โรคใบสีส้ม โรคสำคัญของข้าวที่ชาวนาต้องรับมือ

ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้รับผลกระทบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวที่ต่ำลง ราคาปุ๋ยเคมีแพง วัชพืช ศัตรูพืชอื่น ๆ เช่น หอย ปู หนู นก ที่กัดกินต้นข้าว และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือเชื้อรา หรือโรคพืชที่เกิดขึ้นกับข้าว โดยเฉพาะโรคใบสีส้ม โดยโรคใบสีส้มสามารถเป็นได้ทุกระยะตั้งแต่ต้นกล้าไปจนถึงตั้งท้องออกรวง แต่ต้นข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอจะได้รับความเสียหายมากที่สุด ต้นที่เป็นโรคใบอ่อนจะมีลักษณะเป็นรอยด่างของคลอโรฟิลล์ที่ถูกทำลายหายไป จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ลำต้นแคระแกร็น นอกจากนี้ใบล่างจะตกลงต่ำ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แตกกอน้อย การเจริญเติบโตของรากไม่ดี ออกรวงช้ากว่าปกติ รวงข้าวมีเมล็ดน้อยกว่าปกติหรือเมล็ดข้าวอาจเปลี่ยนเป็นสีดำ น้ำหนักเบา และหากได้รับเชื้อรุนแรงก็อาจจะส่งผลให้ต้นข้าวตายลงได้

สาเหตุของการเกิดโรค

โรคใบสีส้ม เกิดจากเชื้อไวรัส Rice Tungro Bacilliform Virus (RTBV) และ Rice Tungro Spherical Virus (RTSV) คุณวิชชุดา รัตนากาญจน์ นักวิชาการโรคพืช 7ว. ได้กล่าวถึงไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบสีส้มไว้ว่า การเกิดโรคใบสีส้มของข้าว มีสาเหตุมาจากไวรัส 2 ชนิดคือ ชนิดอนุภาครูปทรงกลม (RTSV) และชนิดอานุภาครูปท่อนปลายมน (RTBV) โดยมีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงพาหะ

โรคใบสีส้ม สาเหตุ
www.svgroup.co.th

ลักษณะอาการของโรค

โรคใบสีส้มสามารถเกิดได้ในทุกระยะของต้นข้าว ตั้งแต่ต้นกล้า แตกกอ ตั้งท้อง ออกรวง หากเกิดในระยะต้นกล้าจะทำให้ข้าวได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากข้าวจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ต้นข้าวไม่สามารถหาอาหารได้ ทำให้ต้นกล้าชะงักและไม่เจริญเติบโต โดยหลังจากที่ต้นข้าวได้รับเชื้อ 15-20 วัน ข้าวจะเริ่มแสดงอาการของโรค ลักษณะที่จะเห็นได้ชัดคือ เริ่มแรกจะเห็นเป็นขีดช้ำยาวไปตามเส้นใบ ต่อมาใบของต้นข้าวจะเริ่มเหลือง และเป็นสีส้มตั้งแต่ปลายใบเข้าไปหาโคนใบ กาบใบและลำต้น หากได้รับเชื้อรุนแรงในระยะต้นกล้า ต้นกล้าสามารถตายลงได้ทั้งกอ แต่หากได้รับเชื้อในระยะตั้งท้องหรือออกรวง จะส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง ออกรวงเล็ก หรืออาจจะออกรวงแต่ช้ากว่าปกติ และนอกจากนี้ลำต้นของต้นข้าวก็จะมีลักษณะแคระแกร็น ลำต้นสั้นกว่าปกติ ทั้งนี้แผลของโรคหรือความรุนแรงที่ได้รับจากเชื้อ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์ข้าวที่เราเลือกนำมาปลูกด้วยเช่นกัน

โรคใบสีส้ม ลักษณะ

การแพร่ระบาด

การแพร่ระบาดของโรคใบสีส้มเกิดจากเพลี้ยจักจั่นสีเขียว โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเพลี้ยจักจั่นสีเขียวไว้ว่า เพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงศัตรูพืชจำพวกปากดูด ที่พบทำลายข้าวในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Nephotettix virescens (Distant) และ Nephotettix nigropictus (Stal) เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า และมีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก

นายสุวัฒน์ รวยอารีย์ยังกล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดมีอยู่ทุกแห่งของการปลูกข้าว แต่ชนิดและปริมาณจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะการปลูกข้าวและสภาพแวดล้อม ถ้าการชลประทานดี ชาวนาปลูกข้าวได้ตลอดปี อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝนพอเหมาะ เพลี้ยจักจั่นสีเขียวในท้องที่นั้นก็จะมีมาก  โดยจะพบในนาปีมากกว่านาปรัง เนื่องจากข้าวนาปีปลูกในฤดูฝน ทำให้อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโต และขยายพันธุ์

ลักษณะการแพร่ระบาด จะมีดังนี้

  1. เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า มีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ
  2. ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก
  3. ฤดูการปลูกข้าวหนึ่งครั้ง เพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3-4ชั่วอายุ
  4. ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
เพลี้ยจักจั่นสีเขียว
erawanagri.com

การป้องกันกำจัด

ในการป้องกันและจำกัดโรคใบสีส้มในข้าวมีหลากหลายวิธี ซึ่งทางเกษตรกรสามารถเลือกวิธีที่เหมาะสมกับต้นข้าว หรือระยะต้นข้าว เนื่องจากขั้นตอนการป้องกัน หรือวัตถุดิบที่ใช้จะแตกต่างกันออกไป หรือสามารถป้องกันได้ตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่สามารถต้านทานแมลงเพลี้ยจักจั่นสีเขียวได้ หรือสามารถเลือกใช้สารฆ่าแมลงในการกำจัดเพลี้ยได้ ซึ่งวิธีการป้องกันและกำจัดมีอะไรบ้างนั้นไปศึกษากันเลย

  • ใช้พันธุ์ข้าวต้านทานแมลง เช่น
    ข้าว กข9 เป็นชนิดของข้าวเจ้า ได้จากการผสม 3 ทางระหว่างสายพันธุ์ ชัยนาท 3176 กับพันธุ์ เนทีฟ 1) กับพันธุ์ดับเบิลยู 1256 (หรือ อีเค 1256) จากประเทศอินเดีย และพันธุ์ กข2 ของไทย โดยลักษณะเด่นของข้าว กข9 คือ สามารถต้านทานโรคใบหงิก ในสภาพธรรมชาติ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และบั่วปานกลาง ทดสอบผลผลิตโดยสถานีทดลองข้าวภาคกลาง
    ข้าว กข2 เป็นชนิดของข้าวเหนียว ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวเหนียวพันธุ์กำผาย 15 กับข้าวพันธุ์ไทชุง เนทีฟ 1 จากใต้หวัน และผสมกลับไปหาพันธุ์กำผาย 15 หนึ่งครั้ง โดยผสมพันธุ์ที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ ลักษณะเด่นของข้าว กข2 คือ ค่อนข้างต้านทานโรคใบสีส้ม ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียว
    ข้าว กข3 เป็นชนิดของข้าวเจ้า ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พื้นเมืองเหลืองทองนาปรัง กับไออาร์ 8 ซึ่งเป็นพ่อ แม่ เดียวกับ กข1 โดยผสมพันธุ์ข้าวที่สถานีทดลองข้าวบางเขน ลักษณะเด่นของข้าว กข3 คือ สามารถต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียว แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบหงิก และโรคใบจุดสีน้ำตาล
    นอกจากนี้ยังมีข้าวพันธุ์อื่น ๆ เช่น กข4 กข21 กข23 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 ชุมแพ 60 เก้ารวง 88 แก่นจันทร์ นางพญา 132 พวงไร่ ที่เป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานเพลี้ยจักจั่นสีเขียว และโรคใบสีส้มอีกด้วย
  • กำจัดวัชพืช และพืชอาศัยของเชื้อไวรัส ซึ่งวิธีการในการกำจัดวัชพืชที่เป็นสาเหตุโรค โดยการไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค และกำจัดวัชพืชที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ
  • ใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบแมลงตัวอ่อน ใช้สารป้องกันและกำจัดแมลงพาหะที่เป็นตัวอ่อน เช่น
    สารไดโนทีฟูเรน เป็นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว เป็นต้น  อัตราการใช้คือ 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
    สารบูโพรเฟซิน เป็นสารยับยั้งการลอกคราบของแมลง ควบคุมการฟักไข่ ลดการวางไข่ จึงสามารถควบคุมแมลงได้นาน ป้องกันกำจัดเพลี้ย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น อัตราการใช้คือ 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
    อีโทเฟนพรอกซ์ เป็นสารกำจัดแมลงที่มีความเป็นพิษต่ำมากต่อมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังไม่ตกค้างในสภาพแวดล้อมนาน เหมาะสมสำหรับ ข้าว ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ โดยอัตราการใช้กับแมลงจะแตกต่างกัน
    – เพลี้ยในข้าว ใช้อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (อัตราการใช้น้ำ 40 ลิตรต่อไร่) พ่นให้ทั่วเมื่อพบเพลี้ยในนาข้าว
    – เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใช้อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (อัตราการใช้น้ำ 40 ลิตรต่ำไร่) พ่นให้ทั่วเมื่อพบการระบาดในข้าว
  • ใช้สารสำหรับแมลงตัวเต็มวัย หากพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย ให้ใช้สารดังนี้
    สารไทอะบีโทแซม (แอคทาร่า 25% ดับบลิวพี) เป็นสารที่ออกฤทธิ์แบบดูดซึม คุมได้นาน เป็นผงใช้ง่าย ไม่ฟุ้งกระจาย เป็นยาเย็น ใช้ป้องกันกำจัดแมลง อัตราการใช้     1-5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับฉีดพ่นเพื่อป้องกันเพลี้ยหรือแมลง และหากพบเพลี้ยแมลงระบาดควรใช้ในอัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 2 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
    สารไดโนทีฟูแรน (สตาร์เกิล 10% ดับบลิวพี) เป็นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว เป็นต้น  อัตราการใช้คือ 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคใยสีส้ม ป้องกันกำจัด
www.thairath.co.th

นายสุวัฒน์ รวยอารีย์ ยังได้รวบรวมยาฆ่าแมลงที่ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียวที่ได้ผลดี ได้แก่

  1. พวกยาเม็ด ได้แก่ คาร์โบฟูแรน 3% ยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีชื่อทางการค้าว่า ฟูราแดน,คูราแทร์ เป็นต้น ยานี้ใช้ในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ หว่านให้ทั่วแปลง
    – แปลงกล้า หว่านยาหลังตกกล้า 10 วัน เพียงวันเดียว
    – แปลงปักดำ หว่าน 1-2 ครั้งๆ แรก 7-10 วัน หลังปักดำถ้ายังมีแมลงและโรคระบาดอยู่อีกก็หว่านยาครั้งที่สอง โดยใช้ยาหลังจากใช้ครั้งแรกแล้ว 20 วัน
    การใช้ยาเม็ดมีข้อจำกัดคือ ระดับน้ำในนาต้องไม่ลึกเกินไป ระดับน้ำที่พอเหมาะคือ 5-10 เซ็นติเมตร และยาเม็ดที่กล่าวมาจะเป็นพิษต่อปลาสูง เมื่อใช้แล้วปลาในนาจะตายเป็นจำนวนมาก
  2. ยาผสมน้ำฉีดพ่น
    – ยาผง เอ็ม.ไอ.พี.ซี  50% เช่น มิพชิน
    – ยาผง เอ็ม.ที.เอ็ม.ซี 50% เช่น ซูมาไซด์
    – ยาผง คาร์บาริล 85% เช่น เชวิน
    – ยาน้ำ บี.พี.เอ็ม.ซี 50% เช่นบัสซ่า,ฮอดชิน
    2.1 ยาผง ใช้ในอัตรา 40 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร สำหรับยาน้ำใช้ในอัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
    2.2 แปลงกล้า ใช้ยาผสมน้ำฉีดพ่นหลังตกกล้า 10 วัน ระยะกล้าใช้ยา 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้ยาห่างกัน 10 วัน
    2.3 แปลงปักดำ ใช้ยาผสมน้ำฉีดพ่นหลังปักดำ 7-10 วัน และใช้ยาห่างกันทุก 10 วัน การใช้ยาฉีดพ่นแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณของเพลี้ยจักจั่นสีเขียวซึ่งเป็นพาหะนำโรค ถ้าไม่มีแมลงระบาดอีกก็หยุดการใช้ยา และหากข้าวเริ่มออกรวงถึงแม้จะมีแมลงพาหะอยู่บ้าง ข้าวจะมีความเสียหายไม่รุนแรง หากเกิดโรคใบสีส้มในระยะนี้ก็ไม่ควรใช้ยาเช่นกัน
    ในการใช้สารกำจัดแมลง ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลาย ๆ ชนิด หรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืช หรือสารกำจัดวัชพืช เพราะอาจจะทำให้ประสิทธภาพของสารฆ่าแมลงลดลง และไม่ควรใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน ไซฮาโลทริน เดลต้ามิทริน นอกจากนี้ยังไม่ควรใช้สารเดิมทุกๆ ปี เนื่องจากจะทำให้เพลี้ยจักจั่นสีเขียวดื้อยาได้ หากข้าวเป็นระยะแตกกอเต็มที่ไม่ควรใช้ยาเม็ดในการกำจัดแมลง เนื่องจากระยะนี้ใบข้าวจะปกคลุมหนาแน่น ยาเม็ดที่หว่านอาจจะตกค้างอยู่ที่ใบหรือข้อต่อของใบและกาบใบ จะทำให้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ควรใช้วิธีการฉีดพ่นยาจะได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า
  3. เมื่อระบาดรุนแรงควรงด หากสามารถปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรง ควรงดการปลูกข้าว 1-2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตแมลงพาหะ หรือหากไม่สามารถงดการปลูกข้าวได้ ก็ต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่สามารถต้านทานแมลงการทำลายของเพลี้ยจักจั่นสีเขียว จะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก แต่ก็จะมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างเช่นกัน เป็นต้นว่าจะต้องคำนึงถึงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงพอควร สุขภาพของเมล็ด ดีตรงตามความต้องการของตลาดหรือไม่อีกด้วย

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีวิธีการป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่นสีเขียวอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ อย่างการติดไฟล่อแมลงให้บินมาเล่นแสงไฟและทำลาย และที่สำคัญต้องไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นสีเขียวด้วย

โรคใบสีส้ม
www.cpsskerala.in

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้