีน้ำยางพิษอยู่ในทุกส่วนของลำต้น ความเสี่ยงจากการใช้งานนั้นมีสูงกว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อีกทั้งพิษก็ร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ สิ่งเดียวที่พอจะมีให้เห็นก็คือการใช้ยางจากใบและลำต้นไปทำยาเบื่อสัตว์เท่านั้นเอง จุดประสงค์หลักในการปลูกต้นเทพนิมิตรจึงเน้นไปที่การประดับตกแต่งสถานที่ ปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับคนในบ้าน รวมถึงใช้เป็นไม้ฟอกอากาศสำหรับห้องที่มีแสงน้อยได้

การแก้พิษจากต้นเทพนิมิตร

แม้จะระมัดระวังอย่างดีแล้ว แต่การปลูกต้นเทพนิมิตรประดับไว้ภายในบริเวณบ้าน ก็มีโอกาสสัมผัสโดนส่วนน้ำยางที่เป็นพิษได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องเข้าใจวิธีการแก้พิษที่ถูกต้องเพื่อให้แก้ไขได้ทันท่วงที ถ้าสัมผัสพิษทางผิวหนัง ให้ฟอกสบู่แล้วล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง คนที่ผิวแพ้ง่ายอาจระคายเคืองได้เร็วกว่าปกติ หากแสบร้อนและมีรอยแดง ให้พอกว่านหางจระเข้บรรเทาอาการไว้ก่อน ครั้นข้ามวันแล้วยังไม่ดีขึ้นค่อยพบแพทย์เพื่อทำการรักษา กรณีที่เผลอกลืนกินน้ำยางเข้าไป ควรล้างช่องปากให้สะอาดแล้วรีบพบแพทย์ทันที เพราะหากรับพิษเข้าไปในปริมาณมาก จะมีอาการแสบร้อนไปทั่วทั้งทางเดินอาหาร ปวดท้อง พูดลำบาก และอวัยวะภายในอาจถูกทำลายจนเสียหายได้ นั่นหมายความว่าควรระวังการปลูกต้นเทพนิมิตรกรณีที่ในบ้านมีเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงด้วย

ลักษณะต้นเทพนิมิต

แหล่งที่มา

https://pharmacy.mahidol.ac.th

http://clgc.agri.kps.ku.ac.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้