โรคแคงเกอร์ นับเป็นโรคพืชที่อันตรายร้ายแรงแก่พืชตระกูลส้ม ซึ่งสามารถพบการระบาดได้ในหลายประเทศ โดยในประเทศไทยนั้นพบว่ามีการระบาดของโรคนี้กันอย่างกว้างขวาง หากมีการส่งออกผลผลิตไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ เกษตรกรควรให้ความสนใจในการป้องกันกำจัด เนื่องจากในหลายประเทศได้ออกกฎและระเบียบการนำเข้าผลผลิตเพื่อป้องกันการระบาดของโรคแคงเกอร์อย่างเคร่งครัด ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลส้มควรหมั่นดูแลและตรวจสอบว่าพืชที่ปลูกนั้นมีการติดเชื้อหรือไม่ ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อพืชอย่างโรคแคงเกอร์ รวมถึงอธิบายวิธีป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อพืชและผลผลิตด้วย
โรคแคงเกอร์ คืออะไร
โรคแคงเกอร์ (Citrus canker) เดิมชาวบ้านจะเรียกโรคนี้ว่าโรคขี้กลาก โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแซนโทโมแนส (Xanthomonas axonopodis pv. citri) เข้าทำลายพืชและก่อให้เกิดโรคกับพืชตระกูลส้ม โดยเฉพาะมะนาวจัดเป็นพืชตระกูลส้มที่อ่อนแอและง่ายต่อการเกิดและติดโรคมากที่สุด ซึ่งสามารถพบได้ทุกแห่งที่มีการปลูกมะนาว นอกจากนี้ยังพบโรคแคงเกอร์จากแคคตัสอีกด้วย โดยโรคแคงเกอร์นั้นสามารถเข้าทำลายพืชได้เกือบทุกส่วนของต้น ทั้งกิ่ง ก้าน ใบ ลำต้น รวมถึงผล โดยจะมีการระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน ผลของการเป็นโรคแคงเกอร์ ถ้าหากมีอาการของโรคที่รุนแรงนั้นจะส่งผลให้ต้นไม้ทรุดโทรม ใบร่วง ผลร่วง ผลผลิตลดลง ต้นแคระแกร็น และถ้าหากเกิดการระบาดอย่างหนักก็สามารถทำให้พืชนั้นตายได้ในที่สุด ดังนั้นควรป้องกันและกำจัดหากพบว่าพืชที่ปลูกเป็นโรคแคงเกอร์ ไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียต่อผลผลิตอย่างมาก โดยโรคแคงเกอร์นั้นจัดเป็นศัตรูกักกันพืชในต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มอียู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และในอีกหลายประเทศทั่วโลก จึงเกิดความเข้มงวดในการนำเข้าส้มและใบมะกรูด และบางประเทศได้สั่งห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด
โรคแคงเกอร์มะนาว
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและการจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ข้อมูลว่าโรคแคงเกอร์มะนาวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้นมะนาว ทั้งใบอ่อน กิ่ง และผล ทำให้เกิดแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ทั้งใบ กิ่ง และผล โดยแผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เห็นเป็นวงซ้อน ๆ กัน ต่อมาจะเหลืองแห้ง และหลุดร่วงไปในที่สุด ซึ่งมักจะพบเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายใบอ่อน กิ่งอ่อน และผลอ่อน ในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันและอากาศชื้น โดยอาการจะลุกลามติดกับใบอ่อนที่เกิดบาดแผลจากหนอนชอนใบเข้าทำลาย อาการเริ่มแรกที่พบจะเห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำใส ๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟและจะเริ่มขยายขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนตรงกลางแผลจะตกสะเก็ดนูนขึ้น เป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนอาการที่เกิดตามกิ่งอ่อนและผลก็จะพบแผลตกสะเก็ดนูนขึ้นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน แผลที่กิ่งและผลอาจจะแตกเป็นแผลทำให้เกิดยางไหล และลุกลามไปยังใบส่งผลให้ใบหลุดร่วงและกิ่งแห้งตายไปในที่สุด ซึ่งโรคแคงเกอร์นั้นถือเป็นโรคประจำตัวของพืชตระกูลส้ม บางสายพันธุ์จะมีความทนทานต่อโรคนี้ แต่บางสายพันธุ์ก็จะอ่อนแอต่อโรคนี้ ซึ่งมักจะพบในมะนาวทุกสายพันธุ์ หากพบเห็นโรคที่เกิดควรเก็บใบ กิ่ง และผล ที่เกิดอาการโรคแคงเกอร์ไปเผาทำลายจะสามารถลดการระบาดของโรคนี้ได้
วิธีควบคุมและป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ในมะนาว
- คัดเลือกกิ่งพันธุ์ดี ๆ ตรวจสอบพืชให้ปลอดจากโรคแคงเกอร์
- แช่น้ำยา Streptomycin+Oxytetracycline เป็นเวลา 90 นาที ในกิ่งพันธุ์ก่อนนำไปปลูก
- ปลูกไม้ไผ่เป็นแนวกันลมในสวนมะนาว
- ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกมาเผาทำลาย และไม่ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่เป็นโรคแคงเกอร์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคแคงเกอร์ได้
- ใช้แบคทีเรียบาซิลลัสสูตรพลายแก้วฉีดพ่นทุก 30 วัน
- ใช้ Zinc Oxide Nano พ่นเมื่อแคงเกอร์ระบาด และพ่นต่อทุก 15-30 วัน
- พ่นน้ำส้มควันไม้ที่ตกตะกอนแล้ว อัตรา 100-200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันให้พ่นทุก ๆ 5-7 วัน เพื่อป้องกันหนอนชอนใบทำลายใบอ่อน และเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียเข้าทำลาย
- พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช โดยใช้คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ 85% ดับบลิวพี อัตรา 40-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือบอโดมิกเจอร์ (จุนสีผสมปูนขาว อัตรา 1:1) 300+300 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
- ใช้ไมโครบลูคอป 200 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง
- เมื่อพบการระบาดของโรคแคงเกอร์ให้ตัดกิ่งใบที่ติดโรคมาเผาทำลาย จากนั้นฉีดพ่นด้วย Zinc Oxide Nano 2 รอบ ห่างกัน 10 วัน ตามด้วยพ่นบาซิลลัสสูตร 3 อีกสองรอบ
โรคแคงเกอร์แคคตัส
ลักษณะของแคคตัสที่เป็นโรคแคงเกอร์สามารถสังเกตได้จากแคคตัสมีสีผิดปกติไปจากเดิม โดยมีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris ที่อาจมาจากการรดน้ำจากต้นที่เกิดโรคแคงเกอร์ จากดินปลูก จากลม จากน้ำฝน หรือสาเหตุอื่น ๆ อาจเป็นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือกระจายทั่วทั้งต้นก็ได้ โดยในระยะแรกจะเริ่มจากมีจุดขนาดเล็กเกิดขึ้น ต่อมาแผลจะนูนขึ้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ฟูและแตก มีลักษณะเป็นสะเก็ดขรุขระและแข็ง บริเวณขอบแผลมีวงสีเหลืองส้ม หรือสีน้ำตาลล้อมรอบ ภายใต้แผลเมื่อแกะออกจะมีเดือยแหลมเจาะกินเข้าไปในเนื้อต้น ขนาดของแผลจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละพันธุ์ ซึ่งตอนเป็นในระยะแรกนั้นแคคตัสจะยังไม่ตายในทันที แต่จะส่งผลให้แคคตัสหมดความสวยงาม ขายไม่ได้ และสามารถขยายเชื้อและลุกลามได้ด้วย หากอาการหนักก็จะทำให้แคคตัสตายได้ อีกทั้งยังสามารถลุกลามไปยังต้นอื่น ๆ ผ่านทางน้ำฝนและน้ำค้างได้ด้วย ถึงแม้ว่าต้นจะตายแล้วก็ตาม โรคแคงเกอร์สามารถเกิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้นในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อุณหภูมิประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส และหากมีบาดแผลหรือช่องเปิดทางธรรมชาติเกิดขึ้น และเชื้อได้มีการแพร่กระจายตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และมนุษย์ ในสภาวะปัจจัยที่เหมาะสม ซึ่งช่วงเวลาที่มีการระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน
วิธีควบคุมและป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ในแคคตัส
- เมื่อซื้อแคคตัสมาแล้วให้ทำการเปลี่ยนดินใหม่ เพื่อป้องกันโรคแคงเกอร์ที่ติดมา หากพบต้นที่เป็นโรคก็นำแยกออกมา และฉีดพ่นด้วยยา ขั้นตอนนี้ควรจะรีบทำตั้งแต่ซื้อต้นมาใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค
- ปลูกเลี้ยงแคคตัสในสถานที่โปร่ง ไม่อับชื้น แดดสามารถส่องถึงอย่างเพียงพอ และอากาศถ่ายเท ดูแลให้แคคตัสแข็งแรงเพื่อป้องกันการเกิดโรคแคงเกอร์
- หมั่นสำรวจต้นไม้อยู่เสมอ หากพบต้นที่เป็นโรคแคงเกอร์ให้จับแยกออกไปจากโรงเรือนแล้วทำการรักษา
- หากพบว่าแคคตัสเป็นโรคแคงเกอร์ให้นำมีดหรือคัตเตอร์แคะแผ่นแคงเกอร์ออกให้หมด จากนั้นทายากันราเอาไว้ รอให้แผลแห้งแล้วฉีดพ่นด้วยยา เช่น แอกริมัยซิน, ฟังกูราน หรือไธอะโนซาน รอให้แผลค่อย ๆ เลื่อนลงไปอยู่ที่โคนต้น จากนั้นให้ฉีดพ่นยาอย่างสม่ำเสมอในทุกเดือน
อาการของโรคแคงเกอร์
นางสาวกฤติยาพร อินทร์พงษ์นุวัฒน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าโรคแคงเกอร์สามารถเกิดและเป็นได้กับทุกส่วนของพืชตระกูลส้มหรือมะนาวที่อยู่เหนือพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของใบ ต้น กิ่งก้าน ดอก หรือแม้กระทั่งผล โดยส่วนใบและกิ่งอ่อนที่ถูกเชื้อนั้นจะแสดงอาการภายใน 10-12 วัน หลังจากเริ่มแตกยอดอ่อน ซึ่งใบแก่จะมีความต้านทานโรคมากกว่าใบอ่อน เนื่องจากมีปากใบที่เปิดแคบมีคิวติเคิลปกคลุมทำให้ปากใบหนา เชื้อจึงเข้าทำลายได้ยาก ส่วนใบอ่อนนั้นปากใบจะเปิดกว้าง ทำให้เชื้อสามารถเข้าทำลายได้ง่ายกว่า และเมื่อเชื้อเข้าทำลายรุนแรงก็จะส่งผลให้ต้นทรุดโทรม ใบร่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่มีคุณภาพ ผิวไม่สวย และขายไม่ได้ราคาอีกด้วย
– ลักษณะอาการบนใบ ในระยะแรกจะเกิดเป็นจุดแผลกลมขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ซึ่งขนาดของแผลนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของพืชในตอนที่เชื้อเข้าทำลายแล้วประมาณ 7-10 วัน โดยจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน ต่อมาก็จะเห็นได้ที่หน้าใบด้วยอาการของแผลจะเป็นจุดนูนสีน้ำตาลทั้งหน้าใบและหลังใบ แต่ด้านหลังใบจะเห็นหรือสัมผัสได้ชัดเจนกว่า แผลจะมีลักษณะฟองฟูขึ้นมาเป็นสีเหลืองอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อแข็งมีสีน้ำตาลเข้มมากขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนตรงกลางของแผลจะยุบตัวลง ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณขอบแผลคลอโรฟิลของใบสีซีดลงจากเนื้อเยื่อปกติ ทำให้เห็นสีเหลืองล้อมบริเวณแผล โดยแผลจะเกิดทุกส่วนของใบรวมถึงก้านใบด้วย ซึ่งส่งผลให้ใบร่วงก่อนกำหนด
–ลักษณะอาการบนกิ่งและต้น โรคแคงเกอร์มักจะเกิดบนกิ่งอ่อนโดยเฉพาะกิ่งอ่อนของมะนาว ซึ่งแผลที่เกิดจะมีลักษณะคล้ายกับแผลที่พบบนใบ ต่อมาแผลจะแห้ง แตกและแข็ง เป็นสีน้ำตาลขยายรอบกิ่งหรือขยายตามความยาวของกิ่ง ซึ่งจะมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน และไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบ เชื้อที่อยู่ในกิ่งสามารถอยู่ได้เป็นเวลานาน และสามารถทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อในฤดูฝนต่อไปได้ด้วย
– ลักษณะอาการบนผล อาการบนผลจะเป็นมากในต้นที่พบโรคแคงเกอร์ ซึ่งจะคล้ายกับบนใบแต่จะเกิดแบบเดี่ยว ๆ มีลักษณะกลม แผลจะฝังลึกลงไปในผิวของผลประมาณ 1 มิลลิเมตร โดยแผลจะขยายตัวมีวงกว้างและรูปร่างที่ไม่แน่นอน แต่จะพบวงสีเหลืองล้อมรอบอย่างชัดเจน ซึ่งอายุของผลนั้นอยู่ได้นานจึงทำให้เกิดการทำลายซ้ำ โดยผลนั้นจะร่วงแตก และเปิดโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เข้ามาทำลายได้ ส่งผลให้ผลส้มหรือมะนาวแตกและเน่าได้ในที่สุด
– ลักษณะอาการที่ราก มีรายงานว่าโรคแคงเกอร์สามารถเกิดได้กับรากที่อยู่เหนือดิน และปกติจะไม่ปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ แต่หากนำเชื้อไปทดลองปลูกที่รากก็สามารถทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน
– ลักษณะอาการของโรคร่วมกับหนอนชอนใบ การเข้าทำลายของหนอนชอนใบส้ม จะเป็นการเปิดช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์เข้ามาทำลาย ทำให้เพิ่มจำนวนแผลซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคแคงเกอร์ลุกลามได้อย่างรวดเร็ว โดยแผลที่เกิดนั้นจะมีลักษณะตามรอยทางเดินในการกินอาหารของหนอนชอนใบ ซึ่งหนอนจะกินจากชั้นผิว Epidermis ของใบส้มและมะนาว โดยจะต่ำกว่าชั้น Cuticle ส่งผลให้เกิดรอยแตกจำนวนมากของใบตามรอยกัดของหนอนชอนใบ ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์เข้าทำลายโดยตรงผ่านชั้น Cuticle เข้าไปในชั้นใน
สาเหตุของการเกิดโรค
โรคแคงเกอร์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายทางบาดแผลของพืช โดยเฉพาะพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นต้น ซึ่งจะเกิดการระบาดมากในช่วงที่มีลมฝนแรง โดยเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคนั้นสามารถระบาดไปตามลมและน้ำเข้าทำลายพืชเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม ในระยะพืชแตกใบอ่อน หรือใบที่เกิดจากการทำลายของแมลง และถ้าหากมีการระบาดมาก ๆ อาจส่งผลให้ต้นไม้ทรุดโทรม ใบร่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่มีคุณภาพ ผิวไม่สวย และขายไม่ได้ราคา สำหรับวงจรการเกิดโรคแคงเกอร์ โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคแคงเกอร์นั้นจะสามารถเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณบนใบ กิ่งและผล ของพืชตระกูลส้ม มะนาว และมะกรูดได้ เมื่อมีความชื้นหรือหยดน้ำเกาะที่บริเวณจุดแผล และปล่อยเซลล์แบคทีเรียออกมา ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปในส่วนอื่นของพืชได้ น้ำฝนที่หยดผ่านใบที่มีเชื้อก็จะแพร่กระจายออกไปในส่วนอื่น โดยปกติแล้วความเร็วลมที่ 8 m/s จะช่วยให้แบคทีเรียแทรกเข้าสู่พืชได้โดยผ่านทางปากใบและบาดแผลต่าง ๆ เช่น แผลที่เกิดจากรอยขีดข่วนหรือเสียดสีกันของกิ่ง หนาม การกัดกินของหนอนชอนใบ และเม็ดทรายจากลมพายุ รวมถึงแผลที่เกิดจากการถูกเครื่องมือทางเกษตร ซึ่งเชื้อที่ถูกลมพัดไปนั้นจะสามารถไปได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส หากอยู่ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเข้าทำลายก็จะเกิดการบ่มเชื้อและแสดงอาการหลังจากปลูกเชื้อแล้วประมาณ 60 วัน หรือมากกว่านั้น โดยการเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคแคงเกอร์นั้นจะเกิดขึ้นในระหว่างแผลที่ขยายออกไปและปริมาณต่อจุดแผลนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้านทานโรคของพืช ซึ่งเชื้อที่อาศัยอยู่ในแผลใบ กิ่ง หรือผล จะสามารถมีอายุอยู่ได้นาน แต่เชื้อแบคทีเรียที่ออกมาสู่ผิวของพืชจะตายเมื่อโดนแสงแดด โดยการตายของเชื้อนั้นจะเร็วขึ้นถ้าหากโดนแสงอาทิตย์โดยตรง เชื้อแบคทีเรียจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดในดินได้เพียงไม่กี่วันและมีชีวิตอยู่บนเศษพืชที่ตกอยู่บนดินได้ไม่กี่เดือน แต่ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายปีในเนื้อเยื่อพืชที่ถูกเก็บไว้จนแห้ง และไม่มีดิน ตลอดในช่วงฤดูฝนเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคแคงเกอร์จะออกจากแผลและกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อในอนาคต โดยเชื้อนั้นจะอยู่ได้นานถึง 6 เดือน บนใบที่เป็นแผล อยู่บนกิ่งได้ 7 เดือนหรือมากกว่า อยู่ในดินที่ผ่านการฆ่าเชื้อได้ 9 วัน ส่วนดินที่ไม่ได้ฆ่าเชื้ออยู่ได้ 52 วัน และอยู่ในดินที่ผึ่งแดดได้ 12 วัน ซึ่งเชื้อนี้สามารถติดไปกับเสื้อผ้า พลาสติก และเครื่องมือทางการเกษตรได้
การป้องกันและกำจัด
- ก่อนจะซื้อพืชมาปลูกควรคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่ปลอดโรคแคงเกอร์และโรคอื่น ๆ ควรศึกษาข้อมูล หรือสอบถามในกลุ่มเกษตรกรว่าซื้อกิ่งพันธุ์มาจากสวนไหน แต่ถ้าจะให้แน่ใจควรไปดูที่สวนด้วยตัวเอง
- พืชตระกูลส้มหรือมะนาวที่สมบูรณ์และแข็งแรงนั้นมีช่วงเวลาที่อ่อนแอต่อโรค ประมาณ 90 วัน นับตั้งแต่กลีบดอกเริ่มร่วง ให้เฝ้าระวังการติดเชื้อเป็นพิเศษ ใช้แคงเกอร์น็อค 7 วัน
- เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas สามารถเกาะติดอยู่ในชั้นดินบริเวณรากของวัชพืช วัชพืชที่เป็นไม้เลื้อยหรือแทงยอดไปในบริเวณต้นพืชตระกูลส้มหรือมะนาวเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ซ้ำหลังจากถูกกำจัดไปจากต้นแล้ว นั่นเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่เกษตรกรไม่อาจอยู่ร่วมกับวัชพืชได้
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องมือทางการเกษตรอยู่เสมอ เพราะเชื้อแบคทีเรียสามารถติดกับเครื่องมือทางการเกษตรและนำไปสู่การแพร่ระบาดได้
- ตัดแต่งทรงพุ่มของต้นมะนาวให้โปร่ง อย่าปล่อยให้มีกิ่งแขนงเล็ก ๆ บดบังแสงแดดที่ส่องมายังต้นมะนาว รวมถึงบริเวณโคนต้นด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียทั้งหลายจะถูกทำลายโดยแสงยูวีหรือความร้อน
- ให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม การที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยสารเคมีหรือสารเร่งโตมากเกินความจำเป็นจะส่งผลให้มะนาวโตและยืดโครงสร้างของเซลล์มากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุของการสะสมเชื้อราและแบคทีเรียทั้งหลาย
- ทำการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงอะบาแม็กติน เพื่อกำจัดหนอนชอนใบ และไข่หนอนผีเสื้อกลางคืนทุก ๆ 4-7 วัน ในอัตราส่วนที่กำกับตามสลากยา โดยไม่จำเป็นต้องใช้เกินปริมาณที่กำหนดเพราะแมลงอาจดื้อยาได้ในอนาคต กรณีเป็นแมลงปากกัดให้ใช้ยาไธอะมีโทแซม (Thiamethoxam) ซึ่งควรจะเปลี่ยนยาทุก ๆ 2 เดือนสลับกันไป เพื่อป้องกันการดื้อยาของแมลง
- หลีกเลี่ยงการปลูกมะนาว หรือพืชตระกูลส้มที่อ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์ในบริเวณแปลงปลูกหรือใกล้เคียงแปลงปลูก เพราะจะเป็นแหล่งสะสมและแพร่ระบาดของโรคไปยังต้นส้มเขียวหวานที่ปลูกในแปลงได้
- หลีกเลี่ยงการรดน้ำมะนาวในช่วงเวลาเย็นตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากเชื้อราและแบคทีเรียจะเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีอากาศเย็นความชื้นสัมผัสสูง และไม่ควรใช้สปริงเกอร์แบบกระจายไปทั่วสวน แต่ควรกำหนดเฉพาะจุดโคนต้นมะนาวเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นในใบและกิ่งของมะนาว
- หลีกเลี่ยงการทำให้ใบและกิ่งของมะนาวเกิดแผลหรือรอยถลอกต่าง ๆ ห้ามให้กิ่งเสียดสีกันเอง หรือเสาค้ำต้นมะนาวทำความสะอาดหรือจุ่มเครื่องมือตัดแต่งกิ่ง หรือตอนกิ่ง ในแคงเกอร์น็อค
- ปลูกต้นไม้หรือสร้างแนวยังลมเพื่อลดความเร็วลมในการพัดพาเชื้อสาเหตุของโรคแคงเกอร์ และหลีกเลี่ยงการทำงานในสวนที่มีหยดหรือละอองน้ำติดอยู่ที่ใบพืช
- ใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดโรคพืชไบออนแบค (BionBac) ในระยะออกดอกจนถึงระยะที่ติดผล ในอัตรา 25-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก ๆ 7-10 วัน จนกระทั่งห่อผล ใช้สารอัตราสูงในระยะเริ่มต้น หากควบคุมอาการของโรคได้ หรือถ้าหากไม่ปรากฏอาการของโรคให้ลดอัตราการใช้และจำนวนครั้งลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หากอาการของโรครุนแรงให้ใช้ไบออนแบค (BionBac) สลับกับยาปฏิชีวนะ เมื่อใกล้ระยะห่อผลให้ใช้ไบออนแบคเพียงอย่างเดียวเพื่อลดอันตรายจากพิษตกค้าง (หลีกเลี่ยงการใช้ในช่วงระยะการเจริญเติบโต และต้องมีการควบคุมหนอนชอนใบ) หรือใช้นอร์ด็อก ซูเปอร์ 75 ดับเบิลยูจี (คิวปรัสออกไซด์) อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยเริ่มพ่นเมื่อพบการระบาดของโรค และพ่นซ้ำทุก 7 วัน
- นำปูนกินหมาก 2 ขีด มาผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที จากนั้นกรองเอาแต่น้ำปูน แล้วใช้เศษผ้าชุบน้ำปูนทาบาง ๆ บริเวณลำต้นของมะนาวที่เกิดโรค โดยครั้งแรกให้ทา 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 ครั้ง จากนั้นให้ทาสัปดาห์ละครั้ง และสังเกตว่าถ้าอาการของโรคลดลง ให้ทาเหลือเดือนละ 1 ครั้ง ใช้เป็นประจำ เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจาย
- นำปูนขาวก่อสร้าง 1 ถุง ขนาด 5 กิโลกรัม มาละลายกับน้ำเปล่า 100 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ให้นอนก้น จากนั้นให้กรองเอาเฉพาะน้ำปูนใสประมาณ 2 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 100 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว 7 วัน/ครั้ง เพื่อป้องกันและกำจัดโรคแคงเกอร์ที่กำลังระบาด
แหล่งที่มา
สวนเกษตรผสมผสาน นครปฐม, วิธีรักษาโรคแคงเกอร์ในมะนาว ส้มโอ มะกรูด ส้มเขียวหวาน แบบปลอดสารเคมี