ไลทอป (Lithops)ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Lithops เป็นพืชกลุ่ม พืชอวบน้ำ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Lithos” แปลว่า “หิน” และ“-ops” แปลว่าเหมือน ดังนั้นคำว่า “Lithops” จึงแปลว่า “เหมือนหิน” ซึ่งตรงกับลักษณะของพืชชนิดนี้นั่นเอง
ไลทอปมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพืชชนิดอื่นอย่างชัดเจน กล่าวคือทั้งรูปร่าง ลักษณะ สีสัน คล้ายกับก้อนหิน ก้อนกรวด จนมีบางคนตั้งชื่อให้ว่า “หินมีชีวิต” ไลทอปเป็นพืชที่มีขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง และมีอากาศเย็นในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศนามิเบีย และประเทศแถบแอฟริกาใต้ เป็นต้น
ลักษณะของไลทอป
ไลทอป มีใบอยู่เป็นคู่ มีลักษณะคล้ายกระเปาะ มองจากด้านบนจะเห็นเป็นลักษณะกลม และมีร่องตรงกลางคล้ายรอยผ่าเป็น 2 ซีก บริเวณร่องตรงกลางภายใน จะเป็นส่วนของเนื้อเยื่อที่สามารถเจริญเติบโตได้ ดอก หรือใบใหม่จะงอกจากร่องระหว่างใบ ในช่วงฤดูหนาวเป้นช่วงเวลาที่ไลทอปเริ่มสร้างใบคู่ใหม่ อยู่ภายในร่องดังกล่าว ซึ่งจะมีเพียงคู่เดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีการแตกหน่อ ที่ทำให้คล้ายว่ามีใบหลายคู่ แต่น่าจะเป็นต้นเล็กสองต้นอยู่ในร่องมากกว่า ใบใหม่จะค่อยๆเจริญเติบโตออกมาให้เห็นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และใบเก่าที่มีอยู่จะค่อยๆเหี่ยวไป ซึ่งในระยะนี้ควรงดให้น้ำแก่ ไลทอป เพราะจะทำให้เชื้อราทำลายใบเก่าที่กำลังเสื่อมสภาพลงได้ง่าย จนอาจทำเกิดการไลทอปเน่าได้
ไลทอป มักฝังตัวอยู่ในพื้นหรือวัสดุที่ใช้ปลูก และเหลือเพียงส่วนบนของใบที่โผล่ขึ้นมาเท่านั้น บริเวณส่วนบนของใบทั้ง 2 จะมีส่วนที่ค่อนข้างโปร่งแสง เรียกกันว่า “หน้าต่าง” เพื่อให้แสงสามารถส่องเข้าไปในเนื้อเยื่อภายใน ซึ่งเป็นบริเวณสังเคราะห์แสง
จุดดึงดูดความสนใจ ของผู้ที่นิยมเลี้ยงไลทอป ก็คือสีสันของใบ ที่มีสีสันแตกต่างหลากหลาย เช่น สีน้ำตาล, เทา, ครีม, ม่วง และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งรูปแบบและสีสันของลวดลายของสิ่งที่เรียกว่า “หน้าต่าง” ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น, ลายจุด, ลายกลม ฯลฯ
ดอกของไลทอป ส่วนใหญ่มีสีเหลืองหรือสีขาว มีเพียงบางพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูหรือบานเย็น ดอกไลทอปมักออกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว ตำแหน่งดอกของไลทอปจะงอกแทรกออกมาตรงกลางระหว่างใบทั้งสองของ ช่วงเวลาที่ดอกบานมักจะเป็นเวลาหลังเที่ยงและหุบลงในเวลาเย็น ไลทอปเป็นพืชที่ต้องการการผสมเกสรข้ามต้นจึงจะติดเมล็ด
ฝักหรือผล ไลทอป เป็นส่วนของฐานดอกที่หลังจากกลีบดอกโรยไปแล้ว ฝักหรือผลของไลทอป ไม่ได้เจริญเติบโตเป็นผลให้เห็นชัดเจนเหมือนไม้อวบน้ำพันธุ์อื่น แต่มีลักษณะเป็นกระเปาะ ฐานดอกมีปลายแห้งๆ และในธรรมชาติกระเปาะดังกล่าวจะเปิดออกเมื่อโดนน้ำ พร้อมกับดีดเมล็ดที่มีขนาดเล็กมากเท่าเมล็ดทรายออกมาเพื่อขยายพันธุ์นั่นเอง
การเพาะเลี้ยง
การขยายพันธุ์ของไลทอปมี 2 วิธีที่นิยมกัน คือการเพาะเมล็ด และการแยกหน่อ โดยการเพาะเมล็ดทำได้โดยการเก็บฝักของไลทอปมาแกะด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเมล็ดไลทอปมีขนาดเล็กมาก
ในต่างประเทศ ไลทอป เป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลาย และยังมีผู้พัฒนาสายพันธุ์แปลกๆขึ้นอีกมากมาย เพื่อให้ได้ลวดลายและสีสันของใบที่สวยแปลกตา เรามักพบว่าเมล็ดและต้นก็มีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ต และจัดว่าเป็นไม้เพาะเลี้ยงได้ง่าย ราคาไม่แพง ชนิดหนึ่งเลยก็ว่าได้
ในประเทศไทย ไลทอป เป็นพืชอวบน้ำ ที่ค่อนข้างเลี้ยงยากชนิดหนึ่ง เนื่องมาจากดินฟ้าอากาศของประเทศไทย เป็นแบบร้อนชื้น ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของไลทอป มักเน่าตายเป็นส่วนใหญ่ เพราะไลทอปเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนในช่วงหน้าฝนรวมกันไม่ถึง 2 นิ้วต่อเดือน และอยู่ท่ามกลางโขดหินซึ่งเก็บกักความชื้นได้น้อย มีอากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน
สำหรับในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงไลทอปในโรงเรือน เพื่อให้สามารถควบคุมเรื่องปริมาณน้ำและความชื้นซึ่งเป็นปัญหาหลักในการปลูกได้ดี ควรมีโรงเรือนแบบเปิดหลังคาพลาสติกใสที่สามารถป้องกันฝนสาดใส่ไลทอป มีการให้แสงแดดในช่วงเช้า และแสงในช่วงเย็น ส่องตรงถึงไลทอป ทำการพรางแสงลงประมาณ 50%ในช่วงเที่ยงวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการไหม้จากแสงแดดที่แรงจนกินไป
ภาชนะปลูก ต้องระบายน้ำได้ดี หากปลูกเป็นจำนวนมาก สามารถใช้ตะกร้าที่มีช่องรูประมาณ 0.5×5 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 3-4 นิ้ว ซึ่งระบายน้ำได้ดี และประหยัดภาชนะที่ใช้ปลูกด้วย เพราะสามารถปลูกได้หลายต้น โดยรองพื้นและรอบๆตะกร้าด้วยหินภูเขาไฟเบอร์ 1 เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุปลูกที่มีขนาดเล็กกว่าไหลออกไปตามรู
การเตรียมวัสดุปลูก มีหลายสูตร เช่น ใช้หินภูเขาไฟเบอร์00 เพียงอย่างเดียว หรือใช้หินภูเขาไฟเบอร์00 ผสม เวอร์มิคูไลท์ หรือ หินภูเขาไฟเบอร์00 2 ส่วน ผสมดินปลูกแคสตัสอีก 1 ส่วน โดยวัสดุปลูกควรระบายน้ำได้ดีและแห้งได้เร็ว เพราะหลักจากรดน้ำแล้วต้องทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อให้วัสดุปลูกแห้ง
การให้น้ำสำหรับไลทอป หลักเกณฑ์ก็คือ “ให้อดจนแสดงอาการ จึงให้กิน” ก็คือจะไม่รดน้ำจนกว่าจะแสดงอาการว่าขาดน้ำ สังเกตได้จากการเกิดรอยย่นบริเวณที่โคนต้น และตัววัสดุปลูกแห้งจึงค่อยรดน้ำ.
ประโยชน์
เป็นไม้ประดับ
ที่มา