มะยม ( Star Gooseberry) เป็นพืชที่ให้ผลรสเปรี้ยวจี๊ดซึ่งคนไทยรู้จักกันดีและนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารหรือนำมาทานเป็นผลไม้เรียกน้ำย่อยมายาวนาน มะยมถือเป็นต้นไม้ที่หลายบ้านปลูกกันแพร่หลายเพราะเป็นพืชที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ดูแลง่าย ๆ ให้ผลที่สามารถนำไปใช้ทำอาหารหรือนำมาใช้เป็นยาได้ นอกจากนี้ยังแฝงความหมายมงคลตามความเชื่อของคนไทยที่น้อยคนจะรู้อีกด้วย เพราะฉะนั้นใครที่มีต้นมะยมอยู่ที่บ้านหรือกำลังคิดว่าอยากจะลองปลูกไว้ เราก็ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นมะยมไว้ให้ทุกคนได้ไปศึกษากัน
ข้อมูลทั่วไปของต้นมะยม
ชื่อทั่วไป: มะยม
ชื่อท้องถิ่น: หมากยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้)
ชื่อภาษาอังกฤษ: Star Gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์: Phyllanthus acidus
ตระกูลพืช: (PHYLLANTHACEAE) จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม
ถิ่นกำเนิดของต้นมะยม มาจากไหน มีที่มาอย่างไร
ต้นมะยมถือเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบ้านเรานี่เอง สามารถพบได้ทั้งในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย ลาว อินโดนีเซีย และได้มีการแพร่พันธุ์กระจายไปยังประเทศอินเดีย แถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้และฮาวาย ในประเทศไทยต้นมะยมเรียกได้ว่าเป็นพืชท้องถิ่นเพราะสามารถพบได้ทั่วไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถปลูกร่วมกับต้นมะขามหรือต้นพุทราได้
ความเชื่อเรื่องไม้มงคลของต้นมะยม
ตามความเชื่อเรื่องไม้มงคลของไทยเราหากบ้านไหนครอบครัวไหนปลูกต้นมะยมภายในบริเวณบ้าน ผู้คนจะรักใคร่นิยมชมชอบ ถือเป็นไม้แห่งเมตตามหานิยมที่คนนิยมปลูกไม่เพียงแต่เพื่อความหมายแห่งความเป็นสิริมงคลเท่านั้น แต่ผลและส่วนต่าง ๆ ของต้นมะยมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย
เกร็ดความรู้ ทางเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เรือนล้านนา มช. ได้กล่าวถึง มะยม หรือในภาษาเหนือคือ "บ่ายม" ซึ่งเป็นไม้ที่ชาวล้านนานิยมปลูกไว้ด้านทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของบ้านเรือน ด้วยความเชื่อว่ารากของมะยมหรือกาฝากมะยมหากนำไปแกะเป็นรูป “อิ่น” คือเครื่องรางรูปชายหญิงกอดกัน เมื่อทำพิธีแล้วแช่น้ำมันจันทน์ก็เหมาะไปใช้ในทางเมตตามหานิยม ก้านและใบมะยมใช้ประพรมนิมนต์ขับไล่ภูติผีปีศาจ เพราะถือเป็น “ไม้ยมทัณฑ์” ซึ่งเป้นอาวุธของพญายมราชสามารถกำราบผีได้ อีกทั้งยังเชื่ออีกว่า ถ้าเอาก้านมะยมตีเด็กที่ดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอนจะทำให้เด็กนั้น “ยม” คืออ่อนโยนสอนง่ายขึ้น
ปลูกต้นมะยมบริเวณไหนถึงจะดี
หากยึดตามหลักตำราพรหมชาติแนะนำให้ปลูกต้นมะยมที่บริเวณทิศตะวันตกเพื่อป้องกันความเป็นอัปมงคลต่าง ๆ และ
ยังช่วยเสริมดวงในเรื่องของความเมตตาอีกด้วย แต่หากยึดตามหลักกายภาพของต้นมะยม แนะนำให้ปลูกในบริเวณที่แสงแดดสามารถส่องถึงได้ทั้งวันหรือเกือบตลอดทั้งวัน เพราะมะยมเป็นต้นไม้ที่ชอบแดดเพื่อการเจริญเติบโต
ลักษณะและส่วนต่าง ๆ ของต้นมะยม
ต้นมะยมถือเป็นต้นไม้ที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นอยู่ที่ลักษณะใบและผล โดยส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นมะยมนั้นทางเว็บไซต์ plantingman ได้อธิบายไว้ดังต่อไปนี้
- ลักษณะลำต้น: ต้นมะยมมีลำต้นสูงประมาณ 3-10 เมตร เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มทึบ เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะลำต้นกลม กิ่งก้านแตกหักได้ง่าย มีเปลือกขรุขระสีน้ำตาลอมเทา
- ลักษณะใบ: ใบของต้นมะยมมีความโดดเด่น เพราะมีลักษณะเป็นใบประกอบคู่เรียงกันคล้ายขนนก รูปใบเป็นทรงรี ปลายใบเรียวแหลม ใบทึบ เรียบ สีเขียวสด
- ลักษณะดอก: ดอกของต้นมะยมมักจะออกเป็นช่อ ๆ อกอเป็นกระจุกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลืองอมแดง
- ลักษณะผล: ผลของต้นมะยมมีลักษณะเป็นทรงกลม เป็นกลีบนูนรอบผล ผิวของเปลือกมีความเรียบ เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวให้รสชาติฝาด ๆ ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียวรสชาติเปรี้ยวจี๊ด
- ลักษณะเมล็ด: เมล็ดมีลักษณะเป็นทรงกลมสีน้ำตาลอ่อน มีเปลือกค่อนข้างแข็ง
วิธีการเพาะพันธุ์ต้นมะยม
ต้นมะยมสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการตอนและการเพาะเมล็ด ซึ่งจะมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- การตอน: การตอนต้นมะยมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะพันธุ์ เพราะสามารถทำได้ง่าย รากงอกได้ไว แม้จะเลือกต้นแก่ที่มีอายุเป็นสิบ ๆ ปีก็ตาม สามารถออกราก ออกดอก และติดผลได้ หลังจากย้ายกิ่งตอนลงแปลงปลูกแล้ว
- การเพาะเมล็ด: เป็นอีกหนึ่งวิธีขยายพันธุ์ต้นมะยมที่ทำได้ง่าย แต่ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะให้ผลผลิตออกมา
เคล็ดลับการดูแลต้นมะยม
ต้นมะยมถือเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย เพียงแค่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตได้ไว มาดูกันดีกว่า ว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับต้นมะยม เป็นอย่างไรบ้าง
แสงแดด
ต้นมะยมเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบแสงแดด จึงควรปลูกในบริเวณที่แสงแดดส่องถึง หรือสามารถปลูกได้ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงแบบรำไร
น้ำ
ต้นมะยมชอบความชื้นกลาง ๆ จึงแนะนำให้รดน้ำในปริมาณที่ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป อีกทั้งยังควรระมัดระวังไม่ให้มีน้ำท่วมขัง เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ ความถี่ในการรดน้ำที่แนะนำคือประมาณ 1-2 วันต่อครั้ง
ดิน
ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นมะยมคือดินร่วนซุยที่สามารถระบายน้ำได้เป็นอย่างดี หากปลูกในดินที่แน่นหรือไม่สามารถระบายน้ำได้ อาจทำให้รากและโคนต้นเน่าได้
ปุ๋ย
หากต้องการให้ต้นมะยมออกผลดกดี ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อเพิ่มการสะสมคาร์โบไฮเดรตและลดระดับไนโตรเจนในลำต้น ปริมาณในการใส่ แนะนำให้ใส่ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะลงในดิน จากนั้นกลบและรดน้ำเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
สรรพคุณและประโยชน์ของมะยม
เชื่อว่าหลายคนอาจรู้จักมะยมในฐานะของผลไม้รสเปรี้ยวมากกว่าการนำไปทำประโยชน์อื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมะยมที่ดูเหมือนจะมีทุกบ้านต้องบอกว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพรและมีประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ อีกมากมายที่หลายคนยังไม่รู้ ดังนั้น เดี๋ยวเราจะพาไปดูกันว่ามะยมสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
สรรพคุณ
ใบ: ช่วยแก้อาการไข้ตัวร้อนหรือไข้หัวต่าง ๆ ช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ สามารถนำมาต้มรวมกับใบหมากผู้หมากเมียหรือใบมะเฟือง ใช้อาบแก้อาการผดผื่นคัน หรือพิษไข้หัวและหัด ฝีดาษ หรือสุกใสดำแดง ให้รสจืดมัน
เปลือกต้น: ช่วยแก้อาการไข้เพื่อโลหิต หรือนำมาต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคันขึ้น ให้รสจืด
ราก: ช่วยแก้โรคผิวหนังเม็ดผดผื่นคัน หรือประดงน้ำเหลืองเสีย ให้รสจืด
ผล: ช่วยแก้อาการไอ หรือกัดเสมหะ และบำรุงโลหิต ตลอดจนช่วยระบายท้อง ให้รสเปรี้ยวสุขุมนอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าหากนำต้นมะยมมาปลูกไว้ในบ้านทางทิศตะวันตกจะช่วยปกป้องและป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้น และจัดเป็นไม้มงคลนามที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ประโยชน์
- คนไทยใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนของมะยมเป็นผัก เช่น ผักจิ้มแกล้มเป็นเครื่องเคียงหรือที่นิยมทานกับขนมจีน หากสังเกตการจัดวางเส้นขนมจีนในชนบทภาคกลางจะเห็นใบมะยมวางรองเส้นขนมจีนเป็นชั้น ๆ
- ใช้ยอดทำลาบและยำบางตำรับอีกด้วย ผลดิบของมะยมใช้ทำส้มตำได้ เรียกว่าตำมะยมหรือแม้แต่นำมาจิ้มเกลือกินเล่นก็ได้รสชาติจัดจ้าน เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่ช่วยให้ตื่นตัวได้ดีมาก
- สามารถนำผลดิบมาตากแดดให้เหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนแล้วนำมาเชื่อมกินแทน ผลมะยมดองก็เป็นของว่างยอดนิยมอย่างหนึ่งในบรรดาผลไม้เมืองไทย ซึ่งจะเห็นปรากฏอยู่ตามรถเข็นทั่วไปในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ
- นำผลมะยมไปทำแยมหรือเชื่อม ซึ่งจะเป็นการถนอมอาหารอย่างง่ายที่ทำได้ทุกครัวเรือนหรือจะทำเป็นน้ำมะยมที่เตรียมจากผลมะยมดิบ ถือเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสชาติดีมากเลยทีเดียว
ความรู้เพิ่มเติม น้อยคนที่จะรู้ว่า มะยม สามารถพัฒนาไปสู่กระบวนการหมักเพื่อให้ได้เครื่องดื่มประเภทไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ระดับต่ำได้ คล้ายกับที่คนในพื้นที่ต้องการผลิตไวน์จากหมากเม่า ซึ่งไวน์มะยมก็เป็นไวน์จากผลไม้พื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมานานในเมืองไทย เพราะหาวัตถุดิบได้ง่าย รสชาติดี สีสวยและคุณค่าทางด้านสุขภาพคงไม่ด้อยไปกว่าไวน์นำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันการพัฒนาไวน์หมากเม่ายังถูกจำกัดด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตหรือพัฒนาให้ก้าวไกลกว่านี้ได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ความเชื่อเรื่องมะยม, พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.
Star gooseberry, Planting man