ใบหนาด สมุนไพรมากสรรพคุณที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายปี

ใบหนาด หรือ ต้นหนาด (Ngai Campor Tree) อีกหนึ่งพันธุ์ไม้ล้มลุกที่อยู่คู่กับคนไทยมานานนับหลายปี นอกจากจะมีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว คนโบราณยังเชื่อว่าใบหนาดนั้นมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันสิ่งไม่ดีได้อีกด้วย ต้นหนาดนั้นจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งก้านที่แผ่ออกมาจะมีเปลือกหุ้มสีน้ำตาลปนเทา ใบของหนาดใหญ่และเป็นใบเดี่ยวขึ้นเรียงสลับกันไปตามแนวกิ่งของต้น ตัวใบหนาดจะมีกลิ่นหอมฉุนที่เป็นเอกลักษณ์คล้ายกับกลิ่นของการบูร ดังนั้น บทความนี้เราจึงมุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงใบหนาด เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับพืชชนิดนี้ทั้งในเรื่องของลักษณะความเชื่อรวมถึงสรรพคุณต่าง ๆ ด้วย มาดูกันว่าจะมีเนื้อหาน่าสนใจอะไรมาฝากบ้าง

ใบหนาด
www.arit.kpru.ac.th

ข้อมูลเกี่ยวกับใบหนาด

ชื่อภาษาไทย: หนาด หรือ ต้นหนาด

ชื่อท้องถิ่น: หนาดใหญ่, คำพอง (เหนือ) ผักชีช้าง พิมเสน (กลาง) ใบหรม (ใต้)

ชื่อภาษอังกฤษ: Ngai Campor Tree, Camphor Tree 

ชื่อวิทยาศาสตร์: Blumea balsamifera (L.) DC

ชื่อวงศ์: Asteraceae

ความเป็นมาของต้นหนาดหรือใบหนาด

สำหรับความเป็นมาของต้นหนาดหรือใบหนาดใหญ่นั้นเป็นสมุนไพรที่คนสมัยก่อนนิยมปลูกมาก ๆ เป็นไม้กลางแจ้งที่สามารถพบได้มากตามทุ่งนาหรือพื้นที่รกร้างทั่วประเทศไทย แต่เดิมทีหนาดใหญ่สามารถพบได้ในแถบประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ของไทย ทำให้แทบทุกพื้นที่รู้จักต้นไม้ชนิดนี้ นักวิจัยพันธุ์พืชหลายคนได้ค้นพบสรรพคุณของใบหนาดที่สามารถนำมาสกัดเป็นยาหรือใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ดังนั้น ต้นหนาดจึงมีประโยชน์มากในทางการแพทย์

เกร็ดความรู้เรื่องการใช้ใบหนาด

อย่างที่ได้บอกไปว่าใบหนาดนั้นมีสรรพคุณทางยาที่เยอะมาก ๆ และมีอยู่เกือบทุกพื้นที่ของไทย แต่การนำไปใช้ประโยชน์ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามแขนงและพื้นถิ่น โดยจากการศึกษาผ่านเว็บไซต์ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีการกล่าวไว้ว่า หากนำต้นหนาดมาใช้ตามตำรับยาพื้นบ้านทั่วไป มักนิยมใช้ใบบดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสนและการบูร ม้วนด้วยใบตองแห้งสูบ รักษาโรคหืด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม 

ถ้าเป็นตำรับยาพื้นบ้านเฉพาะถิ่นอย่างจังหวัดอุบลราชธานี หรือนครราชสีมาก็จะใช้ส่วนลำต้นและใบ เข้ายากับใบเปล้าใหญ่และใบมะขาม ต้มน้ำอาบ แก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โรคเรื้อนหรือตำใบให้ละเอียดผสมกับด่างทับทิมและน้ำมาแปะที่แผล ส่วนในตำรับยาแพทย์แผนจีน จะใช้ใบหนาดช่วยเรื่อง ขับลม ขับพยาธิและทำให้แท้ง ถ้าหากเป็นตำรับยาแพทย์แผนไทย ก็จะใช้วิธีการนำใบหนาดไปอบแห้งหรือนำไปต้มดื่ม เพื่อกระตุ้นสรรพคุณด้านการบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการวิงเวียนศีรษะและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต บำรุงผิวพรรณ

ความเชื่อเกี่ยวกับใบหนาด

หากย้อนกลับไปหลายร้อยปีแล้วนั้น ความเชื่อเกี่ยวกับใบหนาดที่อยู่คู่คนไทยเสมอมานั่นก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับการป้องกันภูติผีปีศาจร้าย โดยคนสมัยก่อนนิยมเด็ดเอาใบหนาดสดจำนวน 1-2 ใบมาพกติดตัวไว้เสมอ เวลาออกเดินทางไปต่างถิ่น ซึ่งหากใครพกใบหนาดไว้กับตัวนั้น จะทำให้ภูตผีปีศาจไม่กล้าเข้ามาหลอกหลอน ดังนั้นจากความเชื่อนี้จึงส่งผลให้คนไทยสมัยก่อนนั้นนิยมปลูกต้นหนาดไว้ในบริเวณของบ้านกันเกือบทุกครัวเรือน ในปัจจุบันนั้นความเชื่อเกี่ยวกับใบหนาดว่าสามารถป้องกันภูติผีได้นั้นยังคงอยู่ให้เห็นได้ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้มักจะนำเอาใบหนาดมาใช้แทนที่ปะพรมน้ำมนต์ร่วมกับกิ่งพุทรา เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป

ใบหนาด
ใบหนาด

ลักษณะทั่วไปของต้นใบหนาด

ลำต้น: มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูงตั้งแต่ 0.50 – 4 เมตร ตัวเนื้อไม้ของลำต้นนั้นเป็นแก่นแข็ง ผิวของลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา

ใบ: ใบหนาดนั้นเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของที่สำคัญของใบหนาดคือ ตัวใบหนาดจะมีรูปทรงเป็นรูปเรียวรี ขอบของใบหยักจะมีลักษณะคล้ายกับซี่ฟันหรือฟันเลื่อน ส่วนปลายและโคนของใบนั้นจะแหลม พื้นผิวของใบทั้งสองด้านจะถูกปกคลุมไปด้วยขนละเอียดอย่างหนาแน่นราวกับเส้นไหม ขนาดของใบหนาดจะมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-20 เซนติเมตร

ดอก: ออกดอกเป็นช่อกระจุกรวมตัวกันเป็นแน่นหนา ดอกมีรูปทรงกระบอก กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน

เมล็ด: ผลแห้ง มีสีน้ำตาล และลักษณะโค้งงอเล็กน้อย

การขยายพันธุ์ของใบหนาด

เดิมทีการขยายพันธุ์ของนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ผ่านการอาศัยของลมพัดให้ผลของหนาดใหญ่ไปตกตามที่ต่าง ๆ และเกิดเป็นต้นออกมา แต่ในปัจจุบันนั้นผู้คนเริ่มหันมาขยายพันธุ์ผ่านการหว่านเมล็ดแทน เนื่องจากการปลูกต้นหนาดนั้นไม่ใช่สมุนไพรที่ปลูกยาก เพียงมองหาพื้นที่ดี ๆ เก็บเมล็ดจากต้นมาตากแห้งเพียงเล็กน้อยแล้วหว่านก็เกิดได้ง่าย ปลูกได้ทีละหลาย ๆ ต้นและยังได้ต้นหนาดที่แข็งแรงพร้อมใช้งานอีกด้วย

ใบหนาด

การปลูกและการดูแลต้นใบหนาด

แสง

ต้นใบหนาดนี้ถือได้ว่าเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดมาก ๆ ไม่ควรปลูกในที่ร่ม ควรปลูกลงดินในที่กลางแจ้งให้ถูกแสงแดดทั่วทั้งลำต้น เพื่อให้แตกใบออกมามาก ๆ และมีสีเขียวสดจึงจะเป็นต้นที่สมบูรณ์

น้ำ

ต้นหนาดสามารถทนแล้งได้ดี แต่หากเราต้องการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตของใบหนาดที่ดี การรดน้ำวันละ 1 ครั้งก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำในการดูแลต้นใบหนาดนี้เช่นกัน

ดิน

การปลูกต้นใบหนาดดินที่ปลูกได้ก็คือดินร่วนซุยธรรมดา ดินที่ปนทรายมาเล็กน้อย แต่จะปลูกไม่ขึ้นในดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ อาทิ ดินแดงหรือดินดอน

ปุ๋ย

หากต้องการบำรุงให้ต้นใบหนาดเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงหรือโตได้เร็ว การใส่ปุ๋ยคอก 2 – 3 เดือนครั้งก็เพียงพอต่อการบำรุงหน้าดินแล้ว ไม่จำเป็นต้องหาสารเคมีอะไรมากระตุ้นอีก

ใบหนาด
www.thaicrudedrug.com

ประโยชน์และสรรพคุณของต้นใบหนาด

ในตำรายาไทยและยาพื้นบ้านนั้น ได้มีการบันทึกสรรพคุณของใบหนาดไว้มากมาย และเรียกได้ว่าใบหนาดนั้นเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งใบหนาดนั้นมีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเมาร้อน สามารถแก้อาการผิดปกติของร่างกายได้

  1. บรรเทาอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อได้ โดยมักนำเอาใบหนาดนั้นไปต้มเพื่อเป็นยาบำรุงรักษาอาการ
  2. ใบหนาดสามารถนำมาทำเป็นยาบำรุงธาตุซึ่งเป็นยาที่ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น
  3. สามารถบำรุงหญิงสาวหลังจากคลอดลูก ซึ่งจะนำเอาใบหนาดนั้นไปผสมกับยาต้มให้กับหญิงสาวใช้อาบเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  4. ใบหนาดและยอดอ่อนของต้นหนาดสามารถช่วยขับพยาธิ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ออกจากร่างกายได้ ซึ่งบางครั้งนิยมนำเอาใบหนาดสดมาผสมกับตะไคร้ เพื่อช่วยในการขับเหงื่อออกมาดียิ่งขึ้น
  5. ใบหนาดสดหากนำเอามาหั่นให้เป็นฝอยละเอียดเหมือนยาเส้น ตากแดดให้ใบหนาดพอหมาด แล้วนำมามวนกับยาฉุนเพื่อใช้สูบ สามารถแก้ริดสีดวง บรรเทาแผลฟกช้ำ รวมไปถึงฝีในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  6. นำเอารากสดของต้นหนาดมาผสมกับใบหนาดแล้วต้มกินเพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง
  7. หากมีอาการเลือดกำเดาไหล สามารถนำเอาใบหนาดมาขยี้ให้ละเอียดและยัดเข้าไปในจมูกเพื่อช่วยห้ามและบรรเทาอาการเลือดกำดำไหล
  8. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ โดยนำเอาใบหนาดสดมารับประทานครั้งละ 1-2 ใบ
  9. หากนำเอาใบหนาดและยอดอ่อนมาสกัดด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหย ที่หอมเย็นสดชื่น ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะได้
  10. ใช้ใบหนาดร่วมกับใบกระท่อม ใบเพกา และใบยอ เพื่อรักษาอาการม้ามโต
  11. หากนำใบหนาดมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับสุรา ใช้พอกหรือทาเพื่อรรักษาแผลสดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้
เกร็ดความรู้เรื่องใบหนาด
อย่างที่ทราบกันดีว่าใบหนาดเป็นส่วนที่ถูกนำมาใช้ในการปรุงยามากที่สุด นั่นก็เพราะว่าจากการวิจัยในส่วนใบของหนาดนั้นจะมีการสารประกอบอยู่ตัวหนึ่ง คือ cryptomeridion ซึ่งต้องเรียกได้ว่าเป็นสารที่ครอบคลุมจักรวาลมาก เพราะมีส่วนช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ทั่วทั้งร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลอดลม ช่วยอีกทั้งช่วยลดอาการบวมได้ จึงไม่แปลกใจที่ในทางเภสัชศาสตร์ใบหนาดถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการทำยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาลดอาการปวดบวมต่าง ๆ นั่นเอง

แหล่งอ้างอิง

ตำรับยาจากใบหนาด, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Blumea balsamifera, Wikipedia


แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้