รู้จักกับ ‘บอนสี’ ต้นไม้มาแรงแห่งปี มี่กี่ประเภท?

Facebook

ที่จริงบอนสีนั้นมีมานานมาแล้ว แต่กลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคปัจจุบัน จนกลายเป็นไม้กระแสแรง คนรักต้นไม้ที่ไม่ได้เลี้ยงบอนสี จะรู้สึกเหมือนสวนขาดอะไรไปอย่างหนึ่งแน่นอน บอนสีไม้ประดับใบสวยงาม ที่ใบมีลักษณะโดดเด่น มีทั้งความสวยงาม ทั้งสีสันและลวดลายที่หลากหลายแปลกตา มีความเป็นเอกลักษณ์สูง จนได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งไม้ใบ (Queen of the Leafy Plants) แต่บอนสีนั้นมีด้วยกันหลายสายพันธุ์ หลายชนิด การจะเลี้ยงบอนสีอย่างจริงจัง จึงต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ถี่ถ้วน เราจะพาไปทำความรู้จักกับบอนสี ราชินีแห่งไม้ใบ ใคร ๆ ก็อยากปลูกไว้ประดับสวน มีประเภทไหนบ้าง

บอนสี คืออะไร

บอนสี Caladium มีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้และประเทศในเขตร้อน ว่ากันว่าบอนสีเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยก่อนนิยมเรียกกันว่า บอนฝรั่ง บอนสีนั้นเป็นไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีหัวหรือเหง้าเป็นลำต้นฝังอยู่ใต้ดิน แตกใบออกมาเป็นกอ มีก้านใบที่ยาวขึ้นมาเหนือพื้นดิน มีหลากหลายรูปทรง ทั้งที่เป็นใบรูปหัวใจ ใบรีรูปไข่ ฯลฯ ชอบแสงแดดแบบรำไร ชอบความชื้นสูง เติบโตได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 21 – 35 องศาเซลเซียส

ความแตกต่างของบอนสีแต่ละประเภท อยู่ที่ลักษณะและขนาดของใบ รูปร่างรูปทรงจะแตกต่างกัน บอนสียังจัดว่าเป็นไม้มงคล ทำให้ได้รับความนิยมปลูกไว้ในบ้าน เพราะจะทำให้ร่มเย็นเป็นสุขได้รับแต่สิ่งดี ๆ มีสิริมงคล ปัจจุบันนักเลี้ยงบอนสีได้มีการปรับปรุงพัฒนา ผสมบอนสีจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยบอนสีแบ่งลักษณะออกเป็น 2 แบบ คือ

แบ่งตามลักษณะรูปใบ

1. บอนสีใบไทย (Thai-Native Leaf Caladium)

รูปใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม บริเวณก้านใบจะกลมตั้งแต่กึ่งกลางใบ หูใบฉีก แต่จะไม่ฉีกถึงสะดือหรือจุดที่เส้นใบมาชนกัน เช่น พันธุ์เทพทรงศีล ภูพิงค์ สกุนตลา พลายชุมพล น้อมเกล้า พระยามน

2. บอนสีใบยาว (Long-Leaf Caladium)

รูปใบเป็นรูปไข่ ใกล้เคียงกับรูปหัวใจ ลักษณะคล้ายบอนสีใบไทย แต่ขนาดใบจะเรียวแหลมมากกว่า ก้านใบจะกลมจากโคนใบ และยาวฉีกจนถึงก้านใบ มีรอยหยักบริเวณโคนใบ เช่น พันธุ์ดอนเจดีย์ ก้านกล้วย เทพธิดา ทรัพย์ประเสริฐ เจ้าหญิง

3. บอนสีใบกลม (Round-Leaf Caladium)

มีรูปใบกลมป้อม บริเวณปลายใบจะมนสม่ำเสมอ หรืออาจจะมนแล้วมีติ่งแหลม ตัวก้านใบจะกลม และจะอยู่ตรงกึ่งกลางของใบคล้ายใบบัว เช่น พันธุ์เมืองหลวง รัตนาธิเบศร์ เมืองศรีเกษ เมืองอุบล

4. บอนสีใบกาบ (Sheath-Leaf Caladium)

รูปใบคล้าย ๆ จะเป็นหัวใจ แต่ที่แตกต่างจากบอนใบไทยก็คือ ก้านใบจะเป็นกาบและจะมีรยางค์ที่เรียกกันว่าแข้ง ซึ่งก็คือส่วนที่ยื่นออกมาจากก้านใบ ลักษณะคล้ายใบเล็ก ๆ อยู่กึ่งกลางของก้านนั่นเอง บอนสีใบกาบนั้นก้านใบจะแผ่แบนตั้งแต่โคนใบไปจนถึงแข้ง คล้าย ๆ ใบผักกาด เช่น พันธุ์รัชมงคล ฤาษีมงคล เทพพิทักษ์ กวักทรัพย์เกษม เทพกุญชร

5. บอนสีใบไผ่ (Lance-Leaf Caldium)

มีรูปใบเป็นทรงหอกใบแคบ หรือเป็นเส้นที่มีใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่ ส่วนหูใบจะค่อนข้างสั้น ความกว้างของใบประมาณ 2 นิ้ว เช่น พันธุ์ไผ่สยาม ไผ่สดม ธารทิพย์ สายใยรัก หยกมณี ใบไผ่สีดำ

แบ่งตามลักษณะสีสัน

1. บอนไม่กัดสี

ลักษณะคือสีของใบบอนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เริ่มออกใบขึ้นมา จนกระทั่งโตเต็มที่ สีใบก็จะไม่เปลี่ยน หรือสีจะคล้ายตอนเป็นใบอ่อน มีหลายชนิดหลายสายพันธุ์ เช่น บอนสีตับวีรชน นายจันหนวดเขี้ยว เป็นสายพันธุ์บอนไทยที่มีสีแดงเข้มตั้งแต่เริ่มออกใบ จนโตเต็มวัย

2. บอนกัดสี

ลักษณะคือสีของใบบอนจะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเริ่มออก ใบจะมีสีเขียว เมื่อโตเต็มที่สีใบจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือสีแดง หรือใบอาจจะมีลายจุด หรือเหมือนมีการแต้มสีลงบนใบเพิ่มมาด้วย ลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากบอนที่มีการนำไปผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมา

3. บอนป้าย

ลักษณะคือสีของใบบอนเป็นแบบที่มีแถบด่างสีแดงพาดไปบนแผ่นใบสีเขียว โดยเราจะเริ่มสังเกตเห็นลักษณะบอนป้ายแบบนี้ ตั้งแต่เริ่มแตกใบแรกของต้น และใบที่ 2 – 3 จะออกตามมาเหมือนกัน เช่น พันธุ์อัปสรสวรรค์

4. บอนด่าง

ลักษณะคือสีของใบบอนจะมีด่างสีขาวอมเขียวอ่อน หรือด่างสีขาวอมสีแดง อยู่บนพื้นใบเขียว และจะมีบ้างที่จะออกเป็นใบด่างเหลือง 

เลี้ยงดูบอนสีอย่างไร? ให้เติบโตสวยงาม

ดิน

บอนสีเป็นไม้ที่ชอบดินร่วนซุย สามารถระบายน้ำได้เร็ว ดินปลูกควรระบายอากาศได้ดี โดยผสมกาบมะพร้าวสับ หรือแกลบลงไปในดิน และควรเป็นดินที่มีแร่ธาตุ และสารอาหารสูง

น้ำ

เป็นไม้ที่ต้องการน้ำมากพอสมควร หากปลูกลงดินทั่วไป ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น แต่ไม่ควรฉีดน้ำที่โคนต้นโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ต้นบอนสีหักได้ง่าย หากปลูกบอนสีในกระถาง ควรมีจานรองใส่น้ำไว้อย่าปล่อยให้แห้ง

แดด

ระดับของแสงแดดจะส่งผลต่อสีสัน ลวดลายของบอนสี หากได้รับแสงแดดน้อยเกินไป ใบจะซีดไม่สดใส หากได้แสงแดดมากเกินไป ก็จะทำให้ใบเหี่ยวและไหม้เป็นรอยได้ ควรให้รับแสงแดดที่พอเหมาะ เช่น แสงรำไรในช่วงเช้าและช่วงบ่ายค่อนเย็น ให้อุณหภูมิไม่ร้อนจัดมาก หากได้แดดพอเหมาะ จะทำให้บอนสีมีสีสดใส ใบเข้ม ลวดลายสวยงาม

ความชื้น

บอนสีเป็นไม้ชอบความชื้น จะเติบโตได้ดีในหน้าฝนที่มีความชื้นในอากาศสูง ส่วนในฤดูหนาวและฤดูร้อนจะไม่ค่อยแตกใบ หากต้องการเลี้ยงบอนสีในฤดูหนาวและฤดูร้อน ควรเลี้ยงในตู้หรือในโรงเรือนหลังคาเตี้ย เพื่อช่วยรักษาระดับความชื้นในอากาศ ที่จะส่งผลให้บอนสีเติบโตสวยงาม

ปุ๋ย

ใช้ปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยคอก ที่เป็นปุ๋ยจากมูลหมูและมูลไก่จะเหมาะกับบอนสีมากกว่าปุ๋ยมูลวัว หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ครั้งละไม่มาก และต้องระวังไม่ให้ปุ๋ยโดนใบบอน เพราะจะทำให้เกิดรอยไหม้ขึ้นมาได้

การขยายพันธุ์บอนสี

บอนสีนั้นเป็นไม้ที่เราสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี มีวิธีใดบ้าง ไปดูกันเลย

แยกหน่อ

บอนสีเมื่อโตได้ประมาณ 4 เดือน จะเริ่มออกหน่อที่โผล่พ้นออกมาใหม่ จากบริเวณโคนต้นแม่ เราสามารถขุดแบ่งหน่อไปปลูกใหม่ได้

ผ่าหัว

หรือเหง้าบอนสีที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน – 1 ปี สามารถแบ่งผ่าให้มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปล้างให้สะอาด แล้วนำไปชำไว้ในกระบะทราย ประมาณ 15 วัน ก็จะงอกขึ้นมา จากนั้นให้นำไปปลูกลงดินหรือลงกระถางได้เลย

ผสมเกสร

ช่วงเวลาที่บอนสีออกดอกและบานคือหนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม ให้เราทำการผสมเกสรในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และจะแก่เต็มที่ภายในเวลา 1 เดือน เราก็สามารถนำเมล็ดไปเพาะทรายให้งอกใหม่ได้ ภายในเวลา 15 วัน

เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือปั่นตา

สามารถนำเนื้อเยื่อบอนสีไปเพาะเลี้ยงในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิความชื้น และแสงสว่าง แต่การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ อาจจะทำให้บอนสีกลายพันธุ์ได้สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์

บอนสีนั้นเป็นไม้ที่คนรักต้นไม้อยากปลูกประดับตกแต่งบ้าน เพราะได้ทั้งความสวยงาม และได้ความเป็นมงคล สำหรับคนปลูกและผู้อยู่อาศัย แต่ก็เป็นไม้ที่ขึ้นชื่อเรื่องเลี้ยงดูให้สวยงามยากอยู่เหมือนกัน เพราะต้องใส่ใจดูแลเป็นอย่างมาก แต่ไม่ว่าอย่างไร คนรักต้นไม้หลายคนก็หลงรักบอนสี เพราะเป็นไม้ใบในระดับตำนาน และมีราคาค่อนข้างสูง มีความเชื่อที่ว่าบอนสีนั้นควรลงมือปลูกวันอังคารและควรปลูกในด้านทิศตะวันออกของบ้าน ใครที่กำลังคิดจะเลี้ยงบอนสี บอกเลยว่าต้องมีเวลาทุ่มเทให้พอสมควร เมื่อออกดอกออกใบสวยงามแล้ว จะพบกับความสุขอย่างหาที่สุดไม่ได้จริง ๆ