ดิน(Soil) เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อมนุษย์ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ใช้ดินเพื่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นใช้สำหรับปลูกพืช ผัก เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกพืชที่สามารถแปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม เลี้ยงสัตว์ ปลูกยารักษาโรค หรือเรียกว่าใช้เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง นอกจากมนุษย์แล้วสัตว์เองก็เช่นเดียวกัน ใช้ดินเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และดินยังสามารถนำมาเป็นส่วนเป็นส่วนประกอบหรือวัสดุในการก่อสร้างบ้าน ถนน อาคารต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ดินคืออะไร
สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำนิยามของดินไว้ว่า “ดิน คือ วัตถุดิบตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากผลของการผุพังสลายของหินและแร่ ต่างๆ ผสมคลุกเคล้ารวมกับอินทรียวัตถุหรืออินทรียสาร ที่ได้มาจากการสลายของซากพืชและสัตว์ จนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะร่วนไม่เกาะกันแข็งเป็นหิน เกิดขึ้นปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบาง ๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเจริญเติบโตของพืช” โดยดินมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่ควบคุมการเกิดและพัฒนาการของดิน ซึ่งประกอบไปด้วย ภูมิอากาศ ปัจจัยทางชีวภาพ ความต่างระดับของพื้นที่หรือสภาพภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิด และระยะเวลาที่ต่อเนื่องในการเกิดดินหรือพัฒนาการดิน โดยดินแต่ละชั้นดินก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น สี เนื้อดิน โครงสร้างดิน ฯลฯ
ลักษณะและคุณสมบัติทั่วไปของดิน มีหลายประการ ซึ่งสามารถแยกเป็นคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมี ซึ่งเราจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญมีดังนี้
- คุณสมบัติทางสัณฐานวิทยา
กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า เป็นลักษณะและสมบัติทางกายภาพที่เกี่ยวกับโครงร่าง หรือรูปทรงของดิน ที่เราสามารถสังเกตได้จากหน้าตัดของดิน หรือจากหน้าตัดถนน บ่อขุด จะสังเกตุเห็นว่าดินแต่ละดินตามแนวลึก สามารถแบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ ได้หลายชั้น คุณสมบัติทางสัณฐานวิทยาที่สำคัญได้แก่ ความลึก ความหนาของชั้นดิน สีพื้นและสีจุดประของดิน โครงสร้างของดิน การเกาะยึดตัวของเม็ดดินช่องว่างในดิน กรวด หิน ลูกรัง ปริมาณรากพืช เป็นต้น
- คุณสมบัติทางกายภาพของดิน
เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสถานะและการเคลื่อนย้ายของสสาร การไหลของน้ำ สารละลาย และของเหลว หรือการเปลี่ยนแปลงของพลังในดิน เป็นสมบัติที่มองเห็นหรือสังเกตได้จากภายนอก คือ
– เนื้อดิน เป็นคุณสมบัติที่บ่งบอกถึงความหยาบ ความละเอียด ชิ้นส่วนเล็กๆ ของดิน หรือ อนุภาคของดิน และเนื้อดิน แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เป็นการแบ่งแบบง่าย ๆ ได้แก่ ดินทราย ดินร่วน และดินเหนียว
– โครงสร้างของดิน เป็นลักษณะของการจัดเรียงและการยึดเกาะกันของอนุภาคเดี่ยวของดิน เป็นเม็ดดิน ส่วนใหญ่ของอนุภาคดินเชื่อมยึดกันเป็นเม็ดดิน และเม็ดดินส่วนมากมีรูปทรงคล้ายคลึงกัน
– ความหนาแน่นและความพรุนของดิน จะมีผลต่อความยากง่ายในการไถพรวนของดิน ความยากง่ายในการชอนไชและแผ่นกระจายของรากพืช มีผลต่อการอุ้มน้ำ การระบายน้ำและอากาศในดิน
– สีของดิน เป็นคุณสมบัติที่เห็นได้ชัดเจนกว่าคุณสมบัติอื่น ๆ สีของดินมีหลายสี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสีแดง ดำ เหลืองเทา เทา และน้ำตาล โดยสีของดินมีประโยชน์ในการจำแนกชนิดและชั้นของดินในเชิงวิชาการด้วย
– ชั้นของดิน แบ่งได้ตามความลึกให้เห็นได้คือ ดินชั้นบนมีความลึกระหว่าง 0-15 เซนติเมตร ดินชั้นล่างลึกลงไปตั้งแต่ 15 เซนติเมตร และดินชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน โดยดินชั้นบนหรือดินชั้นไถพรวนเป็นดินที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูก เพราะรากพืชส่วนใหญ่จะชอนไชหาอาหารในชั้นนี้
- คุณสมบัติทางเคมี
เป็นสมบัติของดินที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยความรู้สึก จากการเห็นด้วยตา และสัมผัสด้วยมือ จะต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์ หรือกระบวนการทางเคมี เป็นเครื่องชี้บอก เช่น ความเป็นกรด-ด่างของดิน สภาพความเป็นกรดด่างของดินนั้นเราสามารถตรวจสอบ ปกติมักใช้บอกความเป็นกรด-ด่าง ด้วยค่าที่เรียกว่า พีเอช หรือนิยมเขียนสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ pH ความหมายของค่าอีเอชมีดังนี้ ช่วงของพีเอชของดินโดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ระหว่างประมาณ 3.0-9.0 ค่า pH 7.0 บอกถึงสภาพความเป็นกลางของดิน กล่าวคือ ดินมีตัวที่ทำให้เป็นกรด และตัวที่ทำให้เป็นด่างอยู่ในปริมาณเท่ากันพอดี ค่าที่ต่ำกว่า 7.0 เช่น 6.0 บอกสภาพความเป็นกรดของดิน ค่าของ pH ของดินสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความเป็นกรด ในภาคสนามสามารถใช้ชุดตรวจสอบชนิดใช้น้ำยาเปลี่ยนสีตรวจสอบ เรียกว่า pH Test Kit หรือชุดตรวจสอบ pH ซึ่งความเป็นกรด-ด่างของดินมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกอยู่ในดิน
- คุณสมบัติทางแร่วิทยา
เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับชนิด ปริมาณและองค์ประกอบของแร่ต่าง ๆ ในดิน ทั้งแร่ดั่งเดิมและแร่ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น แร่ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ ไมก้า แร่ดินเหนียวชนิดต่าง ๆ ออกไซด์ของเหล็กและอะลูมินัม ซึ่งมีความสำคัญต่อสมบัติอื่น ๆ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในดิน
- คุณสมบัติทางจุลสัณฐานวิทยา
เป็นสมบัติทางโครงร่างและองค์ประกอบของดิน ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วย ได้แก่ แว่นขยาย กล้องจุลทรรศน์ จะช่วยให้เข้าใจถึงลักษณะ สมบัติ และกระบวนการที่เกิดขึ้นในดินดีขึ้น
- คุณสมบัติทางชีวภาพ
เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในดินขนาดต่าง ๆ ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ดิน เกี่ยวข้องกับปริมาณและกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต่อกระบวนการที่เกิดขึ้นในดิน ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ
องค์ประกอบของดิน
กรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวไว้ว่า ดินโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย แร่ธาตุ อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน แต่ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ควรมีส่วนประกอบของแร่ธาตุ 45% อินทรียวัตถุ 5% น้ำในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน 25% และอากาศซึ่งเป็นช่องว่างเม็ดดิน 25% การเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนดังกล่าวนี้ เช่น ปริมาณอินทรียวัตถุลดลง แร่ธาตุสูญเสียไป ช่องว่างในดินลดลงมีผลให้อากาศและน้ำในดินลดลง ดินเกิดความแน่นตัว เป็นสาเหตุของความเสื่อม โทรมของทรัพยากรดิน โดยองค์ประกอบต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้
- แร่ธาตุ หรือ อนินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่ได้จากการผุพังสลายตัวของแร่และหิน เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารพืชที่สำคัญที่สุด ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีอนินทรียวัตถุ เป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 97-99 ของน้ำหนักแห้งของดิน
- อินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวของเศษซากพืช และสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ในดิน อินทรียวัตถุมีประมาณธาตุอาหารพืชอยู่น้อย แต่มีความสำคัญในการทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี และเป็นแหล่งของจุลินทรีย์ดิน
- น้ำ คือส่วนของน้ำที่พบอยู่ในช่องระหว่างอนุภาคดินหรือเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูก และการเจริญเติบโตของพืช ทำหน้าที่ช่วยละลายธาตุอาหารพืชในดิน และจำเป็นต่อการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารและสารประกอบต่าง ๆ ในต้นพืช
- อากาศในดิน เป็นส่วนของก๊าซต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีน้ำอยู่ ก๊าซที่พบได้โดยทั่วไปในดินคือ ก๊าซไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่รากพืช และจุลินทรีย์ดินสำหรับใช้ในการหายใจ
การเกิดของดิน
ดินเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ ทับผมกันเกิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน เมื่อผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ และผ่านกระบวนการทางดิน จะปรากฏลักษณะและเกิดเป็นชั้นดินต่าง ๆ ขึ้น โดยกระบวนการเกิดดิน แยกออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
1.กระบวนการทำลาย
คือกบวนการสลายตัวผุพังทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพของหินและแร่ พืชและสัตว์ เมื่อรวมตัวกันจะเกิดเป็น วัตถุต้นกำเนิดดิน กระบวนการทำลาย เป็นกระบวนการที่ทำให้หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เกิดการอ่อนตัวลง สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือเปลี่ยนไปเป็นสารใหม่และทับถมตัวกันเกิดขึ้นเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน นั่นเอง
2.กระบวนการสร้าง
คือ การที่ทำให้เกิดพัฒนาการของลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในดิน เช่น สีดิน เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรดเป็นด่าง รวมถึงการเกิดเป็นชั้นต่าง ๆ ขึ้นในหน้าตัดดิน ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของดินแต่ละชนิด และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงชนิดของวัตถุต้นกำเนิด กระบวนการ และผลของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อกระบวนการสร้างของดิน
ปัจจัยในการเกิดดิน ดินมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งการเกิดขึ้นของดินเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำร่วมกันของปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่อวัตถุต้นกำเนิดของดิน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ดินแต่ละบริเวณมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว และเมื่อปัจจัยเปลี่ยนไป ดินจะมีลักษณะหรือสมบัติต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจัยของดินสามารถเขียนแทนได้ด้วยสมการ S=f (cl,p,o,r,t,…) คือประกอบไปด้วย
- ภูมิอากาศ (climate )
สภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อการเกิดของดินทำให้ดินมีลักษณะต่างกัน ได้แก่ อุณหภูมิ และ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีอิทธิพลต่ออัตราการสลายตัวของหิน แร่ ทั้งในด้านกายภาพ และเคมี และยังมีอิทธิพลต่ออัตราความเร็วของการเคลื่อนย้ายและการสะสมใหม่ของหิน และแร่ที่ถูกแปรสภาพโดยตัวการสำคัญ มาเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน
- วัตถุกำเนิดดิน (parent material)
เป็นปัจจัยควบคุมการเกิดดินที่สำคัญ และมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนที่สุด และมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของดิน เช่น สี เนื้อดิน โครงสร้าง และสมบัติทางเคมีของดิน โดยทั่วไปดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่สลายตัวมาจากหินพวกที่มีปฏิกิริยาเป็นกรด-ด่าง
- สิ่งมีชีวิต (organism)
ได้แก่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยพืชและสัตว์ แต่มักจะเน้นที่พืชพรรณต่าง ๆ ที่ขึ้นปกคลุมบนผิวดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และองค์ประกอบของเคมีของดิน ดินที่เกิดภายใต้สภาพพืชพันธุ์ที่เป็นทุ่งหญ้า มักจะมีอินทยวัตถุและธาตุที่เป็นอาหารพืชมากกว่าดินบริเวณป่าไม้เนื้อแข็ง
- สภาพพื้นที่ (relief)
ในที่นี้หมายถึงความสูงต่ำ หรือระดับที่ไม่เท่ากันของสภาพพื้นที่ และความลาดชันของพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเกิดลักษณะชั้นต่าง ๆ ในหน้าตัดดิน ความลึกของดิน สี ความชื้นสัมผัสในดิน และความรุนแรงของการชะล้าง เป็นต้น
- เวลา (time)
อิทธิพลของเวลาในแง่ของการเกิดดินนั้น หมายถึง ช่วงหนึ่งของเวลาที่ต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงขัดจังหวะการพัฒนาตัวของดิน เวลาที่เป็นศูนย์สำหรับดินชนิดหนึ่ง ๆ ก็คือ จุดที่ได้มีเหตุการณ์ที่รุนแรงอย่างหนึ่งดินเกิดขึ้น ถือว่าเป็นจุดสิ้นของเวลาในการสร้างตัวของดิน
ธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการ
ธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตออกดอก ออกผล มีอยู่ 16 ธาตุ มี 3 ธาตุที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ส่วนอีก 13 ธาตุ พืชต้องดูดขึ้นมาจากดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพังสลายตัวของส่วนที่เป็น อนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสในดิน และสามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ มหาธาตุ และ จุลธาตุ
มหาธาตุ
หรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ที่ได้มาจากดินมีอยู่ 6 ธาตุ ได้แก่
- ไนโตรเจน (N)
- ฟอสฟอรัส (P)
- โพแทสเซียม (K)
- แคลเซียม (Ca)
- แมกนีเซียม (Mg)
- กำมะถัน (S)
จุลธาตุ
หรือ ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย มีอยู่ 7 ธาตุ ได้แก่
- เหล็ก (Fe)
- แมงกานีส (Mn)
- โบรอน (B)
- โมลิบดินัม (Mo)
- ทองแดง (Cu)
- สังกะสี (Zn)
- คลอรีน (Cl)
ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารในกลุ่มมหาธาตุหรือจุลธาตุ ต่างก็มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากความจริงแล้ว ธาตุทุกธาตุมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของพืชเท่า ๆ กัน จะต่างกันเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น
การระบุประเภทดิน
วิธีที่ดีที่สุดในการบอกว่าคุณมีดินประเภทใด คือ การสัมผัสและคลึงมันด้วยมือ ถ้าเป็นดินเหนียว จะละเลงบนมือได้ และเมื่อเปียกน้ำจะเหนียว สามารถรีดเป็นไส้เส้นยาวได้ง่าย เรียบ และเงางาม ส่วนดินตะกอนบริสุทธิ์ มีเนื้อลื่นเหมือนสบู่เล็กน้อย และไม่จับตัวเป็นก้อนได้ง่าย ส่วนดินชอล์ก หากใส่ลงในขวดน้ำส้มสายชูจะมีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตหรือปูนขาวออกมาชัดเจน
การสูญเสียธาตุอาหารในดิน
ธาตุอาหารพืชในดินสูญเสียออกไปจากพื้นที่ได้หลายทาง คือ
- สูญเสียไปกับผลผลิตพืชที่เก็บเกี่ยวออกไป
- ถูกชะล้างออกไปจากบริเวณรากพืช โดยเฉพาะไนโตรเจน เช่น ถ้าเกิดฝนตกหนักหลังจากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในดินทราย เกษตรกรอาจะได้รับประโยชน์จากการใส่ปุ๋ยร้อยละ 10 เท่านั้น เพราะไนโตรเจนละลายไปกับน้ำได้ง่ายมาก
- สูญหายไปในรูปของก๊าซ เช่น กรณีของไนโตรเจน
- การตรึง โดยเฉพาะฟอสฟอรัส การตรึงหมายถึงธาตุอาหารพืชถูกดินหรือสารประกอบในดินจับไว้ พืชจึงไม่สามารถดูดธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ซึ่งความเป็นกรด-ด่าง ของดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตรึงธาตุอาหารพืชในดิน
- สูญเสียไปกับการชะล้างและพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความลาดเท และมีสภาพโล่งเตียน ปราศจากพืชพันธุ์หรือสิ่งปกคลุมหน้าดิน หรือมีการไถพรวนดินเพื่อเตรียมปลูกพืช ถ้าฝนตกหนักจะเกิดการกัดเซาะผิวดิน ธาตุอาหารพืชในดินย่อมสูญหายไปจากพื้นที่ด้วย
วิธีการดูสารอาหารในดิน
สารอาหารในดิน มีความสำคัญต่อพืชค่อนข้างมาก สารอาหารที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้พืชของคุณเกิดปัญหาได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องการสารอาหารที่สมดุลเพื่อสุขภาพที่ดี พืชก็เช่นกัน ตัวอย่าง เช่น มะเขือเทศเติบโตในดินที่ขาดแคลเซียม จะเกิดการเน่าของปลายดอก พริกที่มีไนโตรเจนมากเกินไป อาจทำให้ใบเจริญเติบโตมาก จนดอกหรือผล เกิดเพียงไม่กี่ดอก ดังนั้นการที่เราจะดูว่า สารอาหารเหมาะสมหรือไม่? อาจดูได้จากค่า pH ในดินที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้พืชใช้สารอาหารจากดินได้อย่างพอเพียง
ดินจัดอันดับตามระดับ pH เริ่มจาก pH 1 เป็นกรดมากที่สุด จนถึง pH 14 เป็นด่างมากที่สุด หาก pH ในดินไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสม พืชจะไม่สามารถรับธาตุอาหารเหล่านั้นได้ ถึงแม้ว่าจะมีธาตุนั้นอยู่ในดินปริมาณที่สูงก็ตาม ในทางกลับกันถ้า pH ต่ำเกินไป ความสามารถในการละลายของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แมงกานีสอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับที่เป็นพิษได้
ซึ่งผัก ไม้ดอก และไม้ประดับส่วนใหญ่ จะเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่เป็นกรดเล็กน้อย โดยมีค่า pH ระหว่าง 6 ถึง 7
ความสมบูรณ์ของดิน
ความสมบูรณ์ของดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความหมายความสมบูรณ์ของดิน ไว้ว่า หมายถึงสภาพความเหมาะสมของดินที่จะใช้ปลูกพืช ชนิดหนึ่งชนิดใดให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี พืชต่างชนิดกันอาจจะต้องการความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต่างกัน
การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน
กองวิชาการเกษตร ศูนย์ฝึกศึกษา สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ว่า การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน คือ การประเมินความสามารถที่ดินจะให้ธาตุอาหารแก่พืช ส่วนหนึ่งเป็นการประเมินระดับธาตุอาหารแก่พืช ส่วนหนึ่งเป็นการประเมินระดับธาตุอาหารพืชในดินโดยตรง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการประเมินสถานภาพหรือคุณสมบัติที่ส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
วัตถุประสงค์ของการประเมินธาตุอาหารในดินคือ
- เพื่อหาสถานะธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินอย่างเที่ยงตรง
- สามารถชี้ให้เกษตรกรเห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดแคลนหรือการมีมากเกินพอของธาตุอาหาร ที่เกิดขึ้นในพืชต่าง ๆ ที่สนใจ
- ประเมินระดับของธาตุที่อาจจะเป็นพิษต่อพืชได้ เช่น Fe และ AI เป็นต้น
- เป็นพื้นฐานในการแนะนำปุ๋ย
- สามารถประเมินค่าทางเศรษฐกิจ (รายจ่าย) ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่แนะนำ
วิธีการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ในการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก่อนอื่นเราต้องทราบว่ามีปัจจัยทางด้านธาตุอาหารใด ที่มีผลต่อผลผลิตของพืช ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะให้ปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอสำหรับพืชอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น คุณภาพของดิน พันธุ์พืช การจัดการ และสิ่งแวดล้อม
อัตราหรือปริมาณของธาตุอาหารที่เราต้องปรับเปลี่ยนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ คือ
- ความต้องการธาตุอาหารของพืช
- ศักยภาพของดินในการให้ธาตุอาหารพืช
เทคนิคและวิธีการวินิจฉัยเพื่อให้ทราบข้อมูลทั้งสองประการดังกล่าว มีหลายวิธีที่ใช้กัน ได้แก่
- ลักษณะการขาดธาตุอาหารของพืช
- การวิเคราะห์เนื้อเยื่อพืช
- การวิเคราะห์ดิน
- การทดสอบทางชีวภาพ เช่น การทำการทดลองในกระถาง และในไร่นา เป็นต้น