กระเทียม อีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวคนไทยมายาวนาน

กระเทียม คือพืชที่ในหลายๆเมนูอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นหมูกระเทียม ผัดกะเพรา ผัดผัก น้ำพริก ล้วนแต่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น ไม่เพียงแต่อาหารไทย แต่ว่าอาหารต่างประเทศเองก็นิยมนำกระเทียมมาเป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญ และในบางครั้งก็นิยมทานกันสดๆ แต่ทว่า หลายคนรู้หรือไม่ กระเทียมที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีนั้น มีลักษณะของต้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้แล้วสรรพคุณที่อัดแน่นอยู่ในกลีบกระเทียมเล็กๆนั่นมีอะไรบ้าง บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับกระเทียมให้มากยิ่งขึ้น

กระเทียมคือ

ที่มาและลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระเทียม

กระเทียม จัดอยู่ในอาณาจักร Plantae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum ลักษณะของกระเทียมนั้น เป็นไม้ล้มลุกและใหญ่ยาว ซึ่งมีความสูง 30-60 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดินลักษณะจะกลมแป้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 24 เซนติเมตร มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3-4 ชั้นในแต่ละหัวจะประกอบไปด้วยจำนวนกลีบ 6-10กลีบ มีกลิ่นแรง ลักษณะใบของกระเทียมนั้นเป็นใบเดี่ยว ขึ้นมาจากดิน ตัวใบแบนเป็นแถบแคบกว้างเพียงแค่ 0.5-2.5 เซนติเมตร แต่ยาวถึง 30-60 เซนติเมตร ปลายแหลม ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ ใบมีสีเขียวและสีจะค่อยๆจางลงจนมาถึงโคนของใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือสีเขียว ช่อของดอกกระเทียมเป็นช่อซี่ร่ม มีใบประดับขนาดใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5-10 เซนติเมตร มีลักษณะบางใส แห้ง บาง แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดดรูปทรงกระบอก ผิวเรียบ ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ดอกของกระเทียมนั้นเปนดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน

ลักษณะของกระเทียม
https://www.samunpri.com

วิธีการปลูกกระเทียม

กระเทียมนั้นนับว่าเป็นอีกหนึ่งพืชสวนครัวที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก และไม่กินพื้นที่การปลูก ดังนั้นหากจะเริ่มปลูกกระเทียม ต้องเริ่มจากการเตรียมดินให้พร้อมก่อน เนื่องจากกระเทียมชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี หากดินที่เตรียมไว้มีสภาพเป็นกรด ต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพให้กลายเป็นด่างก่อนประมาณ 15 วัน ขนาดของแปลกปลูกระเทียมนั้น ควรมีความกว้างอยู่ที่ 1-2.5 เมตร ความยาวตามพื้น หรือจะปลูกในกระถางก็ได้ หากบริเวณที่ปลูกมีพื้นที่น้อย โดยส่วนใหญ่การปลูกกระเทียมนั้นมักใช้กลีบนอกในการปลูก ซึ่งจะให้กระเทียมหัวใหญ่และผลผลิตสูง มีวิธีการเลือกกลีบที่จะนำมาปลูก คือ ให้เลือกกระเทียมที่หัวแก่จัดและแห้งสนิท ไม่ควรเลือกหัวเก่าเกินไป หลังจากนั้นจัดการแกะเปลือกและแต่งรากเล็กน้อย รดน้ำใส่ดินให้ฉ่ำ แล้วนำกลีบกระเทียมจิ้มลงไปในดินโดยเอาส่วนรากให้ลงไปให้ลึกประมาณ 2 ใน 3 ขอกลีบ หลังจากนั้นให้นำฟางมาคลุมไว้เพื่อป้องกันวัชพืช และลดความร้อน กักเก็บความชื้นไว้ในตอนกลางวัน ควรรดน้ำสม่ำเสมอในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต โดยประมาณ 7-10วัน/ครั้ง และควรงดให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 สัปดาห์ เมื่อใบเริ่มแห้งหรือก้านเริ่มชูขึ้นมาเป็นสัญญาณว่าสามารถเก็บเกี่ยวกระเทียมได้ เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้กระเทียมแก่เกินไป เมื่อขุดหัวออกมา กลีบจะร่วงหล่นจากกันง่าย โดยวิธีการเก็บเกี่ยวกระเทียมนั้น สามารถทำได้โดยการถอนหัวด้วยมือจากแปลงออมา แล้วนำมาตากแดดไว้ประมาณ 4-5 วัน และควรระวังการถูกน้ำค้างหรือน้ำฝนอีกด้วย เมื่อกระเทียมแห้งสนิทแล้ว ให้นำไปทำความสะอาดแล้วมัดไว้เป็นพวง และนำไปแขวนบริเวณที่มีลมโกรกสม่ำเสมอ และระวังไม่ให้โดนน้ำ หรือความชื้นใดๆ

ปลูกกระเทียม

สายพันธุ์ของกระเทียม

ประเทศไทยนิยมปลูกกระเทียมกันในทางภาคเหนือ ภาคอีสสาน โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกจะมีด้วยกัน 3 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่

  1. พันธุ์เบา หรืออีกชื่อคือ สายพันธุ์ขาวเมือง ลักษณะจะมีกลีบและหัวสีขาว กลิ่นค่อนข้างฉุน รสจัด
  2. พันธุ์กลาง ในบรรดา 3 สายพันธุ์นี้ พันธุ์กลางจะมีขนาดของลำต้นใหญ่ที่สุด กลีบมีสีม่วง อายุค่อนข้างแก่ มักนิยมปลูกในจังหวัดเชียงใหม่
  3. พันธุ์หนัก สำหรับพันธุ์นี้นั้นส่วนหัวจะโตกว่าพันธุ์อื่นๆ เปลือกจะมีสีชมพู น้ำหนักค่อนข้างดีกว่าสองพันธุ์ข้างต้น โดยสายพันธุ์นี้จะเป็นสายพันธุ์ของจีนและไต้หวัน

สรรพคุณและคุณประโยชน์ของกระเทียม

ประโยชน์และสรรพคุณของกระเทียมนั้นอุดมไปด้วยกำมะถันในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย อาทิเช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) อาร์จีนีน (Arginine) ซีลีเนียม (Selenium) และ โอลิโกแซ็คคาไรด์ (Oligosaccharides) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  1. บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
  2. ช่วยในการลดน้ำหนักและมวลไขมัน
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล
  4. เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
  5. ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือจุกเสียดแน่นท้อง
  6. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  7. ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
สรรพคุณของกระเทียม

กระเทียมผง อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระเทียม

ปัจจุบันคนเริ่มนิยมนำกระเทียมสดมาตากแห้ง โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อแปรรูปกระเทยมสดให้เป็นกระเทียมแห้ง เพื่อเตรียมสำหรับผลิตกระเทียมผง โดยประโยชน์ของกระเทียมผงนั้นเรียกได้ว่าสามารถทดแทนกระเทียมสดเลยก็ว่าได้ ส่วนใหญ่จะนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหาร หรือหมักเนื้อสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

กระเทียมผง

เห็นได้ว่ากระเทียมนั้น เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนานจริงๆ เรียกได้ว่าอาหารไทยเกือบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น ไม่เพียงเท่านี้ ตามที่กล่าวมา กระเทียมเองนั้นมีประโยชน์มากมายที่ดีต่อร่างกาย ดังนั้นหากใครสนใจอยากปลูกไว้เป็นแปลงเล็กๆสำหรับใช้สอยในครัวเรือนก็สามารถทำได้.

ที่มา

https://fic.ifrpd.ku.ac.th

https://www.pobpad.com

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้