เพลี้ยจักจั่น เป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่เข้าทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ตาดอก และดอก ส่งผลให้ใบหรือยอดอ่อนเกิดการหงิกงอ หรือม้วนขึ้นด้านบน มีลักษณะเป็นคลื่น สีขาวซีด หากเข้าทำลายในระยะที่พืชออกดอกจะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล และถ้าหากทำลายในระยะติดผลจะทำให้ผลมีรูปทรงที่บิดงอผิดปกติ และอาจมีการเปลี่ยนสี หรือถ้าเกิดการระบาดรุนแรงจะส่งผลให้พืชชนิดนั้นชะงักการเจริญเติบโตและแห้งตายในที่สุด
เพลี้ยจักจั่น คืออะไร
เพลี้ยจักจั่น คือหนึ่งในชนิดของเพลี้ยเป็นแมลงจำพวกปากดูด โดยไข่จะมีขนาด 0.7-0.9 × 0.15-0.2 มิลลิเมตร มีลักษณะงอโค้ง สีเขียวฝังลึก อาศัยอยู่ตรงกึ่งกลางของใบหรือเส้นใบ ซึ่งจะอาศัยอยู่ทั้งสองด้านของใบ หรือวางไข่ในลำต้นและต้นอ่อน ในส่วนของตัวอ่อนจะมีรูปร่างเหมือนกบ ลักษณะตัวแบน สีเขียวอมเหลืองจาง มีความยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ในระยะแรกจะมีความยาวถึง 2 มิลลิเมตร ส่วนในระยะที่ 5 และระยะสุดท้ายตัวอ่อนจะเคลื่อนไหวได้เร็ว ลักษณะการเดินเหมือนกับปู โดยจะเดินไปด้านข้างอาศัยดูดกินอยู่เฉพาะด้านล่างของใบในตอนกลางวัน ซึ่งมักจะอยู่ตามซอกของเส้นใบ และสำหรับตัวแก่จะมีรูปร่างเล็ก รูปยาวรี มีความยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ตัวสีเขียวจางค่อนข้างใส ปีกโปร่งใส ลักษณะเด่น มีจุดสีดำอยู่กึ่งกลางปีกข้างละจุด เดินด้วยข้างเช่นเดียวกับตัวอ่อน แต่สามารถกระโดดและบินได้เร็วมากเมื่อถูกรบกวน และสำหรับชีพจักรของเพลี้ยจักจั่น ระยะไข่จะอยู่ในช่วง 6-10 วัน ส่วนตัวอ่อน 21-28 วัน ตัวแก่อาจมีชีวิตจริงอยู่ถึง 60 วัน ซึ่งในหนึ่งปีสามารถขยายพันธุ์ได้ 11 ชั่วอายุ และตัวเมียจะวางไข่ได้ถึง 30 ฟอง เพลี้ยจักจั่นชนิดที่พบส่วนมาก ได้แก่ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาล และเพลี้ยจักจั่นหลังขาว
เพลี้ยจักจั่นทุเรียน หรือเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน (Durian leafhopper)
เพลี้ยจักจั่นทุเรียน มีลักษณะคล้ายกับเพลี้ยจักจั่นฝอยมะม่วงมาก แต่จะมีสีที่อ่อนกว่า โดยมีสีเหลืองอมเขียว ในส่วนพื้นสีของหัว pronotum และ scutellum มีสีน้ำตาลอมเขียว เมื่อเกาะตามใต้ใบทุเรียนสีของมันจะกลมกลืนกับใบอย่างมาก ส่วนบริเวณใกล้ขอบหน้าผากมีจุดดำ 2 จุด และมีเส้นสีเขียวอ่อนวนรอบ บริเวณขอบด้านหน้าของ pronotum จะมีจุดสีเขียวเรียงเป็นระยะ และด้านข้างมีจุดสีดำกลุ่มเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยสีเขียว มีแถบสีขาวทอดตามยาวตรงกลาง scutellum มีจุดสีเป็นกลุ่มอยู่ตรงกลางปีกใสสีเขียวอ่อนที่ใกล้ปลายปีกก่อนถึงเซลล์ มีจุดสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ 1 กลุ่ม ซึ่งจะไม่มีสีแดงเหมือนเพลี้ยจักจั่นฝอยมะม่วง โดยจะพบว่าตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนทุเรียน เนื่องจากเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนมีปากแบบเจาะดูด ส่งผลให้การดูดกินน้ำเลี้ยงในเซลล์พืชจะไม่ทำให้เซลล์พืชแตก แต่จะใช้น้ำลายที่มีสารพิษไปย่อยผนังเซลล์ให้บางลง เพื่อให้ธาตุอาหารที่เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนต้องการภายในเซลล์พืชซึมผ่านผนังเซลล์ออกมา ส่งผลให้ขอบใบอ่อนทุเรียนมีอาการม้วนงอ ขอบใบมีลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และในระยะต่อมาจะพบว่าขอบใบมีอาการม้วนงอและไหม้ ซึ่งเรียกว่า “Hopper burn” หากพบอาการระบาดรุนแรงสามารถทำให้ใบอ่อนและยอดอ่อนเกิดอาการไหม้รุนแรงทั้งต้นได้ และสำหรับวิธีป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียน มีอยู่ดังนี้
1.หมั่นสำรวจในระยะที่ใบอ่อน หากพบเพลี้ยจักจั่นฝอยในทุเรียนปริมาณน้อยให้ตัดส่วนที่ถูกทำลายออกและนำไปเผาทิ้ง
2.ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือเชื้อราเมธาไรเซียม ฉีดพ่นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ฉีดทั้ง 2 ชนิดหรือสลับกัน แนะนำให้ฉีดในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัดและควรงดเว้นการฉีดพ่นสารกำจัดโรคพืชหลังการพ่นเชื้อราทั้ง 2 ชนิด อย่างน้อย 5-7 วัน
3.เมื่อพบเพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนระบาด ให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ โปรโตคอพ (ไทอะมีทอกแซม 25% WG) อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมกับบัคคลิน (แลมบ์ดา ไซฮาโลทริน 2.5% W/V EC) อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับการใช้สารที่ออกฤทธิ์ดูดซึม เช่น สารกลุ่ม 4A ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 20-40 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยฟิกเซอร์ 408 ซึ่งจะช่วยให้ยาแพร่กระจายและแทรกซึมได้มากขึ้น อัตรา 2-4 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เนื่องจากจะทำให้เพลี้ยจักจั่นฝอยทุเรียนดื้อยาได้
เพลี้ยจักจั่นมะม่วง (Mango leafhopper)
มักจะมีการระบาดในระยะที่มะม่วงออกดอกและติดผลอ่อน ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ของแมลงชนิดนี้คือช่อดอกมะม่วง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยจักจั่นมะม่วงจะทำลายในส่วนของใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน แต่ระยะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมากที่สุดคือระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยเพลี้ยจักจั่นมะม่วงจะทำลายช่อดอกมะม่วง และดูดกินน้ำเลี้ยงช่อดอกมะม่วงจนส่งผลให้ดอกมะม่วงขาดน้ำเลี้ยง จึงไม่สามารถเจริญต่อไปเป็นผลมะม่วงได้ และดอกก็จะร่วงหล่นในที่สุด ในขณะเดียวกันนั้นเพลี้ยจักจั่นก็จะขับถ่ายออกมาเป็นของเหลวที่มีรสหวาน ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อราดำ ทำให้ราดำเจริญได้ดีตามช่อดอกมะม่วง โดยจะสังเกตเห็นได้จากช่อดอกมะม่วงเป็นสีดำ และถ้าหากมีหมอกลงจัดก็จะมีละอองน้ำในอากาศอยู่มากและมีความชื้นสูง ส่งผลให้เชื้อราดำเจริญได้ดีและระบาดอย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่นมะม่วง มีอยู่ดังนี้
- ใช้น้ำฉีดล้างช่อดอกและใบมะม่วง เพื่อแก้ปัญหาช่อดอกและใบจากราดำให้บรรเทาลง หากแรงอัดฉีดของน้ำมากพอก็จะช่วยให้เพลี้ยที่อยู่ในระยะตัวอ่อนกระเด็นออกจากช่อดอกได้ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดการกระแทกกับดอกมะม่วงแรงเกินไป เพราะจะทำให้ดอกหรือผลที่เริ่มติดร่วงลงได้
- ในช่วงที่ดอกมะม่วงยังไม่บานให้ใช้กาวเหนียวสำหรับดักแมลงมาทาขวดน้ำพลาสติกหรือแผ่นพลาสติกสีเหลือง หรือลูกเหม็นใส่ถุงตาข่าย จากนั้นนำไปแขวนบริเวณใต้ทรงพุ่มหลาย ๆ จุด เพื่อดักและไล่เพลี้ยจักจั่น แต่ถ้าอยู่ในช่วงดอกบานไม่ควรใช้ลูกเหม็น เนื่องจากกลิ่นของลูกเหม็นจะทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสรไม่กล้าเข้ามาผสมเกสร
- แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่น ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน แมลงวันตาโต แตนเบียน สำหรับตัวห้ำ ได้แก่ มวนตาโต กิ้งก่า และตุ๊กแก ถ้าหากมีสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยป้องกันเพลี้ยจักจั่นได้
- ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย กรณีเป็นเชื้อสดใช้ปริมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร ผสมสารจับใบ (กรองเอาเฉพาะน้ำ) หรือในกรณีเชื้อผงสำเร็จรูปให้ใช้ 50-100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เติมสารจับใบแล้วฉีดพ่นทุก 7-10 วัน หรือขึ้นอยู่กับการระบาด
- ฉีดพ่นสารเคมี ได้แก่ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์บา-ริล 85% ดับเบิลยูพี อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ก่อนมะม่วงออกดอก 1 ครั้ง เมื่อช่อดอกบานแล้วไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสรได้
เพลี้ยจักจั่นสีเขียวในมะเขือ (Green leafhopper in eggplant)
เป็นแมลงจำพวกปากดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบมะเขือ โดยใบที่ถูกทำลายจะกลายเป็นสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจากขอบใบ และม้วนงอ ส่งผลให้มะเขือชะงักการเจริญเติบโต และถ้ามีอาการระบาดรุนแรงก็อาจทำให้ต้นมะเขือเหี่ยวตายได้ ซึ่งจะมีการระบาดมากในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม โดยเพลี้ยจักจั่นสีเขียวจำพวกปากดูดที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus ในช่วงที่แมลง 2 ชนิดนี้โตเต็มวัยจะมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ในส่วนของขนาดลำตัวนั้นจะมีความยาวไม่ต่างกัน แต่แตกต่างกันที่ Nephotettix nigropictus จะมีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ Nephotettix virescens จะไม่มี หากอยู่ในช่วงตัวเต็มวัยจะไม่มีชนิดปีกสั้น ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน ซึ่งสามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร เพศเมียจะวางไข่ในกาบใบข้าวเป็นกลุ่มจำนวน 8-16 ฟอง ไข่ที่ถูกวางใหม่ ๆ จะมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ระยะวางไข่อยู่ในช่วง 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ซึ่งจะมี 5 ระยะ ระยะของตัวอ่อนอยู่ในช่วง 14-15 วัน และระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน สำหรับวิธีป้องกันและรักษาเพลี้ยจักจั่นสีเขียว มีอยู่ดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการปลูกต้นมะเขือ หากในพื้นที่ใดมีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวระบาดเป็นประจำ
- ในช่วงก่อนต้นมะเขือจะออกดอก หมั่นสำรวจลักษณะการทำลายหรือสำรวจปริมาณเพลี้ย 10 จุดต่อแปลงอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้พืชสมุนไพร น้ำมันตะไคร้หอม 480 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กลั่นแล้วนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ฉีดพ่น หรือรากโล่ติ๊นสดทุบละเอียด 1 กิโลกรัม แช่ในน้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง คนเป็นครั้งคราว จากนั้นกรองน้ำสีขาวขุ่น ใช้พ่นในแปลงทุก 7 วัน เมื่อพบการระบาด แต่ถ้าหากอยู่ใกล้กับบริเวณบ่อเลี้ยงปลาควรหลีกเลี่ยงการใช้โล่ติ๊น เพราะจะเป็นพิษต่อปลา
เพลี้ยจักจั่นสีเขียวในต้นข้าว (Rice green leafhopper)
เป็นแมลงจำพวกปากดูด ซึ่งมักจะพบแมลงชนิดนี้ทำลายต้นข้าว โดยเพลี้ยจักจั่นสีเขียวที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยนั้นจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus ตัวเต็มวัยของแมลงทั้ง 2 ชนิดนี้มีสีเขียวอ่อนและอาจมีแต้มดำบนหัวหรือปีก ในส่วนของขนาดลำตัวนั้นจะมีความยาวไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันที่ Nephotettix nigropictus จะมีขีดดำพาดตามความยาวของขอบหน้าผากระหว่างตาทั้ง 2 ข้าง แต่ Nephotettix virescens จะไม่มี หากเป็นตัวเต็มวัยจะไม่มีชนิดปีกสั้น สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน และสามารถบินได้เป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร ในส่วนของเพศเมียนั้นจะวางไข่เป็นกลุ่มในกาบใบข้าว กลุ่มละ 8-16 ฟอง ไข่วางใหม่ ๆ มีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและมีจุดสีแดง ระยะไข่นาน 5-8 วัน ตัวอ่อนมีสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนจะมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อนนาน 14-15 วัน และระยะตัวเต็มวัยประมาณ 10 วัน สำหรับการทำลายนั้นจะพบว่าเพลี้ยจักจั่นสีเขียวจะอพยพเข้าแปลงนาตั้งแต่ระยะต้นกล้า และเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระยะข้าวแตกกอ โดยปรกตินั้นจะอาศัยอยู่ส่วนบนของต้นข้าวในตอนเช้า ต่อมาจะย้ายลงมาด้านล่างของต้นข้าวในตอนบ่าย โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากข้าว ส่งผลให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตหรือหากมีอาการรุนแรงก็จะแห้งตาย นอกจากนี้ยังพบว่าเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงพาหะนำโรคใบสีส้มมาสู่ข้าวอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น ใบเหลือง ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอ และเมล็ดลีบ มักจะพบการระบาดในฤดูฝนที่สภาพต้นข้าวมีการเจริญที่ดีและเหมาะต่อการขยายพันธุ์ และวิธีป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียว มีอยู่ดังนี้
- หากในพื้นที่ใดมีการระบาดเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นประจำ ไม่ควรปลูก 2 ฤดูต่อปี
- สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าว แนะนำให้เลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียวได้ เช่น กข4, กข9, กข21, กข23, สุพรรณบุรี 60, สุพรรณบุรี 90 และพิษณุโลก 2
- กำจัดตัวเต็มวัยโดยการใช้สวิงโฉบตั้งแต่ระยะแตกกอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาล และเพลี้ยจักจั่นหลังขาว
แมลงทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นแมลงพาหะที่พบว่าสามารถถ่ายทอดเชื้อไฟโตพลาสมาที่เป็นสาเหตุของโรคใบขาว ซึ่งเพลี้ยทั้ง 2 ชนิดนี้จะทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงเป็นหลักเพื่อการเจริญเติบโต จากนั้นจะทำการวางไข่ไว้ในดิน โดยจะชอบวางไข่ในดินทรายหรือดินร่วนทรายมากกว่าดินชนิดอื่น ๆ ทำให้มีการระบาดมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็พบว่ามีการระบาดของโรคใบขาวมากที่สุดด้วย จึงยืนยันได้ว่าแมลงพาหะทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคใบขาวอ้อย เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาลจะมีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้มากในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนเพลี้ยจักจั่นหลังขาวจะมีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้มาก ในระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน และสำหรับวิธีป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่น 2 ชนิดดังกล่าวที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคใบขาวในอ้อย มีอยู่ดังนี้
1.หากพบอ้อยแสดงอาการใบขาวแม้เพียงหน่อเดียวในหนึ่งกอ ให้ทำการขุดและนำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลง หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเสท) ให้ตายไปทั้งกอ
2.ไม่ปล่อยกออ้อยที่เป็นโรคใบขาวไว้ในแปลง เพราะจะเกิดความเสี่ยงที่เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาลและเพลี้ยจักจั่นหลังขาวมาดูดกินน้ำเลี้ยง และอาจถ่ายทอดเชื้อโรคใบขาวไปยังกออ้อยอื่น ๆ ได้
3.หากพบว่ามีการระบาดมากในระดับเสียหาย โดยมีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคสูงกว่า 30% ให้รื้ออ้อย เพราะมันจะไม่คุ้มค่ากับการบำรุงรักษาต่อไป อาจหว่านพืชปุ๋ยสดเพื่อบำรุงดิน หรือสลับไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น อาทิ ข้าวไร่ ข้าวโพด เป็นต้น ก่อนจะจัดหาพันธุ์อ้อยปลอดโรคจากแหล่งอื่นมาปลูกในฤดูถัดไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม
4.หากจะปลูกอ้อยก็ควรเลือกใช้ท่อนพันธุ์อ้อยจากแปลงอ้อยที่เชื่อถือได้ หรือมีการตรวจรับรองแปลงพันธุ์อ้อยว่าไม่มีเชื้อสาเหตุโรคใบขาวแฝงอยู่
5.จัดทำแปลงอ้อยไว้สำหรับเป็นท่อนพันธุ์โดยเฉพาะที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคใบขาวอ้อยได้ ด้วยเทคนิคการจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยปลอดโรค
ลักษณะการทำลาย
ศูนย์วิจัย SV (บริษัท เอส.วี.วินเนอร์ จำกัด) กล่าวว่าการทำลายของเพลี้ยจักจั่น ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของเพลี้ยจักจั่นจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อนของพืชชนิดนั้น ๆ และทำการปล่อยสารที่มีพิษเข้าไป ส่งผลให้ขอบใบแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือจนกระทั่งเป็นสีแดงและงอลง ต่อมาใบจะเหี่ยวและร่วง ถ้าเกิดการระบาดในระยะที่พืชใกล้จะติดผล จะส่งผลให้ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย และถ้าเกิดว่าเพลี้ยระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นกล้าตายได้ ซึ่งความเสียหายที่รุนแรงจะอยู่ในระยะที่ต้นไม้กำลังออกผล จนมีอายุประมาณ 40 วัน
การแพร่ระบาด
Arda กล่าวว่าเพลี้ยจักจั่นเป็นหนึ่งในแมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลายพืชผลโดยตรง และยังเป็นพาหะนำโรคและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ มาสู่ต้นพืชอีกด้วย โดยจะพบการระบาดในเขตเกษตรกรรมภายในทวีปเอเชียมาช้านาน เนื่องจากแมลงชนิดนี้สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แดดแรง และระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน กระแสลมเป็นปัจจัยช่วยให้เพลี้ยจักจั่นแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พืชที่ให้ผลผลิตในช่วงฤดูแล้งได้รับความเสียหาย ซึ่งพืชเหล่านั้นมักจะโดนเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลาย จนส่งผลกระทบต่อผลผลิตอย่างมาก นอกจากนี้เพลี้ยจักจั่นยังมีประสิทธิภาพและบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดเชื้อไฟโตพลาสมา ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อโรคได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย และจากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูกและรุ่นต่อ ๆ ไปผ่านทางไข่ได้
Honboon-song ได้กล่าวว่าพฤติกรรมการเคลื่อนที่และดูดกินแมลงพาหะนั้นมีผลโดยตรงต่อการแพร่ระบาดโรคใบขาวในต้นอ้อย โดยเพลี้ยจักจั่นปีกลายจุดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยสามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทางเฉลี่ย 8 เมตรต่อวัน และสามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทางเฉลี่ย 162 เมตร ภายใน 20 วัน ทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อที่เป็นสาเหตุโรคไปได้ไกล ส่วนพาหะแมลงตัวอ่อนก็สามารถถ่ายทอดเชื้อสาเหตุโรคได้เช่นกัน
การป้องกันและกำจัด
1.หมั่นสำรวจแปลงปลูกพืชอยู่สม่ำเสมอ หากพบเจอไข่ หรือตัวเพลี้ยจักจั่นให้เก็บไปเผาทิ้ง
2.ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยจักจั่น
3.ไม่ควรปลูกพืชติดต่อกัน ควรมีการพักดินเพื่อทำลายไข่หรือตัวเพลี้ยจักจั่นที่อาศัยอยู่ในดิน
4.เลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสม โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตัวห้ำและตัวเบียน เพราะแมลงชนิดนี้เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่น ซึ่งจะช่วยกำจัดเพลี้ยจักจั่นได้เป็นอย่างดี
5.ใช้เชื้อรากำจัดแมลง เช่น เชื้อบิวเวอร์เรีย ฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่น รวมถึงเพลี้ยศัตรูพืชอื่น ๆ ด้วย
แหล่งที่มา
สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว, เพลี้ยจักจั่นสีเขียว
ความหลากหลายของแมลงศัตรูข้าวและศัตรูธรรมชาติในนาข้าวพื้นเมือง