หมากผู้หมากเมีย พืชมงคลคู่บุญ คู่บารมี ให้ครองคู่กันยืนยาวนาน

หมากผู้หมากเมีย ราชันแห่งพืชใบที่ทรงเสน่ห์เอกลักษณ์เฉพาะตัว ปลูกง่าย โตไว ใบมีสีสันสดใส และมีความหลากหลายของสายพันธุ์ทำให้ผู้คนที่ชื่นชอบต่างแสวงหาพันธุ์แปลกๆ เพื่อการสะสม และถือเป็นไม้ประดับมงคลที่คนไทยแต่โบราณนิยมปลูกไว้เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลในการครองคู่ เพราะชื่อหมากผู้หมากเมียเป็นของคู่กันเหมือนคู่สุข คู่สม คู่บ้าน คู่เมือง จึงเป็นอีกไม้มงคลที่นิยมซื้อหามาปลูกโดยเฉพาะในโอกาสขึ้นบ้านใหม่สำหรับคู่ข้าวใหม่ปลามัน

หมากผู้หมากเมีย ความเชื่อ

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ : Cabbage palm , Good luck plant , Palmm lily , Red dracaena , Polynesian , Ti plant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cordyline fruticosa (L.) A.Chev วงศ์  Asparagaceae

ความเชื่อเกี่ยวกับหมากผู้หมากเมียในการปลูกเพื่อเป็นต้นไม้มงคล

คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะหมากผู้หมากเมียเป็นของคู่กันเหมือนคู่สุขคู่สมคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย ยิ่งกว่านั้นยังเชื่อกันว่าหากมีลำต้นขึ้นคู่กัน2ลำต้น จะนำความโชคดีจะเพิ่มเท่าตัว ความรักจะประสบความสำเร็จราบรื่นสมหวังในเรื่องความรักทุกประการ นอกจากนี้ยังใช้ใบเพื่อนำไปใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสำคัญอีกหลายงาน เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรือใช้เป็นเครื่องบูชาพระ เป็นต้น

ควรปลูกหมากผู้หมากเมียบริเวณใดของบ้าน

เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย คนโบราณจึงแนะนำให้ปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน และผู้ปลูกควรเริ่มปลูกในวันอังคาร เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปทางใบให้ปลูกกันในวันอังคาร เนื่องจากเป็นไม้ที่ชอบแสงไม่มาก จึงสามารถปลูกในกระถางวางเรียงไว้ตามชานเรือนบ้านได้เป็นอย่างดี ไม่ค่อยมีแมลงหรือศัตรูพืชมารบกวน

ส่วนประกอบของต้นหมากผู้หมากเมีย

ลักษณะของลำต้น

มีลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยวหรือแตกกอ แตกกิ่งออกเป็นทรงพุ่ม ลำต้น และก้านใบมักมีสีน้ำตาลหรือสีอื่นตามสายพันธุ์

ใบ

มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว แตกออกด้านข้างลำต้นสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปหอกเรียวยาว ปลายใบเรียวแหลมโค้งงอลงด้านล่าง มีสีสันหลากหลาย เช่น สีม่วง สีน้ำตาล สีเขียวอ่อน เป็นต้น

ดอก

ดอกหมากผู้หมากเมีย จะมีลักษณะเป็นช่อ ยาวประมาณ 12 นิ้ว โดยจะออกบริเวณยอดลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบ

สายพันธุ์หมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมียเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้ที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์มาก เพราะมีการผสมผสามเกิดขึ้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งจากความตั้งใจก็ดีเช่นมีนักพัฒนาสายพันธฺ์พยายามจะผสมให้เกิดรูปร่างลักษณะที่งดงาม หรือจากความไม่ตั้งใจก็ดีคือเป็นการผสมผสานเองด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ในปัจจุบันหากจะเอ่ยชื่อสายพันธุ์ หมากผู้หมากเมียคงมีมากมายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วน แต่สำหรับสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้จัดสวนและไม่ประดับศุภมงคลในบ้านก็ได้แต่สายพันธุ์ เพชรไพฑูรย์ เพชรชมพู ทับทิมสยาม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสีสันสวยงามจัดจ้านโตไว ทนแดด ได้ดี รวมถึงพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และความสวยงามอย่างแตกต่าง เช่นพันธุ์เพชรเจ็ดสี พันธุ์รัศมี เพชรบัลลังก์ทอง เพชรดารา เพชรน้ำหนึ่ง เพชรสายรุ้ง เพชรไพลิน ไก่เยาว์ลักษณ์ ชมพูศรี ชมพูพาน สไบทอง เป็นต้น

หมากผู้หมากเมีย ราคา

วิธีการปลูกหมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมียเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นได้ง่ายโตไว ไม่ต้องการการประคบประหงมมากมาย วิธีการปลูกที่นิยมทำกันอาทิ

1. การปักชำ

เป็นวิธีการใช้ส่วนลำต้นที่ตัดจากต้นแม่ที่มีกิ่งหรือเหง้ามาก แล้วนำมาปักชำในแปลงเพาะชำหรือในกระถางชำ

2. การตอน

เป็นวิธีการตอนในกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์โดยใช้ต้นแม่พันธุ์ที่มีกิ่งหรือเหง้าจำนวนมาก รากหลังการตอนจะงอกประมาณ 3-4 สัปดาห์

3. การแยกเหง้า

เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก และรวดเร็ว ด้วยการขุดแยกเหง้าที่แตกออกมาจากต้นแม่ แล้วนำมาแยกปลูกในกระถาง

4. การเพาะเมล็ด

เป็นวิธีการเพาะโดยใช้เมล็ดจากต้นแก่ มาเพาะในกระถางหรือถุงพลาสติก วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าหมากผู้หมากเมียจะออกดอก และติดเมล็ดให้เห็น โดยจะออกดอกในต้นที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป แต่ต้นไม้ที่ปลูกด้วยวิธีการนี้จะมีรากแก้วและมีความมั่นคงแข็งแรงมาก

วิธีการดูแลหมากผู้หมากเมีย

แสง

เนื่องจากหมากผู้หมากเมียมีความหลากหลายของสายพันธุ์มาก บางชนิด ชื่นชอบแสงแดดจัดๆ บางชนิดแทบจะโดนแดดไม่ได้เลย ควรทำการสอบถามผู้ขายถึงปริมาณแสงที่เหมาะสมสำหรับสายพันธุ์ที่ท่านเลือก

น้ำ

การให้น้ำ หมากผู้หมากเมียเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องมีความชื้นในดินที่เพียงพออยู่เสมอ การให้น้ำควรให้เพียงวันละครั้งก็เพียงพอ ซึ่งที่สำคัญ คือ จุดวางกระถางหรือแปลงปลูกต้องไม่ถูกแดดส่องถึงพื้นตลอดทั้งวัน

ดิน

หมากผู้หมากเมียสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หน้าดินลึก ดินไม่แน่น ดินมีความชื้นสูง โดยเฉพาะดินที่มีเศษใบไม้ กิ่งไม้ปกคลุม ชอบเสียงรำไร มักขึ้นอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ได้ดี

ปุ๋ย

ปุ๋ยที่ใช้จะเน้นเป็นปุ๋ยคอกหรือการใส่วัสดุอินทรีย์อื่นๆเป็นหลัก และใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง สูตร 16-16-8 อัตรา 50 กรัม/ต้น ทุกๆ 1-2 เดือน

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆของหมากผู้หมากเมีย

หมากผู้หมากเมียนอกจากเป็นไม้เสริมสิริมงคลประดับตกแต่งบ้านแล้วยังมีคุณค่าในทางเศษรฐกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่นการนำใบไปตัดขายเป็นใบประดับตกแต่งในการจัดดอกไม้ต่างๆ นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ ของหมากผู้หมากเมียเช่นดอก สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้ เช่น ดอกตูมนำไปลวกทั้งแบบสด กินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ชาวเหนือนิยมนำไปใส่แกงแค ดอกหมากผู้หมากเมีย ยังมีคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยามากมายอาทิ ดอกและราก ใช้สมานแผลในลำไส้ แก้ไข้เหือดหัดสุกใสดำแดง ใบ ใช้ขับพิษ, ไข้ แก้ตัวร้อน แก้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำหรือใช้ต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน

ใบหมากผู้หมากเมีย

ราคาหมากผู้หมากเมียต่อต้นโดยประมาณ

ราคาหมากผู้หมากเมียโดยมากจะอยู่ที่ราคากระถางละ 50-100 บาท สำหรับสายพันธุ์ทั่วไปที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด และอาจมีราคาสูงเพิ่มขึ้นตามแต่ลักษณะความสวยงามภายนอก หรือเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มมีการผสมออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด

แหล่งอ้างอิง : http://www.qsbg.org/Database/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้