ปัญหากวนใจคนรักต้นไม้อีก 1 ปัญหาก็คือ ไม่ว่าเราจะดูแลต้นไม้ดีอย่างไร รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ทำทุกวิธีก็แล้ว ต้นไม้ที่เรารักก็ไม่เติบโตซะที แถมยังแห้งเหี่ยว ใบเฉา หรือใบสีน้ำตาล ใบไหม้แดดซะอีก ส่วนหนึ่งเลยอาจจะเกิดจากการปลูก การดูแล แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เรารู้จักธรรมชาติของต้นไม้นั้น ๆ น้อยไป หรือศึกษาข้อมูลมาไม่ดีพอว่า ต้นไม้ของเรานั้น ชอบน้ำมาก น้ำน้อย ชอบแดดจัด ชอบแสงรำไร เพราะหากไม่เข้าใจอย่างจริงจังแล้ว อาการรากเน่าจากความชื้น และเชื้อราจุดสีน้ำตาลเป็นรอยด่าง หรือเกรียมแดดจนใบไหม้ขอบเหลือง ก็จะวนเวียนมาไม่รู้จบ ซึ่งก็เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งดินเสื่อม รดน้ำมากไป อากาศไม่ถ่ายเท การดูแลต้นไม้จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจรายละเอียดมาก ๆ แต่ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรามี How to คืนชีพให้ต้นไม้ที่มีอาการโคม่า เพราะความชื้นมากไปและใบไหม้เพราะแดด มาฝากกัน
ดินแน่น ไม่เคยเปลี่ยนดิน
สาเหตุแรกเรียกได้ว่าเป็นปัญหาแบบเส้นผมบังภูเขาของคนรักต้นไม้จริง ๆ เพราะหลายคนยังเข้าใจว่าการที่ต้นไม้มีดินเยอะ ๆ จะเติบโตแข็งแรงได้ดี จึงคิดว่าการเติมดินซ้ำ ๆ ลงไปบ่อยจะช่วยได้ ซึ่งการเติมดินด้านบนนั้น จะไปทำให้ดินแน่นจนไม่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีช่องว่างให้ออกซิเจนลงไปในดิน รวมถึงน้ำท่วมขังได้ง่าย ๆ ส่งผลให้รากเน่า หรือมีโอกาสเกิดเชื้อแบคทีเรียในราก หรือที่เรียกว่าโรค Soft Rot ดังนั้น การพรวนดินและเปลี่ยนดินในกระถางบ่อย ๆ จึงเป็นการช่วยให้ต้นไม้ของเราแข็งแรง
จำหน่ายดินปลูกต้นไม้ ตลาดพันธุ์ไม้ประเทศไทย
น้ำแฉะ น้ำขัง น้ำรอระบาย
เช่นเดียวกับปัญหาดินด้านบน คือการที่รดน้ำต้นไม้มากเกินไป ก็จะส่งผลเสียกับต้นไม้หลาย ๆ ชนิดได้ เพราะน้ำจะไปจับตัวจนดินเหนียวเป็นก้อน และไม่มีการระบายออก หรือเวลาปลูกอาจจะผสมวัสดุดูดซับน้ำไปด้วยมากเกินไป เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าว ฟางข้าว ฯลฯ หากน้ำในดินมีมากเกินไป จะทำให้เกิดเชื้อรา Pythium spp ลำต้นจะเหี่ยวเฉาไม่แข็งแรง ใบเหลืองแห้งและร่วง โดยจะเริ่มร่วงจากโคน ส่วนรากใต้ดินจะค่อย ๆ เน่า ซึ่งเรียกกันว่าโรครากเน่า Root Rot การเลือกวัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดีจึงมีความสำคัญ รวมถึงการรดน้ำในระยะเวลา และปริมาณที่เหมาะสมด้วย
รดน้ำต้นไม้ให้ถูกวิธี ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อย่างสวยงามแน่นอน
ตัดมาปักชำใหม่ ๆ ต้องระวัง
ต้นไม้ประเภทที่ตัดแล้วมาปักชำได้เลย ก็มักจะเกิดปัญหาโคนกิ่งเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือสีดำ ใบจะเริ่มเหี่ยวเหลือง และค่อย ๆ ร่วงโรยทีละนิด เพราะในช่วงระหว่างที่ตัดกิ่งมาปักชำนั้น ต้นไม้มักจะเกิดเชื้อรา Fusarium spp เมื่อนำไปปักชำจะทำให้บริเวณก้านส่วนล่างเน่า หรือบางทีอาจจะเกิดอาการกิ่งเน่าทั้งกิ่งเลยก็เป็นได้ อาการนี้เรียกว่าเป็นโรคโคนเน่า Stem Rot ทางที่ดีกิ่งที่ตัดมาปักชำใหม่ ควรทำความสะอาดตากให้แห้ง หรือใส่น้ำยากันเชื้อรา ก่อนนำมาปักชำลงดิน
ต้นไม้และสมุนไพร 10 ชนิด ตัดออกแล้วนำไปปลูกในน้ำได้ ไม่ง้อดิน !
ระบายน้ำได้ดีก็อาจจะมีปัญหา
ปัญหาไม่เกิดจากน้ำขังเพียงอย่างเดียว เพราะการที่น้ำไม่ขัง ระบายน้ำดีเกินไปก็เป็นปัญหาได้เช่นกัน หากเราใช้วัสดุปลูกอย่างเดียว เช่น กาบมะพร้าวสับ หรือผสมกับดิน ในปริมาณที่มากเกินไป หวังจะให้ระบายน้ำดี รากไม่เน่า แต่ก็จะมีข้อเสียคือ ทำให้เชื้อโรคที่อยู่บนผิวดิน แทรกเข้ามาตามช่องระบายนั้นได้ง่ายขึ้น ลักษณะเชื้อราประเภทนี้จะเป็นเม็ดกลมเล็กสีขาว ส่งผลให้โคนต้นแห้งและเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ใบจะค่อย ๆ แห้งตาม โรคชนิดนี้เรียกกันว่า โรคราเม็ดผักกาด Southern Blight ดังนั้น การผสมวัสดุปลูกต้องกำหนดสัดส่วนให้พอเหมาะ
เทคนิคการดูแลต้นไม้ในช่วงฝนตกหนัก น้ำท่วมสวน
ไม่มีอากาศถ่ายเทที่ดีพอ
หากต้นไม้ขาดการระบายอากาศที่ดี ก็จะเกิดปัญหาใบเป็นจุดสีน้ำตาลมีวงรอบเหลือง กินวงจากในใบสู่ขอบใบด้านนอก เรียกว่าอาการ Anthracnose ซึ่งเกิดมาจากเชื้อรา Colletotrichum spp หรือบริเวณขอบใบจะเป็นจุดสีน้ำตาลแดง มีขอบสีเหลืองล้อมรอบ และหากอากาศร้อนจะทำให้ขยายวง ขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการเหล่านี้เรียกว่าเกิดจากโรคใบจุด Leaf Spot การวางต้นไม้ต้องวางในจุดที่มีการระบายอากาศได้ดีด้วยเช่นกัน
10 วิธีดูแลต้นไม้ในร่ม สำหรับนักปลูกมือใหม่ ให้อยู่รอดและสวยเหมือนตอนซื้อ
วิธีแก้ไขอาการโคม่าของต้นไม้ของเราในเบื้องต้น
1. หากวางกระถางในบ้านไว้ในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ให้ย้ายออกมาโดยเร็ว มาวางในจุดที่มีแสงแดดรำไร และอากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น
2. ตัดราก ใบ ลำต้น ที่มีอาการต่าง ๆ ที่เชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียอาจลุกลาม แล้วนำไปเผา
3. เปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถางเพื่อช่วยให้การระบายน้ำดีขึ้น หากดินแน่นเกินไป ให้เปลี่ยนดินก้นกระถางใหม่ โดยการผสมใบไม้แห้ง หรือกาบมะพร้าวในสัดส่วนที่พอดีลงไปด้วย แล้วนำไปวางที่อากาศถ่ายเท เพื่อให้ต้นไม้ฟื้นฟูตัวเอง
4. หากต้นไม้ของเราโคม่ามาก ๆ อาการมีแต่ทรงกับทรุด หรือหากมีอาการใบแห้งเหี่ยว คล้ำหมอง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ฉีดพ่นด้วย Streptomycin เป็นประจำทุกสัปดาห์จนกว่าจะกลับมาสภาพดีขึ้น
5. หากสาเหตุเกิดจากเชื้อราเป็นหลักให้ฉีดสาร Captan หรือสาร Carbendacim เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยป้องกันเชื้อราลุกลาม แล้วเริ่มต้นตัดแต่งกิ่งใบ คอยดูแลให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
6. หากใบไหม้เพราะโดนแดดจัด ใบเป็นวงด่าง ให้รีบย้ายต้นมาไว้ในที่ ๆ มีร่มเงา แสงแดดรำไร และมีอากาศถ่ายเทสะดวก ตัดแต่งใบที่มีรอยด่างออกด้วยกรรไกร รอสังเกตอาการว่าจะมีใบแตกใหม่ออกหรือไม่ ถ้ามีการแตกใบก็เท่ากับว่าสามารถแก้ไขสาเหตุใบไหม้ได้ผลดีแล้ว
7. หากเราซื้อต้นไม้มาเพื่อลงกระถาง และนำมาตกแต่งภายในห้อง หรือโต๊ะทำงาน หากเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดด ก็ต้องรอให้ต้นไม้ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมให้ดีก่อน ไม่ควรรีบร้อนนำเข้าในร่ม ทางที่ดีควรตั้งไว้ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึง หรือแสงรำไรก่อน คอยสังเกตกิ่ง ก้าน ใบ หากต้นไม้เริ่มปรับสภาพได้แล้ว ก็นำไปไว้ภายในห้องหรือพื้นที่ที่ต้องการได้เลย
วิธีคืนชีพต้นไม้ที่มีอาการโคม่าไม่ใช่เรื่องยาก หากเราเข้าใจถึงปัญหาสาเหตุที่แท้จริง ต้องดูให้ชัดเจนถึงต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะต้นไม้แต่ละต้นอาจจะซื้อมาในราคาแพง หรือกว่าจะเลี้ยงดูให้เติบโตนั้นใช้เวลานาน หากปล่อยให้ตายจากกันไปอาจจะเกิดการเสียใจขึ้นมาได้แน่นอน แต่ก็อย่างที่ได้แนะนำไป อย่าพึ่งด่วนทิ้ง เพราะทุกปัญหาหรือโรคต่าง ๆ ของต้นไม้ยังมีทางออกเสมอ กับ How to คืนชีพให้ต้นไม้ที่มีอาการโคม่า เพราะความชื้นมากไปและใบไหม้เพราะแดด