ชะพลู ภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Wild Betel Leafbush หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Piper sarmentosum Roxb. หรือ Piper lolot C.DC. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE) ชะพลูเป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทย หลากหลายชื่อ ตามแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอาจมีเรียกคล้ายกัน หรือต่างกันบ้าง ตามสำเนียงการออกเสียงของท้องถิ่น เช่น ทางภาคเหนือเรียกว่า ผักปูนา, ผักพลูนก, พลูลิง, ปูลิง, ปูลิงนก ทางภาคกลาง เรียกว่า ช้าพลู ทางภาคอีสานเรียกว่า ผักแค, ผักปูลิง, ผักนางเลิด, ผักอีเลิด และ ทางภาคใต้เรียกว่า นมวา
ชะพลู และ ใบพลู
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ชะพลู กับ ใบพลู คืออันเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้คือคนละอย่างกัน โดยใบพลูนั้นใช้เคี้ยวกับหมาก ส่วนชะพลูนั้นนำมาประกอบอาหาร ใบพลูซึ่งนิยมนำมาใช้กินคู่กับหมากนั้น ไม่สามารถกลืนกินได้ เนื่องจากมีพิษบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเผ็ดมากเกินไป ส่วนชะพลูนั้นสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และชะพลูยังมีประโยชน์มากมายต่อร่างกายของเราอีกด้วย ชะพลูมีประโยชน์ทุกส่วน ตั้งแต่ ใบ ลำต้น ดอก และราก แต่ส่วนที่เรานิยมนำรับประทานกันมากก็คือส่วนใบ เมนูอาหารจากใบชะพลู เช่น แกงคั่วไก่ใบชะพลู แกงคั่วหอยขมใบชะพลู หมูห่อใบชะพลู ไข่น้ำใบชะพลู ยำตะไคร้ใบชะพลู เมี่ยงปลาเผาใบชะพลู ผัดป่าใบชะพลู แกงอ่อมใบชะพลู ยำปลาทูใบชะพลู เมี่ยงคำ เป็นต้น หรือจะทำเป็นเครื่องดื่ม เช่น น้ำใบชะพลู ก็ได้เช่นกัน
ลักษณะของใบชะพลู
คล้ายรูปหัวใจ รูปทรงคล้ายกับใบพลู แต่มีขนาดใบเล็กกว่า ใบเล็กขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ใบใหญ่จะกว้างถึง 15 เซนติเมตร ยาว 17 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 1-5 เซนติเมตร มีสีเขียวเข้มเป็นใบเดี่ยว รสชาติเผ็ดอ่อน ๆ ด้านหลังของใบชะพลูนั้นจะเคลือบด้วยสารคิวติน อยู่บนชั้นผิวเพื่อลดการคลายน้ำ ส่วนดอกจะออกบริเวณปลายยอด มีสีขาวอัดแน่นกันเป็นทรงกระบอกขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายดีปลีแต่สั้นกว่า
วิธีเพาะปลูก
ต้นชะพลู วิธีปลูกโดยปกติจะใช้วิธีปักชำ โดยการเลือกกิ่งที่มีใบอ่อน เด็ดใบแก่ออกและนำไปปักชำได้ใหม่ หรือจะใช้วิธีตัด โดยมีเทคนิคว่า เวลาตัดให้เลือกตัดตรงกิ่งที่เริ่มออกดอก แล้วให้ตัดเหนือข้อต้นไว้ 2 ข้อ หลังจากตัดแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ จะแตกใบออกมาใหม่ รอเวลาแค่เพียงหนึ่งเดือนก็ตัดไปขายได้ ชะพลู เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสืบต่อได้หลายปี ชอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ ที่ที่มีน้ำดี ดินดี จะเจริญเติบโตได้ดีมาก ใบจะโต ยอดจะอวบอ้วน เป็นพรรณไม้ที่มีต้นตั้ง บางครั้งจะพบต้นแบบเถาเลื้อย ระบบรากหากินผิวดิน ถ้าเถาเลื้อยไปพบที่เหมาะ ก็จะออกรากตามข้อ และแตกต้นขึ้น
สรรพคุณ
ใบชะพลู เรียกได้ว่า มีประโยชน์ทุกส่วน ตั้งแต่ ราก ต้น ใบ และดอก
- ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากในใบ ชะพลูนั้นมีแคลเซียมมาก
- ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการจุกเสียด
- ช่วยในการขับเสมหะ
- ช่วยยับยั้งและการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
- ช่วยในการขับถ่ายได้ดีขึ้น ลดอาการท้องผูก เนื่องจากในใบชะพลูนั้นมีเส้นใยกากอาหารอยู่มาก
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร เนื่องจากในใบชะพลูมีสารไพเพอรีน (Piperine) เป็นองค์ประกอบ เป็นแอลคาลอยด์ชนิดเดียวกับที่พบในพริกไทย ที่มีสรรพคุณเผ็ดร้อน ไปออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมรับรส ทำให้ให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมา
- ช่วยบำรุงรักษาสายตา แก้โรคตาฟาง และช่วยในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ชัดเจน ในใบชะพลูมีสารอาหารที่สำคัญอย่างเบต้าแคโรทีนสูงมาก เมื่อทานเข้าจะถูกร่างกายเปลี่ยนให้เป็นวิตามินเอ
- ช่วยในการขับเหงื่อ
- ดอกชะพลูช่วยในเรื่องของการย่อยอาหาร
- ผลของชะพลูมีสรรพคุณทางยา นำไปผสมเป็นยารักษาโรคหอบหืด และโรคบิด
- รากใบชะพลูช่วยบำรุงธาตุและบำรุงโลหิตในสตรีได้อีกด้วย
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ชะพลูสดทั้งต้นประมาณ 7 ต้น นำมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มให้เดือดสักพัก แล้วนำมาดื่มเป็นชา (ทั้งต้น)
ข้อแนะนำในการรับประทานใบชะพลู
เนื่องจากชะพลูมีแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) สูง หากเรารับประทานใบชะพลูมากเกินไป ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดการสะสมแคลเซียมออกซาเลตมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่ว หรือทำให้เกิดอาการปัสสาวะติดขัดได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานแต่พอดี หรืออาจจะรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง อย่างเช่นเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เพื่อช่วยในการนำแคลเซียมไปใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเป็นโรคนิ่ว
นอกจากนี้ ร่างกายของเราสามารถสร้างวิตามินเอขึ้นมาจากสารอาหารในใบชะพลู การรับประทานใบชะพลูคู่กับเนื้อสัตว์จะช่วยให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการไขมันมาช่วยในการดูดซึม ลำเลียงวิตามินเอไปใช้
อย่างไรก็ตาม ควรดื่มน้ำตามมากๆ หลังจากที่รับประทานใบชะพลูเข้าไป เพื่อที่ร่างกายของเราจะได้ขับออกซาเลตมากกับปัสสาวะ จะได้ไม่ตกค้างจนกลายเป็นนิ่ว
ต่อไปนี้ ทุกคนก็สามารถปลูกชะพลูไว้เพื่อรับประทานในบ้านได้อย่างง่ายดาย เพราะนอกจากจะให้ประโยชน์ในการเป็นอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณในการบรรเทาหรือรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ได้อย่างชะงัดทีเดียว.
ที่มา
https://puechkaset.com
https://www.kasetkawna.com