เพลี้ยไฟ แมลงที่สร้างความเสียหายในหน้าแล้งและวิธีป้องกันกำจัด

เพลี้ยไฟ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Thrips หรือ Thysanoptera  เป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็กชนิดหนึ่ง  ที่สร้างทั้งคุณ และโทษให้กับพืชพรรณธรรมชาติ  ในด้านประโยชน์เพลี้ยไฟทำหน้าที่ผสมเกสรให้กับพืช และทำลายตัวห้ำบางชนิด ขณะเดียวกันเพลี้ยไฟก็มีโทษมหาศาลเช่นเดียวกัน  เพราะใน 1  ปีแมลงตัวเล็กชนิดนี้สร้างความเสียหายให้กับพืชพรรณของเกษตรกรมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น  ไม้ดอก ไม้ประดับ ผักสวนครัว หรือว่าไม้ผล อีกทั้งยังเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปสู่พืชชนิดอื่นอีกด้วย 

เพลี้ยไฟ คืออะไร

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงจำพวกปากดูด จัดอยู่ในวงศ์ Thysanoptera มีขนาดเล็ก ลำตัวมักมีสีเข้ม เหลือง น้ำตาล หรือดำยาวประมาณ 0.5 – 8.5 มิลลิเมตร ส่วนหัวของเพลี้ยไฟคล้ายกับกรวย ปลายส่วนท้องเรียวแคบ  มีปากแบบเขี่ยดูด แต่ไม่มีกรามข้างขวา หรือเสื่อม ทำให้ส่วนปากของเพลี้ยไม่สมมาตร ตารวมมีขนาดเล็ก หากตัวไหนมีปีกจะมีตาเดี่ยวเพิ่มมาอีก 3 ตา หนวดมีลักษณะเป็นเส้นสั้น ๆ 6 – 10 ปล้อง เพลี้ยไฟถือเป็นแมลงที่บินไม่เก่ง แต่อาศัยกระแสลมช่วยในการพัดพาไปยังที่ต่าง ๆ

ษศิวรรณ เรื่อศรีจันทร ได้กล่าวไว้ใน “ข่าวพยากรณ์และเตือนภัยการระบาดศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด” ว่า แมลงจำพวกปากดูดอย่างเพลี้ยไฟนั้น สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการผสมพันธุ์ และไม่ผสมพันธุ์ โดยตัวเมียมีอายุประมาณ 15 วัน เมื่อได้รับการผสมพันธุ์จะออกไข่ได้ประมาณ 40 ฟอง ส่วนตัวเมียที่ไม่ผสมพันธุ์ออกไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง วงจรชีวิตของเพลี้ยไฟจากไข่ ถึงตัวเต็มวัยมีระยะประมาณ 15 – 20 วัน ถือว่าเป็นวงจรชีวิตที่สั้นมาก

วงโคจรชีวิตของเพลี้ยไฟมี 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยมักจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ สีขาวใสไปทางเหลือง คล้ายเมล็ดถั่ว ทำร่องใต้ผิวใบ แล้วสอดไข่ไว้ใต้เนื้อเยื่อพืช  ขณะที่ตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะมี 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก ตัวอ่อนระยะแรกลำตัวมีขาวใส ผอมเรียวเล็ก ยาวประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ปลายท้องแปลม หนวดมี 7 ปล้อง เคลื่อนไหวตลอดเวลา และสามารถเข้าทำลายพืชได้ทันที
  • ระยะที่ 2 ลำตัวสีเหลืองเข้ม ยาวประมาณ 0.3-0.4 มิลลิเมตร ปลายท้องไม่ค่อยแหลมเหมือนระยะแรก แต่เคลื่อนไหวรวดเร็ว และว่องไว
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ลำตัวมีสีเข้มไปถึงดำ ยาวประมาณ 0.5 – 0.7 มิลลิเมตร ตารวมสีเทาปนดำ ตาเดี่ยวมีสีแดง ตุ่มปีกบริเวณอกปล้องที่ 2 และ 3 เริ่มเจริญเติบโต เคลื่อนไหวช้าลง เพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้

สามารถพบตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟได้ตามใต้ใบบริเวณยอดอ่อนของพืช และในดอกที่บานแล้ว  โดยจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากินอยู่กับที่บริเวณฐานดอก และขั้วผลอ่อน ไม่ชอบเคลื่อนย้ายตัว แต่เมื่อมีการกระทบกระเทือนจะเคลื่อนไหวรวดเร็ว  

เพลี้ยไฟ ลักษณะ
https://www.kasetkawna.com

ลักษณะการเข้าทำลาย

การเข้าทำลายพืชของเพลี้ยไฟนั้นจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือเพลี้ยไฟเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงของยอดอ่อน ผล และดอก ส่งผลให้ใบพืชแห้ง  ดอกร่วง ผลบิดงอ ไม่ได้คุณภาพ ตัวอย่างพืชที่เพลี้ยไฟเข้าทำลาย มีดังนี้

เพลี้ยไฟข้าว (Rice Thrips)

เพลี้ยไฟข้าวมักจะเข้าทำลายต้นข้าวในระยะกล้า หรือประมาณ 7-20 วันหลังหว่าน และปักดำ โดยเฉพาะในอากาศแห้งแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกัน โดยเพลี้ยไฟตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงต้นข้าวระยะกล้า หรือข้าวอายุ 7 – 10 วันหลังหว่าน ใบข้าวที่ถูกทำลายจะเหลือง ปลายใบแห้งเหี่ยว และม้วนขอบใบเข้าหากลางใบ ตัวเพลี้ยจะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น และจะทำลายรุนแรงมากขึ้นหากต้นข้าวขาดน้ำ อาจทำให้ต้นข้าวแคระแกร็น แห้งตายได้ทั้งแปลง แต่ต้นข้าวที่ถูกทำลายในระยะแรก อาจฟื้นตัว และมีชีวิตรอดได้หากมีการให้น้ำในปริมาณที่พอดี

เพลี้ยไฟข้าว
https://kasetgo.com

เพลี้ยไฟมังคุด

ศิริณี พูนไชยศรี ผู้เขียน “ชนิดของเพลี้ยไฟที่พบในผลไม้”  ในเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการไว้ว่า… เพลี้ยไฟที่เข้าทำลายมังคุดในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ Scirtothrips dorsalis Hood และ S. oligochaetus Karny  โดยตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อน เข้าทำลายใต้ใบใกล้กับเส้นกลางใบ ทำให้ยอดใบแห้ง หงิกงอ ต้นแคราะแกร็น ผลเป็นขี้กลาก หรือผิวลาย มียางไหล ใบ และผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน หากระบาดรุนแรงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ไปจนถึงสีน้ำตาล และผลร่วงในที่สุด  ทำให้ผลผลิตขายได้ในราคาต่ำ เกษตรกรต้องฉีดสารพ้นฆ่าแมลงอยู่เป็นประจำ

เพลี้ยไฟมังคุด
https://www.svgroup.co.th

เพลี้ยไฟมะละกอ (Papaya Thrips)

ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในมะละกอ ค่อนข้างคล้ายกับพืชชนิดอื่น ๆ ตามที่ “กลุ่มอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี” ได้กล่าวไว้นั้น ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อน ผล และดอก ทำให้ใบ และผลบิดเบี้ยวไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และหากระบาดรุนแรงก็อาจจะทำให้ยอดแห้ง และดอกร่วง ไม่มีผลมะละกอเกิดขึ้นนั่นเอง

เพลี้ยไฟมะละกอ

เพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dosalis Hood)

ตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริกมีขนาดเล็กมาก ยาวเพียง 1 มิลลิเมตร มีสีเหลือง มีปีกเรียวยาว 2 คู่ เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ตัวเมียจะวางไข่สีขาว คล้ายเมล็ดถั่วเหลือง ไว้ตามเส้นใบพริก เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะใช้แท่งแข็ง  (stylet) เขี้ยพืชผลให้ช้ำก่อน แล้วจึงดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบ ดอก ผล รวมถึงส่วนอ่อนของต้นพริกเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย และมักจะอาศัยอยู่ใต้ใบเลี้ยงของดอก และผลของต้นพริก

ทำให้ใบหรือยอดอ่อนของพืชหงิก และม้วนงอขึ้นด้านบนทั้ง 2 ข้าง ใบกลายเป็นสีน้ำตาล ถ้าระบาดรุนแรงก็จะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และแห้งตายในที่สุด ถ้าเกิดในระยะออกดอก ก็จะทำให้พริกร่วง และถ้าเกิดในระยะออกผล ก็จะทำให้พริกรูปทรงบิดงอ ไม่ได้คุณภาพ และขายไม่ได้ราคา

เพลี้ยไฟพริก
https://www.technologychaoban.com

เพลี้ยไฟกล้วยไม้ (Thrips palmi Karny)

เพลี้ยไปกล้วยไม้ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “ตัวกินสี” ถือเป็นแมลงสัตรูพืชที่สำคัญของต้นกล้วยไม้ โดยเฉพาะวงการกล้วยไม้ตัดดอก ตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟจะไปวางไข่ไว้ในเนื้อเยื่อของดอกกล้วยไม้ เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่ ก็จะเริ่มทำลายดอกด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยง จนดอกแห่งฝ่อ ทำให้กลีบดอกกล้วยไม้มีรอยด่าง ส่วนมากจะแพร่ระบาดในกล้วยไม้ประเภทหวาย แอสโค และช้าง ในช่วงอากาศแห้งแล้ง

เพลี้ยไฟกล้วยไม้
http://oknation.nationtv.tv

เพลี้ยไฟกุหลาบ

เพลี้ยไฟที่มักจะเข้าทำลายดอกกุหลาบ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ Scirtothrips dorsalis Hood และ Thrips coloratus Schmutz  โดยตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะเข้าไปดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนอ่อนของพืช เช่น ยอดอ่อน ตาดอก ทำให้ดอกกุหลาบแห้งเหี่ยว มีสีซีดเป็นทางสีขาว หรือน้ำตาลดำ ส่วนใบของกุหลาบนั้นจะหงิกงอเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล และดำเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ทั้งดอก และใบผิดรูปไม่สวยงาม ขายไม่ได้ราคา เพลี้ยไฟกุหลาบจะระบาดหนักในช่วงอากาศแห้งแล้ง  โดยจะเคลื่อนที่ในช่วงเวลา 08.00 – 12.00 น.

เพลี้ยไฟกุหลาบ
https://www.kasetkawna.com

เพลี้ยไฟหอม (oion thrips)

เพลี้ยไฟหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrips tabaci Lindeman  เพลี้ยไฟหอม เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชกลุ่มหอม ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ รวมไปถึงกระเทียม  การเข้าทำลายของเพลี้ยไฟหอมนั้นมักเกิดขึ้นบริเวณซอกกาบใบ ผิวใบ และดอก โดยตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายใบหอมด้วยการใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อให้ช้ำก่อน แล้วจึงดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้ใบแห้งเหี่ยว และอาจตายได้

การเข้าทำลายของเพลี้ยไฟหอมนั้น หากไม่สังเกตให้ดี ก็อาจจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย และจะเห็นได้ชัดก็เมื่อตอนที่ต้นหอมเริ่มเจริญเติบโต และพบว่าบริเวณใบเป็นจุดสีขาวซีด   เพลี้ยไฟหอมระบาดมากในแหล่งปลูกหอมขนาดใหญ่อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และนครพนม ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ – พฤษภาคม หรือช่วงหน้าแล้งนั่นเอง

เพลี้ยไฟหอม
https://www.allkaset.com

เพลี้ยไฟมะนาว

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของต้นมะนาว เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายมะนาวด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของพืช โดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ทำให้ใบอ่อนของตันมะนาวบิดเบี้ยว ดอก และผลอ่อนร่วง หรือมีรอยแผลเป็น ลักษณะผิวของผลมะนาวจะกร้าน เปลือกแข็งกว่าปกติ

เพลี้ยไฟมะนาว
https://www.kasetkaoklai.com

การแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง (ษศิวรรณ, 2558) หรือสภาพอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้พืชขาดน้ำ เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพลี้ยไฟ ซึ่งมีกระแสลมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ก็จะเข้าทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของลำตัน ในทางกลับกัน หากเป็นช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน หรือฝนตกหนักก็จะช่วยลดจำนวนเพลี้ยไฟลงได้ ดังนั้นวิธีที่จะช่วยลดความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟ คือการให้น้ำพืชอย่างเพียงพอ ไม่ปล่อยให้ต้นขาดน้ำ เป็นเวลานาน

การแพร่ระบาดเพลี้ยไฟ
http://www.dynamicseeds.com

การป้องกัน และกำจัดเพลี้ยไฟ

สามารถเลือกใช้วิธีการจัดการเพลี้ยไฟได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความถนัด และความเหมาะสมต่อพืชชนิดที่ปลูก สำหรับวิธีการที่นิยมใช้กำจัดเพลี้ยไฟ มีดังนี้

  1. การปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อเป็นการทำลายต้นตอของพืชรุ่นแรกหลังเก็บเกี่ยว อีกทั้งยังสามารถลดปริมาณเพลี้ยไฟลงได้อีกด้วย
  2. การไถพรวนดินก่อนทำการเพาะปลูกพืช เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายดักแด้ของเพลี้ยไฟที่อยู่ในดินให้หมดไป ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย และทำลายพืชได้อีก
  3. หมั่นสำรวจพืชอยู่เป็นประจำ โดยให้สังเกตบริเวณใต้ใบ ยอดอ่อน หรือจุดที่เพลี้ยไฟมักจะอาศัยอยู่  ก็บทำลายทิ้ง และไม่ปล่อยให้พืชขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ อันเป็นเหตุให้เพลี้ยไฟระบาดได้อย่างรวดเร็ว
  4. การใช้กับดัก และกาวเหนียวควบคุมเพลี้ยไฟ โดยศรีสุดา โททอง และปิยะรัตน์ เขียนมีสุข ได้กล่าวไว้ใน“สีของกับดักกาวเหนียวที่เป็นเครื่องมือดักเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้” ความว่า กับดักที่ใช้ได้ผลดีที่สุด คือกับดักสีฟ้า เหลือง ขาว และน้ำเงิน อัตราที่เหมาะกับพื้นที่
  5. มีระบบการให้น้ำที่ดี เช่น ให้น้ำพืชแบบสปริงเกอร์ จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟได้ ควบคู่ไปกับการให้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อเร่งให้พืชเจริญเติบโต สามารถต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น
  6. การบำรุงพืชให้สมบูรณ์ และแข็งแรง หมั่นถอนวัชพืช ให้น้ำอย่างพอเพียง และใส่ปุ๋ยบำรุงทางดิน รวมถึงทางใบ จะช่วยให้พืชฟื้นจากการถูกทำลายได้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง
  7. การใช้ศัตรูทางธรรมชาติ จำพวกตัวห้ำ และตัวเบี้ยน เป็นตัวช่วยในการควบคุมประชากรเพลี้ยไฟ เช่น แมลงช้างปีกใส แมลงเบียนไข่ แมลงเบียนหนอน เป็นต้น
  8. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ  เช่น  สารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสเอล อัตรา 20 – 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วตามใต้ใบ ซอกใบ ยอดอ่อน และช่อดอก เนื่องจากเพลี้ยไฟชอบหลบอยู่บริเวรดังกล่าว หากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ก็ควรใส่ปุ๋ยทางใบควบคู่ด้วย เพื่อช่วยให้พื้นฟื้นตัวจากการถูกทำลายได้เร็วยิ่งขึ้น
  9. การใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดแมลง ตามคำแนะนำของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เกี่ยวกับสารป้องกันกำจัดโรคพืช แมลงศัตรู โดยสูตรสมุนไพรดังกล่าว ประกอบด้วย  เมล็ดสะเดา หัวข่าแก่ และตะไคร้หอม นำมาตำ หรือบดให้ละเอียด ใส่ภาชนะ และหมักแช่ในน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาน้ำ 100 ลิตร เพิ่มสบู่ 5-100 กรัม ละลายให้เข้ากัน แล้วฉีดพ่นทุก 2-3 วันต่อต่อกัน 2-3 ครั้งเช้า – เย็น  จึงนำมาฉีดพ่นได้
    หรือจะใช้ “สารสกัดจากกระเทียม” มาเป็นตัวช่วยในการควบคุมเพลี้ยไฟในพืชก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีการทำสารสกัดจากกระเทียมนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่นำกระเทียมประมาณ 1 กำมือมาบดให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับน้ำร้อนครึ่งลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง จากนั้นกรองเอาน้ำกระเทียมมาผสมกับน้ำอีก 4 ลิตร ผสมด้วยสบู่อีกประมาณครึ่งช้อน เพื่อให้สารสกัดจับใบได้ดีขึ้น แล้วนำไปฉีดพ่นวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน
  10. การใช้ราขาว หรือเชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiana)  เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชอย่างเพลี้ยไฟ ปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม ส่วนสายพันธุ์ราบิวเวอร์เรีย ที่ทดสอบแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพดี คือ สายพันธุ์ BCC2660 ที่สร้างเส้นใยสีขาว สร้างสปอร์จำนวนมากลักษณะคล้ายผงแป้ง (powdery conidia)

ซึ่งทางกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานการเกษตรสมุทรปราการ คำแนะนำให้ใช้ราขาวในอัตรา 200 มล. หรือชนิดเชื้อสด 250 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นห่างกัน 3 วัน เป็นเวลา 3 ครั้ง เนื่องจากเพลี้ยไฟมีวงจรชีวิตสั้นมากในระยะที่มีการระบาดค่อนข้างสูง จึงควรพ่นสารเคมีค่อนข้างถี่ คือประมาณ 4-5 วันครั้งติดต่อกัน 2-3 ครั้ง หรือจนกว่าการระบาดน้อยลง

การป้องกัน กำจัดเพลี้ยไฟ
https://www.trueplookpanya.com

แหล่งที่มา

ศิริณี พูนไชยศรี. 2535. ชนิดของเพลี้ยไฟที่พบในผลไม้. น. 368-434. ใน แมลงและสัตว์ศัตรูพืช 2535 เอกสาร ประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 8, 23-26 มิถุนายน 2535. กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการ เกษตร, กรุงเทพฯ.

ศรีสุดา โท้ทอง และ ปิยะรัตน เขียนมีสุข. 2543. สีของกับดักกาวเหนียวที่เป็นเครื่องมือดักเพลี้ยไฟในสวนกล้วยไม้.ว. กีฏ. สัตว., 22: 194-201.

ษศิวรรณ เรื่อศรีจันทร. กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด.2558.เพลี้ยไฟ.2558

สำนักงานเศรษฐกินการเกษตร.(มปป ).สารสมุนไพรป้องกัน และกำจัดโรคพืช แมลงศัตรูพืช.

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้