บอน ไม้ใบมงคลน่าสะสมที่มีให้เลือกมากกว่า 100 สายพันธุ์

ชื่อภาษาอังกฤษ Elephant ear, Eddoe, Japanese taro, Dasheen

ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schott

ชื่ออื่นๆ บอนหอม, บอนเขียว, ตุน, คูไทย, ทีพอ

วงศ์ ARACEAE

ต้นบอน

เดิมทีต้นบอนถือเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกติดบ้านกันแทบทุกหลังคาเรือน แต่มักจะปลูกเป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ซึ่งบางชนิดก็สามารถใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารได้ด้วย ต่อมาจึงมีการนำเข้าพร้อมพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก ทำให้ต้นบอนมีบทบาทในวงการไม้ประดับมากขึ้น จุดเด่นของต้นบอนอยู่ที่ความสวยงามของใบ ทั้งเรื่องรูปทรงและสีสัน อีกทั้งยังปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทนทานต่อโรคพืชและแมลงสูงมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีคุณสมบัติช่วยเสริมสิริมงคลในด้านต่างๆ นับว่าเป็นตัวเลือกที่มองข้ามไม่ได้เลยสำหรับคนรักไม้ใบในวงศ์ Araceae

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นบอน

โดยพื้นฐานแล้วต้นบอนถือเป็นไม้มงคลที่ช่วยให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น หากปลูกไว้ในเขตรั้วบ้านก็จะช่วยส่งเสริมให้คนในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวและไม่มีเรื่องร้อนใจ หากตั้งไว้ในพื้นที่ทำงานก็จะเกื้อหนุนให้กิจการที่กำลังทำดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งคนโบราณจะถือเคล็ดว่าต้นบอนที่เป็นไม้ใบนั้นจะต้องปลูกในวันอังคาร และจะดีมากถ้าได้ปลูกในทิศตะวันออกของตัวบ้าน หรือปลูกในตำแหน่งที่ต้นบอนจะได้รับแสงแรกของวัน ส่วนความเชื่อในด้านอื่นๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์

บอนประดับ

ลักษณะของต้นบอน

  • ลักษณะของลำต้น
    บอนเป็นพืชที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีหัวเกาะรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ และมีเพียงส่วนก้านใบที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา ส่วนหัวมีรูปร่างคล้ายทรงกระบอกสั้น ผิวนอกขรุขระเป็นสีน้ำตาลเข้ม สามารถแตกต้นใหม่จากหัวเดียวได้หลายต้น เมื่อโตเต็มที่ต้นบอนจะมีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร
  • ใบ
    ขนาดใบค่อนข้างใหญ่ ลักษณะใบคล้ายกับรูปหัวใจ โคนใบเว้าลึก ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นลอนคลื่น เนื้อใบเป็นสีเขียวสดและค่อนข้างนิ่ม ผิวด้านบนเคลือบด้วยไขธรรมชาติทำให้ไม่เปียกน้ำ ส่วนผิวด้านล่างจะมีสีที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ก้านใบเป็นทรงกระบอกเรียวยาว ผิวนอกเรียบเกลี้ยงสีเขียวสด
  • ดอก
    เป็นดอกเดี่ยวที่แทงขึ้นกางกอบอน แกนกลางดอกเป็นแท่งเรียวยาวสีขาวหรือสีเหลืองนวล และมีกาบดอบสีเหลืองหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ถัดจากกาบดอกลงไปจะเป็นกระเปาะทรงกลมรี
  • ผล
    เป็นทรงกลมรีขนาดเล็ก ผิวนอกเป็นสีเดียวกับก้านดอกและก้านใบ ภายในมีเมล็ดไม่มากนัก

สายพันธุ์ยอดนิยม

พืชที่มีลักษณะเหมือนต้นบอนนั้นมีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ การจัดกลุ่มพันธุ์พืชจึงทำได้หลากหลาย ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในครั้งนี้จึงขอยกตัวอย่างพันธุ์ยอดนิยมที่อยู่ในสกุลเดียวกัน คือ Colocasia เท่านั้น

  • Colocasia Pharaoh’s mask หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งก็คือบอนหน้ากากฟาโรห์ เป็นสายพันธุ์ที่มีราคาสูงมาก มีผิวใบเป็นสีเขียวเข้มและมีขอบใบม้วนงอไปด้านหลัง เส้นใบพาดตัวยาวจากแกนกลางจรดขอบใบ ร่องเส้นใบลึกและมีสีดำ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
บอนหน้ากากฟาโรห์
  • Colocasia esculenta nanciana ลักษณะจะคล้ายคลึงกับบอนที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เนื้อใบเป็นสีเขียวและค่อนข้างนิ่ม กลางใบมีแถบสีขาวเริ่มจากจุดที่เชื่อมต่อกับก้านใบ แล้วไล่ไปทางปลายใบ ยิ่งใบใหญ่เท่าไรแถบขาวก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเท่านั้น
โคโลคาเซียแนนซี
  • Colocasia esculenta lemon-lime gecko เป็นพันธุ์ใบด่างที่มีการผสมกันระหว่างสีเขียวเข้มและสีเขียวอ่อน ลวดลายจะเป็นแบบกระจายตัวอย่างอิสระ ร่องเว้าโคนใบไม่ลึกเท่าบอนบ้านเรา และมีก้านใบเป็นสีม่วงเข้ม
บอนด่าง

วิธีการปลูก

เนื่องจากต้นบอนมีโอกาสติดผลน้อย และผลที่ได้ก็ยังมีเมล็ดค่อนข้างน้อยอีก วิธีขยายพันธุ์ที่นิยมกันจึงเป็นการปักชำหรือแยกหน่อมากกว่า ถ้าเป็นการแยกหน่อจะต้องรอให้ต้นแม่พันธุ์แตกหน่ออ่อนเสียก่อน สังเกตบริเวณโคนต้น จะมีต้นบอนขนาดเล็กงอกออกมา รอให้หน่ออ่อนแตกใบและมีลำต้นแข็งแรงดี ค่อยทำการขุดและแยกหน่อนั้นไปเพาะต่อ แต่ถ้าใช้วิธีการปักชำ เราจะเลือกขุดต้นบอนที่โตเต็มที่และมีอายุประมาณหนึ่งแล้ว เพราะจะมีหัวใต้ดินที่แตกแขนงได้มากกว่า เมื่อขุดขึ้นมาก็ให้เลือกตัดแยกหัวที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรออกหัวหลักของต้นแม่ ซึ่งควรตัดหลายๆ หัวในคราวเดียว จะได้ไม่ต้องขุดต้นแม่ให้บอบช้ำบ่อยครั้ง แล้วนำหัวนั้นไปวางทิ้งไว้บนดินทรายหรือดินร่วน ตั้งทิ้งไว้ในพื้นที่แดดรำไรจนกว่ารากจะงอก ค่อยนำมาเพาะลงดินอีกที ดินที่ใช้ก็เป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทั่วไป จะเสริมขุยมะพร้าว ใบหูกวาง หรือวัตถุดิบอื่นก็ตามแต่ความสะดวก

วิธีการดูแลรักษา

  • แสง ต้องการแสงค่อนข้างมาก ควรปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแสงต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
  • น้ำ ต้องการน้ำค่อนข้างมาก และสามารถทนน้ำท่วมขังได้ ควรรดน้ำ 4-7 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ดิน เติบโตได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่จะพบมากตามที่ลุ่มซึ่งเป็นดินโคลน หรือเป็นดินที่ชุ่มชื้นตลอดเวลา
  • ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงแร่ธาตุในดินตามเหมาะสม
ต้นบอนสีเขียว

คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นบอน

  • ลำต้น สามารถนำส่วนลำต้นสดมาบดละเอียด แล้วใช้พอกผิวภายนอกเพื่อรักษาแผลให้หายเร็วขึ้นได้ ส่วนน้ำจากลำต้นที่อยู่ใต้ดินจะใช้เป็นยาบรรเทาอาการไข้
  • หัว มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย ช่วยขับปัสสาวะ ใช้ปรุงยาเพื่อขับน้ำนมของสตรี และใช้บรรเทาอาการไม่สบายท้องจากโรคเกี่ยวกับระบบขับถ่ายได้
  • ราก ใช้รากต้มกับน้ำดื่มเพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย และใช้เพื่อลดอาการไอแห้งจนเจ็บคอได้
  • น้ำยาง ยางที่ได้จากต้นบอนสามารถใช้เป็นตัวยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย และกำจัดหูดขนาดเล็กได้ แต่จะต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้ได้รับผลเสียจากพิษของบอนแทน

คูนและกระดาดดา เลือกผิดอาจได้รับพิษรุนแรง

ต้นคูนเป็นพืชตระกูลบอนที่สามารถนำก้านใบมาทำอาหารได้ โดยมากนิยมใส่ในแกงส้มหรือแกงเหลือง ส่วนทางภาคอีสานจะใช้เป็นผักเครื่องเคียงกับส้มตำและน้ำพริก ปัญหาก็คือจะมีต้นกระดาดดาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก จนหลายคนเข้าใจผิดและนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ทั้งที่ต้นกระดาดดาเป็นบอนมีพิษ เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดอาการระคายเคือง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับเข้าไป ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออกได้ วิธีการสังเกตที่ง่ายที่สุด คือให้ดูบริเวณก้านใบ ต้นคูนจะมีก้านใบใหญ่ อวบน้ำ มีผิวสีขาวนวล ส่วนต้นกระดาดดาจะมีก้านเล็กกว่า มีเนื้อแข็งและเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับใบ

บอนกินได้หรือไม่ได้
dxc.thaipbs.or.th

แหล่งอ้างอิง

http://eto.ku.ac.th/

https://arit.kpru.ac.th/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้