รอบรู้เรื่อง “เพลี้ยแป้ง” แมลงศัตรูพืช ดูดกินน้ำเลี้ยง และวิธีป้องกันกำจัด

เพลี้ยแป้ง ภาษาอังกฤษ มีชื่อว่า “mealy bugs” เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญชนิดหนึ่ง ลักษณะเด่นของแมลงชนิดนี้คือลำตัวที่ปกคลุมด้วย “ผงแป้ง” แม้จะมีขารอบลำตัว แต่เพลี้ยแป้งกลับเคลื่อนไหวได้ช้า ที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใด คือ “ปาก”ของมันที่สร้างความเสียหายให้กับพืชพันธรรมชาติ หลายครั้งที่เกษตรกรต้องปลูกอ้อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขายทุเรียนไม่ได้ราคา พืชผลเงาะ ลำไย หล่นร่วงจากต้น และเน่าเสียทิ้ง เพราะการเข้าทำลายอย่างหนักของแมลงศัตรูพืชตัวจิ๋ว แต่พลังทำลายล้างมหาศาล

เพลี้ยแป้ง คืออะไร

เพลี้ยแป้งเป็นแมลงปากดูดที่จัดอยู่ในอันดับ Homoptera กลุ่มวงศ์ Cococcidae, วงศ์ Pseudococidae  ลำตัวเล็กเป็นปล้อง  อ่อนนุ่ม มีขา 6 ขา เพลี้ยชนิดนี้จะผลิตสารสีขาวที่มีลักษณะคล้าย “ผงแป้ง” หรือที่เรียกว่า “mealywax” ปกคลุมลำตัวเอาไว้ และสร้างเส้นใยสีขาวสั้น ๆ รอบลำตัว โดยเส้นใยที่ยาวที่สุดอยู่บริเวณปลายปล้องท้องสุดท้าย บางชนิดมีความยาวมากว่าลำตัว

แมลงชนิดนี้มีด้วยกัน 2 จำพวก ได้แก่ เพลี้ยแป้งหางสั้น และเพลี้ยแป้งหางยาว มักจะเข้าทำลายพืชด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของลำต้น

  • ส่วนปาก ปากของเพลี้ยแป้งจะอยู่ที่บริเวณ coxa ของขาคู่หน้า หนวดมี 6 – 9 ปล้อง บางชนิดมีเพียง 4 – 5 ปล้อง โดยปล้องปลายสุดของหนวดจะเรียว และยาวกว่าปล้องอื่น
  • ส่วนท้อง มีจำนวน 7 – 8 ปล้อง มีขา 3 คู่อยู่บริเวณส่วนอกปล้องที่ 1 กับ 2 และส่วนท้องปล้องแรก
  • ส่วนขา ประกอบด้วยฐานขา (coxa) ข้อต่อขา (trochanter) ต้นขา (femur) หน้าแข้ง (tibia) และฝ่าเท้า (tarsus) จำนวน 1 ปล้อง ซึ่งมีเล็บ ( claw) 1 อัน อยู่ใกล้กับอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายหนาม (digitule) อีก 1 อัน นอกจากนี้อาจจะพบรูเล็ก ๆ (translucent pore) ที่ส่วนขาอีกด้วย คาดว่าอาจจะเป็นรูปที่ใช้ปล่อยฟีโรโมนเพศ (sex pheromones)

เพลี้ยแป้งสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.) การสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ (sexual)  และ 2.) การสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ (parhenogenesis) เพลี้ยแป้งที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เช่น เพลี้ยแป้งส้ม (Pseudococcus citri) การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้น ตัวเต็มวัยเพศเมียจะออกลูกเป็นตัว (Viviparous) ได้เลย ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้น หลังเพลี้ยแป้งเพศเมียผสมพันธุ์กับเพศผู้ จะวางไข่ให้อยู่ภายในถุงไข่ที่มีเส้นใยคล้ายสาลีปกคลุม แล้วจึงฟักเป็นตัวอ่อนเป็นลำดับถัดไป

ประทีป อูปแก้ว ได้กล่าวไว้ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์  “การปลูกพืชสลับ เพื่อเพิ่มมูลค่าในแปลงมันสำปะหลัง” ความว่า.. เพลี้ยแป้งตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 100-200 ฟองบนผล กิ่ง และใบพืช โดยเพลี้ยแป้งตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 600- 800 ฟองภายใน 14 วัน ไข่จะฟักอยู่ในถุงใต้ท้องตัวเมียประมาณ 6 -10 วันจึงจะออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ระยะแรก ๆ จะมีสีเหลือง และไม่มีผงสีขาวปกคลุมตามตัว และจะคลานหาที่อยู่ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และเจริญเติบโต ตัวอ่อนเพศเมียจะลอกคราบทั้งหมด 3 ครั้ง ไม่มีปีก ส่วนตัวอ่อนเพศผู้จะลอกคราบ 4 ครั้ง มีปีก และตัวเล็กกว่าตัวเมีย

เพลี้ยแป้งแต่ละชนิด มีวงจรชีวิตที่แตกต่างกันออกไป และถึงจะเป็นเพลี้ยแป้งชนิดเดียวกัน แต่ถ้าอาศัยอยู่บนพืชต่างชนิด ก็จะมีวงจรชีวิตที่ต่างกันไปด้วย

ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งเข้าทำลายพืชด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของพืช เช่น ใบ ดอก ผล ตา ยอด แล้วปล่อยมูลหวานออกมา ส่งผลให้เกิดราดำ พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ใบหงิกงอ ลำต้นเคราะแกร็น โดยพืชที่เพลี้ยแป้งมักเข้าทำลาย มีดังนี้

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

เพลี้ยงแป้งมันสำปะหลัง จัดอยู่ในวงศ์ Pseudococcus  อันดับ Homoptera  เป็นแมลงศัตรูพืชที่พบในปี 2551  “อัมพร วิโนทัย  กรมวิชาการเกษตร” ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า  ในประเทศไทย พบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอยู่ 4 ชนิดดังนี้

  1. เพลี้ยแป้งลาย (Striped mealy bug): Ferrisia virgate ได้แก่ เพลี้ยแป้งลายชนิดวางไข่ และเพลี้ยแป้งลายชนิดออกลูกเป็นตัว พบมากที่สุดในช่วงหน้าฝน ไข่ของเพลี้ยแป้งชนิดนี้เป็นเม็ดสีเหลืองอ่อน ยาวรี  ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีสีเหลืองอ่อน ตัวยาวรี เคลื่อนที่ได้ และไม่มีแป้งเกาะตามลำตัว เมื่อโตเต็มวัยตัวจะป้อม กลม มีแป้งเกาะตามตัว และมีเส้นแป้งยาว 1 คู่อยู่บริเวณส่วนท้าย หากแป้งด้านหลังหลุดออกจะออกจะเห็นจุดสีเข้ม 2 แถบบนหลัง
  2. เพลี้ยแป้งสีเทา หรือเพลี้ยแป้งแจ็คเบียส (Jackbeard): Pseudococcus jackbeardsley ตัวเต็มวัยเพศเมียลำตัวยาว 3.5 – 4.0 มิลลิเมตร ผนังลำตัวมีสีเทาอมชมพู ปกคลุมด้วยไขแป้งสีขาว ข้างลำตัวมีเส้นแป้งบาง ๆ ค่อนข้างยาว แต่เส้นแป้งด้านท้ายลำตัวจะยาวกว่าด้านข้างลำตัว ไม่มีแถบบนหลัง  มีขนรอบตัว หางยาวมาก 2 เส้น มีหนวด 8 ปล้อง เพลี้ยแป้งสีเทาจะชอบกินอยู่บริเวณโคนต้น หรืออาศัยในดิน สามารถพบได้ตามใบแก่ของมันสำปะหลัง
  3. เพลี้ยแป้งสีเขียว (green mealy bug): Phenacoccus madeirensis  ลำตัวเรียวแบน มีสันนูน  ด้านข้างมี wax สีขาวปกคลุมบาง ๆ มีเส้นขนที่ขอบปลายท้อง และมีถุงไข่อยู่บนส่วนหลังชอบกินอยู่ที่ใบแก่
  4. เพลี้ยแป้งสีชมพู (Pinkish mealy bug): Phenacoccus manihoti เป็นเพลี้ยแป้งที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในมันสำปะหลัง พบทำลายที่ส่วนยอด ทำให้ส่วนยอดหงิกแห้งตายได้ ตัวเต็มวัยมีรูปร่างกลมสีชมพู ทั่วลำตัวมีผงแป้งสีขาวปกคลุม มีเส้นแป้งด้านข้างสั้น และด้านหลังมีแป้งเล็กน้อย ตาโปนมองเห็นได้ชัดเจน ขายาว เพลี้ยแป้งชนิดนี้มีแต่เพศเมีย ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ และออกลูกเป็นตัวเมียทั้งหมด เรียกว่า Thelytokous parthenogenesis

เอกสารความหลากหลายทางพันธุกรรม และระดับการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังในภาคตะวันออก โดยสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไว้ว่า… เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง (Mealybug) จะใช้ปากที่มีลักษณะเป็นท่อยาวแทงเข้าไปบริเวณส่วนอ่อนของพืช เช่น ใบ ยอด ตา แล้วดูดกินน้ำเลี้ยง บางครั้งอาจพบการดูดกินน้ำเลี้ยงในส่วนของรากมันด้วย หลังดูดกินน้ำเลี้ยง เพลี้ยแป้งจะถ่ายมูลที่มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวข้น มีรสหวานเรียกว่า “มูลหวาน” ออกมา ทำให้เกิดราดำปกคลุมบางส่วนของของใบพืช เมื่อราดำเจริญเติบโต ทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้เต็มที่

นอกจากนี้แล้วส่วนในปากที่เพลี้ยแป้งใช้ดูดน้ำเลี้ยงอาจมีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตขับออกมาด้วย ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายมีข้อถี่มากขึ้น ยอดที่ถูกทำลายจะงอหงิกเป็นพุ่ม (bunchy top) ยอดแห้งตาย (die back) ลำต้นมีช่วงข้อถี่ บิด ส่งอาหารไปสะสมที่หัวไม่สะดวก หากรุนแรงอาจส่งอาหารไปที่รากไม่ได้  ส่งผลต่อคุณภาพท่อนพันธุ์ กล่าวคือ ท่อนพันธุ์แห้งเร็ว อายุเก็บรักษาสั้น งอกช้ากว่าปกติ หัวมันมีขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ อีกทั้งเพลี้ยบางชนิดอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคเข้าสู่พืชได้

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
www.naewna.com

เพลี้ยแป้งสีชมพูในอ้อย

เพลี้ยแป้งสีชมพู (Pink Sugarcane Mealybug) เป็นแมลงลำตัวอ่อนนุ่มสีชมพู รอบตัวมีผงแป้งปกคลุมอยู่บาง ๆ ลำตัวยาว 4 – 5 มิลลิเมตร กว้าง 1.5 – 2 มิลลิเมตร ตัวเมียไม่มีปีก ตัวผู้มีปีก 1 คู่ ปกติแล้วเพลี้ยแป้งชนิดนี้จะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เนื่องจากประชากรเพลี้ยแป้งสีชมพูมีน้อยกกว่าเพศเมียนั่นเอง เมื่อเพลี้ยแป้งเพศเมียอายุครบ 30 วันจะวางไข่ไว้ตามลำตันอ้อย โดยตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ภายใน 10 ชั่วโมง ตัวอ่อนวัยแรกจะเคลื่อนที่อยู่รอบต้นอ้อย และเมื่อโตขึ้นเพลี้ยแป้งสีชมพูจะเคลื่อนที่น้อยลง จะเคลื่อนย้ายตนเองก็ต่อเมื่อถูกรบกวนเท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้นอ้อยโตขึ้น เพลี้ยแป้งก็จะอยู่บนปล้องที่สูงขึ้นไปด้วย

ณัฐกฤต พิทักษ์ และอนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ ได้กล่าวไว้ในเอกสารวิชาการ “แมลงศัตรูอ้อยโรงงาน อ้อยเคียว อ้อยคั้นน้ำ และการป้องกันกำจัด” ไว้ว่า… โดยส่วนมากแล้วเพลี้ยแป้งสีชมพูจะเข้าทำลายอ้อยมากในหน้าแล้ง  และสามารถเข้าทำลายอ้อยได้ทุกระยะการเติบโต เริ่มตั้งแต่ท่อนพันธุ์ที่อยู่ในดิน โดยเพลี้ยแป้งสีชมพูจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามร่องใบอ้อย หรือตามส่วนโค้งต้นอ้อย ส่วนใหญ่จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามลำต้นอ้อยที่ยังมีกาบใบห่อหุ้มอยู่  สามารถพบได้บริเวณต่ำกว่าข้ออ้อยลงมา ตรงข้ามกับตาอ้อย หากระบาดหนักจะพบอยู่ทั่วปล้องอ้อย

การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งสีชมพู ส่งผลให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิต และปริมาณน้ำตาลในผลอ้อยลดลง เมื่อนำท่องพันธุ์ที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลายไปปลูกลงดิน ทำให้ท่อนพันธุ์ไม่งอก หรืองอกขึ้นมาแต่เพลี้ยเข้าทำลายทำให้หน่ออ้อยแห้งตาย เกษตรกรต้องปลูกอ้อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เพลี้ยแป้งสีชมพูในอ้อย
www.thairath.co.th

เพลี้ยแป้งในเงาะ

เพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายเงาะมีหลากหลายชนิด  ได้แก่ Planococcus lolacinus (Cockerell), Ferissia virgate (Cockerell) เป็นต้น โดยเพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากผล กิ่งอ่อน และช่อดอกของเงาะ สามารถพบเพลี้ยแป้งได้ที่ขั้ว และโคนขนของเงาะ หากระบาดรุนแรงจะทำให้เงาะร่วงหล่นจากต้น และผลแก่สกปรก ไม่สามารถรับประทานได้

เพลี้ยแป้งในเงาะ
www.kasetkaoklai.com

เพลี้ยแป้งสับปะรด (Pineapple mealybugs)

ในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบเพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายสับปะรด 2 ชนิด ได้แก่ เพลี้ยแป้งสีชมพู และเพลี้ยแป้งสีเทา  การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งในสับปะรดนั้น ส่งผลให้สับปะรดเกิดโรคเหี่ยว โดยเพลี้ยแป้งจะเข้าทำลายโคนของต้นสับปะรดที่ติดกับดิน และใต้ดิน รวมไปถึงเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชเกิดอาการใบจุด

เพลี้ยแป้งสับปะรด
projects.au.dk

เพลี้ยแป้งทุเรียน

การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งในทุเรียน พบได้ตั้งแต่ระยะที่ทุเรียนเริ่มติดผล จนกระทั่งทุเรียนโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว  เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวรกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน และผลแก่ โดยมีมดแดง และมดดำช่วยนำพาเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ส่งผลให้บริเวณที่ถูกเพลี้ยทำลายเคราะแกร็น ชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้หวานที่เพลี้ยแป้งขับออกมา ยังทำให้เกิดราเข้าทำลายพืชซ้ำ หากทุเรียนผลเล็กเพลี้ยเข้าทำลายจะทำให้ผลทุเรียน เคราะแกร็น ไม่โต แต่ถ้าเข้าทำลายทุเรียนผลใหญ่ จะทำให้คุณภาพทุเรียนเสียหาย ราคาตก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

เพลี้ยแป้งทุเรียน
www.aggrogroups.com

เพลี้ยแป้งแคคตัส

เพลี้ยแป้งแคคตัส ถือเป็นแมลงสัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของแคคตัส โดยตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งมักอยู่รอบ ๆ ฐานของตุ่มหนาม ซอกหนาม โคนต้น เหนือผิวดิน และราก  มักอาศัยอยู่ร่วมกับมด โดยมีมดพาไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืชอวบน้ำ  เพลี้ยแป้งจะคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนของแคคตัส ทำให้พืชโทรม และตายในที่สุด

เพลี้ยแป้งแคคตัส
Facebook, สวนไม้ทราย

การแพร่ระบาด

เพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูพืชที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก บางที่ไม่จำเป็นต้องผสมพันธุ์ด้วยซ้ำ รายงานข่าวสารการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ได้กล่าวไว้ว่า…  การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังจะพบมากในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เนื่องจากใบมันสำปะหลังที่สร้างขึ้นในช่วงหน้าแล้งมีคุณค่าทางอาหารสูง เพลี้ยแป้งจึงชอบดูดน้ำเลี้ยงของใบที่สร้างในหน้าแล้งมากกว่าหน้าฝน  นอกจากนี้แล้วอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เพลี้ยแป้งระบาดหนักช่วงหน้าแล้ง คือ ตัวห้ำ และตัวเบี้ยนมีปริมาณลดลงในช่วงนี้นั่นเอง 

โดยเพลี้ยแป้งสามารถระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่งได้หลายทาง ได้แก่ การขนส่งพืชอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายไปยังที่อื่น ๆ การนำท่อนพันธุ์ที่ถูกเพลี้ยแป้งทำลายไปปลูกต่อ กระแสลมที่พัดเอาตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งไปยังที่ต่าง ๆ นอกจากนี้มดยังเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยในการแพร่กระจายอีกด้วย เนื่องจากมดและเพลี้ยแป้งสีชมพูอาศัยอยู่ด้วยกันแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ มดจะกินน้ำหวาน (honey dew) ที่เพลี้ยแป้งสีชมพูผลิตออกมาเป็นอาหาร และมดจะพาตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งไปหาแหล่งอาหารที่เหมาะสม และคอยต่อสู้ป้องกันศัตรูให้ ดังนั้นมดจึงทำให้ประสิทธิภาพของแมลงศัตรูพืชลดลง  ซึ่งมดที่อาศัยอยู่ร่วมกับเพลี้ยแป้งมี 2 ชนิด ได้แก่ มดดำ และมดแดง

การแพร่ระบาดเพลี้ยแป้ง

การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง

การควบคุม ป้องกัน และกำจัดประชากรเพลี้ยแป้งให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด ควรใช้วิธีผสมผสานกัน โดยอารีย์พันธ์ อุปนิสากร กลุ่มงานชีววิธี ส่วนบริหารศัตรูพืช ให้เหตุผลไว้ว่า.. ที่ต้องเป็นเช่นนั้นเนื่องจาก ลักษณะของเพลี้ยแป้งบางชนิดที่ยากต่อการกำจัดด้วยบางวิธี ข้อจำกัดของสารเคมีในการกำจัดทำลาย การขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว และตำแหน่งที่เพลี้ยแป้งอาศัยอยู่บนส่วนต่าง ๆ ของพืช

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เพลี้ยแป้งระบาดอย่างหนัก  และงดการปลูกพืชชนิดเดียวกัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  2. เก็บซากพืชออกจากแปลงให้เกลี้ยง ไถพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง แล้วตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน เพื่อทำลายดักแดของแมลงศัตรูพืช
  3. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทุก 2 สัปดาห์ หากพบการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งให้ปล่อยแตนเบียนหรือแมลงช้างปีกใส แต่ถ้าแพร่ระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีจำพวกด้วยอิมิดาคลอพริด หรือไทอะมีโธแซม
  4. การเก็บทำลายทิ้ง เช่น หากพบเพลี้ยแป้งสีชมพูตามซอกกาบใบ ควรเก็บกาบใบอ้อยที่แห้งออก แล้วฉีดพ่นด้วย malathin อัตรา 30 – 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  5. คัดเลือกท่อนพันธุ์พืชที่สะอาด ไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช หรือโรคพืช หากไม่แน่ใจว่ามีเพลี้ยติดมาหรือไม่ ให้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยอิมิดาคลอพริด หรือไทอะมีโธแซม อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15 นาทีก่อนนำไปปลูก วิธีนี้สามารถกำจัดเพลี้ยแป้งได้ทุกชนิดที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และป้องกันการแพร่พันธุ์ของเพลี้ยแป้งในฤดูถัดไป 
  6. การศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้งอย่างตัวห้ำ และตัวเบี้ยน ได้แก่ แมลงช้างปีกใสที่สามารถทำลายเพลี้ยแป้งได้ทุกชนิด, แตนเบียน Anagyrus lopezi ควบคุมได้เฉพาะเพลี้ยแป้งสีชมพู และด้วงเต่า ข้อดีของการใช้แมลงศัตรูพืช คือ มีขนาดเล็ก เจริญเติบโตรวดเร็ว ขยายพันธุ์เร็ว มีปีกบินเข้าหาศัตรูพืชได้เอง ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ อีกทั้งยังมีความจำเพาะเจาะจงต่อพืชอาหารสูง
  7. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม้ให้ตัวห้ำและตัวเบียนที่ เป็นศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งถูกทำลาย
  8. การใช้สมุนไพรในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง เช่น สะเดา  พันธ์ทวี สหะรัตน์ ได้กล่าวถึงสมนไพรเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ไว้ว่า… สะเดา ให้สารสกัดซาดิแรดติน Azadirachin  สารที่ออกฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลงชนิดปากดูด เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เป็นต้น  การใช้สะเดาในการจำกัดฆ่าเพลี้ยสมารถทำได้โดยการนำสะเดาสด 4 กิโลกรัม ข่าแก่ 4 กิโลกรัม และตะไคร้ 4 กิโลกรัม มาบดและตำให้ละเอียด แล้วหมักในน้ำ 20 ลิตร จากนั้นนั้นให้นำน้ำยาที่กรองได้มาจำนวน 1 ลิตรผสมกับน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นช่วงเย็นเป็นเวลา 5 – 7 วัน  
  9. การใช้น้ำส้มควันไม้ทีพีไอ ช่วยป้องกัน และกำจัดเพลี้ยแป้ง โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม แล้วฉีดพ่นไปที่ใบพืช หรือพื้นที่รอบ ๆ ต้นพืช ทุก ๆ  7- 15 วัน
  10.  การใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดเพลี้ยแป้ง ประเภทพ่นทางใบ กรณีมีการแพร่ระบาดรุนแรง  ได้แก่
    – การพ่นด้วยสารฆ่าแมลง thiamethoxam(Actara 25%WG) อัตรา 4 กรัม /น้ำ 20 ลิตร
    – การพ่นด้วยสารฆ่าแมลง dinotefuran(Starkle 10%WP) อัตรา 20 มล/น้ำ 20 ลิตร
    – การพ่นด้วยสารฆ่าแมลง prothiofos (Tokuthion 50%EC) อัตรา 50 มล/น้ำ 20 ลิตร
    – การพ่นด้วยสารฆ่าแมลง pirimiphos methyl(Actelic 50% EC) อัตรา 50 มล/น้ำ 20 ลิตร
    – การพ่นด้วยสารฆ่าแมลง thiamethoxam/lambdacyhalothrin(Eforia 247 ZC 14.1/10.6 % ZC) อัตรา 10 มล/น้ำ 20 ลิตร
  11.  การป้องกันโดยใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น malathion (Malathion 83 83% EC) อัตรา20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือcarbaryl (Sevin 85 WP85% WP) อัตรา10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ตามกิ่งสามารถป้องกันไม่ให้มดคาบเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้ง
farmerspace.co

แหล่งที่มา

ณัฐกฤต พิทักษ์ และ อนุวัฒน์ จันทรสุวรรณ. 2545. แมลงศัตรูอ้อยโรงงาน อ้อยเคียว อ้อยคั้นน้ำ และการป้องกันกำจัดหน้า. น. 36. กรุงเทพ.

ประทีป อูปแก้ว.การปลูกพืชสลับเพื่อมูลค่าในแปลงมันสำปะหลัง. (มปป).

อารีย์พันธ์ อุปนิสากร. การควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังโดยชีววิธี. (มปป).

พันธ์ทวี สหะรัตน์. สมุนไพร เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง. (มปป).

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้