โรครากเน่า โรคที่เป็นอันตรายที่ควรรู้วิธีป้องกันและรักษา

โรครากเน่า คือโรคพืชชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับพืชในส่วนของรากและโคนต้น ถือเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ต้นไม้ตาย ซึ่งเป็นโรคที่มีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักนั้นเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา วิธีการป้องกันสามารถป้องกันได้โดยไม่ปล่อยให้ดินบริเวณที่ปลูกต้นไม้แฉะและมีความชื้นสูง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่นำไปสู่โรครากเน่าได้ และถ้าหากต้นไม้มีการติดเชื้อก็สามารถรักษาด้วยการกำจัดเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมดแล้วไถพลิกดิน และตากดินไว้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนปลูกพืชให้ใส่ปูนขาวและอินทรียวัตถุเพื่อปรับสภาพและช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้กับดิน

โรครากเน่า คืออะไร

โรครากเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในพืชทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยโรคนี้เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับพืชในส่วนของรากและโคนต้น ซึ่งอาจเป็นที่โคนต้น รากใหญ่ หรือรากฝอย จึงเรียกโรคนี้ว่าโรครากเน่าโคนเน่า เนื่องจากไม่ใช่แค่รากเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่บริเวณโคนต้นก็มักจะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ซึ่งโรคนี้จะทำให้ต้นไม้มีการทรุดโทรมผิดปกติ และมักจะทำให้พืชชนิดนั้นตายได้ง่าย ถือเป็นโรคระบาดที่ส่งผลให้แหล่งปลูกพืชต่าง ๆ เกิดความเสียหายได้ โรครากเน่าถือเป็นโรคที่สังเกตได้ยากมาก เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่มักจะแสดงอาการในช่วงที่รากของพืชนั้นถูกทำลายค่อนข้างมากแล้ว และโรครากเน่าโคนเน่าก็มักจะเกิดกับพืชชนิดต่าง ๆ ดังนี้

โรครากเน่าโคนเน่า ภาษาอังกฤษ

โรครากเน่าทุเรียน

ดร.สุจินต์ จันทรสอาด กล่าวไว้ว่าโรครากเน่าที่เกิดขึ้นกับต้นทุเรียนนับเป็นโรคที่ป้องกันยากและรักษายากที่สุดสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน โดยสาเหตุนั้นเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora palmivola) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อยู่ในดินและสามารถอยู่ได้นานหลายปีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็คือมีน้ำและความชื้นที่เพียงพอ เชื้อรานี้สามารถเจริญเติบโตได้บนอาหาร PDA จะเป็นเส้นใยสีขาว ไม่มีผนังกั้น sporangium มีลักษณะคล้ายลูกแพร์หรือไข่ โดยเชื้อรานี้จะสร้างสปอร์ที่มีหาง (zoospores) ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปกับน้ำและเข้าไปเจริญเติบโตในพืชที่อาศัยได้ เพราะฉะนั้นโรคนี้จึงสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของต้นทุเรียน ในระยะแรกที่เป็นใบของทุเรียนจะไม่เป็นมันสดใส ใบจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดและร่วงในที่สุด ในส่วนบริเวณลำต้น กิ่งหรือรากที่เป็นโรคก็จะมีสีของเปลือกที่เข้มเป็นจุดฉ่ำน้ำ มีลักษณะเป็นทางน้ำไหลลงด้านล่างหรือมีรอยแตกของแผลสีน้ำตาล ปลายรากฝอยมีอาการเน่าเปื่อยและถอดปลอก หรือรากแขนงมีอาการเน่า และถ้าเข้าสู่ในระยะรุนแรงก็จะมีน้ำยางไหลออกมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้า ๆ ที่มีอากาศชื้น เชื้อราไฟทอปธอราสามารถแพร่กระจายโดยทางลม น้ำ ดิน ใบ กิ่งพันธุ์ และผล รวมไปถึงเครื่องมือการเกษตรด้วย ซึ่งต้นทุเรียนที่ได้รับเชื้อรานี้ก็มักจะยืนต้นตายในที่สุด โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนถือเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ค่อนข้างยาก ซึ่งมักจะมีการระบาดรุนแรงในฤดูฝนเพราะอากาศมีความชื้นสูง จึงเหมาะกับการแพร่กระจายและเข้าทำลายต้นทุเรียน และพบว่าเมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้งความรุนแรงของโรคก็จะลดลง เกษตรกรที่ปลูกต้นทุเรียนควรติดตามสถานการณ์โรครากเน่าโคนเน่า โดยให้หมั่นสำรวจทุก 7 วัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม และสำหรับวิธีการป้องกันและรักษาการเกิดโรครากเน่าทุเรียน มีดังนี้

  • ตรวจวิเคราะห์และปรับปรุงดินอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้ดินมีกรดสูงเกินไป โดยให้ใส่ปุ๋ยหมัก ปูนขาว (ตามอัตราคำแนะนำหลังตรวจวิเคราะห์ดิน) ค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 6.5-7
  • จัดทำร่องระบายน้ำในบริเวณสวนทุเรียน เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมขัง เพราะถ้าหากมีน้ำท่วมขังจะนำไปสู่โรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย
  • ตัดแต่งกิ่ง และเก็บรวบรวมใบ ดอก รวมถึงผลที่เป็นโรคและร่วงหล่นบริเวณสวนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
  • ลดปริมาณของเชื้อราที่อยู่ในดิน โดยใช้เชื้อราปฏิปักษ์ไตรโคเดอร์มาที่ผลิตจากเมล็ดข้าวฟ่าง จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับรำข้าว 10 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม คลุกให้เข้ากันแล้วนำไปหว่านบริเวณทรงพุ่มรอบโคนที่มีรากฝอย ต้นทุเรียนอายุ 1-5 ปี (อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น), ต้นทุเรียนอายุ 5 ปีขึ้นไป (อัตรา 5 กิโลกรัม/ต้น)
  • หากพบอาการเพียงเล็กน้อยบริเวณต้นหรือกิ่ง ให้ขูดผิวเปลือกที่เป็นโรคออกและนำไปเผา จากนั้นทาด้วยปูนแดง หรือเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทีริส เป็นต้น
  • หากพบอาการรุนแรงบริเวณลำต้นหรือกิ่งใหญ่ ให้ใช้กรดฟอสฟอรัส 40% ใส่กระบอกฉีด โดยผสมกับน้ำสะอาดในอัตรา 1:1 (หรือไม่ผสมน้ำ) ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามหรือส่วนที่เป็นเนื้อไม่ดี ใกล้กับบริเวณที่เป็นโรค ในอัตรา 20 ซีซีต่อต้น
  • หากพบอาการที่ระบบราก ให้ใช้สารเคมีเมตาแลกซิล 25% WP อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ราดใต้ทรงพุ่มให้ทั่วพร้อมกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากใหม่ด้วยปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-20-30, 15-30-15 หรือ 20-20-20 อัตรา 60 กรัม ผสมกับกรอฮิวมิค 100 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ราดให้ทั่วใต้ทรงพุ่มแล้วใช้เศษพืชคลุมโคนต้นไว้ และให้น้ำสม่ำเสมอ ทำเช่นนี้สัปดาห์ละครั้ง รวม 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน
  • หากพบอาการบริเวณใบ ให้ฉีดสารเคมีเมตาแลกซิล 25% WP หรือสารเคมีอีฟอไซท์ อลูมินัม 80% WP ในอัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือกรดฟอสฟอรัส อัตรา 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทั้งภายในและภายนอกทรงพุ่ม

ข้อควรระวัง

ห้ามนำกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรครากเน่าโคนเน่าไปทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง เพราะจะทำให้เชื้อราไฟทอปธอรากระจายตัวออกไปในพื้นที่กว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นและส่งผลเสียต่อดินรวมถึงพืชต่าง ๆ ด้วย ควรนำเศษซากพืชเหล่านั้นที่เป็นโรคมาเผาทำลายให้หมดเพื่อกำจัดเชื้อรา

โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
https://www.agriplusnews.com

โรครากเน่าผัก

เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Sclerotium ; Fursarium sp. ทำให้พืชขาดสารอาหารเนื่องจากระบบรากถูกทำลายส่งผลให้รากเน่าถอดปลอกและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออีกหนึ่งสาเหตุคือรากขาดออกซิเจนจึงทำให้เชื้อโรคเข้ามาทำลายได้ สำหรับอาการของโรครากเน่าในผักคือผักจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาเหมือนกับรากขาดน้ำ ในส่วนของบริเวณโคนต้นก็จะเน่าเป็นสีน้ำตาล และมีเส้นใยสีขาวหยาบ ๆ ของเชื้อราสีขาวปกคลุมบริเวณโคนต้นและแทรกอยู่ในดิน บางกรณีอาจพบส่วนของเชื้อรา Sclerotium rolfsii ที่มีลักษณะคล้ายกับเมล็ดผักกาดเกาะติดอยู่บริเวณโคนต้นและราก ใบจะแสดงอาการเหี่ยวเหลืองจนหลุดร่วง และยืนต้นตายในที่สุด สำหรับวิธีการป้องกันและรักษาโรครากเน่าในผักนั้นมีวิธีการ ดังนี้

  • นำเมล็ดพันธุ์แช่ในน้ำอุ่นประมาณ 20 นาที หรือแช่ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาคลุกกับเมล็ด โดยใช้เชื้อในอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
  • ทำการปรับปรุงดิน หากดินมีสภาพเป็นกรดให้โรยปูนขาว หรือโดโลไมท์
  • นำเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมเชื้อสดกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อรำข้าว 4 กิโลกรัมต่อปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม นำมาใช้รองก้นหลุมหรือหว่านในแปลงรอบ ๆ บริเวณโคนต้น
  • ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง และเผาทำลายทิ้ง เพื่อกำจัดเชื้อราที่จะนำไปสู่โรครากเน่า

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายรุนแรงทั้งต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพราะจะเป็นการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และเป็นปฏิปักษ์กับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

โรครากเน่าโคนเน่าผัก
http://thaifarmer.lib.ku.ac.th

มอนสเตอร่ารากเน่า

สำหรับโรครากเน่าที่เกิดในมอนสเตอร่าจะเกิดจากดินที่ปลูกนั้นมีความชื้นหรือแฉะเกินไป ส่งผลให้เชื้อรา Pythium spp. เข้ามาทำลายจนทำให้ต้นมอนสเตอร่ามีอาการเหี่ยว ใบที่โคนจะมีสีเหลืองจนร่วง ส่วนรากนั้นก็จะเน่า นอกจากนี้อาการรากเน่าก็สามารถพบกับไม้ใบที่เพิ่งนำเข้าจากต่างประเทศหรือเพิ่งปลูกใหม่ได้ด้วย หากต้นใดสามารถปรับตัวได้อาการเหล่านี้ก็จะไม่เกิด ส่วนโรคโคนเน่าที่เกิดกับมอนสเตอร่านั้นมักจะเกิดขึ้นกับต้นที่เพิ่งตัดมาปักชำ โดยจะมีเชื้อรา Fusarium spp. เข้ามาทำลายบริเวณรอยตัด ส่งผลให้โคนกิ่งมีสีน้ำตาลและดำ ใบเหี่ยวเหลืองจนร่วงในที่สุด และอาจทำให้กิ่งเน่าทั้งกิ่งได้ สำหรับวิธีการป้องกันและรักษามอนสเตอร่ารากเน่า มีวิธีการดังนี้

  • รดน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้ดินแฉะ เพราะถ้าหากดินแฉะหรือมีความชื้นสูงก็จะนำไปสู่โรครากเน่าโคนเน่าได้ง่าย
  • นำมอนสเตอร่ามาวางนอกบ้านในบริเวณที่เป็นร่มรำไร หลีกเลี่ยงการโดนแสงตรงอากาศถ่ายเท
  • ทำการตัดแต่งราก ลำต้น และใบที่แสดงอาการออกไปเผาทำลาย และวางต้นผึ่งในที่ร่มเพื่อให้แผลแห้ง
  • ปลูกมอนสเตอร่าในบริเวณที่สามารถระบายน้ำได้ดี โดยวางต้นในตำแหน่งที่มีแสงแดดรำไร หรือรับแสงเล็กน้อยในช่วงเช้า ถ้าหากปลูกใส่กระถางควรวางต้นไว้ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกจนกว่าต้นจะแข็งแรง
  • หากต้นมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะต้นที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ฉีดพ่นสารปฏิชีวนะ เช่น สเตร็ปโตไมซิน (Streptomycin) ในทุกสัปดาห์จนกว่าต้นจะแข็งแรงและแตกใบใหม่
  • หากต้นเกิดการเสียหายหนักเนื่องจากเชื้อรา หลังปลูกใหม่ให้ฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อราแคปแทน (Captan) หรือคาร์เบนดาซิม (Carbendacim) ในทุกสัปดาห์จนกว่าต้นจะแตกใบใหม่

ข้อควรระวัง

ไม่ควรรดน้ำในปริมาณที่มากเกินไป เพราะจะทำให้ดินแฉะและมีความชื้นสูง หากปลูกมอนสเตอร่าไว้ในกระถางควรวางต้นไม้ในตำแหน่งที่มีอากาศถ่ายเทและแสงสามารถส่องมาถึงได้ หมั่นยกต้นใหม่มาสลับเปลี่ยนกับต้นในบ้าน โดยการนำต้นที่อยู่ในบ้านมาวางไว้นอกบ้านในที่ที่มีแสงรำไร ทุก 1-2 สัปดาห์ และในกรณีที่ต้นมีอาการใบไหม้เนื่องจากโดนแดดจัดให้ย้ายต้นมาพักไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท แสงรำไร และตัดแต่งใบในส่วนที่เป็นรอยไหมด่างทิ้ง จากนั้นสังเกตดูว่าต้นมีการผลิใบใหม่หรือไม่ หากมีการผลิใบขึ้นมาใหม่แสดงว่าต้นเริ่มฟื้นคืนชีพแล้ว

มอนสเตอร่ารากเน่า
Facebook, สวนข้างบ้านฉัน

ลักษณะอาการของโรครากเน่า

Whiteside (1974) รายงานว่าโรครากเน่าเป็นโรคที่มีขอบเขตการเกิดไม่แน่นอน บางกรณีอาจเป็นที่โคนต้น บางกรณีอาจเป็นที่รากใหญ่ หรือรากฝอย ถือเป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน จึงมีการแบ่งอาการของโรคนี้เป็นโรครากเน่า (Root rot) และโคนเน่า (Foot rot) ในกรณีที่รากเน่าจะสังเกตได้ยากมาก ในระยะแรกถ้าหากว่ารากฝอยเน่าเพียงแค่ 20-30 % ในส่วนของใบนั้นจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เราได้เห็น แต่จะค่อย ๆ เน่าลุกลามไปเรื่อย ๆ เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และในช่วงที่รากถูกทำลายมาก ๆ ก็จะแสดงอาการรุนแรงและชัดเจนมากขึ้น เมื่อพืชชนิดนั้นโดนแดดร้อนจัดก็จะส่งผลให้ใบเหี่ยวทันที ซึ่งใบนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองโดยเริ่มจากเส้นกลางใบ ต่อมาในส่วนของเส้นแขนงก็จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเช่นเดียวกัน และในที่สุดใบก็จะร่วงซึ่งเรียกอาการนี้ว่าอาการใบกลับ ถ้าหากต้นไม้ใดมีผลในส่วนผลก็จะมีสีเหลืองร่วงหล่นได้ง่าย และกิ่งก็จะแห้งตายจากปลายเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อขุดรากดูจะพบว่าทั้งรากฝอยและรากแขนงมีอาการเน่าลุกลามไปจนถึงโคนต้น รากจะถอดปลอกและส่งกลิ่นเหม็น โดยเปลือกรากที่เน่าใหม่ ๆ ในช่วงแรกนั้นจะเป็นสีน้ำตาลแดงหรืออมส้ม มีลักษณะเหนียว ไม่ยุ่ย แต่รากยังมีสีขาว ถ้าหากปล่อยไว้โรคนี้สามารถลุกลามขึ้นมาที่โคนต้นและอาจทำให้พืชนั้นตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังสามารถแพร่ระบาดได้อีกด้วย
นอกจากนี้อาการของโรครากเน่า หรือรากเปื่อยนั้นก็สามารถเกิดจากเห็ดราที่ทำลายไม่ได้ด้วยเช่นกัน โดยเห็ดราหลายชนิดนั้นเป็นสมาชิกใน Class Ascomycetes และ Basidiomycetes ซึ่งสามารถทำลายส่วนที่เป็นแก่นไม้และกระพี้ของไม้ได้ โดยมีกระบวนการทำลายด้วยการปล่อยเอ็นไซม์ออกมาเพื่อย่อยสลายส่วนประกอบของไม้ ซึ่งรานั้นมักจะทำลายส่วนที่มีอาหารมากจึงทำลายกระพี้ก่อน จากนั้นก็ทำลายเรื่อย ๆ ไปจนถึงแก่นไม้ และเมื่ออยู่ในสภาพที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตและงอกเส้นใยแทงทะลุเข้าไปในเนื้อไม้ จนส่งผลให้เนื้อไม้มีการผุพัง และเส้นใยก็จะสามารถเข้าไปในเนื้อไม้ได้มากขึ้น โดยการเข้าทำลายและทำให้ไม้ผุพังนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่มแรก (Case stage หรือ Incipient stage) ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อรานั้นอยู่ในเนื้อไม้และไม่มีอันตราย โดยเส้นใยของเชื้อราจะผ่านไปตามเซลล์ของไม้จากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่งด้วยวิธีการเจาะทะลุผนังเซลล์
ระยะผุ (Advanced decay stage) เป็นระยะที่เนื้อไม้มีการเปื่อยยุ่ยเหมือนฟองน้ำและจะหลุดออกเป็นหย่อม ๆ หรือมีรอยแตกตามขวางของเสี้ยนไม้ ซึ่งระยะนี้ถือเป็นระยะไม้ผุรุนแรง

ลักษณะอาการของโรครากเน่า

สาเหตุของการเกิดโรครากเน่า

โรครากเน่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบโดยทั่วไปนั้นก็คือเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) โดย Erwin และคณะ (1983) อ้างว่าเชื้อราชนิดนี้เป็นเชื้อราของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิด ทั้งไม้ล้มลุก ไม้ยืนต้น ไม้ดอก รวมถึงผลไม้ โดยถูกจัดเป็นราชั้นต่ำที่มีประมาณ 43 สปีชีส์ และเกิดการระบาดเกือบทั่วโลก โรครากเน่านอกจากจะมีสาเหตุการเกิดจากเชื้อรานี้แล้วยังสามารถเกิดจากการที่รากนั้นอยู่ลึกเกินไปด้วย เพราะรากที่อยู่ลึกเกินไปนั้นจะส่งผลให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือถ้าหากบริเวณรากนั้นมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานก็จะส่งผลให้รากเปื่อยยุ่ยและใบจะเหลืองแห้งเหี่ยว ซึ่งอาการของใบเหลืองนั้นอาจสังเกตเห็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของต้น เนื่องจากรากบริเวณนั้นถูกทำลาย และการที่ดินมีความร้อนถ้าหากใส่ปุ๋ยไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสมกับระยะเวลา ความเค็มจากปุ๋ยนั้นก็สามารถทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกันแต่จะไม่มีการแพร่ระบาด ซึ่งมักจะเกิดในระยะเวลาสั้น ๆ และถ้าหากพูดถึงการแพร่ระบาด เชื้อรา P. parasitica นั้นก็ถูกจัดเป็นเชื้อราชั้นต่ำที่อยู่ในดินและน้ำ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้โดยการติดไปกับดินหรือน้ำที่ใช้ปลูก เพราะฉะนั้นจะมีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้นกับพืชที่ปลูกแบบยกร่องและในช่วงฤดูฝน อย่างเช่น ส้ม ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำปริมาณมากในช่วงของการเจริญเติบโต และถ้าหากดินแห้งเชื้อนั้นก็จะพักตัวในรูป chlamydospores เมื่อได้รับความชื้นหรือน้ำก็จะงอกเป็นเส้นใย หรือ sporangium และจะสร้าง zoospore ที่สามารถว่ายน้ำได้ จากนั้นจะว่ายเข้าหารากของพืชแล้วงอกเส้นใยเข้าไปทำลายในส่วนของรากพืช โดย zoospore นี้จะเป็นตัวแพร่ระบาดโรคโดยตรง และดินจะสูญเสียความชื้นหรือแห้งลงเมื่อการสร้างสปอร์และการเคลื่อนที่ของ zoospore ลดลง
นอกจากนี้โรครากเน่ายังสามารถเกิดขึ้นได้จากเห็ดราใน Class Ascomycetes และ Basidiomycetes ได้ด้วย ซึ่งโรคนี้จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง โดยมีการแพร่ระบาดจากสปอร์เชื้อรา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณที่มีความชื้นแฉะอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าโรครากเน่านั้นมีหลายสาเหตุ ฝ่ายวิจัยโรควิทยาป่าไม้ ส่วนแมลงและจุลชีววิทยาป่าไม้ ของสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่านอกจากโรครากเน่าโคนเน่าจะเกิดขึ้นได้จากเชื้อราแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากบริเวณนั้นมีน้ำท่วมขัง ดินเหนียว มีการใช้สารเคมีผิดวิธี รวมไปถึงพิษจากปุ๋ยเคมีอีกด้วย

รากเน่า ดูยังไง
https://th.tomathouse.com

การป้องกันและรักษา

โรครากเน่า ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดซึ่งส่งผลเสียให้กับพืชและดิน แต่ก็ยังมีวิธีการป้องกันและรักษาหลายวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าได้ และวิธีการป้องกันการเกิดโรครากเน่าก็มีอยู่ดังนี้

1. ป้องกันอย่าให้โคนต้นไม้มีน้ำขังหรือแฉะ เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเชื้อราและนำไปสู่โรครากเน่าได้ง่าย
2. ทำการปรับสภาพดินปลูกให้โปร่งด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทำให้การระบายน้ำและอากาศดีขึ้น
3. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก และทำให้แสงแดดส่องเข้ามาถึงโคนต้นด้วย
4. หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจส่งผลให้โคนต้นและรากเกิดบาดแผล เพราะเชื้อรานั้นเป็นสาเหตุที่จะเข้ามาทำลายได้ง่าย
5. หากสังเกตเห็นว่าต้นมีการทรุดโทรม ในระยะแรกให้บำรุงต้นด้วยการให้ธาตุอาหารเสริมทางใบ เนื่องจากรากนั้นไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

การรักษา

1. หากสังเกตเห็นอาการเบื้องต้นของโรครากเน่า เช่น ใบมีสีเหลืองซีดถึงเหลืองเข้ม หรือใบเหี่ยวคล้ายกับอาการขาดน้ำ รวมไปถึงใบร่วง ให้รีบสำรวจรากโดยทันที และถ้าหากพบว่ารากเน่าก็ให้ทำความสะอาดราก จากนั้นตัดส่วนที่เน่าออกให้หมด และทาสารเคมีกำจัดโรครากเน่าทิ้งไว้จนแห้ง
2. ทำการเปลี่ยนดินผสมบริเวณโคนต้นใหม่ และนำดินเก่าที่มีเชื้อรานั้นไปทิ้งให้ห่างจากต้นไม้ที่ปรากฏอาการ เพื่อไม่ให้เกิดอาการอย่างต่อเนื่องและลดการแพร่ระบาด
3. ราดดินบริเวณโคนต้นไม้ด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น oxadizyl, ethazol, benalaxy หรือ metalaxyl เป็นต้น โดยการราดสารเคมีกำจัดเชื้อราให้ทำสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
4. ในกรณีที่โคนต้นมีอาการโรคโคนเน่า โดยมีแผลเน่าช้ำ เปลือกแตก ยางไหล ให้ใช้มีดถากหรือขูดออกและทาด้วยสารเคมี phosethylal หรือ metalaxyl 25%+ หรือ cycloheximide เป็นต้น
5. ทำการเปลี่ยนดินบริเวณโคนต้น โดยให้นำดินที่มีเชื้อราออก จากนั้นใส่ปูนขาวและตากดินให้มีความชื้นลดลง
6. ราดดินบริเวณโคนต้นด้วยสารควบคุมและกำจัดเชื้อรา เช่น แมคตาลิคซิล เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นต้น

การป้องกันโรครากเน่า
https://www.kasetorganic.com


แหล่งที่มา

นางสาวษศิวรรณ เรื่อศรีจันทร์, กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด, โรครากเน่าโคนเน่า

สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้, ฝ่ายวิจัยโรควิทยาป่าไม้ ส่วนแมลงและจุลชีววิทยาป่าไม้, โรครากเน่าโคนเน่าในต้นไม้ใหญ่

วิเชียร, 2527; เปรมปรี, 2532; อำไพวรรณ และคณะ, 2526; อำไพวรรณ, 2527 ก,ข และ knorr, 1973, ลักษณะอาการของโรครากเน่า, การแพร่ระบาดของโรครากเน่า

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ, คู่มือเกษตรกร “รู้ไว้ ใช้จริง” ชุดความรู้ในการกำจัดโรคพืช (การป้องกันและกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่า)


แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้